ในยุคที่ฟุตบอลเยาวชนกลายเป็นเวทีสำคัญในการปลุกปั้นนักเตะคุณภาพและสร้างรากฐานสู่ความสำเร็จของทีมชาติชุดใหญ่
ทว่าการมีไอเดียในเเบบ อุซเบกิสถาน ที่เป็นประเทศที่เคยถูกมองข้ามในระดับทวีป กลับกลายมาเป็นมหาอำนาจลูกหนังเยาวชนของเอเชียและกำลังจะก้าวข้ามระดับทวีปไปสู่ฟุตบอลโลกได้ด้วย วิสัยทัศน์ของผู้นำจากภาครัฐ ที่พัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ถ้าทุกคนพร้อมเปิดไอเดียคิดที่น่าสนใจของอุซเบกิสถานกันแล้ว เตรียมพบกับเรื่องราวที่ กระชับ-ตรงประเด็น-สุดพิเศษ ได้ก่อนใคร
ที่ Main Stand
โครงสร้างฟุตบอลชาติหลังเอกราช : มรดกโซเวียตสู่การวางระบบใหม่
อุซเบกิสถานถือกำเนิดขึ้นเป็นประเทศเอกราชในปี 1991 หลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต แต่แม้จะเป็นชาติใหม่ ทว่าพื้นฐานวงการฟุตบอลของที่นี่ไม่ใช่ศูนย์เลย พวกเขาสืบทอด “มรดกโซเวียต” ที่แข็งแกร่งมาด้วย
ในยุคสหภาพฯ เขตอุซเบกิสถานเคยเป็นหนึ่งในหกศูนย์กลางสำคัญของการพัฒนาฟุตบอลโซเวียต ร่วมกับรัสเซีย ยูเครน เบลารุส จอร์เจีย และอาร์เมเนียกล่าวคือ ที่นี่มีทั้งวัฒนธรรมลูกหนัง คนมีพรสวรรค์ และสาธารณูปโภคพื้นฐานที่หลงเหลือมาตั้งแต่สมัยโซเวียตอยู่แล้ว
เมื่อประกาศเอกราช อุซเบกิสถานจึงเดินหน้าจัดตั้งสมาคมฟุตบอลแห่งชาติและระบบลีกของตัวเองอย่างรวดเร็ว
ลีกอุซเบกิสถาน ฉบับใหม่เปิดฉากในปี 1992 พร้อมๆ กับการฟอร์มทีมชาติชุดใหญ่และชุดเยาวชนขึ้นมาใหม่หมด ในระดับทีมชาติชุดใหญ่
ผลงานแรกเริ่มที่สร้างชื่อคือการคว้าเหรียญทองฟุตบอลชายเอเชียนเกมส์ 1994 ที่ฮิโรชิมา แบบพลิกความคาดหมาย (ครั้งนั้นยังไม่จำกัดอายุผู้เล่น) ความสำเร็จดังกล่าวช่วยจุดประกายความนิยมฟุตบอลในประเทศ และกระตุ้นให้รัฐบาลกับสมาคมฯ ตระหนักถึงศักยภาพของตนเอง
สิ่งสำคัญยิ่งกว่าคือ การวางรากฐานระบบฟุตบอลระดับชาติ อุซเบกิสถานใช้โครงสร้างที่ได้อิทธิพลจากโซเวียต นั่นคือมีการกระจายอะคาเดมีและโรงเรียนกีฬาฟุตบอลไปตามหัวเมืองต่างๆ
มี “โรงเรียนกีฬาสำหรับเยาวชน” (academy) ในแต่ละภูมิภาค คัดเด็กที่มีพรสวรรค์เข้าสู่ระบบฝึกตั้งแต่อายุน้อย นอกจากนี้ สมาคมฟุตบอลฯ ยังวางระบบการแข่งขันเยาวชนทั่วประเทศ เพื่อสร้างเวทีให้ดาวรุ่งได้พัฒนาฝีเท้าอย่างต่อเนื่อง
เเนวคิดการพัฒนาเยาวชน
ความโดดเด่นที่สุดของอุซเบกิสถานคือ การสร้างนักเตะรุ่นใหม่ ที่สม่ำเสมอและได้ผล ในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา พวกเขาลงทุนในระดับเยาวชนอย่างจริงจัง
เริ่มตั้งแต่การตั้ง ศูนย์ฝึกฟุตบอลแห่งชาติ และอะคาเดมีประจำสโมสรชั้นนำ เช่น Pakhtakor Tashkent และ Bunyodkor ซึ่งต่างมีโรงเรียนฟุตบอลของตัวเองรองรับเด็กหลายร้อยคน
ทั้งยัง เป็นสโมสรฟุตบอลชั้นนำในอุซเบกิสถานที่มีการพัฒนาเยาวชนผ่านอะคาเดมีของตนเอง โดยมีการฝึกสอนและพัฒนานักเตะเยาวชนเพื่อเข้าสู่ทีมชุดใหญ่และทีมชาติ
ส่วนทางด้านการการคัดตัวก็มีเข้มข้นสูงทั่วประเทศ มีการจัดทัวร์นาเมนต์เยาวชนชิงแชมป์แห่งชาติ U-14 ถึง 17 มีชื่อว่า "CAFA Youth Championship" ซึ่งจัดโดยสมาพันธ์ฟุตบอลเอเชียกลาง (Central Asian Football Association - CAFA) เพื่อพัฒนาฟุตบอลเยาวชนในภูมิภาคเอเชียกลาง เเละถือเป็นการเฟ้นหาเพชรเม็ดงามเข้าสู่เส้นทางทีมชาติไปในตัวอีกด้วย
ที่สำคัญคือการสนับสนุนทั้งจากภาครัฐและเอกชน รัฐบาลอุซเบกิสถานมองว่ากีฬาเป็นเครื่องมือสร้างชื่อเสียงและความภูมิใจ
จึงทุ่มงบประมาณพัฒนากีฬาโดยเฉพาะฟุตบอลเยาวชน มีทุนอุดหนุนโรงเรียนกีฬาและสโมสรต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน บรรดาธุรกิจท้องถิ่นและสปอนเซอร์ต่างๆ ก็ร่วมลงทุนในอะคาเดมีสโมสร ผลักดันให้การพัฒนาเยาวชนเดินหน้าเต็มที่
การผสมผสานระหว่าง วินัยแบบโซเวียต และ วิทยาศาสตร์การกีฬา ทำให้ระบบเยาวชนอุซเบกิสถานมีความโดดเด่นไม่เเพ้ด้านอื่นๆเลย
ทางฝั่งของวิทยาศาสตร์การกีฬา เชื่อว่าหลายคนอาจรู้เเล้วว่าคืออะไรเเต่หลายคนอาจจะสงสัยกันว่า วินัยแบบโซเวียต คืออะไร คำว่า “วินัยแบบโซเวียต” ไม่ได้หมายถึงแค่ความเคร่งครัดเท่านั้น แต่หมายถึง แนวคิดการพัฒนานักกีฬาแบบทั้งระบบ ซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อสร้างนักกีฬาที่มีร่างกายแข็งแรง มีระเบียบวินัยสูง และพร้อมแบกรับภาระในนามชาติ ไม่ต่างจากทหารในสนามรบ
“วินัยแบบโซเวียต” มีจุดเด่นที่เห็นได้ชัดในทีมฟุตบอลอุซเบกิสถานดังนี้
1.ฝึกหนักตั้งแต่วัยเยาว์
เยาวชนถูกฝึกวันละหลายชั่วโมง เน้นการฝึกซ้ำ ความแม่นยำของทักษะพื้นฐาน และการควบคุมร่างกายที่เข้มงวด
2.ระบบรวมศูนย์แบบเบ็ดเสร็จ
การพัฒนาเยาวชนอยู่ภายใต้การกำกับของรัฐหรือองค์กรกีฬา เช่น สโมสรของรัฐ โรงเรียนกีฬาแห่งชาติ หรือศูนย์ฝึกเยาวชนระดับประเทศ
3.คัดตัวอย่างเป็นระบบจากท้องถิ่นสู่ชาติ
เยาวชนจะถูกคัดเลือกจากโรงเรียน → จังหวัด → ประเทศ ผ่านการแข่งขันภายในเพื่อหาผู้ที่เหมาะสมที่สุดเข้าสู่ระบบ
4.ไม่เน้นการเล่นอย่างอิสระ
ผู้เล่นต้องปฏิบัติตามแผนการเล่นที่โค้ชกำหนด ไม่เน้นสไตล์เฉพาะตัวแบบฟุตบอลลาตินอเมริกา แต่เน้น “ทีมเวิร์ก” และ “วินัย”
5.ฝึกเพื่อสร้างความแกร่งทางร่างกาย
เป้าหมายคือการสร้างนักกีฬาที่แข็งแรง ถึก อึด แบบที่เคยถูกใช้เป็นต้นแบบในการสร้างนักกีฬาสำหรับโอลิมปิกของโซเวียตยุคก่อน
แม้รูปแบบนี้อาจดูแข็งทื่อและเข้มงวด แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า “วินัยแบบโซเวียต” ได้กลายเป็นรากฐานสำคัญของระบบฟุตบอลอุซเบกิสถาน และยังคงส่งอิทธิพลจนถึงปัจจุบัน โดยถูกผสมผสานกับศาสตร์ฟุตบอลยุคใหม่อย่างลงตัว
ปัจจัยสนับสนุนหลังบ้าน
ความสำเร็จของระบบฟุตบอลอุซเบกิสถานไม่ได้เกิดขึ้นจากโค้ชและนักเตะในสนามเท่านั้น แต่ส่วนสำคัญมาจาก นโยบายและการสนับสนุนหลังบ้าน ของทั้งรัฐบาลและสมาคมฟุตบอลฯ
รัฐบาลอุซเบกิสถานให้ความสำคัญกับกีฬามาโดยตลอด นับตั้งแต่อดีตประธานาธิบดี อิสลาม คารีมอฟ จนถึง ชัฟคัต มีร์ซิโยเยฟ ผู้นำคนปัจจุบัน ต่างสนับสนุนงบประมาณและทรัพยากรให้วงการฟุตบอล
มีการสร้างศูนย์กีฬาและสนามฝึกซ้อมระดับมาตรฐานสูงในกรุงทาชเคนต์และเมืองใหญ่ๆ รวมถึงใช้งบรัฐสนับสนุนการจัดแข่งขันเยาวชนและส่งทีมชาติชุดต่างๆ ไปเก็บตัวหรือแข่งทัวร์นาเมนต์อุ่นเครื่องในต่างประเทศอยู่เสมอ
ขณะเดียวกัน สมาคมฟุตบอลอุซเบกิสถาน (UFA) ก็มีบทบาทบริหารจัดการเชิงรุก มีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ระยะยาว เพื่อพัฒนาฟุตบอลตั้งแต่รากหญ้าจนถึงระดับอาชีพ
ในบทความของ ESPN ที่เผยแพร่เมื่อเดือนมกราคม 2025 ยังได้กล่าวถึงความก้าวหน้าของทีมชาติอุซเบกิสถานและความเป็นไปได้ในการเป็นทีมที่โดดเด่นในการแข่งขันฟุตบอลโลก 2026 ให้เป็นชาติที่เน้นการพัฒนาทีมเยาวชนและความสำเร็จในระดับนานาชาติของทีมรุ่นอายุต่าง ๆ ซึ่งสะท้อนถึงยุทธศาสตร์ที่กล่าวไว้ข้างต้นอย่างจริงจัง
นอกจากนั้นเเล้ว สมาคมฯ ยังทำงานใกล้ชิดกับ FIFA และ AFC ในโครงการพัฒนาต่างๆ (เช่น FIFA Goal Project) เพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐานฟุตบอลในประเทศ นอกจากนี้ การจ้างผู้จัดการทีมและผู้เชี่ยวชาญต่างชาติระดับโลกมาคุมทีมชาติชุดใหญ่ก็แสดงถึงความทุ่มเทที่จะยกระดับมาตรฐานทีม โดยเคยดึงโค้ชอย่าง หลุยส์ เฟลิเป้ สโคลารี่ (มาคุมทีมสโมสรบุนยอดกอร์) และ เอคตอร์ คูเปร์ (คุมทีมชาติชุดใหญ่) มาแล้ว
การสนับสนุนอย่างเต็มที่จากทั้งภาครัฐและสมาคมฯ เช่นนี้ เปรียบเสมือนแรงลมใต้ปีกที่ช่วยให้วงการฟุตบอลอุซเบกิสถานทะยานขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้านงบประมาณ การบริหารจัดการ หรือการพัฒนาบุคลากร ทุกภาคส่วนประสานพลังกันเพื่อเป้าหมายร่วมกัน คือการสร้างชื่อให้ฟุตบอลอุซเบกิสถานบนเวทีโลก
ประธานาธิบดีชัฟคัต มีร์ซิโยเยฟ นโยบายสร้างฟุตบอล อุซเบกิสถาน ที่ไม่เหมือนเคย
ประธานาธิบดีชัฟคัต มีร์ซิโยเยฟ ลงนามในกฤษฎีกาเพื่อขับเคลื่อน “โครงสร้างพื้นฐานฟุตบอล” และขยายเครือข่ายสถาบันการศึกษาให้สอดคล้องกับมาตรฐานระดับสากล ท่ามกลางกระแสความหวังที่อยากเห็นทีมชาติผ่านเข้าสู่ฟุตบอลโลกเป็นครั้งแรก
ด้วยการออกกฤษฎีกาแบบ “ลงลึกทุกมิติ” เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานลูกหนังแบบยั่งยืน พร้อมประกาศวิสัยทัศน์ให้ฟุตบอลกลายเป็นส่วนสำคัญของชาติ ทั้งในเชิงกีฬาและเศรษฐกิจ
กฤษฎีกาฉบับนี้มีชื่อว่า “มาตรการขยายเครือข่ายสถาบันการศึกษาฟุตบอล และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานฟุตบอลให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล”
ในเอกสารที่ออกโดยกระทรวงยุติธรรม มีรายละเอียดที่น่าสนใจ 3 ด้านหลักๆ เช่น
1.ตั้ง “ศูนย์ฟุตบอลแห่งชาติ” เพื่อใช้เป็นศูนย์รวมสำหรับทีมชาติทุกชุด
2.จัดตั้งศูนย์ฝึกทีมชาติ บนฐานของ “โรงเรียนกีฬาเพื่อความเป็นเลิศระดับชาติ”
3.สร้างศูนย์เวชศาสตร์การกีฬาและศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพนักกีฬา เพื่อรองรับการฟื้นฟูร่างกายตามมาตรฐานยุโรป
นอกจากนี้ ยังมีการ ยกระดับสถาบันฝึกผู้เชี่ยวชาญฟุตบอล ด้วยการรีแบรนด์จากศูนย์ฝึกผู้ฝึกสอนฟุตบอล เป็น ศูนย์ฝึกอบรมและวิจัยทางฟุตบอลแห่งชาติ
รวมถึงเปลี่ยนชื่อ "อะคาเดมีฟุตบอลเยาวชนแห่งชาติ" เป็น “สถาบันฟุตบอลแห่งชาติ”
หน่วยงานใหม่นี้จะเปิดหลักสูตรครบทุกตำแหน่ง ตั้งแต่
1.โค้ช
2.ผู้ตัดสิน
3.นักวิเคราะห์เกม
4.แมวมอง (scout)
5.นักจิตวิทยาการกีฬา
6.ผู้จัดการทีม
7.นักการตลาดฟุตบอล
ภายใต้แผนดังกล่าว ยังมีเป้าหมายสำคัญอีกหลายข้อ เช่น
1.จัดตั้งช่องทีวีเฉพาะทางด้านฟุตบอล ให้เสร็จภายใน 1 มิถุนายน 2024
2.ตั้งแต่ 1 มกราคม 2025 เป็นต้นไป โค้ชของโรงเรียนกีฬาและอะคาเดมีต่าง ๆ จะต้องมี “ใบอนุญาตจากศูนย์ฝึกอบรมฯ” ถึงจะสามารถเข้ารับตำแหน่งได้
3.สร้างทีมฟุตซอลทุกระดับ (ทีมหลัก, ทีมเยาวชน, ทีมหญิง) ในทุกภูมิภาค โดยบูรณาการกับสโมสรฟุตบอลอาชีพ
4.ภายใน 1 มีนาคม 2024 จะมี ระบบลงทะเบียนสนามฟุตบอลระดับชาติแบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเก็บข้อมูลสนามซ้อมและสนามแข่งขันทั่วประเทศไว้ในฐานข้อมูลเดียว
และที่น่าสนใจเป็นพิเศษคือช่วงที่ผ่านมาตั้งแต่ 1 มกราคม 2024 เป็นต้นไป อดีตนักฟุตบอลอาชีพและผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับการรับรองจาก UFA จะสามารถ ขอกู้เงินพิเศษได้ถึง 1.5 พันล้านซูม (ประมาณ 4.8 ล้านบาท) ด้วยเงื่อนไขผ่อนชำระระยะยาวไม่น้อยกว่า 5 ปี
ทั้งหมดนี้เป็นภาพสะท้อนว่าอุซเบกิสถาน ไม่ได้มองฟุตบอลเป็นเพียงกีฬาแต่คือกลไกทางสังคม เศรษฐกิจ แต่มันคือ “ศักดิ์ศรีของชาวกีฬา” ที่ต้องผลักดันอย่างเป็นรูปธรรม
ผลงานบนเวทีเยาวชน: จากเอเชียสู่เวทีโลก
ความมุ่งมั่นในการพัฒนาเยาวชนส่งผลให้อุซเบกิสถานก้าวขึ้นมาเป็น ขาประจำรายการใหญ่ระดับทวีปและโลก ในรุ่นเยาวชนตลอดช่วงทศวรรษหลังนี้ ผลงานของพวกเขาสร้างความตื่นตะลึงให้กับคนเอเชียหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการคว้าแชมป์หรือผ่านเข้ารอบลึกๆ ของทัวร์นาเมนต์เยาวชนต่างๆ
ดังรายการสรุปต่อไปนี้:
ระดับทวีป (AFC): อุซเบกิสถานคว้าแชมป์เอเชียรุ่นเยาวชนมาแล้วครบทุกชุด ได้แก่ แชมป์ AFC U-16 (ยู-17 เอเชียนคัพ) 1 สมัยในปี 2012, แชมป์ AFC U-19 (ยู-20 เอเชียนคัพ) 1 สมัยในปี 2023 และ แชมป์ AFC U-23 1 สมัยในปี 2018 (ที่จีน) นอกจากนี้ยังได้รองแชมป์ U-23 อีก 2 ครั้งในปี 2022 และ 2024 แสดงให้เห็นถึงความต่อเนื่องในการผลิตผู้เล่นคุณภาพสูงแทบทุกรุ่นอายุ
ระดับโลก (FIFA): ทีมเยาวชนอุซเบกิสถานผ่านเข้าเล่น ฟุตบอลโลก U-17 มาแล้ว 4 ครั้ง (ครั้งแรกปี 2011) โดยผลงานดีที่สุดคือเข้าถึงรอบก่อนรองชนะเลิศได้ถึง 2 ครั้ง (ปี 2011 และ 2023) ส่วน ฟุตบอลโลก U-20 พวกเขาผ่านเข้ารอบสุดท้ายถึง 5 ครั้ง (ครั้งแรกปี 2003) และสามารถทะลุถึงรอบก่อนรองชนะเลิศได้ 2 ครั้งเช่นกัน (ปี 2013 และ 2015) ถือเป็นสถิติที่น่าทึ่งสำหรับชาติที่เพิ่งก่อตั้งได้ไม่นานเมื่อเทียบกับบรรดาชาติเก๋ากึ๊กในวงการลูกหนัง
ผลงานเหล่านี้ยืนยันว่า อุซเบกิสถานกลายเป็นมหาอำนาจลูกหนังระดับเยาวชนของเอเชียอย่างเต็มตัว การที่ทีมชุดเล็กของพวกเขาติดอันดับท็อป 4 ของทวีปเป็นประจำ และไปโลดแล่นสู้กับทีมระดับโลกในเวที FIFA World Cup รุ่นเยาวชน ได้สร้างความเชื่อมั่นและประสบการณ์ล้ำค่าให้กับนักเตะรุ่นใหม่ เมื่อผู้เล่นเหล่านี้ไต่ขึ้นสู่ทีมชาติชุดใหญ่ พวกเขาก็ไม่หวาดหวั่นเมื่อต้องเจอกับทีมแกร่งของเอเชีย เพราะผ่านการดวลกับทีมยุโรปและอเมริกาใต้มาตั้งแต่วัยทีนเเล้ว
ก้าวใหม่: เส้นทางสู่ ฟุตบอลโลก 2026
หลังจากสั่งสมความแข็งแกร่งในระดับเยาวชนมายาวนาน ตอนนี้อุซเบกิสถานกำลังจะเก็บเกี่ยวผลผลิตนั้นในระดับฟุตบอลโลกชุดใหญ่ เป้าหมายสูงสุดที่พวกเขารอคอยคือ การผ่านเข้ารอบสุดท้ายฟุตบอลโลก ให้ได้สักครั้ง และดูเหมือนฟุตบอลโลก 2026 อาจเป็นเวทีแห่งประวัติศาสตร์ที่รออยู่
เส้นทางรอบคัดเลือกโซนเอเชียปี 2026 นี้ อุซเบกิสถานทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยม ในรอบคัดเลือกรอบสอง (36 ทีม) พวกเขาถูกจับอยู่กลุ่มเดียวกับ อิหร่าน, ฮ่องกง และเติร์กเมนิสถาน
ซึ่งทีม “หมาป่าขาว” ก็โชว์ฟอร์มแกร่ง ไม่แพ้เลยตลอด 6 นัด (ชนะ 4 เสมอ 2) เก็บได้ 14 คะแนน เท่ากับอิหร่าน และผ่านเข้ารอบ 18 ทีมสุดท้าย (รอบสาม) ในฐานะรองแชมป์กลุ่มร่วมกับอิหร่านที่คะแนนเท่ากัน การเข้าถึงรอบคัดเลือกรอบสุดท้ายโซนเอเชียไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับอุซเบกิสถาน – พวกเขาเคยไปถึงด่านนี้หลายครั้งในอดีต – แต่ครั้งนี้ต่างออกไป เพราะเอเชียได้โควตาเพิ่มเป็น 8 ทีม ทำให้โอกาสเปิดกว้างกว่าเดิมมาก
ในรอบ 18 ทีมสุดท้าย อุซเบกิสถานยังคงทำผลงานได้น่าประทับใจ โดยยืนหยัดต่อกรกับบิ๊กเนมเอเชียในกลุ่มของตนอย่างสูสี (พวกเขาอยู่สายเดียวกับทีมแกร่งอย่างอิหร่าน กาตาร์ และยูเออี) หลังผ่านครึ่งทางของการแข่งขัน
อุซเบกิสถานเกาะอยู่ในกลุ่มหัวตาราง มีลุ้นตำแหน่ง 1 ใน 2 อันดับแรกของสายที่จะคว้าตั๋วไปฟุตบอลโลกโดยอัตโนมัติแบบเต็มตัว หากรักษาฟอร์มเช่นนี้ต่อเนื่อง
อีกเพียงไม่กี่นัดข้างหน้า เราอาจได้เห็นชื่อของ “Uzbekistan” ถูกจารึกในฐานะชาติที่ผ่านเข้าเล่นฟุตบอลโลก 2026 รอบสุดท้ายเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของพวกเขาในทีมชุดใหญ่
แม้ในอดีตทีมชาติอุซเบกิสถานชุดใหญ่จะพลาดหวังอย่างเจ็บช้ำมาหลายครั้ง เช่น รอบเพลย์ออฟโซนเอเชียปี 2006 ที่ตกรอบด้วยกฎประตูทีมเยือนต่อบาห์เรน หรือรอบเพลย์ออฟโซนเอเชียปี 2014 ที่แพ้จอร์แดนในการดวลจุดโทษ ทั้งที่รอบก่อนหน้านั้นเคยโชว์ฟอร์มเยี่ยมเก็บคะแนนเหนือญี่ปุ่นมาแล้ว
ทว่าประสบการณ์เหล่านั้นก็ยิ่งทำให้คนในเเวดวงฟุตบอลอุซเบกิสถานเรียนรู้และพัฒนามากขึ้น พวกเขานำความผิดหวังกลับไปแก้ไข วางแผนระยะยาวใหม่ และดูท่าจะพร้อมกว่าที่เคย
ทันทีที่ทีมชาติชุดใหญ่กำลังลุ้นตั๋วบอลโลก 2026 อย่างเข้มข้น ชุดเล็กของอุซเบกิสถานก็ไม่ยอมน้อยหน้า U‑17 ของพวกเขาเพิ่งคว้าตั๋วลุยฟุตบอลโลก U‑17 2025 ที่กาตาร์ มาครองเป็นที่เรียบร้อย
ด้วยการจบอันดับ 1 กลุ่ม A ในศึก AFC U‑17 Asian Cup 2025 ด้วยสถิติ ชนะ 3 นัดรวด ยิง 9 เสีย 2 เก็บ 9 แต้มเต็ม (4‑1 ไทย, 2‑1 จีน, 3‑0 ซาอุดีอาระเบีย)
ผลงานระดับนี้ย้ำให้เห็นว่า “หมาป่าขาวน้อย” ก็พร้อมแล้วที่จะก้าวขึ้นมาเป็นพลังสำคัญของวงการลูกหนังของอุซเบกิสถานชุดใหญ่ในอนาคตต่อไป ไม่ใช่เพียงแค่ลุยเวทีรายการเเข่งขันระดับโลกเพียงเท่านั้น
บทสรุป: ภาพฝันที่ใกล้เป็นจริงของหมาป่าขาว
เรื่องราวของฟุตบอลอุซเบกิสถานในช่วงที่เวลาที่ผ่านมา เป็นบทพิสูจน์ถึงพลังของการวางเเผนที่ดีทำให้โลกลูกหนังเริ่มจับตามอง “หมาป่าขาวแห่งเอเชียกลาง” มากขึ้นทุกขณะ
ปัจจัยความสำเร็จของอุซเบกิสถาน มิใช่เรื่องฟลุ๊กหรือพรสวรรค์ หากแต่เป็นผลจาก การลงทุนทางเวลาและทรัพยากรอย่างมหาศาลจากผู้นำประเทศที่ให้ความสำคัญ ทุกองค์ประกอบ ประกอบกันจนผลิดอกออกผลจนทั่วโลกได้เห็นกันเเล้ว ณ เวลานี้
แหล่งอ้างอิง:
https://en.wikipedia.org/wiki/Uzbekistan_national_football_team#:~:text=reached%20the%20final%2C%20losing%20to,and%20the%20%20186%20Uzbekistan
https://www.uzdaily.uz/en/presentation-of-the-pakhtakor-junior-project-took-takes-in-tashkent/
https://en.wikipedia.org/wiki/FC_Bunyodkor-2
https://sports.uz/news/view/bunyodkor-together-with-croatia-wants-to-introduce-innovations-in-uzbek-football-13-06-2022
https://ufa.uz/the-ufa-championship-2023-pakhtakor-u-15-and-odil-junior-u-15-are-champions/?lang=en&utm_source
https://ufa.uz/uzbekistan-u-17-national-team-begins-training-camp/?lang=en&utm_source
https://en.wikipedia.org/wiki/2023_AFC_U-20_Asian_Cup_squads?utm_source
https://kun.uz/en/news/2023/11/04/president-signs-a-decree-on-development-of-football-in-uzbekistan?utm_source
https://www.espn.co.uk/football/story/_/id/39283277/why-uzbekistan-breakout-stars-2026-world-cup?utm
https://www.theguardian.com/football/2009/jun/09/luiz-felipe-scolari-uzbekistan-bunyodkor?utm_source
https://en.wikipedia.org/wiki/H%C3%A9ctor_C%C3%BAper?utm_source
file:///C:/Users/Win%2010%20Home/Downloads/mjeeducation,+MJE_Vol_017_Num_001_1982_winter_Ziberman.pdf
https://www.playingpasts.co.uk/playing-pasts-publications/development-of-soviet-sport-and-the-components-which-ensured-its-success/?utm_source
file:///C:/Users/Win%2010%20Home/Downloads/mjeeducation,+MJE_Vol_017_Num_001_1982_winter_Ziberman%20(2).pdf
https://blogs.bu.edu/ghm/files/2013/04/Keys-2003-Soviet-Sport-and-Transnational-Mass-Culture-in-the.pdf?utm
https://doctoryessis.com/2012/12/31/an-introduction-to-soviet-training-methods/
https://en.wikipedia.org/wiki/2012_AFC_U-16_Championship#:~:text=ChampionsImage%C2%A0Uzbekistan%20%281st%20title%29%20Runners,statistics%20Matches%C2%A0played%2031
https://en.wikipedia.org/wiki/Uzbekistan_national_under-20_football_team#:~:text=Best%20result%20Champions%20
https://en.wikipedia.org/wiki/AFC_U-23_Asian_Cup
https://en.wikipedia.org/wiki/Uzbekistan_national_under-17_football_team#:~:text=Appearances%204%20,first%20in%201994
https://en.wikipedia.org/wiki/Uzbekistan_national_under-20_football_team#:~:text=FIFA%20U,20%20Asian%20Cup
https://ufa.uz/jch-2023-ozbekiston-u-17-terma-jamoasi-chorak-finalda/?lang=en&utm_source
https://en.wikipedia.org/wiki/2026_FIFA_World_Cup_qualification_(AFC)#:~:text=Turkmenistan%20en,15%20%20%E2%88%9211%20%202
https://en.wikipedia.org/wiki/Uzbekistan_national_football_team#:~:text=In%20qualification%20for%20the%202014,an%20impressive%201%E2%80%930%20away%20win
https://en.wikipedia.org/wiki/CAFA_Youth_Championship
ภาพ : https://terrikon.com/en/football/teams/900/players