เสือสองตัวอยู่ถ้ำเดียวกันไม่ได้ฉันใด อีสต์ เบงกอล กับ โมฮัน บากัน ก็อยู่ร่วมกันไม่ได้ฉันนั้น พบกับเรื่องราวของสองทีมที่มีที่ตั้งห่างกันไม่ถึง 10 กิโลฯ แต่กลับแตกต่างกันอย่างสุดขั้ว
“ชาติหน้า ผมจะกลับมาล้างแค้นด้วยการเป็นนักเตะของโมฮัน บากัน”
ข้อความสุดท้ายของอุมากันตา พาลาธี แฟนบอลเดนตายของ โมฮัน บากัน ที่ทิ้งเอาไว้ ก่อนตัดสินใจปลิดชีวิตตัวเองลงอย่างสุดช็อค หลังทีมรักพ่ายต่อ อีสต์ เบงกอล ในศึกไอเอฟเอชิลด์ อย่างมโหฬาร 5-0 ปี 1975 สร้างความเศร้าใจให้แก่วงการฟุตบอลอินเดียในตอนนั้นไม่น้อย
นี้ไม่ใช่ครั้งสุดท้ายที่เกิดความสูญเสียขึ้นในศึก “โบโร” (แปลว่ายิ่งใหญ่ในภาษาเบงกาลี) ดาร์บี้แมตช์ ระหว่าง โมฮัน และ อีสต์ เบงกอล เมื่อในปี 1980 มีแฟนบอล 16 คนต้องสังเวยชีวิตในเกมดาร์บี้แมตช์ และอีกหนึ่งคนจากการหัวใจวายในสนามในปี 2009
อะไรที่ทำให้การพบกันของทั้งสองทีม ที่มีฐานที่มั่นอยู่ห่างกันไม่ถึง 10 กิโลเมตร มีความดุเดือดเลือดพล่าน จนถึงขั้นติดอยู่ในลิสต์ ดาร์บี คลาสสิคของฟีฟ่า ได้มากขนาดนี้ Main Stand จะไขคำตอบให้ได้รู้กัน
สองทีมยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์
ในพื้นที่อันกว้างใหญ่ไพศาลที่มีทีมฟุตบอลกระจายอยู่ทั่วประเทศ โกลกาตา (ชื่อเดิมกัลกัตตา) เมืองเอกของรัฐเบงกอลตะวันตก มีสองทีมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในฟุตบอลอินเดียอยู่ในเมืองแห่งนี้
โมฮัน บากัน สโมสรที่เก่าแก่ที่สุดของอินเดีย พวกเขาก่อตั้งขึ้นในปี 1889 และเป็นเจ้าของสถิติแชมป์ ไอเอฟเอ ชิลด์ 22 สมัย, โกลกาตา ฟุตบอลลีก 30 สมัย, ไอลีก 1 สมัย, เนชันแนล ฟุตบอลลีก 3 สมัย, เฟดเดอเรชั่นคัพ (เอฟเอคัพ) 14 สมัย, อินเดีย ซูเปอร์คัพ 2 ครั้ง และ เคยผ่านไปเล่นถึงรอบ 16 ทีมสุดท้ายในทัวร์นาเมนต์ระดับทวีปอย่าง เอเอฟซี คัพมาแล้ว
ในขณะที่ อีสต์ เบงกอล ที่แม้จะกำเนิดหลังจากคู่แค้นร่วมเมืองถึงเกือบ 30 ปี แต่ก็ทำผลงานได้ไม่น้อยหน้า พวกเขาสามารถคว้าแชมป์ไอเอฟเอ ชิลด์มาครองได้ถึง 29 ครั้ง มากที่สุดในประวัติศาสต์อินเดีย พ่วงด้วยแชมป์โกลกาตา ฟุตบอลลีกอีก 39 สมัย, เนชันแนล ฟุตบอลลีก 3 สมัย, เฟดเดอเรชั่นคัพ (เอฟเอคัพ) 8 สมัย และ อินเดีย ซูเปอร์คัพ 3 ครั้ง
ด้วยศักดิ์ศรีที่ค้ำคอของทั้งสองทีม ทำให้การพบกันของทั้งคู่เต็มไปด้วยความดุเดือดเลือดพล่าน ชนิดไม่มีใครยอมใคร แต่นอกเหนือจากเรื่องในสนามนั้น ความขัดแย้งนอกสนามก็เข้มข้นไม่แพ้กัน
จุดเริ่มต้นความขัดแย้ง
เช่นเดียวกับประเทศที่ถูกปกครองด้วยอังกฤษ อินเดียรู้จักฟุตบอลจากการเผยแพร่ของเจ้าอาณานิคม ตั้งแต่ช่วงปลายศตวรรษที่ 19 แม้ในช่วงแรก ฟุตบอลถูกจำกัดอยู่ในวงของชนชั้นสูงของอังกฤษ แต่หลังจากนั้นมันก็กลายเป็นที่รู้จักมากขึ้น หลังชัยครั้งประวัติศาสตร์ของ โมฮัน บากัน ต่อทีมของอังกฤษอย่าง อีสต์ ยอร์กเชียร์ เรจิเมนต์ ในปี 1911
นักฟุตบอลเท้าเปล่าทั้ง 11 คนของ โมฮัน ได้ต่อสู้กับผู้รุกรานอย่างสนุก ก่อนที่ท้ายที่สุด พวกเขาจะเอาชนะไปได้ 2-1 กลายเป็นทีมอินเดียทีมแรกที่เอาชนะทีมจากยุโรปได้สำเร็จ
ชัยชนะดังกล่าวยังสร้างแรงกระเพื่อมอย่างมหาศาลให้แก่สังคมเบงกาลี เพราะนอกจากผลแพ้ชนะแล้ว มันยังเป็นการจุดประกายในการเรียกร้องเอกราช รวมไปถึงทำให้ฟุตบอลในเมืองคึกคักขึ้น และมีทีมฟุตบอลของคนอินเดียเกิดขึ้นใหม่มากมาย
อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านั้นจนถึงปี 1911 โกลกาตา มีสถานะเป็นเมืองหลวงจากการแต่งตั้งของอังกฤษ ทำให้มีผู้คนจากฝั่งเบงกอลตะวันออกอพยพเข้ามาศึกษาต่อเป็นจำนวนมาก
ด้วยความที่เป็นคนซื่อๆไม่ทันคน ทำให้คนท้องถิ่นเรียกคนเหล่านั้นแบบตลกๆว่า “บังกัลส์” ซึ่งในพจนานุกรมภาษาเบงกาลีมีความหมายว่า “โง่” หรือ “ไร้สมอง” พวกเขาได้ฟังแล้วก็ไม่พอใจ จึงตอบโต้ด้วยการเรียกคนท้องถิ่นว่า Ghoti (อ่านว่า ฟิช) ล้อเลียนคนท้องถิ่นที่ใช้หม้อมากจนเกินไป
ความรู้สึกแตกต่างและขัดแย้งของสองเชื้อชาติเริ่มคุกกรุ่นตั้งแต่สมัยนั้น ก่อนที่มันจะบานปลายไปถึงสนามฟุตบอล ปี 1920 โจรันบากัน ที่มี ไซเลห์ โบเซ กองหลังตัวเก่งที่มีเชื้อสายผู้อพยพอยู่ในทีม มีคิวต้องดวลกับ โมฮัน บากัน ในการแข่งขัน Coochbehar Cup
ทว่าเกมนั้น โบเซ กลับไม่มีชื่อเป็น 11 ตัวจริงโดยไร้คำอธิบาย ทำให้ ซูเรช์ จันทรา เชาฮุรี รองประธานสโมสร โจรันบากัน ขอร้องผู้จัดการทีมส่งนักเตะคนนี้ลงสนาม แต่สุดท้ายก็ไม่เป็นผล ด้วยความคับแค้นใจ เชาฮูรี จึงตัดสินใจลาออกจากสโมสร พร้อมพา โบเซ ออกไปตั้งสโมสรใหม่ที่ชื่อว่า “อีสต์ เบงกอล”
หลังมีส่วนในความขัดแย้งจนก่อให้เกิด อีสต์ เบงกอล ขึ้นมา โมฮัน บากัน ได้กลายเป็นหนามยอกอกของพวกเขาในเวลาต่อมา เพราะในช่วงก่อตั้งทีมใหม่ แม้ว่าอีสต์ เบงกอล จะผ่านขึ้นไปเล่นในดิวิชั่น 1 ได้แล้วแต่การเลื่อนชั้นของพวกเขาก็ถูกระงับ เนื่องจากในลีกสูงสุดมีสโมสรอินเดียอยู่ครบสองทีมแล้วคือ โมฮัน และ อารยัน
ความคับแค้นใจของพวกเขาถูกเก็บไว้จนกระทั่งปี 1925 การพบกันครั้งแรกของทั้งทีมก็เกิดขึ้น อีสต์ เบงกอล มีโอกาสได้พบกับ โมฮัน ในโกลกาตา ฟุตบอลลีก และกลายเป็น อีสต์ เบงกอล ที่เป็นฝ่ายได้เฮ หลังเฉือนเอาชนะไปได้ 1-0 อย่างเหนือความคาดหมาย ทำให้นับตั้งแต่ตอนนั้น การดวลกันของทั้งคู่ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมเบงกาลีไปเป็นที่เรียบร้อย
การค่อยๆถอนกำลังของทหารอังกฤษในโกลกาตา ทำให้ทีมจากแดนผู้ดีเสื่อมกำลังลง สวนทางกับทีมท้องถิ่นที่เริ่มขึ้นมามีบทบาทมากขึ้น นั่นก็คือ โมฮัน และ โมฮัมเมดาน สปอร์ติง
อย่างไรก็ดี หลังการคว้าแชมป์โกลกาตาลีกของอีสต์ เบงกอล ในปี 1942 พวกเขาก็เริ่มสถาปณาตัวเองขึ้นมาเป็นทีมยักษ์ใหญ่ของลีก และการเป็นคู่ต่อกรสำคัญของ โมฮัน คู่แข่งร่วมเมืองอย่างเต็มตัว
แตกต่างตั้งแต่ราก
แม้จะมีที่ตั้งอยู่ในเมืองโกลกาตาเหมือนกัน และมีที่ตั้งของสนามที่ห่างกันไม่ถึง 10 กิโลเมตร แต่ โมฮัน และ อีสต์ เบงกอล กลับมีความแตกต่างกันอย่างสุดขั้ว
ย้อนกลับไปในปี 1947 หลัง อินเดีย ได้รับเอกราช เบงกอลก็ได้ถูกแบ่งออกเป็นสองฝั่งด้วยเส้นแบ่งเขตทางศาสนา เบงกอลตะวันตกที่เป็นคนส่วนใหญ่นับถือศาสนาฮินดูกลายเป็นของอินเดีย ในขณะที่เบงกอลตะวันออก ที่นับถือศาสนาอิสลาม ได้เป็นส่วนหนึ่งของปากีสถานตะวันออกที่ต่อมากลายเป็นประเทศบังคลาเทศ
การแบ่งแยกดังกล่าวได้ทำให้เกิดการอพยพครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์จากปากีสถานตะวันออกสู่เบงกอลตะวันตก โดยในปี 1950 มีผู้อพยพกว่าหนึ่งล้านคนเดินทางมาที่นี่ ด้วยผลดังกล่าวทำให้จำนวนประชากรเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด และก่อให้เกิดปัญหาทางสังคมตามมาอย่างมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขาดแคลนที่อยู่ ผู้อพยพจำนวนมากต้องนอนตามสถานีรถไฟ และข้างถนน ส่งผลให้เกิดความแออัดตามมา
ปัญหาระหว่าง “ชาวท้องถิ่น” กับ “ชาวต่างชาติ” เริ่มครุกรุ่นขึ้นตั้งแต่ตอนนั้น แม้ว่าชาวเบงกอลตะวันตก และตะวันออก จะมีความคล้ายคลึงในด้านเชื้อชาติ แต่ภาษา, ศาสนา และวัฒนธรรมของพวกเขาแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
“ภาษาของเราเหมือนกัน แต่ภาษาถิ่นต่างกัน การกินอาหารก็ต่างกัน ไลฟ์สไตล์ก็ต่างกัน ทุกสิ่งต่างกันหมดเลย” แฟนบอลอีสต์ เบงกอลให้สัมภาษณ์กับ Exhale Sports
การพบกันในสนามเริ่มทวีความเข้มข้นขึ้นไปอีก เมื่อผู้อพยพเลือกใช้ อีสต์ เบงกอล เป็นสัญลักษณ์สำหรับตัวตนของพวกเขา จากการที่ชื่อสโมสรเหมือนกับดินแดนบ้านเกิดที่พวกเขาจากมา อีสต์ เบงกอลจึงกลายเป็นความหวัง, แรงบันดาลใจ และความภาคภูมิใจของผู้อพยพในการต่อสู้กับการถูกกดขี่ข่มเหง
“ความรู้สึกของการดูถูกไม่ได้จำกัดแค่เพียงนักเตะ แต่ยังรวมไปถึงผู้คนที่อาศัยอยู่ในเมืองนี้ที่มาจาก อีสต์ เบงกอล” กัวธาม รอย เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ของอีสต์ เบงกอล กล่าวกับ Al Jazeera
ในขณะที่ โมฮัน บากัน ก็รู้สึกว่าพวกเขาถูกรุกรานจากผู้อพยพ จึงตอบโต้ด้วยการยึดถือว่าพวกเขาคือลูกหลาน “แท้” ของชาวโกลกาตา โดยมี โมฮัน บากัน เป็นสัญลักษณ์ของการมีอยู่ของพวกเขา
พวกเขายังมีวัฒนธรรมการเชียร์ฟุตบอลที่ต่างกันอย่างสุดขั้ว โดยแฟนบอลของ อีสต์ เบงกอล ได้รับการขึ้นชื่อว่าเป็นหัวรุนแรง และป่าเถื่อน ราวกับฮูลิแกน
“บรรพบุรุษของเราต้องละทิ้งบ้านเกิด และมาโกลกาตา พวกเขาไม่มีอะไรเลย” แฟนบอลอีสต์ เบงกอลกล่าวกับ Exhale Sports
“พวกเขาเริ่มต้นชีวิตด้วยความยากลำบากจากที่นี่ พวกเขาสร้างตัวเองขึ้นมา พวกเราจึงมีความดุดัน พวกเขาดุดันในการใช้ชีวิต และทีมของเรา อีสต์ เบงกอล ก็ดุดันในสนาม และเราก็มีกรรมพันธ์ของความดุดันจากบรรพบุรุษของเรา”
ในขณะที่ โมฮัน ที่มีความอนุรักษ์นิยม แฟนบอลของพวกเขาจะเชียร์บอลด้วยความสงบเรียบร้อย และมองว่าการกระทำของแฟนบอล อีสต์ เบงกอล นั้นโหดร้ายเกินจะรับได้ รวมถึงมองว่าคู่แข่งของพวกเขาไม่สามารถพูดได้เต็มปากว่าเป็นทีมของอินเดีย
“เราไม่ยกย่องวัฒนธรรมของฮูลิแกน นั่นคือสิ่งที่เราทำ เพื่อสิ่งนั้นเรายังคงไว้ซึ่งความเป็นผู้ดี เป้าหมายของเราคือเพื่อส่งสาส์น และไม่สร้างสถานการณ์ในสนาม” แฟนบอลโมฮันกล่าวกับ
“โมฮัน คือทีมของประเทศ แต่ อีสต์ เบงกอล นั้นไม่ใช่ พวกเขาเป็นทีมของประเทศได้ แต่ของประเทศบังคลาเทศ ไม่ใช่อินเดีย” แฟนบอลอีกคนของโมฮันเสริม Exhale Sports
นอกจากเรื่องในสนาม อาหารก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่แสดงให้เห็นความแตกต่างระหว่างสองกลุ่มนี้อย่างชัดเจน ทั้งสองทีมต่างมีอาหารที่ไว้รับประทานตอนได้รับชัยชนะในเกมดาร์บีแมตช์ โดยฝั่งโมฮัน คือแกงกระหรี่กุ้ง Chingdi หรือ ล็อบเตอร์ ตรงกันข้ามหาก อีสต์ เบงกอล ได้รับชัยชนะ พวกเขาจะกินปลาตะลุมพุกฮิลซาที่มีมากในอ่าวเบงกอลของบังคลาเทศเพื่อฉลองชัย
ว่ากันว่าหากทีมใดทีมหนึ่งชนะ ราคากุ้งและปลาที่เป็นอาหารของทั้งสองทีมจะถีบตัวสูงขึ้นไปด้วย ยิ่งไปกว่านั้น ก่อนการแข่งขันแต่ละทีมมักจะซื้อวัตถุดิบที่เป็นอาหารของคู่แข่งมาพันไว้กับแหเพื่อข่มขวัญคู่ต่อสู้อีกด้วย
สิ่งเหล่านี้ได้ทำให้การพบกันของทั้งสองทีมดุเดือดยิ่งขึ้น
ชัยชนะหรือความพ่ายแพ้ของทั้งคู่จึงมีความหมายมากกว่าผลการแข่งขันในสนาม
เกมเดือดทะลุโลก
โมฮัน และ อีสต์ เบงกอล เป็นเหมือนคู่รักคู่แค้นที่ผลัดกันแย่งชิงความสำเร็จ และด้วยความขัดแย้งจากทั้งในและนอกสนาม ทำให้ “โกลกาตา ดาร์บี้ แมตช์” เต็มไปด้วยความดุเดือดแทบทุกครั้ง
อย่างไรก็ดีการพบกันของพวกเขาไม่มีเกมไหนที่น่าเศร้าไปกว่าดาร์บี แมตช์ในปี 1980 ที่ความโกรธเกลียดชิงชัง ต้องจบลงด้วยโศกนาฏกรรม
16 สิงหาคม 1980 โมฮัน มีคิวต้องพบกับ อีสต์ เบงกอล ในโกลกาตา ฟุตบอลลีก ที่สนามอีเดน การ์เดน สเตเดียม สนามดังกล่าวถือเป็นสังเวียนหลักของทั้งคู่ในสมัยนั้นเนื่องจาก ซอลท์ เลก สเตเดียม เพิ่งจะถูกสร้างขึ้นในปี 1984
เกมวันนั้นดุเดือดตั้งแต่ในสนาม เมื่อ ดิลิบ พาลิศ ของอีสต์ เบงกอล ถูกสั่งให้ประกบ ไบเลห์ โบเซ ปีกตัวจี๊ดของ โมฮันในเกมนี้ แต่เขาก็เอาไม่อยู่ และทำฟาวล์อย่างน่าเกลียดตั้งแต่นาทีที่ 11 ซุดิน ฉัตรเตอจี ผู้ตัดสินในเกมนั้นใจดีเกินไป เขาไม่ได้แจกแม้แต่ใบเหลืองให้กับพาลิศ และการเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้แฟนบอลหัวร้อน
อุณหภูมิของเกมทวีความรุนแรง หลังผ่านไป 12 นาทีในครึ่งหลัง แต่คราวนี้กลายเป็น โบเซ ที่มาถูกใบแดงออกจากสนาม หลังพยายามเอาคืน ส่วน พาลิศ กลับไม่โดนแม้แต่การคาดโทษ
ผู้ตัดสินยังคงตัดสินได้อย่างผิดพลาด เมื่อเขาตะเพิด พาลิศ ที่เล่นในวันนี้ออกจากสนาม หลังโดนใบเหลืองใบที่สองในช่วงท้ายเกม แต่แทนที่จะให้ลูกฟรีคิกแก่โมฮัน ฉัตรเตอจี กลับให้ดร็อปบอลแทน แม้จากนั้นจะไม่มีฝ่ายใดทำประตู และจบลงด้วยผลเสมอ 1-1 แต่ความคุกรุ่นบนอัฒจันทร์ไม่ได้คลายลงไปเลย
หลังสิ้นเสียงนกหวีด แฟนบอลที่ไม่พอใจผลการแข่งขันได้เริ่มด่าทอกัน เหตุการณ์เริ่มรุนแรง เมื่อมีแฟนบอลบางกลุ่มพังแนวกั้นของตำรวจที่ไม่ได้แน่นหนานัก เนื่องจากสมัยนั้นยังไม่ได้มีมาตรการความปลอดภัยที่เข้มงวด ทำให้แฟนบอลเริ่มปะทะกันจนเกิดเป็นความโกลาหลบนอัฒจันทร์
สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีก เมื่อมีแฟนบอลบางคน โยนแฟนบอลวัยรุ่นของอีกฝ่ายจากด้านบนสุดที่สูงราว 10-15 เมตร ลงมาบนพื้นคอนกรีตอย่างไร้ความปราณี แฟนบอลที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่พยายามหนีตายผ่านทางประตูแคบๆ แต่ก็ไม่พ้นและเกิดการปะทะกับแฟนบอลคู่แข่ง ตอนนั้นสถานการณ์ควบคุมไม่ได้อีกแล้ว
“ตอน 4 ทุ่ม 15 เปล ฝูงคนจำนวนมาก แห่ทะลักเข้าไปเต็มโรงพยาบาล เพื่อหาญาติและเพื่อนของพวกเขา เสียงของญาติผู้สูญเสียร้องระงมไปทั่วท้องถนน” ผู้อยู่ในเหตุการณ์ย้อนถึงเรื่องราวในวันนั้น
จากเหตุการณ์ดังกล่าว มีแฟนบอลวัยรุ่นเสียชีวิตถึง 16 ราย กลายเป็นโศกนาฏกรรมที่เลวร้ายที่สุดวงการฟุตบอลอินเดีย รวมไปวงการกีฬาของประเทศ นิรุปาม โซเม ผู้บัญชาการตำรวจของเมือง ออกมายอมรับหลังเหตุการณ์ผ่านไปหลายชั่วโมงว่า “ตำรวจล้มเหลวในการจัดการในทุกขั้นตอน”
อย่างไรก็ดี นี่ไม่ใช่ครั้งสุดท้ายที่เกิดความวุ่นวายใน “โกลกาตา ดาร์บี” เมื่อในปี 2012 ได้เกิดเหตุจลาจลบนอัฒจันทร์จากการปะทะของแฟนบอล จากเหตุการณ์นี้ยังทำให้ ซาเอ็ด ราฮิม นาบิ กัปตันทีมโมฮัน ถึงขั้นหมดสติกลางสนาม หลังถูกเศษคอนกรีตที่ขว้างมาจากบนอัฒจันทร์
เกมดังกล่าว โมฮัน ประท้วงด้วยการวอล์คเอาท์ออกจากสนาม ปฏิเสธที่จะลงเล่นในครึ่งหลัง ด้วยเหตุผลเรื่องความปลอดภัย จากเหตุการณ์นั้นทำให้ โมฮัน ถูกแบนจากวงการฟุตบอลอินเดียถึง 2 ปี
ผ่านไป....ไม่เคยจางหาย
ไม่ว่าจะผ่านไปนานเท่าไร ความขัดแย้งของระหว่าง โมฮัน และ อีสต์ เบงกอล ก็ไม่เคยที่จะเสื่อมลง เนื่องจากมันฝังรากลึกลงไปในความคิดและการกระทำของแฟนบอลทั้งสองทีมไปเป็นที่เรียบร้อย
สิ่งเหล่านี้ทำให้การพบกันใน “โกลกาตาดาร์บีแมตช์” ล้วนคลาคล่ำไปด้วยฝูงชนของทั้งสองทีมในทุกการแข่งขัน ปี 1997 ในเกม อินเดีย เฟดเดอเรชั่นคัพ ระหว่าง โมฮัน และ อีสต์ เบงกอล มีผู้ชมเข้ามาเป็นสักขีพยานในสนามถึง 131,781 คน กลายเป็นยอดผู้ชมสูงสุดในประวัติศาสตร์ฟุตบอลอินเดีย
“ความรู้สึกตอนที่ผมก้าวลงสนามคือ โอ้ พระเจ้าช่วย” อนิธ โกธ อดีตผู้เล่นโมฮัน และ อีสต์ เบงกอลที่อยู่ในเกมนั้นกล่าว
“ผมมองไปรอบๆสนาม มันเต็มไปด้วยผมและหนวดดำทะมึนเต็มสนาม คนน่าจะมากกว่า 130,000 คน เต็มความจุ หากคุณลองตะโกน คุณจะไม่ได้ยินอะไรเลยนอกจากเสียงอื้ออึง”
ปัจจุบัน “โกลกาตาดาร์บี” ยังคงเตะกันอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยเกมล่าสุด เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 2 กันยายน ที่จบลงด้วยผลเสมอ 2-2 ทั้งนี้ ตราบใดที่ โมฮัน และ อีสต์ เบงกอล ยังคงอยู่ในลีกเดียวกัน ดาร์บี้แมตช์แห่งเมืองโกลกาตาก็ยังคงดำเนินต่อไป และหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องพบกับความดุเดือดทั้งในและนอกสนามอย่างที่เคยเป็นมา
อย่างไรก็ดี สิ่งนี้ก็ถือเป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นภาพได้อย่างชัดเจนว่าคนอินเดีย คลั่งไคล้ฟุตบอลมากแค่ไหน และความหลงใหลของแฟนบอลเหล่านี้ ก็จะเป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนฟุตบอลอินเดียให้ก้าวหน้าต่อไป
อ้างอิง
https://youtu.be/lLjg2mWJoxs
http://eastbengaltherealpower.com/news/historical-and-sociological-importance-will-remain-with-kolkata-derby--the-rivalry-between-east-bengal-and-mohun-bagan-is-an-integral-part-of-bengali-culture
https://www.worldsoccer.com/blogs/mohun-bagan-and-east-bengal-a-rivalry-to-savour-341919
https://www.fourfourtwo.com/th/features/aetktaangtangaetraakehngaa-omhan-baakan-vs-iist-ebngkl-khuuaekhneednortii
https://www.news18.com/news/buzz/east-bengal-vs-mohun-bagan-the-war-between-hilsa-and-prawns-1290199.html
https://www.bbc.com/thai/international-40815819
https://www.aljazeera.com/indepth/features/kolkata-derby-asia-fiercest-footballing-rivalry-180424202807467.html
https://www.goal.com/en-india/news/1064/i-league/2016/08/16/26560182/revisiting-16th-august-1980-the-darkest-day-in-the-history