การเสียชีวิตของ "เอ๋" ชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม จากอาการฮีทสโตรกระหว่างการซ้อมแข่งรถ ทำให้หลายคนเกิดความสงสัยว่า "ทั้ง ๆ ที่นักกีฬาอยู่ในตัวรถ กีฬาแข่งรถ สามารถทำให้นักกีฬาเกิดอาการฮีทสโตรกได้จริงหรือ ?"
คำตอบนั้นคือ "จริง" และคุณอาจไม่เชื่อว่า การแข่งรถสามารถทำให้นักแข่งสูญเสียน้ำหนักและน้ำในร่างกาย อันเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการฮีทสโตรกได้มากเลยทีเดียว
ในการแข่งรถ นักแข่งนั้นจะต้องรับมือกับ แรงจี หรือแรงเหวี่ยง ที่เปลี่ยนแปลงทั้งความแรงและทิศทางตลอดการแข่งขัน แม้ลำตัวนักแข่งจะถูกเข็มขัดนิรภัยตรึงไว้ให้ติดเบาะนั่ง แต่แขน ขา และคอนั้นยังสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ ทำให้นักแข่งต้องใช้แรงในการฝืนไว้ ตลอดจนต้องตั้งสมาธิกับการขับขี่ ความเครียดต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ทำให้นักกีฬาเกิดความเหนื่อย และสูญเสียน้ำผ่านเหงื่อ
ไม่เพียงเท่านั้น อุณหภูมิภายในตัวรถยังสูงอีกด้วย ทั้งจากสภาพอากาศภายนอก ความร้อนจากเครื่องยนต์ ตลอดจนความร้อนจากพื้นแทร็กที่แผ่ออกมา ทำให้อุณหภูมิภายในค็อกพิท หรือห้องโดยสาร สูงถึง 50 องศาเซลเซียส หรือมากกว่า ตลอดจนความชื้น ทำให้เหงื่อยิ่งออกมาก และทำให้อัตราการเต้นของหัวใจสูงขึ้น นำมาซึ่งการสูญเสียของเหลวในร่างกาย ทั้งผ่านเหงื่อและจากการขาดน้ำ
ด้วยเหตุที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้นักแข่งอาจสูญเสียน้ำหนักระหว่าง 2-4 กิโลกรัม ตลอดจนสูญเสียน้ำมากถึง 3 ลิตรในการแข่งขัน ซึ่งตัวเลขที่กล่าวนี้ คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับนักแข่ง F1 ส่วนนักแข่งในรายการอื่น ๆ ก็ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันเลย
ส่วนคำถามที่ว่า "ในรถแข่งไม่มีแอร์จริงหรือ ?" คำตอบนั้นก็ "จริง" อีกเช่นกัน สาเหตุนั้นคือ เพื่อลดน้ำหนักของตัวรถแข่งให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่กติกาแต่ละรายการอนุญาต ไม่เพียงเท่านั้น คอมเพรสเซอร์แอร์ หนึ่งในอุปกรณ์สำคัญของระบบปรับอากาศในรถยนต์ ใช้กำลังจากการทำงานของเครื่องยนต์ผ่านสายพาน ทำให้สมรรรถนะของตัวรถแข่งที่ติดตั้งแอร์ด้อยลงกว่าการไม่ติดตั้ง
ถึงตรงนี้หลายคนอาจจะสงสัยว่า "เมื่อนักแข่งสูญเสียน้ำในระหว่างการแข่งขันมากเช่นนี้ แล้วพวกเขาแก้ปัญหากันอย่างไร ?" คำตอบนั้นคือ ในรถแข่งแต่ละคันนั้น สามารถติดตั้งระบบน้ำดื่มได้ โดยมีแทงค์น้ำขนาดเล็กติดที่ตัวรถ ต่อสายน้ำไปเชื่อมต่อกับหมวกกันน็อก ในระหว่างแข่งขัน นักแข่งสามารถกดปุ่ม เพื่อให้ระบบปั๊มน้ำขึ้นมาดูดผ่านสายได้
อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจว่าจะติดหรือไม่ติดระบบน้ำดื่มนั้น ก็ขึ้นอยู่กับทีมแข่ง พวกเขาอาจตัดสินใจไม่ติดตั้งก็ได้ เพื่อลดน้ำหนักตัวรถ แถมบางครั้ง ระบบน้ำดื่มก็เกิดเสียระหว่างการแข่งขันเสียอีก ซึ่งหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันแบบนี้ ก็ทำได้เพียง "ฮึดเข้าไว้" สถานเดียว
ย้อนกลับไปในการแข่งขัน F1 ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2021 เซร์คิโอ เปเรซ นักแข่งชาวเม็กซิโก ประสบปัญหากับระบบน้ำดื่มที่ติดตั้งในรถแข่งของทีม Red Bull จนไม่สามารถดื่มน้ำได้ตลอดการแข่งขัน ซึ่งเจ้าตัวเล่าถึงเหตุการณ์ดังกล่าวว่า
"หนักหนาสาหัสมาก ๆ แค่รอบ 20 ผมก็รู้สึกเปลี้ยแล้ว พละกำลังที่แขนขาแทบไม่เหลือ ทัศนวิสัยในการมองก็แย่ลง ยังกับเล่นโหมดเอาชีวิตรอดในเกมเลย ในที่นี้คือ พยายามที่จะรู้สึกตัวอยู่เสมอ"
การสูญเสียน้ำจำนวนมากนี้ ทำให้นักแข่งมีอีกสิ่งที่เรียกได้ว่าต้องทำแทบจะทันทีหลังลงมาจากรถ สิ่งนั้นคือ การดื่มน้ำ โดยทีมแข่งจะเตรียมขวดน้ำรอไว้ให้ แต่สิ่งที่น่าสังเกตคือ ที่ขวดน้ำนั้นจะมีหลอด และหลอดนั้นยาวมาก สาเหตุนั้นก็เพื่อจำกัดปริมาณการนำน้ำเข้าสู่ร่างกายไม่ให้มากและเร็วเกินไป เพราะการรับน้ำเข้าสู่ร่างกายหลังจากขาดน้ำเป็นเวลาการมากและเร็วเกินไป ก็ส่งผลเสียต่อร่างกายได้เช่นกัน
แหล่งอ้างอิง
https://f1chronicle.com/can-formula-1-drivers-drink-water/
https://www.news24.com/.../dehydrated-and-hurt-sergio...