Feature

พิสูจน์ตามหลักจิตวิทยา : ทำไมนักฟุตบอลจึงยิงโล่ง ๆ ไม่เข้า ? I MainStand

จังหวะจบสกอร์อันเด็ดขาด เป็นคุณสมบัติอย่างหนึ่งที่ยอดแข้งลูกหนังต้องมีติดตัว กองหน้าเลื่องชื่อหลาย ๆ ราย จึงมอบเวลาที่มีให้กับการฝึกซ้อมยิงประตูเพื่อความช่ำชองในการทะลวงตาข่ายให้มากที่สุด

 


แต่เราก็ยังได้เห็นความผิดพลาดของนักเตะระดับโลก ทั้ง ดาร์วิน นูนเญซ ที่ยิงหน้าปากประตูไม่เข้า หรือ เกมแดงเดือดที่ผ่านมาที่ มาร์คัส แรสฟอร์ด ได้ยิงหลุดเสาช่วงก่อนจบเกมชนิดที่แฟนบอลต้องกุมหัว

โล่ง ๆ แบบนั้นทำไมยิงไม่เข้า จะด้วยความกดดันหรืออย่างไรก็ตามที เราจึงใคร่ชวนทุกท่านหาคำตอบของคำถามนี้ด้วยศาสตร์แห่งจิตวิทยาไปพร้อมกัน

กับพวกเรา MainStand

 

มนุษย์เกิดมาคู่กับ “ความผิดพลาด”

ความผิดพลาดของมนุษย์สามารถอธิบายด้วย หลักคิด Human error (ความผิดพลาดที่เกิดจากมนุษย์) โดยบทความวิจัยประจำคณะนวัตกรรมสื่อสารสังคม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ อธิบายไว้ว่า Human error ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ในทุกย่างก้าวของชีวิต แถมการเรียนรู้ รับรู้ รวมถึงพฤติกรรมทั้งหลายก็สามารถนำไปสู่ความผิดพลาดได้ทั้งสิ้น ซึ่งผลลัพธ์ของความผิดพลาดก็คือสิ่งที่เราไม่ประสงค์จะให้เกิดขึ้น ดังนั้นเราจึงอาจแบ่ง ความพลาดพลั้งเหล่านี้เป็นดังนี้ (1) การไม่กระทำเมื่อถึงเวลาต้องกระทำ (2) การกระทำเมื่อไม่ต้องการให้กระทำ (3) การกระทำที่ไม่ถูกต้อง (4) การกระทำที่ไม่ทำตามขั้นตอนการทำงาน และ (5) การกระทำที่ล่าช้า

Human error จึงหมายความว่าความผิดพลาดที่เกิดขึ้นโดยมนุษย์จากการกระทำต่าง ๆ และให้ผลลัพธ์ไม่เป็นตามที่หวังหรือไม่คาดคิด 

ซึ่ง เจมส์ รีสันส์ อาจารย์แผนกจิตวิทยา ประจำมหาวิทยาแมนเชสเตอร์ ได้จำแนกชนิดของความผิดพลาดของคนไว้ถึง 4 ชนิด ประกอบด้วย

1. การพลั้งเผลอ (Slips) เป็นความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากความตั้งใจจะใช้วิธีที่ถูกต้องและให้ได้ผลที่คาด แต่ในความเป็นจริงกลับปฏิบัติไม่ได้อย่างที่คิดไว้ ซึ่งการปฏิบัติแบบนั้นเกิดจากความไม่ตั้งใจและไม่รู้ตัว แม้ว่าก่อนหน้านั้นจะมีความคิดและวิธีทำที่ถูกต้อง เช่น ขณะที่เพื่อนกำลังจะส่งบอลมาให้เราหน้ากรอบเขตโทษ เรามีความคิดที่จะยิงแบบไม่ต้องจับ โดยให้ลูกบอลเข้าไปแบบเลียดพื้น แต่เอาเข้าจริงพอบอลมาถึงตัว เรากลับยิงช้อนใต้ลูกจนข้ามคานออกไป 

2. การหลงลืม (Lapses) ความผิดพลาดจากการลืม ซึ่งเกิดขึ้นจากความจำที่หายไปในขณะนั้นจนทำให้มีความผิดพลาดเกิดขึ้น เช่น การลืมล็อครถ เป็นต้น

3. การทำพลาด (Mistakes) เป็นความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากการตั้งใจกระทำให้ผลลัพธ์ที่ถูกต้องแต่วิธีการไม่ถูก โดยที่ผู้กระทำเข้าใจว่าวิธีที่ปฏิบัติเป็นสิ่งที่ควรแล้ว เช่นความผิดพลาดง่าย ๆ ในการที่จะหมุนลูกบิดประตูไปทางขวาเพื่อให้ประตูเปิดได้ แต่กลายเป็นว่าวิธีที่ถูกคือการหมุนลูกบิดไปทางซ้ายในการเปิดประตู สังเกตุเห็นได้ว่าแม้วิธีการจะพลาดแต่วิธีการนั้นเราเข้าใจว่าเป็นวิธีที่จะนำไปสู่ความถูกต้อง เพียงแต่มันผิด ซึ่งเกี่ยวข้องกับความรู้ที่ไม่เพียงพอ  เหล่านี้จึงเป็นนิยามของการทำพลาด

4. การฝ่าฝืน/ละเมิด (Violation) คือการละเมิดกฎ ความผิดพลาดประเภทนี้คเป็นผลมาจากการกระทำที่ตั้งใจที่จะไม่ปฏิบัติตามแนวทางหรือระเบียบกติกาที่วางไว้(ดื้อ ) ซึ่งไม่ถือเป็นความผิดพลาดของมนุษย์โดยธรรมชาติ หรือเรียกว่าตั้งใจให้พลาดก็ได้

ถ้าเรามามองในแง่จิตวิทยาที่ว่าด้วยความพลาดนี้แล้วนั้น จังหวะจบสกอร์ที่พลั้งพลาดจากการหลุดเดี่ยว ก็นับว่าตรงกับ 2 ข้อ คือความพลั้งเผลอ และการทำพลาด โดยการทำพลาดเกิดจากทักษะที่ยังมีไม่มากพอ ต้องฝึกเพิ่ม  แต่ความพลั้งเผลอเป็นความผิดพลาดที่เกี่ยวกับสมาธิที่ไม่มั่นคงอันเกิดจากความเครียดอยู่ด้วย เราจึงขอโฟกัสกับเรื่องสมาธิกันต่อ เพราะแข้งส่วนใหญ่ล้วนมีทักษะพอสมควรอยู่แล้ว 

 

ความเครียดมีผลต่อสมาธิ

สมาธิที่ดีนับว่าเป็นอาวุธที่ขาดไม่ได้ในเกมกีฬาที่ห้ำหั่นกันตลอดเกือบ 100 นาที นักเตะต้องใช้เพื่อเพ่งพิจารณาจังหวะการเล่นอยู่เสมอ จะยิง จะส่ง จะทำอะไรก็ต้องคิด ถ้าสมาธิไม่นิ่งพอความผิดพลาดก็จะเกิดขึ้น ยิ่งความดุเดือดจากเสียงของกองเชียร์ก็ ความกดดัน อารมณ์ที่บีบคั้น ล้วนมีส่วนให้เกิดความเครียดที่ส่งผลต่อสมาธิ

โดยความเครียด ในทางจิตวิทยาหมายถึง อาการที่เป็นผลมาจากปฏิกิริยาตอบสนองของร่างกายจิตใจและสติปัญญาต่อสิ่งที่มาคุกคาม เป็นภาวะชั่วคราวของความไม่สมดุล ซึ่งเกิดกระบวนการรับรู้หรือการประเมินของบุคคลที่มีต่อสิ่งที่เข้ามาในประสบการณ์ว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งคุกคาม โดยที่การรับรู้หรือการประเมินนี้เป็นผลมาจากการกระทำร่วมกันของสภาพแวดล้อมภายนอก ได้แก่ สิ่งแวดล้อมในสังคม การทำงาน ธรรมชาติและเหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิต กับปัจจัยภายในบุคคลอันประกอบด้วย เจตคติ อารมณ์ ลักษณะประจำตัว ประสบการณ์ในอดีต ตลอดจนความต้องการของบุคคลนั้น 

กล่าวคือความเครียดเกิดขึ้นจากการมีสิ่งใดสิ่งหนึ่งมาคุกคาม และทำให้จิตใจไม่สมดุล จะคิดทำอะไร กลายเป็นว่าไม่มีประสิทธิภาพพอจะทำสิ่งนั้น

แปลว่าหากแข้งลูกหนังสักคนหนึ่งจะพลาดการจบสกอร์หน้าปากประตูโล่ง ๆ ได้อย่างไม่น่าเชื่อ ก็อาจตีได้ว่าแข้งคนนั้นมีความเครียดอยู่ในตัวที่เกิดจากแรงกดดัน(แรงกดดันก็ถือว่าเป็นความเครียด) หรือปัญหาส่วนตัวที่ไม่สามารถสลัดทิ้งออกไปได้ ดังเช่นกรณี อาเดรียโน่ อดีตนักเตะของ อินเตอร์ มิลาน ที่สูญเสียคนคุณพ่อกระทันหันจนไม่สามารถเค้นฟอร์มเก่งออกมาได้อีกเลย

 

สมาธิสำคัญนักแล

เมื่อต้องเผชิญกับผู้รักษาประตูเบื้องหน้าและกรอบสีเหลี่ยมที่จะชี้เป็นชี้ตาย ความกดดันอย่างมหาศาลก็ก่อตัวขึ้น แต่หากตั้งสติประคองตัวได้ดีพอ ก็จะทำให้เกิดสมาธิแน่วแน่อยู่กับการจบสกอร์ ความแม่นยำและความประมาทก็จะไม่เกิด เป้งงงงง (เสียงระฆังวัด)

ทีนี้ทุกท่านต้องเข้าใจก่อนว่า สติกับสมาธิเนี่ยมันแตกต่างกันอย่างไรโดยจะเล่าให้เข้าใจง่ายที่สุด สติคือการรู้ตัวตั้งใจอยู่กับสถานการณ์ในช่วงขณะหนึ่ง   ซึ่งพอมีสติอยู่กับสถานการณ์นั้น ๆ ก็จะเกิดสมาธิ โดยสมาธิคือสภาวะที่เรามีจิตใจที่แน่วแน่มุ่งมั่นสงบนิ่ง ที่เกิดขึ้นจากสตินั้นแหละ เช่น  มือสั่นเพราะเริ่มใช้ปากกาครั้งแรก แต่เมื่อตั้งมั่นรู้ตัวว่ากำลังจะเขียน และมีความตั้งใจ สิ่งนี้เรียกว่าสติ และพอเราจับปากกาได้นิ่งขึ้น เขียนได้ดีขึ้น เกิดความมั่นคงในจิตใจ สิ่งนี้เรียกว่าสมาธิ

“สมาธิเป็นเรื่องที่น่าทึ่ง เมื่อคุณอยู่ในสภาวะสงบนิ่งและมีการไตร่ตรองครุ่นคิด ประสาทสัมผัสของคุณจะไวและเฉียบคมยิ่งขึ้น” คำกล่าวของ เบเนดิกต์ คัมเบอร์แบตซ์ ดารานักแสดงชื่อดังเจ้าของบท ดร.สเตรนจ์

เลี้ยวกลับมาที่ฟุตบอล สติกับสมาธิเป็นปัจจัยที่เกี่ยวข้องทางด้านจิตใจ ซึ่งต้องฝึกฝนให้มีความมั่นคง เพราะเดิมทีนักฟุตบอลมีการฝึกร่างกายการวางเท้าเพื่อล่อเป้าคู่แข่งอยู่แล้ว แต่พอจะยิงขึ้นมาจริง ๆ ความลนลาน หรือภาษาเพื่อนวัยรุ่นเรียกว่า “ความล่ก” ก็มาเยือน ดังที่เราเห็นภาพ ดาร์วิน นูนเญซ ซัลโวประตูเป็นว่าเล่นในสนามซ้อม กลับกันเมื่อแข่งจริง จังหวะหลุดเดี่ยวจ่อ ๆ ดาร์วินดันซัดหลุดไกลเกินห้ามใจเลยทีเดียว…

ดังนั้นทุกเสียงเชียร์ ความกดดันจากผู้คนเรือนหมื่น เสียงที่ตีในหัวต่าง ๆ นานา เป็นบ่อใหญ่ของความประมาทและพลั้งพลาด สติและสมาธิเท่านั้นที่จะช่วยได้

เออร์ลิ่ง ฮาลันด์ เครื่องจักรถล่มประตูของ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ เจ้าของท่าฉลองซัลโวประตูคู่แข่งด้วยการนั่งสมาธิ เคยพูดถึงเรื่องศาสตร์แห่งจิตใจนี้ ไว้ด้วยว่า

“ผมคิดว่ามันเป็นสิ่งที่ดีนะ ผ่อนคลาย ผมไม่อยากคิดมาก ผมต้องการที่จะไม่เครียด พยายามไม่เครียด แนวคิดของการทำสมาธิคือการปล่อยวางความคิด(ที่ไม่จำเป็น) เรื่องนี้มันค่อนข้างแล้วแต่คน แต่สำหรับผมมันเวิร์คเลยทีเดียว”

การทำสมาธินอกจากจะทำให้จิตตั้งมั่นไม่วอกแวก ยังช่วยเรื่องของการฟื้นฟูร่างกายได้อย่างรวดเร็ว ข้อมูลของ ฮาริ ชาร์มา จากศูนย์การแพทย์บูรณาการ ประจำมหาวิทยาลัยโอไฮโอสเตท บอกว่า การทำสมาธิช่วยลดการใช้อ๊อกซิเจนลง 20 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ยังลดอัตราการเต้นของหัวใจตามการบันทึกของศูนย์ทางการแพทย์ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งสิ่งนี้จะสร้างสภาวะทางสรีระที่สมบูรณ์แบบสำหรับการพักผ่อนและรักษาร่างกาย

โปรโมชั่นของการทำสมาธิยังช่วยเรื่องการตอบสนอง ไม่ว่าจะต้องยิงประตู หรือเป็นนายทวารก็ตาม จากการวิจัยของภาคชีววิทยา มหาวิทยาลัย เคนทักกี อธิบายว่า การทำสมาธิช่วยเพิ่มความเร็วในการตอบสนอง กล่าวคือ กองหน้าจะมีการตอบสนองที่ดีต่อการทำประตูเช่นเดียวกับผู้รักษาประตูก็มีความตอบสนองที่รวดเร็วขึ้นจากการทำสมาธิ

อย่างไรก็ตามศาสตร์และศิลป์แห่งทักษะลูกหนังยังต้องพึ่งสัญชาตญาณ ดังคำกล่าวของ ลิโอเนล เมสซี่ ที่ว่า “การตัดสินใจที่ดีที่สุดไม่ได้เกิดจากความคิดของคุณแต่เกิดจากสัญชาตญาณ” 

ซึ่งนักวิจัยของโรงพยาบาลจากมหาวิทยาลัยแมสซาชูเซตส์ ในบอสตัน อธิบายไว้ว่า การทำสมาธิช่วยเสริมสร้างสัญชาตญาณที่ดีได้อีกด้วย

ทั้งนี้การทำสมาธิสามารถทำได้หลากหลายรูปแบบ การฝึกโยคะ ก็ถูกนับว่าเป็นทำสมาธิได้เช่นกัน ทั้งเออลิ่ง ฮาลันด์, โมฮาเหม็ด ซาลาห์ และคริสเตียโน่ โรนัลโด้ ล้วนแล้วแต่ฝึกโยคะกันทั้งนั้น

“มันสามารถใช้เพื่อทําให้คุณสงบลงได้อย่างแน่นอน  ช่วยลดอัตราการเต้นของหัวใจ ดังนั้นจึงมีประโยชน์ต่อหัวใจและหลอดเลือด จากนั้นก็มีสมาธิ  การฟื้นตัว ลดความเครียด และปรับปรุงการนอนหลับให้ดี”

“เห็นได้ชัดว่ามันค่อนข้างเครียดในการเล่นฟุตบอลหรือกีฬาอาชีพใดๆ มีความกดดันและความเครียดทางจิตใจมากมาย และหากคุณได้รับการสอนเทคนิคการหายใจและสมาธิ มันจะต้องเป็นประโยชน์ต่อการลงสนาม” คำกล่าวของ ชอน เบสลีย์ ผู้บริหารศูนย์โยคะ Yoga Bee ในเมืองแมนเชสเตอร์

เอาล่ะ เมื่ออ่านกันมาถึงจุดนี้แล้ว ทุกท่านคงทราบกันไปบ้างแล้วว่าในทางจิตวิทยา ทำไมจังหวะหลุดเดี่ยว นักเตะจึงชอบพลาดกัน โดยหากสรุปให้เข้าใจอีกครั้งก็คือ ความผิดพลาดนี้ถูกนับว่าเป็นความพลาดชนิดที่เรียกว่าความพลั้งเผลอ และการทำพลาด การทำพลาดเกิดจากทักษะที่มีไม่มากพอต้องฝึกฝน(ส่วนใหญ่นักเตะมีทักษะตัดสินใจในการยิงอยู่แล้ว) ส่วนความพลั้งเผลอ เกิดขึ้นได้จากการขาดสมาธิ เราสามารถสูญเสียสมาธิได้จากความเครียด แรงกดดันต่าง ๆ ทั้งจากเรื่องส่วนตัว และเสียงกดดันในสนาม 

ยิ่งกับจังหวะดวล 1-1 กับผู้รักษาประตู ย่อมเกิดความไหวหวั่น ความคิดพรั่งพรู จนทำให้ทำตัวไม่ถูกและไม่มีสมาธิมากพอ การฝึกสมาธิจึงเป็นส่วนหนึ่งของการฝึกฝนที่ช่วยให้จิตใจไม่ไหวติง และโฟกัสอยู่กับสถานการณ์ตรงหนัา แถมได้ประโยชน์มากกว่าที่ทุกคนคิด 

 

แหล่งอ้างอิง : 

https://www.goal.com/en/news/flexibility-injury-prevention-yoga-salah-haaland-top/blt9987b0143ad38421
https://www.footballtransfers.com/en/transfer-news/uk-premier-league/2023/01/erling-haaland-meditation-man-city-superstar
https://www.thedailymeditation.com/meditation-for-football-players-coaches
https://m.facebook.com/thepeoplecoofficial/photos/a.1040280776144446/1832714540234395/
https://www.psy.chula.ac.th/th/feature-articles/mindfulness#:~:text=สติ%20(mindfulness)%20คือ%20คุณลักษณะของ,ปรากฏการณ์นั้น%20ๆ%20อย่างสมบูรณ์
https://en.wikipedia.org/wiki/James_Reason
https://www.psy.chula.ac.th/th/feature-articles/stress
http://cosci.swu.ac.th/news-event/cas/2023/human-errorหนึ่งองค์ความรู้พื้นฐานของนักสื่อสารเพื่อการจัดการนวัตกรรม#:~:text=ความผิดพลาดของมนุษย์,กระทำที่ไม่ถูกต้อง%20

Author

ศิริโชค เกิดสันเทียะ

สวัสดีเรา "สิริ"

Graphic

อภิสิทธิ์ โชติพิบูลย์ทรัพย์

Art Director ผู้รับเหมางานภาพกราฟิกหน้าปกบทความทุกชิ้น