Feature

ราวหนังฮอลลีวูด : เมื่อ "เปเล่" และตำนานนักเทนนิสต้องหนีออกจากไนจีเรียหัวซุกหัวซุน | Main Stand

การลอบสังหาร การหลบซ่อนตัว การปลอมตัวและหนีจากเหตุการณ์ความวุ่นวาย ถือเป็นวัตถุดิบชั้นดีสำหรับภาพยนตร์แนวสายลับ หนึ่งในแนวเรื่องยอดนิยมของฮอลลีวูด 

 


อย่างไรก็ดี ครั้งหนึ่งสิ่งเหล่านี้กลับเคยเกิดขึ้นจริงกับ เปเล่ ยอดนักเตะของโลกชาวบราซิล แถมยังเป็นตอนที่เขายังค้าแข้งอยู่อีกด้วย 

เกิดอะไรขึ้นในตอนนั้น ติดตามไปพร้อมกับ Main Stand 

 

บุรุษในตำนาน 

สำหรับ เปเล่ ยอดนักเตะชาวบราซิล ไนจีเรียถือเป็นดินแดนแห่งความทรงจำ เพราะที่นี่คือจุดเริ่มต้นของตำนาน "บุรุษผู้หยุดสงครามกลางเมืองชั่วคราว" ในปี 1969  

จุดเริ่มต้นอาจต้องย้อนกลับไปในปี 1966 หรือ 6 ปีหลังไนจีเรียได้รับเอกราชจากสหราชอาณาจักร เมื่อได้เกิดการแย่งชิงอำนาจระหว่างนักการเมืองเชื้อสายอิกโบและเชื้อสายเฮาซา จนลุกลามกลายเป็นสงครามกลางเมืองในปี 1967 และคร่าชีวิตผู้คนไปมากถึง 100,000 - 2 ล้านราย 

แม้สงครามจะยังคงยืดเยื้ออยู่หลายปี แต่ในปี 1969 ไนจีเรียก็มีโอกาสได้ต้อนรับการมาเยือนของ เปเล่ ยอดดาวยิงของโลก ผู้เคยพาบราซิลคว้าแชมป์โลกมาแล้ว 2 สมัยในตอนนั้น (1958 และ 1962) พร้อมด้วยทีมซานโตส ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการออกทัวร์ทั่วโลก

จากเรื่องเล่าระบุว่า ทันทีที่เปเล่มาถึง สงครามกลางเมืองก็หยุดลงชั่วคราว และการแข่งขันทั้งสองนัดของทีมซานโตสก็ดำเนินไปอย่างไม่มีปัญหา แม้ว่าปัจจุบันผู้คนยังพยายามหาข้อพิสูจน์ว่าการหยุดยิงเกิดขึ้นจริงหรือไม่ก็ตาม

"แม้ว่านักการทูตจะพยายามเป็นเวลาสองปีเพื่อหยุดการต่อสู้ในสงครามกลางเมืองที่นองเลือดที่สุดของทวีปแอฟริกา การมาถึงประเทศไนจีเรียของตำนานนักฟุตบอลชาวบราซิลในปี 1969 กลับทำให้ทั้งสองฝ่ายตกลงหยุดยิงเป็นเวลาสามวัน" รายงานจากนิตยสาร TIME ระบุ 

และในอีก 7 ปีให้หลัง ยอดแข้งของโลกรายนี้ได้กลับมาเยือนไนจีเรียอีกครั้ง ทว่าครั้งนี้ไม่ได้มาในฐานะผู้เล่นซานโตส แต่มาในฐานะตัวแทนของ เป๊บซี่-โคล่า บริษัทเครื่องดื่มน้ำดำชื่อดังของโลก 

เนื่องจากตอนนั้นเปเล่ได้ย้ายไปเล่นให้ นิวยอร์ก คอสมอส สโมสรในสหรัฐอเมริกา มาตั้งแต่ปี 1975 ทำให้การมาทัวร์ไนจีเรียในครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อมาเปิดคลินิกสอนฟุตบอลให้กับเด็กในท้องถิ่น รวมถึงสร้างโรงเรียนไปพร้อมกับโปรโมตแบรนด์  

อย่างไรก็ดี มันกลับเป็นทริปที่เขาไม่มีวันลืม 

 

ลอบสังหารท่านผู้นำ 

อันที่จริงตอนที่เปเล่มาถึงลากอส เขาไม่ได้เป็นนักกีฬาระดับโลกเพียงคนเดียวที่อยู่ที่นี่ เมื่อในตอนนั้นเมืองที่ใหญ่ที่สุดของไนจีเรียกำลังเป็นเจ้าภาพการจัดการแข่งขันเทนนิสระดับเมเจอร์ "1976 Lagos WCT" ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ World Championship Tennis Circuit อยู่พอดี  

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ที่นั่นคลาคล่ำไปด้วยชาวต่างชาติที่เดินทางมาชมการแข่งขันเทนนิสระดับโลก แม้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างไนจีเรียกับชาติตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาในตอนนั้นจะอยู่ในภาวะตึงเครียด หลังรัฐบาลไนจีเรียให้การสนับสนุนขบวนการประชาชนในแองโกลาที่มีสหภาพโซเวียตอยู่เบื้องหลัง 

ทุกอย่างยังคงดำเนินไปอย่างราบรื่นในช่วงแรก ทว่าเค้าลางของความวุ่นวายก็ปะทุขึ้นในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 1976 

มันเป็นวันที่ 4 ของการแข่งขันเทนนิส และอีกวันของการออกไปเปิดคลินิกสอนฟุตบอลของเปเล่ ขณะที่รถของนายพลมูร์ตาลา โมฮัมเหม็ด ประมุขของประเทศที่ขึ้นสู่อำนาจด้วยการรัฐประหารเมื่อหนึ่งปีก่อน กำลังติดไฟแดง ระหว่างเดินทางไปที่ทำงานซึ่งตั้งอยู่ในค่ายทหารในตอนเช้า กองกำลังติดอาวุธก็ได้พุ่งตรงมาที่รถของเขา ก่อนจะสาดกระสุนเข้ามาไม่ยั้ง 

คมกระสุนได้ปลิดชีพผู้นำไนจีเรียทันทีในที่เกิดเหตุ จากนั้นผู้ก่อการที่นำโดย พันโทบูการ์ ซูการ์ ดิมกา หัวหน้าประจำหน่วยฝึกทางกายภาพกองทัพไนจีเรียวัย 33 ปี ได้พากองกำลังมุ่งหน้าไปยังสถานีกระจายเสียงแห่งชาติ และประกาศว่ากลุ่ม "Young Revolutionaries" ได้ยึดอำนาจของรัฐบาลไว้แล้ว

มันเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่เปเล่และกลุ่มนักเทนนิสที่นำโดย อาเธอร์ แอช แชมป์วิมเบิลดัน 1975 ที่พักอยู่ในโรงแรมเดียวกันชื่อ Federal Palace ได้ยินคำประกาศนี้ 
 
กลุ่มรัฐประหารยังได้ประกาศเคอร์ฟิว ห้ามผู้คนออกนอกเคหะสถาน 12 ชั่วโมง ตั้งแต่ 6 โมงเย็นถึง 6 โมงเช้า ก่อนจะรีรันคำประกาศยึดอำนาจไปตลอดทั้งวัน โดยมีเพลงที่ใช้ประกอบการแข่งขันศิลปะการต่อสู้คลออยู่เบื้องหลัง

อย่างไรก็ดี เหล่าทหารหนุ่มก็รักษาอำนาจไว้ได้ไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น เมื่อรัฐบาลกลางที่นำโดย พลโทโอเลเซกุ โอบันซันโจ เสนาธิการสำนักงานสูงสุด (เทียบเท่ารองประธานาธิบดี) พยายามยับยั้งการทำรัฐประหาร จนเกิดการสู้กันอย่างดุเดือดจากทั้งสองฝ่าย 

หลังเสียงปืนสงบลง รัฐบาลกลางก็ประกาศว่าพวกเขาสามารถควบคุมสถานการณ์ไว้ได้หมดแล้ว แต่ยังคงเคอร์ฟิวเอาไว้เพื่อไล่ล่าดาซิมที่ตอนนี้มีสถานะเป็นกบฏ ที่รอดพ้นจากการกุมไปได้ 

ทั้งนี้พวกเขายังได้ประกาศการเสียชีวิตของนายพลมูร์ตาลาอย่างเป็นทางการในวันรุ่งขึ้น และให้ไว้ทุกข์เป็นจำนวนทั้งสิ้นหนึ่งสัปดาห์ 

ทุกอย่างดูเหมือนจะกลับมาเป็นปกติ เว้นเพียงแค่ชาวต่างชาติที่อยู่ที่นั่น

 

ทหารบุกกลางคอร์ต

แม้ว่าการรัฐประหารจะดูเป็นเรื่องภายในของไนจีเรีย แต่เป้าโจมตีในกลับเป็นชาวตะวันตก เนื่องจากมีข่าวลือว่า สำนักงานข่าวกรองของสหรัฐฯ หรือซีไอเอ คือผู้ที่อยู่เบื้องหลังการลอบสังหารอดีตผู้นำของพวกเขา 

สำหรับเปเล่ เขาอาจจะไม่ได้เป็นชาวอเมริกัน แต่การมาที่นี่ในนามสปอนเซอร์สัญชาติอเมริกัน รวมถึงการเล่นอยู่ในลีกของสหรัฐอเมริกา ทำให้เขาถูกมองว่าเป็นพันธมิตรสายตรงของดินแดนแห่งเสรีภาพอย่างไม่ต้องสงสัย 

นั่นจึงทำให้สถานทูตอเมริกาสั่งอพยพนักกีฬาชาวอเมริกันจากโรงแรมไปยังบ้านพักทูต เนื่องจากกังวลเรื่องความปลอดภัย เช่นเดียวกับเปเล่ที่ถูกย้ายตัวไปพักกับทูตบราซิล 

แต่ปัญหาก็คือในตอนนั้นพรมแดนของไนจีเรียถูกสั่งปิดทุกทิศทาง เพื่อป้องกันพันโทดิมการ์หลบหนีไปประเทศอื่น ทำให้ไม่มีใครได้รับอนุญาตให้เดินทางออกนอกประเทศแม้แต่รายเดียว

ด้วยเหตุนี้ทางผู้จัดการแข่งขัน 1976 Lagos WCT จึงคิดว่ายังไงก็ไปไหนไม่ได้อยู่แล้ว การแข่งเทนนิสจึงควรจะมีต่อไป และได้ขออนุญาตจากทางการของไนจีเรียเป็นที่เรียบร้อย ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากเหล่านักเทนนิส


  
"เราได้รับแจ้งว่าการรัฐประหารครั้งล่าสุดปราศจากการนองเลือด และไม่มีใครได้รับอนุญาตให้ออกนอกประเทศในระยะหนึ่ง" สแตน สมิธ นักเทนนิสชาวอเมริกันที่เข้าร่วมทัวร์นาเมนต์ที่ลากอส กล่าวกับ africasacountry.com

"เรากังวลว่าเราจะไม่สามารถออกจากประเทศเพื่อไปแข่งทัวร์นาเมนต์ต่อไปได้" 

15 กุมภาพันธ์ 1976 คือวันที่ Lagos WCT กลับมาแข่งต่ออีกครั้งในรอบก่อนรองชนะเลิศ และการแข่งขันก็ดำเนินไปอย่างราบรื่น จนได้ 4 ผู้ท้าชิงเงินรางวัล 60,000 เหรียญ ได้แก่ อาเธอร์ แอช, เดวิด สตอนตัน, เจฟฟ์ โบโรเวียค และ บ็อบ ลัตซ์ ซึ่งเป็นชาวอเมริกันทั้งหมด 

อย่างไรก็ดีเหตุการณ์ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้นในรอบรองชนะเลิศที่แข่งในวันรุ่งขึ้น ระหว่างที่แอชกำลังดวลอยู่กับโบโรเวียคในเซ็ตที่ 2 กลุ่มชายฉกรรจ์ในชุดทหารพร้อมอาวุธก็บุกเข้ามาในสนามเทนนิส และสั่งยกเลิกการแข่งขัน 

"พวกคุณกำลังทำอะไร เรากำลังอยู่ในช่วงไว้อาลัยกันอยู่ คุณกำลังหาเงิน บ้าหรือเปล่า ไป ไป ออกไปซะ" ทหารตะโกนใส่นักเทนนิสทั้งสองต่อหน้าผู้ชมในสนาม 

จากนั้นพวกเขาก็เอาปืนไปจี้ที่หลังแอช บังคับให้เขายกมือชูขึ้นเหนือหัว และเดินออกไปจากคอร์ตอย่างช้า ๆ ท่ามกลางความตกตะลึงของคนทั้งสนามที่ตอนแรกไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น  

หลังจากนั้นมันก็เต็มไปด้วยความโกลาหล เมื่อทหารที่เหลือพยายามเข้าเคลียร์อัฒจันทร์ จนทำให้ผู้ชมที่ส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติต่างวิ่งหนีเอาชีวิตรอดกันไปคนละทิศละทาง 

และทำให้พวกเขารู้ว่าคงจะอยู่ที่นี่ต่อไปไม่ได้อีกแล้ว 

 

หนีให้ไว ไปให้ทัน 

ไม่ว่าจะเป็นความเข้าใจผิดหรือผู้นำของไนจีเรียในตอนนั้นเปลี่ยนใจ แต่เหล่านักกีฬาต่างชาติก็รับรู้ได้ทันทีแล้วว่า พวกเขาต้องออกจากประเทศแห่งนี้เป็นการด่วนก่อนที่จะไม่มีโอกาส 

เพราะทันทีที่ออกจากสนามไปยังท้องถนน ทั้งเมืองก็เต็มไปด้วยความวุ่นวาย ชาวไนจีเรียทั้งทหารและพลเรือนเริ่มทำร้ายชาวต่างชาติด้วยความเกลียดชัง หนึ่งในนั้นคือ จอห์น พาร์สัน นักข่าวของ Daily Mail ที่ถูกตีจนเป็นแผลยาว 17 นิ้ว 

"พวกแกมาทำอะไรที่นี่ เป็นซีไอเอหรือเปล่า ออกไปจากที่นี่ซะ" ทหารไนจีเรียตะโกน

โชคยังดีที่ โดนัลด์ อีซัม เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำไนจีเรีย ที่อยู่ในสนามในวันนั้นสามารถประสานงาน จนได้นาวิกโยธินมาคุ้มครองพวกเขากลับไปยังสถานทูตสหรัฐฯ ท่ามกลางการประท้วงอย่างหนักหน้าสถานทูตของคนในพื้นที่

"จัดการพวกซีไอเอ แยงกี้กลับบ้านไปซะ" เสียงตะโกนของผู้ประท้วง 

พวกเขาต้องหลบอยู่ในสถานทูตหนึ่งวันเต็มโดยไม่สามารถออกไปไหน ก่อนที่ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์พวกเขาก็ได้ข่าวดี เมื่อรัฐบาลไนจีเรียอนุญาตให้ชาวอเมริกันเดินทางออกจากประเทศได้ และถือเป็นชาวต่างชาติชุดแรกนับตั้งแต่เหตุการณ์พยายามรัฐประหาร 

7 นาฬิกา ทันทีที่เครื่องบินทะยานออกจากสถานบินนานาชาติลากอส (ที่ต่อมาถูกเปลี่ยนชื่อเป็นสนามบินมูร์ตาลา โมฮัมเหม็ด) ทะยานขึ้นจากรันเวย์ เสียงเฮก็ดังกึกก้องในหมู่ผู้เล่น เป็นสัญญาณว่าวิบากกรรมของพวกเขาจบสิ้นเสียที 

"มันเป็นเหตุการณ์ที่โชคร้าย เรามาที่นี่เพื่อแข่งรายการใหญ่ในประเทศกำลังพัฒนาของแอฟริกา และมันก็เป็นจังหวะที่แย่เมื่อเราอยู่ที่นั่นตอนที่มีความพยายามทำรัฐประหาร" แฮร์โรล โซโลมอน หนึ่งในนักเทนนิสที่อยู่บนไฟลต์ดังกล่าว ย้อนความหลัง 

ยกเว้นเพียงแค่ เปเล่ ยอดแข้งระดับโลกที่ไม่ได้อยู่บนนั้น 

 

ปลอมตัวเพื่อหนี 

อันที่จริงเปเล่ควรจะได้อยู่บนเครื่องบินลำนั้น เมื่อผู้จัดการเป๊บซี่ของไนจีเรียได้ติดต่อกับ โดนัลด์ อีซัม เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ เพื่อขอร้องให้พาเปเล่ไปด้วย จากการที่เขามีถิ่นพำนักอยู่ในสหรัฐฯ แต่เนื่องจากตอนนั้นพวกเขาหาชุดรักษาความปลอดภัยไม่ทัน จึงทำให้ยอดดาวยิงบราซิลต้องรอไปก่อน 

เปเล่ได้รับแจ้งว่าต้องรออยู่ที่นี่อย่างน้อยสามวัน เพื่อรอให้พรมแดนของไนจีเรียเปิดอย่างเป็นทางการ แม้จะฟังดูง่ายแต่เอกอัคราชทูตของบราซิลก็กังวลเรื่องความปลอดภัยของสตาร์ของประเทศ และอยากให้เปเล่ออกไปจากที่นี่ให้เร็วที่สุด 

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เกิดการวางแผนว่าจะให้เปเล่ปลอมตัวเป็นนักบิน เพื่อเดินทางผ่านเมืองไปยังสนามบินโดยไม่มีใครสังเกต แล้วค่อยขึ้นเครื่องเดินทางไปยังสหรัฐอเมริกา 

อย่างไรก็ดี ปัญหาก็คือเปเล่มีความหลังฝังใจกับอาชีพกัปตันเครื่องบิน หลังได้เห็นศพนักบินจากเหตุเครื่องบินตกใกล้บ้านที่บราซิลตอนเขายังเด็ก แม้ว่าก่อนหน้านั้นเขาจะเคยฝันว่าอยากเป็นนักบินก็ตาม

แต่เมื่อมันเป็นทางเดียวที่จะทำให้เปเล่สามารถไปจากตรงนี้ได้เร็วขึ้น เขาก็กลั้นใจทำมัน และบอกกับคนรอบข้างว่า "มาทำสิ่งนี้กันเถอะ"

เปเล่เดินทางถึงสหรัฐอเมริกาโดยสวัสดิภาพ และอยู่ค้าแข้งต่ออีกหนึ่งปี ก่อนจะประกาศแขวนสตั๊ดอย่างถาวรในปี 1977 แต่เขาก็ยังคงข้องเกี่ยวอยู่กับวงการฟุตบอลในปัจจุบัน  

ขณะที่ WCT Lagos กลับมาแข่งต่อในเมษายนปีดังกล่าว และได้เวเนซูเอลารับหน้าเสื่อเป็นเจ้าภาพ ที่ อาเธอร์ แอช เป็นฝ่ายเอาชนะ เจฟฟ์ โบโรเวียค ไปได้ในรอบ 4 คนสุดท้าย แต่กลับไปแพ้ เดวิด สตอนตัน 2 เซตรวดในนัดชิงชนะเลิศ ชวดแชมป์ไปอย่างน่าเสียดาย

ส่วนพันโทดิมกาถูกตามจับได้ 3 สัปดาห์หลังการพยายามทำรัฐประหาร เขาถูกตัดสินประหารชีวิตร่วมกับผู้ก่อการอีก 38 คน แต่ World Championship Tennis Circuit ก็ไม่เคยกลับมาจัดที่ไนจีเรียอีกเลย จนกระทั่งถูกยุบรวมกับ ATP Tour ในปี 1990 

"เหตุการณ์นี้สร้างความเสียหายอย่างมหาศาลให้แอฟริกาผิวดำ ใครก็ตามที่อยากไปแข่งที่นั่นก็จะเกิดความลังเล" แอช กล่าวกับนิตยสาร Jet เมื่อปี 1976 

"โชคร้ายที่นั่นเป็นความคิดที่มีต่อแอฟริกาผิวดำไปแล้ว" 

 

แหล่งอ้างอิง 

https://www.pulse.ng/gist/pele-how-football-legend-arthur-ashe-were-trapped-in-lagos-during-1976-coup/lxf9e5d 
https://africasacountry.com/2015/07/arthur-ashe-the-1976-lagos-tennis-classic-and-a-military-coup 
https://www.planetfootball.com/nostalgia/how-pele-escaped-a-nigerian-coup-disguised-as-a-pilot/ 
https://darik.news/en/murder-concealment-disguise-and-escape-from-a-military-coup-a-crazy-story-about-pele.html 
https://thebaselinereport.substack.com/p/the-tennis-player-the-nigerian-club 
https://www.horebinternational.com/the-story-of-lagos-ill-fated-1976-professional-tennis-tournament/ 

Author

มฤคย์ ตันนิยม

ลีดส์ ยูไนเต็ด, ญี่ปุ่น, มังงะ

Graphic

ภราดร ภราดร

อยากจะทำให้ดี ไม่ใช่แค่อยากจะทำให้เป็น