กลายเป็นที่พูดถึงกันทั่ววงการฟุตบอล กับลูกบ้าเที่ยวล่าสุดของ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ที่ต่อสัญญา เออร์ลิ่ง ฮาลันด์ ยาวนานถึง 9 ปีครึ่ง ซึ่งหากอยู่จนครบสัญญา ดาวยิงชาวนอร์เวย์ผู้นี้จะอยู่กับสโมสรจนถึงกลางปี 2034 หรือตอนที่เขาอายุ 34 ปี เลยทีเดียว
และการต่อสัญญาครั้งนี้ ทำให้เรื่องของการผูกปิ่นโต เซ็นสัญญาระยะยาว ถูกนำกลับมาพูดถึงอีกครั้ง
คำถามคือ การทำแบบนี้ มันจะส่งผลดีหรือผลเสียมากกว่ากันล่ะ ?
สำหรับคนทำงาน ไม่ว่าจะแรงงาน หรือมนุษย์เงินเดือนอย่างเรา ๆ ท่าน ๆ การได้สัญญาระยะยาว ย่อมดีต่อใจของเราอยู่แล้ว เพราะนั่นหมายความว่า หน้าที่การงานของเราจะมั่นคงไปอีกพักใหญ่ อีกทั้งยังเป็นการแสดงออกให้เห็นว่าเป็นคนสำคัญขององค์กร ทำให้สุขภาพจิตดีขึ้น พร้อมสู้งานที่รอตรงหน้าต่อไป
เรื่องดังกล่าวสามารถใช้ได้กับวงการกีฬาด้วยเช่นกัน และมีหลักฐานทางการศึกษาจากงานวิจัย The Economics of Long‐term Contracts in the Footballers' Labour Market ของ Babatunde Buraimo, Bernd Frick, Michael Hickfang และ Rob Simmons เมื่อปี 2015 ที่พบว่า นักเตะที่ได้รับสัญญาระยะยาว มักโชว์ฟอร์มในสนามได้ดีกว่านักเตะที่ได้รับสัญญาระยะสั้น
ไม่ใช่แค่ฟากของนักเตะเท่านั้น แต่การมอบสัญญาระยะยาว ก็มีส่วนช่วยสโมสร โดย สตีเฟ่น เทย์เลอร์ ฮีธ หัวหน้าแผนกกฎหมายกีฬาของสำนักกฎหมาย JMW Solicitors เผยกับ The Athletic ว่า การมอบสัญญาระยะยาวให้นักเตะ มีส่วนช่วยให้มูลค่าของสโมสรเพิ่มขึ้น และมีส่วนช่วยในทางธุรกิจ ในเรื่องการเจรจาข้อตกลงกับผู้สนับสนุน เพราะนี่คือสิ่งที่ยืนยันว่า ผู้เล่นคนนั้นอยู่ในแผนการระยะยาวของสโมสร
ขณะเดียวกัน หากมีเหตุต้องปล่อยตัวผู้เล่นคนดังกล่าวออกไป สัญญาระยะยาวจะมีส่วนช่วยให้สโมสรได้รับค่าตัวมากขึ้น เพราะแน่นอนว่า สัญญาระยะยาว ต้องใช้เงินมากกว่าในการฉีกสัญญาฉบับเดิม หากไม่ได้มีการกำหนดตัวเลขที่ชัดเจนเอาไว้
ยิ่งในยุคปัจจุบัน การมอบสัญญาระยะยาว ยังช่วยสโมสรในเรื่องการวางแผนทางการเงิน ทั้งการกระจายค่าตัวที่ซื้อมา และค่าเหนื่อยที่จ่ายให้นักเตะได้ง่ายขึ้น แบบที่ เชลซี เป็นผู้นำในการซื้อนักเตะพร้อมมอบสัญญาระยะยาวให้นักเตะ จนพรีเมียร์ลีกและสหพันธ์ฟุตบอลยุโรป หรือ ยูฟ่า ต้องมาอุดช่องโหว่ทางกฎหมายนี้
ถึงกระนั้น การต่อสัญญานักเตะที่อยู่กับสโมสรด้วยสัญญาระยะยาว ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เกิดกับฮาลันด์เป็นเคสแรก เพราะก่อนหน้านี้ อาร์เซน่อล เคยต่อสัญญากับ เชส ฟาเบรกาส กองกลางชาวสเปน 8 ปี เมื่อปี 2006 หรือ ลิโอเนล เมสซี่ ดาวเตะอาร์เจนไตน์ ก็เคยเซ็นสัญญายาว 9 ปีกับ บาร์เซโลน่า เมื่อปี 2005 หลังขึ้นสู่ทีมชุดใหญ่ได้ไม่นาน
อย่างไรก็ตาม การมอบสัญญาระยะยาว ก็มีความเสี่ยงเช่นกัน เพราะหากนักเตะโชว์ฟอร์มได้แย่ลงหลังจากได้รับสัญญาฉบับใหม่ ตัวเลขค่าเหนื่อยก็เปรียบเสมือนชนักปักหลัง ที่ทำให้สโมสรต้องจ่ายเงินอย่างเปล่าประโยชน์ไปเรื่อย ๆ แถมอาจต้องเสียเงินเพิ่มเพื่อหานักเตะคนใหม่มาเล่นแทน เช่นกรณีของ มิไคโล มูดริก ปีกชาวยูเครน ที่ เชลซี ยังใช้งานได้ไม่คุ้มค่าตัวและค่าเหนื่อยที่จ่ายไป จากการคว้าตัวมาร่วมทีมเมื่อเดือนมกราคม 2023 แถมยังมีคดีสารกระตุ้นทำให้นักเตะลงสนามไม่ได้อีก
ขณะเดียวกัน จิตใจคนเรานั้นยากแท้หยั่งถึง ในตอนที่ต่อสัญญา ทุกอย่างยังหวานชื่นรื่นรมย์ แต่หากอนาคตสถานการณ์เปลี่ยนไป เกิดการเปลี่ยนแปลงผู้จัดการทีม หรือตัวนักเตะไม่มีความสุขกับสโมสร สัญญาระยะยาวก็เปรียบเสมือนบ่วงรัดนักเตะไม่ให้ออกไปจากทีมได้ง่าย ๆ เช่นกัน
โดยสรุป สัญญาระยะยาวนั้น หากมองในระยะสั้น ต่างดีทั้งกับนักเตะและสโมสร แต่ในระยะยาวจะคุ้มค่าหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ทั้งผลงานของสโมสร ฟอร์มของนักเตะ และอาจมีปัจจัยอื่นที่ควบคุมไม่ได้ส่งผลด้วยเช่นกัน
ที่มา :
https://www.nytimes.com/athletic/4097587/2023/01/19/chelseas-long-contracts-explained-baseball/
https://www.espn.com/soccer/story/_/id/43450033/erling-haalands-new-man-city-contract-deal-rating-soccers-longest-deals
https://www.researchgate.net/publication/270906797_The_Economics_of_Long-term_Contracts_in_the_Footballers'_Labour_Market
https://www.dashclicks.com/blog/pros-and-cons-of-long-term-client-contracts