Feature

Celtics 60s : ทีมบาสที่ประสบความสำเร็จมากสุดใน NBA แต่ไร้แฟนเพราะคนดำเยอะเกินไป | Main Stand

แฟนกีฬากับความสำเร็จของเป็นของคู่กัน ทีมกีฬาใดที่คว้าแชมป์ได้เป็นจำนวนมากย่อมมีแฟน ๆ เพิ่มขึ้น  พวกเขาพร้อมที่จะตีตั๋วเข้ามาชมเกมในสนามจนแน่นขนัดและจะกลายเป็นที่รักของผู้คนในท้องถิ่น 

 


แต่ไม่ใช่กับทีม บอสตัน เซลติกส์ ในช่วงปลายยุค 1950s จนถึงยุค 1960s ทั้ง ๆ ที่พวกเขาคือทีมบาสเกตบอลที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในประวัติศาสตร์ ด้วยแชมป์ NBA 11 สมัย จาก 14 ฤดูกาล ไม่มีทางที่จะหาทีมใดที่จะประสบความสำเร็จได้มากกว่านี้อีกแล้ว

แต่ เซลติกส์ ชุดนั้นกลับไม่ใช่ทีมที่เป็นฮีโร่ของคนทั้งเมืองเหมือนกับ ชิคาโก บูลส์ ในยุค ไมเคิล จอร์แดน ที่เป็นกับเมืองชิคาโก แต่นี่คือลูกชังที่หาแฟนได้ไม่มากนักในเมืองนี้ เพียงเพราะด้วยเหตุผลที่สั้น ง่าย แต่ได้ใจความว่าทีมนี้ "มีผู้เล่นคนดำเยอะเกินไป" 

ติดตามเรื่องราวได้ที่นี่กับ Main Stand

 

จากชายที่ชื่อว่า "เรด"

เรื่องราวทั้งหมดเริ่มต้นจากชายเพียงคนเดียว นั่นคือ อาร์โนลด์ เจค็อบ เอาเออร์บัค หรือ เรด เอาเออร์บัค (Red Auerbach) โค้ชหนุ่มวัย 33 ปีที่เข้ามารับตำแหน่งเป็นโค้ชของทีมบอสตัน เซลติกส์ ในปี 1950

เอาเออร์บัค เป็นผู้ชายที่มีหัวคิดสมัยใหม่ ไม่เคยยึดติดกับกรอบเดิม ๆ สิ่งที่เดียวที่แล่นอยู่ในหัวสมองของเขาคือ ทำอย่างไรก็ได้ให้ทีมเป็นแชมป์ ไม่ว่าจะเป็นวิธีที่ถูกใจหรือไม่ถูกใจแฟนของเซลติกส์ก็ตาม

ทันทีที่ เอาเออร์บัค เข้ามารับตำแหน่งโค้ชของเซลติกส์ในปี 1950 เขาได้สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่วทั้งลีกทันทีด้วยการดราฟต์ ชัค คูเปอร์ (Chuck Cooper) นักบาสเกตบอลผิวดำเข้าสู่ทีม และหนุ่มคูเปอร์คนนี้คือผู้เล่นผิวดำคนแรกในประวัติศาสตร์ของ NBA

แม้ว่าในปัจจุบัน NBA จะเต็มไปด้วยผู้เล่นผิวสีมากมาย และซูเปอร์สตาร์ในลีกปัจจุบันจำนวนมากก็เป็นคนผิวดำ แต่เม่ือย้อนกลับไปประมาณ 70 ปีก่อน เรื่องราวไม่ได้เป็นเหมือนกับโลกยุค 2020s

ช่วงยุค 50s สถานการณ์การเหยียดสีผิวของอเมริกากำลังอยู่ในขั้นวิกฤต รวมถึงในวงการกีฬาด้วยเช่นกัน บาสเกตบอลถูกปิดกั้นสำหรับคนผิวดำยิ่งกว่ากีฬาอย่าง เบสบอล หรือ อเมริกันฟุตบอล เสียอีก 

สาเหตุเพราะความเชื่อที่ว่า คนผิวดำไม่เก่งพอที่จะเล่นเกมยัดห่วง แม้ว่าพวกเขาจะมีรูปร่างที่สูงใหญ่กว่าคนขาวด้วยซ้ำไป แต่สุดท้ายคนในช่วงเวลานั้นก็ยังดูถูกเรื่องสติปัญญาของคนผิวดำอยู่ดี 

แม้ในปัจจุบันจะพิสูจน์ได้แล้วว่าความคิดเหยียดผิวแบบนั้นคือเรื่องผิด แต่ในยุคนั้นก็ไม่มีใครเชื่อในความสามารถของคนผิวดำ ไม่ต้องพูดถึงการเข้ามาสู่ลีก NBA แค่โอกาสในการเล่นบาสเกตบอลในระดับมหาวิทยาลัย พวกเขายังแทบไม่มีสิทธิ์ 

ชัค คูเปอร์ คือตัวอย่างที่ดี เขาคือนักบาสเกตบอลคนแรกในประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกาที่มีโอกาสแข่งขันในเกมระดับมหาวิทยาลัยในเขตตอนใต้ของอเมริกา และทั้ง ๆ ที่เขาเป็นผู้เล่นที่ติดทีมยอดเยี่ยมระดับชาติถึง 4 ฤดูกาล นักบาสผิวดำรายนี้ยังเกือบไม่มีทีมไหนเลือกไปเล่นใน NBA 

จนกระทั่ง เรด เอาเออร์บัค ตัดสินใจใช้สิทธิ์ดราฟต์ในรอบที่ 2 ของการดราฟต์ NBA ปี 1950 เลือก ชัค คูเปอร์ มาร่วมทีม และนี่คือการเดินทางก้าวแรกของทีมที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของ NBA

 

คนดำสร้างแชมป์ 

ไม่ใช่แค่คนผิวดำที่โดนเหยียดจนเป็นเรื่องปกติในสังคมอเมริกายุคนั้น แต่รวมไปถึงคนผิวแดง, คนเอเชีย, คนฮิสแปนิก, คนยิว หรือคนแบบไหนก็ได้ที่มีเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ไม่ใช่คนผิวขาว พวกเขาล้วนแต่เข้าใจความรู้สึกของการถูกดูถูกเหยียดหยามเป็นอย่างดี 

หนึ่งในคนที่เข้าใจเรื่องนี้ดีที่สุดคือ เรด เอาเออร์บัค เพราะเขาเป็นคนยิว และชาวรัฐแมสซาซูเซตส์ก็ไม่ได้ชอบคนยิวสักเท่าไหร่ ถึงกับเคยมีนักข่าวท้องถิ่นคนหนึ่งกล่าวกับโค้ชรายนี้ต่อหน้าต่อตาว่า "เกลียด เรด เอาเออร์บัค เพราะเป็นคนยิว"

โชคดีที่ เอาเออร์บัค ไม่ปล่อยให้คำวิจารณ์ไร้สาระมาทำลายความมุ่งมั่นในการทำงาน หลังจากลองผิดอยู่หลายปี พาทีมเข้าสู่รอบเพลย์ออฟอยู่หลายครั้งแต่ก็ไปไม่เคยถึงตำแหน่งแชมป์สักที โค้ชหัวขบถผู้นี้จึงตัดสินใจอย่างจริงจังว่าจะสร้างทีมที่ไม่เคยมีใครสร้างได้สำเร็จมาก่อน นั่นคือการสร้างทีมที่ใช้ผู้เล่นแกนหลักเป็นคนผิวดำ

เรด เอาเออร์บัค เริ่มต้นงานครั้งสำคัญด้วยการเทรด บิล รัสเซล (Bill Russell) มาร่วมทีมในปี 1956 โดยรัสเซลล์ถูกดราฟต์โดย เซนต์หลุยส์ ฮอว์กส์ (แอตแลนตา ฮอว์กส์ ในปัจจุบัน) ในปีเดียวกัน แต่ด้วยความที่ในเวลานั้นเซนต์หลุยส์เป็นเมืองที่เหยียดคนผิวดำขั้นสุดและไม่มีทางที่ผู้คนในเมืองจะยอมรับนักบาสเกตบอลผิวดำต่อให้จะเก่งสักแค่ไหนก็ตาม ทำให้ เอาเออร์บัค ฉวยโอกาสตรงนี้เทรด บิล รัสเซล มาร่วมทีม

นั่นเป็นเพราะ เอาเออร์บัค ไม่สนใจเรื่องสีผิวของผู้เล่น เขาสนใจแค่เรื่องความสามารถ ซึ่งโค้ชรายนี้เห็นแล้วว่ารัสเซลคือผู้เล่นที่แตกต่างจากคนอื่นในยุคนั้น 

บิล รัสเซล เป็นเซ็นเตอร์สูง 206 เซนติเมตร เขาแข็งแกร่งมากในการเล่นเกมรับ โดยเฉพาะการเก็บรีบาวด์ให้กับทีม แต่ขณะเดียวกันเขากลับรวดเร็วว่องไวอย่างน่าเหลือเชื่อ เขาสามารถสร้างเกมบุกเข้าไปทำแต้มได้ดีมาก ซึ่งโค้ชชาวยิวก็เห็นแล้วว่าหากได้ผู้เล่นรายนี้เข้ามาจะทำให้คุณภาพทีมของ บอสตัน เซลติกส์  สมบูรณ์แบบ

เรด เอาเออร์บัค ปลดล็อกคำสาปให้กับทีมได้ทันที เพราะ บิล รัสเซล พาทีม บอสตัน เซลติกส์ เป็นแชมป์ NBA ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของแฟรนไชส์ตั้งแต่ฤดูกาลแรกที่เขาเข้ามาร่วมทีม

เรื่องสีผิวทำให้เมืองเซนต์หลุยส์ต้องเสียหนึ่งในผู้เล่นที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์ของ NBA ไป … ในขณะที่ บอสตัน เซลติกส์ ได้แชมป์ถึง 11 สมัยตลอดระยะเวลาที่ บิล รัสเซล อยู่กับทีม เพราะนี่คือเจ้าของรางวัล MVP 5 สมัย และติดทีม All-Star อีกถึง 12 ครั้ง

ความสำเร็จของ เซลติกส์ ไม่ได้เกิดขึ้นจากความสำเร็จของ บิล รัสเซล เพียงคนเดียว เพราะ เรด เอาเออร์บัค ไม่เคยหยุดดึงนักบาสผิวดำฝีมือเยี่ยมเข้ามาสู่ทีม ไม่ว่าจะเป็น แซตช์ แซนเดอร์ (Satch Sanders), เคซี โจนส์ (K.C. Jones), แซม โจนส์ (Sam Jones) และ วิลลี่ นอลส์ (Willie Naulls) ซึ่งล้วนเป็นผู้เล่นระดับท็อปของลีกทั้งสิ้น พวกเขาเป็นกำลังสำคัญที่ทำให้เซลติกส์ครองความยิ่งใหญ่ในช่วงเวลานั้น

"ทุกคนหัวเราะลับหลังสิ่งที่เอาเออร์แบคทำอยู่กันทั้งนั้น เพราะใคร ๆ ก็คิดว่าเขากำลังทำในสิ่งที่ผิดพลาดที่สุดในประวัติศาสตร์ของบาสเกตบอล" แซตช์ แซนเดอร์ กล่าวถึงอดีตที่ใคร ๆ ก็มองข้ามเซลติกส์ ซึ่งในเวลาต่อมาทุกคนก็ได้รู้ว่านั่นคือความคิดที่ผิดพลาดอย่างถึงที่สุด 

ความแข็งแกร่งของผู้เล่นผิวดำในทีมเซลติกส์มากพอที่จะทำให้กล้าสั่งผู้เล่นคนดำลงเป็นตัวจริงทั้ง 5 คนเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของ NBA ในวันที่ 26 ธันวาคม 1964 ที่ทีมจากบอสตันต้องพบกับเซนต์หลุยส์ ฮอว์กส์ 

ไม่เพียงเท่านั้น ในปี 1966 เรด เอาเออร์บัค ตัดสินใจเปลี่ยนไปดำรงตำแหน่งผู้จัดการทั่วไปของทีมเพียงอย่างเดียว และเปิดทางให้ บิล รัสเซล ก้าวขึ้นมาโค้ชคนใหม่ของทีม (และยังเป็นผู้เล่นอยู่ด้วยเช่นกัน) ทำให้ บิล รัสเซล ไม่ใช่แค่โค้ชคนดำคนแรกใน NBA แต่เป็นโค้ชผิวดำคนแรกในลีกกีฬาระดับประเทศของสหรัฐอเมริกา

บอสตัน เซลติกส์ ในเวลานั้นคือประวัติศาสตร์ นี่คือทีมที่เปิดประตูให้ผู้เล่นผิวดำเข้าสู่ NBA บอสตัน การ์เดน สนามเหย้าของเซลติกส์ (ในเวลานั้น) คือพื้นที่ซึ่งให้โอกาสคนเหล่านี้ได้แสดงให้เห็นว่าพวกเขามีดีเพียงใดในการเล่นเกมยัดห่วง 

ที่สำคัญที่สุดคือนักบาสผิวดำเหล่านี้คือผู้ที่สร้างทีมที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดตลอดกาลของบาสเกตบอล NBA ด้วยแชมป์ 11 สมัยในรอบ 14 ปี ไม่มีทางที่ทีมไหนจะสามารถลอกเลียนความยิ่งใหญ่นี้ได้อีกแล้ว 

"ผมคิดว่าสิ่งที่เซติกส์ทำเป็นการทำลายกำแพงเรื่องสีผิวให้พังทลายลง ก่อนที่อีกหลายต่อหลายทีมจะให้ความสนใจด้วยซ้ำ" เซดดริค แม็กซ์เวล (Cedric Maxwell) นักบาสผิวดำรุ่นหลังของทีมบอสตัน เซลติกส์ ยกยอถึงคุณงามความดีที่ทีมได้ปูทางไว้ให้กับนักบาสรุ่นหลัง

บอสตัน เซลติกส์ ตอนนั้นมีทุกอย่าง ความยิ่งใหญ่, ถ้วยแชมป์, โค้ชที่เก่งที่สุด, ผู้เล่นที่ดีสุด ยกเว้นอย่างเดียวคือ "แฟนบาสเกตบอล"

 

TOO MUCH BLACK

บอสตัน เซลติกส์ คือทีมบาสเกตบอลที่หัวก้าวหน้าที่สุดในยุค 60s แต่ไม่ใช่กับเมืองบอสตัน ดินแดนแห่งนี้ยังถูกปกคลุมไปด้วยแนวคิดอนุรักษ์นิยมที่เห็นคนผิวดำมีคุณค่าต่ำกว่าคนผิวขาว

แม้จะมีทีมบาสเกตบอลที่ประสบความสำเร็จอย่างมากอยู่ในเมือง แต่ บอสตัน เซลติกส์ ก็ไม่เคยเป็นความภูมิใจของชาวบอสตัน เนื่องจากพอมองไปที่ถ้วยแชมป์ที่ได้มาก็มีแต่นักบาสเกตบอลคนดำที่ยืนถือถ้วยเหล่านั้น

ทั้งที่เซลติกส์คว้าแชมป์ถึง 11 ครั้ง ใน 14 ปี แต่ตั๋วของทีมกลับแทบไม่เคยขายหมด มีที่ว่างเหลือเป็นพันที่นั่งจนเป็นเรื่องปกติใน บอสตัน การ์เดน ทั้ง ๆ ที่ที่นี่คือบ้านของทีมบาสเกตบอลที่ประสบความสำเร็จที่สุดตลอดกาล 

ในทางตรงกันข้าม ทีมฮอกกี้น้ำแข็งประจำเมือง อย่าง บอสตัน บรูอินส์ (Boston Bruins) ที่ใช้สนามเดียวกันกับเซลติกส์กลับขายตั๋วหมดเกลี้ยงจนเป็นเรื่องปกติ ทั้งที่แทบจะไม่ประสบความสำเร็จอะไรเลยในช่วงเวลาเดียวกับยุครุ่งเรืองของเซลติกส์

หากเดินไปถามคนบอสตันในเวลานั้นว่าเกิดอะไรขึ้น พวกเขาจะปฏิเสธเรื่องเหยียดผิว และตอบกลับเพียงว่า "เมืองบอสตันชอบฮอกกี้มากกว่า" แต่ลึก ๆ ทุกคนรู้ดีว่าไม่ใช่แบบนั้น โดยเฉพาะนักบาสเกตบอลผิวดำของเซลติกส์

"บอสตันคือตลาดนัดแห่งการเหยียดผิวเลยล่ะ" บิล รัสเซล สุดยอดนักบาสที่บ้านโดนขว้างของเป็นประจำ และที่กำแพงบ้านของเขามีแต่สีสเปรย์พ่นเป็นคำหยาบคายที่เป็นการเหยียดผิว กล่าว 

"ผมรักเมืองบอสตันนะ ถ้าไม่นับเรื่องการเหยียดผิวที่เกิดขึ้นไปทั่ว … สำหรับผม ผมไม่มีความผูกพันใด ๆ กับแฟนบอสตัน เซลติกส์ ทั้งนั้น" 

"ผมเคยพูดไปหลายครั้งแล้วว่า แฟนของทีมเซลติกส์ที่ดีที่สุดคือนักบาสของทีมที่อยู่บนม้านั่งสำรอง" บิล รัสเซล กล่าว 

เท่านั้นยังไม่พอ บอสตัน เซลติกส์ เคยทำแบบสำรวจคนในเมืองเพื่อหวังเรียกผู้ชมเข้ามาสู่สนาม ก่อนจะพบว่าเกินครึ่งของคนที่ได้ทำแบบสำรวจตอบถึงเหตุผลที่ไม่ซื้อตั๋วไปเชียร์ทีมเซลติกส์ว่า "มีผู้เล่นคนดำเยอะเกินไป" 

ผู้เล่นผิวดำของ บอสตัน เซลติกส์ ไม่ได้เผชิญกับการเหยียดผิวแค่ในบอสตัน แต่รวมถึงเวลาไปเล่นเกมเยือนด้วยเช่นกัน … ในปี 1961 เซลติกส์บินไปแข่งขันที่เซนต์หลุยส์กับทีมฮอว์กส์ และเป็นเมืองที่ขึ้นชื่อเรื่องการเหยียดสีผิว ถึงขนาดว่าพนักงานในร้านอาหารปฏิเสธที่จะเสิร์พอาหารให้กับนักบาสผิวดำของทีมเซลติกส์ 

สุดท้ายผู้เล่นผิวดำของเซลติกส์ก็ต้องแสดงการประท้วงด้วยการบินกลับไปที่บอสตันในทันที โดยที่ไม่ยอมลงทำการแข่งขัน ขณะที่ บิล รัสเซล ต้องออกแถลงการณ์ตอบโต้เรื่องที่เกิดขึ้นว่า "คนดำจะต่อสู้เพื่อสิทธิของตัวเอง ต่อสู้เพื่อที่จะอยู่รอดในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงใบนี้ ผมก็คือหนึ่งในนั้น"

แม้ว่าในความจริงแล้วผู้เล่นผิวดำในทีมเซลติกส์จะมีอยู่ในทีมอย่างมากต่อฤดูกาลไม่เกิน 5 คน และผู้เล่นในทีมส่วนใหญ่ก็เป็นคนผิวขาว แต่สุดท้ายอคติทางสีผิวก็บังตาผู้คนไปจนหมดสิ้น 

 

ต่างคนต่างไป 

การเผชิญหน้ากับความเกลียดชังไม่ใช่เรื่องสนุกสำหรับมนุษย์ทุกคน ต่อให้จะมีหัวใจที่เข็มแข็งขนาดไหนก็ตาม ผู้เล่นผิวดำของ บอสตัน เซลติกส์ ก็เช่นเดียวกัน 

หลังจากเล่นกับทีมเพียง 10 ฤดูกาล เคซี โจนส์ ก็เลือกที่จะหยุดเส้นทางใน NBA อำลาเซลติกส์ไปในปี 1967 และ บิล รัสเซล กับ แซม โจนส์ ก็อำลาตามไปในปี 1969 ปิดฉากยุคทองของ บอสตัน เซลติกส์ และทีมที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดไว้เพียงเท่านี้ 

เหตุผลสำคัญที่สุดของการล่มสลายของทีมเซลติกส์คือการอำลาของ บิล รัสเซล ซึ่งทีมบาสแห่งบอสตันอาจจะต้องขยายช่วงเวลาอันยิ่งใหญ่ไปได้มากกว่านี้หากแฟน ๆ ให้การตอบรับที่ดีกว่าในเรื่องผู้เล่นผิวดำ เพราะรัสเซลก็เลือกที่จะอำลาวงการบาสไป เนื่องจากเขาไม่เหลือไฟที่จะต่อสู้ทั้งในและนอกสนามอีกต่อไปแล้ว

ความสัมพันธ์ของ เซลติกส์ กับหนึ่งในผู้เล่นที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาลของแฟรนไชส์จบลงอย่างย่ำแย่ แม้แต่หลังจากที่เซลติกส์คว้าแชมป์ NBA ฤดูกาล 1968-69 แฟน ๆ กว่า 3 หมื่นคนก็มารอคอยต้อนรับฮีโร่ของพวกเขาโดยเฉพาะ บิล รัสเซล ผู้ที่กำลังจะเลิกเล่น แต่ยอดนักบาสรายนี้กลับไม่มาร่วมงานและจากทีมไปแบบเงียบ ๆ

แผลที่คนบอสตันทำไว้กับคนผิวดำแสดงผ่านตัวของ บิล รัสเซล เขาปฏิเสธที่จะมาร่วมงานรีไทร์เบอร์เสื้อของเขา (เบอร์ 6) ในปี 1972 รวมถึงการอัญเชิญชื่อเข้าสู่หอเกียรติยศของทีมในปี 1975 และช่วงเวลาหลายปีหลังจากที่เขาเลิกเล่น บิล รัสเซล ก็ไม่กลับมาเหยียบเมืองบอสตันอีกเลย

ตรงกันข้ามกับทีมเซลติกส์ แม้จะหมดช่วงยุคทองไป แต่พวกเขาก็สร้างทีมขึ้นมาใหม่ด้วยผู้เล่นคนขาว อย่าง เดวิด โคเวนส์ (Dave Cowens) เป็นกำลังสำคัญที่พาให้พวกเขาเป็นแชมป์ในช่วงกลางยุค 70s และ แลร์รี่ เบิร์ด (Larry Bird) หนึ่งในนักบาสที่เก่งที่สุดตลอดกาลของ NBA ในยุค 80s 

แม้ว่าทั้งทีมในยุค 70s และ 80s ของเซลติกส์จะกวาดแชมป์ได้ไม่เท่ากับทีมยุค 60s แต่ถ้าเป็นเรื่องความนิยมถือว่าเป็นคนละเรื่อง ตั๋วที่ บอสตัน การ์เดน ขายหมดจนเป็นเรื่องปกติ 

โดยเฉพาะทีมในยุค 80s ของ แลร์รี่ เบิร์ด ที่กลายเป็นขวัญใจของคนผิวขาวไม่ใช่แค่ในเมืองบอสตันแต่ทั่วทั้งสหรัฐอเมริกา ทำให้เบิร์ดกลายเป็นหนุ่มที่ฮอตที่สุดในเมือง เขาเป็นซูเปอร์สตาร์ตั้งแต่โลกกีฬายังไม่เริ่มสร้างซูเปอร์สตาร์ด้วยซ้ำไป

ความแตกต่างที่ชัดเจนของทีมบอสตันยุคผู้เล่นผิวดำกับยุคผู้เล่นผิวขาวในเรื่องความนิยม ทำให้ภาพของการเหยียดผิวที่เกิดขึ้นในอดีตของทีมบอสตัน เซลติกส์ ชัดเจนยิ่งขึ้นกว่าเดิม จนกลายมาเป็นเรื่องราวที่ถูกบันทึก และพูดต่อกันมาจนถึงทุกวันนี้

อย่างไรก็ตามประเด็นเรื่องการเหยียดผิวระหว่างแฟนเซลติกส์กับผู้เล่นของทีมไม่มีอีกต่อไปแล้ว ยุคสมัยที่เปลี่ยนไปทำให้แฟนบาสรุ่นใหม่เปิดใจรับนักบาสผิวดำเป็นฮีโร่ของพวกเขา แม้แต่ บิล รัสเซล ก็กลับมาคืนดีกับทีมอีกครั้ง 

โดยเฉพาะในปี 1999 ที่เซลติกส์ตัดสินใจจัดงานอำลาเสื้อเบอร์ 6 ให้กับรัสเซลอีกครั้ง คราวนี้เจ้าตัวตัดสินใจมาร่วมงาน และหลังจากแฟน ๆ ทั่วสนามลุกขึ้นยืนปรบมือแสดงความชื่นชมให้กับเขา เขาถึงกับกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ 

แม้ว่าในอดีต บอสตัน เซลติกส์ จะถูกมองข้ามด้วยเรื่องของสีผิว แต่พวกเขาก็เป็นทีมที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในประวัติศาสตร์บาสเกตบอลที่ไม่ได้รับความรักจากแฟนบาสแบบที่พวกเขาควรได้รับ 

แต่อย่างน้อยคนรุ่นหลังก็ยังคงจดจำความยิ่งใหญ่ของ บอสตัน เซลติกส์ ในยุคนั้นได้เป็นอย่างดี และมรดกของทีมชุดนั้นก็ยังส่งต่อมาถึงปัจจุบันทั้งกับทีมบอสตันและลีก NBA

โดยเฉพาะการเปิดโอกาสให้คนผิวดำได้มีโอกาสเล่นบาสเกตบอลในลีกอาชีพ ซึ่งหากไม่มีทีมบอสตัน เซลติกส์ ชุดนี้ NBA ที่เราทุกคนรู้จักกันดีอาจพลิกไปในอีกทิศทางหนึ่งก็เป็นได้ 

 

แหล่งอ้างอิง

สารคดี Celtics/ Lakers: Best Of Enemies
https://www.youtube.com/watch?v=L2gOokH1nAw
https://theundefeated.com/features/celtics-being-a-black-player-in-boston/
https://bleacherreport.com/articles/682589-bill-russell-civil-rights-hero-and-inventor-of-airborne-basketball


 

Author

ณัฐนนท์ จันทร์ขวาง

let me fly you to the moon, my eyes have always followed you around the room 'cause you're the only.

Graphic

ภราดร ภราดร

อยากจะทำให้ดี ไม่ใช่แค่อยากจะทำให้เป็น