หลังจากที่ฟุตบอลลีกอาชีพของไทยปิดฤดูกาล ก็เป็นช่วงเวลาของฟุตบอลเดินสายที่จัดการแข่งขันชิงเงินหมื่น เงินแสน เงินล้าน และมีนักเตะชื่อดังทั้งอดีตและปัจจุบันระดับ ไทยลีก ร่วมฟาดแข้งด้วย ซึ่งเป็นมานานหลายปีแล้ว
กระทั่ง ธนวัชร์ นิติกาญจนา ผู้จัดการทีมราชบุรี ได้ออกมาโพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับนักฟุตบอลไทยลีกที่มีสัญญากับสโมสร แต่ใช้ช่วงปิดฤดูกาลไปเตะฟุตบอลเดินสาย แทนที่จะพักหลังกรำศึกหนักมาหลายเดือน ทำให้เป็นประเด็นพูดถึงอย่างมากถึงความเหมาะสมของนักฟุตบอลระดับ ไทยลีก ไปเตะฟุตบอลเดินสาย แม้จะเป็นช่วงปิดฤดูกาลก็ตาม
ที่มา : https://www.facebook.com/photo?fbid=207798252134147&set=a.140392518874721
ระเบียบว่าด้วยการจัดการแข่งขันฟุตบอลไทยลีก 1, ไทยลีก 2 และไทยลีก 3 ระบุในข้อ 28.8 “ไม่อนุญาตให้นักกีฬาฟุตบอลหรือทีมฟุตบอลที่ลงชื่อเข้าร่วมแข่งขันในการแข่งขันกีฬาฟุตบอลลีกอาชีพแล้วในปีใดปีหนึ่งไปเล่นหรือแข่งขันกีฬาฟุตบอลในรายการอื่นๆ ในปีเดียวกัน ยกเว้นรายการที่ได้รับความเห็นชอบจากฝ่ายจัดการแข่งขัน หรือได้รับอนุญาตจาก บ.ไทยลีก จำกัด เป็นลายลักษณอักษร”
ส่วนระเบียบว่าด้วยการลงโทษคณะพิจารณาวินัย มารยาท 1.13 “นักกีฬาลงแข่งขันกีฬาฟุตบอลรายการอื่นใดในปีเดียวกันกับที่มีชื่อแข่งขันกีฬาฟุตบอลลีกอาชีพอยู่ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากฝ่ายจัดการแข่งขันก่อน จะถูกปรับเงินตั้งแต่ 20,000 บาท ถึง 50,000 บาท”
#BallThaiStand ได้รับการเปิดเผยจากเจ้าหน้าที่ บ.ไทยลีก จำกัด ว่าเจตนาของระเบียบข้อนี้คือต้องการให้นักกีฬาที่เล่นใน ไทยลีก มีมาตรฐาน “นักฟุตบอลอาชีพ” ซึ่งควรต้องเล่นในลีกอาชีพเท่านั้น จึงไม่อนุญาตให้ไปเล่นฟุตบอลนอกรายการจัดของสมาคมฯ ซึ่งไม่ใช่แค่ฟุตบอลเดินสายเท่านั้น แต่หมายถึงทุกรายการ อาทิ กีฬากองทัพไทย, กีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ฯลฯ ทว่าที่ผ่านมามีการขออนุญาต จึงสามารถเล่นได้
ส่วนคำว่า “ปีใดปีหนึ่ง” และ “ในปีเดียวกันกับที่มีชื่อแข่งขันกีฬาฟุตบอลลีกอาชีพอยู่” แม้ว่าปัจจุบัน ไทยลีก จะเปลี่ยนช่วงเวลาเตะแบบคร่อมปี แต่หมายถึง “ฤดูกาล” ซึ่งฤดูกาลนี้ (2022/23) แม้ลีกอาชีพจะแข่งขันจบหมดแล้ว แต่ฤดูกาลยังไม่จบ เพราะยังมีไทยแลนด์ อเมเจอร์ลีก 2022/23 แข่งขันอยู่จนถึงสิ้นเดือน มิ.ย.
ขณะที่บทลงโทษแม้จะปิดฤดูกาลแล้วแต่สามารถเอาผิดได้อยู่ หากฝ่ายจัดการแข่งขัน (บ.ไทยลีก จำกัด) ตั้งข้อหาและส่งเรื่องถึงคณะพิจารณาวินัย มารยาท อย่างไรก็ตามฝ่ายจัดการแข่งขันมีเหตุและผลในการตั้งข้อหา อาทิ นักกีฬาทำให้เกิดความเสียหายต่อ บ.ไทยลีก เช่น ขอตัวมาโปรโมตการแข่งขัน ไทยลีก แต่ถูกปฏิเสธ แล้วพบภายหลังว่าไปเล่นฟุตบอลเดินสาย หรือ นักกีฬาคนนั้นๆ มีเรื่องชกต่อย (นักกีฬามีภาพลักษณ์ของคำว่า ไทยลีก ติดตัวอยู่) ฯลฯ
ทั้งนี้ หากนักกีฬาหมดสัญญากับต้นสังกัดแล้วจะไม่สามารถเอาผิดหรือลงโทษได้ อย่างไรก็ตาม 10 ปีหลังสุดยังไม่เคยมีนักฟุตบอลคนใดถูกลงโทษจากความผิดข้อ 1.3
ขณะเดียวกันนักฟุตบอลที่มีสัญญากับสโมสรอยู่และไปแข่งขันฟุตบอลเดินสาย ถือเป็นเรื่องของทั้ง 2 ฝ่ายในการลงโทษหากนักฟุตบอลทำผิดและระบุในสัญญา เช่น ปรับเงิน, ตัดเงิน, ยกเลิกสัญญา เป็นต้น