การรับชมฟุตบอลโลกอยู่บ้านด้วยความสนุกสนานเพลิดเพลินและมีอารมณ์ร่วมกับเกมการแข่งขันถือว่าเป็นความบันเทิงในครัวเรือนอย่างหนึ่ง แน่นอนว่าส่วนมากมักจะ “ดูเอามัน” เฉย ๆ โดยไม่ได้คิดอะไรมากมาย หากบางคนที่เริ่มดูฟุตบอลผิดแปลกไปจากนี้ก็จะเป็นที่ครหาหรือไม่ก็ได้รับการผรุสวาทไปเสียเฉย ๆ
หากแต่การรับชมฟุตบอลนั้นก็ไม่ได้มีเพียงแบบเดียวตายตัว แนวทางหนึ่งที่น่าสนใจคือการใช้ “ปรัชญา” เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการรับชม ถึงแม้จะเป็นเรื่องที่ยากเหลือแสน ดูปวดสมอง และอาจจะไม่เกิดอรรถประโยชน์ในโลกทุนนิยมที่เน้นตลาดเป็นใหญ่ที่มีการแข่งขันสูงหรือนับถือเงินเป็นพระเจ้าก็ตาม
Main Stand จึงจะพาไปพูดคุยกับ ศาสตราจารย์ ดร.โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์ อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายกสมาคมปรัชญาและศาสนาแห่งประเทศไทย
ผู้เป็นแฟนฟุตบอลเต็มขั้นและสอนวิชาปรัชญามาทั้งชีวิต ว่าแท้จริงแล้วการนำวิชาปรัชญาเข้ามาเป็น “ชุดวิธีคิด” ในการทำความเข้าใจฟุตบอล โดยเฉพาะ ฟุตบอลโลก ที่เป็นทัวร์นาเมนต์ยอดนิยมที่คนทั้งโลกตั้งตารอคอยเป็นเรื่องที่มีความน่าสนใจในแง่ของการ “เปิดมิติใหม่ ๆ” ในการขบคิด พิจารณา และวิพากษ์วิจารณ์ เพื่อให้ได้ “อะไรใหม่ ๆ” กลับมาสู่ตนเองได้อย่างน่าเหลือเชื่อ
ก่อนอื่นอยากให้อาจารย์เคลียร์คำเสียก่อน ว่าคำว่า ปรัชญา ในความหมายสากลหรือในการอธิบายของอาจารย์นั้นหมายความว่าอย่างไร ?
คำนี้จริง ๆ ค่อนข้างยาก เพราะได้มีการเสนอด้วยทรรศนะที่หลากหลาย แต่ง่าย ๆ เลยนะ ปรัชญาคือกิจกรรมของมนุษย์ที่ใช้ถามคำถามพื้นฐานต่าง ๆ เช่น ความจริงคืออะไร เราคือใคร เรามาอยู่ตรงนี้ได้อย่างไร โลกนี้มีความหมายว่าอย่างไร เรามีความรู้ที่แท้จริงได้ไหม หรือมีเพียงแต่ความเห็นอย่างเดียว อะไรทำนองนี้ พวกนี้คือคำถามหลัก ๆ และบรรดานักปรัชญาก็พยายามตอบคำถามเหล่านี้
ซึ่งเป็นคำถามที่ยากจึงมีการเสนอทรรศนะที่หลากหลาย เลยต้องมีการถกเถียงกัน ใช้เหตุผล และพยายามทำความเข้าใจ โน้มน้าวจิตใจซึ่งกันและกันเพื่อแสวงหาความจริงว่าจริง ๆ แล้วควรตอบคำถามเหล่านี้ว่าอะไร ปรัชญาเป็นวิชาที่เก่าแก่ที่สุด เพราะว่าสาขาวิชาต่าง ๆ ในปัจจุบันล้วนเกิดมาทีหลังปรัชญาทั้งนั้น
คือปรัชญาเป็นรากฐานของทุกวิชาใช่ไหมครับ ?
แน่นอน วิชาที่สอนในมหาวิทยาลัยก็มาจากปรัชญาทั้งนั้น กรีกโบราณ ที่เป็นต้นทางของอารยธรรมตะวันตกต่าง ๆ เนี่ย เขาสอนปรัชญามาก่อน มีแต่ปรัชญาล้วน ๆ และจากนั้นจึงค่อย ๆ แตกออกไปเป็นสาขาวิชาต่าง ๆ โดยเฉพาะการเกิดขึ้นของวิชาวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ในคริสต์ศตวรรษที่ 17 ของกาลิเลโออะไรแบบนี้ ซึ่งก็เกิดเป็นวิชาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ตามมา
แต่คนในสมัยนั้นก็ยังคิดว่าสองวิชาดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของปรัชญาอยู่วันยังค่ำ เพราะว่า อริสโตเติล ในสมัยกรีกก็พูดถึงเรื่องฟิสิกส์กับดาราศาสตร์ไว้ ดังนั้น กาลิเลโอ หรือ โคเปอร์นิคัส จึงเป็นการสานต่ออริสโตเติล นั่นจึงเป็นการเกิดขึ้นของสาขาวิชาใหม่ ๆ เพราะฟิสิกส์เองก็มีระเบียบวิธีของตนเอง เป็นอะไรที่สามารถเฉพาะเจาะจงได้ว่าแยกออกมาจากการใช้เหตุผลแบบเพียว ๆ ของปรัชญา เป็นวิธีการสมัยใหม่แบบวิทยาศาสตร์ไปเลย
ก็เลยเกิดกระแสสำนึกว่าเป็นของใหม่ที่แยกตัวออกมา แต่รากปรัชญาก็ยังคงอยู่ ก็เหมือนกับต้นไม้ใหญ่ที่มีกิ่งก้านสาขาเป็นวิชาต่างๆ แต่ลำต้นใหญ่ก็ยังคงเป็นปรัชญา เปรียบเทียบแบบนี้น่าจะทำให้เห็นภาพได้ชัดที่สุด
หากการแตกกิ่งก้านสาขาเป็นวิชาต่าง ๆ คือในแต่ละวิชาคิดว่ามีดีเป็นของตนเอง แล้วในตัวปรัชญาเองความสำคัญที่คิดว่ามีดีเหนือกว่าสิ่งที่แยกออกไปเหล่านั้นคืออะไรครับ ?
โอ้ ตรงนี้ความสำคัญก็คือมีหลากหลายคำถามมาก ๆ ที่วิชาเหล่านั้นไม่สามารถตอบได้ ก็เลยยังเป็นพันธะของนักปรัชญาอยู่ เช่น คำถามอะไรที่กว้าง ๆ เหมือนที่กล่าวไปก็ไม่ใช่หน้าที่ของวิชาเหล่านั้น อย่างนักวิทยาศาสตร์ที่มักจะตอบคำถามเรื่องความรู้ที่แท้จริงคืออะไรว่าวิทยาศาสร์ อันนี้ไม่ใช่ เพราะว่างานของเขาไม่ได้เป็นการทำงานด้านวิทยาศาสตร์เฉย ๆ
คือก็แตกออกมาเป็นพวกฟิสิกช์ เคมี ชีวะ ไม่มีคนไหนที่จะบอกว่าตนเองทำวิทยาศาสตร์เฉย ๆ มีแต่ทำงานด้านวิชาเฉพาะ ฉะนั้นการมานั่งถามว่าวิทยาศาสตร์ให้ความรู้ได้อย่างแท้จริงไหมจึงไม่ใช่พันธะโดยตรงของวิทยาศาสตร์ อย่างพวกฟิสิกส์ก็สนเรื่องแรง มวล วัตถุ เคมีก็สนเรื่องสสาร สารประกอบ ไม่ว่าสาขาไหน ๆ ก็ไม่มีใครสนใจเรื่องตัววิทยาศาสตร์เองเพียว ๆ
ตรงนี้เลยเป็นสิ่งที่ปรัชญายังสนใจอยู่และเป็นแขนงใหญ่เลย เรียกว่า ปรัชญาวิทยาศาสตร์ ซึ่งก็คือการถามกว้าง ๆ ต่อวิทยาศาสตร์ ประมาณว่าวิทยาศาสตร์ให้ความรู้ที่แท้จริงไหม วิทยาศาสตร์แตกต่างจากความรู้อย่างอื่นอย่างไร วิธีการทางวิทยาศาสตร์เป็นทางเดียวในการหาความรู้หรือไม่ มีแบบอื่นอีกไหม และนี่เป็นหัวข้อวิจัยของปรัชญาในสมัยปัจจุบันเลยทีเดียว
จริง ๆ ไม่ได้มีแต่วิทยาศาสตร์ เรื่องอื่น ๆ มีอีกเพียบ ปรัญชาก็เที่ยวไปถามคำถามพื้นฐานเหล่านี้ไปเสียหมด แม้แต่ปัญหาทางปรัชญาเองอย่าง ธรรมชาติคืออะไร คือสสารอย่างเดียวไหม จิตคืออะไร คือสมองอย่างเดียวหรือไม่ หรือแยกต่างหากจากสมอง วิญญาณมีจริงไหม ตายแล้วไปไหน อะไรแบบนี้ คนสนใจเรื่องนี้ก็จะสนใจศาสนาไปด้วย เลยไปอยู่ในหัวข้อ ปรัชญาศาสนา แต่หาคำตอบแบบไม่อ้างอิงคัมภีร์นะ ไม่อย่างนั้นจะเป็นศาสนาอย่างเดียว ต้องมีการใช้เหตุผลด้วยจึงจะเป็นปรัชญา
เมื่อการถามไปที่ฐานรากคือความสำคัญของปรัชญา แล้วสำหรับประชาชนทั่ว ๆ ไปมีความจำเป็นมากน้อยขนาดไหนในการมีวิธีคิดปรัชญาครับ ?
แน่นอนว่าจำเป็น แต่ไม่ได้หมายความว่าจำเป็นในแง่ของการทำปรัชญาแบบที่นักปรัชญาทำ อย่างนั้นไม่ค่อยจำเป็นเท่าไร แต่เป็นการถกเถียงที่คิดอย่างมีเหตุผล เขาเสนอมาแบบนี้จะมีการอ้างเหตุผลแบบใด สามารถที่จะประเมินได้ว่า น่าเชื่อถือหรือไม่น่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด สิ่งนี้จำเป็นสำหรับทุกคน เพราะเราอยู่ในสังคมที่เต็มไปด้วยข้อมูลข่าวสาร มีการพยายามโน้มน้าวใจให้คนอื่นคล้อยตามจำนวนมาก หากเปิดโซเชียลอะไรแบบนี้
ก็เป็นหน้าที่ของบุคคลที่จะต้องมีวิจารณญาณและความสามารถในการแยกแยะว่าอะไรควรเชื่อหรือไม่ควรเชื่อ นี่แหละ เป็นประโยชน์ที่จับต้องได้ของปรัชญา หรือการคิดอะไรที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทำมาหากินเฉพาะหน้าโดยตรงที่ช่วงหนึ่งในชีวิตต้องมีบ้าง นี่แหละที่จะนำไปสู่ปรัชญาที่เกิดในทุกคน การได้รู้ว่ารอยทางการคิดและการตั้งคำถามที่มีมาเป็นอย่างไรบ้าง อันนี้นี่แหละจำเป็น
ฉะนั้นเสน่ห์ของปรัชญาคือการสร้างคำถามอย่างไม่สิ้นสุด ถูกต้องไหมครับ ?
นั่นแหละ การสงสัย การถาม แต่ทีนี้ต้องตอบด้วย ถามเฉย ๆ ก็ไม่ไปไหน และต้องเข้าใจว่าไม่มีคำตอบเป๊ะ ๆ มันไม่จบมาสองสามพันปีแล้ว
หรือก็คือ การสงสัย ถาม และหาคำตอบ วนไปเรื่อย ๆ ใช่ไหมครับ ?
ใช่เลย ซึ่งไม่ใช่เรื่องแย่ เป็นปกติในชีวิต เมื่อไรที่เราหยุดถามหยุดคิดนั่นจะทำให้มิติบางอย่างของเราสลายหายไป กลายเป็นเหมือนผีดิบ โดนสตาฟ แช่แข็ง อะไรแบบนี้
ในเมื่อการตั้งคำถามนี้เกิดได้กับทุกคน ทุกมิติ ทุกวงการ แล้วอย่างในมิติของกีฬา ตรงนี้ปรัชญาได้เข้ามามีส่วนอย่างไรบ้างครับ ?
แน่นอน มาเยอะเลย โดยเฉพาะคนที่คิดเรื่องกีฬาอย่างจริงจัง มานั่งทบทวนหาความหมายของกีฬา การจัดการประพฤติปฏิบัติของกีฬาในระดับสังคมนี่แหละที่ก่อให้เกิดประเด็นทางปรัชญาในกีฬามากมาย ตัวอย่างที่นักปรัชญาถกเถียงกันในเรื่องกีฬานั่นคือปัญหาเกี่ยวกับการโด๊ปยา คุณไปเปิดวารสารทางกีฬาได้เลยเป็นเรื่องอันดับต้น ๆ ที่เจอได้บ่อย ในตัวมันเองมีปัญหาแน่ ๆ เพราะการโด๊ปยาเกี่ยวข้องกับความเป็นธรรมในการแข่งขันกีฬา พูดเรื่องความเป็นธรรมไม่เป็นธรรมนี่ก็เข้าสู่ประเด็นทางปรัชญาแล้ว
ทีนี้คนในวงการกีฬามักเชื่อว่าการโด๊ปผิดล้วน ๆ แต่ที่เขาถกเถียงกันคือ ผิดที่ว่านี่ผิดอย่างไร ส่วนมากจะตอบว่าพวกโด๊ปอยู่ในสภาพได้เปรียบ ซึ่งผิดไปจากหัวใจของการกีฬาที่ว่าด้วยการแข่งขันแบบเท่าเทียมและเป็นธรรมที่ต้องใช้ฝีมือและการฝึกฝนตนเองล้วน ๆ ทีนี้มาใช้ยาจึงถือเป็นการทำลายหัวใจตรงนี้ไปสิ้น ทำให้ไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง
แต่ก็มีนักปรัชญาเสียงส่วนน้อยที่คิดอีกแบบ เขียนเปเปอร์มาโต้ว่า ใช้ยาไม่ผิดหากเปิดโอกาสให้ทุกคนใช้ยาเหมือนกันถ้วนหน้า โดยมีการกำกับดูแลให้ใช้ในปริมาณที่เท่า ๆ กัน อย่างการแข่งจักรยานนี่เจอโด๊ปบ่อยมาก ตูร์ เดอ ฟรองซ์ ถ้าทุกคนใช้ยาก็คือเท่ากันไปและจะกลับมาวัดกันที่ฝีมือล้วน ๆ แต่ก็มีอีกพวกมาโต้อีกว่าถ้าให้ใช้ยาก็ไม่ได้แข่งกีฬาแล้ว มันเป็นการแข่งกันของบริษัทยาในการผลิตยาเพิ่มสมรรถภาพต่างหาก ไม่ก็พวกเภสัชกรต่างหากที่แข่งขันกัน
สำหรับกีฬามหาชนอย่าง ฟุตบอล หรือลงลึกไปถึง ฟุตบอลโลก นี่เป็นอย่างไรครับ ?
เมื่อมาถึงฟุตบอล ปัญหามีเยอะกว่านั้นมาก อย่างในฟุตบอลโลกที่เห็นได้ชัดที่สุดคือเรื่องของ “Virtue” หรือคุณค่าของวัฒนธรรมที่แตกต่างกันในโลก เพราะว่าอย่าง กาตาร์ ที่ออกกฎสารพัดในการห้ามแฟนบอลทำอะไรบางอย่างในฟุตบอลโลก แฟนบอลที่มาจากโลกที่ไม่ได้เข้าใจกฎทางวัฒนธรรมของกาตาร์เขาก็ไม่เข้าใจและต่อต้านกันรัว ๆ บ้างก็แอบนำเบียร์เข้าไปในสนามอะไรแบบนี้ ประเด็นก็คือประเทศเจ้าภาพนั้นมี “Justification” หรือความชอบธรรมมากน้อยขนาดไหนในการไป “บังคับ” แฟนบอลให้ปฏิบัติตามขนาดนี้ ก็มองได้เป็นสองแนวทาง
แบบแรก คือความชอบธรรมควรอยู่ในระดับที่เป็นสากล ทุกประเทศบังคับหมด เช่น ห้ามฆ่ากัน ห้ามขโมยของ ห้ามทำร้ายร่างกาย อะไรแบบนี้ เป็นพื้นฐานของการอยู่ร่วมกันโดยสันติและปกติสุขจริง ๆ หรือแบบห้ามเป็นฮูลิแกนอะไรแบบนี้ อย่างแฟนบอลอังกฤษถ้าเที่ยวไปทำลายข้าวของทุกประเทศก็ห้าม แต่การจะมาห้ามเดท ห้ามกินเบียร์ ห้ามโชว์เนื้อหนัง อันนี้ไม่เกี่ยวข้องกับการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ กินเบียร์เฉย ๆ ไม่มีปัญหาไง แต่โลกอิสลามไปห้ามเพราะผิดหลักศาสนา
ทีนี้ก็จะมีนักปรัชญาอีกจำพวกหนึ่งเห็นความสำคัญของความชอบธรรมในระดับของเจ้าของบ้านในแต่ละวัฒนธรรมไป แม้จะผิดแปลกแตกต่างไปจากวัฒนธรรมสากล เนื่องจากเป็นรากฐานชุดวิธีคิดของเขา แฟนบอลในฐานะแขกก็ควรต้องเคารพและปฏิบัติตาม เช่น เจ้าบ้านห้ามกินเบียร์แขกก็ควรทำตามและให้ความเคารพแก่หลักนี้ ก็เลยกลายเป็นสองทรรศนะที่แตกต่างกัน นั่นคือกฎสากลที่ทุกคนยอมรับที่ห้ามกว้าง ๆ ได้แต่ไม่ควรห้ามไปถึงเรื่องส่วนตัว ห้ามแบบนี้ถือว่าผิดหลัก
แน่นอนว่าฟุตบอลเป็นกีฬาสากล การไปห้ามนู่นห้ามนี่ดีไม่ดีจะสร้างความแตกแยกมากกว่าที่จะหลอมรวมให้เป็นเอกภาพ และการเคารพเจ้าบ้านแขกก็ควรทำตาม อย่างยุโรปเขาเชียร์บอลแบบเฮฮา อันนี้แฟนบอลที่อื่น ๆ ก็ต้องยอมรับให้ได้
อย่างที่ประธานฟีฟ่ากล่าวว่า “ไม่กินเบียร์สองสามวันไม่ตาย” และยังกล่าวอีกว่าพวกแฟนบอลยุโรปเป็น “ไฮโปไครซี (Hypocrisy)” หรือก็คือ มือถือสากปากถือศีล เจอเหตุการณ์แบบเดียวกันนี้ในยุโรปกลับนิ่งเงียบ แต่พอมาเจอในกาตาร์กลับโวยวายใหญ่
ทีนี้คำถามคือ รากฐานของการกล่าวหาเช่นนี้เหมือนกันตั้งแต่ต้นหรือไม่ หากไม่เหมือนกันก็เป็นการยากที่จะไปเบลมกาตาร์ว่าไม่เคารพหลักสากล อันนี้ก็ต้องไปสืบค้นเพิ่ม ทั้งหมดนี้คือการปะทะกันระหว่างวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ซึ่งเป็นมุสลิมที่อนุรักษ์นิยมและยุโรปที่เป็นเสรีนิยมที่เปิดกว้างมาก ๆ เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุด ของไทยนี่เด็ก ๆ และการมาปะทะกันอย่างนี้อยู่คนละขั้วกันสิ้นเชิง เราเลยได้รับรู้ถึงปัญหาไง
นี่แค่ปัญหาเดียวนะ ยังมีอีกเพียบ ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนักปรัชญาจะตอบคำถามผ่านแขนงที่เรียกว่า “Ethics” หรือการวัดความดีความชั่วของการกระทำนั้น ๆ อะไรแบบนี้
เมื่อมาถึงตรงนี้อาจจะสรุปได้ว่า ปรัชญาในฟุตบอลโลก เป็นเรื่องของการตัดสินคุณค่าในสองแนวทาง คือแบบสากลและแบบคุณค่าแต่ละที่เท่าเทียมกันมีดีเท่ากัน ดังนั้นหากเรายึดตามแบบหลังแล้วมาพิจารณาฟุตบอลในระดับทีมชาติ ตรงนี้ปรัชญาได้ลงลึกไปถึงพื้นที่นี้มากน้อยขนาดไหนครับ ?
อันนี้ยังไม่ค่อยมีใครถามนะ ผมไม่เคยได้คิดมาก่อน เราอาจจะเคยได้ยินปรัชญาในการทำทีมฟุตบอล ตามประสบการณ์ผมที่เรียนที่อเมริกา ตอนนั้นพวกอเมริกันไม่ค่อยเตะซอกเกอร์เท่าไร อย่างบาสเกตบอลเนี่ยจะเห็นได้ชัดกว่ามาก โค้ชแต่ละคนมีปรัชญามีวิธีการทำทีมแตกต่างกันไป นั่นคือลายเซ็นของแต่ละคน ซึ่งส่วนมากก็ดันใช้คำว่าปรัชญา ซึ่งเป็นคำเดียวกับวิชาปรัชญาที่ผมกล่าวถึง ไม่แน่ใจว่าสามารถใช้แทนคำกันได้ไหม อาจจะได้ อาจจะมีส่วนที่เหมือน แต่โดยส่วนมากจะ “ต่างกัน” เสียเป็นส่วนใหญ่
ปรัชญาในบาสเกตบอลคือหลักการกว้าง ๆ ในการทำทีม เช่น บางคนเน้นตั้งรับแบบแมน-ทู-แมน บางคนเน้นฟาสต์-เบรก ขว้างอย่างไวไม่ต้องส่งไปส่งมา หรือบางคนก็เน้นเพรสซิ่งที่ต้องแย่งบอลให้ได้เร็วที่สุด ฟุตบอลก็เห็นนำไปใช้ อันนี้คือลักษณะเฉพาะตัวซึ่งกลายเป็นลักษณะประจำชาติที่ปรากฏในฟุตบอล อย่างอังกฤษเนี่ย โยนยาว วิ่งไล่อัดล้วน ๆ เคยชนะบอลโลกปี 66 เสียด้วย ซึ่งภายหลังก็เปลี่ยนสไตล์ เยอรมนีเองก็เน้นแข็งแกร่ง เฉียบคม เนเธอร์แลนด์ก็โททัล ฟุตบอล
แต่พวกนี้เป็นการใช้ปรัชญาในความหมายที่ต่างออกไปพอสมควร เพราะปรัชญาในการทำทีมก็คือแนวคิดหลักกว้าง ๆ ส่วนที่ผมพูดในตอนแรกคือ “วิชา” ปรัชญา อันนั้นอีกเรื่องหนึ่ง
แต่สิ่งนี้ก็สามารถสะท้อนถึงวัฒนธรรมของแต่ละชาติ อังกฤษจะวิ่งไล่ได้ต้องแข็งแกร่งก่อน เวย์น รูนีย์ นี่อังกฤษแท้เลย สะท้อนชนชั้นกรรมาชีพเลย ฟุตบอลเองก็มาจากพวกนี้ ไม่เหมือนกีฬาชนชั้นสูงอย่างพวกรักบี้ เทนนิส อย่างสเปนเองก็อีกแบบ ไม่เน้นปะทะเน้นส่งบอลอะไรแบบนี้
ซึ่งตรงนี้อาจจะบอกได้ว่า ปรัชญาการทำทีม นี้เป็นเรื่องของการพูดปุ๊ปนึกออกปั๊ปของทีมชาตินั้น ๆ ใช่ไหมครับ ?
ใช่ แบบนั้นเลย
ทีนี้เลยอยากถามต่อว่า แล้วอย่างตัววิชาปรัชญาเพียว ๆ โดยเฉพาะปรัชญาตะวันตก เช่นปรัชญาอังกฤษ เยอรมัน ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ ซึ่งคนในประเทศเองก็ต้องเรียน ตรงนี้ได้ซึมซับเข้าไปยังองคาพยพต่าง ๆ ในฟุตบอลไหมครับ ?
ไม่ค่อยมีหรือแทบจะมีน้อยมากเลย นักฟุตบอลไม่ค่อยมีความรู้ทางปรัชญา อย่างในอังกฤษนักฟุตบอลไม่เน้นการเรียนหนังสือ เขาเตะบอลตั้งแต่เด็ก ๆ 12-13 ปี ต้องเข้าใจก่อนว่าอังกฤษไม่ได้เน้นให้การศึกษาแก่นักฟุตบอล หากแจ้งเกิดได้ไวก็มีชื่อเสียง มีหน้ามีตาในสังคมได้ เผลอ ๆ ได้รับการสรรเสริญมากกว่าคนจบปรัชญาปริญญาเอกที่ทำงานเป็นอาจารย์เสียอีก
ดังนั้นวิชาปรัชญาแบบที่สอน ๆ กันในระดับมหาวิทยาลัยในแง่บุคคลเนี่ยไม่ค่อยมี แต่ในแง่ของวัฒนธรรมเนี่ยเป็นไปได้ อย่างที่ผมได้ตอบไปก่อนหน้านี้ ลืมพูดไป อย่างบราซิลเนี่ยผมไม่เคยเห็นโยนยาว เห็นแต่การเลี้ยง ๆ ไป
ซึ่งหมายถึงโดยตรงไม่ค่อยมี แต่หากเป็นการสั่งสมมาจากบรรพชนมาเรื่อย ๆ ของชนชาตินั้น ๆ อันนี้เห็นได้ชัดเจนใช่ไหมครับ ?
ใช่ แบบนั้นเลย
แล้วอย่างประเทศที่ให้ความสำคัญกับการศึกษา เช่น ฝรั่งเศส นักเรียนระดับมัธยมโดนบังคับให้เรียนปรัชญาทั้งหมด แน่นอนว่าพวกนักฟุตบอลก็ต้องเรียน ตรงนี้อาจารย์คิดว่ามีผลมากน้อยขนาดไหนครับ ?
ผมคาดการณ์ว่าอาจจะมีบ้าง เวลาพูดชื่อ โสคราติส น่าจะมีนักฟุตบอลรู้จักบ้าง แต่นาน ๆ ก็จะเห็นที แต่ในระดับนักฟุตบอลอาชีพคิดว่าน้อยมาก ๆ ผมเห็นในวงการเบสบอล มีอยู่คนหนึ่งเล่นเบสบอลอาชีพในอเมริกา เพื่อน ๆ ชอบล้อว่าเป็นศาสตราจารย์เพราะชอบอ่านปรัชญา ผมจำได้ดี ตรงนี้เป็นเรื่องส่วนบุคคลที่ไม่ได้เห็นชัดขนาดนั้น แต่จะให้ชัดจริง ๆ ก็คือระดับวัฒนธรรม เหมือนที่ผมบอกไปเมื่อกี้นี้
กลับมาในแง่ของวิชาปรัชญา หากมาพิจารณาองค์รวม อย่างกรณีของฟีฟ่าที่รู้กันว่าเป็นการผูกขาดอำนาจทางฟุตบอลไว้แต่เพียงผู้เดียว แง่นี้มีความลักลั่นเรื่องของการบังคับให้เชื่อฟังและได้อภิสิทธิ์เพียว ๆ ตรงนี้ถือว่ามีปัญหาในแง่ปรัชญาไหมครับ ?
เรื่องนี้ก็ไม่ค่อยได้มีการคิดและผมก็ไม่เคยคิดมาก่อนเลย ตอบเร็ว ๆ คือ เปรียบเทียบกับกีฬาอื่น ๆ อย่างแบดมินตัน มี 2-3 องค์กรตีกันประจำ ฟุตบอลนี่ไม่ค่อยมี อาจจะเพราะการยอมรับโดยไม่มีเงื่อนไขที่จะให้ฟีฟ่าเข้ามาดูแลบริหารจัดการเรื่องทางฟุตบอลแต่เพียงผู้เดียว แฟนบอลก็สนแต่เรื่องในสนาม การบริหารอยากทำอะไรก็ทำไป ไม่เหมือนกับกีฬาอย่างอื่นที่สโคปเล็กกว่าเลยตีกันง่าย
แต่หากจะมองผ่านประเด็น Ethics ฟีฟ่าเองก็มีปัญหาบาน อย่างการเลือกเจ้าภาพฟุตบอลโลกเป็นกาตาร์ก็มีประเด็นจากหลาย ๆ ฝ่าย โดนกล่าวหาว่ารับใต้โต๊ะก็มี แต่นั่นก็เป็นเรื่องสมคบคิด ผมยังคิดว่าฟีฟ่าเองก็ทำงานโอเคในระดับหนึ่ง ดีกว่าองค์กรทางกีฬาอื่น ๆ อย่างพวกมวยหรือยกน้ำหนักที่มีปัญหาหยุมหยิมมากอย่างพวกเรื่องการโด๊ปยา แต่ฟีฟ่าไม่ค่อยมี
ผมไปต่อเล็กน้อย อย่างปัญหาที่คนบ่นอุบฟีฟ่ากันในเรื่องของ “ความยุติธรรม (Justice)” อย่างการเอนเอียงไปทางอาหรับที่แก้ต่างให้หมด หรือการปรับตารางฟุตบอลโลกให้ไปแข่งฤดูหนาว ซึ่งกระทบไปทั้งโลก ตรงนี้ถือว่าเป็นประเด็นทางปรัชญาในแง่ความยุติธรรมไหมครับ ?
จริง ๆ หากยอมรับได้หมดอันนี้จะไม่เป็นประเด็น แต่เมื่อเกิดความไม่ลงรอยก็ต้องพิจารณาไปที่เหตุผลของฟีฟ่าที่ไปหนุนหลังอาหรับมากเป็นพิเศษในช่วงหลังว่าจริง ๆ แล้วสอดคล้องกับพันธกิจของฟีฟ่ามากน้อยขนาดไหน ซึ่งผมคาดเดาว่าหากฟีฟ่ามีพันธกิจในการเผยแพร่ฟุตบอลให้แพร่หลายและเท่าเทียมไปทั่วโลก การไปสนบสนุนอาหรับก็อาจจะเพราะต้องการดึงอาหรับให้มีระดับฟุตบอลเท่าเทียมกับที่อื่น ๆ
อย่างนั้นก็ถือได้ว่ามีเหตุผลเพียงพอที่จะกระทำการเช่นนั้นได้ เพราะจริง ๆ อย่างยุโรปก็ไปไกลมากแล้ว หรือกระทั่งอเมริกาทีมหญิงก็คว้าแชมป์โลกได้ ตรงนี้ฟีฟ่าเหมือนเป็นคนอนุบาลอาหรับไป แต่หากเป็นอีกแบบอย่างเรื่องของเม็ดเงิน เมื่อฟุตบอลเป็นทุนนิยมมากขึ้นเลยสามารถสงสัยได้ว่าเงินทำให้การตัดสินใจของฟีฟ่าเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งเราเองก็ไม่ทราบถึงข้อเท็จจริงขนาดนั้น ได้แต่คิดแล้วก็สงสัยไป
อย่างหนึ่งคือเมื่อลองสร้างแบบจำลองทางความคิดแล้วพิจารณาว่า การดึงฟุตบอลโลกไปจัดที่กาตาร์นั้นกาตาร์ได้กำไรนี่อาจจะไม่เท่าไร อาจจะมีค่าลิขสิทธ์เล็กน้อย หรือน่าจะอยากดัง อยากประกาศศักดา อยากให้รู้ว่าอาหรับก็ไม่แพ้ใคร และเป็นที่เคารพนับถือเหมือนที่อื่น ๆ เพราะฟุตบอลโลกไปจัดมาแทบทุกทวีปแล้ว กาตาร์อาจจะอยากโชว์ออฟก็เป็นได้
โดยสรุปคือเป็นเรื่องของการให้เหตุผลให้สอดคล้องกับพันธกิจ หากเป็นไปเพื่อการทำให้ฟุตบอลเท่าเทียมทั่วทุกที่ อันนี้พอจะให้ซิกแซกได้ แต่หากเป็นเรื่องเงินล้วน ๆ อันนี้มีปัญหาใช่ไหมครับ ?
แน่นอน อย่างหลังภาษาอังกฤษเรียกว่า Integrity หรือการยึดมั่นในหลักการอย่างเคร่งครัด หากตนเองไปทำลายหลักการเสียเอง อันนี้แหละที่มีปัญหา ซึ่งเอาตรง ๆ ฟุตบอลโลกครั้งนี้ฟีฟ่าอาจจะแหก Integrity เยอะมาก ๆ ก็เป็นได้
อย่างนั้นอีกกรณีหนึ่งซึ่งเป็นเรื่องของ “เสรีนิยม (Liberalism)” ที่เป็นอุดมการณ์กำกับการก่อตั้งองค์การระหว่างประเทศมาตั้งแต่ต้น แน่นอนว่าฟีฟ่าก็เป็นแบบนี้ แล้วอย่างการไปเข้าข้าง Islamic laws ที่ท้ายที่สุดจะย้อนกลับมาทำลายเสรีนิยมเอง ตรงนี้อาจารย์ถือว่าเป็นปัญหาไหมครับ ?
ใช่ เป็นไปได้ ก็เป็นปัญหาในแง่ Integrity
เมื่อขัดกันโดยสิ้นเชิงแบบนี้ ท้ายที่สุดแล้วพอจะมีทางออกไหมครับ ?
มีอยู่ทางเดียวคือการคุยกัน เจรจากัน พยายามทำความเข้าใจกัน คือบางอย่างเนี่ยก็คุยกันไม่ได้ อย่างเรื่อง “สิทธิมนุษยชน” อันนี้ยอมไม่ได้ เพราะเป็นพื้นฐานที่สุดที่ควรยอมรับร่วมกันแบบสากล แต่หากจะมองในแง่ของกาตาร์ที่เป็นอิสลาม สิ่งที่พวกเขาห้ามก็ไม่ได้เหนือบ่ากว่าแรง แค่ขอเล็กน้อย ห้ามจูบ ห้ามกินเบียร์ แต่ไม่ได้ไปลดทอนสิทธิมนุษยชนของคุณ แต่ต้องยอมรับว่ามุสลิมก็ไม่ใช่โลกทั้งใบ การพยายามยอบรับกันบนพื้นฐานของสิทธิมนุษยชนเลยจำเป็น ดังนั้นทางออกก็คือการคุยกัน
อาจารย์หมายถึง Compromise ใช่ไหมครับ ?
ผมจะเรียกว่า Deliberation เพราะบางอย่าง Uncompromise ไง อย่างเรื่องสิทธิมนุษยชนอันนี้ยอมไม่ได้ คนงานตายไปหลักพันคนอันนี้ไม่ได้ ดังนั้น Deliberation ก็คือการปรึกษาหารือกันหาข้อยุติกัน
ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องของการปฏิบัติจริงแล้วใช่ไหมครับ ?
ใช่ เราทำได้แค่เสนอแนวทาง
จากระดับวิชาและระดับชาติไปแล้ว มาในเรื่องของระดับบุคคล ในยุคปัจจุบันจะเห็นได้ว่าพวกนักฟุตบอลเริ่มใหญ่กว่าสโมสร ใหญ่กว่าทีมชาติ ตรงนี้ถือเป็นปัญหาในเรื่องของ “สิทธิเยอะ” ไหมครับ และจะทำให้ “แก่น” ของฟุตบอลเปลี่ยนจากทีมสู่บุคคลไหมครับ ?
แยกกันก่อน สิทธิ กับ บทบาท ของซูเปอร์สตาร์แตกต่างกัน คือไม่ใช่ว่าหากเน้นเรื่องสิทธิจะทำให้การเล่นเป็นทีมหายไป เพราะสิทธิอย่างสิทธิมนุษยชนคือหลักการพื้นฐานในการอยู่ร่วมกัน ไม่มีการทำร้ายกัน แต่การเล่นเป็นทีมคือการรู้หน้าที่ในการยอมให้ตนเองนั้นหายไปชั่วคราว และการเป็นส่วนหนึ่งของทีม เมื่อทีมชนะตนเองก็ชนะ ทีมได้แชมป์ ตนเองก็ได้แชมป์ จะมาตามใจฉันนั่นไม่ใช่ฟุตบอลแล้ว คิดอย่างนี้ทุกอย่างจบ
แต่ก็ไม่ได้ปฏิเสธว่ามีการละเมิดสิทธิ์ในวงการฟุตบอล อย่างการล่วงละเมิดนักฟุตบอลหญิง ผมไม่แน่ใจว่าในอเมริกาหรือไม่นะ แต่เอาจริง ๆ แก่นของฟุตบอลก็คือทีม หากทำตามไม่ได้ก็ออกไป
นั่นหมายถึงปัญหาส่วนตัวไม่เกี่ยวกับแก่นฟุตบอลใช่ไหมครับ ?
ใช่ ต้องไปจัดการตัวเองให้ได้ก่อน
ทีนี้อยากให้อาจารย์ลองใช้วิชาปรัชญา “ประเมิน” อนาคตวงการฟุตบอลว่าจะมีอะไรน่าจับตามองที่จะขึ้นมาเป็นประเด็นไหมครับ ?
แบบคลาสสิกเลยคือความเป็นธรรมในการตัดสินของกรรมการ การใช้ VAR ทำให้เราต้องพึ่งพิงเทคโนโลยีไปชั่วชีวิตจริงไหม เราเลิกมั่นใจในการตัดสินของมนุษย์ไปเลยหรือไม่ VAR เป็นนายกรรมการหรือไม่ การตัดสินที่เป็นจะเปลี่ยนไปแค่ไหน VAR มีความยุติธรรมหรือไม่ เพราะก็เป็นแค่ภาพเฉย ๆ การตัดสินก็ยังต้องใช้การมองภาพและวิเคราะห์ ประเมิน ให้ความหมาย บางอย่างก็มองได้หลายแบบ
พอมีความเป็นธรรมและความยุติธรรมยกขึ้นมา นี่แหละปรัชญา หรือจะยอมให้มีการตัดสินผิด ๆ บ้างเพื่อคงเสน่ห์ของกีฬาไว้ หรือว่าจะยกให้เทคโนโลยีหมด สมมุติว่ามีผู้ตัดสิน AI วงการฟุตบอลจะยอมรับได้ไหม ผมลองคิดเฉย ๆ
เห็นอาจารย์เปิดประเด็นเรื่องเทคโนโลยี เลยอยากถามว่าหากประเมินเทคโนโลยีกับฟุตบอลจะนำพาอะไรมาสู่ฟุตบอลในอนาคตบ้างครับ ?
อย่างแรกเลย ฟุตบอลที่คุณดูกับที่ผมดูนั้นแตกต่างกัน อาจจะเรียกว่าเสน่ห์ก็ได้ อย่างหัตถ์พระเจ้านี่ไม่มีทางเกิดขึ้นแน่นอน เป็นเทคโนโลยีหมด มนุษย์พึ่งพามากเกินไป จะคิดอะไรก็เป็นเครื่องจักรมากขึ้น
แต่โกลไลน์นี่ผมว่าดีไม่มีปัญหา เทนนิสก็ใช้การขอชาเลนจ์ แต่ว่าก็ว่าเราจะไว้ใจเทคโนโลยีได้อย่างไร อย่างการล้ำหน้า ล้ำแค่ปลายเล็บ แบบล้ำหยุมหยิม อันนี้ยอมได้ไหม ก็น่าขบคิด
ผมไปต่อเล็กน้อย อย่างการเข้ามาของ VR ในฟุตบอล เยอรมนีมีการให้นักเตะที่บาดเจ็บสวมฝึกซ้อมได้ต่อเนื่อง ตรงนี้จะเปลี่ยนฟุตบอลไปมากน้อยขนาดไหนครับ ?
ประเด็นนี้ง่าย ๆ เลยจะเกิดความเหลื่อมล้ำ VR นี่แพงมาก ๆ ทีมจน ๆ ไม่มีสิทธิ์ได้ใช้ ไทยนี่ไม่ได้ใช้เร็ว ๆ นี้แน่นอน หากพิสูจน์ได้ว่าใส่ VR แล้วพัฒนาศักยภาพการเล่นได้จริง ๆ นี่เรื่องใหญ่แน่ ๆ ช่องว่างจะมากขึ้น อีกเรื่องตรงนี้ชัดเจนคือ VR น่าจะช่วยให้เกิดจินตภาพในการเล่นฟุตบอลได้มากขึ้น อย่างการได้ลองหวดลูกบอลแบบไม่ต้องเปลืองแรงก็อาจจะทำให้คิดค้นท่าทางอะไรใหม่ ๆ ได้มากขึ้น คือได้ลองทำดูก่อนจะไปเจอของจริง
ซึ่งตรงนี้เกี่ยวข้องกับวิชาปรัชญาในแง่ของการสร้าง “แบบจำลองทางความคิด” เพื่อให้ไปผิดพลาดหน้างานน้อยที่สุดใช่ไหมครับ ?
เป็นไปได้ แต่การคิดใน VR นี่ไม่ใช่แบบที่ผมคิดนะ อันนี้คือคิดแบบถามและตอบในหัว แต่ VR มันคือโลกเสมือนมันคือจินตนาการ เราจะเห็นภาพตนเองมากขึ้น ตรงนี้จะมีประเด็นทางปรัชญาที่เรียกว่า Metaphysics หรือก็คือจะมีคำถามว่าโลกไหนเป็นจริงมากกว่ากัน โลกเรา หรือ VR กันแน่ อะไรจริงกว่ากัน เป็นการถามหาเรื่องความจริง ซึ่งตรงนี้จะไปเหมือนกับอีสปอร์ตแทน
อยากให้อาจารย์ลอง “คาดการณ์” ว่าวงการฟุตบอลในอนาคตอันใกล้นี้จะมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้างครับ ?
อย่างแรกเลย ฟุตบอลจะเป็นธุรกิจแบบสมบูรณ์ ความเหลื่อมล้ำจะมากขึ้น ทีมระดับกลาง ๆ จะทยอยหดหายไป ทีมใหญ่ ๆ ก็จะมีอำนาจมากขึ้น ซูเปอร์ลีกอะไรแบบนี้มาอีกแน่ ๆ เตรียมรอได้เลย อีกอย่างการปะทะกันระหว่างวัฒนธรรม ก็จะมีมากขึ้น เห็นได้จากการแต่งตัวเป็นนักรบครูเสดหรือการพกหมูเข้าไปในกาตาร์ ซึ่งถือว่าไปแหย่พวกมุสลิมโดยตรง อะไรแบบนี้
สุดท้ายนี้อยากให้อาจารย์ฝากถึงแฟนบอลให้หันมาสนใจวิชาปรัชญาเพื่อใช้เป็นส่วนหนึ่งในวิธีคิดในการรับชมฟุตบอลครับ
ฟุตบอลกับปรัชญาคือโลกเดียวกัน เวลาที่เกิดความไม่ลงรอย การตัดสินถูกผิด ดีชั่ว ความยุติธรรม ตรงนี้ปรัชญาจะเข้ามาโดยธรรมชาติ ไล่ไปเลยตั้งแต่ความยุติธรรมจากการตัดสิน หรือระดับนโยบายของฟีฟ่า นักปรัชญาเองก็ดูฟุตบอลแบบคนทั่วไปนี่แหละ และด้วยความที่ผมเป็นคนไทย ผมก็อยากเห็นไทยก้าวข้ามอาเซียนไปฟุตบอลโลกได้ยิ่งดี กล้าตั้งเป้าแบบเวียดนามให้ได้ ผมจะรอชม