กลายเป็นที่พูดถึงอย่างกว้างขวาง เมื่อทีมชาติเยอรมันตัดสินใจ "แสดงสัญลักษณ์" ระหว่างถ่ายรูปก่อนเกมในฟุตบอลโลก 2022 นัดแรกของทีมอินทรีเหล็ก ซึ่งแพ้ญี่ปุ่น 1-2 ด้วยการ "เอามือปิดปาก" สะท้อนถึงการที่หลายภาคส่วน โดยเฉพาะสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ ฟีฟ่า ละเลยการพูดถึงปัญหาสิทธิมนุษยชน ทั้งเรื่องสิทธิแรงงานต่างชาติที่สร้างสนาม
ฟุตบอลโลกหนนี้ และสิทธิของกลุ่มคน LGBTQ+ กับการสั่งห้ามสวมปลอกแขน ONE LOVE
แน่นอนว่า ย่อมมีแรงสะท้อนกลับตามมา และสิ่งนั้นเกิดขึ้นในเกมนัดที่สองของเยอรมันที่เสมอสเปน 1-1 เมื่อแฟนบอลในสนามกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเมื่อดูจากการแต่งตัวแล้ว น่าจะเป็นกลุ่มแฟนจากชาติที่นับถือศาสนาอิสลาม ชูรูปของ เมซุต โอซิล ทั้งในแบบภาพวาดและภาพถ่าย
เบื้องหลังของการแสดงออกครั้งนี้ หนีไม่พ้นการตอกตะปูย้ำหัวชาวเยอรมันว่า พวกเขาเองก็มีตราบาปในเรื่องการเหยียดไม่ต่างกัน เพราะหากจำกันได้ หลังฟุตบอลโลก 2018 ที่ประเทศรัสเซียจบลง โอซิลได้ประกาศอำลาทีมชาติเยอรมัน หลังถูกแฟนบอลอินทรีเหล็กรุมประณามหยามเหยียด ซึ่งสาเหตุหลักดูจะไม่ใช่เรื่องผลงานในสนามกับทีมชาติ แต่เป็นการที่โอซิลไถ่ายภาพคู่กับ เรย์จิป ทายยิป แอร์โดอาน ประธานาธิบดีตุรกี ที่มีปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชนกับประชาชนในประเทศ
ในตอนนั้น โอซิล ซึ่งนับถือศาสนาอิสลาม ได้ชี้แจงผ่านแถลงการณ์ว่า การถ่ายภาพคู่กับแอร์โดอานนั้นไม่ได้มีจุดประสงค์ทางการเมือง เพราะมันเป็นเพียงแค่การถ่ายภาพคู่กับผู้นำของประเทศที่เป็นต้นกำเนิดของเขา สืบเนื่องจากบรรพบุรุษของโอซิลเป็นชาวตุรกีนั่นเอง แต่กระแสประณามที่มีต่อเขา รวมทั้งจากในสหพันธ์ฟุตบอลเยอรมัน หรือ เดเอฟเบ ซึ่ง ไรน์ฮาร์ด กรินเดล ประธาน ณ เวลานั้นก็ร่วมประณามด้วย ทำให้เขาตัดสินใจยุติบทบาทกับทีมอินทรีเหล็ก พร้อมตัดพ้อด้วยว่า ภาพดังกล่าวทำให้บทบาทของเขาในทีมชาติตั้งแต่ปี 2009 รวมถึงการนำทีมชาติเยอรมันคว้าแชมป์ฟุตบอลโลก 2018 มลายหายไปสิ้น
ที่มา :
https://www.sportbible.com/.../mesut-ozil-germany-spain...