Feature

อิสราเอล : อดีตทีมชาติโซนเอเชีย ที่ความขัดแย้งในภูมิภาคแปรเปลี่ยนให้เป็นตัวแทนยุโรป | Main Stand

เหตุการณ์ใหญ่ในแวดวงลูกหนังโลก ในรอบสัปดาห์สุดท้ายของเดือนมีนาคม 2023 หนีไม่พ้นการที่สหพันธ์ลูกหนังนานาชาติ หรือ FIFA ประกาศถอดชื่ออินโดนีเซีย จากการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก รุ่นอายุไม่เกิน 20 ปี หลังเกิดปัญหาพิพาทกับอิสราเอล ส่งให้ทีมชาติอิสราเอล ไม่สามารถเดินทางมาแข่งขันยังดินแดนการูด้าได้

 


เป็นที่ทราบกันดีว่าอิสราเอล มีปมความขัดแย้งกับปาเลสไตน์มาช้านาน นั่นทำให้เสียงส่วนหนึ่งของประชาชนชาวอินโด ในฐานะของคนจากรัฐอิสลาม เลือกยืนอยู่ข้างปาเลสไตน์และออกมาต่อต้านอิสราเอล เป็นเหตุให้อินโดนีเซีย ชวดเป็นเจ้าภาพมหกรรมลูกหนังเยาวชนโลกไปในที่สุด

นี่ไม่ใช่หนแรกที่เกิดเหตุการณ์ที่ประเทศซึ่งมีประชากรส่วนใหญ่ หรือเกือบทั้งหมดที่นับถือศาสนาอิสลาม เลือกต่อต้านทีมชาติอิสราเอล เพราะหากย้อนกลับไปในหลายทศวรรษ อิสราเอลก็เคยเจอกรณีดังกล่าว จนถึงขั้นต้องเปลี่ยนชาติสมาชิกลูกหนังจากสหพันธ์ฟุตบอลเอเชีย ไปเป็นสมาชิกของสหพันธ์ฟุตบอลยุโรปแทน

Main Stand อาสาพาผู้อ่านย้อนติดตามเรื่องราวของทีมชาติอิสราเอล จากอดีตที่เคยเป็นหนึ่งในทีมฟุตบอลชั้นนำตัวแทนจากทวีปเอเชีย มาสู่สมาชิกขององค์การลูกหนังยุโรปไปพร้อม ๆ กัน

 

อิสราเอล-ปาเลสไตน์ กับความขัดแย้งที่ยังไม่มีวันจบสิ้น

นับแต่ที่จักรวรรดิออตโตมัน ในฐานะผู้ปกครองพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งตั้งอยู่ในแถบตะวันออกกลาง  มาเป็นเวลากว่าร้อยปี เกิด “พ่ายแพ้” ในสงครามโลกครั้งที่ 1 

เป็นเหตุให้หนึ่งในฝ่ายผู้ชนะสงครามในครานั้นอย่าง “อังกฤษ” เข้ายึดครองดินแดน และได้รับบทบาทจากนานาชาติ โดยอังกฤษได้กำหนดให้ปาเลสไตน์เป็น "บ้านแห่งชาติของชาวยิว (a national home for the Jewish people)” ด้วยแนวทางซึ่งเป็นที่รับรู้กันในสากลว่า ทั้งคนมุสลิมซึ่งเป็นคนส่วนมากในพื้นที่ รวมถึงชาวยิวบางส่วนในยุคแรก และภายหลังที่อพยพเข้ามา โดยเฉพาะช่วงที่ถูกไล่ล่าฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โดยนาซี “จะต้องไม่เลือกปฏิบัติต่อสิทธิทางศาสนาและพลเมืองของกันและกัน”

อย่างไรก็ดี เมื่อชาวอาหรับปาเลสไตน์ยืนกรานว่าดินแดนแห่งนี้เป็นบ้านที่พวกเขาเกิดและเติบโตมา ท่ามกลางการโยกย้ายถิ่นฐานมายังดินแดนดังกล่าวอย่างต่อเนื่องของคนยิว ถึงขั้นได้รับขนานนามว่าเป็นโครงการเรียกคืนแผ่นดินมาตุภูมิคนยิว ซ้ำยังมีภาพจำติดอยู่ตลอด สำหรับชนมุสลิมปาเลสไตน์ ที่ว่าชาวยิว เป็นหนึ่งในกลุ่มชนที่โจมตีจักรวรรดิออตโตมันจนต้องพ่ายแพ้ในสงคราม จากกลยุทธ์การศึกของฝ่ายสัมพันธมิตร 

ทั้งหมดนี้ ยิ่งตอกย้ำว่าการอยู่ร่วมกันในแผ่นดินเดียวกัน เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้

จุดแตกหักอย่างเป็นทางการมาเกิดขึ้นในปี 1947 เมื่อองค์การสหประชาชาติ (UN) มีมติแบ่งดินแดนบางส่วนออกเป็นรัฐของชาวยิวและชาวอาหรับ กลายเป็นจุดกำเนิดประเทศของชาวยิว ที่ถูกจัดตั้งขึ้นบนแผ่นดินปาเลสไตน์ในนาม “อิสราเอล” ช่วงปีต่อมา (1948) เป็นเหตุให้ชาวอาหรับพื้นถิ่นเดิมกลายสถานะมาเป็นผู้ลี้ภัย เพราะบ้านเกิดเมืองนอนของตัวเองแปรเปลี่ยนเป็นพื้นที่อิสราเอลไปแล้ว

นอกจากนี้ ด้วยการที่นานาชาติยังกำหนดให้ “นครเยรูซาเลม” ดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์ของสามศาสนา (คริสต์ อิสลาม และยูดาห์) กลายสถานะเป็นเมืองนานาชาติ แม้ฝ่ายยิวจะยอมรับข้อตกลง ทว่าฝ่ายปาเลสไตน์ไม่ตกลงด้วย

นำมาซึ่งการเกิดการสงครามระหว่างเชื้อชาติ ศาสนา เกิดการนองเลือด เกิดความตึงเครียด ระหว่างชาวอิสราเอลและปาเลสไตน์อยู่เรื่อยมา 

โดยเฉพาะการปะทะกันบ่อย ๆ ดังที่ประชากรโลกรับรู้บนหน้าสื่อ ในพื้นที่เยรูซาเลมตะวันออก บริเวณฉนวนกาซา รวมไปถึงเขตเวสต์แบงก์ ตลอดช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมานี้ และยังไม่มีท่าทีจะยุติความขัดแย้งลงได้แต่อย่างใด

เพราะทั้งหมดทั้งมวลแล้ว อิสราเอลและปาเลสไตน์ต่างก็เชื่อว่านี่คือ “บ้าน” ของพวกเขา

 

การบอยคอตจากชาติร่วมภูมิภาค

เนื่องจากที่ตั้งของประเทศอิสราเอล ตั้งอยู่บริเวณพื้นที่ตะวันออกกลาง (Middle East) โดยมีจุดเชื่อมโยงระหว่างทวีปยุโรป เอเชีย และแอฟริกา มีพรมแดนทางตอนเหนือติดกับประเทศเลบานอน ทางตะวันออกเฉียงเหนือติดทีมประเทศซีเรีย ทางตะวันออกติดกับจอร์แดน และติดกับประเทศอียิปต์ ทางตะวันตกเฉียงใต้

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกใจ ที่อดีต พวกเขาเคยลงทำการแข่งขันฟุตบอลในฐานะทีมชาติจากโซนตะวันออกกลาง โดยในระหว่างปี 1954 ถึง 1974 สมาคมฟุตบอลอิสราเอล หรือ IFA อยู่ร่วมสังกัดองค์การแม่ในทวีป อย่างสหพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชีย (AFC)

แต่ด้วยเหตุผลที่ว่า ก่อนที่ดินแดนที่ตั้งปัจจุบันของประเทศอิสราเอลจะเกิดขึ้นในปี 1948 ดินแดนดังกล่าวเคยเป็นของปาเลสไตน์ และนั่นก็ทำให้พื้นที่นี้เคยเป็นของสมาคมฟุตบอลปาเลสไตน์มาก่อน 

ทว่าเมื่ออิสราเอลได้กลายเป็นประเทศโดยสมบูรณ์แล้ว สมาคมฟุตบอลที่ตั้งจากเดิมเป็นปาเลสไตน์ ก็ได้ถูกแปรเปลี่ยนเป็นสมาคมฟุตบอลอิสราเอล แน่นอนว่าสิ่งที่อยู่ในความคิดของบรรดารัฐมุสลิมรอบข้าง ไปจนถึงรัฐอื่น ๆ ร่วมภูมิภาคเอเชียที่มีความเชื่อเรื่องศาสนาเดียวกัน มองมายังอิสราเอลในฐานะ “ความเป็นอื่น” อย่างไม่ต้องสงสัย 

ด้วยเหตุนี้ หลาย ๆ ชาติจึงเลือกปฏิเสธลงแข่งขันฟุตบอลร่วมกับทีมชาติอิสราเอล นำมาซึ่งเหตุการณ์แปลก ๆ ในแวดวงลูกหนังโซนนี้อยู่บ่อยครั้ง 

ตัวอย่างเด่นชัดที่สุดคือการคัดเลือกฟุตบอลโลก 1958 โซนเอเชียและแอฟริกา (ในเวลานั้นยังรวมสองทวีปเข้าชิงชัยร่วมกัน) ผลปรากฏว่าชาติมุสลิมที่ได้สิทธิ์ลงแข่งเกมรอบคัดเลือกตั้งแต่รอบแรกไปจนรอบสุดท้าย และโคจรมาเจอกับทีมชาติอิสราเอล ไล่มาตั้งแต่ตุรกี, อินโดนีเซีย, อียิปต์ และซูดาน กลับไม่มีทีมใดขอลงแข่งกับทัพ “เดอะบลูส์ แอนด์ ไวท์” แม้แต่ชาติเดียว ทุกทีมพร้อมจะถอนตัวจากการแข่งขันแบบไม่ต้องลังเลนาน

แต่ FIFA จะให้อิสราเอลตีตั๋วไปฟุตบอลโลก ณ ดินแดนสวีเดนแบบไม่ตั้งออกแรงเหนื่อยสักนัดมันก็กระไรอยู่ องค์การใหญ่ลูกหนังโลกจึงจัดให้อิราเอลไปเล่นเพลย์ออฟวัดกับเวลส์แทน ก่อนที่ผลการแข่งขันทั้งสองนัดที่เจอกัน จะเป็นทีมมังกรแดง ที่ชนะสกอร์รวม 4-0

หรือแม้แต่เหตุการณ์ช่วง 6 ปีต่อจากนั้น อิสราเอลรับหน้าเสื่อเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันเอเอฟซี เอเชียน คัพ หรือศึกฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติเอเชีย ปี 1964 แม้พวกเขาจะเป็นแชมป์รายการดังกล่าวเป็นสมัยแรกได้ 

ทว่าการแข่งขันครั้งนั้น ว่ากันว่าเป็นช่วงที่ “กร่อย” มากที่สุดครั้งหนึ่ง เพราะ 11 จาก 16 ชาติที่พร้อมสำหรับการแข่งขัน เลือกปฏิเสธที่จะเล่นรายการนี้ และแน่นอน ส่วนใหญ่คือชาติที่เห็นต่างจากการที่อิสราเอลได้รับการสถาปนาเป็นรัฐชาติ

เมื่อดูจากกรณีที่หลาย ๆ ชาติในเอเชียเลือกบอยคอตทีมชาติอิสราเอล จะดูเหมือนเส้นทางสู่ทัวร์นาเมนต์ใหญ่ระดับทีมชาติของอิสราเอลมันง่ายไปทั้งหมด เพราะทีมน้อยใหญ่พร้อมจะถอนการแข่งขันเมื่อมีชื่อของชาติใหม่นี้มาเกี่ยวโยง 

อย่างไรเสีย หากมองมายังผลงานของทีมเองก็ไม่ได้ด้อยไปกว่าชาติใด

แม้ว่าบรรดาทีมชาติแห่งรัฐมุสลิมจะต่อต้านฟุตบอลอิสราเอล แต่ช่วงเวลาที่โลดแล่นในทวีปเอเชีย อิสราเอลพิสูจน์ให้เห็นอยู่บ่อย ๆ ว่าช่วงเวลาดังกล่าวเป็น “ยุคทอง” ยุคหนึ่งของวงการลูกหนังชาติ 

นอกเหนือไปจากผลงานการเป็นแชมป์เอเชียน คัพ 1964 แล้ว อิสราเอลยังเคยเข้าถึงรอบก่อนรองชนะเลิศของการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 1968 ที่เม็กซิโกได้ด้วย 

มากกว่านั้น ในอีกสองปีต่อมา (1970) ทีมที่ชุดแข่งขันใช้โทนสีน้ำเงิน-ขาว ยังโชว์แกร่งไล่เชือดออสเตรเลีย 2-1 พร้อมตีตั๋วไปฟุตบอลโลก ณ ดินแดนจังโก้ได้ ถือเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวของประเทศมาจนทุกวันนี้

 

จาก AFC สู่ UEFA

เพราะการที่ทีมชาติอิสราเอล สร้างผลงานและมีบทบาทในฐานะทีมตัวแทนของเอเชีย เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ประเทศคาบเกี่ยวกับสงครามที่โลกใช้ชื่อว่า “สงครามอาหรับ-อิสราเอล” พอดิบพอดี ท้ายสุดได้นำมาสู่เรื่องที่มากไปกว่าการบอยคอต นั่นคือการ “ขับออก” จากสมาชิกของสหพันธ์ฟุตบอลเอเชีย 

ย้อนกลับไปในช่วงยุคทองของวงการลูกหนังอิสราเอล อยู่ในช่วงเกี่ยวเนื่องกับสงครามครั้งใหญ่ ปี 1967 หรือที่รู้จักกันในชื่อ “สงคราม 6 วัน (Six Day War)” ระหว่างอิสราเอลกับรัฐอาหรับ โดยอิสราเอลเป็นฝ่ายจบสงครามด้วยกลการศึกภายในเวลาเพียง 6 วัน พร้อมเข้ายึดครองเยรูซาเลมตะวันออก, เขตเวสต์แบงก์, ฉนวนกาซา, พื้นที่ส่วนใหญ่ของที่ราบสูงโกลันของซีเรีย และพื้นที่คาบสมุทรไซนาย แถวอียิปต์ได้

จากสงครามดังกล่าว เพราะชาติอาหรับที่มีกำลังพลมากกว่า แต่กลับพ่ายในช่วงเวลาไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์ ทำให้ความบาดหมางนั้นดูหนักขึ้นกว่าเดิม นั่นทำให้การสันนิษฐานว่าสงครามครั้งใหม่อาจปะทุได้ทุกเมื่อ

มาจนอีกหนึ่งช่วงเวลาสำคัญที่เป็นรอยต่อสงครามอาหรับ-อิสราเอล กับแวดวงลูกหนัง คือ “สงครามยมคิปปูร์ (YomKippur War)” ในเดือนตุลาคม 1973 โดยคำว่า ยมคิปปูร์ นั้น เป็นวันสำคัญทางศาสนาที่สำคัญและศักดิ์สิทธิ์ของชนชาวยิว เพราะเป็นช่วงเวลา 10 วันที่คนยิวในอิสราเอลใช้เวลาเกือบทั้งวันในโบสถ์ และเป็นวันหยุดของคนยิวอิสราเอล

อียิปต์และซีเรีย เป็นสองชาติที่อาศัยจังหวะคนยิวทำกิจกรรมในโบสถ์ศาสนา เปิดฉากโจมตีใส่ แบบไม่ทันได้ตั้งตัว โดยอียิปต์ได้เคลื่อนกองกำลังเข้ามาในพื้นที่คาบสมุทรไซนาย ซีเรียได้เปรียบและเข้ายึดพื้นที่ในส่วนของที่ราบสูงโกลัน 

กับฝั่งอียิปต์ แม้อิสราเอลจะสามารถทำลายสะพานข้ามคลองสุเอซเพื่อไม่ให้ทหารของอียิปต์นั้นข้ามฝั่งมาได้ ทว่ากับอีกฝั่งหนึ่งที่ปะทะกับซีเรียที่ได้การสนับสนุนด้านอาวุธจากสหภาพโซเวียตของซีเรีย ขณะที่อิสราเอลก็ได้รับการช่วยเหลือด้านอาวุธแบบล็อตใหญ่จากสหรัฐอเมริกา 

นั่นทำให้การคาดการณ์ถึงความสูญเสียจะเกิดขึ้นกับสองฝ่ายที่ขัดแย้งกัน นำมาซึ่งการเจรจาหยุดยิงของสหประชาชาติ กอปรกับแรงกดดันจากโซเวียตที่ส่งไปยังซีเรีย ทำให้สงครามยุติลงพร้อมตัวเลขผู้เสียชีวิตรวมกันเกินหมื่นราย

กลับมาที่วงการฟุตบอลกันอีกครั้ง โดยหนึ่งปีหลังสงครามยมคิปปูร์จบลง เริ่มมีกระแสเรียกร้องกันภายในของสหพันธ์ฟุตบอลเอเชีย ซึ่งเสียงสมาชิกส่วนหนึ่งตั้งใจจะเดินเรื่องขับอิสราเอลออกจากการเป็นตัวแทนลูกหนังเอเชีย นำมาซึ่งการเปิดโหวตจากชาติสมาชิกบางส่วน และผลลัพธ์ที่ได้ก็คืออิสราเอลต้องออกจากการเป็นตัวแทนทีมฟุตบอลจากทวีปเอเชีย

“ในปี 1974 มีการเรียกร้องภายใน AFC โดยสมาชิกส่วนใหญ่ของ AFC เพื่อขับไล่อิสราเอลออกจากองค์กร ด้วยคะแนนเสียง 17-13 เสียง งดออกเสียง 6 เสียง” ดร.คอเนอร์ เฮฟเฟอร์นัน (Conor Heffernan) อาจารย์ด้านสังคมวิทยากีฬาแห่งมหาวิทยาลัย Ulster ระบุ 

“สมาชิก AFC อ้างถึงลำดับความสำคัญที่กำหนดโดยสมาพันธ์ฟุตบอลแอฟริกัน ซึ่งในปี 1958 ได้ขับทีมชาติแอฟริกาใต้ออกจากองค์กร เพื่อประท้วงระบอบการแบ่งแยกสีผิวของแอฟริกาใต้” 

“แต่ในกรณีของอิสราเอล ฟีฟ่ามองว่าอิสราเอลไม่ได้ทำผิดกฎสหพันธ์ฟุตบอลในประเทศ เรื่องนี้ได้สร้างความตกใจให้กับสมาชิก AFC เป็นอย่างมาก นั่นหมายความว่าอิสราเอลจะยังคงสามารถเข้าร่วมการแข่งขันระดับนานาชาติต่อไป และยังคงมีโอกาสลงแข่งขันเพื่อปูเส้นทางผ่านเข้ารอบในรายการระดับนานาชาติได้”

หลังปี 1974 ทีมชาติอิสราเอลไร้องค์การสมาชิกสังกัดอยู่พักใหญ่ พวกเขาเริ่มเส้นทางใหม่ ๆ ในระดับนานาชาติ ผ่านการลงเล่นร่วมกับหลาย ๆ ภูมิภาคบนโลก เริ่มจากโอเชียเนียและเอเชีย ในเส้นทางฟุตบอลโลก 1978 จากนั้นเส้นทางในฟุตบอลโลก 1982 อิสราเอลได้รับอนุญาตให้มาแข่งขันกับโซนยุโรป แม้จะยังไม่ได้เป็นสมาชิกของยูฟ่าก็ตาม

ในการคัดฟุตบอลโลกปี 1986 และ 1990 อิสราเอลกลับมาแข่งขันกับโซนโอเชียเนียอีกครั้ง โดยในปีหลัง (1990) พวกเขาไปไกลถึงการคว้าสิทธิ์เพลย์ออฟ ในฐานะตัวแทนโซน กับตัวแทนจากอเมริกาใต้ อย่างโคลอมเบีย ทว่าด้วยการที่โคลอมเบียอุดมไปด้วยดาวดังทั้ง เรเน่ ฮิกิต้า รวมถึงคาร์ลอส วัลเดอร์รามา อิสราเอลไม่สามารถต้านความแข็งแกร่งนี้ได้

ท้ายสุดด้วยการเดินทางของอิสราเอล กอปกรแรงผลักดันจากหลายภาคส่วน นำมาซึ่งการได้เป็นชาติสมาชิกเต็มรูปแบบของยูฟ่าอย่างเป็นทางการในปี 1994 ส่งผลให้ทีมชาติอิสราเอลทุกชุด กลายเป็นตัวแทนจากทวีปยุโรปนับแต่นั้น 

กาลต่อมา อิสราเอลได้ยกระดับแวดวงลูกหนังของตัวเอง เพื่อยืนหยัดและต่อกรกับเหล่าชาติใหม่ร่วมโซน ที่อุดมไปด้วยซูเปอร์สตาร์ชื่อก้องโลก ซึ่งในหลาย ๆ ช่วงเวลาที่ผ่านมา อิสราเอลก็พิสูจน์ให้เห็นว่าพวกเขาไม่ได้เป็นแค่ชาติ “ไม้ประดับ” ร่วมชิงชัยทัวร์นาเมนต์น้อยใหญ่ไปวัน ๆ

อิสราเอลเคยสร้างผลงานกระฉ่อนยุโรปมาไม่น้อย เช่นการบุกเจ๊าฝรั่งเศสถึงถิ่น 0-0 ช่วงคัดฟุตบอลโลก 2006, เสมออังกฤษ 0-0 เกมคัดฟุตบอลยูโร 2008 และเคยมีช่วงที่ครองจ่าฝูงกลุ่ม ในศึกยูโร 2016 รอบคัดเลือก มาแล้ว ขณะที่การดวลกับทีมเกรดใกล้เคียงกัน ไปจนถึงเหล่า “สมันน้อย” ในยุโรป หลายต่อหลายครั้ง พวกเขาก็โชว์เกมรุกดุดัน เป็นทีมแพ้ยากทีมหนึ่ง

ซ้ำยังมีสตาร์ลูกหนังของประเทศ ที่ได้ออกไปโลดแล่นในลีกระดับท็อปอยู่บ่อย ๆ อาทิ ยอสซี่ เบนายูน ดาวเตะเจ้าของสถิติติดทีมชาติชุดใหญ่มากที่สุด (101 นัด) เคยเป็นนักเตะของเชลซีและลิเวอร์พูล, เช่นเดียวกับทาล เบน ฮาอิม อดีตกองหลังสิงห์บลูส์ หรือแม้แต่อีราน ซาฮาวี ดาวซัลโวสูงสุดของทีมชาติ (33 ประตู) ก็เคยโด่งดังเป็นพลุแตก สมัยเล่นให้พีเอสวี ไอด์โฮเฟ่น ในลีกเนเธอร์แลนด์ส

การที่อิสราเอลกลายสถานะเป็นตัวแทนทีมชาติจากทวีปยุโรป ได้ช่วยให้ความขัดแย้งกับเหล่าทีมชาติโลกมุสลิมลดลงไปอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะอย่างน้อย ๆ โปรแกรมการแข่งขันไม่ได้ถูกจัดมาให้เผชิญหน้ากันตรง ๆ

อย่างไรก็ดี เพราะเราทุกคนบนโลกหลีกเลี่ยงที่จะยกเรื่องกีฬามาปนกับการเมือง รวมถึงการระหว่างประเทศ “ไม่ได้” ประเด็นเหล่านี้มักถูกนำมาร้อยเรียงกันได้อยู่ตลอด

และนั่นก็ทำให้ศึกฟุตบอลโลก รุ่นอายุไม่เกิน 20 ปี 2023 ที่อินโดนีเซียเป็นเจ้าภาพ (ในตอนนั้น) เกิดเป็นประเด็นถกเถียงวงกว้าง เป็นอีกครั้งที่โลกกีฬามีเกี่ยวโยงกับการเมือง การระหว่างประเทศ หลังอินโดฯ ไม่ได้มีมาตรการออกมารับรองความปลอดภัยให้ทีมชาติอิสราเอล ในฐานะตัวแทนจากยุโรป ลงชิงชัยในทัวร์นาเมนต์นี้ 

เป็นเหตุให้อินโดนีเซียโดนตัดสิทธิ์จากการเป็นเจ้าภาพในเวลาต่อมา

 

แหล่งอ้างอิง

https://www.mfa.go.th/th/content/5d5bcc1c15e39c306000a01d?cate=5d5bcb4e15e39c3060006870 
https://punditarena.com/football/thepateam/controversial-case-israeli-football/ 
https://ng.opera.news/ng/en/sports/c163bef849f9388a88f2e84fea2214b1?fbclid=IwAR2xxJ9vLrB2oE_nag9Dqgg3tDexgT3TzZgJF7vM2xSk3e-h2vxvN3IPj_s 
https://news.sky.com/story/why-does-israels-football-team-play-in-europe-10359083?fbclid=IwAR22KHJN8QEn_jMxskfHOdFIfgRwFExBDffS3jcbkgRtDqkrXZdwFG_IJ5o
https://www.shootfarken.com.au/how-israel-became-the-lost-tribe-of-asian-football/?fbclid=IwAR1sxYdE-9GWwynvzRy3sXzvHa-FVGugrBTFhx3BQepvc4qmKcVDoWOTjWI 
https://www.bbc.com/thai/international-57074660 
https://waymagazine.org/the-history-of-the-israelipalestinian-conflict/ 

Author

พชรพล เกตุจินากูล

แฟนคลับเชลซี ติดตามฟุตบอลเอเชีย ไก่ทอดและกิมจิเลิฟเวอร์

Graphic

อรรนพ สะตะ

graphic design ผู้ชื่นชอบกีฬาฮอกกี้, เกมส์, เดินเขา เป็นชีวิตจิตใจ