Feature

แซมบ้าสีเขียว : เมื่อทีมชาติบราซิลเป็นเครื่องเผด็จการทหาร

ถ้าพูดถึงบราซิล สิ่งแรกที่นึกถึงประเทศนี้ คือ ฟุตบอล เพราะฟุตบอลถือเป็นชีวิต และจิตวิญญาณของคนประเทศนี้อย่างแยกไม่ออก แถมนักเตะยังเป็นสินค้าส่งออก ที่มากพอกับกาแฟเลยทีเดียว

 

ที่บราซิล ฟุตบอลสามารถยกระดับชีวิตของเด็กยากจนคนหนึ่งให้กลายเป็นที่รักของคนทั้งประเทศ เหมือนที่ตำนานลูกหนังแซมบ้าหลายคนทำได้มาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเปเล่, โรนัลโด้ หรือโรนัลดินโญ่ ซึ่งนี่เป็นเพียง 3 ชื่อในจำนวนนักเตะสัญชาติบราซิเลียนนับหมื่นนับแสนคนที่ลืมตาอ้าปากกับการใช้ทักษะฟุตบอลทำมาหากิน

 

จุดเริ่มต้นแห่งความยิ่งใหญ่เกิดขึ้น เมื่อพวกเขาผงาดครองโลกระหว่างยุคปี ค.ศ. 1950 - 1970 ทีมชาติบราซิลยุคนั้นไร้เทียมทาน แต่คุณเคยสงสัยหรือไม่ว่าเกิดอะไรขึ้นกับพวกเขาจนทำให้ร้างความสำเร็จลูกหนังยาวนาน 24 ปี เผด็จการในบราซิลระหว่างปี ค.ศ. 1964 - 1985 มีผลหรือไม่? ทั้งหมดทั้งมวลเกิดจากพัฒนาการของชาติอื่นๆ? หรือเกิดจากปัจจัยอื่น? Main Stand ขออาสาย้อนอดีตให้เห็นภาพ

 

วันที่การเมืองเรืองรอง

ก่อนอื่นขอย้อนให้เห็นภาพของการเมืองบราซิลในยุคนั้นเสียก่อน...

 

ปี ค.ศ. 1955  จุสเซลิโน่ คูบิตส์เช็ก ได้รับการเลือกตั้งให้เป็นประธานาธิบดีของบราซิล เขาเป็นผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ พร้อมทั้งมีนโยบายยกระดับบราซิล ที่ต้องใช้เวลา 50 ปี ภายในเวลา 5 ปีเท่านั้น ซึ่งนโยบายทางด้านเศรษฐกิจ และเปลี่ยนชนบทให้เป็นเมือง เกือบประสบความสำเร็จ

 

หลังจากรับตำแหน่ง คูบิตส์เช็กเดินหน้าย้ายเมืองหลวงจากริโอ เดอ จาเนโร ไปยังบราซิเลีย ตกแต่งเมืองหลวงใหม่อย่างหรูหรา ในรูปแบบผสมผสานระหว่างสิ่งก่อสร้างจากยุโรปและบราซิล และในช่วงที่คูบิตส์เช็กเข้ามาบริหารประเทศนี่เอง ก็เป็นช่วงที่ฟุตบอลทีมชาติบราซิลเริ่มต้นสู่ยุคเฟื่องฟู...

ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน...ปี ค.ศ. 1958 โจฮัว ฮาเวลานจ์ ก้าวขึ้นเป็นประธานสหพันธ์ฟุตบอลบราซิล และเข้ามาดูแลนักเตะชุดฟุตบอลโลก 1958 ...ทั้งที่ก่อนหน้านี้บราซิลไม่ประสบความสำเร็จในฟุตบอลโลก 5 ครั้งแรก ถึงแม้แข่งขันในบ้านตัวเอง เมื่อปี 1950 แต่กลับแพ้ในรอบชิงชนะเลิศ ให้กับอุรุกวัย 1-2 ทว่าเมื่อทุกอย่างในประเทศเพียบพร้อม… “ฟุตบอล” ก็พร้อมก้าวหน้า

 

ฮาเวลานจ์นำความเป็นมืออาชีพเข้ามาสู่วงการฟุตบอลแดนกาแฟเป็นครั้งแรก นักเตะทุกคนต้องเข้ารับการตรวจร่างกายที่โรงพยาบาลชั้นนำในริโอ เดอ จาเนโร ซึ่งพบว่านักเตะหลายคน เป็นโรคและมีโภชนาการที่ไม่ดี มีพยาธิในลำไส้ บางคนก็เป็นซิฟิลิส เลือดจาง มีฟันหลอ...มีรายงานว่ามีฟันของนักเตะชุดนั้นรวมทั้งหมด 300 ซี่ถูกถอนออกมาจากปากนักเตะ...

นอกเหนือจากเรื่องของร่างกายแล้ว การเตรียมสถานที่ฝึกซ้อมก็พิถีพิถันมาก มีการสำรวจสถานที่ถึง 25 แห่งในสวีเดนเพื่อทำเป็นแคมป์เก็บตัวที่ดีที่สุด ก่อนฟุตบอลโลกที่แดนฟรีเซ็กซ์จะฟาดแข้ง แถมมีการขอเปลี่ยนจากพนักงานผู้หญิงในโรงแรมที่พักเป็นผู้ชายทั้งหมด เพื่อให้ทุกคนมีสมาธิอย่างถึงที่สุด

 

บราซิลกรุยทางเข้ามาถึงรอบชิงชนะเลิศ โดยต้องเจอกับสวีเดน ถึงแม้ว่าเจ้าภาพจะขึ้นนำตั้งแต่นาทีที่ 4 แต่ความเยี่ยมยอดของฝีเท้าและการเตรียมตัวมาอย่างดีของวิเซนเต้ ฟีโอล่า กุนซือในวันนั้น ภายใต้การบริหารของฮาเวลานจ์ ทำให้บราซิลคว้าชัยชนะเหนือสวีเดน 5-2 เถลิงแชมป์ฟุตบอลโลกเป็นสมัยแรก

ผู้เล่นอย่างวาว่า, การ์รินชา และมาริโอ ซากัลโล ตลอดจนเด็กมหัศจรรย์ “เปเล่” คือ กลุ่มผู้เล่น ที่เริ่มสร้างตำนานให้วงการลูกหนังบราซิล

 

จะเห็นได้ว่าจุดเริ่มต้นของความสำเร็จวงการลูกหนังบราซิลเริ่มต้นขึ้นในวันที่การเมืองสดใส…

 

วันที่การเมืองวุ่นวาย   

ระหว่างที่ชาวบราซิเลียนทั้งชาติกำลังอิ่มเอมกับความสุข ทั้งวิถีชีวิตทั่วไป และการเป็นเบอร์ 1 ลูกหนังโลก…ทว่าการเลือกตั้งในปี ค.ศ. 1960 ได้สร้างความวุ่นวายให้กับประเทศมากมาย

 

จานิโอ คัวโดรส ของพรรคสหภาพประชาธิปไตยแห่งชาติ ชนะการเลือกตั้งเหนือ เจา กูลาร์ท อดีตรองประธานาธิบดีสมัยก่อนหน้านั้น (ยุคของ จุสเซลิโน่ คูบิตส์เช็ก) ซึ่งมีความคิดซ้ายจัด และสนับสนุนระบอบคอมมิวนิสต์ พร้อมก้าวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีในปี 1961 แทนที่ จุสเซลิโน่ คูบิตส์เช็ก ผู้มีวิสัยทัศน์อันกว้างไกลในการพัฒนา

 

คัวโดรสเข้ามาเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศจากคอมมิวนิสต์มาเป็นอนุรักษ์นิยมมากขึ้น อย่างไรก็ตามในช่วงแรก แนวทางของคัวโดรสถูกประชาชนบราซิลต่อต้าน ขณะที่สภาก็ยังภักดีกับขั้วเก่า ทำให้วางตัวเป็นฝ่ายตรงข้ามกับคัวโดรสตั้งแต่เริ่มเข้ารับตำแหน่ง

 

ผู้นำบราซิลคนนี้พยายามที่จะขยายอำนาจของตัวเองในสภา ด้วยการยุติความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกา ขัดขวางการเข้าไปแทรกแซงการบริหารประเทศคิวบา ของฟีเดล คาสโตร ประธานาธิบดีของคิวบาในยุคนั้น รวมทั้งขอเข้าไปอยู่ภายใต้การหนุนหลังของโซเวียต เพื่อคงอำนาจทางการเมืองเอาไว้ ทั้งหมดนี้ทำให้ผู้สนับสนุนในวันที่ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีเสียความเชื่อมั่นในตัวเขาอย่างมาก จนกระทั่งขอลาออกจากตำแหน่ง ในวันที่ 25 สิงหาคม 1961 โดยให้เหตุผลว่า อำนาจของฝ่ายตรงข้ามเข้มแข็งเกินกว่าที่เขาจะทำหน้าที่เป็นประธานาธิบดีที่มีประสิทธิภาพได้

 

การลาออกของคัวโดรสเป็นการเปิดทางให้กูลาร์ทขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ เขาใช้ความเป็นคอมมิวนิสต์จัดมาบริหารประเทศจนสร้างขัดแย้งมากมาย จนทำให้โอดิลิโอ เดนิส รัฐมนตรีกระทรวงสงคราม ขอให้กูลาร์ทลาออกและจัดการเลือกตั้งใหม่ แน่นอนล่ะว่า… สภากลับปฏิเสธคำแนะนำของเดนิส

 

ฟุตบอลโลก ที่ประเทศชิลี ในปี ค.ศ. 1962 ทีมชาติบราซิล ภายใต้การบริหารสหพันธ์ฯ โดยโจฮัว ฮาเวลานจ์ ยังเอาตัวรอดไปได้ด้วยการคว้าแชมป์โลกเป็นสมัยที่ 2 ติดต่อกัน จากชัยชนะเหนือเช็คโกสโลวาเกีย 3 - 1 ในนัดชิงชนะเลิศ แต่ถัดมาอีก 2 ปี เมื่อการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศมาถึงทางตัน… และการปฏิวัติก็เริ่มขึ้น

 

วันที่การเมืองครอบงำ (ฟุตบอล)

ปี ค.ศ. 1964 เป็นปีที่กูลาร์ทบริหารประเทศเข้าสู่ปีที่ 3 เศรษฐกิจของบราซิลย่ำแย่ จนท้ายที่สุด วันที่ 31 มีนาคม กำลังทหารทำการปฏิวัติการปกครองของกูลาร์ท ฝ่ายบริหารถูกจับ กูลาร์ทหนีออกนอกประเทศ รองประธานาธิบดีเรียกร้องให้ประชาชนออกมาตามท้องถนน แต่ถนนกลับว่างเปล่า

ช่วงปฏิวัติทีมซานโต๊สของเปเล่ออกไปทัวร์ทวีปอเมริกาใต้ ก่อนหน้าการเดินทางประเทศยังคงเป็นประชาธิปไตย แต่เมื่อกลับมาถึงบ้าน กลายเป็นประเทศที่ปกครองไปด้วยทหารเสียแล้ว  ฝ่ายปฏิวัติเข้ามาเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองหลายอย่าง ขณะที่ฟุตบอลก็เริ่มถูกแทรกแซงมากขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่าการตกรอบแรกฟุตบอลโลก 1966 ไม่ได้เกิดจากรัฐบาลทหารซะทีเดียว เป็นเพราะการเตรียมทีมที่ไม่ดีของสหพันธ์ฯ เอง และนั่นอาจเป็นช่องโหว่ให้รัฐบาลลุกขึ้นมาแทรกแซงเกมลูกหนังของบราซิล

เอมิลิโอ เมดิซี่ นายทหารที่เข้ามาเป็นประธานาธิบดีบริหารประเทศในปี ค.ศ. 1969 เขาสั่งให้โจอัว ซาลดันญ่า เฮดโค้ชเรียกดาริโอ กองหน้าฟลูมิเนนเซ่ มาติดทีมชาติ แต่ซาลดันญ่าบอกว่า “เมื่อผมไม่ได้ไปวุ่นวายกับการบริหารประเทศของเขา เขาก็ไม่ควรมาแตะทีมของผมเช่นกัน” หลังจากนั้นไม่นาน ซาลดันญ่าก็โดนไล่ออก และมีการแต่งตั้งมาริโอ ซากัลโล่ มาเป็นหัวหน้าผู้ฝึกสอน เพื่อลุยฟุตบอลโลก 1970 แทน… แน่นอนบราซิลชุดนั้นเต็มไปด้วยสุดยอดนักเตะทั้งเปเล่, การ์รินชา, แจร์ซินโญ่, ทอสเทา, และริแวร์ลิโน่ พร้อมกับมีสไตล์การเล่นที่น่าตื่นตาตื่นใจ นั่นยิ่งทำให้รัฐบาลได้ใจ พร้อมกับริเริ่มอาศัยความสำเร็จนี้เป็นตัวเรียกกระแสนิยม

เมดิซี่ กล่าวหลังจากที่แข้งบราซิลเอาชนะอิตาลี ในรอบชิงชนะเลิศ คว้าแชมป์โลก สมัยที่ 3 ในปี 1970 ว่า “ผมรู้สึกดีใจอย่างสุดซึ้ง ที่ได้เห็นความสุขของผู้ที่รักชาติอย่างแรงกล้า เหนือสิ่งอื่นใด นักเตะของเราคว้าชัยชนะมาได้ เพราะรู้ว่าพวกเขาต้องเล่นเพื่อคนทั้งชาติ”

ประธานาธิบดีเมดิซี่นำเอาความสำเร็จจากฟุตบอลโลก 1970 มาเป็นจุดขายในการโฆษณาชวนเชื่อ ในนโยบาย “บราซิลก้าวหน้า” ด้วยคำขวัญที่ว่า “ไม่มีใครทำให้บราซิลถอยหลังได้อีกต่อไป” มีรูปเปเล่ประกอบคำขวัญเหล่านั้น ณ เวลานั้น ฟุตบอล และนโยบายบูมเศรษฐกิจเป็นอาวุธหลักเพียง 2 อย่างในการสร้างความนิยมชมชอบของประชาชนต่อรัฐบาลทหาร

ปี 1974 โจฮัว ฮาเวลานจ์ ได้ก้าวขึ้นไปเป็นประธานสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ ฟีฟ่า และผู้สืบทอดตำแหน่งประธานสหพันธ์ฟุตบอลบราซิล ที่เคยเรืองรองในยุคของเขา เป็นพลเรือเอกเฮเลโน่ นูเนส จากนั้นเกมของทีมชาติทุกแมตช์จะมีการแนะนำคณะคืนความสงบแห่งชาติ สนามฟุตบอลที่เป็นชามยักษ์ 12 สนามถูกสร้างขึ้นมาในหลายเมือง เพื่อเป็นสัญลักษณ์สร้างความภาคภูมิใจให้กับชาวบราซิเลียน รัฐบาลกดดันให้มีการจัดการแข่งขันลีกระดับประเทศขึ้นแทนลีกของรัฐ เพราะฝ่ายทหารมองว่าบราซิล ควรจะมีลีกฟุตบอลขนาดใหญ่

อันที่จริงฟุตบอลลีกแห่งชาติเกิดขึ้นมา ในปี 1971 มีทั้งหมด 20 ทีม ในชื่อ “เดอะ บราซิเลโร่ลีก” แต่ก็ขยายตัวเหมือนบอลลูน ด้วยความต้องการของรัฐบาล...สองปีถัดมาขยายออกเป็น 50 ทีม จนกระทั่งปี 1979 ก็ล้นไปเป็น 94 ทีม จนมีคำพูดเหน็บแนมว่า “เมื่อคณะคืนความสงบแห่งชาติ ทำอะไรแย่ๆ ขึ้นมาสักอย่าง ก็จะมีทีมฟุตบอลเข้ามาเพิ่มในลีกแห่งชาติหนึ่งทีม”

จากนั้นฟุตบอลทีมชาติบราซิลก็โดนทหารแทรกแซง ร้อยเอกเคลาดิโอ คูตินโญ่ อดีตฟิตเนสโค้ช เข้ามาทำหน้าที่หัวหน้าผู้ฝึกสอน จากการแต่งตั้งของคูตินโญ่นำเอาระเบียบทหารเข้ามาใช้ในทีมชาติ ยกเลิกสไตล์การกระชากลากเลื้อยแบบนักเตะแซมบ้า เพราะมองว่าเป็นเรื่องเสียเวลา และเป็นการแสดงให้เห็นถึงความอ่อนแอของนักเตะบราซิล โดยเขาประกาศชัดว่าการฝึกสอนทัพ “เซเลเซา” กับการบัญชาการทหาร ก็คล้ายๆ กัน

 

เผด็จการทำลายความสำเร็จลูกหนังแซมบ้าจริงหรือ?

อย่างที่กล่าวไปก่อนหน้านี้ว่าตั้งแต่ปี 1970 เอมิลิโอ เมดิซี่ ใช้ฟุตบอลเข้ามาเกี่ยวกับการเมืองอย่างชัดเจน โดยยึดเอาผลงานการคว้าแชมป์โลกสมัยที่ 3 ในฟุตบอลโลก 1970 มาผนวกรวมกับการบูมเศรษฐกิจของประเทศเป็นเครื่องมือ

เมดิซี่ต้องการโค้ชที่สั่งได้และเชื่อฟัง ทำให้มาริโอ ซากัลโล่ ถูกแต่งตั้งขึ้นมารับตำแหน่ง และมี เคลาดิโอ คูตินโญ่ เข้ามาดูแลเรื่องฟิตเนสของนักเตะ ทีมชาติบราซิลประสบความสำเร็จอย่างยิ่งยวดในฟุตบอลโลก 1970 และทิ้งมรดกทางฟุตบอลบางส่วนไว้ให้อนาคต

ประธานาธิบดีเออร์เนสโต้ เกเซล เข้ามาบริหาร ในปี 1974 เป็นช่วงเดียวกับที่ทีมชาติบราซิลไม่ประสบความสำเร็จในเวิลด์คัพ 1974 ที่เยอรมันตะวันตก

ทว่าเกเซล ผ่อนปรนความเข้มงวดจากยุคของเมดิซี่ลงไปมาก เขาไม่ค่อยให้ความสนใจกับฟุตบอลนัก ถึงแม้ว่าทีมงานดูแลการประชาสัมพันธ์ของเกเซล จะทำให้ประชาชนได้เห็นว่าเขาเป็นแฟนบอลตัวยงของโบตาโฟโก้ ทีมจากริโอ เดอ จาเนโร และอินเตอร์นาซิอองนาล จากปอร์โต้ อาเลเกร บ้านเกิดของเขาก็ตาม

ความไม่ได้หลงใหลในฟุตบอลนัก ทำให้เกเซลปล่อยให้พลเรือเอกเฮเลโน่ นูเนส ประธานสหพันธ์ฟุตบอลบราซิล มีสิทธิ์เต็มที่ที่จะจัดการทีมชาติบราซิลในรูปแบบของตัวเอง นูเนสต้องการปรับให้ทีมแซมบ้าเป็นทีมที่มีระเบียบวินัย และมีพละกำลังมากขึ้น จึงเลือกเคลาดิโอ คูตินโญ่ นายทหารที่เป็นโค้ชฟิตเนสขยับขึ้นมาเป็นหัวเรือใหญ่

กุนซือทีมชาติบราซิลที่ถูกเลือกมาจากคนของฝ่ายเผด็จการ ถึงแม้จะถูกมองในแง่ลบว่าไม่เคยคุมทีมชาติมาก่อน แล้วทำไมถึงก้าวขึ้นมาเป็นเฮดโค้ชของทีมแซมบ้าในฟุตบอลโลก 1978 ได้ แต่ในฟุตบอลโลกครั้งนั้น แม้บราซิลไม่ได้แชมป์โลก แต่ก็เป็นทีมเดียวที่ไม่พบความพ่ายแพ้เลย ขณะที่อาร์เจนตินา แชมป์ในปีนั้นแพ้อิตาลี ในรอบแรกมาก่อนแล้ว ทำให้คูตินโญ่เรียกบราซิลในยุคของเขาว่าเป็น “แชมป์ที่ใสบริสุทธิ์” เพราะฟุตบอลโลก 1978 บราซิลไม่จบอันดับ 2 ในรอบแบ่งกลุ่ม รอบ 2 ท่ามกลางเสียงวิจารณ์ว่าอาร์เจนตินามีการฮั้วกับเปรู เพื่อให้เจ้าภาพผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศ

อันที่จริงการตีค่าว่าคูตินโญ่ เป็นผลผลิตจากเผด็จการ ที่ทำให้บราซิลไม่ได้แชมป์โลกคงไม่แฟร์นัก เพราะยุคนั้นหลายๆ ชาติก็พัฒนาศาสตร์ลูกหนัง จนแข็งแกร่งมากขึ้น โดยเฉพาะชาติจากยุโรป ซึ่งเนเธอร์แลนด์ส กับยุค Total Football ที่สร้างความเลื่องชื่อมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1974 ก็เป็นตัวอย่างที่ดีที่แสดงให้เห็นว่ายุคนั้นเริ่มมีการขับเคี่ยวด้านเกมฟุตบอลอย่างสูงแล้ว แม้กระทั่งโสคราเตส นักเตะที่ต่อต้านอำนาจเผด็จการมาโดยตลอด ยังเคยเอ่ยปากชมคูตินโญ่ว่าเป็นกุนซือที่ดีมากคนหนึ่งที่เคยร่วมงานด้วย

ปี ค.ศ. 1979 การปกครองเปลี่ยนมือไปอยู่โจฮัว ฟิเกเรโด้ สถานการณ์บ้านเมืองบราซิลในช่วงนั้น กลับสู่ปัญหาสภาวะเงินเฟ้ออย่างรุนแรงอีกครั้ง เศรษฐกิจของประเทศแย่ลงอย่างรวดเร็ว ทว่าเรื่องของฟุตบอลบราซิล ก็ไม่ได้ย่ำแย่ขนาดนั้น ฟุตบอลโลก ปี 1982 ที่สเปน ทีมชาติบราซิล นำโดย โสคราเตส, เอแดร์, และ ซิโก้ ผู้ได้รับฉายานามว่า “เปเล่ขาว” พวกเรามีการเล่นที่มหัศจรรย์ จนถูกยกว่าเป็นทัพแซมบ้า ที่ยอดเยี่ยมที่สุดชุดหนึ่ง แต่ ท้ายที่สุดกลับไปแพ้อิตาลี ในรอบแบ่งกลุ่ม รอบ 2 ปิดฉากลงในรอบนั้น ซึ่งในเวลาต่อมา “อัซซูรี” ทีมนี้ กลายเป็นแชมป์โลก

จากนั้นปี ค.ศ. 1985 ฟิเกเรโด้ ผ่อนปรนอำนาจเผด็จการทหาร และเริ่มปรับเปลี่ยนการปกครองให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น แต่ฟุตบอลโลก 1986 หรือ 1 ปีหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ฟุตบอลทีมชาติบราซิลกลับไม่ถึงฝั่งฝันเช่นเคย ยิ่งกว่านั้นภายใต้การคุมทีมของเซบาสเตา ลาซซาโรนี่ ในเวิลด์ คัพ 1990 ยิ่งล้มเหลวหนักกว่าครั้งไหนๆ

ริคาร์โด เตเซร่า ประธานสหพันธ์ฟุตบอลบราซิล (รวมถึงลูกเขยของฮาเวลานจ์) ขุดวัตถุโบราณในชุดแชมป์โลกปี ‘70 อย่าง คาร์ลอส อัลแบร์โต แปไรร่า มาเป็นกุนซือคุมทัพแซมบ้า สำหรับฟุตบอลโลก 1994 ที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งแปไรร่า ไม่เป็นที่ชื่นชอบของแฟนบอล และสื่อมวลชน เขาเน้นระเบียบวินัยจนเกิน รวมถึงมีสไตล์การทำทีมที่ขัดต่อความเป็นชาวบราซิเลียน เขาเน้นเกมรับที่แข็งแกร่ง ไร้ความสวยงาม และไม่เอ็นเตอร์เทนแฟนบอลเลยแม้แต่น้อย ทว่า...ท้ายที่สุดแล้วมันกลายเป็นสูตรที่ช่วยให้ทีมชาติบราซิล กลับมาคว้าแชมป์โลกได้ในรอบ 24 ปี

บทสรุปของเรื่องนี้...เมื่อย้อนดูประวัติศาสตร์จะเห็นได้ว่า “เผด็จการ” อาจสร้างผลกระทบกับวงการฟุตบอลบราซิล โดยเฉพาะทีมชาติอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ถึงกับเป็นต้นตอที่ทำให้ “ทัพเซเลเซา” ล้มเหลวซะทีเดียว ฟุตบอล คือ สิ่งที่รัฐบาลต้องการใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างความนิยม และมีส่วนในการทำให้เกิดฟุตบอลลีกแห่งชาติ อาจมีบางครั้งที่เข้าไปแทรกแซงการทำงานของโค้ชทีมชาติอยู่บ้าง แต่โดยภาพรวมแล้วก็ไม่ใช่ว่าจะมีแต่มุมแย่ๆ อย่าง เคลาดิโอ คูตินโญ่ ที่ถูกแต่งตั้งมาจากอำนาจของพลทหารเรือ ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานสหพันธ์ฯ ขณะนั้นก็มีเอกสารอ้างอิงจากหลายแห่งว่าเป็นโค้ชที่ดี และนำวิธีการเล่นใหม่ๆ มาให้กับบราซิล อันที่จริงอาร์เจนติน่า ที่คว้าแชมป์โลก เมื่อปี 1978 ก็อยู่ภายใต้การปกครองแบบ “เผด็จการ” เช่นกัน

การปกครองแบบเผด็จการ ไม่ได้รับความนิยม และมักถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงความโปร่งใส และยุติธรรม แต่ 24 ปีแห่งการล้างความสำเร็จของทีมชาติบราซิลในเวทีฟุตบอลโลก ก็ไม่ได้หมายความว่าเป็น “ความผิด” ของพวกเขา

 

แหล่งอ้างอิง

http://www.kas.de/wf/doc/kas_9018-544-2-30.pdf?060830124836
http://www.bluker.com/rtbrazil/spac.html
https://en.wikipedia.org/wiki/Football_in_Brazil
https://sites.duke.edu/wcwp/research-projects/politics-and-sport-in-latin-america/brazil/
https://nacla.org/article/beautiful-game-race-and-class-brazilian-soccer
https://www.telegraph.co.uk/sport/football/world-cup/10866213/How-Brazil-built-itself-on-football.html
https://fusion.tv/story/303116/authoritarian-rules-football-sport-as-a-political-weapon/
://www.worldsoccer.com/blogs/political-football-how-brazils-military-hijacked-the-beautiful-game-340119
https://en.wikipedia.org/wiki/Corinthians_Democracy
http://remezcla.com/features/sports/socrates-tribute/
http://www.bbc.co.uk/blogs/timvickery/2010/07/netherlands_v_brazil_1974.html
https://uk.reuters.com/article/uk-soccer-brazil-zico-1982/world-football-paying-price-of-brazils-1982-defeat-zico-idUKBRE8AR03I20121128

 

 

Author

Main Stand

Stand ForAll สื่อกีฬาที่เข้าถึงทุกคน