Feature

ชีวิตซูโม่หลังเกษียณ : ความจริงอันโหดร้ายของกีฬาประจำชาติญี่ปุ่น | Main Stand

หากเอ่ยถึงซูโม่ นอกจากจะเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับ 2 ของญี่ปุ่นรองจากเบสบอลแล้ว มันยังเป็นกีฬาศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวอาทิตย์อุทัยให้การยกย่องในฐานะ "กีฬาแห่งชาติ" 

 


ด้วยเหตุนี้จึงทำให้นักซูโม่หลายคนมีชื่อเสียงโด่งดังและมีรายได้เป็นกอบเป็นกำ ทั้งจากการแข่งขันและสปอนเซอร์ จนไม่ต่างจากนักแสดงบนหน้าจอโทรทัศน์ 

อย่างไรก็ดีชีวิตหลังเลิกเล่นของพวกเขากลับตรงข้าม เมื่อหลายคนต้องประสบกับความยากลำบากกับการดำรงชีวิตในสังคม แถมยิ่งเลวร้ายไปอีกหากเป็นนักซูโม่ที่ไม่ได้มีชื่อเสียง

เพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ? ติดตามไปพร้อมกับ Main Stand 

 

กีฬาแห่งชาติ 

"ซูโม่ไม่เคยถูกมองว่าเป็นกีฬาในญี่ปุ่น มันลงลึกไปกว่านั้นในจิตวิญญาณของชาวญี่ปุ่น" มาร์ค บัคตัน ผู้เชี่ยวชาญซูโม่ญี่ปุ่นและอดีตคอลัมนิสต์ของ Japan Times กล่าวกับ BBC

ชายสองคนรูปร่างท้วมกำลังห้ำหั่นกันบนสังเวียนรูปวงกลม โดยด้านบนมีสิ่งที่คล้ายกับหลังคาแขวนอยู่ อาจจะเป็นภาพที่ดูแปลกตาสำหรับชาวต่างชาติ โดยเฉพาะคนที่ไม่เคยชมการแข่งขันกีฬาชนิดนี้มาก่อน แต่สำหรับชาวญี่ปุ่นกีฬาชนิดนี้ที่พวกเขาเรียกว่า ซูโม่ นั้นฝังรากลึกอยู่ในจิตวิญญานมาหลายพันปี

จากบันทึกในโคชิคิ บันทึกเก่าแก่ของญี่ปุ่น พบว่าซูโม่ถูกพูดถึงมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 8 ในฐานะส่วนหนึ่งของการบวงสรวงเทพเจ้าของชินโตเพื่อให้พืชผลอุดมสมบูรณ์และฉลองการเก็บเกี่ยว ก่อนจะพัฒนามาเป็นกีฬาในสมัยเอโดะ (ค.ศ.1603-1867)

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ซูโม่เป็นกีฬาที่เต็มไปด้วยธรรมเนียมและประเพณีมากมาย และนักซูโม่ก็จำเป็นต้องรักษากฎระเบียบอย่างเคร่งครัด ทั้งการแต่งตัวที่ต้องสวมชุดยูคาตะตลอดเวลาในที่สาธารณะหรือการไว้ทรงผมแบบ "จนมาเกะ" ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากซามูไร   

แถมกว่าจะมาถึงจุดนี้ยังไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะหลายคนต้องเข้ามาอยู่ในโรงฝึกตั้งแต่จบมัธยมต้นและต้องผ่านการฝึกฝนที่หนักหน่วงในแต่ละวัน รวมถึงต้องอยู่ในสังคมที่ยึดถือระบบสูงต่ำแบบรุ่นพี่รุ่นน้องที่คนอายุน้อยกว่าต้องดูแลรุ่นพี่ไม่ต่างจากคนรับใช้ 

แต่ถึงอย่างนั้นหากสามารถขึ้นไปอยู่ในจุดสูงสุดของการเป็นนักซูโม่อาชีพหรือที่เรียกว่า "ริคิชิ" ก็จะได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่า ทั้งเงินทอง ชื่อเสียง หรือแม้กระทั่งสิทธิ์ในการแต่งงาน เนื่องจากปกติแล้วนักซูโม่อาชีพจะไม่มีสิทธิ์มีแฟนหรือใช้โทรศัพท์ได้ จนกว่าจะขึ้นไปอยู่ใน 2 ดิวิชั่นสูงสุด (จากทั้งหมด 6 ดิวิชั่น) 

นอกจากนี้พวกเขายังได้รับการยกย่องจากผู้คนทั่วไปและได้รับการก้มหัวแสดงความเคารพเมื่อออกมาเดินตามท้องถนน เพราะแม้ในปัจจุบันซูโม่ยังคงเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับต้น ๆ ของญี่ปุ่น โดยในปี 2021 รั้งอยู่ในอันดับ 2 (27.3%) และเป็นรองเพียงแค่เบสบอล (45.2%) เท่านั้น จากการรายของ Unique Japan Tour

มันจึงทำให้ซูโม่เป็นกีฬาที่มีสถานะค่อนข้างสูงส่งและได้รับการนับถือจากคนทั่วไป แต่ชีวิตของพวกเขาหลายคนกลับตรงกันข้ามเมื่อตัดสินใจเลิกเล่น 

 

เคว้งคว้างกลางสังคม

แม้ว่าอาชีพนักซูโม่จะเป็นสิ่งที่ชาวญี่ปุ่นให้การยกย่อง แต่เมื่อใดที่มันกลายเป็นอดีตสิ่งที่พวกเขาต้องเผชิญคือความยากลำบาก โดยเฉพาะการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสังคม 

ทาคุยะ ไซโต คือหนึ่งในนั้น เขาตัดสินใจเข้าพิธีตัดมวยผม ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการเลิกเล่นตอนอายุ 32 ปี และเริ่มหางานทำ ก่อนจะรู้ตัวว่าโลกของซูโม่ทำให้เขาไม่มีประสบการณ์อย่างอื่นอะไรเลยหรือแม้แต่คอมพิวเตอร์ก็ยังใช้ไม่เป็นเลยด้วยซ้ำ 

เนื่องจากปกติแล้วนักซูโม่จะเข้ามาอยู่ในโรงฝึกตั้งแต่อายุ 15 ปีหลังเสร็จสิ้นการศึกษาภาคบังคับ ก่อนจะใช้ชีวิตและฝึกฝนในโรงฝึกที่สังกัดไปจนกว่าจะขึ้นไปอยู่ใน 2 ดิวิชั่นสูงสุดที่จะทำให้พวกเขาได้รับอนุญาตให้แต่งงานและมีครอบครัวได้ ไปถึงตอนเลิกเล่นในช่วงอายุราว 30 ปี  

สำหรับ ไซโต เขาคิดว่าเขาอยากเป็นคนทำขนมปัง ซึ่งสิ่งนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากการ์ตูนที่ชื่นชอบในวัยเด็ก แต่แม้ว่าเขาจะได้งานแต่สุดท้ายทำไปได้ไม่นานอย่างที่คิด 

"ตอนที่ผมพยายามกับมัน พวกเขาบอกว่าตัวผมใหญ่เกินไปที่จะอยู่ในครัว" ไซโต ที่เคยมีน้ำหนักมากถึง 165 กิโลกรัมสมัยเป็นนักซูโม่ กล่าวกับ AFP

"ผมไปสัมภาษณ์งานหลายที่แต่ผมไม่มีประสบการณ์อะไรเลย พวกเขาจึงปฏิเสธผมทั้งหมด" 

อันที่จริงนักซูโม่ที่สามารถไต่ขึ้นไปอยู่ระดับท็อปสามารถเปิดโรงฝึกของตัวเองได้ แต่ก็มีคนเพียงหยิบมือเท่านั้นที่ทำได้ จากรายงานของ AFP ที่ระบุว่ามีนักซูโม่เพียง 7 คนจาก 89 คนที่เลิกเล่นเมื่อปี 2021 ที่ยังคงอยู่ในวงการซูโม่ 

ในขณะที่นักซูโม่หลายคนเลือกจะเบนเข็มไปสู่อุตสาหกรรมอาหาร เนื่องจากเคยมีประสบการณ์การทำอาหารตอนที่อยู่ในโรงฝึก และส่วนใหญ่มักจะลงเอยกับการเปิดร้าน "จังโกะนาเบะ" หรือหม้อไฟของนักซูโม่ 

บางคนอาจจะผันตัวไปอยู่ร้านนวด เนื่องจากตอนเล่นอาชีพต้องเผชิญกับความเจ็บปวดทางร่างกายอยู่บ่อยครั้ง หรือบางคนก็อาจจะไปได้ถึงขั้นเป็นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย 

"เด็กหลายคนเข้ามาสู่โลกของซูโม่ทันทีหลังเรียนจบมัธยมต้น" เคซุเกะ คามิคาวะ อดีตนักซูโม่วัย 44 ปีกล่าวกับ Asahi Shimbun 

"มันกลายเป็นเรื่องยากอย่างแน่นอน เพราะว่าพวกเขาฝึกกันโดยไม่ได้คิดถึงอนาคต และการเลิกเล่นในช่วงครึ่งหลังของชีวิตในวัย 20 หรือ 30 ก็ทำให้พวกเขาไม่รู้แม้กระทั่งว่าอยากทำอะไรหรือสามารถทำอะไรได้บ้าง" 

อย่างไรก็ดีปัญหาของพวกเขาก็ไม่ได้มีแค่นั้น 

 

ดิ้นรนในโลกความจริง 

การใช้ชีวิตอยู่แต่ในโรงฝึกและสังคมของนักซูโม่ซึ่งมีกฎระเบียบที่เคร่งครัดที่แตกต่างจากโลกภายนอก ทำให้โลกของพวกเขาถูกจำกัดอยู่ในวงแคบ ๆ  และขาดภูมิต้านทานเมื่อต้องเผชิญกับโลกความจริง 

"สำหรับซูโม่ อาจารย์โรงฝึกจะปกป้องเราเสมอ" ไซโต กล่าวกับ AFP เขาบอกว่าอันที่จริงอดีตอาจารย์ของเขาเคยเสนอที่พัก อาหาร และเสื้อผ้าให้เขา จนกว่าจะยืนได้ด้วยลำแข้งของตัวเอง 

นอกจากนี้นักซูโม่ส่วนใหญ่ยังต้องเผชิญกับปัญหาทางการเงิน หลายคนเลิกเล่นไปโดยมีเงินเก็บเพียงน้อยนิด และบางคนถึงขั้นไม่มีเลย 

เนื่องจากว่ากว่าที่พวกเขาจะได้รับเงินเดือนก็ต้องไต่ขึ้นไปอยู่ใน 2 ดิวิชั่นสูงสุดให้ได้เสียก่อน ซึ่งคนกลุ่มนี้มีเพียงแค่ 10 เปอร์เซ็นต์ของทั้งหมดเท่านั้น ส่วนที่อยู่ระดับต่ำกว่านั้นจะไม่ได้รับอะไรเลย ยกเว้นเพียงค่าที่พัก (เวลาไปแข่ง) ค่าเดินทาง และค่าเข้าร่วมทัวร์นาเมนต์ ซึ่งจะจัดทุก 2 เดือนครั้ง

สิ่งนี้แตกต่างจากนักซูโม่ระดับสูงที่นอกจากจะได้รับเงินเดือนแล้ว พวกเขายังมีห้องส่วนตัวเป็นของตัวเอง และสามารถสวมใส่เสื้อผ้าที่มีสีสัน โดยเฉพาะหากขึ้นไปอยู่ระดับท็อปหรือที่เรียกกันว่า เซคิโทริ (Sekitori) พวกเขาก็จะมีคนรับใช้ที่เป็นนักซูโม่ที่อยู่ในดิวิชั่นต่ำกว่าไว้ช่วยเหลือทุกอย่าง ตั้งแต่ช่วยซ้อม แต่งตัว จัดหาอาหาร ซักผ้า ทำธุระ ไปจนถึงช่วยเช็ดก้นเวลาเข้าห้องน้ำ 

อย่างไรก็ดีการขึ้นไปอยู่ในระดับสูงก็ทำให้เซคิโทริมีปัญหาหลังเลิกเล่น โดยเฉพาะการเข้าสังคม เนื่องจากพวกเขาเคยชินกับชีวิตที่สะดวกสบายตอนเป็นนักซูโม่ที่จะมีลูกมือคอยช่วยเหลือ จนกลายเป็นคนที่ทำอะไรไม่เป็น  

"เซคิโทริมีแนวโน้มว่าจะเดินไปในทางที่ผิดได้เหมือนกัน พวกเขาได้รับอนุญาตให้มีบริวารเป็นของตัวเอง เพราะว่าพวกเขาแข็งแกร่งหรือจะอะไรก็ตาม แต่นั่นเป็นธรรมเนียมแค่ในโลกของซูโม่" คามิคาวะ กล่าวกับ Asahi Shimbun

"พวกเขาต้องเข้าใจตั้งแต่แรกว่าพวกเขาบังเอิญไปอยู่ในสังคมที่มีกลไกแบบนั้น" 

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้นักซูโม่กลุ่มหนึ่งตัดสินใจที่จะเปิดบริษัทเพื่อช่วยเหลืออดีตนักซูโม่ขึ้นมา

 

เพื่อนร่วมชะตากรรม 

ในตอนที่ไซโตกำลังเคว้งคว้าง เขาก็คิดได้ว่าการเป็นเจ้านายตัวเองอาจจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดสำหรับคนที่โดนปฏิเสธอย่างเขา เขาจึงตัดสินใจมุ่งไปสู่การเป็นเจ้าหน้าที่ช่วยจดทะเบียน เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายที่ช่วยเตรียมเอกสารและให้คำปรึกษาด้านกฎหมายในการติดต่อราชการ 

แม้ว่าการสอบใบอนุญาตของอาชีพนี้จะขึ้นชื่อเรื่องความโหดหิน แต่สุดท้ายไซโตก็ฝ่าฟันคว้ามันมาจนได้ ก่อนที่เขาจะเลือกสายผู้เชี่ยวชาญด้านร้านอาหารด้วยความหวังว่าจะช่วยเหล่าเพื่อนอดีตนักซูโม่ที่ต้องเผชิญกับชะตากรรมแบบเดียวกับเขา 

ลูกค้าคนแรกของไซโตคือ โทโมฮิโกะ ยามางูจิ เพื่อนที่ทำธุรกิจร้านอาหารและเคยเป็นนักซูโม่สมัครเล่นในอดีต เขาบอกว่าบางครั้งสังคมก็มีอคติกับนักซูโม่ 

"โลกของซูโม่มีลักษณะเฉพาะมาก และผมคิดว่าคนนอกไม่สามารถเข้าใจ" ยามางูจิ กล่าวกับ AFP 

เช่นกันสำหรับ เคซูเกะ คามิคาวะ ที่เข้ามาอยู่ในโลกของซูโม่ตั้งแต่อายุ 15 ปี เขามาไกลจากฮอกไกโดและต้องเลิกเล่นตอนอายุ 33 ปีหลังพัวพันกับคดีล็อกผลอันอื้อฉาวในเดือนกุมภาพันธ์ 2011 จากการบีบของสมาคมซูโม่อาชีพญี่ปุ่น แม้ว่าเขาจะยืนยันในความบริสุทธิ์ไปแล้วก็ตาม 

ปี 2012 หรือหนึ่งปีหลังจากออกจากวงการซูโม่ คามิคาวะได้ก่อตั้งบริษัท SumoPro ขึ้น ซึ่งเป็นบริษัทเอเจนซี่ที่คอยหาอดีตนักซูโม่ไปแสดงในวงการบันเทิง ตั้งแต่ละคร ภาพยนตร์ ไปจนถึงโฆษณา 

นอกจากนี้คามิคาวะยังได้เปิดศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งเจ้าหน้าที่ในศูนย์ก็คือเหล่าอดีตนักซูโม่ เนื่องจากหลายคนเคยมีประสบการณ์ที่ต้องคอยดูแลนักซูโม่ "เซคิโทริ" มาก่อน 

"มันแตกต่างจากโลกของซูโม่อย่างสิ้นเชิง แต่นักซูโม่อาชีพก็มีความเอาใจใส่และเป็นห่วงเป็นใยผู้อื่น" คามิคาวะ กล่าวกับ AFP 

หนึ่งในนั้นคือ ชุนจิ นาคาอิตะ อดีตนักซูโม่ที่เคยใช้เวลาหลายปีดูแล เทรุโนฟูจิ ฮารุโอะ แชมป์ซูโม่ชื่อดังระดับ "โยโคซึนะ"

"ผมต้องเตรียมอาหาร ถูหลังให้เขาตอนอาบน้ำ มันคล้ายกับการดูแลผู้สูงอายุ" นาคาอิตะ อธิบาย 

ขณะเดียวกันชายร่างใหญ่ใจดีเหล่านี้ยังได้รับความนิยมในหมู่คนชราเนื่องจากความเอาใจใส่ แถมบางครั้งยังสามารถเป็นเพื่อนคุยคลายเหงาให้แก่พวกเขาได้อีกด้วย   

"พวกเขาแข็งแรงมาก ๆ อยู่ด้วยแล้วรู้สึกอุ่นใจ และพวกเขาก็สุภาพมากอีกด้วย" มิตสึโตชิ อิโต วัย 70 ปี ที่ชอบคุยเรื่องซูโม่กับอดีตนักซูโม่ กล่าวกับ AFP 

 

ไม่ได้จำกัดแค่อาชีพเดียว 

นอกจากการก่อตั้งบริษัทเพื่อนักซูโม่แล้ว คามิคาวะยังได้จัดกลุ่มพูดคุยเพื่อให้คำแนะนำและชี้แนะเส้นทางชีวิตหลังเลิกเล่นให้แก่เหล่านักซูโม่ รวมไปถึงครอบครัวของพวกเขา

"ซูโม่เป็นโลกที่คุณต้องพร้อมที่จะเอาชีวิตไปเสี่ยงอันตรายเพื่อชัยชนะในการแข่งขัน" ฮิเดโอะ อิโต นักฝังเข็มที่ทำงานกับนักซูโม่มาเกือบ 20 ปี กล่าวกับ AFP 

"สำหรับนักซูโม่ที่ทุ่มเทเหล่านี้ การคิดถึงอนาคตดูเหมือนจะเป็นจุดอ่อนในการปกป้องชีวิตของพวกเขา" 

คามิคาวะบอกว่าเขายังมีอีกภารกิจที่ต้องทำให้ได้ไม่แพ้กัน นั่นการให้บทเรียนแก่เหล่านักซูโม่ว่าโลกของซูโม่และโลกภายนอก มีความแตกต่างกันมาก และอาจจะต้องเตรียมใจในการเผชิญหน้ากับมัน 

"บางคนได้งานแต่ลาออกเนื่องจากมันไม่เหมือนกับที่พวกเขาคิดไว้" คามิคาวะ กล่าวกับ Asahi Shinmbun

"ในแง่หนึ่งนักซูโม่ที่เกษียณอายุต้องเผชิญกับความยากลำบากในการรับมือมากกว่าเด็กมัธยมปลายที่เพิ่งเรียนจบเสียอีก พวกเขาเป็นพวกหน้าใหม่ในโลกแห่งความจริง เพราะพวกเขาเคยอยู่ในวงการซูโม่มาก่อน"

แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการเปิดโอกาสให้พวกเขาได้มีอาชีพที่มากไปกว่าการเปิดร้านหม้อไฟ ซึ่งเป็นอาชีพที่เป็นภาพจำของนักซูโม่เกษียณอายุ เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะมีทุนทรัพย์สำหรับการเปิดกิจการได้ 

มันเป็นการช่วยทำให้พวกเขาไม่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง จนกลายเป็นคนที่หล่นหายไปในสังคมเหมือนที่ผ่านมา 

"ผมหวังว่าอย่างน้อยมันน่าจะมีมากกว่าหนึ่งตัวเลือกสำหรับนักซูโม่ รวมถึงโอกาสอื่น ๆ สำหรับพวกเขาที่จะคิดว่าสามารถทำอะไรได้บ้าง" คามิคาวะ กล่าวกับ Asahi Shimbun

"การทำร้านหม้อไฟจังโกะ (จังโกะนาเบะ) ไม่ได้เป็นสิ่งเดียวที่พวกเขาทำได้ ผมหวังว่ามันจะพลิกภาพจำของริคิชิที่ลงเอยด้วยการทำร้านหม้อไฟจังโกะมาตลอด"

 

แหล่งอ้างอิง
 
https://newsrebeat.com/sports/19539.html 
https://www.uniquejapantours.com/10-most-popular-sports-in-japan/ 
https://www.france24.com/en/live-news/20220429-life-after-sumo-retired-wrestlers-fight-for-new-careers 
https://www.asahi.com/sp/ajw/articles/14520537 
https://youtu.be/HTQj5KKVv0c 
https://twitter.com/afp/status/1519908660553850880?s=21&t=yuba8oO6LsBW-wCpc8ioAA 

Author

มฤคย์ ตันนิยม

ลีดส์ ยูไนเต็ด, ญี่ปุ่น, มังงะ

Photo

ปฐวี ยอดเนียม

ชื่นชอบกีฬาฟุตบอล แต่ตอนนี้หลงไหล " ว่าย ปั่น วิ่ง "

Graphic

อภิสิทธิ์ โชติพิบูลย์ทรัพย์

Art Director ผู้รับเหมางานภาพกราฟิกหน้าปกบทความทุกชิ้น