News

"มีชาวออสเตรเลีย 27.7 ล้านคน บนโลกนี้ นี่คือคนที่พวกเขาส่งมาเป็นตัวแทนลงแข่งโอลิมปิกอย่างนั้นเหรอ?"

นั่นคือหนึ่งในประโยคคำถามจากชาวเน็ต และแฟนกีฬาเบรคกิ้ง (หรือเบรคแดนซ์) ทั่วโลกที่ได้ชมลีลาของ Raygun บีเกิร์ลจากออสเตรเลีย ในการถ่ายทอดสดการแข่งขันเบรคกิ้ง ที่จัดเป็นครั้งแรกในโอลิมปิก 2024 ที่ปารีส ฝรั่งเศส วันที่ 9 สิงหาคม ที่ผ่านมา

 


แม้ว่าจะแข่งจบไปหลายวัน จนโอลิมปิกฉบับปารีส รูดม่านไปแล้ว แต่สิ่งที่ Raygun ทำบนเวทีโอลิมปิก ก็ยังทำให้เกิดข้อถกเถียงมากมายบนโลกอินเตอร์เน็ตจนถึงตอนนี้

Raygun คือนักเต้นหญิงวัย 36 ปี หนึ่งเดียวจาก ออสเตรเลีย ที่ลงแข่งเบรคกิ้งในฐานะตัวแทนทีมชาติฝ่ายหญิง แต่ปรากฏว่าตลอดการแข่งขันในรอบแบ่งกลุ่ม เธอสวมยูนิฟอร์มสีเขียว-ทอง ขึ้นไปดวลกับคู่แข่งแบบตัวต่อตัว 3 คน แต่เธอไม่ได้คะแนนโหวตจากคณะกรรมการทั้ง 9 คน ที่ตัดสินการแข่งขันแม้แต่คนเดียว ตกรอบด้วยคะแนนโหวต 0 ทั้ง 3 รอบ

สิ่งที่ทำให้ Raygun โดนวิจารณ์อย่างหนักหน่วงก็คือลีลาการเต้นของเธอ ที่ต่อให้คนที่ดูเบรคกิ้งไม่เป็นยังดูออกว่า "ไม่ได้เรื่อง" ขณะที่นักเต้นคนอื่นออกสเต็ป โชว์ท่าทางลวดลายที่แข็งแรง แต่ Raygun งัด "ท่าเต้นจิงโจ้" ออกมาสู้ จนทำให้ชาวออสเตรเลียขำกลิ้ง ผิดหวัง และรู้สึกขายหน้าที่ตัวแทนของพวกเขาทำได้แค่นี้ สู้กับคนอื่นไม่ได้เลย

"ตกใจจริงๆ ที่ Raygun คือนักเต้นตัวท็อปของออสเตรเลีย" "ไอ้ท่าเต้นจิงโจ้นี่มันทำให้เธอมาไกลถึงขนาดนี้เลยเหรอ?" "ขอบคุณ Raygun ที่ทำให้คนนับล้านจากทั่วโลกรู้ว่า ฉันก็ไปแข่งโอลิมปิกได้นี่หว่า" นี่คือคอมเมนต์แง่ลบส่วนหนึ่งบนโลกอินเตอร์เน็ต ที่วิพากษ์การเต้นของ Raygun อย่างเผ็ดร้อน โดยเฉพาะท่าเต้นจิงโจ้อันลือลั่น

ขณะเดียวกัน โลกโซเชียลฯ ของชาวออสเตรเลีย ยังพากันตั้งข้อสังเกตุว่าเหตุผลที่ Raygun ได้ติดทีมชาติมาแข่งเบรคกิ้งในโอลิมปิก เพราะมี Samuel Free บีบอยระดับแถวหน้าของออสเตรเลีย ผู้เป็นทั้งสามีและโค้ชคอยผลักดัน เป็นติวเตอร์จนเธอสามารถเต้นชนะคู่แข่งในการรายการคัดเลือก WDSF Oceania Championship ปี 2023 ได้เหรียญทองและได้โควต้ามาแข่งเบรคกิ้งที่ PARIS 2024

อันที่จริงแล้ว Raygun หรือชื่อจริง Rachel Gunn ใช่ว่าจะเต้นไม่เป็นอย่างที่คนอื่นตั้งคำถาม เพราะเธอคือนักเต้นมืออาชีพและอยู่ในวงการเบรคกิ้งของออสเตรเลียมาตั้งแต่อายุ 20 ขณะเดียวกันยังเป็นอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยแม็คควอรี่ สาขาการสื่อสาร-ศิลปะ แถมยังทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องวัฒนธรรมเบรคแดนซ์ในซิดนีย์ สลับบทบาทกับเป็นนักเต้นลงแข่งรายการต่างๆ จนได้โควต้ามาแข่งโอลิมปิก

เรียกได้ว่า Raygun มีความสามารถในการเต้นไม่แพ้ใคร เพียงแต่สิ่งที่เธอแสดงบนเวทีโอลิมปิก มันทำให้คนดูตั้งคำถามว่าทำนองว่า "มีชาวออสเตรเลีย 27.7 ล้านคน บนโลกนี้ นี่คือคนที่พวกเขาส่งมาเป็นตัวแทนลงแข่งโอลิมปิกอย่างนั้นเหรอ?"

Raygun ให้สัมภาษณ์สื่อหลังถูกถามเรื่องท่าเต้นของเธอ หลังออกไปโชว์ลีลาบนฟลอร์ Place de la Concorde โดยประเด็นสำคัญคือเธอต้องการเต้นในแบบของตัวเอง มากกว่าจะสู้เพื่อเอาชนะคู่แข่ง "ท่าเต้นของฉันล้วนเป็นท่าออริจินัล ความสร้างสรรค์คือสิ่งสำคัญสำหรับฉัน ฉันออกไปโชว์ความเป็นศิลปินให้ทุกคนดู บางครั้งมันก็ส่งเสียงไปถึงกรรมการ บางครั้งก็ไม่ ฉันทำในแบบของตัวเอง โชว์ความเป็นศิลปะออกมา จะมีสักกี่ครั้งกันที่จะได้โอกาสมาทำสิ่งนี้บนเวทีนานาชาติ"

ปฏิเสธไม่ได้ว่าท่าเต้นของ Raygun มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร แม้แต่ MGbility หนึ่งในกรรมการตัดสินเบรคกิ้งในวันนั้น ยังยอมรับในลีลาของ Raygun เพียงแต่พวกเขาต้องตัดสินให้คะแนนด้วย 5 เกณฑ์มาตรฐานที่พวกเขากำหนดไว้คือ เทคนิค, การสื่อสารผ่านท่าทาง, ความเป็นเอกลักษณ์, เต้นลงจังหวะเพลง และท่าจบที่สวยงาม ซึ่ง Raygun เป็นรองทุกคนในรอบแบ่งกลุ่ม

MGbility บอกว่า "คอมมูฯ เบรคแดนซ์และฮิปฮอป อยู่เคียงข้างเธอแน่นอน เธอพยายามนำเสนอสิ่งใหม่ ความสร้างสรรค์ และสิ่งที่เป็นตัวแทนจากประเทศตัวเอง เพียงแต่ระดับของเธอไม่สูงเท่าผู้แข่งขันคนอื่น เมื่อนำมาเปรียบเทียบ ผู้แข่งขันคนอื่นทำได้ดีกว่า แต่ไม่ได้หมายความว่าเธอเต้นแย่ เธอทำดีที่สุดแล้ว น่าเสียดายที่บีเกิร์ลคนอื่นทำได้ดีกว่า นั่นคือเหตุผลที่เธอไม่ได้คะแนนโหวตจากการเต้นของเธอ"

กระนั้น ก็มีนักวิเคราะห์บางคนตั้งข้อสังเกตุว่า ท่าเต้นต่างๆ ที่ดูไม่เอาไหนของ Raygun ในโอลิมปิก อาจแฝงนัยยะบางอย่างในเชิง "ประท้วง" หรือ "ต่อต้าน" ไปยังคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) ผู้ซึ่งอนุมัติการแข่งขันเบรคกิ้งเข้ามาแข่งในโอลิมปิกเป็นครั้งแรก ทำนองว่า IOC ไม่มีสิทธิ์ที่จะมากำหนด ตัดสิน หรือบังคับให้เหล่าบีบอย บีเกิร์ล ต้องเต้นโชว์ความสามารถเพื่อเอาคะแนนจากกรรมการ แทนที่จะใช้เวทีนี้แสดงความเป็นตัวเอง และเต้นอย่างสร้างสรรค์ให้คนทั่วโลกยอมรับ

Graeme Codrington นักวิเคราะห์สายอาชีพ แสดงความเห็นเรื่องนี้ว่า "เธอเขียนบทความลงในวารสารวิชาการเกี่ยวกับเรื่องซีนของเบรคแดนซ์ที่ออสเตรเลีย และเรื่องการเมืองในโลกกีฬา ที่แสดงความกังวลว่าหากเบรคแดนซ์เกิดขึ้นในโอลิมปิก สาระสำคัญของมันก็จะสูญหายไป หากกีฬานี้ถูกควบคุมโดยองค์กรที่ไม่เกี่ยวข้องกับกีฬานี้อย่าง IOC ซึ่งมันก็อาจไม่ใช่กีฬาเบรคกิ้งที่เธอรักอีกต่อไป"

เช่นเดียวกับ Forbes ที่ยังลงบทความชื่นชม Raygun ในการพยายามแสดงการเต้นที่เป็นเอกลักษณ์ สร้างสรรค์ ไม่เหมือนใคร และต้องไม่ลืมว่า โอลิมปิก ไม่ใช่เวทีที่นักกีฬาทุกคนจะต้องทุ่มเทต่อสู้เพื่อความเป็นเลิศอย่างเดียว แต่ยังเป็นเวทีที่จะทำคนทั่วโลกมีโอกาสได้เห็นความสามารถที่หลากหลายของนักกีฬาชาติต่างๆ พวกเขาไม่จำเป็นต้องทำอะไรเหมือนกันหมด ควรมีพื้นที่ให้สำหรับคนที่สร้างสรรค์และแตกต่างบ้าง

รวมถึงชาวเน็ตอีกกลุ่มหนึ่งที่คอมเมนต์ประทับใจกับท่าเต้นจิงโจ้ของ Raygun เช่นกัน ทำนองว่าต่อให้ไม่ได้เหรียญ ได้คะแนนโหวต 0 แต่คนทั่วโลกก็รู้จักเธอไปเรียบร้อย เผลอๆ ชื่อของ Raygun อาจเป็นที่รู้จักมากกว่าเจ้าของเหรียญทองโอลิมปิก เบรคกิ้งหญิงอย่าง Ami จากญี่ปุ่นเสียอีก แถมยังเป็นไวรัลบนอินเตอร์เน็ตด้วย ยิ่งกว่าได้เหรียญทองเสียอีก

กระนั้น ไม่ว่าใครจะคิดเห็นเรื่องนี้อย่างไร แต่ Raygun รวมถึงเหล่าบีบอย-บีเกิร์ล ทั้งหลาย ก็จะไม่ได้ปรากฏตัวให้คนดูกีฬาได้เห็นอีกใน โอลิมปิก 2028 ที่ลอส แองเจลิส สหรัฐอเมริกา เมื่อ IOC รวมถึงฝ่ายเจ้าภาพ มีแนวโน้มจะไม่บรรจุกีฬาเบรคกิ้ง ลงใน LA 2028 ทั้งที่ สหรัฐอเมริกา เป็นประเทศต้นกำเนิดของเบรคกิ้ง ดังนั้นต้องไปลุ้นกันในโอลิมปิก ครั้งถัดไปที่ บริสเบน ออสเตรเลีย ปี 2032 ว่า เบรคกิ้ง จะได้กลับมาหรือไม่?

 

Author

วัลลภ สวัสดี

ฟังไปเรื่อย ดูไปเรื่อย เขียนไปเรื่อย

Graphic

ปฐวี ยอดเนียม

Man u is No.2 But YOU is No.1