Feature

อังกฤษ 1966 : ปีแห่งความภาคภูมิใจของทัพสิงโต บนน้ำตาของชนชั้นแรงงาน | Main Stand

ฟุตบอลโลก 1966 เป็นครั้งแรกและครั้งเดียวจนถึงตอนนี้ที่ทีมชาติอังกฤษผงาดขึ้นมาเป็นแชมป์โลก

 


แต่ในช่วงคาบเกี่ยวกันของสมัยนั้น อังกฤษเผชิญสภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จนกลายเป็นโจทย์สำคัญของฝ่ายจัดการแข่งขัน ภายใต้ความร่วมมือของหลาย ๆ ภาคส่วนในประเทศที่มีหมุดหมายคือการทำให้ฟุตบอลโลกครั้งแรกบนแผ่นดินสหราชอาณาจักรประสบความสำเร็จให้ได้มากที่สุด

ซึ่งการที่ทีมสิงโตคำรามกลับทำผลงานได้ชวนให้ติดตาม แม้จะประเดิมทัวร์นาเมนต์ด้วยผลเสมอแบบไร้สกอร์ แต่ท้ายสุดก็กรุยทางไปจนถึงนัดชิงชนะเลิศได้ นี่ถือเป็นการปลุกกระแสให้ธงชาติกลับมาโบกสะบัดไปทั่วเกาะอีกครั้ง 

กับปีแห่งความภาคภูมิใจของทัพสิงโตคำราม ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ฝืดเคือง ปัญหาคนว่างงานในประเทศแตะหลักแสน มีอะไรชวนให้รู้กับประเด็นเหล่านี้บ้าง Main Stand ขอชวนแฟน ๆ มาติดตามเรื่องราวสำคัญนี้ไปพร้อม ๆ กัน

 

ปัญหาคนว่างงาน

“มีรายงานจำนวนมากที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในสนาม ฟุตบอลโลกปี 1966 แต่มีเพียงเล็กน้อยที่เขียนถึงเรื่ององค์กร เรื่องผลกระทบทางเศรษฐกิจหรือสังคม” ดร.อเล็กซ์ ยิลเล็ตต์ อาจารย์สาขาวิชาการตลาด จาก The University of York ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ด้านการจัดการฟุตบอลโลกปี 1966 กล่าว

ย้อนกลับไปในช่วงปี ค.ศ. 1966 ในช่วงก่อนที่ฟุตบอลโลก 1966 จะอุบัติขึ้น อังกฤษ ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีแฮโรลด์ วิลสัน จากพรรคแรงงาน กำลังเผชิญกับปัญหาทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงบประมาณในประเทศที่ขาดดุล ภาวะเงินเฟ้อ และการตัดสินใจยอมลดค่าเงินปอนด์ เพื่อพยุงภาวะทางการเงินของประเทศ 

อีกทั้งนิตยสารทรงอิทธิพลต่อโลกอย่าง “Time” ก็นิยาม “ลอนดอน” ว่าเป็น “the swinging city” ที่กำลังเผชิญกับสถานการณ์ที่สามารถพลิกผันได้ตลอดเวลา และพยายามตีแผ่ให้เห็นว่าขนาดเมืองหลวงของประเทศยังเจอกับภาวะไม่นิ่ง ประเทศก็คงต้องเผชิญไม่แพ้กัน

“ศตวรรษนี้หรือในทุก ๆ ทศวรรษต่างก็มีเมืองที่เผชิญกับเรื่องราวแบบนี้ วันนี้เกิดขึ้นกับลอนดอน เมืองที่เปี่ยมไปด้วยประเพณีที่ถูกการเปลี่ยนแปลงเข้าครอบงำและความมั่งคั่งเลือนหายไป” ข้อความบางส่วนจากนิตยสารที่ The Guardian หยิบมากล่าวถึง

วิกฤตทางเศรษฐกิจขนาดย่อมในครั้งนั้นทำให้เกิดภาวะคนว่างงานในสหราชอาณาจักรมียอดรวม 291,700 คน ในเดือนมิถุนายน หรือช่วงหนึ่งเดือนก่อนฟุตบอลโลกจะทำการแข่งขัน และจากนั้นอีก 6 เดือนเศษทั้งเกาะประสบปัญหาภาวะคนว่างงานเพิ่มไปอีกสองเท่า

ทั้งยังมีรายงานว่าในปี 1966 แรงงานหนึ่งคนจะได้ค่าจ้างเฉลี่ยเพียง 1,200 ปอนด์ หรือราว 50,000 บาทต่อปี ขณะที่รายได้เฉลี่ยต่อหัวของประชากรในประเทศต่อปีอยู่ที่ 11,000 ปอนด์ หรือประมาณ 470,000 บาทเท่านั้น

แน่นอนว่าเมื่อได้สร้างความไม่พอใจให้คนบางกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มเครือข่ายสหภาพแรงงานที่ถึงขั้นออกมาประท้วงเรื่องปัญหาปากท้องอย่างต่อเนื่อง

แต่ถึงอย่างไรรัฐบาลก็พยายามทำให้อังกฤษต่อสู้กับความท้าทายจากสถานการณ์จริงที่ต้องเผชิญ โดยมีฟุตบอลโลก 1966 ที่จัดบนแผ่นดินเกรตบริเตนเป็นหนแรกเป็นฉากสำคัญ

 

ผลงานทีมชาติ กับฟุตบอลโลกบนแผ่นดินตัวเอง

กับการจัดฟุตบอลโลกครั้งแรกบนแผ่นดินตัวเอง ภายใต้การคุมทีมของ เซอร์ อัลฟ์ แรมซีย์ กุนซือในเวลานั้น ได้ประกาศไว้อย่างหนักแน่นหลังจากที่เข้ามาคุมทีมชาติในปี ค.ศ. 1962 ว่าจะพาอังกฤษคว้าแชมป์ในฐานะเจ้าภาพให้ได้ 
 
นักเตะในยุคนั้นอุดมไปด้วยดาวดังมากดีกรี นำโดย “เซอร์ บ็อบบี้ ชาร์ลตัน” นักเตะดีกรีแชมป์ดิวิชั่น1 และเอฟเอ คัพ 2 สมัย “บ็อบบี้ มัวร์” กัปตันทีม และ “เจฟฟ์ เฮิร์สต์” เจ้าของผลงานแชมป์เอฟเอ คัพ และยูโรเปี้ยน คัพ วินเนอร์ส คัพ อย่างละ 1 สมัย ฯลฯ

อังกฤษผ่านรอบแบ่งกลุ่มที่มี อุรุกวัย เม็กซิโก และ ฝรั่งเศส ได้อย่างไม่ยากเย็น พวกเขาเก็บชัยชนะ 2 เสมอ 1 ยิงรวม 4 ประตู พร้อมคลีนชีต ตามด้วยการหักด่าน อาร์เจนตินา 1-0 ในรอบ 8 ทีมสุดท้าย ก่อนจะปราบ โปรตุเกส ที่นำทัพโดย ยูเซบิโอ เจ้าของดาวซัลโว 9 ประตูประจำทัวร์นาเมนต์ ในรอบรองชนะเลิศไปด้วยสกอร์ 2-1

ทีมฉายา “สิงโตคำราม” ฉลุยเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ เผชิญหน้ากับ เยอรมนีตะวันตก ท่ามกลางการแข่งขันต่อหน้าแฟนบอลในเวมบลีย์เก่ากว่า 96,924 คน ขณะที่ยอดผู้ชมทางโทรทัศน์ก็แตะหลัก 32.3 ล้านคน (สูงเป็นสถิติรายการที่มีผู้ชมมากที่สุดในสหราชอาณาจักร) 

ยอดผู้ชมในสนามถือว่ายกระดับตามผลงานและผลการแข่งขันของทีมอย่างแท้จริง อย่างเกมแรกที่อังกฤษเจ๊าอุรุกวัย 0-0 มีแฟนบอลเข้ามาชมในเวมบลีย์น้อยกว่านัดชิงฯ ไม่ถึงเก้าหมื่นคน ก่อนที่ยอดในเกมต่อ ๆ มาจะแตะหลักดังกล่าวได้

ทุกสายตาแทบจะจับจ้องมายังเกมรอบชิงชนะเลิศ มีคนดังจากหลากหลายวงการเดินทางเข้ามาชมเกมนี้ทั้ง สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 (ผู้ล่วงลับ) หรือ จอร์จ เบสต์ ตำนานแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ก็เดินทางเข้ามาชมผลงานเพื่อนร่วมสโมสร หรือแม้แต่ แฮโรลด์ วิลสัน ที่เมื่อเสร็จสิ้นการประชุมที่วอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา ก็รีบเดินทางกลับมาอังกฤษเพื่อชมเกมนี้

ผลการแข่งขันในนัดตัดสินแชมป์โลกจบลงที่อังกฤษเอาชนะในช่วงต่อเวลาพิเศษ 4-2 โดย เจฟฟ์ เฮิร์สต์ ทำแฮตทริกในเกมนั้น 

หนึ่งในลูกยิงของตำนานเวสต์แฮม ยูไนเต็ด คือจังหวะซัดบอลกระดอนคานตกบนเส้นประตู แม้จะเป็นข้อกังขาถึงขั้นที่กาลต่อมาได้มีการตรวจสอบว่าแท้จริงแล้วลูกนี้เป็นประตูหรือเปล่า… 

แต่ถึงอย่างไร กอตต์ฟรีด ดีนส์ (Gottfried Dienst) ผู้ตัดสินหลักในเกมชี้ว่าลูกนี้เข้าประตูไปแล้ว

ส่งผลให้ทีมชาติอังกฤษคว้าจูลส์ ริเมต์ โทรฟี่ (ชื่อถ้วยแชมป์ฟุตบอลโลกในขณะนั้น) ได้เป็นครั้งแรก 

 

เวิลด์คัพวิลลี่ กระตุ้นเศรษฐกิจ

มาสคอต (Mascot) ในฟุตบอลโลกเกิดขึ้นหนแรกในปี 1966 อังกฤษเป็นผู้ริเริ่มการเกิดขึ้นของอีกหนึ่งสัญลักษณ์ตัวแทนในเกมรอบสุดท้ายหนนี้ ก่อนจะสร้างรายได้ผ่านของที่ระลึกมากมาย

เมื่อ เวิลด์คัพวิลลี่ (World Cup Willie) หรือเจ้าสิงโตวิลลี่ ที่ใส่ชุดฟุตบอลลายธงยูเนียนแจ็ค (Union Jack) อันเป็นสัญลักษณ์ของสหราชอาณาจักรในฐานะมาสคอตประจำการแข่งขันฟุตบอลโลก 1966 ปรากฏตัว และมันเปรียบเสมือนการเป็นตัวแทนของความเป็นอังกฤษ 

นี่ถือเป็นเรื่องที่แปลกใหม่ในแวดวงลูกหนัง เพราะก่อนหน้านี้ไม่เคยมีมาสคอตในเกมรอบสุดท้าย และทำให้ฟุตบอลโลกที่อังกฤษเป็นทัวร์นาเมนต์กีฬารายการแรก ๆ ที่นำสัญลักษณ์นำโชคมาปรากฏตัวระหว่างจัดการแข่งขัน 

“คาแร็กเตอร์มีมาพักใหญ่แล้ว ไม่ว่าจะตัวการ์ตูน แอนิเมชั่น” โรเบิร์ต โอพาย นักประวัติศาสตร์ ชี้ “เวิลด์คัพวิลลี่ อยู่ท่ามกลางตัวการ์ตูนที่ยอดเยี่ยมเหล่านี้ เขายิ่งใหญ่ มีความเป็นบริติช กับช่วงโมเมนต์แห่งประวัติศาสตร์นี้” 

ดังนั้นคงไม่ผิดอะไรหากจะกล่าวว่า ฟุตบอลโลก 1966 เป็นหนึ่งในจุดร่วมระหว่างฟุตบอลยุคคลาสสิกกับยุคโมเดิร์น

นอกจากนี้ สิงโตวิลลี่ ยังก่อให้เกิดแนวคิดเรื่องกระบวนการทำให้เป็นสินค้า (Commodification) โดยทำมันให้กลายเป็นสินค้าทางวัฒนธรรม (Cultural Product) อย่างแท้จริง มีสินค้าที่เกี่ยวข้องกับมาสคอตตัวนี้ออกมาอย่างแพร่หลาย ไล่ตั้งแต่ตุ๊กตา ลูกฟุตบอล ไปจนถึงอุปกรณ์เครื่องเขียน สินค้าในครัวเรือน ฯลฯ 

จนสิงโตวิลลี่กลายเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ให้จดจำในฟุตบอลโลกครั้งนั้น และเข้ามาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศได้  

ทั้งยังเป็นโมเดลให้เจ้าภาพผู้จัดฟุตบอลโลกครั้งต่อ ๆ มาได้ลองแปลงมาสคอตตัวเองให้เป็นสินค้าเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ภายหลังการคว้าแชมป์ประวัติศาสตร์ของอังกฤษ มีรายงานเรื่องการขอซื้อลิขสิทธิ์ (licences) จากสมาคมฟุตบอลอังกฤษ (FA) มากกว่า 100 รายการ โดยมีผู้สนใจจากประเทศฝรั่งเศส เยอรมนี เดนมาร์ก สหภาพโซเวียต เป็นต้น

ฟุตบอลโลก 1966 เกิดขึ้นในช่วงที่อังกฤษเผชิญกับปัญหาทางเศรษฐกิจ ทว่าการเกิดขึ้นในรูปแบบทัวร์นาเมนต์ที่ไม่ซับซ้อน มีช่วงเวลาเริ่มต้น-สิ้นสุด จึงเป็นโอกาสที่ดีในฐานะผู้จัดที่จะทำออกมาให้ดีที่สุด สิ่งสำคัญคือเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ และทำให้ธงยูเนียนแจ็คโบกสะบัดไปทั่วแผ่นดินเกรตบริเตน

อีกทั้งการที่ผลงานของทีมชาติอังกฤษเป็นใจให้เกิดกระแสในแง่ “บวก” ของอิงลิชชน เรียกได้ว่าขุนพลชุดแชมป์ในครั้งนั้นเป็นวีรบุรุษของประเทศอย่างแท้จริง 

 

แหล่งอ้างอิง

https://www.theguardian.com/football/2016/jul/29/1966-world-cup-england-50th-anniversary  
https://www.york.ac.uk/news-and-events/news/2014/research/1966-world-cup/  
https://www.theguardian.com/football/blog/2016/jul/24/1966-world-cup-final-conspiracy-refereeing-50-years  
https://tidesofhistory.com/2021/08/03/route-66-have-you-noticed-how-we-only-win-the-world-cup-under-a-labour-government/  
https://www.ibtimes.co.uk/50-years-since-1966-world-cup-how-has-britains-economy-changed-1573223  
https://www.fourfourtwo.com/features/world-cup-willie-story-1966-mascot 
https://www.bbc.com/news/uk-england-36858767

Author

พชรพล เกตุจินากูล

แฟนคลับเชลซี ติดตามฟุตบอลเอเชีย ไก่ทอดและกิมจิเลิฟเวอร์

Photo

ปฐวี ยอดเนียม

Man u is No.2 But YOU is No.1

Graphic

ภราดร ภราดร

อยากจะทำให้ดี ไม่ใช่แค่อยากจะทำให้เป็น