สิ่งหนึ่งที่นักกีฬาทุกคนคงไม่อยากพบเจอคืออาการบาดเจ็บ ซึ่ง อาการกล้ามเนื้อกระตุก อาจเกิดขึ้นได้บ่อย ๆ กับนักกีฬาอาชีพ รวมไปถึงนักวิ่งด้วยเช่นกัน อาการกล้ามเนื้อกระตุกอาจทำให้นักกีฬาต้องพักเป็นเวลานานจนพลาดโอกาสสำคัญไป
แท้จริงแล้วอาการกล้ามเนื้อกระตุกมีสาเหตุมาจากอะไร มีผลกระทบกับนักวิ่งอย่างไรบ้าง รวมถึงมีวิธีใดบ้างที่สามารถป้องกันอาการกล้ามเนื้อกระตุกได้
มาหาคำตอบไปพร้อม ๆ กับ Main Stand
สาเหตุของอาการกล้ามเนื้อกระตุก
การกระตุกของกล้ามเนื้อเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น การนอนพักผ่อนไม่เพียงพอ การขาดสารอาหาร รวมไปถึงการใช้กล้ามเนื้อหนักเกินไป ซึ่งอาการกล้ามเนื้อกระตุกคือการที่กล้ามเนื้อหดตัวและคลายตัวโดยไม่ทันตั้งตัว เนื่องจากสมองส่งสัญญาณไฟฟ้าไปที่กล้ามเนื้อโดยอัตโนมัติ
อาการกล้ามเนื้อกระตุกมักเกิดขึ้นเป็นพัก ๆ ครั้งละสองหรือสามวินาที โดยปกติแล้วมันเกิดจากการใช้งานกล้ามเนื้อส่วนนั้นมากเกินไป และเกิดจากการเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วและทำกิจวัตรเดิมซ้ำ ๆ หรือการออกแรงอย่างสุดขีดก็เพิ่มโอกาสการเกิดอาการกล้ามเนื้อกระตุกในนักกีฬาอาชีพ
อีกทั้งการออกกำลังกายและฝึกซ้อมอย่างหนักยังก่อให้เกิดความล้าในกล้ามเนื้อ และก่อให้เกิดอาการกล้ามเนื้อกระตุก หรือในบางกรณีอาจเกิดเป็นตะคริว เพราะเมื่อนักวิ่งใช้กล้ามเนื้อส่วนนั้นมากกว่าปกติ กล้ามเนื้อจะขาดน้ำ ส่งผลต่อความไม่สมดุลของค่าอิเล็กโทรไลต์ในร่างกาย จนเกิดอาการกล้ามเนื้อกระตุกในที่สุด
โดยทางการแพทย์อธิบายปรากฏการณ์นี้ไว้ว่า “เมื่อออกกำลังกาย เส้นใยกล้ามเนื้อจะอ่อนล้าและมักจะเกิดอิเล็กโทรไลต์ที่ไม่สมดุลเล็กน้อยจากการขับเหงื่อมากเกินไป ปัจจัยอย่างใดอย่างหนึ่งเหล่านี้อาจทำให้กล้ามเนื้อกระตุกได้ อิเล็กโทรไลต์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับการกระตุกของกล้ามเนื้อคือแคลเซียมและแมกนีเซียม”
เพราะแคลเซียมจะไปสนับสนุนของการทำงานของกล้ามเนื้อให้เหมาะสม หากร่างกายขาดแคลเซียมก็อาจทำให้กล้ามเนื้อกระตุกและเกิดภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำกว่าปกติ
อีกสาเหตุสำคัญคือการเล่นกีฬาท่ามกลางอากาศร้อน มันทำให้ร่างกายขาดน้ำและขับเหงื่อออกมาในปริมาณมากเกินไปจนเกิด Dehydration หรือภาวะการขาดน้ำในกล้ามเนื้อ ส่งผลให้เกิดอาการกล้ามเนื้อกระตุกระหว่างการออกกำลังกาย
ผลกระทบต่อนักกีฬาและนักวิ่ง
อาการกล้ามเนื้อกระตุกนั้นส่งผลโดยตรงต่อนักกีฬาและนักวิ่งอย่างแน่นอน เพราะมันจะทำให้นักวิ่งต้องหยุดวิ่งชั่วขณะ เนื่องจากกล้ามเนื้อจะเกิดอาการสั่นเกร็งจนไม่สามารถวิ่งต่อได้ และต้องได้รับการปฐมพยาบาลเบื้องต้น
โดยทั่วไปแล้วอาการกล้ามเนื้อกระตุกสามารถหายได้เองภายในระยะเวลาไม่กี่วัน แต่ในกรณีที่มีอาการถี่มากขึ้น เป็นอย่างต่อเนื่อง หรือมีอาการอื่นร่วมด้วยบริเวณที่เกิดอาการกระตุก เช่น มีอาการเหน็บชา หรือกล้ามเนื้อฝ่อและอ่อนแรงลง ควรไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยอาการที่เกิดขึ้น เพื่อเข้ารับการรักษาอย่างถูกวิธีต่อไป
ยกตัวอย่างนักกีฬาที่เคยประสบกับอาการกล้ามเนื้อกระตุก เช่น นักบาสชื่อดังจาก NBA อย่าง
คริส พอล ก็เคยมีอาการกล้ามเนื้อกระตุกบริเวณกล้ามเนื้อหลังต้นขา หรือที่เรียกว่าแฮมสตริง จนต้องพักการแข่งขันไปหลายเดือน
เช่นเดียวกับในกรณีของ มาร์แซล จาคอบส์ นักวิ่งลู่และลานชาวอิตาเลียน ดีกรีแชมป์โอลิมปิก ปี 2020 เขาเคยพบเจอกับอาการกล้ามเนื้อกระตุกบริเวณแฮมสตริงเช่นกัน เขาบาดเจ็บในช่วงปลายเดือนมิถุนายน แต่ท้ายที่สุดก็สามารถเข้าร่วมการแข่งชิงแชมป์โลกได้ในช่วงเดือนกรกฎาคม แต่เมื่อรู้ว่ายังไม่สมบูรณ์ 100% จึงตัดสินใจถอนตัวในรอบรองชนะเลิศ
หรือแม้กระทั่งนักวิ่งกระโดดไกลชื่อดังอย่าง คาร์สเทน วาร์โฮล์ม นักวิ่งกระโดดไกลชาวนอร์เวย์ เจ้าของสถิติโลกและเหรียญทองจากในระยะทาง 400 เมตร ในการแข่งขันกรีฑาชิงแชมป์โลกในปี 2017 และ 2019 ก็เคยพบกับอาการบาดเจ็บกล้ามเนื้อกระตุกบริเวณแฮมสตริงในเดือนมิถุนายน ปี 2022 เช่นกัน
ทว่าอาการกล้ามเนื้อกระตุกนั้นไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด จากตัวอย่างที่กล่าวไปข้างต้น วาร์โฮล์มที่ได้รับบาดเจ็บเมื่อต้นเดือนมิถุนายนปีก่อน แต่ก็ยังสามารถไปคว้าแชมป์โลกในเดือนกรกฎาคมได้
และคนล่าสุดคือนักวิ่งชาวไทยชื่อดังอย่าง บิว ภูริพล ที่เข้าร่วมการแข่งขันในศึกซีเกมส์ ครั้งที่ 32 ที่ประเทศกัมพูชา ในการแข่งขันวิ่งประเภท 200 เมตร ก็เกิดเกตุการณ์ไม่คาดคิด นั่นคือการได้รับบาดเจ็บกล้ามเนื้อบริเวณแฮมสตริงจนไม่สามารถแข่งต่อได้ โดยหลังการบาดเจ็บนั้นส่งผลให้บิวต้องพัก 1 เดือน และปิดฉากซีเกมส์ครั้งนี้เป็นที่เรียบร้อย
วิธีป้องกันอาการกล้ามเนื้อกระตุก
อาการกล้ามเนื้อกระตุกโดยทั่วไปแล้วไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษา เพราะอาการจะค่อย ๆ ลดลงและหายไปเองภายในระยะเวลา 2-3 วัน
ซึ่งอาการกล้ามเนื้อกระตุกอาจเกิดขึ้นจากการออกตัวเร็วเกินไปในช่วงแรกของการแข่งขัน ทำให้เมื่อวิ่งไปสักพักกล้ามเนื้อจะกระตุกได้ ดังนั้นเหล่านักวิ่งสามารถป้องกันได้โดยการมีสติและระมัดระวังในตอนที่เริ่มออกตัว
การวอร์มไม่เพียงพอก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุ ซึ่งถ้านักวิ่งคนใดวอร์มก่อนการแข่งขันไม่มากพอกล้ามเนื้อจะเกิดอาการกระตุกได้ง่าย วิธีป้องกันคือหาจุดที่สมดุลของตนเองและฝึกซ้อมให้เพียงพอ ควบคู่กับการพักผ่อนให้เพียงพอ
อาการกล้ามเนื้อกระตุกสามารถเกิดขึ้นได้กับนักกีฬาทุกประเภทหากไม่ได้รับการเตรียมตัวอย่างถูกต้อง
อย่างไรก็ตาม อาการกล้ามเนื้อกระตุกไม่ได้เป็นอาการที่น่ากังวลมากนักเพราะหายเองได้ในไม่กี่วัน แต่การกระตุกของกล้ามเนื้ออาจเป็นสิ่งที่คอยเตือนนักกีฬาว่าให้ระมัดระวังการใช้กล้ามเนื้อไม่ให้หนักเกินไป นำไปสู่การหาวิธีฝึกซ้อมที่ถูกต้องและเข้ากับตนเอง ซึ่งถ้าทำได้ก็จะก่อให้เกิดผลดีมากที่สุด
แหล่งอ้างอิง :
https://www.yahoo.com/lifestyle/why-does-muscle-twitch-working-045512276.html?guccounter=1&guce_referrer=aHR0cHM6Ly93d3cuZ29vZ2xlLmNvbS8&guce_referrer_sig=AQAAAKz0GQ7xlv7x30d8FXuKjLQwER1K_NFUw7Py7B2sPuq7OHibWIEbuTH0t9aEb-m3Zs8Nj-DD1Wx1A2IpfKvbQikJPuMmOXQ5lLrHEkJ4SXuk2NBn6Iw29wwqW-CBA_Z8FTQ35IQn9yQMr34EA1IjxfcrU26me0qlG50JkIG_ASUf#:~:text=Although%20%22electrolyte%20imbalance%20and%20muscle,to%20misfiring%20of%20muscle%20fibers.%22
https://www.samitivejhospitals.com/article/detail/cramps-while-running
https://www.telegraph.co.uk/athletics/2022/01/27/marcell-jacobs-exclusive-interview-didnt-dope-win-olympic-100m/
https://www.runnersworld.com/uk/health/injury/a772949/when-to-worry-if-your-calf-muscles-spasm/
https://www.henryford.com/blog/2020/07/making-sense-of-post-workout-muscle-spasms#:~:text=No%20matter%20what%20your%20preferred,muscle%20fibers%20may%20start%20twitching.
https://www.healthline.com/health/muscle-twitching#What-are-muscle-twitches?
https://www.standard.co.uk/sport/athletics/karsten-warholm-injury-world-athletics-championships-diamond-league-b1004264.html
https://www.latimes.com/sports/clippers/la-sp-paul-hamstring-erskine-20150507-column.html