Feature

บาดหมางเกินกีฬา : เบื้องหลังโศกนาฏกรรมครั้งเเล้วครั้งเล่าของฟุตบอลอินโดนีเซีย | Main Stand

ความรุนแรง แก๊สน้ำตา และอุบัติเหตุร้ายแรงที่ปะทุขึ้นหลังการแข่งขันฟุตบอลลีกในประเทศเมื่อคืนวันเสาร์ที่ 1 ตุลาคม 2022 ถือเป็นโศกนาฏกรรมอีกครั้งของฟุตบอลอินโดนีเซีย 

 


เหตุการปะทะกันระหว่างแฟนบอลของทีมอเรมากับเจ้าหน้าที่สลายฝูงชน เดินทางมาถึงจุดที่มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 180 คนได้อย่างไร ? และเหตุใดชาวอินโดนีเซียจึงคลั่งฟุตบอลเข้าเส้นและรุนแรงชนิดที่คนไทยไม่มีทางเทียบได้ ? 

ติดตามได้ที่ Main Stand 

 

ปัจจัยเสี่ยงที่นำมาคนมาเจอกัน 

การเมือง และ ศาสนา ถือเป็น 2 เรื่องที่ไม่สนิทกันจริง ๆ ไม่สามารถเอามาคุยกันได้ง่าย ๆ เพราะความเข้มข้นของประเด็นทั้งสองล้วนนำมาซึ่งความเห็นที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง และไม่มีใครรับประกันได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป 

ทว่าที่ อินโดนีเซีย ฟุตบอลก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งเอามาพูดหรือเอามาล้อกันส่ง ๆ ไม่ได้ เพราะผู้คนที่นี้ "คลั่ง" ฟุตบอลขนาดหนัก พวกเขาอินกับทีมรักไม่แพ้คนอังกฤษชาติต้นกำเนิดฟุตบอล และที่สำคัญพวกเขามีฟุตบอลเป็นเหมือนกับศาสนาของตัวเอง

อินโดนีเซียนั้นน่าจะเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความหลากหลายมากที่สุดในโลก ด้วยประชากร 260 ล้านคน มากเป็นอันดับสี่ของโลก ประเทศของพวกเขาประกอบด้วยเกาะประมาณ 17,000 เกาะที่มีประชากรพูดภาษากลางและภาษาท้องถิ่นมากกว่า 700 ภาษา อินโดนีเซียเป็นประเทศอิสลามที่มีประชากรมากที่สุดเช่นกัน แต่ศาสนาก็มีความหลากหลายเช่นเดียวกัน นอกจากอิสลามยังมีผู้นับถือศาสนาคริสต์ ฮินดู และระบบความเชื่อแบบผสมผสานที่กระจายอยู่ทั่วทั้งประเทศ

ความหลากหลายของเชื้อชาติ ภาษา และศาสนา ถือเป็นหนึ่งในตัวกรองแฟนบอลของแต่ละทีมได้เป็นอย่างดี ถ้าเปรียบเทียบง่าย ๆ คือ 2 คู่ปรับในสกอตแลนด์อย่าง เซลติก และ เรนเจอร์ส ที่ฝั่งหนึ่งเป็นคาทอลิก อีกฝั่งหนึ่งเป็นโปรแตสแตนต์ ทำให้มันเป็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมานาน  

โจชัว ออพเพนไฮเมอร์ ผู้กำกับภาพยนตร์สารคดีเรื่อง Act of Killing (ฉายปี 2012) ที่เป็นภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับการปราบคอมมิวนิสต์ในประเทศอินโดนีเซียช่วงปี 1965-66 เคยเล่าว่า เขาติดตามกลุ่มต่อต้านคอมมิวนิสต์มาตั้งแต่ปี 2004 และพบว่าพวกเขาไม่ได้รู้สึกผิดกับสิ่งที่ทำลงไป และภูมิใจอย่างที่สุดที่ได้ลงมือฆ่านักการเมือง คนใหญ่คนโต หรือเหล่าเศรษฐีที่เป็นผู้สนับสนุนฝั่งตรงกันข้าม 

แน่นอนว่าเมื่อมีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์กันไปมาตั้งแต่อดีตก็ส่งต่อความเป็นอริมาถึงคนรุ่นหลัง เรื่องเหล่านี้ถูกถ่ายทอดไปยังแทบทุกส่วนของชีวิตไม่เว้นแม้แต่เรื่องฟุตบอล 

เพราะอินโดนีเซียคือประเทศที่บ้าฟุตบอลถึงขีดสุดประเทศหนึ่งของโลก ในช่วงปี 1994 เป็นต้นมาพวกเขาก่อตั้งลีกอาชีพของตัวเองและได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว เหตุผลที่คนอินโดนีเซียดูฟุตบอลก็ไม่ต่างจากคนอังกฤษเท่าไรนัก เพราะฟุตบอลคือความบันเทิงและการปลดปล่อยของชนชั้นแรงงานที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในประเทศแห่งนี้ 

คุณสามารถเห็นเครื่องหมายยืนยันความคลั่งฟุตบอลของชาวอินโดนีเซียได้จากสนามฟุตบอลที่มีความจุเกิน 30,000 คนขึ้นไปมากถึง 21 แห่ง และมีสนามที่จุคนได้มากกว่า 50,000 คนอีก 4 สนาม ได้แก่ จาการ์ตา อินเตอร์เนชันแนล สเตเดียม, เกลอรา บังการ์โน หรือที่คนไทยคุ้นหูในชื่อ เสนายัน, ปาลารัน และ เกลอรา บุงโทโม ซึ่งถือว่ามากกว่าทุกชาติในอาเซียน

ไม่ใช่แค่ชอบดู แต่ชาวอินโดนีเซียมีความอินกับฟุตบอลท้องถิ่นมากกว่าที่คนไทยคิดและจินตนาการไว้เยอะมาก เพราะอินโดนีเซียนั้นมีรูปแบบการปกครองแบบรัฐเดียว กล่าวคือรัฐบาลกลางมีอำนาจสูสุด ทว่า 37 รัฐในประเทศต่างก็มีเอกภาพในการบริหารจัดการเรื่องต่าง ๆ ด้วยตัวเอง แต่ละรัฐมีความเชื่อ มีแนวคิด มีประวัติศาสตร์ของตัวเอง นั่นทำให้พวกเขามีคู่อริในวงการฟุตบอลมากมาย เรียกว่าไม่แปลกเลยที่เราจะได้เห็นข่าวคราวปัญหาความรุนแรงในฟุตบอลอินโดนีเซียมาอยู่ตลอด เพราะพวกเขาเกลียดกันจริง ๆ และฟุตบอลก็ไม่ใช่แค่กีฬาโดยสิ้นเชิง 

"ความคลั่งไคล้ของแฟนบอลอินโดนีเซีย ถ้าเปรียบให้กับบ้านเราต้องยกตัวอย่างทีมอย่าง เมืองทอง หรือ ท่าเรือ ที่มีความคลั่งไคล้เยอะมาก ๆ แต่ที่อินโดนีเซียจะคลั่งหนักกว่านั้นอีก พวกเขามีทั้งคำชมและคำด่า และถ้าให้เทียบเรื่องความอินในฟุตบอลท้องถิ่น อินโดนีเซียจะมีความอินมากกว่าแฟนบอลบ้านเรา" สุเชาว์ นุชนุ่ม อดีตนักเตะทีมชาติไทยที่เคยไปค้าแข้งในลีกอินโดนีเซีย ยืนยันเรื่องนี้ด้วยตัวเอง 

ทั้งหมดนี้คือเหตุผลที่ว่าทำไมฟุตบอลอินโดนีเซียจึงเป็นข่าวดังไปทั่วโลกเมื่อเกิดการปะทะกันของแฟนบอลของ อเรมา กับ เจ้าหน้าที่ตำรวจรุนแรงถึงขีดสุด เพราะมีแฟนบอลเสียชีวิตมากกว่า 180 คน ... และเหตุการณ์ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก มันเปรียบเสมือนการสะท้อนอดีตที่ส่องทางไปยังอนาคต ว่าหากยังไม่มีการแก้ไข่เรื่องนี้อย่างจริงจัง ซึ่งเรื่องราวของโศกนาฏกรรมที่จะกลายเป็นบทเรียนสำคัญของวงการฟุตบอลอินโดนีเซียครั้งนี้มีอยู่ว่า... 

 

ก่อนพายุมรณะก่อตัว

ประการแรกที่จะเริ่มต้นเหตุการณ์ทั้งหมดให้ทุกคนได้เข้าใจง่ายที่สุดคือ อเรมา และ เปอร์เซบายา เป็น 2 ทีมที่มีความอริกันมาช้านาน เกม ๆ นี้ถูกเรียกว่า "ดาร์บี้แมตช์แห่งชวาตะวันออก" พวกเขาทั้งคู่เคยมีเรื่องราวฟาดฟันกันนอกสนามจากแฟนบอลมาหลายครั้ง จนทำให้การแข่งขันครั้งนี้ในรังเหย้าของอเรมา ที่เมืองมาลัง รัฐชวาตะวันออก มีการเตรียมความพร้อมด้วยการวางกำลังตำรวจตั้งแต่เกมยังไม่เริ่ม 

สนามแห่งนี้จุคนได้ 38,000 คน และด้วยความที่เป็นอริที่มีเรื่องกันบ่อย ๆ ฝ่ายจัดการแข่งขันจึงได้สั่งให้เกมนี้ห้ามมีแฟนบอลทีมเยือนเข้าสนามเพราะหวั่นเกรงว่าเหตุการณ์ความรุนแรงจะเกิดขึ้น ... แฟนบอลของเจ้าถิ่นเข้ามาชมสนามเต็มความจุ และมีการยืนยันว่าพวกเขาปล่อยให้มีคนเข้าชมเกมนี้ในสนามมากถึง 42,000 คน

พวกเขาตะโกนเชียร์ทีมรักสนามแทบแตกตลอด 90 นาที แต่อเรมาก็ทำผลงานได้ย่ำแย่ พวกเขาเปิดบ้านแพ้เปอร์เซบายาไป 2-3 นับเป็นความพ่ายแพ้คาบ้านครั้งแรกให้แก่อริตัวฉกาจในรอบ 23 ปี ... ความผิดหวังจากผลการแข่งขันเริ่มก่อตัวขึ้นจากจุดนั้น 

ณ ตอนที่เกมจบเป็นเวลาท้องถิ่นราว 4 ทุ่ม 45 นาที (22:45 น.) แม้จะดึกแล้วแต่ความโกรธของแฟนบอลเจ้าบ้านไม่ได้เเผ่วลงเลยแม้แต่น้อย เมื่อเสียงนกหวีดยาวดังขึ้นแฟนบอลเจ้าถิ่นก็กรูกันลงมาในสนาม เพราะไม่พอใจผลการแข่งขัน พาลไปโกรธแค้นนักเตะฝั่งตรงข้ามและกรรมการ 

สำนักข่าว อัลจาซีรา รายงานว่าแฟน ๆ เริ่มจากการขว้างขวดและทุกอย่างที่หาได้ในสนามใส่นักเตะของทีมเยือนและเจ้าหน้าที่ส่วนต่าง ๆ ของการแข่งขัน ก่อนจะเริ่มลุกลามถึงขั้นวิ่งลงสนามและเริ่มปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่วางกำลังมาเพื่อปราบจราจลที่อาจจะเกิดขึ้นในเกมนี้โดยเฉพาะ

ความโกลาหลได้เกิดขึ้นแล้ว ในสนามเต็มไปด้วยแฟนบอลที่กำลังโมโห ขณะที่นอกสนามรถตำรวจอย่างน้อย 5 คนถูกพังและจุดไฟเผา นอกจากนี้ยังมีอีกหลายอย่างได้รับความเสียหาย แม้จะประเมินไว้ว่าอาจมีปัญหาตามมาหลังจบเกม แต่พวกเขาก็ไม่คิดว่าแฟนบอลจะกระทำรุนแรงถึงขั้นนี้ มีการทำลายของหลวงและรุกรานพื้นที่สาธารณะ ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องตอบโต้ เริ่มจากการใช้กระบองในมือฟาดใส่คนที่วิ่งลงมาในสนามและพยายามทำร้ายตำรวจ 

เวลาผ่านไปไม่กี่นาทีเจ้าหน้าที่ก็เริ่มควบคุมแฟนบอลด้วยกระบองเพียงอย่างเดียวไม่ไหว แก๊สน้ำตาถูกนำออกมาใช้ และทำให้เกิดการแตกฮือของฝูงชน ส่งผลให้แฟนบอลจำนวนมากพยายามจะออกไปที่ประตู แต่ด้วยความแออัดยัดเยียดระดับคนเรือนครึ่งแสน จึงมีการเหยียบกันตายและหายใจไม่ออกทันที 34 คน และมีผู้ได้รับบาดเจ็บนับไม่ถ้วน 

เมื่อจะหนีก็หนีไม่ได้จึงกลายเป็นการทำให้แฟนบอลเริ่มหันมาสู้กับเจ้าหน้าที่ ซึ่งนำมาสู่การสูญเสียอีกมากมายจนไม่สามารถสรุปเป็นตัวเลขได้ในขณะนั้น 

เหตุการณ์ตึงเครียดนำไปสู่การเพิ่มกำลังเจ้าหน้าตำรวจเพื่อมาเสริมทัพ และเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจมีกำลังมากขึ้น พวกเขาก็เริ่มคุมสถานการณ์ได้ โดยมีการรายงานว่าต้องใช้เวลานานถึง 5 ชั่วโมงกว่าจะทำให้เหตุการณ์ทั้งหมดสงบลง 

หลังเหตุการณ์สงบและควันไฟเริ่มจางลง ปรากฏให้เห็นภาพต่าง ๆ ชัดขึ้น และมันทำให้วงการฟุตบอลอินโดนีเซียพบว่าเหตุการณ์จลาจลในสนามครั้งนี้ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของพวกเขา ... และไม่ต้องบอกก็รู้ว่าปัญหานี้ถูกส่งไปตรงไปยังรัฐบาลกลางของอินโดนีเซียทันที และจากนั้นความเคลื่อนไหวในการล้างบางสงครามฟุตบอลท้องถิ่นจึงเริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการ 

 

ขอให้เป็นครั้งสุดท้าย 

สมาคมฟุตบอลอินโดนีเซียออกแถลงถึงเหตุการณ์นี้ว่าเกิดขึ้นจากแฟนบอลฮูลิแกนจำนวนราว 3,000 คนเป็นต้นเรื่อง พวกเขาได้สั่งห้ามอเรมาใช้สนามเหย้าของตัวเองจนจบฤดูกาล ขณะที่ฝั่งสมาคมก็ขอโทษกับสิ่งที่เกิดขึ้นเเละยืนยันว่าจะแก้ไขเรื่องนี้อย่างเด็ดขาด 

ขณะกลุ่มสิทธิมนุษยชน หรือ "แอมเนสตี้" ก็ยืนยันว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นจากความผิดของเจ้าหน้าที่ที่ใช้แก๊สน้ำตาในการแก้ปัญหา เพราะตามกฎของฟีฟ่านั้น ห้ามใช้แก๊สน้ำตาและอาวุธปืนในการปราบจราจลที่เกี่ยวกับฟุตบอลเด็ดขาด โดยแอมเนสตี้ เรียกร้องให้รัฐบาลอินโดนีเซียสอบสวนเรื่องนี้อย่างจริงจังว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ละเมิดกฎและทำรุนแรงเกินกว่าเหตุหรือไม่

ความรุนแรงครั้งนี้คือปัญหาระดับชาติ เพราะ โจโก วิโดโด ประธานาธิบดีของอินโดนีเซีย ก็สั่งให้มีการตรวจสอบเรื่องนี้อย่างละเอียด และเขาได้สั่งหยุดการแข่งขันฟุตบอลลีกของอินโดนีเซียทันที จนกว่าจะมีการประเมินมาตรการความปลอดภัยสำหรับการแข่งขันอีกครั้ง โดยวิโดโดแถลงข่าวด้วยตนเองว่าเขาจะจัดการกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง และยืนยันว่า "โศกนาฏกรรมครั้งนี้จะเป็นโศกนาฏกรรมครั้งสุดท้ายสำหรับฟุตบอลในอินโดนีเซีย”

แม้จะเป็นการแก้ปัญหาแบบวัวหายล้อมคอก เพราะมีผู้เสียชีวิตไปมากกว่า 170 คนจากเหตุการณ์ครั้งนี้ แต่อย่างน้อยรัฐบาลอินโดนีเซียก็ได้บทเรียนครั้งใหญ่ที่จะทำให้พวกเขาให้ความสำคัญกับการแข่งขันฟุตบอลในประเทศอีกครั้ง ... อย่างไรก็ตาม ปัญหานี้ก่อตัวมานานหลายสิบปีทำให้การจะเข้มงวดเฉพาะเรื่องความปลอดภัยอาจจะไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องทั้งหมด 

ปัญหาสำคัญอีกอย่างของเรื่องนี้คือ "ฮูลิแกนฟุตบอล" (กลุ่มแฟนบอลหัวรุนแรง) นั้นมีวัฒนธรรมที่เข้มข้นมาก สำนักข่าว ABC News เคยทำสกู๊ปเกี่ยวกับกลุ่มฮูลิแกนฟุตบอลอินโดนีเซียที่มีชื่อว่า Hard-Liners และพบว่ามีการปลูกฝังเรื่องนี้ถึงขนาดตั้งเเคมป์สำหรับเยาวชนที่จะเติบโตมาเป็นกำลังสำคัญของกลุ่มฮูลิแกนรุ่นต่อไป 

"ผู้ชายทุกคนต้องเกิดมาเพื่อต่อสู้ ผมชอบการต่อสู้มาตั้งแต่เรียนมัธยมแล้ว และผมก็เข้าร่วมกลุ่ม Jakmania ซึ่งแน่นอนว่าผมมีเรื่องและไล่หวดกับทีมฝั่งตรงข้าม (เปอร์สิบ บันดุง) ทุกครั้งที่เราได้เจอกัน" อลารันเซีย (Alarancia) ผู้บัญชาการของ Hard-Liner กล่าว

ในประเทศอินโดนีเซียยังมีกลุ่มฮูลิแกนฟุตบอลที่มีแนวคิดคล้าย ๆ กันกับ Hard-Liner อีกหลายกลุ่มหลายแก๊ง พวกเขาส่งต่อความเชื่อ วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และปลูกฝังความรุนแรงต่อกันจากรุ่นสู่รุ่น เห็นได้ชัดว่ากลุ่มแฟนบอลหัวรุนแรงเหล่านี้เป็นปัญหาระดับต้นตอของเรื่องทั้งหมดอย่างแท้จริง ถ้าแก้ไขจากจุดนี้ไม่ได้ก็เหมือนกับการติดกระดุมเม็ดแรกผิด ซึ่งมันจะทำให้เกิดความผิดพลาดและช่องโหว่อื่น ๆ ตามมาภายหลัง 

ต่อให้คุณวางกำลังตำรวจดีขนาดไหน แต่ถ้าแฟนบอลเป็นพันเป็นหมื่นคนมาที่สนามฟุตบอลเพื่อเป้าหมายแรกคือการมีเรื่องไม่ใช่การมาดูฟุตบอล ก็ยากที่ปัญหาความรุนแรงของวงการฟุตบอลอินโดนีเซียจะหมดไปง่าย  ๆ แน่นอน 

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ใหญ่และเยอะ : ทำไม อินโดนีเซีย จึงเป็นประเทศที่มีสนามฟุตบอลความจุมากที่สุดในอาเซียน?

 

แหล่งอ้างอิง

https://www.abc.net.au/news/2019-02-12/indonesia-football-culture-has-killed-74-fans/10794186
https://www.bbc.com/thai/articles/cv2e238rnzeo
https://www.sportsnet.ca/soccer/article/explainer-whats-behind-indonesias-deadly-soccer-match/
https://www.aljazeera.com/news/2022/10/2/timeline-how-did-indonesias-deadly-soccer-match-unfold
https://thesefootballtimes.co/2019/02/07/the-chaotic-world-of-indonesias-violent-ultras/
https://happeningandfriends.com/article-detail/165?lang=th

Author

ชยันธร ใจมูล

นักเขียนลูกสอง จองเรื่องฟุตบอลและมวยโลก รู้จริงบ้าง ไม่จริงบ้าง แต่เขียนแล้วอินทุกเรื่อง

Graphic

ภราดร ภราดร

อยากจะทำให้ดี ไม่ใช่แค่อยากจะทำให้เป็น