ข่าวที่ปรากฏตามหน้าหนังสือพิมพ์ อาจทำให้ผู้คนหวาดหวั่น และยากจะจินตนาการได้ว่า “เยาวชนในพื้นที่สีแดง” เขาดำเนินชีวิตกันอย่างไร ?
แต่อีกมุมหนึ่งที่ไม่ค่อยได้นำเสนอผ่านสื่อกระแสหลัก นั่นคือ ความรักในกีฬาของเด็ก ๆ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะฟุตบอลและมวยไทยที่เยาวชนจำนวนไม่น้อยในพื้นที่ มีความฝันอยากเป็นนักกีฬาอาชีพของสองกีฬาสุดฮิต
เราขอพาทุกท่านไปเปิดอีกแง่มุมหนึ่ง เรื่องราวของ “สานฝันกีฬานาทวี” โครงการที่ส่งเสริมและมอบโอกาสด้านกีฬาแก่เด็ก ๆ ใน โรงเรียนนาทวีพิทยาคม อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา โดยใช้กีฬามวยไทยเป็นเครื่องมือในการขัดเกลาเยาวชน เพื่อให้พวกเขาเติบโตไปเป็นคนดีของสังคม
โรงเรียนนาทวีวิทยาคม ตั้งอยู่ที่ ตำบลคลองทราย อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลาบนถนนสาย A42 ใกล้ๆกับศาลจังหวัดนาทวี
ผู้ปกครองของเด็กส่วนใหญ่ประกอบอาชีพกรีดยางและรับจ้างทั่วไป ส่วนมากเด็กที่นี่มีความชอบในการเล่นกีฬาเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เพียงแต่ที่ผ่านมาขาดแคลนโอกาส และไม่เคยมีใครส่งเสริม ฝึกสอนอย่างจริงจังเป็นระบบ
กระทั่งในปี 2560 มีการกำเนิด “โครงการสานฝันการกีฬาสู่ระบบการศึกษาจังหวัดชายแดนใต้” โดยโรงเรียนนาทวีวิทยาคม เป็นหนึ่งในสถานศึกษานำร่อง นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นการทำค่ายมวยเล็ก ๆ ในโรงเรียนที่ชื่อว่า สานฝันกีฬานาทวี
“โครงการสานฝันกีฬานาทวี เป็นเหมือนโครงการช้างเผือกที่เปิดโอกาสให้เด็ก ๆ ที่มีความสนใจด้านกีฬาในพื้นที่อำเภอนาทวี และอำเภอใกล้เคียง ได้เข้ามาเรียนฟรี กินอยู่ฟรี และได้รับฝึกฝนทักษะมวยไทยแบบไม่เสียค่าใช้จ่าย”
“เราไม่ได้คัดเลือกเด็กเก่งเข้าโครงการ เราเลือกเด็กที่สมัครใจอยากจะเข้ามาโครงการ ต่อให้ไม่มีพื้นฐานด้านกีฬามวยเลยก็ได้ เราก็ยินดีสอนแรก ซึ่งในบุกเบิกโครงการ มี ครูนาจา (สิทธิพงษ์ รอดสุด) เป็นคนที่คอยฝึกสอนเด็ก ๆ ต่อมาในยุคหลังผมก็ได้มาเป็นโค้ชที่ร่วมดูแลเด็ก ๆ ด้วยอีกคน” สุภกิณห์ หลอดคำ คุณครูประจำโครงการสานฝันกีฬานาทวีกล่าว
“เด็กส่วนใหญ่ที่มาอยู่โครงการ พื้นฐานครอบครัวเขามีความยากจนมาก บางคนพ่อแม่หย่าร้างกัน เด็กบางคนก็เคยเกเรมาก่อน ขับรถซิ่ง หลงอุบายมุข แต่เราก็ดึงเขาเข้าอยู่ในโครงการ และใช้มวยไทยเพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิตพวกเขา เพราะเราเชื่อว่ากีฬาสามารถสร้างคนได้”
สานฝันกีฬานาทวี จึงมีความแตกต่างจากค่ายมวยไทยทั่วไป เพราะไม่ได้มองหาแค่เด็กที่พรสวรรค์ มาปั้นเพื่อนำไปสร้างเป็นยอดนักชกแถวหน้าของประเทศ แต่นี่เป็นโครงการที่พร้อมให้โอกาสกับเด็กทุกคนที่ต้องการโอกาส โดยไม่แบ่งแยก เพียงเพราะเรื่องความสามารถ หรือพื้นฐานชีวิต
“ครูสุภกิณห์ หลอดคำ” เล่าให้เราฟังว่า ในช่วงแรกโครงการดำเนินไปด้วยความยากลำบาก เนื่องจากขาดแคลนทุนทรัพย์ งบประมาณหลักมาจากงบสถานศึกษา
ทำให้ไม่มีอุปกรณ์เพียงพอต่อจำนวนเด็ก บางครั้งคุณครูที่รับผิดชอบโครงการ ทั้ง ครูสุภกิณห์, ครูสุทธิพงษ์ และผู้อำนวยการ มานพ จุลิวรรณลีย์ ต้องควักเงินส่วนตัวออกทุน เพราะเดือนหนึ่งมีค่าใช้จ่ายภายในค่ายที่ต้องเสียประมาณ 20,000-30,000 บาท
ไม่เพียงเท่านั้นด้วยความที่เป็นค่ายมวยขนาดเล็ก ตั้งอยู่ในโรงเรียน ทำให้การหารายการให้ลูกศิษย์ได้ขึ้นชกเป็นไปอย่างยากลำบากในช่วงแรก เนื่องจากคนในวงการมวยยังไม่ค่อยให้ความเชื่อมั่น ในมาตรฐานการทำมวย เมื่อเด็กไม่มีรายการต่อย พวกเขาก็ไม่มีรายได้เข้ามา ต้องซ้อมรอรายการอย่างไร้จุดหมาย
“ผมและครูนาจาเราเหนื่อยกันมากครับ เพราะต้องดูแลเด็ก ๆ ในโครงการ ที่เข้ามาอยู่กินนอนประจำที่โรงเรียน ทุกเช้าเราต้องปลุกเด็ก ๆ ตื่นตี 5 พาเด็กไปวิ่ง จากนั้นเด็ก ๆ ก็จะมาทำภารกิจอาบน้ำ แต่งตัว กินข้าวไปเรียนหนังสือ บ่ายสามโมงก็มาคุมเด็กซ้อมมวยต่อจนถึง 1-2 ทุ่ม แล้วพาเด็กเข้านอนเป็นอย่างนี้มาตลอด”
“แต่พอเรามองเห็นเด็ก ๆ ทุกคนในค่าย เราก็จะทอดทิ้งเขาไปไม่ได้ เพราะเขามีความตั้งใจอยากใช้มวยไทยเพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิตของเขา เราจึงยังสู้ต่อไป”
จากจุดเริ่มต้นที่เหนื่อยยากลำบาก วันเวลาผ่านไป “สานฝันกีฬานาทวี” ก็ใช้ผลงานพิสูจน์ศรัทธา จนค่ายเริ่มมีชื่อเสียงและได้รับยอมรับจากผู้คนให้วงการ
รวมถึงยังเป็นสะพานต่อยอดอนาคตให้เด็กหลายคนได้แจ้งเกิดในวงการมวยไทย อาทิ สุดยอด เอราวัณ (ยอดเหล็กเพชร สานฝันกีฬานาทวี), ช้างมงคล สานฝันกีฬานาทวี, ขุนศึก ส.เดชะพันธ์ุ (สานฝันกีฬานาทวี), เด่นสยาม สานฝันกีฬานาทวี
ผลผลิตจากโครงการสานฝันกีฬานาทวี เริ่มออกดอกออกผลแตกกลิ่นก้านใบ เพราะทางค่ายไม่ได้สอนแค่เฉพาะวิชามวยไทย
แต่ยังฝึกฝนศิลปะการต่อสู้แขนงอื่น อาทิ มวยสากลสมัครเล่น และปันจักสีลัต สอดแทรกไปให้ด้วย เพื่อให้เยาวชนในโครงการสามารถนำไปต่อยอดเพื่อโอกาสทางการศึกษาและวิชาชีพต่อไป
โดย โรงเรียนนาทวีวิทยาคม ส่งนักชกเข้าแข่งขันทั้ง มวยไทยอาชีพ, มวยไทยสมัครเล่น, มวยสากลสมัครเล่น และปันจักสีลัต ทั้งในการแข่งขันกีฬาสมัครเล่น, การแข่งขันอาชีพ, การแข่งขันประเภทประชาชน รวมถึงการแข่งขันระดับเยาวชน
ซึ่งเด็กนักเรียนที่นี่หลายคนก็สามารถไปคว้าเหรียญรางวัลจากการแข่งขันมาครองได้นับไม่ถ้วน และมีศิษย์เก่าจำนวนไม่น้อยใช้ศิลปะการต่อสู้ที่คุณครูพร่ำสอน นำไปสอบคว้าทุนเข้าเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยได้อีกจำนวนมาก และบางส่วนก็ใช้ความเป็นเลิศด้านกีฬาที่ร่ำเรียนมาจากโครงการ นำไปสอบติดบรรจุเข้ารับราชการทหาร, ตำรวจอีก
ความสำเร็จของลูกศิษย์นี่เอง เป็นเหมือนน้ำทิพย์ชะโลมใจให้คนที่เป็นครูหายเหนื่อย มีเรี่ยวแรงที่จะไปสานฝันให้เด็ก ๆ ในพื้นที่ชายแดนใต้ รุ่นต่อ ๆ ไป ได้ใช้มวยไทย เพื่อสร้างอนาคตใหม่ รวมถึงเติบโตจบจากโรงเรียน ออกไปเป็นคนดีของสังคม
“ผมอยากเห็นลูกศิษย์ทุกคนบรรลุเป้าหมายตามที่ทุกคนได้วางไว้ บางคนอาจมุ่งมั่นไปตามสายมวยอาชีพ บางคนก็มุ่งมั่นไปตามสายตัวแทนทีมชาติไทย แต่ไม่ว่าลูกศิษย์คนไหนจะเดินไปทางไหนผมก็พร้อมจะสนับสนุนและตั้งใจฝึกซ้อมเพื่อให้เค้าไปถึงเป้าหมายกันทุกคน”
“และที่สำคัญจะไม่ให้ทุกคนทิ้งการเรียน เพราะหากประสบความสำเร็จในด้านกีฬาแล้วก็ต้องประสบความสำเร็จด้านการศึกษาควบคู่ไปด้วย เพราะผมจะสอนลูกศิษย์เสมอว่า ชื่อเสียงอาจอยู่กับเราไม่นานแต่ความรู้จะติดตัวเราไปตลอดและจะเป็นใบเบิกทางให้เราสามารถดำรงชีวิตและประกอบอาชีพที่มั่งคงได้ในอนาคต”