Feature

ทำไมใครก็กลัว ? : มองความดิบเถื่อนของแฟนบอลตุรกีผ่านรากฐานทางสังคม | Main Stand

"ดูด xxx ของกูซะ เฟเนร์บาห์เช่"

 

นี่คือเนื้อร้องเพลงเชียร์ท่อนหนึ่งของแฟนบอลเบซิคตัส ในประเทศตุรกี และนี่คือเนื้อเพลงเพียงส่วนน้อยเท่านั้น เพราะทั่วดินแดนแห่งนี้ คำหยาบ, ความรุนแรง พบเห็นได้ปกติในสถานที่ซึ่งถูกเรียกว่า "สนามฟุตบอล"

ในขณะที่หลายประเทศมีเกมลูกหนังเป็นเครื่องมือดึงดูดนักท่องเที่ยว ที่ตุรกีกลับมีคำแนะนำว่า ห้ามนักท่องเที่ยวไปดูฟุตบอลเด็ดขาด (ถ้าไม่มีเจ้าถิ่นพาไป) เพราะมันอันตรายเกินไปสำหรับคนที่ไม่รู้จักประเทศนี้ดีพอ

ฟุตบอลคือเกมแห่งมิตรภาพ แต่ไม่ใช่ที่ตุรกี เพราะสนามหญ้าคือสนามรบ และแฟนบอลชาวเติร์กจะไม่มีความปราณีให้กับคู่แข่งของพวกเขาทั้งในและนอกสนาม จนชื่อเสียงดังไกลไปทั่วโลกถึงความโหดดิบเถื่อนของซัปพอร์ตเตอร์ฟุตบอลชาวตุรกี

เหตุใดแฟนบอลชาวตุรกีถึงทั้งโหดและดุดันไม่เหมือนชาวบ้านชาวเมือง ติดตามไปพร้อมกับ Main Stand 

 

เริ่มต้นจากความแตกต่าง

หากจะเข้าใจถึงตัวตนของแฟนบอลเราต้องเข้าใจถึงที่มาของตัวตนนั้นก่อน ซึ่งเรื่องนี้ทั่วโลกไม่มีความแตกต่างกัน นั่นคือคาแร็กเตอร์ของแฟนบอลของแต่ละสโมสรจะถูกสร้างมาจากวัฒนธรรม ความเชื่อต่าง ๆ ตามท้องถิ่นของทีมนั้น ๆ ก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาจนกลายเป็นตัวตนของแฟนบอลของแต่ละสโมสรหรือแต่ละประเทศ

การซึมซับวัฒนธรรมต่าง ๆ รอบตัวเพื่อสร้างเป็นวัฒนธรรมใหม่ในสนามฟุตบอลไม่มีการแบ่งแยกว่าพวกเขาจะรับแต่สิ่งดีงามเข้ามาเพื่อสร้างแต่ภาพสวยงามในสนามฟุตบอล หากแต่แฟนบอลเปิดรับทุกอย่างเข้ามาและแสดงออกถึงสิ่งที่เลวร้ายด้วยเช่นกัน

หนึ่งในสิ่งสำคัญที่มีผลต่อการสร้างตัวตนของแฟนบอลคือ "ความแตกต่างทางสังคม" ยิ่งมีความแตกต่างทางสังคมมากเท่าไหร่ โอกาสเกิดความขัดแย้งในเกมฟุตบอลก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น เพราะถ้าชีวิตประจำวันในสังคมผู้คนยังแบ่งแยกไม่ว่าจะด้วยเหตุผลทางเชื้อชาติ ฐานะ สีผิว หรือเรื่องใดก็ตาม ในสนามฟุตบอลที่เป็นการแข่งขันโดยตรงความแบ่งแยกจึงไม่มีทางประนีประนอมอย่างแน่นอน

สำหรับตุรกีนี่คือดินแดนที่เต็มไปด้วยความแตกต่าง แค่ตำแหน่งที่ตั้งดั้งเดิมในฐานะจักรวรรดิออตโตมัน ดินแดนแห่งนี้ยิ่งใหญ่ครอบคลุมพื้นที่ทั้งทางยุโรปตะวันออกจนถึงเอเชียตะวันตก และแม้จะเปลี่ยนเป็นตุรกีอาณาเขตของประเทศก็ยังอยู่ในพื้นที่ของยุโรปและเอเชียอยู่ดี

ถึงแม้ว่าคนส่วนใหญ่ในตุรกีจะเรียกตัวเองว่าเป็นชาวเติร์ก แต่ในความเป็นจริงแล้วหากมองไปถึงรากของสังคมจะพบว่าชาวเติร์กในตุรกีในอดีตเป็นคนต่างแดนที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานบนแผ่นดินนี้ ไม่ว่าจะเป็น ชาวกรีก โรมาเนีย ซีเรีย อุซเบกิสถาน อาร์เมเนีย รัสเซีย และอีกมากมาย ซึ่งกระจายอยู่ทั่วประเทศตุรกี

เนื่องจากมีความแตกต่างทางสังคมเยอะทำให้ในยุคแรกเริ่มของฟุตบอลในตุรกีจึงมีสโมสรเกิดขึ้นมากมาย เพราะคนกลุ่มหนึ่งก็หันไปตั้งทีมฟุตบอลของตัวเอง ไม่มีการรวมกลุ่มระหว่างคนที่มีความเชื่อแตกต่างกัน ทำให้ในยุคเริ่มต้นตุรกีมีทีมฟุตบอลที่ก่อตั้งขึ้นจากคนแทบทุกกลุ่ม ทั้งนักศึกษา นักการเมือง ชนชั้นแรงงาน กลุ่มพ่อค้าหาเช้ากินค่ำ ซึ่งในแง่หนึ่งการเกิดของทีมฟุตบอลจำนวนมากทำให้ฟุตบอลในตุรกีเติบโตอย่างรวดเร็ว และกลายเป็นวัฒนธรรมที่แข็งแกร่งส่งผลต่อชีวิตของชาวตุรกีทุกคน 

แต่ฟุตบอลที่เติบโตรวดเร็วแบบตุรกีก็มีข้อเสีย เพราะด้วยความที่แต่ละสโมสรในตุรกีมีเอกลักษณ์ที่ชัดเจนจึงทำให้แฟนบอลยึดมั่นกับทีมมาก เหมือนสถาบันหนึ่งที่ศรัทธาอย่างยิ่ง เรียกได้ว่าเป็นอีกศาสนาหนึ่งก็ไม่ผิดนัก เป็นเรื่องปกติของมนุษย์เมื่อมีสิ่งที่รักมากย่อมมีสิ่งที่เกลียดมาก ซึ่งสำหรับแฟนบอลในตุรกีนั่นก็คือสโมสรคู่แข่งของพวกเขา

 

รากฐานของความดุดัน

ความเกลียดชังในเรื่องฟุตบอลเป็นเรื่องปกติ และถ้ามันเกิดขึ้นอย่างพอดีก็จะทำให้ฟุตบอลพัฒนายิ่งขึ้น ดูอย่างการเป็นคู่ปรับระหว่าง ลิเวอร์พูล-แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด, บาร์เซโลน่า-เรอัล มาดริด ซึ่งทำให้สโมสรเหล่านี้ได้ประโยชน์อย่างมากกับโลกฟุตบอลยุคปัจจุบันที่ทุกอย่างเป็นธุรกิจไปหมด

แต่เหมือนเป็นกฎสากลของโลกลูกหนังที่ถึงจะเกลียดอย่างไรทุกอย่างต้องไม่ข้ามเส้นของการ "เหยียด" ไม่ว่าจะเป็นเหยียดผิว เหยียดเชื้อชาติ หรือเหยียดอะไรก็ตาม เพราะหากล้ำเส้นนั้นไปจะกลายเป็นความรุนแรงที่ไม่อาจยอมรับได้ และจะกลายเป็นเป็นการก่อปัญหาให้สังคมแน่นอน

ปัญหาความรุนแรงในฟุตบอลเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วโลก แต่ที่ตุรกีกลับมีมากเป็นพิเศษ เพราะในวงการฟุตบอลประเทศนี้ การร้องเพลงด่าด้วยเนื้อหาและคำพูดแบบติดเรต 18+ ถือเป็นเรื่องปกติ

เจาะลึกเข้าไปให้เห็นภาพของฟุตบอลตุรกีมากขึ้น คือ 3 สโมสรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของประเทศ อย่าง กาลาตาซาราย, เฟเนร์บาห์เช่ และ เบซิคตัส ซึ่งทั้ง 3 ทีมยืนอยู่บนอุดมการณ์ความเชื่อที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

กาลาตาซาราย คือสโมสรฟุตบอลของปัญญาชนของชาวยุโรปในแผ่นดินตุรกี ขณะที่ เฟเนร์บาห์เช่ คือทีมของชาวเอเชียในตุรกีซึ่งถูกสนับสนุนโดยผู้มีอำนาจทางการเมืองในทุกยุคทุกสมัย ด้าน เบซิคตัส คือทีมของชนชั้นแรงงานที่เปิดรับคนทุกกลุ่มที่กำลังถูกสังคมกดทับและเอารัดเอาเปรียบ

ทุกวันนี้ตัวตนของแต่ละสโมสรยังไม่จางหายไปไหนด้วยรากที่หยั่งลึกมานานร่วมร้อยปี แฟนบอลแต่ละทีมจึงรักในสโมสรมากพอ ๆ กับที่พวกเขาเกลียดคู่แข่งของตัวเองจนต้องระบายความเกลียดชังออกมาแบบไม่มีกั๊กในสนามฟุตบอล 

ด้วยอิทธิพลที่มากมายมหาศาลของ 3 สโมสร คงไม่ใช่เรื่องแปลกที่รากลึกของความดุดันของแฟนบอลตุรกีจะเริ่มต้นจากสักสโมสรใน 3 ทีมนี้ และทีมนั้นก็คือ เบซิคตัส

จากทั้ง 3 สโมสร เบซิคตัสคือทีมที่ประสบความสำเร็จน้อยที่สุด เรียกว่าเป็นมวยรองบ่อนตลอดกาลก็ว่าได้ ยิ่งประกอบกับเบซิคตัสเป็นทีมของคนชนชั้นล่างในกรุงอิสตันบูลทำให้แฟนบอลเบซิคตัสมีความรู้สึกเป็นผู้แพ้ตลอดเวลาแบบบอกไม่ถูก

แต่ถึงทีมจะไม่ได้กวาดถ้วยแชมป์มากมาย แต่แฟนบอลเบซิคตัสก็ยังคงมีความภูมิใจในตัวตนของสโมสร และนำมาซึ่งความรู้สึกที่ว่า "ทีมรักของฉันเก่งที่สุด" ไม่ว่าจะประสบความสำเร็จในสนามหรือไม่ก็ตาม

ถึงในสนามไม่ได้เป็นเบอร์หนึ่ง แต่แฟนเบซิคตัสก็เริ่มความเชื่อว่า "เบซิคตัสต้องมีเป็นกองเชียร์ที่ดีที่สุด" ซึ่งหมายถึงในทุก ๆ ด้าน ทั้งกองเชียร์ที่จงรักภักดีมากที่สุด เชียร์ดุดันที่สุด ไปจนถึงโหดในการต่อยตีมากที่สุด

สุดท้ายความเชื่อแบบนี้กระจายไปทั่วตุรกี ไม่ว่าคุณจะเชียร์ทีมไหนทุกคนก็พร้อมเชื่อว่าสโมสรรักดีที่สุด และพร้อมบวกกับทุกคนที่ต้องการมาหักล้างความเชื่อแบบนี้

ซึ่งคำว่าดีที่สุดของแฟนบอลที่ตุรกีคือ "ดีที่สุดในโลก" และพวกเขาก็พร้อมจะบวกกับทุกทีมบนโลกเช่นกัน นั่นจึงเป็นที่มาของการต้อนรับอันน่าสยองขวัญของแฟนบอลตุรกีที่เล่นงานใส่ทีมผู้มาเยือน เพราะแฟนบอลตุรกีอยากให้นักบอลระดับโลกไม่ว่าจะมาจากไหนก็ตามได้พบกับพิษสงของสโมสรฟุตบอลที่ดีที่สุดในโลก

 

ความขัดแย้งไม่เคยจางหาย

ถึงแม้ว่าแฟนบอลตุรกีจะมีชื่อเสียงเรื่องความภูมิใจกับทีมของตนแบบเกินเบอร์ แต่อย่างที่เราบอกไปว่าสังคมท้องถิ่นจะมีผลมากกับแฟนบอลของแต่ละสโมสร และสำหรับประเทศที่ความขัดแย้งทางการเมืองไม่เคยหายไปไหน การปะทะด้วยกำลังจึงเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง คงไม่ใช่เรื่องแปลกที่แฟนลูกหนังตุรกีจะกลายเป็นแฟนบอลที่น่ากลัวมากที่สุดชาติหนึ่งของโลก

การเมืองสำคัญกับคนตุรกีมากพอ ๆ กับฟุตบอล ทั้งสองสิ่งจึงวนมาเกี่ยวข้องกันแบบหนีไม่ออก สำหรับหลายคนการเมืองนำมาสู่ฟุตบอล และสำหรับหลายคนฟุตบอลก็นำไปสู่การเมือง

ถ้าการเมืองดีอะไรก็ดี แต่ถ้าการเมืองไม่ดีจะให้ฟุตบอลดีตามคงยาก ด้วยความขัดแย้งทางการเมืองอันไม่มีที่สิ้นสุดก็นำมาซึ่งการต่อสู้โดยไม่มีสิ้นสุดในนามของเกมลูกหนังด้วยเช่นกัน

ที่ตุรกีแฟนบอลหลายกลุ่มไม่ได้แค่เชียร์สโมสรฟุตบอลทีมเดียวกันแต่ยังมีความเชื่อทางการเมืองแบบเดียวกัน ซึ่งพวกเขาได้แสดงออกบ่อยครั้งผ่านการแขวนป้ายแบนเนอร์ใสนามฟุตบอล ในเมื่อความเชื่อของทั้งสองกลุ่มแฟนบอลมาบรรจบกัน พวกเขาก็พร้อมเดินกันไปให้สุดทางทั้งสองฝ่าย

ทำให้การต่อสู้กันของแฟนบอลสองทีมบางครั้งจึงไม่ใช่แค่การฟาดปากกับแฟนบอลฝ่ายตรงข้าม แต่เป็นสถานะของการต่อสู้ระหว่างคู่อริทางการเมืองอีกด้วย

ยุค 1980s ถือเป็นยุคที่ความบาดหมางระหว่าง 3 ทีมใหญ่ในกรุงอิสตันบูลปะทุถึงขีดสุด เพราะตุรกีในเวลานั้นมีสงครามกลางเมือง และแฟนบอลของแต่ละทีมก็สนับสนุนฝ่ายที่ต่างกันออกไป จึงทำให้การลอบทำร้ายแฟนบอลของอีกฝ่ายกลายเป็นเรื่องปกติโดยไม่มีความปลอดภัยรอบ ๆ สนามฟุตบอลอีกต่อไป

ยิ่งประกอบกับช่วงที่มีสงครามกลางเมืองระหว่างการรัฐประหารของประเทศตุรกีในปี 1980 ทางรัฐบาลได้ให้ 3 สโมสรดังในตุรกีย้ายมาเล่นในสนามเดียวกัน นั่นคือ อาลี ซามี เยน ของกาลาตาซาราย และแบ่งตั๋วให้แฟนบอลเท่ากันฝั่งละครึ่ง ยิ่งเปลี่ยนเกมฟุตบอลให้กลายเป็นสงครามขนาดย่อม แค่ไม่มีปืนกับระเบิดเท่านั้นเอง

แฟนบอลชาวตุรกีหลายคนยังภูมิใจกับการต่อยตีและถือเป็นประสบการณ์สุดสนุกครั้งหนึ่งในชีวิต บางคนก็ภูมิใจที่ชีวิตนี้ได้ใช้มีดแทงคู่อริมาแล้ว

ความขัดแย้งระหว่างแต่ละสโมสรยังคงถูกส่งต่อมาแบบรุ่นสู่รุ่น เพราะส่วนใหญ่แล้วครอบครัวในตุรกีจะเชียร์ทีมฟุตบอลทีมเดียวกันเป็นมรดกส่งต่อมาจากคนรุ่นก่อน และทีมฟุตบอลถือเป็นความภูมิใจของแต่ละบ้าน

ดังนั้นความขัดแย้งของแฟนบอลจึงถูกส่งต่อไปเรื่อย ๆ จนเป็นอีกหนึ่งวัฒนธรรมที่เติบโตไปพร้อมกับวงการฟุตบอลตุรกีด้วยเช่นกัน ถึงแม้จะเป็นภาพลบของวงการก็ตาม 

โชคดีที่ปัจจุบันความรุนแรงในฟุตบอลตุรกีลดลงไปมาก เพราะหลายฝ่ายตกลงที่จะสงบศึกระหว่างกัน แต่ความเกลียดชังก็ยังไม่เคยหายไปไหน แม้ไม่มีการต่อยตีแต่พวกเขาก็เปลี่ยนมาสู้กันด้วยวิธีใหม่ ๆ เช่น การแต่งเพลงด่ากันแบบหยาบ ๆ ระหว่างทั้งสองทีม

หรือในระยะหลังความดุเดือดของแฟนบอลก็เปลี่ยนมาเป็นลักษณะฉันมิตรมากขึ้น เนื่องจากตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมาจนถึงทุกวันนี้ แฟนบอลตุรกี โดยเฉพาะ 3 ทีมดังแห่งนครอิสตันบูล กาลาตาซาราย, เฟเนร์บาห์เช่, เบซิคตัส ได้ร่วมมือกันรณรงค์ทางการเมืองเพื่อต่อต้าน เรเจป ทายยิป แอร์โดอัน ประธานาธิบดีจอมเผด็จการของตุรกี ซึ่งรวมถึงการรวมกลุ่มฮูลิแกนไปเป็น "แนวหน้า" รับมือเจ้าหน้าที่ที่ใช้กำลังสลายการชุมนุม จนเรื่องดังกล่าวถูกถ่ายทอดเป็นภาพยนตร์สารคดี Istanbul United ซึ่งเข้าฉายเมื่อปี 2014

ถึงจะไม่ใช่เรื่องที่ดีนักแต่ความดุดันของแฟนบอลตุรกีก็กลายเป็นเสน่ห์ด้านหนึ่งของพวกเขาไปแล้ว และเป็นการประกาศศักดาให้ทีมฟุตบอลทั่วโลกได้รู้ว่า "นรกในเกมลูกหนังมีอยู่จริง" 

 

แหล่งอ้างอิง

หนังสือ 1312: Among the Ultras: A Journey with the World’s Most Extreme Fans
หนังสือ Football and Discrimination: Antisemitism and Beyond
https://www.theguardian.com/football/2003/oct/05/newsstory.sport6

Author

ณัฐนนท์ จันทร์ขวาง

let me fly you to the moon, my eyes have always followed you around the room 'cause you're the only.

Photo

วัชพงษ์ ดวงแปง

Main Stand's Backroom staff

Graphic

ภราดร ภราดร

อยากจะทำให้ดี ไม่ใช่แค่อยากจะทำให้เป็น