Feature

ล้วงเทคนิคการควบม้าของผู้พิการจาก “โจโจ้ ล่าข้ามศตวรรษ” | Main Stand

"สตีล บอล รัน" ผลงานลำดับที่ 7 ในซีรี่ส์ "โจโจ้ ล่าข้ามศตวรรษ" มังงะแอ็กชัน-แฟนตาซี ที่บอกเล่าเรื่องราวการแข่งขันขี่ม้าข้ามทวีปอเมริกา เริ่มตั้งแต่เมืองซานดิเอโก รัฐแคลิฟอร์เนีย ไปจนถึงนิวยอร์ก ซิตี้ ผ่านมุมมองตัวละครเอก 2 คน อย่าง ไจโร เซปเปลี่ และ โจนี่ โจสตาร์ ด้วยเงินรางวัลสำหรับผู้ชนะจำนวน 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้เส้นทางการผจญภัยครั้งนี้เต็มไปด้วยความอันตราย ถึงขนาดฆ่ากันตายระหว่างทางได้เลยทีเดียว 


 

หากคิดว่าขี่ม้าแบบธรรมดายากแล้ว ลองดูหนึ่งในพระเอกของเรื่องอย่าง โจนี่ โจสตาร์ นักกีฬาขี่ม้าผู้พิการเป็นอัมพาตครึ่งซีกเสียก่อน แต่เป็นที่น่าเสียดายหากเราจะต้องบอกว่า ไม่มีการแข่งขันขี่ม้าข้ามทวีปอยู่จริงตามประวัติศาสตร์

แต่ถ้าเป็นผู้พิการที่ชำนาญในการขี่ม้าล่ะก็ มีจริงแน่นอน 

การขี่ม้าแบบปกติก็นับว่ามีความท้าทายอยู่แล้ว ถ้ายิ่งเป็นผู้พิการจะมีความยากขึ้นไปอีกแค่ไหน ? เคยสงสัยกันไหมว่าผู้พิการเขาขี่ม้ากันอย่างไร ? มีเทคนิคอย่างไรให้ขี่ได้ดี ?​ ​อุปกรณ์มีผลหรือไม่ ?

บางทีมังงะเรื่องนี้อาจช่วยให้กระจ่างขึ้นก็เป็นได้ ถ้าพร้อมแล้ว 

ขอเชิญลงสนามการแข่ง สตีล บอล รัน ไปกับ Main Stand โอร่าโอร่าโอร่าโอร่า!

 

จากล่าข้ามศตวรรษ สู่ล่าข้ามทวีป 

"โจโจ้ บิซาร์ แอดเวนเจอร์" (Jojo’s Bizarre Adventure) หรือในชื่อไทยคือ "โจโจ้ ล่าข้ามศตวรรษ" เป็นผลงานมังงะเรื่องยาวของอาจารย์ "ฮิโรฮิโกะ อารากิ" ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร โชเนนจัมป์ รายสัปดาห์ ในวันที่ 1 มกราคม ปี 1987 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันเป็นเวลาเกือบ 34 ปีแล้ว โจโจ้ ถูกดัดแปลงเป็นอนิเมะครั้งแรกในปี 1993 แต่ก็ไม่ได้รับความนิยม จนกระทั่งถูกหยิบมาทำใหม่อีกครั้งในปี 2012 จึงเกิดเป็นกระแสที่ทำให้ผู้คนเริ่มรู้จัก โจโจ้ กันมากขึ้น จนดังพลุแตกไปทั่วโลก 

โจโจ้ ถูกแบ่งออกเป็น 8 ภาค และคำว่า "ล่าข้ามศตวรรษ" ก็มีความเกี่ยวข้องกันโดยตรง เพราะทุกภาคนั้นมีเนื้อเรื่องเชื่อมโยงถึงกันหมดไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ที่กลายเป็นเสน่ห์ของมังงะเรื่องนี้ที่ทำให้แฟน ๆ หลงรัก หากเล่าอย่างรวบรัดที่สุด มหากาพย์ของโจโจ้ คือเรื่องราวการต่อสู้ของคนในตระกูลโจสตาร์ ที่สืบทอดกันมาตั้งแต่รุ่นทวดในภาคแรก จนมาถึงรุ่นเหลน เรียกได้ว่าสู้กันจนหืดจับ ข้ามศตวรรษอย่างแท้จริง แต่เรื่องราวก็ต้องจบลง เมื่อมาถึงการรีเซ็ตจักรวาลโจโจ้ใหม่ ในภาค 7 ที่ชื่อ "สตีล บอล รัน" (Steel Ball Run)

"ตำนานเรื่องนี้ เป็นตำนานที่ผมก้าวเดิน ไม่ใช่ด้วยร่างกาย แต่หมายถึงการก้าวย่างจากวัยรุ่นไปสู่วัยผู้ใหญ่ ชื่อของผมคือ โจนี่ โจสตาร์ เมื่อได้พบชายผู้เต็มไปด้วยปริศนา ไจโร เซปเปลี่ ตั้งแต่ต้นจนสุดท้าย"

เรื่องราวของ โจโจ้ ล่าข้ามศตวรรษ ดำเนินมาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญตอนที่เข้าสู่ภาค 7 ที่มีชื่อว่า "สตีล บอล รัน" จากเดิมที่จะเต็มไปด้วยการต่อสู้ชิงไหวชิงพริบ หรือบางภาคก็มีเนื้อเรื่องเรียบง่ายเหมือนการ์ตูนวัยรุ่นทั่วไป แต่ภาคนี้จะเต็มไปด้วยฉากแอ็กชันที่ระห่ำกว่าเดิม อีกทั้งยังมีเส้นเรื่องที่เต็มไปด้วยดราม่าเข้มข้น เกี่ยวกับการเติบโตของชายหนุ่มผู้เปี่ยมไปด้วยความฝันและการพยายามทำทุกอย่างเพื่อได้รับการยอมรับ เสมือนหนัง Coming of age ที่มีรสชาติกลมกล่อมครบรสเรื่องหนึ่ง 

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของการเมือง สังคม ศาสนา เข้ามาเกี่ยวข้อง เนื้อหาที่มีความเป็นผู้ใหญ่มากขึ้นของภาคนี้ ทำให้โทนเรื่องของ สตีล บอล รัน ผิดแผกไปจากเดิม ต้องอาศัยการเล่าเรื่องแบบครบถ้วนและละเอียด ส่งผลให้โจโจ้ภาคนี้ ต้องเปลี่ยนไปตีพิมพ์ในนิตยสาร อัลตร้าจัมป์ สำหรับเด็กโตแทน เพราะอาจารย์อารากิ ไม่ต้องการทิ้งปมความตื่นเต้นแบบรายสัปดาห์เหมือนกับตอนที่เขียนลงใน โชเนนจัมป์ 

สตีล บอล รัน เป็นภาค "กึ่งรีบูท" เพราะเนื้อเรื่องในภาคนี้ไม่มีความเกี่ยวข้องกันกับ 6 ภาคที่ผ่านมาโดยตรง แต่จะมีการซ่อนองค์ประกอบเล็ก ๆ น้อย ๆ ไว้ อย่างเช่นชื่อของตัวละครที่อาจจะเพี้ยนมาจากชื่อตัวละครในภาคเก่า ๆ หรือกิมมิคของการมีผู้ใช้แสตนด์ก็ยังคงมีให้เห็นกันอยู่ ซึ่งถ้าหากใครที่ไม่คุ้นเคยกับโจโจ้มาก่อน มาเริ่มต้นที่ภาคนี้ก็สามารถสนุกได้เช่นกัน 

เนื้อเรื่องในภาค 7 เกิดขึ้นในปี 1890 ที่มีการแข่งขันขี่ม้าข้ามทวีปอเมริกาเพื่อชิงเงินรางวัล 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เล่าผ่านมุมมองของตัวละครที่ชื่อ ไจโร เซปเปลี่ ผู้เข้าแข่งขันจากราชอาณาจักรนาโปลี ที่ลงแข่งเพราะต้องการนำชัยชนะไปแลกกับการนิรโทษกรรมให้เด็กคนหนึ่งที่โดนใส่ร้ายต้องโทษประหารชีวิต และ โจนี่ โจสตาร์ นักกีฬาขี่ม้าฝีมือฉกาจผู้ทะนงตน ที่วันหนึ่งต้องสูญเสียพรสวรรค์การขี่ม้าอันล้ำค่าที่ตัวเองมีเพราะถูกยิงเข้าที่กระดูกสันหลัง จนทำให้ต้องนั่งรถเข็นไปตลอดชีวิต 

ทั้งสองได้บังเอิญเจอกันและเพราะวิชาการใช้การหมุน "ลูกเหล็ก" ที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนานในตระกูลของไจโร ทำให้โจนี่เชื่อว่าเขาจะเดินได้อีกครั้ง พวกเขาเข้าร่วมการแข่งขัน แล้วจับพลัดจับผลูร่วมทางไปด้วยกันโดยไม่ได้ตั้งใจ

"หมอนั่นไง ๆ ขี่ม้าไม่ได้หรอก เป็นแบบนั้นน่ะ ไม่มีทางขี่ได้" 

"แต่ถ้าให้พูดอีกอย่าง ถ้ามันขี่ม้าได้ ก็เลยขีดความเป็นมนุษย์ไปแล้ว" 

ไจโร พูดถึง โจนี่ ในขณะที่เขากำลังพยายามจะขึ้นขี่ม้าอีกครั้งเพื่อเข้าร่วมการแข่งขัน อุปสรรคที่ใหญ่กว่าการประชันกับผู้เข้าแข่งขันกว่า 3,800 ชีวิตของโจนี่ คือข้อจำกัดทางด้านร่างกายของเขาเอง แม้จะทุลักทุเลและโดนสบประมาทมากถึงเพียงใด แต่สุดท้ายเขาก็ขึ้นไปอยู่บนหลังม้าได้สำเร็จ และเริ่มออกเดินทางไปพร้อมกับ ไจโร ในฐานะจ๊อกกี้ม้ามืดที่ใครก็คาดไม่ถึง เป็นคู่หูที่ร่วมผจญภัยไปด้วยกันจนสุดขอบทวีป 

สตีล บอล รัน เป็นที่พูดถึงอย่างมากโดยเฉพาะในเรื่องเนื้อหา เป็นความตั้งใจของอาจารย์อารากิ ที่เลือกให้ตัวละครเอกเป็นผู้พิการ เพราะ โจนี่ คือตัวแทนของความหวัง ความมุมานะ และความตั้งใจ 

"งานของผมจะวนเวียนอยู่กับตัวละครเอกที่เติบโตขึ้นจนเอาชนะความยากลำบากได้ โจนี่คือผลลัพธ์ของความตั้งใจของผมที่จะสร้างตัวละครที่สามารถเติบโตได้ทั้งทางกายและทางจิตใจ ไม่เพียงแต่เขาจะต้องเชื่อใจคนรอบข้างระหว่างการแข่งขันแต่เขายังต้องเชื่อในตัวม้าด้วย" 

อาจารย์อารากิ พูดถึง โจนี่ ตัวเอกของ สตีล บอล รัน

"ขามันขยับได้ มันเคลื่อนไหวได้ด้วยนะ ช่วยดูหน่อย มันขยับได้" 

"ตัวฉันมันยัง ‘ติดลบ’ อยู่เลย ฉันอยากจะมุ่งหน้าไปที่ ‘เลขศูนย์’" 

โจนี่ พูดกับ ไจโร ทั้งน้ำตา ในขณะที่ตัวเองพยายามจะลุกขึ้นยืนอีกครั้ง ก่อนที่ ไจโร จะช่วยบอกเทคนิคการควบคุมร่างกายบนหลังม้าให้ ทำให้คนอ่านสงสัยไปพร้อมกันว่า ผู้พิการเขาขี่ม้ากันแบบนี้จริงหรือ ? 

 

IT’S ALL ABOUT THE BALANCE 

ขึ้นชื่อว่าเป็นการ์ตูน เป็นความบันเทิงที่อยู่เหนือเหตุและผล บางเรื่องอาจจะไม่มีคำอธิบายอย่างกระจ่าง แต่ก็ยังสามารถอ่านได้สนุกอย่างต่อเนื่องอยู่ดี โดยเฉพาะกับ โจโจ้ ที่มีความเหนือจริงเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว คำอธิบายต่อความแฟนตาซีอย่าง การหมุนของลูกเหล็ก หรือสแตนด์ก็คงไม่จำเป็นแต่อย่างใด 

อย่างไรก็ตาม คำถามที่สำคัญที่สุดสำหรับ สตีล บอล รัน คือ พระเอกของเรื่องอย่าง โจนี่ ขี่ม้าได้อย่างไร ทั้งๆ ที่เป็นอัมพาตไปครึ่งตัว ? และเขาสามารถทรงตัวอยู่บนม้านานขนาดนั้นได้อย่างไร ? 

เรื่องนี้ไม่มีคำอธิบายไหนฟังขึ้นอย่างสมเหตุสมผล ว่ากันว่าการที่พระเอกขี่ม้าได้นั้น เป็นเพราะเขาเป็นอดีตจ๊อกกี้อัจฉริยะ และเพราะม้าของเขา ที่มีชื่อว่า "สโลว์ แดนซอร์" เป็นม้าเก๋าเกมที่มากไปด้วยประสบการณ์ ทั้งสองจึงมีสายใยเชื่อมถึงกัน ทำให้สามารถพากันเดินทางไปเรื่อย ๆ ได้ หรืออาจจะเป็นเพราะสแตนด์ของพระเอกที่ทำให้เขาขยับขาได้ก็ไม่มีใครทราบ 

ถึงเรื่องการเคลื่อนตัวจะฟังดูขี้โม้จนต้องจำใจยอมรับเพราะเป็นการ์ตูน แต่อย่างน้อยเรื่องของการทรงตัวในการขี่ม้า ก็ยังมีคำอธิบายจากพระรองอย่าง ไจโร อยู่ 

ในตอนหนึ่งของเรื่อง ไจโร บอกให้ โจนี่ ลองฝึกการหมุนลูกเหล็ก โดยอาศัยพลังจากม้า มันจะช่วยพัฒนาพลังขึ้นไปอีกขั้นได้ ตัวแปรที่สำคัญในการสร้างสมดุลที่ดีสำหรับการขี่ม้า ขึ้นอยู่กับอุปกรณ์ที่เรียกว่า "โกลน" (Stirrup) อุปกรณ์ที่ใช้เหยียบในขณะที่นักขี่ม้ากำลังควบม้าอยู่ เพื่อเป็นการดูดซับแรง ซึ่งจะทำงานประสานกันกับ "อาน" (Sadle) ทำให้แรงจากม้าถูกส่งต่อไปยังสะโพกแล้วต่อไปยังหลังและไหล่ 

หากตัดเรื่องแฟนตาซีออกไป เราพอจะทราบได้ว่า กลไกที่สัมพันธ์กันของผู้ที่ขี่ม้าและอุปกรณ์ที่ ไจโร อธิบายให้ โจนี่ ฟัง มีใจความสำคัญอยู่ที่การทรงตัวเป็นหลัก ซึ่งความจริงแล้วอุปกรณ์ก็มีผลต่อการทรงตัวของนักกีฬาขี่ม้าที่พิการ

อย่างโกลนที่ ไจโร พูดถึง ในความเป็นจริงจะมีการใช้ยางมารัดโกลนกับเท้าเข้าด้วยกัน ให้อยู่ในตำแหน่งเดิมไม่เคลื่อนที่ไปไหน ช่วยให้ผู้พิการสามารถทรงตัวอยู่บนม้าได้ดีขึ้นได้ ซึ่งในโลกของความเป็นจริง ก็มีนักกีฬาพิการที่ขี่ม้าได้อย่างชำนาญเพราะเทคนิคนี้ บวกกับความตั้งใจของตัวเอง โดยที่ไม่ต้องพึ่งสแตนด์หรือวิชาลูกเหล็กแต่อย่างใด 

"แอมเบอร์ลี่ ซไนเดอร์" จากรัฐแคลิฟอร์เนีย คือหนึ่งในผู้คนเหล่านั้น เธอเป็นนักกีฬาขี่ม้าต้อนสัตว์หรือที่เรียกว่า "โรดีโอ" (Rodeo) กีฬาแบบคาวบอยอเมริกัน ที่จะโชว์ความสามารถของผู้ที่อยู่บนหลังม้าในการโยนเชือกคล้องวัวและสัตว์อื่น ๆ ในฟาร์ม เป็นกีฬาที่เน้นความว่องไวและความแข็งแรง 

แอมเบอร์ลี่ เริ่มสนใจขี่ม้ามาตั้งแต่อายุ 3 ขวบ เธอเติบโตขึ้นมากับการขี่ม้า จนกลายมาเป็นความหลงใหล และได้นำมาใช้ประกอบอาชีพในตอนโต ชีวิตของเธอเปลี่ยนไปตลอดกาลหลังจากที่เธอได้ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ ส่งผลให้เธอป่วยเป็นอัมพาตครึ่งตัวและต้องนั่งรถเข็นไปตลอดชีวิต แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเธอจะทอดทิ้งความรักที่เธอมีให้กับการขี่ม้า

"ตั้งแต่วันแรกที่เข้ารับการรักษา นางพยาบาลถามฉันว่า เป้าหมายของฉันคืออะไร ฉันก็ตอบไปว่า เดิน ขี่ม้า โรดีโอ แค่นั้นเลย" 

"ฉันจำได้ว่าบอกแม่ไปว่าฉันไม่สนใจหรอก ถึงแม้จะต้องเอาสายมารัดตัวฉันไว้กับอานม้า ยังไงฉันก็จะขี่ม้าต่อ" 

เธอเล่าให้ฟังถึงตอนที่เธอเข้ารับการรักษา และเธอก็ทำเช่นนั้นจริง ๆ อุปกรณ์ของเธอได้รับการปรับแต่งเพียงเล็กน้อยบริเวณอานม้าและมีการติดสายรัดตัวเธอให้แน่นหนายิ่งขึ้น เธอจึงสามารถนั่งอยู่บนหลังม้าได้ แต่ก็ต้องอาศัยเวลาในการฝึกทรงตัวด้วยเช่นกัน ภายในเวลา 18 เดือน เธอก็สามารถกลับมาลงสนามได้อีกครั้ง พร้อมกับได้สร้างแรงบันดาลใจ จนถูกนำไปดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ออกฉายทางเน็ตฟลิกซ์ ชื่อว่า "วอล์ก. ไรด์. โรดีโอ" (Walk. Ride. Rodeo.) ในปี 2019 มาแล้ว 

การขี่ม้าขึ้นชื่อว่าเป็นกิจกรรมที่มีผลดีต่อการบำบัดร่างกายของผู้พิการ เพราะจะช่วยในเรื่องของการทรงตัว และการควบคุมม้าจะช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อให้แข็งแรงได้ "สมาคมขี่ม้าของผู้ทุพพลภาพบอลลิน่า" (Riding for the Disabled Association (NSW) Ballina and Districts Branch) เป็นสมาคมที่ฝึกสอนการขี่ม้าให้กับผู้พิการในออสเตรเลีย เป็นหนึ่งในผู้ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง 

"พวกเรารองรับการดูแลให้กับผู้พิการทุกเพศทุกวัย คนที่มาขี่ม้ากับพวกเรามีอายุตั้งแต่ 4 ปี ถึง 50 ปี การขี่ม้าจะช่วยให้พวกเขาได้พัฒนาความแข็งแรงของร่างกาย การทรงตัว การประสานร่างกาย ตลอดจนการช่วยพัฒนาทักษะด้านการปฏิสัมพันธ์ ที่จะทำให้พวกเขามั่นใจและรู้สึกภูมิใจในตัวเองได้อีกด้วย" 

"แอนน์ ชอว์" ตัวแทนจากสมาคมกล่าวถึงการฝึกสอนที่เธอทำอยู่ 

อย่างไรก็ตาม การขี่ม้าสำหรับผู้พิการไม่จบอยู่ที่แค่การรักษา แต่ยังเป็นกีฬาที่มีการแข่งขันกันอย่างจริงจังในระดับสากล และยังเป็นหนึ่งในกีฬาพาราลิมปิกด้วย 

 

Para-Champion(s)

การแข่งขันขี่ม้าในพาราลิมปิกได้รับความสนใจไม่แพ้การขี่ม้าแบบปกติ โดยจะแข่งกันในรายการที่มีชื่อว่า "พารา-เดรสซาจ" (Para-Dressage) หรือกีฬาการบังคับม้าสำหรับผู้พิการ ที่เริ่มมีการแข่งขันเป็นครั้งแรกใน พาราลิมปิกฤดูร้อน 1996 ที่แอตแลนตา ประเทศสหรัฐอเมริกา 

ต่อมา ในปี 2006 ก็ได้รับการสนับสนุนจาก "สหพันธ์ขี่ม้านานาชาติ" (Federation Equestre Internationale : FEI) ที่เข้ามาช่วยกำกับและดูแลนักกีฬาที่มีความบกพร่องทางร่างกาย และจัดการแข่งที่ไม่ได้จำกัดว่าจะต้องเป็นผู้พิการทางด้านใดเป็นพิเศษ อย่างคนที่พิการทางสายตาก็สามารถร่วมทีมกับผู้พิการทางร่างกายอื่น ๆ ได้เช่นกัน 

สามารถจำแนกนักกีฬาขี่ม้าผู้พิการได้เป็น 4 ระดับ คือ เกรด 1 ผู้พิการขั้นรุนแรงที่มีปัญหาส่วนกระดูกสันหลัง และผู้พิการทางสมอง มีแบ่งย่อยอีกเป็น 1a คือร่างกายด้านบนได้รับความเสียหายบริเวณลำตัวอย่างรุนแรง ส่วน 1b คือกลุ่มที่ได้รับความเสียหายเฉพาะด้านบนที่น้อยกว่า คือในบริเวณแขนและขา 

เกรด 2 คือผู้พิการที่ยังสามารถทรงตัวโดยใช้หน้าท้องได้ เกรด 3 คือผู้พิการที่ยังพอทรงตัวบนหลังม้าและเคลื่อนตัวได้ และเกรด 4 คือคนที่พิการทางร่างกายที่แขนหรือขาอย่างใดอย่างหนึ่ง ผู้พิการทางสายตาจะเข้าร่วมแข่งกับนักกีฬาระดับเกรด 3 กับเกรด 4 

การแข่ง พารา-เดรสซาจ จะมีเกณฑ์การให้คะแนนอยู่ที่การควบคุมม้าของแต่ละคน ผู้ขี่จะต้องให้ม้าเดิน วิ่งเหยาะ และทำท่าฟรีสไตล์ตามเพลง

นักกีฬาที่มีชื่อเสียงจากการแข่งขัน พารา-เดรสซาจ ได้แก่ "อันเธีย ดิคซอน" นักกีฬาขี่ม้า พารา-เดรสซาจ หญิง เกรด 2 จากนิวซีแลนด์ ที่เริ่มฝึกฝนการขี่ม้ามาตั้งแต่ปี 2006 หลังจากที่เธอประสบอุบัติเหตุจากการตกม้า แต่เธอยังเลือกที่จะฝึกขี่ม้าต่อในฐานะผู้พิการ และเข้าร่วมการแข่งขัน พารา-เดรสซาจ ใน ลอนดอนพาราลิมปิก 2012 ที่แม้จะไม่ได้เหรียญกลับบ้าน แต่เธอก็เป็นตัวแทนของนักกีฬา พารา-เดรสซาจ จากนิวซีแลนด์คนแรกที่ได้ไปแข่งในรอบ 8 ปี และหลังจากนั้นในปี 2014 เธอก็ได้ลงแข่งในรายการแข่งม้านานาชาติที่จัดโดย FEI จนกลายมาเป็นอันดับที่ 13 ของโลก

พารา-เดรสซาจ ได้รับความนิยมต่อเนื่องในหมู่นักกีฬาและสำหรับ โตเกียวพาราลิมปิก 2020 พวกเขาพร้อมแล้วที่จะลงสนามอีกครั้ง โดยมีตัวเต็งจากประเทศสหรัฐอเมริกา อย่าง "ร็อกแซน ทรันเนล" ที่มีผลงานล่าสุดทำคะแนนรวมจากการแข่งชิงถ้วย วิทนี่ย์ สโตน คัพ ที่จัดขึ้นโดยทีมชาติแข่งม้าแห่งสหรัฐอเมริกา มาได้ด้วยคะแนน 83.334% ถือครองสถิติอันดับ 1 ของโลก ของเกรด 1 

"การที่คุณเป็นผู้ทุพพลภาพนั้น ไม่ได้หมายความว่ากรรมการจะปราณีคุณหรอกนะ คุณคือนักขี่ม้าที่เป็นผู้พิการ กรรมการย่อมต้องคาดหวังให้พวกคุณทำผลงานได้ดีเหมือนกับตอนที่ทดสอบกับ FEI อยู่แล้ว" 

"เป็นนักกีฬาน่ะเป็นได้ง่าย แต่มันก็ต้องอาศัยการฝึกฝนและความทุ่มเทด้วย" 

ร็อกแซน ให้สัมภาษณ์ไว้กับเว็บไซต์ Horse4yc ก่อนที่จะถึงการแข่งขันในเร็ววันนี้ 

นอกจากนี้ยังมี "โซฟี คริสเตียนเซน" นักกีฬา พารา-เดรสซาจ หญิง เกรด 1 จากประเทศอังกฤษ เจ้าของ 8 เหรียญทอง 1 เหรียญเงิน และ 1 เหรียญทองแดง ในการแข่งพาราลิมปิก เธอเริ่มสร้างชื่อให้กับตัวเองจากการแข่งขันพาราลิมปิก ที่กรุงปักกิ่ง ปี 2008, ลอนดอน 2012 จนมาถึง ริโอ 2016 โซฟี ประสบปัญหาอาการบาดเจ็บที่ไหล่จากการแข่ง พารา-เดรสซาจ ฤดูหนาวเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งเรื่องนี้มีผลกระทบกับนักแข่งม้าพิการเกรด 1 อย่างเธอโดยตรง เพราะเธอเป็นผู้พิการทางสมองด้วย 

"มันน่าสนใจทีเดียวที่อาการทางสมองของฉันมีผลต่อการฟื้นฟูร่างกาย โดยทั่วไปแล้วคนทั่วไปกดคีย์บอร์ดด้วยนิ้ว แต่เวลาฉันจะพิมพ์บนคีย์บอร์ดสักที ต้องขยับร่างกายทั้งตัว ฉันไม่สามารถควบคุมให้ไหล่ทำงานเพียงส่วนเดียวได้" 

"ฉันใช้เวลาถึง 3 ปี ในการพยายามจะกลับขึ้นไปบนจุดสูงสุดอีกครั้ง"

เธอใช้เวลาที่ผ่านมานับตั้งแต่จบพาราลิมปิกรอบล่าสุด ทุ่มให้กับการฝึกซ้อม เพราะเธอเองก็รอเวลานี้มานานแล้วเช่นกัน 

เดิมทีการเป็นนักกีฬาก็เหนื่อยพอแล้ว ต้องเก็บตัวฝึกฝน ทุ่มเทร่างกายและความตั้งใจลงไปให้กับสิ่งที่ตัวเองรัก แต่สำหรับพวกเขาที่เป็นนักกีฬาพาราลิมปิก ข้อจำกัดด้านร่างกายที่เพิ่มขึ้นอาจจะเพิ่มความเหนื่อยล้า ที่จะต้องอาศัยความทุ่มเทมากกว่าคนทั่วไปอีกขั้น

แม้จะไม่สามารถนำโจโจ้ ล่าข้ามศตวรรษ : สตีล บอล รัน มาใช้เป็นไกด์บุ๊คเพื่อเดินทางข้ามสหรัฐอเมริกาด้วยม้าได้ในความเป็นจริง หรือใช้เป็นคู่มือในการฝึกซ้อม พารา-เดรสซาจ แต่มังงะเรื่องนี้ก็มีคุณค่า ในฐานะการ์ตูนที่เต็มไปด้วยรายละเอียดของการขี่ม้า เทคนิค และการใช้อุปกรณ์ ที่หลายคนอาจจะไม่เคยทราบมาก่อนว่ามีการใช้กันจริงอยู่บนโลก 

ชุดความรู้ที่ไม่น่าเชื่อว่าจะหาได้จากการ์ตูนญี่ปุ่นและโดยเฉพาะอย่างยิ่งในซีรีส์ของโจโจ้ อาจเป็นเสน่ห์ของสตีล บอล รัน ที่ทำให้การ์ตูนเรื่องนี้เป็นอมตะ ครองพื้นที่ในใจแฟนโจโจ้หลาย ๆ คน มานานหลายสิบปี 

คงจะดีไม่น้อยหากการแข่งขัน พารา-เดรสซาจ ในโตเกียวพาราลิมปิก 2020 ที่กำลังจะเกิดขึ้น ได้ช่วยปลุกกระแสของมังงะเรื่องนี้ขึ้นมาให้เป็นที่ถูกพูดถึงอีกครั้ง ดังเช่นการปลุกพลังสแตนด์ในสายเลือดโจสตาร์ 

เรื่องราวในบทต่อไปของ พารา-เดรสซาจ พาราลิมปิก 2020 จะเป็นอย่างไร 

←To Be Continued


แหล่งอ้างอิง :

https://ablethrive.com/activities/paraplegic-horseback-rider 
https://core.ac.uk/download/pdf/211325562.pdf
https://epicassist.org/horses-more-than-therapy-for-riders-with-disability/
https://www.fei.org/stories/sport/dressage/sophie-christiansen-para-equestrian-profile-2020 
https://horses4yc.com/interview-with-para-dressage-rider-roxie-trunnell/ 
https://horsesdaily.com/article/roxanne-trunnell-breaks%C2%A0world-record-perrigo-cpedi3 
https://inside.fei.org/fei/disc/para-dressage
https://www.looper.com/192263/the-untold-truth-of-hirohiko-araki/ 
https://www.paralympic.org/sophie-christiansen 
https://www.straitstimes.com/asia/east-asia/barriers-facing-disabled-in-japan-are-more-than-physical 
http://www.uspea.org/pdf/3CompensatingAidswithPhotos.pdf 

Author

ณัฐพล ทองประดู่

Memento Vivere / Memento Mori

Graphic

ภราดร ภราดร

อยากจะทำให้ดี ไม่ใช่แค่อยากจะทำให้เป็น