News

The Redeem Team : กู้ศักดิ์ศรีบาสเกตบอลสหรัฐอเมริกา จาก โอลิมปิก ปักกิ่ง 2008 สู่ Hall of fame

หอเกียรติยศบาสเกตบอล เพิ่งบรรจุ ทีมบาสเกตบอลทีมชาติสหรัฐอเมริกา ชุดมหกรรมกีฬาโอลิมปิก ปักกิ่ง 2008 หรือที่รู้จักในชื่อ The Redeem Team รวมถึงนักกีฬาในทีมชุดนั้น คาร์เมโล แอนโธนี และ ดไวท์ ฮาเวิร์ด เข้าสู่หอเกียรติยศร่วมกัน เมื่อเดือนเมษายน 2025

 

เมื่อพูดถึงโอลิมปิก ที่ถูกจัดขึ้นในกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน เมื่อ ปี 2008 หนึ่งเรื่องที่ผู้คนพูดถึง คงหนีไม่พ้นทีมบาสเกตบอลชายทีมชาติสหรัฐอเมริกาในปีนั้น จากผลงานคว้าเหรียญทองด้วยชัยชนะแบบไร้พ่าย แต่กว่าจะไปถึงจุดนั้น ทีมชาติสหรัฐชุดนี้ต้องผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากอะไรบ้าง ติดตามเรื่องราวนี้ไปพร้อมกันกับ Main Stand ได้ที่นี่ ...

จุดเริ่มต้นต้องย้อนไปตั้งแต่โอลิมปิก ที่กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ เมื่อปี 2004 ทีมชาติสหรัฐอเมริกาเกิดปัญหาหลายอย่างตั้งแต่การคัดเลือกนักกีฬาเข้าสู่ทีม ซึ่งนักกีฬา 12 คนแรกที่ถูกเสนอชื่อ มีถึง 9 คนเลือกที่จะปฏิเสธการร่วมทีม อาทิ เจสัน คิดด์ ที่มีอาการบาดเจ็บอยู่ หรือ โคบี้ ไบรอันท์ ที่ ณ ตอนนั้นกำลังสู้คดีล่วงละเมิดทางเพศ ยังไม่รวมถึงคนอื่น ๆ ภายในทีมที่เกิดปัญหาต่าง ๆ

ส่งผลให้ทีมชาติสหรัฐอเมริกา ในตอนนั้นมีนักกีฬาตัวหลักเพียงแค่ อัลเลน ไอเวอร์สัน, ทิม ดันแคน รวมไปถึงนักกีฬาดาวรุ่งที่ยังไม่ค่อยมีประสบการณ์มากนักในการแข่งขันอย่าง เลบรอน เจมส์, ดเวย์น เวด, คาร์เมโล่ แอนโธนี่ 

อีกทั้งเฮดโค้ชในทีมชุดนั้นอย่าง แลร์รี่ บราวน์ ไม่ได้เชี่ยวชาญการแข่งขันระดับทีมชาติ ซึ่งใช้กติกาของสหพันธ์บาสเกตบอลนานาชาติ หรือ FIBA มากนัก ถึงแม้จะพึ่งพาทีม ดีทรอยต์ พิสตันส์ ได้แชมป์ NBA ในปี 2004 ก็ตาม 

เมื่อทุกอย่างไม่เป็นใจ รวมถึงไม่มีเวลาเตรียมตัวในการแข่งขันมากนัก ส่งผลให้ทีมชาติสหรัฐอเมริกา พ่ายต่อทีมชาติอาร์เจนตินาในรอบรองชนะเลิศ ก่อนที่จะไปชนะทีมชาติลิธัวเนีย จบการแข่งขันโอลิมปิกในปี 2004 แค่การคว้าเหรียญทองแดงเท่านั้น

จากความล้มเหลวในปี 2004 ทำให้เกิดการวางรากฐานใหม่ของทีมชาติ โดยมี เจอร์รี่ โคลันเจโล (Jerry Colangelo) เข้ามารับหน้าที่ผู้จัดการทีม วางระบบใหม่ทั้งหมด ทั้งการเลือกเฮดโค้ชคนใหม่อย่าง "โค้ชเค" ไมค์ ชูเชฟสกี้ (Mike Krzyzewski) โค้ชระดับตำนานจากมหาวิทยาลัยดุ๊ก (Duke University) ที่เชี่ยวชาญกติกาบาสเกตบอลระดับนานาชาติ ซึ่งต่างจากใน NBA มากพอสมควร

การเตรียมทีมเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2006 กับ "The Redeem Team" ทีมกู้ศรัทธา โดยมีแกนนำคือ เจสัน คิดด์ และ โคบี้ ไบรอันท์ พร้อมทั้งขุมกำลังรุ่นใหม่อย่าง เลบรอน เจมส์, ดเวย์น เวด, คาร์เมโล่ แอนโธนี่, คริส พอล และ ดไวท์ ฮาเวิร์ด ทั้งหมดล้วนเป็นดาวรุ่งระดับซูเปอร์สตาร์ของยุคนั้น 

อย่างไรก็ตาม เมื่อเข้าสู่การแข่งขันโอลิมปิกปี 2008 ทีมชาติสหรัฐอเมริกาอยู่กลุ่มเดียวกับชาติเจ้าภาพอย่างจีนในกลุ่มบี รวมทั้งทีมชาติเยอรมัน, กรีซ, แองโกลา และ ยักษ์ใหญ่ในรายการนี้อย่าง สเปน แต่สุดท้าย พวกเขาสามารถโชว์ฟอร์มเก่งด้วยการไม่แพ้ใครในรอบแบ่งกลุ่ม ผ่านเข้ารอบน็อกเอาต์ได้สำเร็จ

มาถึงรอบน็อกเอาต์ สหรัฐอเมริกาต้องมาเจอทีมชาติออสเตรเลีย ด้วยฟอร์มที่ร้อนแรง พวกเขาสามารถชนะได้อย่างไม่ยากเย็นด้วยสกอร์ 116-85 ผ่านเข้าสู่รอบรองชนะเลิศ ก่อนชนะอาร์เจนตินา แชมป์เก่าจากเมื่อ 4 ปีก่อน ด้วยสกอร์ 101-81 

ในรอบชิงเหรียญทอง สหรัฐอเมริกาเจอกับสเปนอีกครั้ง ในควอเตอร์แรก สหรัฐอเมริกาต้องเจอกับอุปสรรค สองคนหลักในการทำคะแนนอย่าง โคบี้ และ เลบรอน ทำฟาวล์ไปถึง 2 ครั้ง แต่ก็ยังได้ ดเวย์น เวด ที่มาช่วยพลิกเกม บวกกับผู้เล่นคนอื่นพากันช่วยทีม ทำให้สถานการณ์ทีมยังสูสี จนถึงควอเตอร์สุดท้าย The Redeem Team ก็สามารถปิดเกมได้อย่างเฉียบขาด ด้วยชัยชนะ 118–107 คว้าเหรียญทองไปครองอย่างสมบูรณ์แบบ

แม้จะคว้าเหรียญทองได้อย่างยิ่งใหญ่ แต่สิ่งที่ The Redeem Team มอบให้วงการบาสเกตบอลสหรัฐอเมริกา คือการเปลี่ยนวัฒนธรรมของทีมชาติ จากการรวมตัวเฉพาะกิจ มาเป็นการวางระบบอย่างยั่งยืน และสร้างแรงบันดาลใจให้กับรุ่นหลัง

การเสียสละของซูเปอร์สตาร์แต่ละคน เพื่อให้ระบบทีมทำงานได้ดีที่สุด การปรับตัวกับกฎ FIBA และแรงกดดันมหาศาลจากความล้มเหลวในอดีต ล้วนเป็นบทพิสูจน์ว่า "The Redeem Team" ไม่ใช่แค่ทีมที่มีพรสวรรค์ที่สุด แต่ยังเป็นทีมที่ ยืนหยัด และรวมใจกันเพื่อชาติได้ดีที่สุด

ไม่แปลกที่พวกเขาจะถูกยกย่องว่าเป็น ทีมบาสเกตบอลชายทีมชาติสหรัฐอเมริกา ที่ดีที่สุดชุดหนึ่งเท่าที่เคยมีมา

Author

เจษฎา บุญประสม

Content Creator ผู้ชื่นชอบการกิน, ท่องเที่ยว และดูกีฬาแทบทุกประเภท โดยเฉพาะฟุตบอล, อเมริกันเกมส์, มอเตอร์สปอร์ต, อีสปอร์ต