Feature

ทำไมต้องรอหลายปี ? : เบื้องหลัง 1 ไฟต์ 400 ล้านเหรียญของ ฟลอยด์ vs ปาเกียว | Main Stand

หากไม่นับ "มันนี่ไฟต์" ระหว่าง ฟลอยด์ เมย์เวทเธอร์ จูเนียร์ กับยอดนักสู้ MMA อย่าง คอเนอร์ แม็คเกรเกอร์ ที่จัดขึ้นมาเพื่อความบันเทิงและโกยเงินล้วน ๆ เมื่อปี 2017 ก็คงมีเพียงไฟต์เดียวเท่านั้นในยุค 20 ปีหลังสุดที่แทบจะทุกคนบนโลกนี้ต้องให้ความสนใจ แม้จะไม่ใช่คอหมัดมวยก็ตาม


 

ไฟต์ระหว่าง 2 นักมวยที่ดีที่สุดของโลกอย่าง ฟลอยด์ เมย์เวทเธอร์ จูเนียร์ ปะทะกับ แมนนี่ ปาเกียว เกิดขึ้นในปี 2015 ณ MGM แกรนด์ อารีน่า นครลาสเวกัส ที่มีความจุราว 17,000 คน แต่เมื่อเอาเข้าจริงในช่วงการขายบัตรเข้าชมให้กับประชาชนทั่วไป กลับเหลือตั๋วเพียง 500 ใบเท่านั้น ... ว่ากันว่าอีก 16,500 ใบถูกจับจองโดยเหล่าคนมีอันจะกินและแขก VIP ทั้งหลายจากทั่วโลกก่อนหน้าแล้ว  

มันคือไฟต์ที่มีความหมายยิ่งกว่ารายได้จากค่าตั๋วและเงินรางวัลต่าง ๆ และนี่คือเหตุผลที่ว่าต่อให้คุณมีเงินก็ใช่ว่าจะได้สิทธิ์เข้าไปชมไฟต์ประวัติศาสตร์คราวนั้น

หากเป็นมวยวัดแค่มองหน้าก็ซัดกันได้ ... แต่เมื่อเป็นไฟต์ระหว่าง 2 นักมวยที่ดีที่สุดของโลก ทุกอย่างจึงต้อง ลึก ลับ ซับซ้อน และมีเบื้องหลังมากมาย ชนิดที่ว่าท้าชกกันตั้งแต่วัยหนุ่มแล้วมาต่อยกันจริงตอนแก่เลยทีเดียว

 

ชกจบโลกไม่จบ

อย่างแรกเลยหากว่าคุณยังไม่รู้ หรือหลงลืมไป นี่คือไฟต์ที่เสียงของคอมวยแตกเป็นสองฝั่ง ปาเกียว ในเวอร์ชั่นที่ร้างสังเวียนเป็นระยะ ๆ เพราะหันไปเล่นการเมืองในบ้านเกิดที่ฟิลิปปินส์ แสดงออกให้เห็นว่าเขาสู้แค่ไหน "เดอะ แพ็คแมน" ออกหมัดเป็นพายุ เข้าเป้าบ้างไม่เข้าเป้าบ้าง แต่ก็ได้ใจคนดูไปเต็ม ๆ เขาชกได้สมศักดิ์ศรีดั่งที่เคยกล่าวไว้ก่อนขึ้นเวทีว่า "ผมจะสู้เพื่อคนฟิลิปปินส์"

ขณะที่ ฟลอยด์ ในวัย 38 ปี เป็นเเชมป์โลก 5 รุ่นเรียกได้ว่าเดินไปถือเข็มขัดขึ้นเวทีเองไม่ได้ เขามีโคตรสถิติติดตัวนั่นคือ "ไร้พ่าย" ตลอด 47 ไฟต์ที่ขึ้นชก (ก่อนเจอปาเกียว) ซึ่ง 26 ไฟต์ในนั้นเป็นการชนะน็อกเอาต์ แต่การขึ้นเวทีไฟต์นี้ของเขา กลับเป็นการชกในรูปแบบของมวยบ็อกเซอร์ "ฟุตเวิร์ค, บล็อค และ ชกกลับ" คือภาพที่แฟนมวยได้เห็นจาก "เดอะ มันนี่" ในแมตช์ดังกล่าวเมื่อปี 2015

บางครั้งความถูกใจก็ใช่ว่าจะถูกต้อง ปาเกียว ที่ออกหมัดมากกว่าชัดเจนหากกะเกณฑ์ด้วยสายตาคนดู กลับไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏบนกระดาษของเหล่ากรรมการผู้ให้คะแนนในวันนั้น

เพราะนับสถิติแล้ว การออกหมัดตลอดทั้ง 12 ยกของ ปาเกียว เข้าเป้าแค่ 81 จาก 429 ครั้ง คิดเป็น 19% ขณะที่ของ ฟลอยด์ เข้าเป้าไป 148 ครั้ง จาก 435 ครั้ง คิดเป็น 34% จนเป็นเป็นเหตุให้ เดอะ มันนี่ คือผู้ชนะไปในค่ำคืนดังกล่าว ... ความน่าสนใจคือ จากตัวเลขที่เห็นนั้น ฟลอยด์ ออกหมัดมากกว่าเสียด้วยซ้ำ

สิ่งที่ไม่จบตามคำตัดสินคือคำถกเถียง ว่าจริง ๆ แล้วไฟต์นี้เป็นมวยธุรกิจ ตั้งเป้าผลการเเข่งขันไว้อยู่แล้วและตุ๋นคนดูหรือไม่ หลากหลายสำนักข่าวและแวดวงคอมวยต่างคิดไปในทิศทางนั้นเสียส่วนใหญ่ แม้ 12 ยกจะจบลงไปในเวลาเพียงชั่วครู่หากเทียบกับเวลาที่โลกรอคอย ถึงจะขัดใจใครก็ตาม แต่นี่แหละคือสิ่งที่ผู้อยู่เบื้องหลังไฟต์นี้ต้องการ และเรื่องราวต่อจากนี้ไปคือความสำเร็จอันหอมหวานในการเล่นกับเวลาและความรู้สึก

 

วงการมวยเข้าสู่ยุคใหม่

เมื่อ 10-20 ปีก่อนสมัยที่มวยเฮฟวี่เวตครองโลก แฟนหมัดมวยคงจำกันได้ดีว่ายุคนั้นมีมวยดีมวยดังให้ดูแทบทุกปี อาจจะบอกได้ไม่เต็มปากว่าพวกเขาสนใจศักดิ์ศรีมากกว่าเงิน เพราะแต่ละไฟต์ของนักชกอย่าง ไมค์ ไทสัน, อีแวนเดอร์ โฮลีฟิลด์ หรือ เลนน็อกซ์ ลูอิส ต่างก็ทำเงินไม่น้อย เพียงแต่ว่าพวกเขาเหล่านี้ไม่กลัวที่จะเปลืองตัว พวกเขาพร้อมชกกับคนที่อยากจะชก

อีแวนเดอร์ โฮลิฟิลด์ เป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับเรื่องนี้ เพราะเขาเจอกับไฟต์หิน ๆ มากที่สุดเท่าที่เคยมีมา เขาชกกับ ริดดิก โบว์  3 ไฟต์, เลนน็อกซ์ ลูอิส 2 ไฟต์, ไมเคิล มูเรอร์ 2 ไฟต์ และ ไมค์ ไทสัน 2 ไฟต์ นั่นคือเหตุผลที่ทำไมเขาไม่มีสถิติไร้พ่ายเหมือนกับ ฟลอยด์

ขณะที่ ฟลอยด์ ทำให้วงการมวยเข้าสู่ยุคใหม่เต็มตัว เขาก้าวไปอีกขั้น แต่ละไฟต์แต่ละยกผ่านการคิดวิเคราะห์มาเป็นอย่างดี ขึ้นชกเเล้วคุ้มเงินไหม ? มีโอกาสเสียเข็มขัดเเชมป์หรือไม่ ? และเหนือสิ่งอื่นใด เขาคงไม่อยากจะเสียสถิติไร้พ่ายที่ทำให้เขากลายเป็นชายผู้ยืนอยู่บนจุดสูงสุดของโลกแห่งหมัดมวยจนถึงตอนนี้ และหากจะถามว่าไฟต์ล่าสุดที่ฟลอยด์แพ้เกิดขึ้นเมื่อไหร่ ตอบง่าย ๆ ก็คือ ไฟต์นั้นทำให้เขาไม่ได้ไปชิงเหรียญทองมวยสากลสมัครเล่นโอลิมปิก 1996 กับ สมรักษ์ คำสิงห์ ฮีโร่เหรียญทองโอลิมปิกคนแรกของไทยละกัน

จริง ๆ แล้วการ "เล็ง" ที่จะจัดไฟต์ระหว่าง ฟลอยด์ กับ ปาเกียว มีมานานเเล้ว ครั้งแรกในปี 2009 ณ ตอนนั้นปาเกียวถูกขนานนามว่านักชกที่ดีที่สุดเมื่อเทียบกันปอนด์ต่อปอนด์ ทั้งสองฝั่งนั่งคุยกันเพื่อแบ่งเค้กผลประโยชน์และเงินก้อนโต สุดท้ายก็คุยกันไม่รู้เรื่อง ดรีมไฟต์จึงไม่เกิดขึ้น   

เราไม่รู้ว่าพวกเขาคุยอะไรกันเป็นการส่วนตัว แต่เมื่อการเจรจาล้มเหลว ก็มีการพูดออกมาพาดพิงกันต่าง ๆ นานา ฝั่ง ฟลอยด์ เรียกร้องให้ ปาเกียว ตรวจสารกระตุ้นตามระบบของ USADA ซึ่งจะมีการสุ่มตรวจโด๊ปแบบรู้ตัวอีกทีก็วันนั้นแหละต้องตรวจ ยิ่งไปกว่านั้น พวกเขายังสามารถขอเจาะเลือดได้ถึงวันชั่งน้ำหนัก ซึ่งก็คือก่อนไฟต์จริง 1 วัน แต่ฝั่ง ปาเกียว ไม่เห็นด้วยกับวิธีนี้และไม่อยากทำอะไรให้หลุดจากสิ่งที่วางแผนไว้ในช่วงของการฝึกซ้อมที่เข้มข้นที่สุด โดย เฟรดดี้ โรช โค้ชคู่บุญ ต้องการให้ตรวจโด๊ปแล้วเสร็จ 72 ชั่วโมงก่อนขึ้นชก และยืนยันว่าเมื่อถึงวันขึ้นชกเขาพร้อมที่จะแสดงความขาวสะอาดครั้งนี้

"ผมกล้าพูดกับทุกคนได้เลยว่า ผมไม่ได้ใช้สารพวกสเตียรอยด์อะไรเลย และหนทางก้าวไปสู่จุดสุดยอดของผม คือผลจากการฝึกซ้อมอย่างหนัก การหลั่งเลือดจากแมตช์การชกบนสังเวียนตลอดที่ผ่านมา ไม่ใช่วิธีขี้โกงอะไรเลย ผมไม่รู้ด้วยว่า สเตียรอยด์ เป็นอย่างไร และความเกรงกลัวพระเจ้าของผมทำให้ผมปลอดภัย และคว้าชัยชนะตลอดหลายปีที่ผ่านมา" ยอดมวยแดนตากาล็อกกล่าว

ขณะที่ บ็อบ อารัม โปรโมเตอร์ฝั่ง ปาเกียว ก็ขยายความเรื่องนี้แบบชัด ๆ ว่าทีมของเขาไม่เคยกลัวและรังเกียจที่จะตรวจโด๊ป เพียงแต่ว่าข้อเรียกร้องครั้งนี้เกิดจากการวางแผนของฝั่งฟลอยด์ ที่พยายามจะรบกวนการฝึกซ้อมของปาเกียวต่างหาก

ทุกเรื่องก็เป็นไปตามนี้ ปาเกียว ในเวอร์ชั่นที่ดีที่สุด ไม่ได้ขึ้นชกกับฟลอยด์ ... ทว่านี่ไม่ใช่ความพยายามครั้งแรก

ครั้งที่ 2 ของการขอท้าชิงวนมาถึงในอีก 1 ปีต่อมา บ็อบ อารัม ให้ข่าวใหญ่ในปลายปี 2010 ว่า หนนี้เขาและทีมพร้อมเเล้วที่จะท้าดวลกับฟลอยด์ อีกครั้ง หนนี้พวกเขายอมให้ตรวจเลือดปาเกียวก่อนชก 14 วัน แต่สิ่งที่ ฟลอยด์ ตอบกลับคือ "ไม่เอา ปลายปี 2010 จะเป็นช่วงที่ผมพักผ่อน ... ไม่แน่นะเราอาจจะได้เจอกันในปี 2011"

ฝั่งฟลอยด์ยืนกราน ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากครั้งแรก ขณะที่ฝั่งปาเกียวคงได้แต่คับอกคับใจ การปฎิเสธตรวจสารกระตุ้นปี 2009 ทำให้ไฟต์นี้เป็นจริงยากขึ้นหลายเท่านั้น  แม้จะผลักดันยั่วยุปลุกปั่นอย่างไรก็ไม่มีทีท่าว่า ฟลอยด์ จะเอาด้วยง่ายๆ

"ไม่มีอะไรต้องสงสัยอีกเเล้ว เราโคตรพร้อม เหลืออย่างเดียวคือ เมย์เวทเธอร์ ยินดีจะขึ้นชกหรือเปล่า ... ถ้าเขาเซย์เยส เราพร้อมทุกเมื่อ" อารัม ให้สัมภาษณ์กับสื่อ ฟิลิปปินส์  

เมื่อเล่นด้วยการท้าทายไม่เป็นผล อีกไม่กี่เดือนต่อมาฝั่งปาเกียวมาอีกครั้งในรูปแบบ ยอมตามเกมของ ฟลอยด์ เขายกเลิกการเรียกร้องค่าเสียหายจาก เมย์เวทเธอร์ ข้อหาหมิ่นประมาท จากที่พูดเป็นเชิงว่า เขาเคยใช้สารกระตุ้น ขณะที่ทางฝั่งฟลอยด์ตอบกลับว่า "ยินดีเป็นอย่างยิ่ง" เพียงเท่านี้คอมวยทั่งโลกก็เต้นผาง ถึงเวลาที่ไฟต์หยุดโลกจะได้เริ่มเสียที มีข่าวหลายสำนักโดยเฉพาะ HBO หลุดมาว่างานนี้มาแน่ แต่จนเเล้วจนรอดฝั่ง ฟลอยด์ ก็ดับเทียนดังฟู่ บอกว่าไม่มีการเจรจาใด ๆ ทั้งสิ้น

คราวนี้ก็งงสิครับ ใครพูดจริงใครโกหกกันแน่ ทั้งสองฝ่ายต่างก็บอกเล่าในมุมมองของตัวเองจนถึงขั้นมีการท้าเข้าเครื่องจับเท็จมั่วซั่วพอดู หลากหลายข่าวหลากหลายบทความแต่ผลลัพธ์ไม่ต่างไปเลยจาก 1 ปีที่เเล้ว

เรื่องทั้งหมดเป็นอะไรที่พาเซ็งกันไปหมด ไม่เว้นแม้แต่ ออสการ์ เดอ ลา โฮย่า ที่บอกกับสื่อเกี่ยวกับบทละครในแมตช์ดังกล่าวว่า "เอ่อ ผมว่าผมต้องพูดอะไรบ้างละนะ ผมโดนถามข่าวนี้มาก็ไม่น้อย ผมเบื่อและเหนื่อยมากที่บอกว่ามัน 'อาจจะ' เกิดขึ้น  แต่เอาเข้าจริงพวกเขาคุยอะไรกัน ไม่เห็นมีความคืบหน้าเลยสักนิด"

การยกเลิกไฟต์เมื่อปี 2009 และ 2010 คาบเกี่ยว 2011 นอกจากจะมีเรื่องเงินมาเกี่ยวข้องแล้ว ฝั่งตัวแทนของ ฟลอยด์ ยังเดินเกมอย่างยอดเยี่ยม เขาไม่อยากให้นักชกของเขาแพ้ ... จริงอยู่ที่ ฟลอยด์ ยอดเยี่ยมไม่เป็นสองรองใคร แต่ปาเกียวในช่วงเวลาดังกล่าว คือเครื่องจักรหมัดชุด หากทั้งคู่ขึ้นชกกันอะไรก็เกิดขึ้นได้ทั้งนั้น ดังนั้นการไม่ชกก็ถือว่าไม่ได้เสียหายเพราะ ฟลอยด์ เองก็ลดความเสี่ยงที่จะเป็นผู้แพ้ไปในตัวด้วยเช่นกัน

 

สมควรแก่เวลา โลกไม่ได้ตื่นเต้นมานานแล้ว

ในวันที่กระแสมวยคู่หยุดโลกเริ่มซาลง ก็เป็นช่วงเวลาที่เรียกกระแสได้ดี ฝั่งตัวแทนของฟลอยด์และปาเกียวมาเจอกันอีกครั้งในปลายปี 2014 หรือหลังจากการเจรจาครั้งแรก 5 ปี หนนี้ทุกอย่างสะดวกโยธินไร้ปัญหาราบรื่นอย่างไม่น่าเชื่อ ฟลอยด์ และ ปาเกียว เริ่มต้นทีเซอร์ด้วยการไปชมเกมบาสเกตบอล NBA คู่ระหว่าง ไมอามี ฮีต พบ มิลวอกี บัคส์ ด้วยกัน และอีกไม่กี่วันหลังจากนั้น เมย์เวทเธอร์ก็โพสต์รูปสัญญาที่มีลายเซ็นของทั้งคู่เรียบร้อยในโซเชี่ยลมีเดียกับแคปชั่น "เมื่อทั้งโลกรอกันนักก็จัดให้ ฟลอยด์ ปะทะ ปาเกียว 2 พฤษภาคม 2015 อย่าพลาดเด็ดขาด"

แค่พาดหัวแบบนี้กระแสก็กลับมาอีกครั้ง ...

แม้จะมีเสียงถามถึงมวยคู่นี้อยู่เนืองๆ แต่ถามว่ามันจะเข้มข้นไหมหากได้ต่อยกันอีกครั้ง คำตอบก็อยู่ในสถิติต่าง ๆ ที่เราจะพูดถึงต่อไปนี้...

ปาเกียว อาจจะยังเก่งแต่ก็ถดถอยลงเยอะ วัดจากอายุเอาก็ได้ง่ายดี ก่อนขึ้นชกไฟต์ดังกล่าวเขาอายุย่าง 37 ปีเข้าให้แล้ว แถมความเก่งก็ลดลงไป 5 ไฟต์หลังสุดในรอบ 3 ปีหลังก่อนเจอฟลอยด์ เขาแพ้ไปถึง 2 ไฟต์ วัดกันง่าย ๆ และเป็นรูปธรรมก็คือรางวัลต่าง ๆ อย่างเช่นนักมวยยอดเยี่ยมของนิตยสาร RING, BWAA (สมาคมผู้สื่อข่าวกีฬามวยสหรัฐอเมริกา) และ ESPY (นักกีฬายอดเยี่ยมแห่งปีของ ESPN) รวมถึงรางวัลที่สถาบันต่าง ๆ แจกให้เขาสารพัดชื่อ เท่ากับว่าเขาได้มาครองเกิน 20 รางวัล แต่ส่วนใหญ่เกิดขึ้นก่อนปี 2011 ที่ ปาเกียว เริ่มต้นเส้นทางนักการเมืองอีกอาชีพ แบบนี้พอจะบอกว่าเขาโรยราลงบ้างได้หรือไม่ ?

ขณะที่ ฟลอยด์ แม้จะอายุมากกว่า แต่ช่วง 3 ปี ก่อนหน้าที่จะเจอกัน เขาก็ขึ้นชกทั้งหมด 5 ไฟต์เช่นกัน และแต่ไฟต์เจอแต่ของเเข็ง ๆ ทั้งนั้น (มิเกล ค็อตโต้, โรเบิร์ต เกร์เรโร, คาเนโล อัลวาเรซ และ คาร์ลอส ไมดานา อีก 2 ครั้ง) ซึ่งหากจะวัดเรื่องความหนักแล้ว ณ ตอนนั้นเหนือกว่าแน่ นั่นหมายถึงว่าโอกาสเอาชนะและยืดสถิติไร้พ่ายของตัวเองก็เพิ่มเป็นเงาตามตัว

การชกไฟต์นี้ได้ชื่อว่า Fight of the Century หรือ ไฟต์แห่งศตวรรษ มีรายงานว่ามูลค่าของไฟต์นี้สูงถึง 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (12,000 ล้านบาทโดยประมาณ) โดยฟลอยด์จะได้ส่วนเเบ่ง 60% ขณะที่ ปาเกียวได้ 40% ... นี่หรือเปล่าที่เขาเรียกกันว่าวิน ๆ กันทั้งสองฝ่าย ?

ทุกอย่างในไฟต์นี้เป็นเงินเป็นทองทั้งหมด ตั๋วถูกขายเกลี้ยงในเวลาแค่ 1 นาทีหลังเปิดจอง ว่ากันว่าตั๋วผียังมีราคาสูงถึง 200,000 ดอลลาร์สหรัฐเลยทีเดียว นอกจากนี้ยังมีสถิติผู้ชมถ่ายทอดสดทั่วโลกกว่า 500 ล้านคน

ทุกอย่างเป็นใจทั้งหมด เงินได้, แรงถึง, กระแสแรง และจังหวะดีเพราะไม่มีมวยศึกใหญ่ให้โลกสะเทือนมานานเเล้ว เรื่องราวทั้งหมดรวมกันจนที่สุดเเล้ว Fight of the Century ก็ถือกำเนิดเหมือนที่เราได้กล่าวไว้ในข้างต้น

 

สมองและสายตาของ "ฟลอยด์"

ทุกคนรู้จักโปรโมเตอร์คนจัดมวยชื่อดังอย่าง ดอน คิง เพราะเขาเคยเขย่าโลกแห่งหมัดมวยด้วยนักชกระดับเฮฟวี่เวต เมื่อ 20 ปีก่อน แต่ศตวรรษที่ 21 มีโปรโมเตอร์มวยที่คอยเชิดและกำกับแต่ละไฟต์ให้เป็นไปตามที่เขากำหนด เขาเหมือนพ่อมดที่หลบอยู่หลังฉาก ไม่ออกสื่อ ไม่ให้สัมภาษณ์ และนอนอยู่บนกองเงินกองทองแบบเงียบ ๆ ... แต่เฉียบจริง ๆ ชื่อของเขาคือ อัล เฮย์มอน

เฮย์มอน เป็นตัวแทน, ที่ปรึกษา, คนใกล้ตัว และอื่นๆ อีกมากมาย ของ ฟลอยด์ หาก เมย์เวทเธอร์ เป็นแขนขาเขาก็เป็นเหมือนสมองและสายตาที่คอยระแวดระวังและสั่งการ เฮย์มอน ทำให้ ฟลอยด์ เปลี่ยนกีฬาชกมวยให้กลายเป็นธุรกิจชกมวยด้วยการเลือกคนที่เขาอยากจะชกด้วยตัวเอง ว่ากันมาว่าในไฟต์แห่งศตวรรษ เฮย์มอน ได้เงินคนเดียวแบบเงียบ ๆ ถึง 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐเลยทีเดียว

เขามีนักมวยชื่อดังในสังกัดถึง 150 คน และไปไกลกว่าคำว่าเอเยนต์ เพราะเป็นทั้งนายหน้าด้านการถ่ายทอดสดกีฬาให้กับสถานีโทรทัศน์ต่าง ๆ ว่ากันว่าเขายังได้รับการสนับสนุนจาก Waddell and Reed บริษัทบริหารสินทรัพย์ที่มีชื่อเสียงด้วยเงินถึง 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐอีกด้วย

เฮย์มอน มีความสำคัญกับทุก ๆ ส่วนในไฟต์นี้ เริ่มตั้งแต่การเซ็นสัญญาข้อตกลง ส่วนแบ่งการถ่ายทอดสด ตลอดจน วัน เดือน ปี ที่ทั้ง ฟลอยด์ และ ปาเกียว จะได้ดวลกัน ดีเดย์ที่ทั้ง 2 คนกว่าจะได้ต่อยกันก็ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องความฟิต, สารกระตุ้น, และอรรถรสของคนดูเลยแม้แต่น้อย เฮย์มอน มีเป้าหมายที่ชัดเจนและเถรตรงอย่างที่สุดนั่นคือ "ฟันกำไร"

"เป้าหมายของ อัล เฮย์มอน ไม่ใช่การช่วยเหลือกีฬาแน่นอน ประเด็นที่เขาสนใจคือไฟต์ไหนจะสร้างรายได้ให้กับกลุ่มทุนและตัวเขาต่างหาก" นี่คือคำพูดของ มาร์ค ลาซารัส ประธานของ NBC สปอร์ตกรุ๊ป ผู้ดูเเลเรื่องการถ่ายทอดสดที่ยอมซูฮก (ผสมเหน็บแนม) ของคนเบื้องหลังผู้ร่ำรวยคนนี้

"พูดไปยังขนลุก ผมรู้สึกเหมือนกับตัวเองพูดถึงพ่อมดออซอยู่เลยนะเนี่ย" แม้จะปิดประโยคด้วยถ้อยคำดูตลก แต่ก็เป็นตลกร้ายที่ชายคนหนึ่งจะกลายเป็นต้นตอที่ทำให้คนทั้งโลกต้องรอเป็นเกือบ 10 ปี เพื่อดูมวยเพียงคู่เดียว

เฮย์มอน คือคนที่คู่แข่งยังยอมแพ้ แม้แต่โปรโมเตอร์ของ ปาเกียว ยังยอมรับถึงเรื่องนี้   

"สำหรับผมเเล้วมีคนอยู่เบื้องหลังเรื่องนี้ ... อัล เฮย์มอน ชายผู้ชักใยและถือนาฬิกาเอาไว้ในมือ"  

บนเรื่องราวความลึกลับซับซ้อนของโลกแห่งหมัดมวย ล้วนมีเหตุผลทั้งสิ้น ... ไม่อยากเห็นด้วยก็คงไม่ได้เเล้วล่ะ

 

แหล่งอ้างอิง

http://www.espn.com/sports/boxing/news/story?id=4783321
https://www.sbnation.com/2015/4/29/8504023/pacquiao-vs-mayweather-2015-fight-timeline
https://www.washingtonpost.com/news/early-lead/wp/2015/02/20/floyd-mayweather-and-manny-pacquiao-sign-contract-to-fight-on-may-2/?utm_term=.5f29a5dc527c
https://www.washingtonpost.com/sports/boxing-mma-wrestling/boxings-man-of-mystery/2015/04/28/2a2f5570-edf8-11e4-8abc-d6aa3bad79dd_story.html?utm_term=.df8e0ffbb5ae
https://en.wikipedia.org/wiki/Floyd_Mayweather_Jr._vs._Manny_Pacquiao
https://en.wikipedia.org/wiki/Floyd_Mayweather_Jr.

Author

เจษฎา บุญประสม

Content Creator ผู้ชื่นชอบการกิน, ท่องเที่ยว และดูกีฬาแทบทุกประเภท โดยเฉพาะฟุตบอล, อเมริกันเกมส์, มอเตอร์สปอร์ต, อีสปอร์ต

Graphic

อภิสิทธิ์ โชติพิบูลย์ทรัพย์

Art Director ผู้รับเหมางานภาพกราฟิกหน้าปกบทความทุกชิ้น