Feature

จากปากผู้ตัดสินไทยในไอบ้า : ความขัดแย้งขององค์กรมวยโลกกับโอลิมปิกจะลงเอยเช่นไร | Main Stand

สหพันธ์มวยสากลนานาชาติ หรือ “ไอบ้า” กลายเป็นองค์กรที่ถูกจับจ้องเรื่องความไม่โปร่งใสเป็นอย่างมาก ทั้งระบบการบริหารรวมถึงการตัดสินผลแพ้ชนะบนเวที

 


สิ่งเหล่านี้ทำให้พวกเขาถูกคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ไอโอซี) แบนจากการเป็นผู้จัดการแข่งขันมวยสากลสมัครเล่นในโอลิมปิกเกมส์เป็นสมัยที่ 2 ติดต่อกัน พร้อมยังถอดกีฬาชนิดนี้ออกจากสารบบในปี 2028 อีกด้วย

ความขัดแย้งทั้งหมดมีที่มาที่ไปอย่างไร และปัญหาจะถูกคลี่คลายได้หรือไม่ … ร่วมหาคำตอบไปกับ “อาจารย์เค้ก” รองศาสตราจารย์ ดร.ไพบูลย์ ศรีชัยสวัสดิ์ อดีตผู้ตัดสินไทยที่เคยทำหน้าที่บนสังเวียนโอลิมปิก และยังเป็นชาวเอเชียคนแรกที่ได้รับตำแหน่ง “ประธานผู้ตัดสินของไอบ้า” ได้ที่ Main Stand

 

จุดเริ่มต้นที่การโกง

ตลอดระยะเวลาสิบกว่าปีที่ผ่านมา ไอบ้าถูกตราหน้าว่าเป็นองค์กรที่มีการทุจริตและคอร์รัปชันติดอันดับต้น ๆ ในวงการกีฬา ผลการตัดสินหลายครั้งออกมาค้านสายตาจนนำไปสู่การสืบสวนหาการคอร์รัปชั่นและรับสินบนในเวลาต่อมา

เคสที่สะท้านคนทั้งโลกคงหนีไม่พ้นไฟต์ชิงเหรียญทองที่ รอย โจนส์ จูเนียร์ นักชกจากสหรัฐ พ่ายแพ้ต่อ พัค ซี-ฮุน กำปั้นจ้าถิ่นไปไปอย่างเหลือเชื่อในโอลิมปิกปี 1988 ที่เกาหลีใต้ จนไอโอซีต้องสอบสวนอย่างหนักก่อนจะพบความจริงว่าผู้ตัดสินในไฟต์นั้นทั้ง 3 คนมีการรับสินบนจริง

ส่วนเคสที่คนไทยจำได้แม่นยำไม่ลืมก็คือความพ่ายแพ้ของ แก้ว พงษ์ประยูร ต่อ โจว ซื่อหมิง ในรอบชิงฯ ลอนดอนเกมส์ 2012 หรือแม้แต่กรณีของ ฉัตรชัย (ฉัตรชัยเดชา) บุตรดี ที่ปราชัยต่อ วลาดิเมียร์ นิกิติน จากรัสเซีย ในรอบ 16 คนสุดท้าย ริโอเกมส์ 2016

สิ่งที่เกิดขึ้นได้ทำให้ไอโอซีเพ่งเล็งถึงความโปร่งใสขององค์กรมวยโลกแห่งนี้อย่างหนัก ทว่าที่ผ่านมาหลายครั้งจับไม่ได้ไล่ไม่ทัน ไม่มีหลักฐานชัดเจนที่จะไปเอาผิดได้ … กระทั่งปี 2016 ที่กลายเป็นจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ของวงการเลยก็ว่าได้

ในศึกโอลิมปิกที่บราซิล นอกจากเคสของฉัตรชัยแล้วยังมีอีกถึง 11 ไฟต์ที่ต้องสงสัยว่ามีการโกงผลตัดสินเกิดขึ้น ผลพวงเหล่านี้ทำให้อีก 2 ปีต่อมาบอร์ดบริหารไอบ้าตัดสินใจลงดาบแบน ชิง กั๊วะ วู ประธานของตัวเองชาวไต้หวัน ตลอดชีวิต จากการบริหารงานไม่โปร่งใส หลังครองตำแหน่งมายาวนานถึง 11 ปี 

ภายหลังต่อมาทีมสืบสวนยังพบว่ามีการรับสินบนเกิดขึ้นอีกหลายรายการทั้งชิงแชมป์โลก ชิงแชมป์เยาวชนโลก และรายการระดับนานาชาติอื่น ๆ โดยมีผู้ตัดสินถึง 36 รายเป็นอย่างน้อยที่เกี่ยวข้องกับการล็อกผลการแข่งขัน

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ไอโอซีสั่งถอนไอบ้าออกจากการเป็นผู้จัดมวยสากลสมัครเล่นในศึกโอลิมปิกเกมส์ 2020 ที่โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น พร้อมเข้ามาเป็นผู้จัดการแข่งขันด้วยตัวเองโดยตั้งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจช่วยดูแล และคัดเลือกคณะผู้ตัดสินเองทั้งหมด … ซึ่งมีคนไทยเป็นหนึ่งในนั้นด้วยเช่นกัน

 

จากปากเปาไทยในไอบ้า

ในโตเกียวเกมส์ 2020 ทางไอโอซีได้เป็นผู้คัดเลือกคณะผู้ตัดสินที่จะมาทำหน้าที่ด้วยตัวเองทั้งผู้ชี้ขาดบนเวทีและกรรมการให้คะแนน เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาซ้ำรอยเหมือนที่ผ่านมา

นอกเหนือจากนี้ยังมีการเพิ่มผู้ประเมินผู้ตัดสินที่จะทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของผู้ตัดสินทุกคน และผู้สังเกตการณ์ที่ดูภาพรวมการแข่งขันทั้งหมด โดยในส่วนของผู้ประเมินนั้นได้มีชื่อของ รศ.ดร.ไพบูลย์ ศรีชัยสวัสดิ์ อดีตผู้ตัดสินไทยรวมอยู่ด้วย

รศ.ดร.ไพบูลย์ หรือ “อ.เค้ก” ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ตัดสินมวยสากลสมัครเล่นเบอร์ 1 ของเมืองไทยเลยก็ว่าได้ เคยผ่านการคัดเลือกได้เป็น 1 ใน 8 ผู้ตัดสินเอเชีย ทำหน้าที่เป็นผู้ชี้ขาดและผู้ตัดสินในโอลิมปิกเกมส์ 2000 ที่ซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย พร้อมยังคว้ารางวัลผู้ตัดสินดีเด่นประจำทัวร์นาเมนท์มาแล้ว 

นอกจากนี้ยังได้รับเกียรติจากทางไอโอซีให้ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประเมินผู้ตัดสินในโตเกียวเกมส์ 2020 และยังได้รับการแต่งตั้งจากไอบ้าให้ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการผู้ชี้ขาดและผู้ตัดสินมวยสากล ในเวลาต่อมา ซึ่งนับเป็นคนไทยคนแรกที่ได้นั่งเก้าอี้ตัวนี้

เส้นทางการทำงานดังกล่าวทำให้เจ้าตัวรู้ลึกถึงปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างทั้งสององค์กรเป็นอย่างดี 

“สมัยที่เราทำหน้าที่ที่ซิดนีย์เราไม่เคยเห็น (เรื่องการโกง) นะ ยุคนั้นประธานไอบ้าคือ อันวาร์ ชอว์ดรี้ ผมว่ามันก็มีแหละ แต่เราไม่ได้ไปถึงจุดนั้นเลยไม่รู้ เพราะเราไปครั้งแรกก็พยายามทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด พยายามผูกสัมพันธ์กับเพื่อนกรรมการให้ได้มากที่สุด”

“เมื่อก่อนในห้องผู้ตัดสินเฮฮากันได้ ไม่ได้เข้มเหมือนตอนนี้ เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างผู้ตัดสินด้วยกันเราต้องทำ นั่งกินข้าว พูดคุยกัน ตอนนั้นไม่ค่อยมีปัญหาเท่าไหร่นะ แต่ที่หนักมากคือหลังจากซิดนีย์เป็นต้นมา” รศ.ดร.ไพบูลย์ กล่าว

หลังจบศึกที่ซิดนีย์ รศ.ดร.ไพบูลย์ ได้ผันตัวออกจากวงการมวยเพื่อทำหน้าที่เป็นอาจารย์ประจำภาควิชาพลศึกษา คณะพลศึกษา ที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ซึ่งเป็นสถาบันที่เจ้าตัวศึกษาจนจบในระดับปริญญาตรี/โท/เอก

อย่างไรก็ตาม แม้จะถอยห่างออกมาแต่เจ้าตัวยังคอยช่วยเหลือและคอยให้คำปรึกษาแก่ทัพมวยสากลสมัครเล่นทีมชาติไทยเรื่อยมา ก่อนจะได้เข้ามาเป็นฝ่ายเทคนิคนำทีมกำปั้นไทยลุยศึกโอลิมปิกเกมส์ 2016 ที่บราซิล ซึ่งเป็นครั้งปัญหาที่ใหญ่ที่สุดของวงการมวยสมัครเล่นโลก

“ปี 2016 มันค้านสายตามาก ไม่ใช่คู่ฉัตรชัยแต่มีอีกหลายคู่เลย ผมว่าตรงนั้นคือจุดเริ่มต้น มันอาจจะมีมาก่อนแต่เราไม่รู้ เพราะเราห่างมานาน”

“เวลาเขาจัดผู้ตัดสินจะมีคณะกรรมการจัดผู้ตัดสินเป็นคนพิจารณา ไม่ได้ใช้แรนด้อม ผมว่ามันน่าจะมีการคัดว่าคนนี้เอา คนนี้ไม่เอา มันอยู่ที่คนจัดด้วย เป็นขบวนการ” 

“ที่สำคัญคือมีการพยายามจะเปลี่ยนแปลงหลาย ๆ อย่าง โดยเฉพาะการแต่งตั้งผู้ตัดสินระดับ 5 ดาว เพิ่มขึ้นมาจากรูปแบบเดิมที่มีแค่ 1-3 ดาว คือ ระดับประเทศ ระดับทวีป ระดับนานาชาติ ทำให้มีผู้ตัดสิน 5 ดาวที่มีเงินเดือนอยู่ประมาณ 6-7 คน”

“ส่วนตัวเราก็แปลกใจว่าไปตั้งแบบนี้ได้ยังไง แล้วพวกนี้ก็จะเหมือนว่าตัวเองเก่งสุด ไปสร้างบารมี คล้าย ๆ คุมผู้ตัดสินอีกที จนกลายเป็นประเด็นที่มีปัญหา ผมว่าเป็นจุดนึงที่ทำให้การคอร์รัปชันเกิดขึ้น” อ.เค้ก กล่าว

สิ่งที่ รศ.ดร.ไพบูลย์ ระบุไม่ได้เป็นเพียงข้อสังเกต เพราะในเวลาต่อมาทีมสืบสวนที่นำโดย ศาสตราจารย์ริชาร์ด แม็คลาเรน อาจารย์มหาวิทยาลัยชาวแคนาดา ได้เปิดเผยรายละเอียดการโกงครั้งนี้ไว้ในรายงานด้วยเช่นกัน 

โดยไอบ้าจะมีการระบุตัวกรรมการผู้ชี้ขาดบนเวทีและผู้ตัดสินระดับ 5 ดาว (​​The 5-Star Judges) ไว้ล่วงหน้า พร้อมมีการบรีฟงานในช่วงเช้าก่อนแข่งขันเพื่อให้ผลการตัดสินออกมาตามที่ต้องการ และหากกรรมการรายใดคัดค้านก็จะถูกปลดจากการทำหน้าที่ทันที

สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดการสังคยานาครั้งใหญ่ภายในองค์กร จนไอโอซีต้องเข้ามาสั่งแบนไอบ้าแล้วจัดการแข่งขันโอลิมปิกด้วยตนเองในปี 2020 พร้อมเซตมาตรฐานการตัดสินที่โปร่งใสและเข้มงวดมากขึ้น

 

มาตรฐานใหม่โตเกียวเกมส์

หลังจากเข้ามาเป็นผู้จัดการแข่งขันมวยสากลสมัครเล่นใน “โตเกียวเกมส์ 2020” ไอโอซีได้เซตมาตรฐานการตัดสินขึ้นมาใหม่ พร้อมส่งหนังสือถึงผู้ตัดสินทั่วโลกที่มีเชื่ออยู่ในสารบบโดยมีคณะกรรมการกลางอิสระเป็นผู้คัดเลือกให้เข้ามาทำหน้าที่

จึงเป็นอีกครั้งที่ รศ.ดร.ไพบูลย์ ได้รับเลือกให้เข้ามาทำงานในโอลิมปิกเกมส์ในฐานะผู้ประเมินผู้ตัดสิน 1 ใน 6 คนจากทั่วโลก ซึ่งเป็นตำแหน่งใหม่ที่เพิ่มเข้ามาร่วมกับผู้สังเกตการณ์ 

“มันเป็นความภาคภูมิใจมาก เขาคงเห็นประวัติเราในระบบ ผมว่ามันโปร่งใสชัดเจนขึ้น เพราะกลุ่มคนที่เข้ามาทำงานก็เป็นอดีตคนของไอบ้าที่ออกมาสมัย ชิง กั๊วะ วู พวกนี้เขารู้ถึงปัญหาเป็นอย่างดี” อ.เค้ก กล่าว

ในการแข่งขันที่โตเกียว นอกจากผู้ชี้ขาดบนเวที 1 คน และผู้ตัดสินให้คะแนนอีก 5 คนแล้ว ยังมีผู้ประเมินผู้ชี้ขาด 1 คน ที่จะคอยจับตาดูว่าตัดสินได้ถูกต้องตามกติกาไหม ทันเกมหรือไม่ รวมถึงผู้ประเมินผู้ตัดสินที่จะทำที่จับตาผู้ให้คะแนนข้างเวที

ผู้ประเมินผู้ตัดสินจะมีคอมพิวเตอร์ทำหน้าที่เหมือนเป็นผู้ตัดสินอีกคนหนึ่ง พอจบยกก็ต้องให้คะแนนเข้าไประบบ (ไม่นับรวมกับผลคะแนนแพ้/ชนะ) เพื่อนำมาใช้พิจารณาหลังจบการแข่งขันว่าคะแนนของผู้ตัดสินข้างเวทีกับของผู้ประเมินเป็นยังไง ขัดแย้งกันเยอะหรือไหม ถ้ามีการผิดพลาดมาก ๆ ก็จะถูกตักเตือนไปจนถึงขั้นพักงานหรือส่งกลับทันที

“การจัดผู้ตัดสินใช้คอมพิวเตอร์แรนด้อมก่อนแข่งทั้งหมดคู่ต่อคู่ แล้วยังมีผู้ประเมินผู้ตัดสินและผู้ชี้ขาด รวมถึงผู้สังเกตการณ์ที่จะดูภาพรวมทั้งหมดอีก ตรงโต๊ะตัดสินก็ยังมีกล้องติด พอหมดยกก็ต้องนั่งตรง จะไปหันซ้ายขวาไม่ได้ ผู้สังเกตการณ์จะถามเลยว่ามองอะไร ผมว่ามันชัดเจนขึ้นมาก ยากมากที่จะโกง” 

“ส่วนในห้องผู้ตัดสินที่เมื่อก่อนเคยเฮฮากันได้ แต่ตอนนี้ไม่ได้แล้ว มีกล้องติดทั่วห้องเพื่อดูพฤติกรรม ห้ามใช้โทรศัพท์ ห้ามคนนอกเข้า พอถึงเวลาก็จะมีคนมาตามกรรมการเพื่อเตรียมตัวทำหน้าที่ ไม่มีการรู้ล่วงหน้า” รศ.ดร.ไพบูลย์ เผย

ทุกอย่างดูเหมือนจะดีขึ้น ซึ่งไอบ้าภายใต้การนำของประธานคนใหม่ อูมาร์ เครมเลฟ อดีตประธานสหพันธ์มวยรัสเซีย ก็ได้นำวิธีการดังกล่าวมาสานต่อ พร้อมความหวังที่จะได้กลับไปเป็นฝ่ายจัดอีกครั้ง … แต่ทุกอย่างไม่เกิดขึ้น หนำซ้ำสถานการณ์ยังเลวร้ายมากขึ้นไปอีก

 

ผู้ตัดสินต้องเลือกข้าง ?

อูมาร์ เครมเลฟ พยายามที่จะปรับภาพลักษณ์ของไอบ้าให้กลับมาขาวสะอาดดังเดิม แต่ยังมีบางเรื่องที่ไม่สามารถทำตามที่ไอโอซีต้องการได้ อาทิ การคัดเลือกผู้ตัดสิน, ที่มาของงบประมาณที่มี “ก๊าซพรอม” บริษัทพลังงานของรัสเซียเป็นสปอนเซอร์ใหญ่ และการไม่จัดเลือกตั้งประธานใหม่ตามคำสั่ง

นอกจากนี้ยังรวมถึงกรณีที่อนุญาตให้นักมวยจากรัสเซียและเบลารุส สามารถใช้ธงชาติของตนเองในการแข่งขัน ซึ่งขัดกับไอโอซีที่แบนทั้งสองชาติไม่ให้ใช้ธงจากกรณีกองทัพรักเซียบุกโจมตียูเครน

ปัญหาที่ยังคาราคาซังเหล่านี้ทำให้เป็นอีกครั้งที่ไอโอซีลงดาบห้ามไอบ้าเป็นผู้จัดการแข่งขันในโอลิมปิกเกมส์ 2024 ที่ฝรั่งเศส พร้อมตั้งคณะทำงานดำเนินการคัดเลือกนักกีฬาและจัดการแข่งขันแทนทั้งหมด ก่อนจะบานปลายถึงขั้นตัดกีฬามวยสากลสมัครเล่นออกจากศึกโอลิมปิกเกมส์ 2028 ที่สหรัฐอเมริกา ในที่สุด

“ทางไอบ้ามีความล้มเหลวในโครงสร้างของการบริหาร มีสัญญาณหลายอย่างที่ทำให้ไอโอซีไม่สามารถรับรองการทำงานของไอบ้าได้ในวันนี้"

“การประชุมของไอบ้าได้แสดงให้เห็นอีกครั้งว่าไม่ได้สนใจกีฬามวยอย่างแท้จริง แต่สนใจในเรื่องอำนาจเงินทองของตัวเองเท่านั้น การตัดสินใจและการคัดเลือกนักมวยเข้าแข่งในโอลิมปิกไม่มีความโปร่งใสและไม่สามารถเข้าใจได้” แถลงการณ์ส่วนหนึ่งจากไอโอซีระบุถึงเหตุผล

ภายหลังจากโดนแบน ไอบ้าได้แสดงจุดยืนที่จะแยกทางกับโอลิมปิกชัดเจนด้วยการส่งหนังสือถึงผู้ตัดสินในสังกัดทุกคนว่าหากไปร่วมงานกับไอโอซีจะเป็นการผิดกฎและมีบทลงโทษ เพราะโอลิมปิกเกมส์ไม่ได้ดำเนินการจัดโดยไอบ้า

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้กระทบไปถึงผู้ตัดสินมวยทุกชาติที่เป็นสมาชิกของไอบ้า เปรียบเสมือนมัดมือชกให้ต้องเลือกว่าจะทำงานให้ใครระหว่างสององค์กร รวมถึง รศ.ดร.ไพบูลย์ ที่เพิ่งได้รับตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมการผู้ชี้ขาดและผู้ตัดสินมวยสากลของไอบ้า เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2022 ด้วยเช่นกัน

“ในกลุ่มผู้ตัดสินก็แปลกใจว่าทำไมไอบ้าจึงทำแบบนี้ ทั้งที่โตเกียว 2020 ก็ยังทำงานร่วมกันได้ หลังจากปรึกษากับผู้ใหญ่ผมจึงตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งเพราะเรารู้ดีว่าในกีฬาระดับนานาชาติองค์กรที่ใหญ่ที่สุดก็คือไอโอซี”

“ความฝันของนักกีฬาและบุคลากรกีฬาทุกคนคือการได้ไปโอลิมปิก เราจะไปบอกไม่ให้เขาไปเข้าร่วมก็ไม่ได้ ถ้าเรายังเป็นประธานผู้ตัดสินของไอบ้าอยู่มันก็ขัดกันจึงลาออกดีกว่า ซึ่งเท่าที่รู้ตอนนี้ผู้ตัดสินของไอบ้าเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ไปลงทะเบียนกับไอโอซีกันแล้ว” รศ.ดร.ไพบูลย์ เปิดใจหลังดำรงตำแหน่งได้เพียง 6 เดือน 

สถานการณ์ตอนนี้จึงยังคงคลุมเครือ ไม่เพียงเฉพาะผู้ตัดสินแต่ยังรวมถึงนักกีฬาที่ต้องคัดตั๋วไปชิงชัยด้วยเช่นกัน

ท้ายที่สุดแล้วในอนาคตจะลงเอยอย่างไรยังไม่มีใครรู้ เหรียญยังสามารถออกได้หลายหน้า ไม่ว่าจะเป็น ไอโอซีเป็นผู้จัดเองต่อเรื่อย ๆ ไปจนถึงถอดมวยสากลสมัครเล่นพ้นโอลิมปิกไปตลอดเลย หรือแม้แต่จะรับรององค์กรอื่นให้มาดูแลแทนก็ยังทำได้

“อนาคตส่วนตัวที่ผมได้ฟังมาจากหลาย ๆ ประเทศ ถ้าไอบ้ายังดันทุรัง มีคนกลุ่มหนึ่งพยายามทำองค์กรใหม่ขึ้นมา ถ้าอนาคตไอโอซีให้การรับรองทุกอย่างก็จบ” รศ.ดร.ไพบูลย์ ทิ้งท้าย 

Author

ชมณัฐ รัตตะสุข

Chommanat

Photo

อาณกร จารึกศิลป์

Main Stand's Photographer

Graphic

อรรนพ สะตะ

graphic design ผู้ชื่นชอบกีฬาฮอกกี้, เกมส์, เดินเขา เป็นชีวิตจิตใจ