Feature

เยียวยาจิตใจด้วยการวิ่งมาราธอนแบบมูราคามิ | Main Stand

ในช่วงชีวิตของเราทุกคนต่างต้องเคยพบกับปัญหาหรืออุปสรรค รวมถึงเรื่องราวที่สร้างความเจ็บปวดทางใจให้แก่เราไม่มากก็น้อย บางเรื่องอาจหนักหน่วงจนส่งผลถึงพฤติกรรมหรือการกระทำอะไรหลาย ๆ อย่างที่ทำให้ชีวิตของเราดิ่งลงจนเกิดเป็นความเหงา เศร้า รู้สึกโดดเดี่ยวอ้างว้าง หลายคนถึงกับหมดความสุขในชีวิต เนื่องจากยึดติดอยู่กับความเจ็บปวดและปล่อยวางไม่ได้เสียที

 


‘ฮารูกิ มูราคามิ’ นักเขียนชื่อดังชาวญี่ปุ่น ก็เป็นอีกคนที่ต้องพบกับภาวะความเจ็บป่วยทางใจอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งมันแสดงออกอย่างชัดเจนในงานเขียนของเขาที่โดดเด่นในเรื่องของความเปลี่ยวเหงา เศร้า วังเวง และโดดเดี่ยว

แต่เนื่องด้วยความเป็นนักเขียนของมูราคามิทำให้เขาต้องอยู่กับความเปลี่ยวเหงาทุกเวลา เขาจึงเริ่มหันมาวิ่งมาราธอนอย่างจริงจัง จนได้ค้นพบวิธีปลดเปลื้องความทรมานข้างในจิตใจ อะไรคือสิ่งที่มูราคามิค้นพบ แล้วเราจะสามารถนำไปปรับใช้ได้มากน้อยเพียงใด ติดตามได้ใน Main Stand

 

นักเขียนผู้รักความสันโดษ

ฮารูกิ มูราคามิ เกิดและเติบโตในประเทศญี่ปุ่น (พ.ศ.2492) ซึ่งเป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือที่เรียกกันว่า ‘ยุคเบบี้บูมเมอร์’ ซึ่งเป็นยุคที่ทุกประเทศทั่วโลกต่างพยายามฟื้นตัวจากสงครามที่กินเวลายาวนานถึง 6 ปี

ความสับสนเกิดขึ้นท่ามกลางความเชื่อและศรัทธาของคนหนุ่มสาวในยุคนั้น ส่งผลต่อทัศนคติและความคิดของมูราคามิโดยตรง ทั้งหมดปรากฏออกมาเด่นชัดในรูปแบบของตัวละครที่มักจะรู้สึกแปลกแยก สับสน และโหยหาความรักอยู่เสมอ โดยเขาได้ให้ความเห็นต่อเรื่องนี้ผ่าน The Guardian ว่า

“เมื่อครั้งที่ผมยังเป็นหนุ่มในช่วงปี 1960 มันคือช่วงเวลาแห่งอุดมคตินิยม เรามีความเชื่อว่าโลกนี้จะดีขึ้นหากเราพยายามกันหน่อย ผมคิดว่ามันน่าเศร้ามากที่คนสมัยนี้ไม่มีความเชื่อแบบนั้นอีกแล้ว ผู้คนพูดกันว่าหนังสือของผมมันประหลาด แต่เหนือกว่าความประหลาดคือโลกที่น่าอยู่ขึ้น”

มูราคามิ ได้กล่าวเสริมอีกว่า

“เราต้องสัมผัสกับความแปลกประหลาดผิดเพี้ยน ก่อนที่เราจะเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่า นั่นแหละคือรูปแบบเรื่องราวในหนังสือของผม คุณจะต้องผ่านความมืดมนใต้หลุมลึก ก่อนที่จะได้พบกับแสงสว่าง”

 ด้วยนิสัยรักสันโดษเหมือนกับตัวละครในหนังสือ มูราคามิจึงเขียนงานลักษณะนี้ออกมาเป็นจำนวนมาก แต่กลับได้รับคำวิจารณ์ด้านลบจากคนญี่ปุ่น และมากไปกว่านั้นแม้แต่คนในครอบครัวยังขอให้เขาหยุดเขียนหนังสือ … สิ่งนี่อาจเป็นเหตุที่ทำให้มูราคามิเลือกที่จะเดินทางไปที่ยุโรปและอเมริกาเพื่อปักหลักเขียนงานและหลีกหนีความโศกเศร้าภายในจิตใจ

มูราคามิติดบุหรี่อย่างหนัก เขาโศกเศร้า หว้าเหว่ใจ สิ่งเดียวที่พอช่วยให้เขามีความสุขได้คือการเขียนหนังสือ เขาสร้างโลกอันเต็มไปด้วยอารมณ์ความเปลี่ยวเหงาของตัวละคร ความแปลกแยกที่ซ่อนอยู่ในโลกอันแปลกพิกล ความโดดเดี่ยวที่เคล้าคลอด้วยดนตรีแจ๊ซ และเรื่องราวสุดเพี้ยนที่มักปรากฏขึ้นในหนังสือของเขาอยู่เสมอ

แต่ในบางครั้งความเศร้าก็ทำให้เขาเขียนหนังสือไม่ได้เลย

 

เริ่มออกวิ่ง … เยียวยาความเศร้าด้วยร่างกาย

พออายุ 33 ปี มูราคามิก็มีโอกาสได้พบกับนักวิ่งคนหนึ่งที่บรรยายให้เขาฟังว่า ความเจ็บปวดจากการวิ่งเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เราสามารถเลือกที่จะทนรับความเจ็บปวดนั้นได้ … คำพูดดังกล่าวเป็นแรงบันดาลใจให้มูราคามิอยากลองวิ่งดูบ้าง

ทันทีที่หยุดพักจากงานเขียนมูราคามิจึงวางปากกาลงแล้วสวมรองเท้าออกไปวิ่งที่ถนนแถวบ้านในยามเย็น เขาทำเป็นประจำต่อเนื่องอย่างมีวินัย โดยเริ่มวิ่งจากช้าไปเร็ว จากน้อยไปมาก สิ่งแรกที่เปลี่ยนไปคือจิตใจของเขาอิ่มเอิบพองโตด้วยความรู้สึกที่เป็นอิสระ มันค่อย ๆ เยียวยาให้เขาคล้ายจากความโศกเศร้าได้อย่างประหลาด

การวิ่งมาราธอนสามารถทำให้มูราคามิเลิกบุหรี่ได้ภายในเวลาไม่กี่เดือน เขาเคี่ยวกรำตัวเองหนักขึ้นด้วยการวิ่ง 60 กม. ต่อสัปดาห์ และอยู่ในขั้นเอาจริงเอาจังด้วยการวิ่งเร็วเป็นชุด ๆ ที่เรียกว่า ‘Interval Running’ ถือเป็นการฝึกแบบใช้ทั้งไม้แข็งและไม้นวมกับร่างกายเพื่อไม่ลดทอนศักยภาพสูงสุดของตัวเอง

ครั้นพอฝึกซ้อมได้ระยะหนึ่งมูราคามิจึงลงแข่งมาราธอนตามที่ต่าง ๆ ไม่ว่าการลงแข่งในอัลตรามาราธอนระยะ 100 กิโลเมตร, การวิ่งที่อิตาลีย้อนรอยเส้นทางการวิ่งมาราธอนจากต้นตำรับ รวมไปถึงการลงแข่งไตรกีฬาสุดโหดที่ต้องต่อสู้กับจิตใจตัวเองเป็นสำคัญ

แม้มูราคามิจะทำเวลาได้ไม่ดีนักในเกือบทุกการแข่งขัน แต่ทุกสนามได้เปลี่ยนตัวเขาจากภายในและช่วยให้เขารู้จักตัวเองมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นการวิ่งช่วยให้เขาเขียนหนังสือได้ดีขึ้นตามลำดับ

การวิ่งมีส่วนช่วยในการสร้างวรรณกรรมของมูราคามิอย่างมาก เขาผสมผสานการวิ่งเข้ากับงานวรรณกรรมที่ต้องใช้วินัยอย่างยิ่งยวด ตามความเชื่อว่าวินัยจากการวิ่งจะทำให้ควบคุมความคิดสร้างสรรค์ของตัวเองได้

ในการแข่งครั้งหนึ่งที่แสนทรมาน ขาของมูราคามิไม่สามารถทานรับความเจ็บปวดได้อีกต่อไป แต่เขาก็ยังกัดฟันสู้ด้วยเจตจำนงว่า ‘ข้าจะไม่เดินเด็ดขาด’ เจ้าตัวเล่าว่าได้ก้าวข้ามเส้นแบ่งบางอย่างของตัวเองไปในระยะทางช่วงท้าย ๆ ของการวิ่ง จนต้องกล่อมตนเองว่า

“ข้าไม่ใช่มนุษย์ ข้าเป็นเพียงแค่เครื่องจักรกลชิ้นหนึ่ง ข้าไม่จำเป็นต้องรับรู้ความรู้สึก ข้าเพียงแค่เคลื่อนไปข้างหน้า”

การวิ่งครั้งนั้นทำให้เขาเกิดภาวะ ‘ความซึมเศร้าของนักวิ่ง’ ทำให้ไม่อยากวิ่งอีกต่อไป กระนั้นเพียงไม่นานเขาก็กลับมาวิ่งมาราธอนอีกครั้ง

ในบางจังหวะของการวิ่ง มูราคามิบรรยายว่าร่างกายของเขาไม่เป็นไปตามที่ใจคิด และนั่นเป็นอุปสรรคต่อการวิ่งของเขาอยู่บ้าง และมันต้องผ่านกระบวนการเคี่ยวกรำมากกว่าปกติ

เขาต้องกระซิบบอกร่างกายให้เคลื่อนที่ต่อไป บางครั้งก็เบนทิศทางไปที่การว่ายน้ำบ้าง ปั่นจักรยานบ้าง ก่อนจะกลับมาที่การวิ่งอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งไม่ว่าอย่างไรเขาจะลงแข่งมาราธอนทุกปี จนกว่าร่างกายจะไม่ไหว เพราะการวิ่งมีเสน่ห์ดึงดูดให้เขาหยุดวิ่งไม่ได้

มูราคามิยังบอกว่าการวิ่งและการเป็นนักเขียนคือสิ่งที่เหมือนกัน เพราะมันล้วนเป็นกิจกรรมที่โดดเดี่ยวอ้างว้าง ทำให้สามารถพินิจเข้าไปในจิตใจของตัวเอง และเกิดเป็นความนิ่งบางอย่างทีทำให้ความคิดแจ่มชัดขึ้นในห้วงที่สับสนหรืออ่อนไหว ซึ่งกว่าจะผสมผสานการวิ่งเข้ากับงานวรรณกรรมได้ก็ต้องใช้วินัยและความพยายามอย่างยิ่งยวด

 

ฝึกใจให้เข้มแข็งด้วยการวิ่ง … ตั้งแต่ก้าวแรกถึงก้าวสุดท้าย

มูราคามิเชื่อว่าวินัยคือความไม่ย่อท้อ มันช่วยให้เขาควบคุมความคิดสร้างสรรค์ของตัวเองได้คล้ายกับ ‘ทฤษฎีไมโล’ ว่าด้วยการฝืนความหนักในการฝึก

จากหนังสือ ‘What I Talk About When I Talk About Running’ ของ ฮารูกิ มูราคามิ เขียนอธิบายไว้ตอนหนึ่งว่า (ภาษาไทยชื่อ เกร็ดความคิดบนก้าววิ่ง สำนวนแปล นพดล เวชสวัสดิ์)

“กล้ามเนื้อของคนเราเหมือนวัวควายไถนา ไม่มีความคิดแต่หัวไว ถ้าเราเพิ่มน้ำหนักให้ทีละน้อย สัตว์บรรทุกเรียนรู้ที่จะแบกภาระเพิ่ม...กล้ามเนื้อจะเชื่องเชื่อปฏิบัติตาม และจะเพิ่มความแข็งแกร่งมากขึ้น

“แน่นอนอยู่แล้วเรื่องนี้ไม่ได้เกิดขึ้นชั่วข้ามคืน ตราบใดที่เราใช้เวลาอดทน รอคอย และเพิ่มภาระงานให้ทีละขั้น สัตว์ทรงพลังจะไม่บ่น...สัตว์งานจะเชื่อฟังและเพิ่มความแข็งแกร่งแบกรับงาน”

“นับเป็นเรื่องสำคัญที่คนเราจะต้องพักเสียบ้าง แต่ในช่วงวิกฤตเช่นการฝึกหนักเพื่อลงวิ่งมาราธอน ผมต้องวางอำนาจ สั่งการมัดกล้ามเนื้อให้เข้าใจแจ่มแจ้งว่าใครเป็นเจ้านาย ผมต้องประกาศให้ทราบชัดว่าผมคาดหวังสิ่งใด ผมต้องเคี่ยวกรำมัดกล้ามเนื้อไม่ให้ลืมเลือน แต่ก็ต้องระวังไม่ฝึกหนักเกินไปจนเผาเครื่องตัวเอง ยุทธวิธีนี้ นักวิ่งที่มีประสบการณ์เรียนรู้ผ่านกาลเวลา”

จากคำกล่าวข้างต้นสามารถอธิบายได้ว่า วินัยจากการฝึกช่วยให้มูราคามิกลายเป็นคนที่เข้มแข็งขึ้นโดยอัตโนมัติ เมื่อหัวใจเข้มแข็งขึ้นได้แล้วร่างกายก็จะเข้มแข็งขึ้นตามมา

ปัจจุบันแม้มูราคามิจะมีอายุที่มากขึ้น (73 ปี) แต่เขาไม่เคยหยุดวิ่ง และยังคงวิ่งต่อไปเรื่อย ๆ จนกว่าร่างกายจะไม่ไหว เขาบอกว่าการวิ่งและการเขียนเป็นสิ่งที่เหมือนกันคือล้วนเป็นกิจกรรมที่โดดเดี่ยว และความโดดเดี่ยวที่เขาเผชิญนั้นทำให้สามารถพินิจเข้าไปในตนเอง จนเกิดเป็นความนิ่งบางอย่างที่ทำให้ความคิดแจ่มชัด

จากก้าวแรกจนถึงก้าวสุดท้าย มูราคามิไม่เคยบอกว่าการวิ่งเป็นยารักษาใจ แต่ทุกครั้งที่ได้วิ่งเขาจะรู้สึกผ่อนคลายจากความทุกข์ทรมานทั้งปวง รวมถึงยังเข้าใจความคิดและมองเห็นเป้าหมายที่ชัดเจนขึ้นของตัวเองได้อย่างไม่น่าเชื่อ

 

แหล่งอ้างอิง

ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล. (2561).BorntoRun.กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์สารคดี
Haruki Murakami(เขียน) , นพดล เวชสวัสดิ์(แปล).(2562).เกร็ดความคิดบนก้าววิ่ง.กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์กำมะหยี่
Haruki Murakami. (2008). The Running Novelist Learning how to go the distance. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : shorturl.at/cemw3
พิมพ์ คำภีร์.(2564).ฮารูกิ มูราคามิ:ที่มาของนักเขียนผู้ทำให้นักอ่านได้สัมผัสกับโลกอันเปลี่ยวเหงาผ่านตัวหนังสือ [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : https://thestandard.co/haruki-murakami/
เกษศิรินทร์ ผลธรรมปาลิต. (2564). มูราคามิ นักเขียนที่สร้างแรงบันดาลใจด้วยการวิ่งมาราธอน. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : https://www.sarakadeelite.com/faces/murakami-run/
นภัทร มะลิกุล. (2564). ‘เกร็ดความคิดบนก้าววิ่ง’ ของ ฮารูกิ มูราคามิ : ทัณฑ์ทรมานที่ทำให้เราเป็นอิสระ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : https://plus.thairath.co.th/topic/subculture/100866

Author

ณัฐพงศ์ อินต๊ะริด

Main Stand's author

Photo

ปฐวี ยอดเนียม

Man u is No.2 But YOU is No.1

Graphic

ภราดร ภราดร

อยากจะทำให้ดี ไม่ใช่แค่อยากจะทำให้เป็น