เขตบร็องซ์ (The Bronx) เป็นหนึ่งในเขตที่มีประชากรอยู่อย่างเนืองแน่นในมหานครนิวยอร์ก มีประวัติศาสตร์น่าสนใจมาอย่างยาวนาน และขึ้นชื่อว่าเป็นแหล่งที่มีปัญหาความยากจน มีกลุ่มแก๊งประจำถิ่น ตลอดจนอาชญากรรมรุนแรงเกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน โดยหนึ่งในย่านที่ถูกพูดถึงมากที่สุด คือบริเวณตอนใต้นาม บร็องซ์ใต้ หรือเซาท์ บร็องซ์ (South Bronx)
พื้นที่ดังกล่าวได้รับยกย่องว่าเป็นแหล่งกำเนิดของการเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรมฮิปฮอป มาตั้งแต่ช่วงกลางทศวรรษ 70 โดยการเกิดขึ้นนี้มีเพื่อให้วัฒนธรรมและแนวดนตรี เป็นเครื่องมือดึงคนในพื้นที่ โดยเฉพาะกลุ่มหนุ่มสาวให้กลับเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสังคม
อย่างไรก็ดี ปัญหาความยากจน ปัญหาอาชญากรรมยังคงปรากฏให้เห็นอยู่มายังช่วง 50 ปีต่อมา แต่ก็ไม่ใช่ว่าคนในพื้นที่รุ่นหลังจะละเลยกับสถานการณ์เช่นนี้ มีกลุ่มคนบางส่วนได้นำกีฬา “ซอคเกอร์” เข้ามาแก้ไขปัญหาและมอบโอกาสที่ดีให้แก่คนในท้องที่ โดยเฉพาะเยาวชน เกิดเป็นทีมซอคเกอร์นาม “เซาท์ บร็องซ์ ยูไนเต็ด (South Bronx United)”
ความสำคัญของทีมเซาท์ บร็องซ์ ยูไนเต็ดที่มีต่อเขตเซาท์ บร็องซ์ นั้นเป็นอย่างไร Main Stand ขอชวนแฟน ๆ มาติดตามเรื่องราวนี้ไปด้วยกัน
เซาท์ บร็องซ์ กับความเหลื่อมล้ำในมหานครนิวยอร์ก
ท่ามกลางตึกสูงระฟ้า กับการเป็นมหานครศูนย์กลางทางเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาไปจนถึงระดับโลก มีความเจริญก้าวหน้าทั้งทางวัตถุและอวัตถุ มาพร้อม ๆ กับความหลากหลายทางสังคมความเป็นอยู่ และวัฒนธรรมของกลุ่มชนต่างเชื้อชาติ ตลอดจนชนชั้นที่มารวมอยู่กันในพื้นที่เดียวกัน นี่คือนิยามโดยสรุปของมหานคร “นิวยอร์ก”
จากอดีตที่เคยมีชื่อว่า “นิว นีเดอร์แลนด์ (New Nederland)” โดยถูกเรียกตามชาวดัตช์ที่เข้ามายึดครองพื้นที่นี้จากกลุ่มชนดั้งเดิม ตามด้วยการสู้รบจนพ่ายให้กับอังกฤษที่เข้ามายึดครองในเวลาต่อมา เมื่อช่วงหลายร้อยปีมาแล้ว ไปจนถึงช่วงเวลาหลังการปฏิวัติอเมริกาสิ้นสุดลง นิวยอร์กเคยเป็นเมืองหลวงแห่งแรกภายใต้รัฐธรรมนูญของประเทศ เป็นต้น
แม้ต่อจากนั้นนิวยอร์กจะถูกลดสถานะไม่ใช่เมืองหลวง ทว่าดินแดนแห่งนี้ก็ยังคงความโอ่อ่าในแง่ของการเป็นเมืองท่าสำคัญของสหรัฐฯ เป็นแหล่งเศรษฐกิจสำคัญ จนได้รับการขนานนามว่าเป็น “เมืองหลวงทางการเงิน” ของประเทศแทน ยังไม่นับการยึดถือเรื่อง “สิทธิ” “เสรีภาพ” และ “การแสวงหาความสุข” ต่าง ๆ ซึ่งเป็นหลักความเชื่อสำคัญของชาวสหรัฐฯ เป็นทุนเดิม
นั่นทำให้ผู้อพยพย้ายถิ่นฐานเข้ามาอยู่มากขึ้น โดยเฉพาะผู้คนจากทั่วมุมโลก ที่หวังย้ายมาเริ่มชีวิตใหม่ ณ พื้นที่แห่งนี้ ข้อมูลของปี 1776 เริ่มมีชาวยุโรปอพยพมายังดินแดนนี้กว่า 25,000 คน ตามมาด้วยการหลั่งไหลของผู้คนจากทั่วมุมโลกมาจนถึงปัจจุบัน
อย่างปี 2021 วิทยุเสียงอเมริกา (VOA) รายงานว่าสหรัฐอเมริกา กลายเป็นประเทศที่นับวันยิ่งจะมีความหลากหลายทางกลุ่มชาติพันธุ์มากยิ่งขึ้น ส่วนหนึ่งก็เพราะการย้ายถิ่นฐานของคนต่างถิ่นนั่นเอง
และถึงแม้จะมีกลุ่มชาติพันธ์ุต่าง ๆ เข้ามาอยู่ในอเมริกามากขึ้น ทว่าสิ่งหนึ่งที่ชี้ให้เห็นชัดเจนว่านิวยอร์ก ยังคงสถานะเดิมไม่มีวันเปลี่ยน ยังคงความเป็นเมืองสำคัญเบอร์ต้น ๆ ของอเมริกาอยู่เรื่อยมา นั่นคือการเป็นมหานครที่คนอาศัยอยู่เยอะที่สุด ที่จำนวน 8.8 ล้านคน (ข้อมูลในปี 2021) ทั้งยังเคยมีข้อมูลที่บอกว่าประชากรกว่าร้อยละ 47 พูดภาษาอื่นที่ไม่ใช่ภาษาอังกฤษ ยามที่ได้รวมตัวกันแบบไม่เป็นทางการ
ด้วยจำนวนประชากรที่อาศัยรวมกันแตะหลัก 8 ล้าน เรื่องความหนาแน่นของประชากรกลายเป็นปัญหาและความท้าทายที่มหานครแห่งนี้ต้องรับมืออยู่เรื่อยมา เพราะมีเรื่องของความเหลื่อมล้ำเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
บร็องซ์ เป็น 1 ใน 5 เขตของนิวยอร์ก และเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ความเหลื่อมล้ำ “ทางสังคม” เกิดขึ้นอยู่บ่อย ๆ ว่ากันว่าย่านที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือสุดของมหานครแห่งนี้ ส่วนใหญ่เป็นถิ่นของกลุ่มคนผิวดำที่ขาดโอกาสทางการศึกษา มีรายได้น้อย และหากจะแยกพื้นที่ย่อยในบรองซ์ลงลึกไปอีก ย่านนี้ยังแบ่งออกไปตามทิศทาง จุดน่าสนใจคือ “บร็องซ์ใต้” หรือเซาท์ บร็องซ์
เขตเซาท์ บร็องซ์เป็นจุดเชื่อมต่อกับสถานที่สำคัญชนิดที่เดินทางไม่นานก็ถึง ไม่ว่าจะเป็นสถานีขนส่งสาธารณะชื่อดังแกรนด์ เซนทรัล, สวนสาธารณะเซนทรัล พาร์ค หรือแม้แต่แยงกี้ สเตเดี้ยม สนามกีฬาของทีมเบสบอลชื่อดังนิวยอร์ก แยงกี้ และทีมฟุตบอล (ซอคเกอร์) อย่างนิวยอร์ก ซิตี้ เอฟซี รวมถึงมี “บันไดโจ๊กเกอร์” หนึ่งในฉากที่ปรากฏในภาพยนตร์ชื่อดัง “Joker” อยู่ในบริเวณนี้ด้วย
อย่างที่กล่าวไว้ก่อนหน้า พื้นที่ดังกล่าวเป็นแหล่งที่อยู่ของกลุ่มผู้ด้อยโอกาสทางสังคมอเมริกัน สาเหตุนี้เกิดขึ้นจากผลกระทบการจัดการปัญหาความแออัดของสลัมในย่านแมนฮัตตัน ซึ่งภาครัฐต้องการผลักชุมชนของคนกลุ่มนี้ออกไปต่างพื้นที่
นั่นทำให้ความแออัด ยากจนของคนถิ่นเดิม บวกกับผู้อพยพที่ส่วนใหญ่เป็นพลเมืองชั้นสองของประเทศเลือกมาอยู่ในบร็องซ์ใต้ เพราะราคาที่ต้องจ่ายนั้น “ถูก” กว่าย่านอื่น ๆ นำมาซึ่งการเกิดผลกระทบด้านมืดของเขตอยู่บ่อยครั้ง
ข้อมูลจากนิวยอร์ก ไทม์ส เผยว่าย่านนี้มีสถิติเป็นพื้นที่ที่มีอัตราการเกิดอาชญากรรมสูงสุด ในบรรดา 5 เขตของเมืองบรองซ์ เช่นเดียวกับงานวิจัยของนักประวัติศาสตร์ที่ชื่อ Elke Weesjes ระบุว่าบร็องซ์ใต้ เป็นหนึ่งในเขตที่ยากจนที่สุดในสหรัฐอเมริกา คนในพื้นที่บางกลุ่มต้องเผชิญกับกลุ่มแก๊งค์ ความรุนแรง การใช้สารเสพติด และการค้าประเวณี ฯลฯ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ดึงคนกลับสู่สังคม ด้วยฮิปฮอป และจุดกำเนิดเซาท์ บร็องซ์ ยูไนเต็ด
ประวัติศาสตร์ของเขตบร็องซ์ รวมถึงบร็องซ์ใต้ ยังได้รับการยกย่องว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดขึ้นของวัฒนธรรมย่อยที่ปัจจุบันกลายเป็นอำนาจละมุน (Soft power) ที่โด่งดังไปทั่วโลก อย่าง “ฮิปฮอป (Hip-hop)” โดยมีจุดเริ่มต้นในช่วงทศวรรษที่ 70
เพราะการรวมตัวกันของคนจากหลากถิ่นฐานและเชื้อชาติ นั่นได้ทำให้คนในพื้นที่ดังกล่าวใช้ “ดนตรีและเสียงเพลง” ซึ่งมีติดตัวกันเป็นทุนเดิม มาบรรเทาทุกข์สุข แรกเริ่มอาจจะจำกัดแค่กลุ่มคนชาติพันธุ์เดียวกัน นานวันเข้าก็เริ่มผสมปนเปจนกลายเป็นแนวทางดนตรีใหม่ ๆ
และจุดประสงค์สำคัญคือเพื่อให้กลุ่มคนหนุ่มสาว กลุ่มเยาวชน ไม่หลงมัวเมาไปกับการอาชญากรรมในรูปแบบต่าง ๆ กลุ่มผู้ริเริ่มพยายามเอาวัฒนธรรมนี้ดึงให้คนกลับเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมปกติ
ด้วยแนวดนตรีและเพลงรูปแบบใหม่ที่ไม่ค่อยปรากฏให้เห็นที่ใดมาก่อน ความสนุกสนานผ่านการทดลองแนวจังหวะดนตรีที่หลากหลาย มาพร้อมกับการเต้นคล้องตามแนวทาง
แม้วัฒนธรรมฮิปฮอปจะยังไม่อาจเปลี่ยนประชากรที่ติดไปกับเรื่องลบ ๆ ได้ทั้งหมด ทว่าการถือกำเนิดของเหล่าบิดารุ่นบุกเบิกแนวเพลง แนวดนตรีนี้ อย่างดีเจคูล เฮิร์ค (DJ Kool Herc) แกรนด์มาสเตอร์ แฟลช (Grandmaster Flash) และแอฟริกา แบมบาตา (Afirka Bambaataa) ก็ได้กลายเป็นที่ยกย่องและกล่าวขาน เริ่มได้รับการยอมรับในโลกทุนนิยม เกิดเป็นวัฒนธรรมย่อย (Subculture) ตามมาในยุคหลังมากมาย
จนกลายเป็นว่าวัฒนธรรมฮิปฮอปเข้ามาเปลี่ยนเขตบร็องซ์ให้ภาพลักษณ์อันธพาลในพื้นที่ลดลงไปได้บ้าง คนในพื้นที่บางส่วนใช้แนวทางนี้ผลักดันตัวเองจนเข้าสู่ระบบสังคมปกติ
ทว่าเพราะความหลั่งไหลของคนต่างถิ่นที่เข้ามาเรื่อย ๆ กอปรกับความเป็นอยู่เดิมของคนในพื้นที่ก็ยังไม่ได้รับการยกระดับเท่าที่ควร ปัญหาอาชญากรรม ความยากจนก็ยังไม่หมดไปเสียทีเดียว
โดยเฉพาะกับเด็กและเยาวชน หลายคนต้องทำงานตั้งแต่อายุยังน้อย เพื่อช่วยเหลือครอบครัวเท่าที่จะทำได้ บ้างก็ต้องอยู่ด้วยตัวคนเดียวภายในที่พักอาศัย เพราะพ่อแม่ต้องออกไปทำงานตั้งแต่ฟ้าเปิดยันฟ้าปิด ในขณะที่กลุ่มผู้อพยพรุ่นเยาว์ที่เข้ามาใหม่ เรื่องของการปรับตัวเพื่อให้เข้ากับถิ่นฐาน ภาษา และวัฒนธรรมใหม่ ก็เป็นเรื่องสำคัญ
50 ปีต่อมา ได้เกิดจุดร่วมอีกจุดหนึ่งของกลุ่มคนในพื้นที่บร็องซ์ใต้ ที่พยายามจะผลักดันให้เด็กและเยาวชนผู้ด้อยโอกาส ได้ลืมตาอ้าปาก มีชีวิตเหมือนกับที่คนคนหนึ่งควรจะเป็น
นำมาซึ่งการเกิดขึ้นของทีมซอคเกอร์ประจำถิ่น นาม เซาท์ บร็องซ์ ยูไนเต็ด โดยมีแอนดรูว์ โซ (Andrew So) ครูสอนวิชาคณิตศาสตร์และการศึกษาพิเศษ จากสถาบันการศึกษาในท้องที่ เป็นผู้ร่วมก่อตั้งเมื่อปี 2009
พันธกิจกิจเพื่อชีวิตที่ดีกว่า
เนลสัน แมนเดล่า อดีตประธานาธิบดีผิวดำคนแรกของแอฟริกาใต้ เคยกล่าวไว้ว่า “กีฬามีพลังที่จะเปลี่ยนแปลงโลก มีพลังที่จะสร้างแรงบันดาลใจ มีพลังที่จะรวมใจคนเข้าด้วยกัน กีฬามีพลังที่อย่างอื่นไม่มี”
พันธกิจและเป้าหมายของการก่อตั้งสโมสรเป็นเฉกเช่นเดียวกับที่แมนเดล่ากล่าวไว้ไม่มีผิด เซาท์ บร็องซ์ ยูไนเต็ดใช้กีฬาฟุตบอล หรือที่อเมริกาใช้ว่า ซอคเกอร์ เป็นเครื่องมือผลักดันให้เยาวชนได้คว้าโอกาสดี ๆ ในสังคม
“ผมเริ่มจากกลุ่มฟุตบอลหลังเลิกเรียนที่โรงเรียนในเซาท์ บร็องซ์ ที่ผมสอนอยู่ จากประสบการณ์นี้ ผมได้รับรู้อยู่สองเรื่อง หนึ่งคือนักเรียน นักเรียนหลายคนที่นี่ไม่เคยสนใจฟุตบอลมาก่อน แต่เพราะความต้องการและอยากจะมีชีวิตภายนอกโรงเรียนที่พวกเขาสามารถออกไปเดินเล่นได้ ได้อยู่กับเพื่อน ๆ และได้รับการสนับสนุนภายใต้สภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย” คุณครูแอนดรูว์อธิบายกับ soccertoday.com
“สองคือเยาวชนทั่วไป ซึ่งส่วนใหญ่มาจากครอบครัวผู้อพยพที่เติบโตมากับวัฒนธรรมฟุตบอล เยาวชนกลุ่มนี้จะได้รับประโยชน์อย่างมากจากโอกาสที่ได้ลงแข่งขัน ทักษะและความหลงใหลในฟุตบอลจากเด็กกลุ่มนี้สามารถมอบโอกาสให้พวกเขาได้เข้าเรียนในโรงเรียน วิทยาลัย และมีอาชีพ ในขณะเดียวกันก็พัฒนาบุคลิกภาพและความเป็นผู้นำด้วย”
“เป้าหมายคือการใช้ฟุตบอลเป็นเครื่องมือช่วยให้เยาวชนประสบความสำเร็จ ผ่านการศึกษาที่ดี อาชีพการงานที่ดี เป็นตัวแทนของชุมชน ช่วยสร้างลักษะนิสัย สร้างทักษะความเป็นผู้นำ และนำเยาวชนที่มีภูมิหลังจากหลากหลายพื้นที่มาทำงานร่วมกัน เพื่อบรรลุเป้าหมายเดียวกัน” Tifo Football ช่องพ็อดคาสต์ฟุตบอลชื่อดัง เผยบทสัมภาษณ์ของแอนดรูว์ โซ
การทำทีมเยาวชนเซาท์ บร็องซ์ ยูไนเต็ด อยู่ภายใต้การโค้ชของบุคลากรผู้มีความรู้ความสามารถอย่างแท้จริง อย่างในปัจจุบันทีมส่วนงานฝึกสอน นอกจากจะมีครูกีฬาจากท้องถิ่นเป็นส่วนหนึ่งแล้ว ยังมีผู้อำนวยการชาวไอร์แลนด์เหนืออย่างแอนดี้ เจนกินส์ (Andy Jenkins) ซึ่งมีดีกรียูฟ่า บี ไลเซ่นส์ ติดตัวอยู่ด้วย
นอกจากนี้ เซาท์ บร็องซ์ ยูไนเต็ด ไม่ได้มุ้งเน้นแค่เรื่องฟุตบอลเพียงอย่างเดียว แต่ยังมอบโอกาสให้เยาวชนในท้องถิ่นมีโอกาสได้เรียนหนังสือ ส่งเสริมทักษะทางวิชาการ ผ่านสถาบันการศึกษาเซาท์ บรองซ์ ยูไนเต็ด อคาเดมี่ (SBU Academy) ผลักดันให้ผู้ด้อยโอกาสได้ศึกษาในระดับ Middle school ไปจนถึงระดับ High school (เปรียบเทียบกับมัธยมต้นถึงมัธยมปลาย) และ College (ระดับวิทยาลัย)
สถานที่ฝึกซ้อมและงบประมาณอาจเป็นโจทย์และความท้าทายที่ทีมอาจจะพบเจอ อย่างไรก็ดี เพราะความโด่งดังจากการถูกนำเสนอผ่านสื่อน้อยใหญ่อยู่หลายครั้ง กับการทำเพื่อสังคม นั่นทำให้ในหลาย ๆ ครั้ง เซาท์ บร็องซ์ ยูไนเต็ด มักได้รับงบประมาณสนับสนุนจากหลาย ๆ องค์กร ตลอดจนการบริจาคเข้ามาของคนทั่วไป
เช่นเดียวกัน กับนิวยอร์ก ซิตี้ เอฟซี ทีมฟุตบอลชื่อดังของท้องถิ่นเซาท์ บร็องซ์ ซึ่งเป็นพาร์ทเนอร์ร่วมกัน ก็เคยให้ทีมเยาวชนจากท้องถิ่นลงเทรนนิ่งในสนามซ้อมทีมอยู่บ่อย ๆ
อาจจะมีบ้างที่ครอบครัวเด็ก ๆ ต้องใช้จ่าย อย่าง soccertoday.com ระบุว่าครอบครัวบางกลุ่มต้องเสียค่าธรรมเนียมให้ลูกหลานเป็นส่วนหนึ่งของเซาท์ บร็องซ์ ยูไนเต็ด แบบรายปี ตกที่ 100 เหรียญสหรัฐฯ หรือราว 3,200 บาท แต่หากครอบครัวไหนขัดสนเรื่องการเงินจริง ๆ ก็ได้รับการยกเว้น
เมื่อเด็กบางส่วนได้รับโอกาส นำมาซึ่งการเติบโตของเด็กหลาย ๆ คน สู่แวดวงอาชีพการงานที่มั่นคงมาแล้ว โดยเซาท์ บร็องซ์ ยูไนเต็ด เคยปลุกปั้นเยาวชนที่ชื่อปรินซ์ อัมพอนซ่า (Prince Amponsah) สู่ทีมอคาเดมี่ของนิวยอร์ก ซิตี้ เอฟซี และเคยก้าวขึ้นไปติดทีมชาติสหรัฐอเมริกา รุ่นอายุไม่เกิน 16 ปีมาแล้ว
หรือหากใครไม่ประสงค์สานต่อเป็นนักฟุตบอล อคาเดมี่แห่งนี้ก็เคยสร้างเยาวชนขึ้นมาเป็นวิศวกร ผู้ช่วยทนายความ ตลอดจนทำงานให้เซาท์ บร็องซ์ ยูไนเต็ด สนับสนุนรุ่นน้องเพื่อโอกาสที่ดีต่อไป
ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่ของเซาท์ บร็องซ์ ยูไนเต็ด กระฉ่อนไกลสู่ระดับโลกแบบเต็มตัว เพราะในปี 2020 ทีมเพื่อท้องถิ่นทีมนี้คว้ารางวัล Laureus Sport for Good Award ซึ่งเป็นรางวัลที่เชิดชูความสำเร็จของบุคคล หรือกลุ่มบุคคลผู้ทำคุณูปการต่อวงการกีฬาหรือสังคมผ่านกีฬา มาแล้ว
จากอดีตที่เคยมีเด็กและเยาวชนเพียงหลักสิบคนในยุคแรกเริ่ม สู่การให้โอกาสกลุ่มคนอายุ 4-24 ปี แตะระดับหลักพันคนในปัจจุบัน
เซาท์ บร็องซ์ อาจมีภาพจำว่าเป็นย่านอาชญากรรมเบอร์ต้น ๆ เป็นย่านยากจนย่านหนึ่งของนิวยอร์ก และเป็นถิ่นกำเนิดของวัฒนธรรมฮิบฮอปที่เคยผลักดันให้คนหนุ่มสาวกลับมาอยู่ในระบบสังคมมาแล้วครั้งหนึ่ง
มาวันนี้ คนในท้องถิ่นยังคงไม่ลดละกับการเปลี่ยนแปลงสังคม โดยมีเรื่องราวของทีมฟุตบอลเซาท์ บร็องซ์ ยูไนเต็ดเข้ามาขับเคลื่อน เพื่อหวังจะได้เห็นเยาวชนมีชีวิตที่ดีได้อย่างที่ควรจะเป็น
แหล่งอ้างอิง
https://southbronxunited.org/
https://www.academia.edu/2626942/Ordinary_People_Doing_Remarkable_Things_Part_3_Andrew_So_South_Bronx_United
https://youtu.be/bJ7HOuQEi4Y
https://www.posttoday.com/international-news/672668
https://en.wikipedia.org/wiki/South_Bronx
https://www.the101.world/the-rivalry-ep-8/
https://www.voathai.com/a/us-population-diversifying-whites-declines-first-time/6001998.html
https://www.studyusa.com/th/a/9960/%E0%B8%A3-%E0
https://www.silpa-mag.com/culture/article_54465
https://www.soccertoday.com/new-york-youth-soccer-a-man-changing-the-world-around-him/