Feature

KONAMI VS EA SPORTS : ศึกผู้ผลิตเกมกีฬาชั้นนำของโลก สู่ความเป็นหนึ่งแห่งวิดีโอเกมลูกหนัง | Main Stand

เชื่อว่าเกมเมอร์คอบอลหลายท่านต้องเคยมีประสบการณ์สัมผัสวิดีโอเกมฟุตบอลผ่านตัวเกมของสองค่ายยักษ์ใหญ่จาก EA SPORTS ไม่ก็ KONAMI กันมาบ้างสักครั้งหนึ่งในชีวิต หากคุณเคยเล่น Winning Eleven บนเครื่องเกมคอนโซลในวัยเด็ก หรือที่คนไทยเรียกติดปากกันว่า “วินนิ่ง” จนเปลี่ยนชื่อมาเป็น PES ในช่วงหลังยุค 2000 และปัจจุบันใช้ชื่อว่า eFootball แน่นอนว่าครั้งหนึ่งคุณเคยเป็นลูกค้าของ KONAMI 

 


เช่นเดียวกับ FIFA Online หรือแฟรนไชส์เกม FIFA ที่ปัจจุบันได้แยกทางกับ FIFA และเปลี่ยนมาใช้ชื่อ EA SPORTS FC ถ้าคุณเคยสัมผัสเกมเหล่านี้คุณคือหนึ่งในลูกค้าของ EA SPORTS เช่นกัน หรือใครหลายคนอาจเคยเป็นลูกค้าของทั้งสองค่ายกับทั้ง KONAMI และ EA SPORTS

บทความนี้ Mainstand ขอไปทำความรู้จักแบรนด์ผู้ผลิตเกมฟุตบอลสองค่ายยักษ์ใหญ่ พร้อมกับวิเคราะห์ เปรียบเทียบจุดเด่น จุดด้อย ของสองแบรนด์นี้กันแบบปอนด์ต่อปอนด์ และพาไปหาข้อสรุปว่าแท้จริงแล้วใครเป็นเบอร์หนึ่งแห่งอุตสาหกรรมวิดีโอเกมลูกหนังกันแน่ ?

 

ทำความรู้จัก KONAMI และ EA SPORTS

ในความเป็นจริงไม่ว่าจะเป็น EA หรือ Konami พวกเขาไม่ใช่บริษัทแรกที่เริ่มต้นทำเกมวิดีโอเกมฟุตบอล หากเราจะสืบต้นตอของวิดีโอเกมฟุตบอลต้องย้อนไปยังปี 1970 นับเป็นเวลากว่า 50 ปีมาแล้ว วิดีโอเกมฟุตบอลถูกผลิตขึ้นครั้งแรก มีชื่อว่า International Soccer หรือรู้จักกันในนาม NASL Soccer (North American Soccer League)  ที่พัฒนาโดยบริษัท M Network บนเครื่องเกม Atari 2600 อย่างไรก็ตามการแข่งขันรายการ NASL Soccer ได้ปิดตัวลงไปเป็นที่เรียบร้อยในปี 2018 เนื่องจากกระแสต่อต้านกีฬาฟุตบอลในประเทศอเมริกาทำให้ความนิยมเกมฟุตบอลของทวีปอเมริกาเหนือลดลงฮวบอย่างน่าใจหาย บวกกับการมาของ Major League Soccer (MLS) ส่งผลให้ NASL ต้องยุติลงในที่สุด

อย่างไรก็ดีช่วงตลอดระยะเวลา 2 ทศวรรษที่ผ่านมามีเพียงแค่สองบริษัทอย่าง EA และ KONAMI เท่านั้น ที่เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง และ ได้ครองส่วนแบ่งทางการตลาดส่วนใหญ่ในอุตสาหกรรมวิดีโอเกมฟุตบอล

KONAMI เป็นบริษัทพัฒนาเกมสัญชาติญี่ปุ่นก่อตั้งตั้งแต่ปี 1969 โดย คาเงะมาสะ โคซึกิ จากนั้นในปี 1995 KONAMI ได้เปิดตัวเกมชื่อ “NBA In The Zone” ซึ่งเป็นเกมการแข่งขันบาสเกตบอลพร้อมได้รับลิขสิทธิ์อย่างเป็นทางการจาก NBA ก่อนที่จะแยกทางกันกับ NBA หลังตัวเกมเวอร์ชันปี 2000  และในปีเดียวกัน (1995) KONAMI ได้เปิดตัวเกมฟุตบอลเกมแรกโดยใช้ชื่อว่า Goal Storm หรือ ที่ทางฝั่งญี่ปุ่นรู้จักกันดีในนาม World Soccer Winning Eleven (1996) จากนั้นก็ใช้แฟรนไชส์นี้เรื่อยมา จนกระทั่งปี 2001 KONAMI เปลี่ยนมาใช้ชื่อ PES (Pro Evolution Soccer) ผนวกกับการเข้ามาของ Playstation 2 ในช่วงต้นของยุค 2000  ยิ่งตอกย้ำถึงความสำเร็จของเกม PES ที่ตอบโจทย์ผู้เล่นเกมคอนโซลในสมัยนั้นเป็นปรากฏการณ์ หากเราจะเรียกช่วงเวลานี้ว่าเป็นยุคทองของ KONAMI ก็ไม่เกินจริงนัก 

จากนั้น KONAMI ได้ใช้ชื่อ PES เป็นระยะเวลาเกือบ 2 ทศวรรษก่อนจะเปลี่ยนชื่ออีกครั้งในปี 2022 เป็น eFootball จวบจนปัจจุบันนี้ นอกจากนี้ KONAMI ได้มาเปิดบริษัทลูกที่ประเทศไทยอีกด้วย โดยใช้ชื่อว่า บริษัท โคนามิ อะมิวส์เม้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ Konami Amusement (Thailand) Co.,Ltd  นอกจากนี้แล้วในปี 2019 ทาง KONAMI ได้เปิดตัวเกมกีฬาเบสบอล 3D ที่มีชื่อว่า “The PROFESSIONAL BASEBALL SPIRITS” ออกมาให้แฟนเกมได้เล่นอีกกันอีกด้วย โดยในปี 2021 ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น “eBaseball”   

ส่วนทางด้าน EA SPORTS มีจุดเริ่มต้นจากบริษัท EA (Electronic Arts) ก่อตั้งขึ้นในปี 1982  ซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติอเมริกาที่ผลิตและพัฒนาซอฟต์แวร์เกมเป็นหลัก ต่อมาในปี 1993 EA ได้เริ่มต้นซีรีย์เกม FIFA นับแต่บัดนี้เป็นต้นมา EA มีตัวเกมฟุตบอลสองเวอร์ชัน โดยทั้งสองเวอร์ชั่นนี้ได้ใช้ผู้พัฒนาคนละกลุ่มกัน อีกเวอร์ชั่นนึงใช้ชื่อว่า FC Online หรือที่เราเคยรู้จักกันในนาม FIFA Online ตัวเกมเวอร์ชั่น Online พัฒนาโดยกลุ่ม EA Spearhead ร่วมกับ Nexon มีตัวเซิร์ฟเวอร์อยู่ที่ประเทศเกาหลี และ เซิร์ฟเวอร์ Garena ในประเทศไทย 

ล่าสุดปี 2023 EA SPORTS ต้องเผชิญความท้าทายครั้งใหม่เนื่องจาก FIFA ไม่ได้ต่อสัญญากับบริษัท EA นั่นจึงเป็นที่มาของการเปลี่ยนมาใช้ชื่อ  EA SPORTS FC 24 

 

KONAMI - Free To Play 

จุดเด่นของ KONAMI ในปัจจุบันคือการเปิดให้เล่นเกม eFootball แบบฟรี ๆ ในทุกแพลตฟอร์มเพื่อเรียกความศรัทธากลับมาจากเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก จากเหล่าเกมเมอร์ในช่วงแรกที่เปิดตัวเกม eFootball เมื่อปี 2022 แน่นอนว่าทาง KONAMI เองก็ได้ออกมายอมรับและขอโทษถึงเหตุการณ์ที่ทางบริษัทได้รีบปล่อยตัวเกมทั้ง ๆ ที่ยังไม่ใช่เวอร์ชั่นฉบับสมบูรณ์  

อย่างไรก็ตามแม้ตัวเกมจะเปิดให้เล่นฟรีแต่ KONAMI มีวิธีการหารายได้โดยการขายสินค้าภายในเกม (In-App Purchases) รวมไปถึงจัดโปรโมชั่นในช่วงเทศกาลต่างๆ หรือ อีเวนท์ในแต่ละรายการฟุตบอลเพื่อส่งเสริมการขาย 

อีกหนึ่งกลยุทธ์ทางการตลาดที่ KONAMI ทำออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือการมุ่งเน้นไปที่การสร้างแบรนด์ (Branding) ด้วยวิธีการทำสัญญาเป็นพาร์ทเนอร์กับหลายสโมสรชั้นนำจากแต่ละลีกเพื่อถือลิขสิทธิ์อย่างเป็นทางการจาก สโมสรเหล่านั้น โดย KONAMI ได้ถือลิขสิทธิ์อย่างเป็นทางการของ บาร์เซโลน่า , บาเยิร์น มิวนิค , แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด , อาร์เซนอล , เอซี มิลาน , อินเตอร์ มิลาน และอีกหลายสโมสรน้อยใหญ่จากทั่วทุกมุมโลกวิธีการนี้เป็นการสร้างภาพจำของตราสินค้า eFootball   

 

EA SPORTS - Pay To Play & Hybrid Strategy 

กลยุทธ์และจุดยืนทางการตลาดของ EA นั้น ค่อนข้างยืดหยุ่นและมีความหลากหลายกว่า KONAMI มาก เพราะ EA ได้ผลิตซอฟต์แวร์ และส่งออกวิดีโอเกมไปยังหลายแพลตฟอร์ม ไม่ว่าจะเป็นบน PC หรือบนเครื่องเล่นเกมคอนโซล รวมไปถึงบนสมาร์ทโฟนด้วยเช่นกัน อีกทั้งแต่ละแพลตฟอร์มก็อัดแน่นไปด้วยเกมกีฬาหลากหลายชนิด นอกจาก FC (ฟุตบอล) ยังประกอบไปด้วย UFC (มวยMMA) , NFL (อเมริกันฟุตบอล) , NHL (ฮ็อกกี้น้ำแข็ง) , PGA (กอล์ฟ) , MLB (เบสบอล) , ไปจนถึง F1 (รถสูตร1) ซึ่งแตกต่างจาก KONAMI ที่มุ่งเน้นไปที่กีฬาฟุตบอลเพียงชนิดเดียวเท่านั้น 

นอกจากนั้นทาง EA ไม่ได้ปล่อยให้ดาวน์โหลดตัวเกมไปเล่นแบบฟรีอย่าง KONAMI ซึ่งราคาปัจจุบัน ของเกม EA SPORTS FC 24 ในเว็บไซต์สตีมวางขายอยู่ที่ 1,899 บาท และ เวอร์ชั่น Ultimate Edition สนนราคาอยู่ที่ 2,699 บาท แต่ตัวเกม FC MOBILE และ FC Online นั้นยังคงเปิดให้เล่นฟรี

จะเห็นได้ว่าจุดยืนของทั้งสองค่ายนี้ ยืนกันคนละจุด กล่าวคือเกม eFootball นั้น เล่นก่อนจ่าย ส่วนทางด้าน FC24 นั้น จ่ายก่อนเล่น ส่วนฐานลูกค้าหรือกลุ่มเป้าหมาย (Target group) ของทั้งสองค่ายก็เป็นคนละกลุ่มกัน เพราะ บริษัท KONAMI เน้นไปที่ปริมาณของลูกค้า โดยที่ลูกค้าส่วนใหญ่ของ eFootball คือผู้เล่นบนสมาร์ทโฟน และ เจาะกลุ่มเป้าหมายหลักในภูมิภาคเอเชียรวมไปถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่าลูกค้าของ KONAMI อาจไม่มีกำลังซื้อมากเท่าลูกค้าของ EA SPORTS ที่ได้ยึดครองส่วนแบ่งทางตลาดส่วนใหญ่จากผู้เล่นบน PC และ เครื่องเล่นเกมคอนโซล แน่นอนว่าเกมเมอร์เหล่านี้มีกำลังซื้อมากกว่าผู้เล่นเกมบนสมาร์ทโฟน

 

ในเชิงธุรกิจ 2 ค่ายนี้ ใครโกยรายได้มากกว่า ? 

เป็นที่ทราบโดยทั่วกันอยู่แล้วว่าผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมวิดีโอเกมฟุตบอลไม่ได้มีแค่สองเจ้า เพราะนอกจาก EA และ KONAMI แล้ว ยังมี ​​Tencent จากประเทศจีน , GALA Sports จากประเทศไต้หวัน , Klab จากประเทศญี่ปุ่น ฯลฯ 

แต่หากวัดกันแค่ส่วนแบ่งตลาด (Segment) ของเกมฟุตบอลเสมือนจริงแบบสามมิติ (3D) เท่านั้น ที่ไม่ใช่ เกมฟุตบอลประเภทการจำลองการเป็นโค้ช หรือ ตัวเกมสองมิติ (2D) อย่างเช่น FM (Football Maneger) และ Top Eleven เกมที่ได้รับความนิยมสูงสุดคงหนีไม่พ้น เกม FC24 (EA SPORTS) และ eFootball (KONAMI) เราจึงขอยกมาแค่ตัวเกม 2 ซีรีย์ จาก 2 ค่ายยักษ์ใหญ่ของตลาด ทั้งในแง่ของมูลค่าทางการตลาดไปจนถึงมูลค่าเม็ดเงินที่ไหลเข้ามา

EA SPORTS เป็น “ผู้นำ” ในตลาดวิดีโอเกมฟุตบอลออนไลน์ ด้วยแฟรนไชส์ยอดนิยมอย่าง FIFA ทำให้ EA มีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งที่สุด และเติบโตขึ้นจนกลายเป็นผู้นำของโลกในอุตสาหกรรมเกมกีฬาฟุตบอล ในช่วงระยะเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา EA มีการเติบโตของตลาดอย่างมีนัยสำคัญ โดยได้แรงหนุนจากความนิยมที่เพิ่มขึ้นของเกมฟุตบอลออนไลน์ 

“ผู้เล่นใหม่ใน FC24 เพิ่มขึ้นเกือบ 20% เมื่อเทียบเป็นรายปี แสดงให้เห็นถึงความตื่นเต้นของแฟนฟุตบอลจากทั่วทุกมุมโลกที่จะเข้าร่วมคลับกับเรา” แคม เวเบอร์ ประธาน EA SPORTS กล่าวในการแถลงข่าว

คาดว่าขนาดของบริษัท EA  (Market Cap) ในปี 2020 อยู่ที่ประมาณ 35 พันล้านดอลลาร์ รายได้จากประกอบกิจการของ EA ในปี 2023 อยู่ที่ประมาณ 7.7 พันล้านดอลลาร์ อีกทั้งยังทำกำไรไป 1.13 พันล้านดอลลาร์ และหากใครสนใจร่วมลงทุนก็สามารถเข้าไปถือหุ้นของ EA ได้ในตลาดหลักทรัพย์ NASDAQ และ Down Jones S&P 500 ประเทศสหรัฐอเมริกา

KONAMI เป็นอีกหนึ่งผู้เล่นหลักในตลาดวิดีโอเกมฟุตบอลออนไลน์ แต่หากเปรียบเทียบกันที่จำนวนเม็ดเงินที่ไหลเข้ามาถือว่ายังเป็นรอง EA อยู่หลายขุม อย่างไรก็ตาม KONAMI มีข้อได้เปรียบอยู่บ้างในแง่ของประวัติศาสตร์อันยาวนานในอุตสาหกรรมเกม ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา บริษัทได้พยายมขยายการดำเนินงานและลงทุนในภาคส่วนต่าง ๆ รวมถึงอุตสาหกรรมเกม 

คาดว่าขนาดของ KONAMI ในปี 2020 จะอยู่ที่ประมาณ 15 พันล้านดอลลาร์ รายได้ของบริษัทในปี 2023 อยู่ที่ประมาณ  2.18 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีกำไรอยู่ที่ 394.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปัจจุบัน KONAMI จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ Tokyo Stock Exchange (TYO) ในประเทศญี่ปุ่น และ London Stock Exchange (LSE) ในประเทศอังกฤษ

 

เปรียบเทียบภาพรวมภายในตัวเกม

ด้วยการเติบโตอย่างต่อเนื่องของของอุตสาหกรรมเกม และการเข้ามาของ E-Sports ที่ถูกบรรจุให้เป็นกีฬาอย่างเป็นทางการ ส่งผลให้ตลอดระยะเวลา 2 ทศวรรษที่ผ่านมาทั้ง KONAMI และ EA SPORTS ได้ผลิตวิดีโอเกมฟุตบอลออกมาแทบทุบปี รวมกันมากกว่า 50 เวอร์ชั่นแล้ว ดังนั้นเราจึงขอเลือกแค่ตัวเกมเรือธงเวอร์ชั่นล่าสุดจากทั้ง 2 ค่าย มาเปรียบเทียบด้านเกมเพลย์ ภายในตัวเกม นั่นคือ EA SPORTS FC 24 และ eFootball 2024  เท่านั้น 
 
EA SPORTS FC 24  มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของ EA คือการมีโหมดอาชีพ (Career Mode) อยู่ในตัวเกมด้วย หมายความว่า คุณสามารถจำลองการเป็นนักเตะประหนึ่งว่าคุณคือนักเตะอาชีพคนหนึ่ง แถมทาง EA ค่อนข้างทำโหมดนี้ออกมาได้ดีพอสมควร ส่วนทางด้านลิขสิทธิ์จากสโมสรฟุตบอล EA SPORTS FC 24 อัดแน่นไปด้วยนักเตะเกือบ 20,000 ราย จากทั่วโลก นอกจากนั้น EA ยังได้ถือครองลิขสิทธิ์จาก 700 สโมสร กับอีก 30 ลีก กล่าวคือ ทาง EA มีจำนวนทีมและลีกที่สามารถบรรจุเข้าสู่ตัวเกมได้มากกว่า KONAMI ในส่วนกราฟิกว่ากันว่า ณ เวลานี้  EA SPORTS FC 24 นั้นทำออกมาได้สวยสดงดงามที่สุดในโลก อีกทั้งยังมีจำนวนผู้เล่นมากถึง 11.3 ล้านบัญชี 

ทางฝั่ง eFootball 2024 ของ KONAMI ถึงแม้จะถือลิขสิทธิ์อย่างเป็นทางการเพียงแค่ 26 สโมสร แต่ทางผู้พัฒนาเกมได้ออกมาแก้ปัญหาตรงจุดนี้โดยการเปลี่ยนชื่อและโลโก้ของทีมนั้น ๆ แทน ยกตัวอย่างเช่น ทีมเชลซี มีชื่อในตัวเกม eFootball คือ เชลซี B พร้อมกับมีการเปลี่ยนโลโก้ทีม และถึงแม้ความสวยงามด้านกราฟิกหรือรูปร่างหน้าตาของนักเตะไม่ดูสวยเสมือนจริงอย่างทางฝั่ง FC24 แต่เรื่องของความสมจริงของการเคลื่อนไหวไปหรือการขึ้นเกม (Movement) รวมไปถึง ด้านกายภาพ (Physical) eFootball 2024 ก็ทำออกมาได้เสมือนจริงไม่แพ้คู่แข่ง ด้วยรูปแบบการเล่นที่ช้ากว่า FC24 ทำให้เกมเพลย์ดูเหมือนเกมฟุตบอลจริง ๆ และอย่างที่กล่าวไปปข้างต้นว่า eFootball เน้นไปที่ตัวเกมบนสมาร์ทโฟนทำให้ผู้เล่นเข้าถึงความสนุกได้ง่ายและสะดวกกว่า 

 

แนวโน้มการตลาดในอนาคต  

อ้างอิงข้อมูลจาก Statista องค์กรที่รวบรวมข้อมูลและสถิติทางการตลาดจากประเทศเยอรมัน ระบุว่า เกมเมอร์ทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นจาก 2 พันล้านคนเมื่อปี 2015 เป็น 3.3 พันล้านคนภายในปี 2024 และ นักวิเคราะห์การตลาดคาดการณ์ว่า ขนาดตลาดในอุตสาหกรรมวิดีโอเกมจะเติบโตจากเดิมมากถึงปีละ 11% ด้วยปัจจัยหลายประการ 

ประการแรก คือการที่ประชากรทั่วทุกมุมโลกสามารถเข้าถึงสมาร์ทโฟนได้อย่างง่ายดายและทั่วถึง จะสังเกตได้ว่าแม้กระทั่งเด็กและเยาวชนก็สามารถเป็นเจ้าของสมาร์ทโฟนได้แล้ว 

ประการที่สองคือความเร็วของอินเตอร์เน็ตในอนาคตที่คาดว่าจะเชื่อมโยงผู้คนจากคนละซีกโลกได้อย่างรวดเร็วและมีความเสถียรภาพมากขึ้น ประการสุดท้าย ความนิยมในวงการ e-Sports ที่กำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมากอีกทั้งยังถูกผลักดันจากหลายประเทศให้เป็นทัวนาเมนต์กีฬาอาชีพและเงินรางวัลจากจัดการแข่งขันก็เพิ่มสูงขึ้นในทุกปีด้วยเช่นกัน  

คิมิฮิโกะ ฮิกาชิโอะ ประธานบริษัทของ KONAMI ได้ออกมาเปิดเผยถึงแผนการทางการตลาดในปี 2024 ต่อผู้ร่วมลงทุนในบริษัทว่า ปี 2023 คือปีแห่งการฟื้นฟูอย่างมีประสิทธิภาพจากวิกฤติโควิด-19  ส่วนในปีถัดไปทาง KONAMI กรุ๊ป จะเริ่มใช้มาตรการรองรับความท้าทายจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาซอฟแวร์เพื่อรองรับกับปัญญาประดิษฐ์ (AI) รวมไปถึงการเข้ามาของเทคโนโลยีการสื่อสารในอนาคต (5G/6G) และพัฒนาเทคโนโลยีสร้างภาพเสมือนจริง หรือ ที่เราเรียกกันว่า Virtual Reality (VR) พร้อมทั้งออกมาประกาศถึงความคิดริเริ่มในนำเทคโนโลยีบล็อคเชนมาใช้เช่นเดียวกับตลาด NFT ส่วนเกมออนไลน์นั้น KONAMI จะมุ่งเน้นไปที่เกม eFootball และ เปิดตัวเกมเบสบอลเวอร์ชั่นใหม่ที่มีชื่อว่า “PROFESSIONAL BASEBALL SPIRITS A (Ace)”

นอกจากนี้ทาง KONAMI ได้เปิดตัว ตู้เกม DIMENSION 43x3TM พร้อมกับ ได้เริ่มการติดตั้งฮาร์ดแวร์นี้ครั้งแรกในคาสิโนบางแห่งในสหรัฐอเมริกา อีกทั้งยังได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีอีกด้วย 

DIMENSION 43x3TM เป็นตู้รูปแบบขนาดใหญ่ที่ประกอบด้วยจอภาพความละเอียดสูงพิเศษ (UHD) ขนาด 43 นิ้ว คูณ 43 นิ้ว แบบเรียงซ้อนกันสามจอพร้อมกับตัวเกมที่ให้ผู้ประกอบการคาสิโนสามารถเลือกเกมที่แตกต่างกันได้มากกว่าแปดสิบเกม และนอกจากธุรกิจเกม KONAMI ได้ริเริ่มธุรกิจกีฬา (Sports Business) อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น การสร้างโรงยิมเพื่อนักกีฬายิมนาสติก รวมไปถึงฟิตเนสและโรงเรียนสอนว่ายน้ำ

ส่วนทางฝั่ง EA SPORTS คือบริษัทที่มองการณ์ไกลมาโดยตลอด จะเห็นว่าตัวเกมที่เปิดตัวในปี 2023 นั้นได้ใช้ชื่อ 2024 เพื่อรองรับการพัฒนาในปีถัดไป อย่างเช่นตัวเกม EA SPORTS Madden NFL 24, EA SPORTS FC 24, และ EA SPORTS NHL 24 ตัวเกมเหล่านี้ล้วนเปิดตัวในปี 2023 ทั้งสิ้น 

นอกจากนี้แผนการในปีหน้าของ EA SPORTS จะมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาตัวเกมฟุตบอลอย่าง EA SPORTS FC 24 ที่เพิ่งทำการรีแบรนด์หลังจากแยกทางกับ FIFA เพื่อให้ EA ยังคงเป็นผู้นำในเกมกีฬาฟุตบอลต่อไป ซึ่งการรีแบรนด์ในครั้งนี้เป็นความท้าทายของ EA SPORTS อย่างมากเพราะนี่เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1993 ที่เปิดตัวเกมฟุตบอลโดยไม่ได้ใช้ชื่อ FIFA 

อย่างไรก็ตามดูเหมือนว่าเสียงตอบรับของตัวเกมอื่น ๆ ยังคงเรียกเสียงฮือฮา จากคอเกมเมอร์ทั่วโลกได้เป็นอย่างดี เพราะหากเรากางสถิติทางตัวเลขออกมาดูทางบริษัท EA จะเห็นว่ายังสามารถทำกำไรบวกกับเพิ่มยอดดาวน์โหลดได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีอัตราการเติบโตของบริษัทอยู่ที่ 4% ต่อปี และท้ายสุด EA SPORTS จะเปิดตัวเกมกีฬาในเวอร์ชั่น 2025 ตัวไหนออกมาให้เกมเมอร์ได้เล่นต้องติดตามกันในปี 2024  

บทสรุปคือ ถ้าวัดกันที่มูลค่าทางธุรกิจนั้นเป็นฝ่าย EA SPORTS จาก สหรัฐอเมริกา ที่เข้าวินโกยกำไรไปได้มากกว่าฝั่ง KONAMI จากประเทศญี่ปุ่น เหตุผลหนึ่งที่ขนาดบริษัท KONAMI มิอาจใหญ่ทัดเทียมเท่า

อาณาจักรเกมกีฬาของ EA ได้ เป็นเพราะความหลากหลายของชนิดกีฬาที่ทาง EA SPORTS มีมากถึง 8 ชนิดกีฬา คือ ฟุตบอล , มวยMMA , อเมริกันฟุตบอล , ฮ็อกกี้น้ำแข็ง , กอล์ฟ , เบสบอล , รถสูตร1 , และ รถแรลลี่ ส่งผลให้ตอบโจทย์เกมเมอร์จากคอกีฬาที่หลากหลายกว่ามาก

นอกจากนี้ในมิติของ E-Sport เงินรางวัลจากการแข่งขันนั้น ทาง EA ก็มอบเงินรางวัลให้กับผู้ชนะมากกว่า KONAMI ถึง 8 เท่า โดยรางวัลชนะเลิศของการแข่งขัน FC Pro Open ของ EA SPORTS มอบให้กับผู้ชนะเลิศสูงถึง 80,000 ดอลลาร์สหรัฐ ส่วนเงินรางวัลรายการ eFootball Championship Open จาก KONAMI อยู่ที่ 10,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อรายการเท่านั้น 

แต่หากจะเปรียบเทียบในแง่ของความสนุกภายในตัวเกมนั้น คงหาคำตอบให้ไม่ได้ ว่าเกมจากค่ายไหนสนุกกว่ากัน เพราะเรื่องความชอบ หรือ ความสนุกนั้น ไม่มีเครื่องมือหรือตัวเลขมาเป็นมาตรวัดตายตัว ความสนุกนั้นขึ้นอยู่กับตัวผู้เล่นแต่ละคนมากกว่า  พูดง่าย ๆ คือรสนิยมนั้นเป็นเรื่องของปัจเจก ดังนั้นคุณชื่นชอบแบบไหนสไตล์ใดก็เลือกเล่นกันตามใจได้เลย 

 

แหล่งที่มา

https://www.ea.com/news/today-in-ea-history?isLocalized=true
https://www.konami.com/ir/en/financialinfo/
https://www.zippia.com/electronic-arts-careers-3798/history/
https://www.sportingnews.com/in/football/news/ea-sports-vs-konami-how-fifa-won-the-football-gaming-war-against-pes-and-efootball/13wdqjy3h2jfr1qcosncv41hw7
https://fourweekmba.com/ea-sports-business-model/
https://www.bloomberg.com/features/2023-fc24-ea-sports-fifa/#Bungie-Inc.
https://historyofsoccer.info/the-history-of-soccer-video-games
https://www.charlieintel.com/ea-sports-fc/how-many-people-play-ea-fc-24-november-2023-player-count-280147/
https://efootballpro.konami.net/open/overview/world-finals/
https://www.ea.com/games/ea-sports-fc/fc-pro/fc-pro-explained
https://en.as.com/meristation/news/ea-sports-fc-24-surpasses-11-million-players-worldwide-more-than-its-predecessor-n/
https://outsidewrite.co.uk/the-history-of-football-computer-games/
https://www.ft.com/content/1a64db64-185e-495f-a88d-98bcf5ee9516
https://en.wikipedia.org/wiki/Pro_Evolution_Soccer#Gameplay
https://en.wikipedia.org/wiki/EA_Sports_FC_24

Author

มูซอลลีน มะลิวัลย์

“เด็กจากแดนด้ามขวาน แต่มาจบป.ตรีที่ล้านนา ปัจจุบันใช้ชีวิต ณ เมืองบางกอก”

Graphic

ปริญญา คงปันนา

กราฟฟิคหน้าโหด ทำงานด้วย Passion ว่างๆ ชอบไปคาเฟ่ หลงไหลในศิลปะ, การเดินทางและกีฬา