“เมาแล้วขับ” ถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายของทุกประเทศบนโลกใบนี้ เพราะมันแสดงให้เห็นถึงการไม่มี “สติ” อยู่กับตัว มีโอกาสสูงที่จะเกิดผลกระทบต่อตัวเองและคนรอบข้างจนถึงขั้นเสียชีวิต
สำหรับวงการกีฬาเอเชียตะวันออก ที่ประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ก็เกิดกรณีนักกีฬาเมาแล้วขับมานักต่อนัก ล่าสุด เมื่อช่วงต้นเดือนเมษายน 2023 ได้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวกับ โจนาธาน โมย่า นักฟุตบอลจากเคลีก 2 หรือลีกอาชีพรองของเกาหลีใต้ และบทเรียนที่อดีตกองหน้าทีมชาติคอสตาริกาได้รับในครั้งนี้คือถูกสโมสรเอฟซี อันยาง ยกเลิกสัญญา
เมื่อนักกีฬาคนหนึ่งเข้าไปเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์เมาแล้วขับ ผลกระทบที่ตามมาหลังจากนั้นเป็นแบบไหน กฎหมายเมาแล้วขับของทั้งญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ สองประเทศนี้มีมาตรการอย่างไร และวงการกีฬาไทยสามารถเรียนรู้อะไรจากกรณีนี้ได้บ้าง
ติดตามได้ที่ Main Stand
เมาแล้วขับกับสังคมญี่ปุ่น & เกาหลี
ถึงแม้ว่าทุกประเทศบนโลกจะมีกฎหมายลงโทษประชาชนที่ทำผิดฐานเมาแล้วขับและมีการรณรงค์หนักแน่นอยู่เรื่อยมา ไม่ว่าจะกับทั้งการสังสรรค์ของคนในเมืองใหญ่ไปจนถึงการสังสรรค์ตามชุมชนขนาดย่อม จนปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาเมาแล้วขับไม่เคยหมดไปจากโลกใบนี้
เหตุผลสำคัญประการหนึ่งคงหนีไม่พ้นเรื่องความประมาทและชะล่าใจที่เชื่อว่าปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ที่ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองเสียสติและยังมีสติที่พอจะดำเนินชีวิตในช่วงเวลาต่อจากนั้นแล้วไปขับยานพาหนะ หลายต่อหลายครั้งนำมาซึ่งความสูญเสียเล็ก ๆ น้อย ๆ ไปจนถึงเสียชีวิตกับทั้งตัวเองไปจนถึงบุคคลอื่นที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่
ยิ่งเกิดขึ้นกับประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องระเบียบวินัย มีความรับผิดชอบในตัวเองสูง และเป็นประเทศที่การเคารพสิทธิของคนอื่นมาเป็นอันดับต้น ๆ อย่างญี่ปุ่น แน่นอนว่าผลกระทบที่ตามมาคือการถูกสังคมตั้งคำถามถึงการละเมิดบรรทัดฐานทางสังคม
ส่วนหนึ่งเพราะดินแดนซามูไรได้รับการยกย่องจากผู้คนทั่วโลกว่าเป็นหนึ่งในชาติลำดับต้น ๆ ที่ขึ้นชื่อเรื่องวัฒนธรรมความมีวินัยที่ว่ากันว่าถูกปลูกฝังกันมาตั้งแต่เด็ก กอปรกับตามหลักความเชื่อต่าง ๆ ของชนแดนอาทิตย์อุทัย เช่น ลัทธิชินโต กับเรื่องความสะอาด ฯลฯ
เป็นเหตุให้คนญี่ปุ่นไม่มากก็น้อยซึมซับกับเรื่องเหล่านี้จนกลายเป็นเรื่องปกติในชีวิต ไม่ว่าจะเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ของผู้คนในชีวิตประจำวัน อย่างการต่อแถวรอรับคิว ต่อแถวรอซื้อของ การตรงต่อเวลา และมารยาทในที่สาธารณะ
ไปจนถึงภาพจำวงการกีฬาผ่านทีมชาติญี่ปุ่น อย่างในศึกฟุตบอลโลก 2022 ดังที่เห็นภาพแฟนบอลเดินเก็บขยะในโซนตัวเองเพื่อเอาไปทิ้ง ไปจนถึงเหตุการณ์ห้องพักนักกีฬาดูเป็นระเบียบ ซึ่งมาจากนักกีฬาและเจ้าหน้าที่ที่ช่วยกันรักษาความสะอาด จนทั่วโลกให้การชื่นชมและนำมาเป็นแบบอย่าง
ขณะที่ประเทศเกาหลีใต้ ใครหลายคนรับรู้ว่าการเกิดขึ้นและส่งออกบุคลากรจากหลากหลายอุตสาหกรรมในประเทศผ่านตัวบุคคลผู้มีชื่อเสียง อย่างในวงการบันเทิงและกีฬา นำมาซึ่งรายรับและชื่อเสียงมหาศาลที่ไปได้ไกลสู่ระดับโลก
โดยบุคคลผู้มีชื่อเสียงเหล่านี้ถูกกรอบคิดของสังคมกำหนดไว้ว่าต้องเป็นคนที่มีภาพลักษณ์ดีงามและเป็นแบบอย่างที่ดีต่อสังคม หากใครเหล่านี้เกิดทำเรื่องผิดแปลกออกไป โดยเฉพาะเรื่องที่ผิดกฎหมายก็ยากที่จะหลีกเลี่ยงการถูกสังคมตั้งคำถาม
ดีไม่ดีถึงขั้นประณามใส่ทั้งบนโลกจริงและโลกออนไลน์จนต้องออกมาน้อมรับผิดไปจนถึงขอโทษเป็นการใหญ่ เพราะไม่เช่นนั้นก็อาจจะไม่มีที่ยืนในสังคมต่อไปอีกนาน
ด้วยเหตุนี้ ทุก ๆ ประเทศย่อมมีจุดที่ “ความเป็นอื่น” เข้ามาเกี่ยวข้องอยู่บ่อย ๆ อย่างเหตุการณ์เมาแล้วขับของทั้งสองประเทศในเอเชียตะวันออกที่เรียกได้ว่าอยู่คู่ขนานกันกับสังคมประเทศแบบเนียนสนิท
และในหลาย ๆ ครั้งความท้าทายวิถีชนของคนทั้งสองชาติในรูปแบบนี้ดันเกิดขึ้นจากนักกีฬาอาชีพ
กรณีศึกษาจากญี่ปุ่น
แม้ญี่ปุ่นจะขึ้นชื่อว่าเป็นชาติที่เคร่งครัดเรื่องวินัย ทว่าคนที่นี่ (รวมทั้งต่างชาติที่เข้ามาอาศัยอยู่ญี่ปุ่น) กลับมีวัฒนธรรมการดื่มแอลกอฮอล์ที่เป็นที่นิยมไม่แพ้ชาติใด ไล่ตั้งแต่การเปิดจำหน่ายแอลกอฮอล์ 24 ชั่วโมง ไปจนถึงภาพการดื่มเฉลิมฉลองช่วงเลิกงาน หรือการเลี้ยงสังสรรค์แบบกลุ่มคนรู้จัก เป็นต้น
ด้วยเหตุนี้จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่กรณีเมาแล้วขับจะเกิดขึ้นบนท้องถนนแดนปลาดิบ และในจำนวนนี้มีกรณีที่เกิดขึ้นกับนักกีฬาชื่อดัง รวมถึงนักกีฬาจากสโมสรกีฬาชื่อดังในประเทศอยู่หลายกรณี
อย่างไรก็ดี นับแต่ปี 2013 เป็นต้นมา statista.com หรือเว็บไซต์ที่เก็บรวบรวมข้อมูลสถิติรายปีในด้านต่าง ๆ เผยตัวเลขการเกิดอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับการเมาแล้วขับในประเทศญี่ปุ่น แม้ในแต่ละปีก็มียอดแตะหลัก 2 พันครั้ง ทว่ายอดอุบัติเหตุจะดูลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงที่โควิด-19 ระบาดหนัก เนื่องจากคนไม่ได้ออกจากบ้านตามมาตรการของประเทศ
และสาเหตุสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้ยอดอุบัติเหตุลดลง นั่นคือ “กฎหมาย” เกี่ยวกับคดีเมาแล้วขับของญี่ปุ่นที่มีความเข้มงวดและมีการปรับแก้กฎหมายเพื่อให้ประเทศเกิดอุบัติเหตุจากสาเหตุนี้น้อยที่สุด
โดยกฎหมายเมาแล้วขับฉบับที่ขึ้นชื่อว่าเข้มงวดมากที่สุดครั้งหนึ่งของญี่ปุ่นคือการแก้กฎหมายใหม่ของประเทศ ในปี 2007 นอกจากจะมีการเพิ่มโทษสำหรับผู้ที่ดื่มแล้วขับ ยังรวมไปถึงการกำหนดบทลงโทษสำหรับบุคคลอื่นที่มีส่วนร่วมรับผิดชอบกับการกระทำของผู้ขับขี่คนนั้น ๆ อีกด้วย
สำหรับโทษที่ผู้ขับขี่ได้รับจะขึ้นอยู่กับระดับความเข้มข้นของปริมาณแอลกอฮอล์ที่ตรวจพบ มีโทษปรับคิดเป็นเงินไทยตั้งแต่ 120,000-260,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 3-5 ปี ฯลฯ และหากเกิดกรณีนี้ขึ้นกับตัวนักกีฬาไม่ว่าจะคนญี่ปุ่นเองหรือต่างชาติ นอกเหนือไปจากเรื่องนอกสนามที่ต้องเผชิญ พวกเขาเหล่านี้ยังเจอโทษจากสโมสรสังกัด ซึ่งหากโดนสอบวินัยแล้วพบว่ารุนแรงมาตรการที่ร้ายแรงที่สุดก็คือโดนยกเลิกสัญญาแบบเด็ดขาด
เช่นวงการฟุตบอลเจลีก 1 หรือลีกอาชีพสูงสุดของญี่ปุ่น ในปี 2021 เมื่อ อเดมิลสัน (Ademilson) กองหน้าตัวหลักของสโมสรกัมบะ โอซากา ก่อเหตุขับรถชนรถยนต์คันอื่นโดยประมาทบนทางด่วนเมืองอิบารากิ จังหวัดโอซากา และเป็นการขับรถชนแล้วหนี ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งข้อหาหลังตรวจวัดปริมาณแอลกฮอลล์และพบว่าเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด
ผลจากเหตุการณ์ดังกล่าว แม้หัวหอกบราซิลผู้นี้จะเป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญในแผงเกมรุกของทีม ทว่ากัมบะก็ไม่ลังเลที่จะยกเลิกสัญญาทันที
มากกว่านั้น “ทีมเด็กสายฟ้าแห่งโอซากา” ยังถูกเจลีกปรับเงิน 3 ล้านเยน หรือราว 770,000 บาท ฐานไม่สามารถดูแลนักเตะของทีมจนก่อให้เกิดเรื่องเสื่อมเสียและเป็นการทำลายภาพลักษณ์ที่ดีของวงการลูกหนังในประเทศ พร้อมจัดอบรมทีมเพื่อไม่ให้เกิดเรื่องลักษณะนี้ขึ้นอีก
“ที่ญี่ปุ่นถ้าใครเมาก็จะใช้แท็กซี่ เมาแล้วต้องไม่ผิดกฎหมาย นักเตะกัมบะในกรณีล่าสุด กินจบตีสาม เช้ามาดันไปขับรถไปซ้อมแล้วเกิดอุบัติเหตุ พอโดนเป่าแล้ว (ค่าแอลกอฮอล์) ขึ้นก็โดนยกเลิกสัญญา” ทิวาพล สังขพันธ์ ล่ามส่วนตัวของ สุภโชค สารชาติ ที่คอนซาโดเล ซัปโปโร เผยข้อความลงเฟซบุ๊กส่วนตัว
กรณีของนักกีฬาชาวญี่ปุ่นก็เช่นกัน ดังเคสของ ทาคาฮิโร่ ยานางิ อดีตกองหลังคอนซาโดเล ซัปโปโร ที่เคยร่วมงานกับ ชนาธิป สรงกระสินธ์ ในปี 2021 ปีต่อมา (2022) เขาย้ายไปเล่นให้อวิสปา ฟุกุโอกะ ด้วยสัญญายืมตัว
กับเส้นทางลูกหนังที่ดูเหมือนจะสดใส ทว่าในปีดังกล่าวกราฟชีวิตของเขาก็ดิ่งลงถึงขั้นโดนทีม “ผึ้งพิฆาต” ยกเลิกสัญญายืมตัวภายในหนึ่งวัน หลังถูกตรวจวัดแอลกอฮอล์ในเลือดช่วงเช้าก่อนไปรายงานตัวซ้อมประจำวันกับทีม
เหตุการณ์ของยานางิได้กลายเป็นหัวข้อใหญ่ที่สโมสรอยู่เฉยไม่ได้ นอกจากจะออกแถลงการณ์ขอโทษแฟนบอลและผู้มีส่วนได้เสียกับสโมสรแล้ว ทางอวิสปายังประกาศจัดอบรมเรื่องเมาแล้วขับให้กับนักเตะและเจ้าหน้าที่ทีม ดังกรณีของกัมบะเพื่อไม่ให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีกด้วยอีกทาง
ผลสืบเนื่องที่ตามมาจากกรณีนี้ คอนซาโดเลเลือกปล่อยแข้งวัยเบญจเพสไปเล่นให้เอฟซี ริวกิว ในระดับเจลีก 3 เรียกได้ว่าเขาต้องกลับไปนับหนึ่งใหม่ในลีกอาชีพระดับล่างสุดของประเทศ
กรณีศึกษาจากเกาหลีใต้
เกาหลีใต้เป็นหนึ่งในชาติที่มีวัฒนธรรมกินดื่มที่โดดเด่นไม่น้อยไปกว่าที่ใด ดังที่คนทั่วทุกมุมโลกสามารถเห็นได้ด้วยสายตาจากการถ่ายทอดวัฒนธรรมผ่านอุตสาหกรรมบันเทิงของประเทศ ผ่านบุคคลในวงการบันเทิงไปจนถึงผู้มีชื่อเสียงในแวดวงอื่น ๆ
เพราะเกาหลีใต้มีกรณีที่เกี่ยวข้องกับคนเมาแล้วขับจนเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงกับผู้บริสุทธิ์หลายต่อหลายครั้ง ยกตัวอย่างคือ หลังการผ่อนปรนมาตรการโควิด-19 ครั้งแรกของประเทศในเดือนพฤศจิกายน 2021 ร้านกินดื่มที่จำหน่ายแอลกอฮอล์กลับมาคึกคักอีกครั้ง ว่ากันว่าที่เกาหลีใต้เกิดอุบัติเหตุเกี่ยวกับเมาแล้วขับสูงกว่า 1,400 คน ภายใน 4 วัน
จนคนเกาหลีใต้แทบจะกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า เมื่อมีคนใดคนหนึ่ง “เอาเหล้าเข้าปาก” แล้วเกิดอุบัติเหตุ ไม่ว่าจะหนักหรือเบา นี่ถือเป็น “อาชญากรรมร้ายแรง” ของประเทศ
เกาหลีใต้มีการปรับเปลี่ยนกฎหมายเกี่ยวกับเมาแล้วขับให้ชัดเจนและจริงจังในเรื่องของโทษที่จะได้รับ ไล่ตั้งแต่การเพิ่มโทษจากปริมาณแอลกลฮอลล์ในเลือดที่ถูกเจ้าหน้าที่ตรวจพบ และความเสียหายจากการเมาแล้วขับ
ตัวอย่างโทษตามข้อมูลจาก Seoul Law Group หรือบริษัทที่ปรึกษากฎหมายเกาหลีใต้ ระบุไว้ว่าโทษสูงสุดของคนเกาหลีที่เมาแล้วขับและทำให้มีผู้เสียชีวิตคือเพิกถอนใบขับขี่เป็นเวลา 5 ปี ขณะที่โทษสูงสุดของคนต่างชาติที่เมาแล้วขับคือจำคุกขั้นต่ำ 3 ปี หรือตลอดชีวิต
อนึ่ง ยังไม่นับแรงกดดันจากสังคมที่อาจทวีคูณเข้ามาเพิ่ม โดยเฉพาะกับกลุ่มบุคคลที่มีชื่อเสียงหรือกลุ่มคนที่เสมือนเป็นตัวแทนสังคม
นอกจากนี้ในหลาย ๆ ครั้งก็เกิดจากแรงผลักดันของประชาชนในประเทศ อาทิ ร่างกฎหมาย “ยุน ชาง-โฮ” หรือการเรียกร้องปรับบทลงโทษหากผู้กระทำผิดเกี่ยวกับระดับแอลกอฮอลล์ในเลือดเกินกำหนด ให้อนุญาตระงับและเพิกถอนใบขับขี่ได้
และนั่นก็ทำให้เหตุการณ์เมาแล้วขับที่เกี่ยวข้องกับนักกีฬากีฬาในเกาหลีใต้มีโทษไม่ต่างจากที่ญี่ปุ่น กล่าวคือ นอกจากจะเป็นเรื่องที่ว่าไปตามกฎหมายแล้ว สิ่งสำคัญคือจะถูก “ตัดหางปล่อยวัด” จากต้นสังกัดทันที
ดังกรณีของ โจนาธาน โมย่า กองหน้าของเอฟซี อันยาง ที่แม้จะเพิ่งเป็นฮีโร่ให้ทีมในเกมถล่ม ชุงนัม อาซาน 3-0 ในศึกเคลีก 2 หรือลีกอาชีพรองของประเทศ ทว่าหลังเกมเขาได้ขับรถไปยังกรุงโซลเพื่อกินดื่มพักผ่อนหลังแข่ง เหตุการณ์ต่อจากนั้นคือการเมาแล้วขับขณะกลับที่พัก
ผลที่ตามมาของอดีตหัวหอกทีมชาติคอสตาริกาคือโดนเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจแอกอฮอล์ในร่างกายและพบว่าเกินที่กฎหมายกำหนด เคราะห์ดีอย่างเดียวในเหตุการณ์นี้คือไม่มีผู้บริสุทธิ์คนใดได้รับบาดเจ็บ
นอกจากจะโดนควบคุมตัว โดนปรับ และอื่น ๆ ไปตามระเบียบกฎหมายเกาหลีใต้ โทษทางกีฬาที่เขาได้รับคือการถูกยกเลิกสัญญากับทีมภายในไม่ถึงหนึ่งวัน แม้จะเป็นนักเตะตัวหลักก็ตามที
“การตัดสินใจของเราก็เพื่อป้องกันไม่ให้มีการกระทำผิดเกิดขึ้นอีก” นี่คือข้อความบางช่วงบางตอนจากแถลงการณ์ของสโมสร และสโมสรก็ได้รับคำชื่นชมเป็นวงกว้างจากการตัดสินใจที่เด็ดขาด
เพราะนี่ถือเป็นตัวอย่างของนักกีฬาอาชีพ ซึ่งเป็นแบบอย่างให้เยาวชนของสโมสร รวมถึงมีชื่อทีมอาชีพแห่งเมืองอันยางติดอยู่บนหน้าอกด้านซ้าย เพื่อไม่ให้เสื่อมเสียชื่อเสียงก็จำเป็นใช้มาตรการขับให้พ้นทีม ขณะที่นักเตะก็ออกมายอมรับผิดและน้อมรับกับโทษที่ได้รับแต่โดยดี
หรือแม้แต่เคสของ ชอนบุค ฮุนได มอเตอร์ส ที่ถึงขั้นยอมเสียโควตาผู้เล่นเอเชียไปแบบฟรี ๆ ช่วงกลางฤดูกาลเคลีก 1 ปี 2022 เมื่อสโมสรตัดสินใจยุติสัญญา ทาคาฮิโร่ คุนิโมโตะ ดาวเตะญี่ปุ่น หลังถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวจากเหตุเมาแล้วขับ
กับนักกีฬาทีมชาติก็ไม่ได้รับสิทธิพิเศษใด ๆ ทั้งยังอยู่ในช่วงที่เส้นทางอาชีพถูกหยุดเรื่องของความสำเร็จเอาไว้ ดังเหตุการณ์เมื่อกลางปี 2022 เมื่อ คิม มิน-ซอค นักกีฬาสปีดสเก็ตดีกรีเหรียญเงินประเภททีม (หนึ่งสมัย) ในโอลิมปิกฤดูหนาว 2018 และเหรียญทองแดง ประเภทชาย 1,500 เมตร (สองสมัย) ในโอลิมปิกฤดูหนาวที่พย็องชาง (2018) และปักกิ่ง 2022
โดย มิน-ซอค ก่อเรื่องฉาวขับรถชนด้วยความประมาท เนื่องด้วยอาการเมาสุราขณะขับขี่ใกล้ ๆ ศูนย์ฝึกแห่งชาติที่จินชอน ทางภาคกลางของประเทศ เป็นเหตุให้เขาถูกสหพันธ์สเก็ตเกาหลี (KSU) ตอบโต้ด้วยการแบนเป็นระยะเวลา 18 เดือนโดยไม่ให้ยื่นอุทธรณ์
เพราะนี่เป็นการทำให้วงการกีฬาเสื่อมเสียชื่อเสียง และเป็นแบบอย่างที่ไม่ดีให้กับสังคมนั่นเอง
ดูละครแล้วย้อนดูตัว
กรณีเมาแล้วขับนับเป็นความผิดร้ายแรงทั้งในประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีใต้หากนักกีฬาคนใดถูกจับได้ ยิ่งมีสัญญากับต้นสังกัดไม่ว่าจะทั้งระดับสโมสรหรือทีมชาติ ผลที่ตามมาที่ยากจะหลีกเลี่ยงคือการถูกลงโทษทั้งทางกฎหมายและทางวินัย
จริงอยู่ที่โทษที่นักกีฬาแต่ละคนได้รับในทางกฎหมายก็อาจจะมีลดหลั่นกันไปตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เช่นเดียวกับบทลงโทษทางวินัยที่กำหนดโดยหน่วยงานกีฬาหรือสโมสรสังกัดก็อาจแตกต่างกันไปตามแต่ละแนวทาง
แต่สิ่งหนึ่งที่ทั้งสองประเทศเลือกทำในทางเดียวกันคือปล่อยสถานการณ์เหล่านี้ให้ไม่นานเกินรอ ผลพิพากษาจากต้นสังกัดหรือสมาคมใด ๆ มักจะเกิดขึ้นภายใน 24 ชั่วโมง แม้บางเคสจะยังอยู่ในช่วงกระบวนการตามกฎหมายอยู่ก็ตาม
แถมบางเหตุการณ์ยังมีการอบรมนักกีฬาและทีมงานเพื่อให้ตระหนักถึงเหตุการณ์ที่มีจุดเริ่มต้นมาจากความประมาทและขาดความรับผิดชอบ ซึ่งเราได้เห็นจากทั้งสองประเทศอย่างชัดเจน
ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นถึงการตัดสินใจที่เด็ดขาดโดยที่ไม่ต้องรอให้สังคมมาคอยตั้งคำถามหรือวิจารณ์ในภายหลัง และไม่รอรีว่าจะเอาอย่างไรต่อ ในระหว่างที่โทษทางกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
อย่างไรก็ดี บางที่กลับมองโทษเมาแล้วขับเป็นโทษที่ไม่รุนแรง เป็นเพียงอุบัติเหตุที่เกิดจากความโชคร้าย และไม่ว่าบุคคลหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์คนใด “คิด” ในลักษณะนี้
นี่ถือเป็นการขาดความรับผิดชอบอย่างร้ายแรง
แหล่งอ้างอิง
http://www.football-asian.com/news/articleView.html?idxno=3527
https://seoullawgroup.com/dui-korea/
https://www.newsdirectory3.com/takahiro-kunimoto-arrested-for-drunk-driving-past-of-problem-behavior-in-urawa-and-fukuoka-football-tribe-japan/
https://www.facebook.com/215019481926901/photos/a.444616095633904/3586628521432630
https://www.facebook.com/tivapol.sankapan/posts/pfbid0fLsJoSANR9x6PZ663dEyP4pyAFBhTvQCZKU6UWVWm1UwFibMqL17Mrdvxevp9JyCl?locale=th_TH
https://www.dek-d.com/studyabroad/60517/
https://www.tcijthai.com/news/2017/4/watch/6939
https://www.goal.com/jp/%E3%83%8B%E3%83%A5%E3%83%BC%E3%82%B9/Jleague-J1-fukuoka-sapporo-yanagi-20220830/
https://www.insidethegames.biz/articles/1127153/speed-skating-drink-driving