แมนฯ ยูไนเต็ด ไม่อาจหลบหลังโทรฟี่แชมป์ฟุตบอลถ้วยได้อีกแล้ว หลังจากพวกเขาแพ้ สเปอร์ส 0-1 ในนัดชิงชนะเลิศ ยูโรป้า ลีก ฤดูกาล 2024-25
ว่ากันว่านี่คือการพ่ายแพ้ที่ไม่เหลือข้อดีไหนซ่อนเอาไว้ นอกเสียจากการทำให้ทุกคนในสโมสรแห่งนี้รู้ว่า "นรกของจริง" กำลังเริ่มนับหนึ่งอย่างเป็นทางการ หากพวกเขายังไม่ตาสว่างเห็นปัญหาที่แท้จริงของเรื่องราวทั้งหมด
ในฤดูกาลสุดเละเทะนี้จะส่งผลอะไรต่อทีมนี้บ้างในเชิงลบ … ติดตามไปพร้อมกับ Main Stand
เป็นมานาน
ถึงตรงนี้คงไม่ต้องบอกว่าสโมสร แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เริ่มบริหารอย่างผิดพลาดและถอยต่ำลงตั้งแต่ตระกูลเกลเซอร์เข้ามาบริหารสโมสร สิ่งเดียวที่ทำให้ทีมยังคงเดินหน้าเป็นทีมระดับแถวหน้าของประเทศและในยุโรป ก็คงจะหนีไม่พ้นความสำเร็จ ความยิ่งใหญ่จากยุคที่ เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ได้ฝากเอาไว้
เรียกได้ว่าทุกความสำเร็จของ เฟอร์กี้ คือการปกปิดความผิดพลาดล้มเหลวภายในการบริหารหลังบ้านอย่างแท้จริง และเมื่อ เฟอร์กี้ โบกมือลา อะไรหลายอย่างก็เป็นภาพชัดขึ้นโดยที่แฟนบอลทางบ้านอย่างเรา ๆ ท่าน ๆ ไม่ต้องมโนกันอีกต่อไป
นับตั้งแต่ เดวิด มอยส์ ยาวมาจนกระทั่งถึง รูเบ็น อโมริม จากปี 2014 ถึงปี 2025 แฟนบอล ยูไนเต็ด ได้พบกับสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมากมายในเชิงลบ ทั้งการเลือกโค้ช การเลือกนักเตะ การเลือกผู้บริหารด้านฟุตบอล มากมายก่ายกองเกินจะนับ โดยสิ่งที่แตกต่างจากยุค เฟอร์กี้ คือในสมัยก่อนนั้น หลังบ้านจะเละแค่ไหน แต่ความสำเร็จเมื่อท้ายฤดูกาลยังพอกลบกระแสได้ แต่ในปัจจุบัน ความสำเร็จเริ่มหาจับต้องยากขึ้น สวนทางกับเรื่องแปลก ๆ เพี้ยน ๆ ที่แสดงออกมาบนหน้าสื่อมากขึ้นในแต่ละวัน
แม้โดนเกลียดชัง สาปแช่ง แต่ถึงจะเป็นอย่างนั้น ตระกูลเกลเซอร์ก็ไม่เคยถอย และไม่เคยคิดจะขายทีมอย่างจริงจัง ด้วยเหตุผลเดียวก็คือสโมสรแห่งนี้มันมีมูลค่ามากกว่าแค่การเป็นสโมสรฟุตบอลไปแล้ว ทีม ๆ นี้มีมูลค่ามากมายจากการได้รับเงินก้อนโตจากผู้สนับสนุน การผลิตสินค้าต่าง ๆ ในเชิงพาณิชย์ การทำให้สโมสรเป็นเหมือนแหล่งท่องเที่ยวที่มีคนอยากจะแวะเวียนเข้ามาสัมผัสบรรยากาศในทุก ๆ ปี ต่อให้ทีมไม่ได้แชมป์ แต่สิ่งเหล่านี้ที่ใช้เวลาสร้างมาอย่างยาวนานจะไม่หายไปเพียงข้ามคืนแน่ ๆ
บารมีจากยุคป๋าช่วยทำให้ปัญหาในช่วงหลัง ๆ ร้ายแรงน้อยลง ทำให้กุนซือยุคหลัง ๆ ยังคงมีเงินให้ได้ใช้ มีนักเตะที่อยากจะมาเล่นที่นี่ แม้ภาพรวมตลอด 10 กว่าปีหลังป๋าเฟอร์กี้วางมือจะยิ่งแย่ลงเรื่อย ๆ เมื่อเวลาผ่านไปก็ตาม ... ซึ่งเรื่องนี้มันแปลกมาก เพราะในทางธุรกิจกลับเผยข้อมูลที่ตรงกันข้ามกับความคิดของแฟนบอลหลาย ๆ คน
ทีมแย่ไม่ได้แปลว่าจน
นับตั้งแต่หมดยุคป๋า ในปี 2013 จนถึงปัจจุบันในปี 2025 ที่สโมสรเละเทะ รั้งอันดับ 16 ของตารางและไร้ถ้วยแชมป์ใด ๆ ประดับตู้ แต่คุณเชื่อหรือไม่ว่ามูลค่ารวมของสโมสร แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ไม่ได้ลดลง แต่กลับเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
โดยในปี 2013 สโมสรมีมูลค่าประมาณ 3.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และในปี 2025 มูลค่าของสโมสรเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 6.09 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งแสดงถึงการเติบโตของมูลค่ารวมของสโมสรในช่วงเวลาดังกล่าว ... มูลค่าเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่าทั้ง ๆ ที่สโมสรแย่ลงทุกวันในแง่ของฟุตบอลมันเป็นไปได้อย่างไร ?
การหาคำตอบของเรื่องนี้สามารถตอบเป็นภาพกว้าง ๆ ได้ไม่ยากนัก เพราะ แมนฯ ยูไนเต็ด คือหนึ่งในแบรนด์ฟุตบอลที่ทรงพลังที่สุดในโลก ทั้งในแง่ ฐานแฟนบอล, ประวัติศาสตร์, ความทรงจำยุคเฟอร์กี้, และความครอบคลุมทางสื่อ เรียกได้ว่า แบรนด์ แมนฯ ยูไนเต็ด ไม่ได้สะท้อนแค่ผลการแข่งขัน แต่สะท้อนความสามารถในการทำเงินได้อย่างโดดเด่น
ส่วนหนึ่งก็เพราะ แมนฯ ยูไนเต็ด มีรายได้จาก สปอนเซอร์, การขายเสื้อ, ทัวร์พรีซีซั่นทั่วโลก และดีลลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด ในระดับสูงมาก ๆ ตัวอย่างที่ไม่ต้องย้อนไปไกลคือในฤดูกาล 2021-22 สโมสรไม่สามารถคว้าแชมป์ได้เลยสักรายการ แต่ก็ยังทำเงินได้มากถึง 640 ล้านปอนด์
นิตยสาร Forbes สรุปเรื่องนี้ได้เข้าใจในประโยคเดียวว่า "ในเชิงธุรกิจนั้น แมนฯ ยูไนเต็ดใน ยังเป็นเครื่องจักรทำเงิน แม้จะไม่ใช่เครื่องจักรในสนามอีกต่อไป" ... นี่เป็นคำพูดที่สะท้อนถึงความจริงในเวลานี้ และเราควรย้ำคำว่า "ไม่ใช่เครื่องจักรในสนาม" ให้ชัดยิ่งขึ้นกว่านี้ เพื่อให้เห็นว่าคุณจะละเลยมันไม่ได้เป็นอันขาด
ความอันตรายเมื่อไม่เน้นในสนาม
"ไม่ใช่เครื่องจักรในสนาม" คำ ๆ นี้อาจจะดูไม่แรงมากมายนัก ตราบใดที่สโมสรยังทำเงินได้มหาศาล เพราะในโลกที่ฟุตบอลคือธุรกิจ หากยังได้เงินก็ไม่น่าจะใช่ปัญหา ?
นั่นาจจะเป็นความจริงแค่ครึ่งเดียว เพราะสิ่งที่ทำให้แบรนด์ แมนฯ ยูไนเต็ด มีมูลค่าขึ้นมาจาก 0 จนถึงปัจจุบันก็เพราะว่าเรื่องของฟุตบอล เรื่องของการเป็นเครื่องจักรในสนามนี่แหละ ดังนั้นถ้าทีมยังไม่มีถ้วย แถมจบด้วยการเป็นทีมท้ายตารางบ่อย ๆ แบบที่เพิ่งเกิดขึ้นในซีซั่น 2024-25 นี้ ฝั่งเจ้าของสโมสรที่กำลังยิ้มหวานเพราะเงินไหลมาเทมา อาจจะต้องถึงเวลาที่พวกเขาต้องวิตกกังวลกันบ้าง เพราะแม้ แมนฯ ยูไนเต็ด จะมีแบรนด์แข็งแกร่งขนาดไหน แต่ถ้าผลงานในสนาม "ย่ำแย่ต่อเนื่อง" มันก็เหมือนเรือหรูที่รั่วใต้ท้อง แม้จะดูดีจากภายนอก แต่มันจะค่อย ๆ จมในไม่ช้า
ประการแรกเลย ยูไนเต็ด ไม่ได้ไปเล่นฟุตบอลยุโรปเลยแม้แต่รายการเดียวในซีซั่น 2025-26 มันจะทำให้พวกเขาขาดรายรับไปอีกราว ๆ 100 ล้านปอนด์ หากไม่ได้ไปเล่นในรายการนี้เรื่อย ๆ สัก 4-5 ปี พวกเขาจะสูญเงินหลายร้อยล้านตามมูลค่าของฟุตบอลยุโรปที่เพิ่มขึ้นทุกวัน
ซึ่งรายได้ส่วนนี้นี่แหละที่สำคัญมาก ๆ เพราะสามารถเอามาหักลบกลบหนี้ในบัญชี จนทำให้ทีมยังมีเงินพอได้เสริมทัพด้วยนักเตะฝีเท้าดี หรือจ้างสตาร์ดังที่ค่าเหนื่อยแพง ๆ ได้โดยไม่ผิดกฎทางการเงิน (FFP และ PSR) ... ธรรมดาก็สู้ใครไม่ค่อยจะได้อยู่แล้ว ถ้าคุณไม่มีเงินเสริมอีก มันก็ยิ่งเห็นทางกลับมาทวงสิทธิ์ความเป็นทีมระดับท็อปยากขึ้นไปอีก เกมในสนามพวกเขาจะแย่ลงแย่ หากขาดเงินระดับ 100 ล้านปอนด์ในทุก ๆ ปีที่ผ่านไป
นอกจากนี้ความเชื่อมั่นจากนักลงทุนและสปอนเซอร์ลดลง ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเงาตามตัว เพราะมันเป็นไปตามหลักการตลาดที่แบรนด์ที่ไม่มีผลงานจะ "หมดแรงดึงดูด" ต่อผู้สนับสนุนระยะยาว สปอนเซอร์อาจขอลดมูลค่าหรือถอนตัว เช่น TeamViewer กับ Chevrolet ที่ไม่ต่อสัญญา นอกจากนี้หุ้นในตลาดหลักทรัพย์มหานครนิวยอร์ก หรือ NYSE มีแนวโน้มผันผวนจากผลงาน เช่น ตอนตกอันดับ 8 หุ้นตกลงทันที ... ตอนนี้ตกมาอันดับ 16 แถมยังไม่ได้แชมป์สักรายการด้วย หุ้นก็ตกตามไปอีก
โดยกลุ่มนักวิเคราะห์ประเมินว่า หากทีมยังมีผลงานในลีกแย่จนหลุดจากโควต้า ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ต่อเนื่อง หรือไม่ได้แชมป์เลยราว 5 ปี ... "มูลค่าทีมอาจลดลง 15–25%" ถ้าคิดจาก 6 พันล้านที่เป็นตัวเลขตั้งต้นในปัจจุบัน บอกได้เลยว่าเงินที่หายไปทำให้ทีมบริหารสะดุ้งได้แน่ ๆ
นอกจากเรื่องของตัวเลขสำหรับนักธุรกิจที่ตกลงไปแล้ว ตัวเลขที่มาจากแฟนบอลก็คงไม่ต่างกันนัก และสิ่งนี้มันเริ่มเกิดมาสักพักแล้ว เพราะมีข้อมูลที่ปรากฏว่าแฟนบอลรุ่นใหม่ในต่างประเทศที่ "ไม่ได้โตมากับเฟอร์กี้" เริ่มหันไปเชียร์ทีมที่มีฟอร์มเด่นกว่า อาจจะเป็นทีมไอคอนของยุคอย่าง แมนฯ ซิตี้, เรอัล มาดริด หรือ บาร์เซโลน่า เป็นต้น
ส่วนยอดขายของทีม แมนฯ ยูไนเต็ด นั้นตกลงมาหลายปีแล้วหากนับตั้งแต่ปี 2019 เป็นต้นมา ที่ยอดขายเสื้อของพวกเขาตกลงราว ๆ ปีละ 1 แสนตัวเป็นอย่างน้อย โดยอ้างอิงจาก Dr. Peter Rohlmann นักวิเคราะห์อุตสาหกรรมเสื้อกีฬาที่ออกมาเปิดเผยข้อมูลนี้
ทีมผลงานดี ผู้คนก็อยากจะซื้อเสื้อมาใส่เป็นเรื่องธรรมดา รายงานจาก The Sports Journal ระบุว่าในฤดูกาล 2022-23 แมนฯ ยูไนเต็ดขายเสื้อได้ประมาณ 1.8 ล้านตัว ซึ่งยังคงต่ำกว่าช่วงก่อนหน้า กลับกันสำหรับทีมฟอร์มดีขึ้นในช่วง 5-10 ปีหลังอย่าง ลิเวอร์พูล กลับเป็นทีมที่ขายเสื้อได้ดีขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งในปี 2023 ลิเวอร์พูล ขายเสื้อแข่งต่อปีได้มากกว่า แมนฯ ยูไนเต็ด เป็นครั้งแรก โดยลิเวอร์พูลขายได้ 1.81 ล้านตัวในฤดูกาลเดียวกัน
ทางด่วนสู่นรก
สุดท้ายแล้ว สิ่งที่ทุกคนสัมผัสได้ตอนนี้มันคือเรื่องของ ภาพลักษณ์เชิงลบสะสม ความพ่ายแพ้บ่อยครั้งของสโมสร ทำให้คนภายนอกมองว่า "หมดความยิ่งใหญ่" สื่อ, โซเชียล และอดีตนักเตะ จะยิ่งล้อเลียน แซว หรือ กดดันสโมสร สะเทือนถึงบรรยากาศการทำงานภายในที่จะยากขึ้นไปอีก และเมื่อถึงจุดนี้ อาจทำให้แม้แต่ "ผู้บริหารมือดี" หรือ "โค้ชเก่ง ๆ" ก็ไม่อยากเข้ามา เพราะเป็น "ทีมที่บริหารยาก"
บทสรุปของเรื่องนี้คือ ถ้าผลงานในสนามยังตกต่ำต่อเนื่อง แมนฯ ยูไนเต็ด จะไม่ล้มทันที แต่จะ “เสื่อมพลังแบบช้า ๆ”จาก "แบรนด์ระดับโลก" สู่ "แบรนด์วินเทจที่ถูกแซงโดยทีมรุ่นใหม่" ในอนาคต
ขอย้ำอีกที เรื่องนี้ไมได้เกิดขึ้นในช่วงข้ามคืน แต่มันค่อย ๆ สะสมมาเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว แต่จนแล้วจนรอดทีม ๆ นี้ก็ยังไม่ดีขึ้นในแง่ภาพรวมได้สักที ... ดังนั้นการจบฤดูกาลด้วยอันดับ 16 และไม่มีถ้วยแชมป์ จะเปิดทุกแผลที่เคยถูกปกปิดออกมาให้ทุกคนได้เห็น
ทุกภาคส่วนของสโมสรจะต้องหันหน้าเข้าหากัน ช่วยกันรักษาให้แผลนี้หายขาด ... ซึ่งถ้ามันยังไม่เกิดขึ้นอีก ก็รับรองได้เลยว่าพวกเขากำลังวิ่งลงสู่นรกในเชิงธุรกิจ ผ่านทางด่วนที่จะทำให้ถึงเป้าหมายที่ไม่อยากไปถึงให้เร็วขึ้นอย่างแน่นอน
แหล่งอ้างอิง
https://readsector.com/manchester-uniteds-largest-sponsor-adidas-unhappy-with-club-over-falling-shirt-sales
https://sportsjournal.io/premier-league-clubs-retail-merchandise-apparel-product-licensing-revenue-data-2022-23
ttps://euromericas.com/sitio2020/?p=2854
https://www.nytimes.com/athletic/5075650/2023/11/24/premier-league-shirt-sales-haaland-saka/