“บวกกันอย่างนี้ก็ต้องเจ็บแหละครับ … แหม่”
ศึกฟุตบอลโลก 2022 ถ่ายทอดสดให้แฟนบอลชาวไทยได้รับชมผ่านฟรีทีวีกันแล้วทั่วประเทศ และหลายคนที่ดูคงจะคุ้นเคยกับเสียงบรรยายเกมอันเป็นเอกลักษณ์จากประโยคดังกล่าว
เสียงที่แฟนบอลคุ้นหูและเคยชินกันเป็นอย่างดีจากนักพากย์ที่ชื่อ “แอ๊ดดี้” วีรศักดิ์ นิลกลัด
ท่ามกลางนักพากย์รุ่นใหม่ที่ก้าวขึ้นมามากมาย แต่วันนี้ในวัย 65 ปี วีรศักดิ์ยังคงได้รับความไว้วางใจให้ทำหน้าที่เป็นผู้บรรยายเกมในศึกฟุตบอลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลกอย่างต่อเนื่อง
สิ่งใดที่ทำให้เขายืนหยัดอยู่บนเส้นทางอาชีพนักพากย์ได้นานกว่า 35 ปี ติดตามได้ที่ Main Stand
ศิษย์มีครู
หากใครเป็นแฟนกีฬาก็คงจะคุ้นหูกับน้ำเสียงของ วีรศักดิ์ นิลกลัด เป็นอย่างดี เพราะไม่ใช่แค่ฟุตบอล แต่เจ้าตัวยังพากย์กีฬาหลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็น ฟุตซอล วอลเลย์บอล สนุกเกอร์ และอีกมากมายไปจนถึงมหกรรมกีฬาอย่างซีเกมส์ เอเชียนเกมส์ โอลิมปิกเกมส์
การที่สามารถบรรยายกีฬาได้หลายชนิดนั้นก็เพราะว่าตัวเขาชื่นชอบและคลุกคลีอยู่กับมันมาตั้งแต่เด็ก ก่อนจะได้รับการบ่มเพาะจากเหล่าบรรดากูรูที่เป็นตำนานนักพากย์ของเมืองไทย
ย้อนกลับไปสมัยยังเป็นเด็ก ด้วยความที่คุณพ่อเปิดค่ายมวยไทยของตัวเองที่บ้านเกิดในอําเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ทำให้เด็กชายวีรศักดิ์เริ่มคลุกคลีกับคำว่ากีฬาและการแข่งขันมาตั้งแต่ตอนนั้น
ในเวลานั้นแม้เจ้าตัวจะยังเด็กเกินไปที่จะขึ้นสังเวียน แต่เขาก็คอยเฝ้าดูพี่ชายและนักมวยในค่ายขึ้นเวทีฝึกซ้อมอย่างใกล้ชิด โดยหนึ่งในพี่ชายที่เขาสนิทสนมมากที่สุดก็คือ “พี่ณุ” หรือ พิศณุ นิลกลัด ที่อายุห่างกัน 6 ปี
พิศณุถือเป็นผู้บุกเบิกเส้นทางสายกีฬาให้น้องชายได้เจริญรอยตาม เพราะหลังจากที่เรียนจบปริญญาตรี รัฐศาสตรบัณฑิต พิศณุก็ตัดสินใจทิ้งสายงานที่ร่ำเรียนมาเลือกเส้นทางสายกีฬาที่ตัวเองชื่นชอบ โดยเข้าทำงานเป็นนักข่าวกีฬาที่นิตยสารสตาร์ซอคเกอร์ และหนังสือพิมพ์สยามกีฬารายวัน ในเครือบริษัทสยามสปอร์ต
ขณะที่ตัวน้องชายวีรศักดิ์ หลังเรียนจบประถมต้นก็ได้ย้ายมาเรียนต่อที่กรุงเทพฯ ก่อนจะเข้าศึกษาที่วิทยาลัยพลศึกษากรุงเทพ ด้วยความที่ชื่นชอบในวีถีกีฬาเช่นเดียวกับพี่ชาย
“เราชอบเล่นกีฬาอยู่แล้ว พอเข้ามาเรียนที่กรุงเทพฯ ก็เริ่มเล่นฟุตบอลจริงจัง เคยติดตัวโรงเรียนระดับมัธยมด้วย พอเข้าเรียนวิทยาลัยพลศึกษาก็ตั้งใจว่าจะเป็นครูพละ เพราะคุณพ่ออยากให้ลูกทำงานราชการ”
“แต่พอเรียนจบ วันนึงพี่ณุชวนมาเตะฟุตบอลทีมสตาร์ซอคเกอร์ ได้เจอคุณระวิ โหลทอง เจ้าของบริษัทสยามสปอร์ต เขาเห็นว่าเราเป็นน้องชายพี่ณุแล้วก็ชอบกีฬาเลยชวนมาทำงานด้วย เราชอบกีฬาอยู่แล้วเลยตอบตกลงทันที” วีรศักดิ์ ย้อนถึงจุดเริ่มต้น
ในรั้วสยามสปอร์ตยุคปี 2524 สมัยที่ยังใช้เครื่องพิมพ์ดีดในการทำข่าว วีรศักดิ์เริ่มต้นจากการเป็นนักข่าวหนังสือพิมพ์ มีหน้าที่คอยแปลข่าวกีฬาและบทความต่าง ๆ ที่ถูกส่งตรงมาจากต่างประเทศผ่านเครื่องเทเลกซ์ โดยมี “ย.โย่ง” เอกชัย นพจินดา และ “น้องหนู” ธราวุธ นพจินดา สองตำนานนักข่าวกีฬาที่ปัจจุบันล่วงลับไปแล้ว คอยดูแลและมอบหมายงานให้
การได้ศึกษาและซึบซับความรู้จากกูรูกีฬาทั้งสองท่านทำให้วีรศักดิ์บ่มเพาะประสบการณ์จนเพิ่มพูน … แล้ววันนึงโอกาสในการเข้าสู่วงการทีวีก็มาถึง
“ตอนนั้นช่อง 7 กำลังบูมเรื่องกีฬา พี่โย่งเป็นคนแรก ๆ ที่ไปทำงานอ่านข่าวกีฬาและพากย์กีฬาทางทีวีแล้วพี่ณุก็ตามไป พอทำงานได้ 1-2 ปี เขาเห็นว่าเราเสียงคล้ายพี่ณุก็เลยให้เข้าไปลองบ้าง”
“เข้าไปแรก ๆ ก็ไปทำงานเบื้องหลัง ทำรายการยอดมวยเอก คอยเขียนสคริปท์ ทำสคริปท์ ไปถ่ายรายการ เลยได้รู้มุมกล้อง ได้เรียนรู้ทุกอย่างทั้งที่ไม่เคยเรียนด้านนี้มาก่อน เลยซึมซับมาตลอด จนได้อ่านข่าวกีฬาในที่สุด”
“พอดีกับทางช่องมีถ่ายทอดสดกีฬาเยอะ เราเลยได้โอกาสไปพากย์ครั้งแรกในกีฬาเขตร่วมกับพี่โย่ง อาศัยว่าเรามีต้นทุนเรียนพลศึกษามา เรียนกีฬามาทุกชนิดอยู่แล้ว พอจะเล่นกีฬาได้ถึงจะดีบ้างไม่ดีบ้างแต่เรารู้กติกา มันเลยช่วยได้”
“ที่สำคัญที่สุดเลยคือเราได้ศึกษาและได้รับการดูแลจากรุ่นพี่ทั้งพี่โย่งและพี่ณุ มีปัญหาติดขัดอะไรทั้งสองคนก็พร้อมจะช่วยให้คำปรึกษา เพราะเราแทบจะไม่มีประสบการณ์เลย สมัยเด็กก็ไม่มีฟุตบอลถ่ายทอดสดให้ดูเท่าไหร่ ส่วนใหญ่จะเป็นเทปมากกว่า” วีรศักดิ์ เผย
จากกีฬาเขต เส้นทางการเป็นนักพากย์ของ “แอ๊ดดี้” ก็เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ โดยมีโอกาสบรรยายกีฬาอีกมากมายหลายรายการทั้ง กีฬาแห่งชาติ ฟุตบอลสโมสรในประเทศ ควีนส์คัพ ถ้วยพระราชทาน ก ฟุตบอลพรีเมียร์ลีก อังกฤษ รวมถึงเป็นหนึ่งในทีมนักพากย์ศึกฟุตบอลโลก ปี 1990 ของโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ด้วยเช่นกัน
“ความที่เราเรียนพลศึกษา ชอบกีฬาหลายอย่าง ฟุตบอล ตะกร้อ วอลเลย์บอล สามารถหยิบเราไปใช้งานได้หมด ซึ่งเราต้องรู้จักประวัตินักกีฬาด้วยเพื่อเล่าพร้อมกับเกมที่กำลังแข่งให้คนดูได้ฟัง ชื่อคนอย่าให้ผิด โดยเฉพาะภาษาไทยมันดิ้นได้ เช่น รชต อ่านยังไง ต้องถามให้ชัดเจน ศึกษาให้ดี”
“สมัยก่อนยังไม่มีโซเชียลมีเดีย จะหาข้อมูลแต่ละอย่างยากมาก ต้องดูจากหนังสือหรือฟังผู้บรรยายภาษาอังกฤษออกเสียงชื่อนักเตะจะได้เรียกถูกต้อง แต่ละเกมต้องเตรียมข้อมูลนานมาก สถิติย้อนหลังเป็นยังไง ใครเจ็บใครลงไม่ได้”
“เราถูกสอนมาว่าต้องเตรียมข้อมูลให้เยอะกว่าที่จะใช้ เหลือดีกว่าขาด ถึงไม่ได้ใช้วันนี้ก็เก็บไว้ได้ ให้เกียรติคนดูด้วยการต้องเตรียมข้อมูลให้มาก ๆ อย่าเดินตัวเปล่าเข้าห้องพากย์” นักพากย์วัย 65 ปี เล่าประสบการณ์
แม้จะพากย์กีฬามาหลากหลาย แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าภาพที่อยู่ในความทรงจำของแฟนกีฬาไทยยุคนี้มากที่สุดคงหนีไม่พ้นยามที่เขาทำหน้าที่บรรยายเกมฟุตบอลที่ทัพนักเตะทีมชาติไทยลงสนาม
แหม่ !
ฟุตบอลเป็นกีฬาที่คนไทยติดตามมากที่สุด มีการถ่ายทอดสดให้แฟนบอลได้เห็นเป็นประจำ แฟนบอลจึงมักจะคุ้นเคยกับน้ำเสียงของผู้บรรยายขาประจำ ไม่ว่าจะเป็น “ย.โย่ง” เอกชัย นพจินดา, “เตยหอม” พิศณุ นิลกลัด, “บิ๊กจ๊ะ” สาธิต กรีกุล ฯลฯ
จนในวันที่ ย.โย่ง ล่วงลับ ขณะที่พิศณุเองก็เบนเข็มไปพากย์มวยและกอล์ฟแทน ไม้ผลัดจึงถูกส่งต่อมาที่ “แอ๊ดดี้” วีรศักดิ์ นิลกลัด ที่ได้รับการผลักดันให้ขึ้นมาทำหน้าที่ต่อ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ช่อง 7 ถือครองลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลทีมชาติไทย จากสหพันธ์ฟุตบอลเอเชีย (เอเอฟซี) อยู่พอดี
แฟนบอลจึงเริ่มได้ยินเสียงของผู้บรรยายรายนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ จนคุ้นชิน … และนอกจากน้ำเสียงอันเป็นเอกลักษณ์แล้ว สิ่งที่แฟนบอลจดจำได้ดีก็คือลีลาการพากย์ที่ใส่อารมณ์ร่วมในจังหวะต่าง ๆ และคำอุทานติดปากว่า “แหม่” และ “โอ้โห” ของเจ้าตัว
“แหม่ นี่ไม่รู้ว่ามันมายังไงเหมือนกัน” เจ้าของวลีคลาสสิกล่าวพร้อมเสียงหัวเราะ
“มันเหมือนเราคุยกับเพื่อน แม่งเอ๊ยอะไรวะ ดูแม่งทำดิ โห่ อะไรอย่างเงี้ย พอเรามาทำงานก็เหมือนเราเล่าเรื่องกับคนดู สร้างความคุ้นเคยกับเขา แหม่ลูกนี้น่าเข้านะครับ ลูกนี้โอ้โหน่าจะยิงนะ น่าจะเปิดนะ อะไรแบบนี้”
“มันออกมาตามธรรมชาติ มันติดปาก เป็นอินเนอร์เหมือนเราเข้าไปอยู่ในเกมด้วย แต่คนเขาไปจับแค่คำว่าแหม่กัน คนอื่นก็อาจจะมีแต่ไม่มีคนพูดถึง หรือเราแหม่ได้อารมณ์”
“คนชอบหรือไม่ชอบไม่รู้ แต่รู้ว่าเขาจำได้ เมื่อก่อนเวลาไปต่างจังหวัดก็มีคนล้อ ตะโกนเรียก ลุง ๆ มาถึงนี่เลยหรอครับแหม่ แล้วก็ยิ้ม (หัวเราะ) เดี๋ยวนี้เวลาเจอแฟนบอลก็เดินเข้ามาขอให้เราพูดคำเดียว บอกคนอื่นแหม่ไม่เหมือนพี่ เลยคิดว่าน่าจะเกิดจากความคุ้นเคยที่เรามีกับคนดู ไม่ว่าจะพากย์กีฬาไหนก็อยู่คู่กับเรา”
นักพากย์รุ่นเก๋าเผยต่อว่าอีกสิ่งสำคัญที่น่าจะเป็นจุดเด่นของตนเองก็คือ “น้ำเสียง” เพราะกีฬาทุกอย่างถ้าพากย์ไม่เนี้ยบจริงไม่แน่จริง เสียงต้องมาก่อน เหมือนกับนักร้องที่มีเสียงน่าฟัง มีเอกลักษณ์ และฟังง่าย
“นอกจากมีน้ำเสียงแล้ว จังหวะในการพูดก็สำคัญ ต้องให้เข้ากับเกม เกมมันสนุกอยู่แล้วเราจะทำยังไงให้มันสนุกมากยิ่งขึ้น เกมไหนไม่สนุกก็ทำยังไงให้สนุก คนพากย์ต้องสวมวิญญาณเป็นคนดูด้วย จะได้รู้ว่าอันไหนน่าฟัง อันไหนดี อันไหนสร้างความรำคาญหรือเปล่า”
“ทีวีมันเห็นภาพ ภาพกับเสียงต้องตรงกัน ถ้าเปลี่ยนภาพไปแล้วพูดค้างอยู่เดี๋ยวมาพูดใหม่ได้ เช่น เมื่อสักครู่ที่เรียนค้างไว้ อะไรยังไงก็มาต่อได้ ไม่ใช่บอลกำลังยิงประตูแล้วยังพูดอยู่ว่าเคยเป็นเยาวชนทีมนู้นทีมนี้แล้วย้ายมาอยู่นี่ มันไม่ได้ ต้องเล่าเรื่องให้ไหลลื่น กลมกลืน”
ถึงกระนั้น แม้จะมีประสบการณ์ล้นเหลือ บรรยายกีฬามานานกว่า 35 ปี แต่เจ้าตัวก็ยังไม่วายที่จะถูกจับผิดต่าง ๆ นานา จนแฟนกีฬานำไปหยอกเอิงล้อเลียนให้เห็นเป็นประจำ ถึงขนาดมีการก่อตั้งเฟซบุ๊กเพจ “วีรศากดิ์ นิลกาด” รวบรวมผลงาน จนมียอดผู้ติดตามกว่า 150,000 ยูสเซอร์ เลยทีเดียว
วีรศากดิ์ นิลกาด
นอกจากความสามารถในการบรรยายกีฬาและน้ำเสียงอันเป็นเอกลักษณ์แล้ว สิ่งหนึ่งที่แฟนกีฬามักจะได้ได้ยินเป็นประจำก็คือ การพากย์ที่นำมาซึ่งเสียงหัวเราะอันเกิดจากความไม่ตั้งใจของเจ้าตัว
มันไม่ใช่การบรรยายข้อมูลผิดพลาดหรืออย่างไร แต่มักจะเป็นช็อตที่อยู่ผิดที่ผิดเวลาที่ใครได้ฟังก็อดอมยิ้มไม่ได้ … ตัวอย่างเช่น
จังหวะลูกออกข้างสนาม “เข้าทางครับแบบนี้เราไม่ต้องรีบครับ” ภาพตัดมาชนาธิปทุ่มเร็ว
"โอ้โห เหลืองครับ เหลืองมาเลย โจนาธาร" ภาพตัดมากรรมการควักใบแดง
พากย์บอลต่างประเทศ “แบร์นาโด ซิลวา พลิกแล้วไป อ้าว ยังไม่ไป ออกซ้ายครับ”
“แหม่ รูปร่างเขาใหญ่จริง ๆ แล้วใหญ่ของเขานี่ไม่ใช่ใหญ่แบบเก้งก้างเทอะทะนะครับ คล่องมาก อ้าว ขวางกันเองครับ”
รวมถึงกีฬาอย่างวอลเลย์บอล “อำพรเป็นผู้เล่นที่เสิร์ฟเยี่ยมมาก วางจุดที่เสิร์ฟลงได้เลย” ภาพตัดมาเสิร์ฟติดเน็ต
“อัจฉราพรขึ้นตบ สวยครับ เรียบร้อย ! … อ่าวออกครับ”
หรือจังหวะยิงมุกระหว่างเกม “แหม่ ดูครับ โรนัลโด โอ้โฮ ขนาดภาพช้ายังเร็วเลยนะครับ” … “แหม่ ถ้าลูกนี้ตรงกรอบจะเป็นประตูทันทีนะครับ” และอีกหลายต่อหลายช็อต
แม้จะดูประดักประเดิดไปบ้าง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งเหล่านี้ได้กลายเป็นหนึ่งในเสน่ห์ที่ทำให้แฟนกีฬาหลายคนจำได้ … มีการนำไปพูดแซวในโลกโซเชียล หรือตั้งเพจในเฟซบุ๊กเลยก็มี โดยเฉพาะเพจ “วีรศากดิ์ นิลกาด” ในยุคแรกเริ่มที่มีผู้ติดตามถึงหลักแสน
“คนทำคนแรกมันเก่งจริง ๆ นะ ตอนยุคแรก ๆ อ่ะ” วีรศักดิ์ พูดถึงเพจ วีรศากดิ์
“เราไม่รู้เรื่องหรอกแต่ลูกสาวไปเห็นแล้วเอามาให้ดู ตอนแรกก็ซีเรียสนะ แต่ดู ๆ ไปแล้วเหมือนเขาหยอกล้อ ไม่ได้เป็นมิจฉาชีพ ไม่ได้ทำให้เราเสื่อมเสียชื่อเสียงหรือเสียหายอะไร”
“อาจจะเป็นช่องทางการทำมาหากินของเขาก็ได้ เราก็ปล่อยเขาไป ให้เป็นความสุขของเขาซึ่งไม่ได้สร้างความทุกข์ใจอะไรให้กับเรา ตอนเราย้ายออกจากช่อง 7 เขาก็ยังโพสต์ใจหายเสียดายด้วย”
“แต่ที่สงสัยคือมันมีเวลาเฝ้าได้ยังไง เราพูดคำนี้ผิดหรอบางทียังไม่รู้เลย หรือบางทีรู้ถึงขนาดว่าวันนี้เราไปพากย์มวยที่ไหน รู้ว่าเราไปนู่นไปนี่ เลยแอบสงสัยว่าเป็นคนใกล้ตัวเราเปล่าวะ (หัวเราะ)”
“คนเราไม่ใช่พหูสูตรมันก็มีข้อผิดพลาดบ้าง ได้รับคำชมคำหรือตำหนิมันมีอยู่แล้ว เหมือนเราเป็นพ่อครัวทำไข่เจียวหมูสับ บางคนบอกอร่อย บางคนหวาน บางคนเค็ม ต้องอยู่กับมันให้ได้ ต่อให้พากย์เป๊ะก็ยังมี ถ้าดูแล้วว่าเราผิดคราวหน้าก็แก้ไข ไปทบทวนดูงานเก่า ถามโปรดิวเซอร์ว่าผิดอะไรตรงไหน”
“เรารู้ดีว่าไม่ได้ผิดอะไรร้ายแรง เราวัดจากงาน ถ้าไม่งั้นเขายังจ้างเราอยู่หรอ ยังมีงานทำ ยังมีความสุขกับการทำงานอยู่ในตอนนี้ได้หรอ” วีรศักดิ์ เผย
อย่างที่เจ้าตัวได้กล่าวไป ไม่ว่าใครจะมองว่าอย่างไร สิ่งที่เป็นเครื่องยืนยันได้อย่างดีก็คือผลงานและการจ้างงานที่ยังมีต่อเนื่องถึงทุกวันนี้ … เพราะตลอดระยะเวลากว่า 35 ปีบนเส้นทางนักพากย์ เจ้าตัวคือนักพากย์ฟรีแลนซ์ไร้สังกัด ที่ใช้ผลงานเพียว ๆ ในการหาเลี้ยงชีพ
ฟรีแลนซ์มืออาชีพ
หลายคนอาจไม่รู้ว่า วีรศักดิ์ นิลกลัด คือนักพากย์กีฬาฟรีแลนซ์ที่ไม่มีต้นสังกัดอย่างเป็นทางการ แม้จะเคยพากย์กีฬาที่ช่อง 7 มานานกว่า 30 ปี ก่อนจะย้ายมาทำงานร่วมกับช่อง PPTV ในตอนนี้ แต่ทั้ง 2 ที่เขาไม่เคยเซ็นสัญญาเป็นพนักงานแต่อย่างใด
“ตั้งแต่เป็นนักพากย์ไม่เคยกินเงินเดือนประจำที่ไหนเลย ตั้งแต่ช่อง 7 ก็ไม่ได้เป็นพนักงานนะ ไม่มีเงินเดือน ไม่มีโบนัส มีแต่สัญญาใจ รายได้มาจากการทำงานล้วน ๆ เป็นฟรีแลนซ์ร้อยเปอร์เซ็นต์มาตลอดจนถึงวันนี้ รับงานเองไม่มีผู้จัดการ ทำงานเอง เตรียมงานเอง ขับรถเอง ทำทุกอย่างเองหมด” วีรศักดิ์ เผย
การเป็นฟรีแลนซ์ย่อมหมายความว่าคุณต้องรักษามาตรฐานในสิ่งที่ทำอยู่ให้ดีที่สุดเพื่อที่จะได้มีงานจ้างอย่างต่อเนื่อง ยิ่งในยุคปัจจุบันที่มีนักพากย์หน้าใหม่เติบโตขึ้นมากมาย
บางคนเป็นนักพากย์ประจำช่องทีวีที่ตนเองทำงานอยู่ บางคนเป็นสื่อมวลชนที่ได้รับเชิญไปพากย์เป็นครั้งคราว บางคนพากย์ด้วยความชอบบนโลกออนไลน์ ซึ่งแต่ละคนล้วนมีสไตล์และลีลาการพากย์อันเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง
คำถามก็คือแล้วสิ่งใดที่ทำให้นักพากย์ที่ชื่อ “วีรศักดิ์ นิลกลัด” ยังคงยืนหยัดอยู่ในวงการได้จนถึงทุกวันนี้
เพราะไม่ใช่เพียงแค่ได้รับความไว้วางใจจากผู้จ้าง แต่ยังสามารถรักษามาตรฐานจนคว้ารางวัลมามากมาย ไม่ว่าจะเป็น โทรทัศน์ทองคำ 6 สมัยในฐานะผู้บรรยายกีฬาดีเด่น, รางวัลกูรูกีฬา ของสยามกีฬาอวอร์ดส์ รวมถึงรางวัลนาฏราช ผู้บรรยายรายการกีฬายอดเยี่ยม ครั้งล่าสุด
“มาตรฐานวัดกันตรงนั้น คุณมีงานไหม คุณได้งานไหม ถ้าคุณเลวร้ายหรือมีข่าวไม่ดี มาตรฐานงานตกลงไปก็คงไม่มีงานหรอก คุณมีงานทำแสดงว่าคุณก็ต้องมีดีอะไรเป็นพิเศษ ต้องมีคุณสมบัติที่ดี มีการเตรียมตัวที่ดี สิ่งสำคัญที่ย้ำตัวเองตลอดคือต้องให้เกียรติคนดูด้วยการเตรียมข้อมูลให้เยอะที่สุด”
“เราอาจโชคดีและมีโอกาสกว่าคนอื่น คนอื่นอาจจะเก่งกว่าเราแต่เขาไม่มีโอกาสอย่างเรา แต่เมื่อได้โอกาสมาแล้วเราก็ต้องรักษาไว้ รักษาคุณภาพ พัฒนาตัวเอง จนยืนระยะมาได้ถึงขนาดนี้ และเราเองก็มีความสุข ได้ดูกีฬาที่เราชอบด้วย มันเป็นชีวิตประจำวันไปแล้ว” วีรศักดิ์ ทิ้งท้าย
ท้ายที่สุดแล้วก็ขึ้นอยู่กับรสนิยมของผู้ชมทางบ้านว่าแต่ละคนจะชื่นชอบสไตล์การพากย์ของผู้บรรยายคนไหน แต่สิ่งที่เจ้าตัวได้แสดงให้เห็นแล้วก็คือความเป็นมืออาชีพที่สามารถรักษามาตรฐานมาได้อย่างยาวนาน
และเมื่อศึกฟุตบอลโลก 2022 มีการถ่ายทอดสดให้แฟนบอลได้รับชมผ่านจอทีวี … จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่ชื่อของ “แอ๊ดดี้” วีรศักดิ์ นิลกลัด จะได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในทีมผู้บรรยาย คอยรายงานเกมด้วยน้ำเสียงและลีลาอันเป็นเอกลักษณ์ให้ทุกคนได้รับฟังเหมือนเช่นเคย … จริง ๆ นะครับ แหม่