“เด็กวันนี้ คือผู้ใหญ่ในวันหน้า” รากฐานการพัฒนาฟุตบอลที่มั่นคงยั่งยืนจึงต้องมาจากระบบอคาเดมีเพื่อพัฒนาเยาวชนให้แข็งแกร่ง ซึ่งเป็นคำที่ได้ยินมาโดยตลอดในโลกฟุตบอล
มีศูนย์ฝึกฟุตบอลมากมายที่เป็นจุดเริ่มต้นของความสำเร็จของหลายทีม ทั้ง แกลร์ฟงแตน ของทีมชาติฝรั่งเศส หรือศูนย์ฝึกลา มาเซีย ของบาร์เซโลน่า ที่เน้นผลิตนักฟุตบอลเยาวชนขึ้นสู่ชุดใหญ่แล้วได้ผลดีเยี่ยม
แต่กลับกัน หากบริหารจัดการไม่ดีพร้อมและไม่สามารถพัฒนาเยาวชนนักฟุตบอลให้มีประสิทธิภาพ แข้งอนาคตไกลเหล่านี้ก็ไม่อาจสำแดงเดชในระดับอาชีพได้
ดังที่เห็นจากฟุตบอลไทย เวลาฟุตบอลระดับทีมชาติทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่มีผลงานสุดย่ำแย่ หรือในระดับสโมสรที่ขาดแคลนกองหน้าชาวไทย และการถูกนักฟุตบอลอาเซียนแย่งโอกาสลงสนามก็มีการผูกโยงปัญหาไปที่การปลุกปั้นเยาวชนแทบทั้งสิ้น
ดังนั้นความสำคัญของนักฟุตบอลเยาวชนจึงแทบไม่ได้มีความยิ่งหย่อนไปกว่านักฟุตบอลอาชีพเลย
อย่างไรเสีย ทั้งที่ทุกคนก็รู้ถึงความสำคัญของการพัฒนานักฟุตบอลรุ่นเยาว์เพื่ออนาคตที่ดีของวงการฟุตบอลไทย แต่ในประเทศไทยกลับมีการให้ความสำคัญกับการปกป้องคุ้มครองนักฟุตบอลเยาวชนน้อยมาก ๆ
ไม่ว่าจะในฐานะ “แรงงาน” หรือ ”ทุนทรัพยากรมนุษย์” ซึ่งแตกต่างจากนักฟุตบอลอาชีพที่มีการคุ้มครองจากสารพัดข้อบังคับรวมถึงกฎหมาย จะในประเทศหรือระดับนานาชาติก็ตามที
เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ? ร่วมหาคำตอบไปพร้อมกับเรา
เยาวชนเป็นคำไม่เคลียร์
ก่อนที่จะทำอะไรก็ตามโดยเฉพาะสิ่งที่เกี่ยวพันกับชีวิตผู้คนอย่างการร่างกฎหมาย ข้อบังคับ หรือระเบียบต่าง ๆ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการ “นิยามศัพท์เฉพาะให้ชัดเจน” มีมาตรฐานที่จะทำให้เข้าใจตรงกันทุกฝ่าย ทั้งกับผู้ออกกฎ ผู้รับปฏิบัติ และต้องสอดคล้องกับบริบทในวงการนั้น ๆ
แต่นั่นไม่ได้เกิดขึ้นกับคำว่า “เยาวชน” ในประเทศไทย เพราะนิยามของคำ ๆ นี้มีความแตกต่างกันทางกฎหมายและทางฟุตบอล เหมือนกับเป็นหนังคนละม้วนกัน
เพราะใน พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ตามมาตรา 44 ที่ได้กำหนดให้ห้ามจ้างเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีเป็นลูกจ้าง ซึ่งอิงการระบุช่วงระยะอายุของเยาวชนตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน นั่นคือ บุคคลอายุเกิน 15 ปีบริบูรณ์ แต่ยังไม่ถึง 18 ปีบริบูรณ์ เป็นเกณฑ์
หากแต่ในวงการฟุตบอลนั้นไม่ได้มีการกำหนดระยะอายุที่ชัดเจนตายตัว บางครั้งเยาวชนอาจจะได้รับการปลุกปั้นโดยสโมสรต้นสังกัดมาตั้งแต่อายุน้อย ๆ 8-9 ขวบ อาจจะจบมัธยมต้น-ปลาย เสียก่อน แล้วค่อยเข้าอคาเดมี บางคนก็มาเข้าทีมตอนอายุ 12-13 หรือ 15 ปี หรือผู้เล่นบางคนจะฉายแววตอนอายุย่าง 20 ปีแล้วสโมสรไปดึงตัวมาก็ได้ ซึ่งไม่ว่าเข้าทีมตอนไหนบางคนก็ถือว่าเป็นนักเตะเยาวชนอยู่ดี หากไม่มีโอกาสได้รับสัญญาแบบนักฟุตบอลอาชีพ
ยิ่งไปกว่านั้น การแข่งขันฟุตบอลระดับสากลยังนับว่าการแข่งขันรุ่นอายุต่ำกว่า 23 ปี (U-23) ถือว่าจัดอยู่ในระดับเยาวชน ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจริง ๆ แล้วอายุกี่ปีถึงจะนับเป็นเยาวชนกันแน่
ทำให้มีความยุ่งยากเชิงเทคนิคพอสมควร เพราะหากอิงตาม พ.ร.บ. แรงงานของไทย ก็จะขัดกับหลักสากล แต่หากอิงหลักสากลก็เท่ากับว่าขัด พ.ร.บ. แรงงานซึ่งเป็นกฎหมายในประเทศ
ซึ่งต่างกับนักฟุตบอลอาชีพ ที่แม้ไม่ได้ระบุระยะอายุไว้ แต่เมื่อลงนามในสัญญาแล้วก็จะถือว่ามีผลอัตโนมัติทันที เท่ากับว่าการเป็นนักฟุตบอลอาชีพในไทยนั้น “มีความยืดหยุ่นสูงมาก” อายุเท่าไรก็ทำสัญญาได้ แต่ตามหลักก่อนจะลงนามหากพอใจทั้งสองฝ่ายก็ถือว่าเคลียร์และทำได้เลยโดยไม่มี พ.ร.บ. ไหนมาห้าม
ขณะที่นักฟุตบอลอาชีพที่ค้าแข้งในไทยไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือต่างชาติก็ต้องอยู่ภายใต้หลักสากลเหมือนกันหมด แต่กับนักเตะเยาวชนไทยกลับอยู่ในช่องว่างที่หาใครมาช่วยเหลือไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นทั้งกฎหมายบ้านเราหรือว่าเป็นหลักสากล ซึ่งนั่นก็กลายเป็นข้อเสียเปรียบของเด็กไทยที่ทำให้อนาคตของวงการฟุตบอลไทยไม่มีอะไรเป็นหลักประกันได้เลย
เสียเปรียบทุกกระเบียดนิ้ว
สืบเนื่องจากข้างต้น เมื่อคำนึงถึงความแตกต่างกับนักฟุตบอลอาชีพ ก็เท่ากับว่าการเป็นนักฟุตบอลเยาวชนในประเทศไทยนั้น “เสียเปรียบทุกกระเบียดนิ้ว” เพราะในเมื่อเข้าใจนิยามศัพท์ เยาวชน ไม่ตรงกัน นักฟุตบอลเยาวชน จึง “ไม่เข้าข่ายการคุ้มครอง” จาก พ.ร.บ. แรงงานไปด้วย และจากอายุที่ไม่มีขอบเขต ดีไม่ดีจะเป็นการ “ใช้แรงงานเด็ก” ได้เลยทีเดียว
สิ่งนี้ก็ทำให้เกิดปัญหาที่วุ่นวายตามมาอีกระลอก เนื่องจากนักฟุตบอลเยาวชนจะเสียเปรียบเพิ่มขึ้นอีก ในเรื่องของ “ความเป็นผู้เยาว์”
นั่นเพราะส่วนมากเยาวชนนั้นยังมีระบบวิธีคิดที่ไม่ซับซ้อนและมีประสบการณ์น้อย ทำให้ไม่สามารถตัดสินใจอะไรด้วยตนเองได้ การจะทำอะไรจึงจำเป็นต้องมีผู้ปกครองรับทราบ โดยเฉพาะในเรื่องข้อสัญญาและกฎหมายที่บางทีผู้ปกครองอาจไม่ได้ตัดสินใจบนฐานความต้องการของเยาวชนจริง ๆ และอาจจะคิดแทนเยาวชนไปเลยด้วยซ้ำ
ยิ่งตัวกฎหมายมีความไม่ชัดเจนด้านการคุ้มครองด้วยแล้ว ผู้ปกครองที่ไม่ทราบตรงจุดนี้มาก่อน หรือไม่พิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วนก็อาจจะตกเป็นเบี้ยล่างหลังการลงนามในสัญญาได้
ซึ่งตรงจุดนี้จะแตกต่างจากระบบฟุตบอลอาชีพที่มีตัวละครอย่าง “เอเยนต์” เข้ามาเกี่ยวข้อง แม้ว่าในไทยจะยังเน้นที่ระบบความสัมพันธ์ฉันพี่น้องในการซื้อขายอยู่เยอะ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าการมีเอเยนต์จะทำให้เรื่องการทำข้อตกลง ปัญหาสัญญา หรือรายละเอียดต่าง ๆ มีความไหลลื่นและเป็นธรรม และเป็นคุณต่อตัวนักฟุตบอลได้ดียิ่งขึ้น
กระนั้น แม้ในระดับอาชีพจะดูดีกว่าเยาวชน หากแต่ทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่ในวงการฟุตบอลไทยต่างมีสิ่งที่ต้องเผชิญเหมือน ๆ กัน นั่นคืออาชีพนี้ “มีความพิเศษในตัวเอง” โดยเป็นความพิเศษในแง่ลบที่นำพาความเสี่ยงใหญ่หลวงมาสู่คนเหล่านี้
เพราะหากพิจารณาในเรื่องการทำสัญญาของนักฟุตบอลนั้นจะมีสถานะเป็น “สัญญาจ้างแรงงานชนิดพิเศษ” ดังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ 903/2560 ที่ระบุไว้ชัดเจนว่า “สัญญาระหว่างโจทก์และจำเลยดังกล่าวจึงมิใช่สัญญาจ้างแรงงานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 575”
ดังนั้นความคุ้มครองหรือสวัสดิการใด ๆ ที่แรงงานทั่วไปได้รับจากทางภาครัฐนักฟุตบอลก็ไม่มีทางที่จะได้รับแบบอาชีพอื่น ๆ เช่น การได้รับสิทธิประกันสังคม สวัสดิการรัฐต่าง ๆ สิทธิบัตรทอง สิทธิคนละครึ่ง การได้รับเงินชดเชยจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม หรือแม้กระทั่งการได้รับเงินเกษียณอายุหากจะได้ก็เป็นสวัสดิการต่าง ๆ ที่ทางสโมสรฟุตบอลมอบให้
ซึ่งสิ่งนี้ก็เหมือนเป็นดาบสองคมของอาชีพการค้าแข้งที่แม้ได้เงินมากกว่าอาชีพอื่น ๆ แต่ก็แลกมากับความไม่มั่นคงและกฎหมายไม่คุ้มครองเท่าไรนัก และถึงแม้ว่าจะมีการออก พ.ร.บ. ส่งเสริมกีฬาอาชีพ พ.ศ. 2556 มาเพื่อแก้ไขช่องโหว่ แต่ก็ยังเป็นขั้นทดลองใช้โดยยังไม่ผลิดอกออกผลเท่าที่ควร
เมื่อกฎหมายไม่ได้ครอบคลุมช่วยเหลือมอบสิทธิประโยชน์ให้กับนักฟุตบอลอาชีพ ยิ่งไม่ต้องพูดถึงแข้งเยาวชนที่ไม่อยู่ภายใต้การดูแลของ พ.ร.บ. แรงงาน
ส่วนจะมาหวังถึงสวัสดิการจากสโมสรก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าการสนับสนุนในการฝึกฟุตบอล ซึ่งใครเล่นดีก็ได้อยู่ในระบบต่อไป แต่ถ้าใครโชคร้ายโดนเอาออกจากทีมก็คงต้องรับสภาพว่าจะไม่มีรายได้อะไรมาชดเชยค่าเสียเวลาที่หายไปกับการทุ่มเทเป็นนักฟุตบอลเยาวชน
ช่องทางเอารัดเอาเปรียบ
บรรดาข้อเสียเปรียบสารพัดนี้เองจึงถือเป็นการ “ชี้โพรงให้กระรอก” แก่บรรดาสโมสรต่าง ๆ ในการกรุยทางเข้ามาหาประโยชน์จากจุดนี้ เพื่อ “เอารัดเอาเปรียบ” บรรดานักฟุตบอล โดยเฉพาะนักฟุตบอลเยาวชนที่ตอนนี้ยังไม่เห็นว่ามีอำนาจต่อรองในตลาดอะไรมากมายนัก
ในฐานะนายจ้าง เมื่อไม่มีข้อบังคับใด ๆ จากส่วนกลางสโมสรจึงมีอภิสิทธ์เด็ดขาดในการเป็นผู้กำหนดกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ก่อนการจ้างงานด้วยตนเอง ทำให้อำนาจต่อรองมีล้นฟ้าและสามารถกำหนดเงื่อนไขต่าง ๆ ของนักฟุตบอลเยาวชนให้เป็นไปตามที่สโมสรต้องการได้
สโมสรสั่งให้ไปเรียนที่ไหนก็ต้องไป เรียนสายไหนก็ต้องเรียน หรือต้องพักการเรียนไปแข่งขันทัวร์นาเมนต์ก็ต้องทำ สโมสรสั่งให้ซ้อมกี่ชั่วโมงก็ต้องซ้อม จะล่วงเวลามืดค่ำแค่ไหนก็ต้องซ้อม หรือถ้าสโมสรจะให้มาซ้อมวันเสาร์-อาทิตย์ ก็ต้องทำ
ไหนจะเรื่องผลประโยชน์ต่าง ๆ ทั้งเรื่องเบี้ยเลี้ยงหรือเงินรางวัลจากการแข่งขัน สโมสรก็จะเป็นผู้ควบคุมทุกอย่างว่านักเตะจะได้หรือไม่ได้เท่าไร ถ้าเจอสโมสรดีก็โชคดีไป แต่ถ้าเจอทีมที่ไม่สนับสนุนบางคนก็ต้องไปเล่นแบบไม่มีรายได้เข้ามาเลย
กรณีที่เห็นได้ชัดที่สุดสด ๆ ร้อน ๆ อย่างประเด็นเรื่องสัญญาของ ชิษณุพงษ์ โชติ กับสโมสรชลบุรี เอฟซี ที่มีการเปิดเผยว่าสัญญาเยาวชนของตัวนักเตะที่ยังมีผลตอนนี้อยู่ในเรตเงินเดือนหลักพัน หากแต่จ่ายจริงเป็นหลักหมื่น “ด้วยความเสน่หา” โดยไม่มีระบุเป็นลายลักษณ์อักษร พอตัวนักเตะไม่พอใจหรือคุยกันไม่ลงตัวก็ให้ผลบังคับใช้ตามสัญญา คือเหลือเงินเดือนหลักพันแทนหากจะกลับมาเล่นให้ชลบุรีต่อไปจนครบสัญญาอีกปีครึ่ง
ซึ่งตรงนี้ไม่มีใครที่ไหนในโลกทำกัน เพราะปกติแล้วการจ่าเงินค่าเหนื่อยก็ต้องจ่ายตามสัญญาที่ทำกันไว้ตลอด หากแต่ตัวบทกฎหมายของไทยที่ไม่ได้มีการมีการควบคุมอย่างจริงจังในวงการฟุตบอล จนทำให้สโมสรกุมอำนาจทั้งหมดเอาไว้ และอาจทำให้ปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นอีกได้
ซึ่งแน่นอนว่ามันคงจะดีกับวงการฟุตบอลไทยมากกว่านี้หากนักบอลเยาวชนมีสัญญาที่ชัดเจน และทุกอย่างทำตามสัญญาที่ทำกันไว้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะไม่อย่างนั้นก็นำมาสู่ปัญหามากมายไม่รู้จบ ซึ่งไม่ได้สะท้อนภาพที่ดีของการพัฒนาวงการลูกหนังไทยเลย
ห่างไกลความเป็นสากล
มีปัญหามากมายเรื่องการดูแลนักฟุตบอลเยาวชนของบ้านเรา ซึ่งหากอ่านมาถึงตรงนี้ก็คงจะรู้แล้วว่า ปัญหาทั้งหมดทั้งมวลนั้นเกิดจากการทำอะไรที่ “ไม่เคยเป็นสากล” ของประเทศไทยเอง
เพราะในประเทศที่มีความเจริญ ในวงการฟุตบอลล้วนออกกฎหมายที่บังคับใช้ต่อนักฟุตบอลเยาวชน โดยอิงหลักความเป็นสากลที่เข้าใจกันโดยทั่วและมีลู่ทางพัฒนาที่ชัดเจนตรงไปตรงมาทั้งนั้น
อย่างในอังกฤษ ฟุตบอลลีกทุกระดับจะมีการใช้ Youth Development Rules หรือก็คือกฎเกณฑ์ที่บรรดาสโมสรทำร่วมกับผู้ปกครองนักฟุตบอลเยาวชน เพื่อหาฉันทามติในการพัฒนานักฟุตบอลเยาวชน ทั้งในด้านการสนับสนุนการศึกษา การแบ่งเวลาเล่นกับเวลาฝึกซ้อม หรือกระทั่งมาตรการรองรับด้านการสร้างงานสร้างอาชีพหากเยาวชนโดนคัดออกและไม่สามารถแจ้งเกิดเป็นนักฟุตบอลได้ เช่น การส่งไปเรียนโค้ชหรือเป็นสื่อมวลชนที่ทำงานด้านฟุตบอลต่อไป
ในเยอรมนีก็มีการระบุไว้ในกฎหมายอย่างชัดเจนเรื่องการ “แบ่งแยกการเรียนกับการฝึกซ้อม” ของนักเตะเยาวชน โดยด้านการศึกษาจะให้ทางโรงเรียนเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด หากแต่เรื่องฟุตบอลสโมสรจะรับผิดชอบเอง ซึ่งก็เป็นข้อดีในเรื่องของความชัดเจนด้านการบริหารจัดการทุนทรัพยากรมนุษย์ และยังได้ฝึกฝนเยาวชนเรื่องการรับมือกับความกดดันในการใช้ชีวิตได้อีกด้วย
แต่สำหรับวงการฟุตบอลไทย ไม่มีอะไรที่ชัดเจนทั้งกฎหมายที่คอยช่วยเหลือนักฟุตบอลรุ่นเยาว์ และแผนการรองรับช่วยเหลือนักเตะที่เสียเวลามาเล่นฟุตบอล ซึ่งเราก็แทบไม่เห็นการวางแผนร่วมกันของผู้มีอำนาจในประเทศไทยจะมีความตั้งใจจะจัดการปัญหาเหล่านี้เลย ทั้งที่ในประเทศฟุตบอลชั้นนำนี่คือปัญหาระดับชาติ ที่แม้แต่รัฐบาลก็ต้องเข้ามาช่วยแก้ไข
เมื่อได้เห็นการจัดการนักฟุตบอลเยาวชนข้างต้นแล้ว คำถามที่ตามมาคือ ประเทศไทยเคยคิดจะทำอะไรแบบนี้บ้างไหม ? หรือจะปล่อยให้แข้งเด็กไทยเติบโตตามโชควาสนาเหมือนกับที่เป็นมาตลอด
เอกสารอ้างอิง
วิทยานิพนธ์ ปัญหาการคุ้มครองนักฟุตบอลเยาวชนในกีฬาฟุตบอลอาชีพ
วิทยานิพนธ์ ปัญหากฎหมายเกี่ยวกับสัญญานักกีฬาฟุตบอลอาชีพในประเทศไทย
วิทยานิพนธ์ กฎหมายคุ้มครองนักกีฬาอาชีพ
วิทยานิพนธ์ การจัดการสถาบันฟุตบอลเยาวชนของสโมสรฟุตบอลอาชีพที่ประสบความสำเร็จในประเทศไทย
วิทยานิพนธ์ สถานะทางกฎหมายของเอเย่นต์นักกีฬาฟุตบอลอาชีพในประเทศไทย
บทความ มาตรการทางกฎหมายเกี่ยวกับการจัดการฟุตบอลอาชีพ: ศึกษาเปรียบเทียบกฎหมายไทยและต่างประเทศ
https://bit.ly/3AkoKKr
https://legal.labour.go.th/attachments/article/190/267500.jpg