ชุดขาวล้วน, คอร์ตหญ้า, รายการเก่าแก่ 145 ปี, สตรอว์เบอร์รีส์ แอนด์ ครีม หรือ พีท แซมพราส
คุณนึกถึงอะไรเมื่อพูดถึง เทนนิสวิมเบิลดัน ?
แต่ไม่ว่าก่อนหน้านี้คุณจะนึกถึงอะไร วันนี้ Main Stand ขอพาทุกท่านหลุดออกจากคำจำกัดความของทุกสิ่งเหล่านั้น เพื่อจดจำวิมเบิลดันในฐานะการแข่งขันเทนนิสระดับโลกที่มีผู้ตัดสินหญิงไทยผ่านการคัดเลือกสุดหิน ได้รับเลือกเป็นผู้กำกับเส้นมาแล้วถึง 3 ครั้ง ในปี 2019, 2020 (ได้รับเลือกแต่การแข่งขันยกเลิกเพราะโควิด-19) และ 2022
เธอคนนั้นชื่อ ‘ปู’ อรทิพย์ ศรีตะวัน
หลังทำหน้าที่เป็นผู้กำกับเส้นวิมเบิลดัน 2022 ในการแข่งขันรอบควอลิฟาย และเดินทางกลับมาถึงไทยได้ 3 วัน เรานัด พี่ปู มาที่ Craftfee Cafe (คราฟต์ฟี่ คาเฟ่) คาเฟ่เล็ก ๆ แห่งหนึ่งย่านเมืองทองธานี สาเหตุที่เลือกย่านนี้เพราะพี่ปูเป็นเจ้าถิ่น
แม้พื้นเพจะเป็นคน จ.อุบลราชธานี แต่ครอบครัวย้ายมาตั้งรกรากอยู่ที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่พี่ปูยังเด็ก ๆ ฉะนั้นทุกตรอกซอกซอยในเมืองทองธานีไม่มีส่วนไหนที่พี่ปูไม่รู้จัก
“เมื่อก่อนร้านนี้เป็นร้านขึ้นเอ็นเทนนิสนะ พี่มาบ่อย” พี่ปู บอกเราแล้วกวาดสายตามองสำรวจร้าน ก่อนเลือกนั่งโต๊ะที่เป็นโซฟากว้าง ๆ บนชั้นลอย พอเหลือบไปเห็นลูกเทนนิสที่เจ้าของร้านวางตกแต่งอยู่ตรงชั้นหนังสือก็ลุกขึ้นไปหยิบมาเดาะเล่น
ความคุ้นเคยในสถานที่ทำให้พี่ปูไม่ประหม่าในการให้สัมภาษณ์ เธอนั่งลงบนโซฟาตัวยาว วางหมวกสีม่วงซึ่งเป็นหนึ่งในยูนิฟอร์มผู้ตัดสินไว้ข้าง ๆ ตัว แล้วเริ่มเล่าเรื่องราวชีวิตของตัวเองให้ฟัง
“พี่อยู่กับเทนนิสมาตั้งแต่ 7 ขวบ จนตอนนี้ 34 แล้วนะ ไม่เคยมีจังหวะชีวิตช่วงไหนของพี่ที่ไม่มีคำว่าเทนนิส”
ผู้เล่น, ผู้ฝึกสอน, ผู้ตัดสิน พี่ปูเป็นมาหมดแล้วทั้ง 3 บทบาท แม้จะเริ่มต้นจับแร็กเก็ตเพราะคุณพ่ออยากให้มีกิจกรรมยามว่าง ประกอบกับบ้านอยู่ใกล้ ๆ กับสนามของสมาคมเทนนิสฯ ทำให้พี่ปูชื่นชอบกีฬานี้เป็นพิเศษ
แต่เมื่อโตขึ้น พี่ปูก็เป็นฝ่ายเลือกเองว่าจะอยู่กับกีฬาเทนนิสทั้งชีวิต และเลือกว่าจะอยู่ในบทบาทไหนได้ด้วยตัวเอง
“พี่ได้ทุนเรียนมหาวิทยาลัยจากโควตานักกีฬาเทนนิส จากนั้นก็สมัครเป็นครูสอนเทนนิสที่โรงเรียนนานาชาติ ISB สอน ๆ ไปได้สักพักมันมีช่วงเด็กปิดเทอม เราก็เริ่มอยากหาความท้าทายก็เลยเข้าเว็บไซต์ยื่นใบสมัครเป็นผู้กำกับเส้นในรายการต่าง ๆ”
พี่ปูเริ่มคุยสนุกพร้อมหยิบโทรศัพท์มือถือมาเปิดภาพในเฟซบุ๊กให้เราดูประกอบ เราเห็นภาพการเดินทางรอบโลกบนสายเทนนิสเต็มไปหมด
“พี่เรียนจบเอกภาษาอังกฤษ เราเลยคล่องในเรื่องการอ่านเอกสาร การพูดคุย แต่จริง ๆ ที่พี่เคยเห็น คนไม่ค่อยเก่งภาษาอังกฤษก็ได้ไปทำหน้าที่นี้กันหลายคนนะ อย่างตอนปีแรกที่พี่ไป (2019) มันเป็นปีก่อนโอลิมปิก เกมส์ ที่ญี่ปุ่น เขาเลยคัดคนญี่ปุ่นมาเยอะ ก็มีหลายคนที่พูดภาษาอังกฤษไม่ค่อยได้ แต่ผลงานการตัดสินเขาดีเลยได้รับเลือก”
“พี่เคยยื่นสมัคร U.S.OPEN ด้วยนะ แต่ตอนนั้นชื่อติดเป็นตัวสำรองเพราะประสบการณ์ยังน้อยอยู่ จากนั้นก็ไปตัดสินที่อินเดีย 2 รายการ แล้วก็ยื่นสมัครของ วิมเบิลดัน ครั้งแรกเมื่อปี 2019 ตอนเขาส่งเมลตอบรับมานะ โอ้โห! ทั้งดีใจ ทั้งตื่นเต้น เราไม่เคยไปอะ ก็มานั่งศึกษากฎกติกา พวกคู่มือที่เขาส่งแนบเมลมา เริ่มหาที่พัก ศึกษาเส้นทาง โชคดีที่พวกเรื่องเอกสารการเดินทาง วีซ่า มีผู้ใหญ่ใจดีที่พี่สาวเราไปขอให้ช่วยสนับสนุนยื่นมือเข้ามาช่วย”
(ภาพรวมคณะผู้ตัดสินในวิมเบิลดันเมื่อปี 2019)
การเดินทางเกือบ 10,000 กิโลเมตร บินข้ามทวีปไปสู่อังกฤษ ในฐานะคนทำงานอิสระ ต้องควักค่าใช้จ่ายพอสมควร แต่ก็มีเวลาเตรียมตัวเกือบครึ่งปี บวกกับการได้สปอนเซอร์มา 3 เจ้า ทำให้ทุกอย่างออกมาสมบูรณ์ พอถึงเวลาลุยเดี่ยวพี่ปูก็ไปอย่างมั่นใจ แม้จะไม่มีเพื่อนหรือใครสักคนที่ล่มหัวจมท้ายไปด้วย
“พี่ไปแบบไม่รู้จักใครเลยจริง ๆ แล้วอังกฤษอะเนาะ มันก็แพง ทางฝ่ายจัดเขามีแนะนำที่พักให้เราใกล้ ๆ กับสนาม คืนละเท่าไหร่รู้ไหม คืนละสองพันกว่า ไม่ไหวล่ะ พี่ต้องไปอยู่ 12 วัน ลองคิดดูรวมเป็นเงินเท่าไหร่ล่ะ ตายพอดี เลยลองหาหอพักรวม ใช้ห้องน้ำรวม ได้มาคืนละ 1,000 นิด ๆ นั่นขนาดหอพักรวมแล้วนะ” เอาล่ะสิ … ฟังมาถึงตรงนี้ คล้ายจะมีเรื่องราวดราม่า แต่เปล่าเลย เพราะแววตาพี่ปูยิ่งฉายแต่ความสุข
“สนุกนะ! ไม่ลำบากเลย อาจเป็นเพราะเราชอบเทนนิสมากด้วยมั้งเราเลยไม่สนอย่างอื่น”
“วันแรกที่ไปถึงแล้วไปอบรม พี่ก็เดินเข้าหาทุกคนเลย สวัสดีค่ะฉันชื่อนี้ ๆๆๆ มาจากประเทศนี้ ๆๆๆ นะ เนี่ยฉันใหม่มาก ฉันมาครั้งแรก มีอะไรแนะนำบอกฉันได้เสมอเลยนะ ทุกคนก็ไนซ์มาก อย่างหัวหน้าฝ่ายตัดสินเขาก็ถามว่าพี่ถนัดเส้นไหน ถ้าเส้นไหนยูไม่ถนัดยูไม่ต้องเลือกนะ เลือกเส้นที่ยูชอบได้เลย ยูจะได้สนุก”
พี่ปูเล่าต่ออีกว่า ในการเป็นผู้กำกับเส้นบนคอร์ตหญ้ายากกว่าคอร์ตอื่น ๆ เพราะอย่างคอร์ตปูนจะได้ยินเสียงลูกตกกระทบกับผิวสัมผัส ซึ่งจะรู้ได้ไม่ยากว่าลูกลงหรือไม่ลง แต่คอร์ตหญ้าเสียงจะเงียบมาก ฉะนั้นต้องมีสมาธิ ไม่วอกแวก และตัดสินใจให้เด็ดขาด
“บางแมตช์ก็ยากตรงที่ว่า เราเจอนักเทนนิสร่างใหญ่ เราก็ต้องคอยเคลื่อนที่เพื่อให้มองเห็นลูก เราต้องตามลูกให้ทัน เวลายืนเราต้องยืนแบบนี้ สายตาต้องไม่ลอกแลก” พี่ปู ลุกขึ้นยื่นแล้วย่อตัวลงเล็กน้อย เอาสองมือวางไว้ที่หัวเข่าทำท่าจดจ้องไปข้างหน้า เป็นท่วงท่าที่ดูสมาร์ตมาก ๆ ไม่ต่างจากที่เราเห็นในเกมการแข่งขัน
เมื่อถามว่าอะไรคือสิ่งที่ยากที่สุดในการตัดสินรายการใหญ่ขนาดนี้ แถมบางวันยังต้องยืนตัดสินวันละ 3-4 แมตช์
พี่ปูบอกว่าไม่มีอะไรยากเลยสำหรับเธอ ทุกอย่างมันสนุกไปหมด อาจจะเป็นเพราะเป็นรอบควอลิฟาย ไม่ใช่เมนดรอว์ด้วย และต่อให้จะขานว่าลูกออกแล้วนักเทนนิสประท้วง แต่ทุกคนก็จะไปประท้วงกับแชร์อัมไพร์แบบมีมารยาท ไม่มีใครมากดดันคาดคั้นเอาอะไรจากเธอ พอจบงานแต่ละแมตช์ก็จะได้รับการประเมินเป็นข้อ ๆ ส่งทางเมล บางแมตช์ก็ได้คะแนนพิเศษ เมื่อแชร์อัมไพร์เห็นว่าตัดสินใจได้เด็ดขาด กล้าขานในจังหวะที่ก้ำกึ่ง เท่ากับว่าการทำงานโดยรวมไม่มีอุปสรรค
แต่อาจจะมีเรื่องเดียว นั่นคือการเก็บอาการเวลาเจอนักเทนนิสดัง ๆ
“พี่เคยเดินสวนกับ โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ กับ โนวัค ยอโควิช รอบ ๆ สนาม แต่เพราะเราเป็นผู้ตัดสิน จะทำอะไรตามใจชอบไม่ได้ ถ่ายรูปก็อาจจะถ่ายได้นอกเวลางาน แต่ห้ามโพสต์เด็ดขาด พี่ก็เลยได้ถ่ายกับหัวหน้าผู้ตัดสินที่อยู่ในป้ายโฆษณาวิมเบิลดันแทน (ขำ) แต่พี่ชอบเขามากเลยนะ ตื่นเต้นไม่แพ้กับการได้เจอนักเทนนิสระดับโลกเลย”
(อรทิพย์ ศรีตะวัน ขณะทำหน้าที่ในแมตช์ระหว่าง ซาราห์ เบธ เกรย์ กับ โอลิเวีย กาเดคกี ภาพจากยูทูปของวิมเบิลดัน)
ส่วนการทำหน้าที่ครั้งที่สองในปี 2022 นี้ พี่ปูก็ยังลุยเดี่ยวและสนุกกับการหาเพื่อนใหม่ รวมถึง … สนุกกับการกินสตรอว์เบอร์รีส์ แอนด์ ครีม ของหวานยอดฮิตประจำทัวร์นาเมนต์ด้วย
“5 ถ้วย รู้สึกว่ามีวันนึงจะกินไป 5 ถ้วย อร่อยจริ๊ง แหม พูดแล้วก็อยากกินอีกเลย” เราอดขำตามที่พี่ปูพูดไม่ได้ แต่ก็เชื่อจริง ๆ ว่ารสชาติของขนมหวานในสนามออลอิงแลนด์มันหอมหวานชวนสดชื่นอย่างที่ปูว่าจริง ๆ
เพราะตลอดชั่วโมงกว่า ๆ ที่คุยกัน ไม่มีเรื่องไหนที่พี่ปูไม่ประทับใจ ไม่มีเรื่องไหนที่พี่ปูมองว่าเป็นอุปสรรค มันเต็มไปด้วยความสุขที่ก่อเกิดจากคำว่า รัก ในกีฬาเทนนิสเพียงอย่างเดียวเท่านั้น
“พี่ไม่เคยคิดจะทำอย่างอื่นเลย เรามีความสุขกับเทนนิสมาก ๆ ไม่ว่าจะในบทบาทไหนก็ตาม พี่อยากจะขอบคุณผู้ใหญ่ใจดีทุกคนที่สนับสนุนพี่ ถ้าพี่ไม่ได้รับการสนับสนุนเหล่านั้นพี่จะไม่ได้ไปถึงอังกฤษเลย รวมถึงคงไม่มีความกล้าที่จะยื่นสมัครรายการระดับโลกอื่น ๆ ด้วย”
ค่าเหนื่อยที่พี่ปูได้รับในการตัดสินรอบควอลิฟายตลอดทั้ง 10 วันตกวันละ 125 ปอนด์ หรือราว ๆ 5,400 บาท ยังไม่นับรวมเงินโบนัสเดอะเบสต์ช็อต หรือจังหวะที่แชร์อัมไพร์มองว่าตัดสินได้ยอดเยี่ยม และต่อให้ใครจะพิจารณาว่ามันมากหรือน้อยยังไง พี่ปูกลับไม่ได้สนใจตรงนั้น
เพราะสิ่งที่ผู้กำกับเส้นหญิงคนนี้คำนวณออกมาได้ไม่ใช่ตัวเลขเม็ดเงิน มันเป็นปริมาณของความสุขที่ประเมินค่าไม่ได้ต่างหาก…