แฟนหงส์แดงฉลองก่อนสงกรานต์ เมื่อ โม ซาลาห์ ราชาของพวกเขาตกลงสัญญาฉบับใหม่กับทีมเป็นที่เรียบร้อย
ท่ามกลางความดีใจ เรามาลองให้น้ำหนัก “เชิงบวก” และ “เชิงลบ” ของสัญญาฉบับใหม่นี้ที่คาดว่า “จ้างหนักกว่าเดิม” แม้นักเตะจะอายุมากขึ้น
ผลลัพธ์ของการต่อสัญญานี้จะออกไปในทิศทางไหน ? Main Stand ขอพาคุณไปร่วมวิเคราะห์ที่นี่
ส่วนที่ยากที่สุดในการต่อสัญญา "เดอะ แบก"
หลายคนคงเคยได้ยินกฎที่ชื่อว่า "กฎบอสแมน" กฎนี้มีหลักการที่เข้าใจง่าย ๆ คือเมื่อนักฟุตบอลเหลือสัญญากับต้นสังกัดอีกแค่ 6 เดือน พวกเขาสามารถไปเจรจาสัญญาฉบับถัดไปกับสโมสรใด ๆ ก็ได้ตามที่ตนเองต้องการ จนนำไปสู่การย้ายทีมแบบไร้ค่าตัวที่เรามักคุ้นตากันในช่วงตลาดซัมเมอร์ของแต่ละฤดูกาล
แน่นอนว่านี่คือสิ่งที่ทุกสโมสรต้องการหลีกเลี่ยง เพราะนอกจากจะเสี่ยงเสียผู้เล่นไปโดยไม่ได้อะไรกลับคืนมาแล้ว ยังมีโอกาสยื่นหอกให้ศัตรูร่วมลีกใช้กลับมาทิ่มแทงกันแบบฟรี ๆ ได้อีกด้วย จึงนำไปสู่การต่อสัญญาฉบับใหม่ที่มักเกิดขึ้นเมื่อนักเตะของตนเหลือสัญญาระหว่าง 18 - 24 เดือน
ประธานฝ่ายเทคนิคของสโมสรหนึ่งในพรีเมียร์ลีก ได้เปิดเผยกับสื่อ The Athletic ว่า "เมื่อผู้เล่นเหลือสัญญาแค่ปีเดียว เขาและเอเยนต์จะมีความต้องการสูงกว่าสิ่งที่คุณสามารถจ่ายไหว โดยเฉพาะรายที่มีแววโชว์ฟอร์มได้อีก 4-5 ปี คุณจะโดนเอเยนต์พูดในแนวว่า 'ถ้าคุณซื้อนักเตะใหม่มาแทนผู้เล่นในการดูแลของเขา ต้องใช้เงิน 15 ล้านปอนด์ จะดีกว่าไหมถ้าเอาแค่ 10 ล้านปอนด์มาให้กับนักเตะและตัวเขาเอง"
นั่นคือการยกอำนาจการต่อรองที่คุณมี ให้กับตัวผู้เล่นและเอเยนต์ได้มีโอกาสคุมเกมเหนือกว่าโดยทันที ซึ่งเมื่อถึงจุดนี้ ก็เปรียบเสมือนทางแยกที่สโมสรจะต้องตัดสินใจ ว่าจะยอมจ่ายค่าเหนื่อยสูงลิ่ว หรือตัดใจปล่อยตัวออกจากทีมด้วยราคาที่ถูกลงในตลาดฤดูหนาว หรือกัดฟันใช้งานผู้เล่นรายนั้นไปจนหมดสัญญา แล้วค่อยปล่อยให้เจ้าตัวได้เลือกเส้นทางต่อไปด้วยตนเอง
สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นในดีลของ โม ซาลาห์ ที่หลายปัจจัยหลายอย่างประกอบกัน อาทิ นักเตะเดินทางมาถึงวัยย่าง 33 ปี ซึ่งเป็นวัยที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่สโมสรจะต้องคิดให้หนักสำหรับสัญญาแต่ละฉบับ มันต้องมีการชั่งน้ำหนักให้ดี เพราะในทางหนึ่งนี่คือ "เดอะ แบก" ในยุคสมัยที่ทีมรุ่งเรืองที่ยุคหนึ่ง เป็นนักเตะที่รักของแฟนบอล และไม่มีเรื่องเสีย ๆ หาย ๆ ให้รบกวนใจ ... ถ้ายกเรื่องนี้เอามาเป็นเหตุผล การต่อสัญญามันจึงคู่ควรแบบไม่มีอะไรจะเถียง
แต่ในอีกมุมหนึ่ง ลิเวอร์พูล ก็อาจจะกังวลกับอายุที่มากขึ้นของนักเตะ ซึ่งต่อให้เก่งแค่ไหนก็ไม่มีใครเอาชนะวัฏจักรของเวลา ซาลาห์ อาจจะเป็นนักเตะที่เล่นได้จนอายุ 40 ปี เหมือน คริสเตียโน่ โรนัลโด้ หรือ ลูก้า โมดริช ก็ได้ แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่มีใครกล้าการันตีเรื่องนี้ได้ ซึ่งสโมสรก็ต้องแบกความเสี่ยง เพราะการต่อสัญญามันเกิดขึ้นในช่วงที่เขาฟอร์มดีมาก ๆ ทำให้มันเป็นการบีบสโมสรทางอ้อมว่าค่าเหนื่อยต้องมากกว่าเดิม และอายุสัญญาอาจจะยาวกว่าที่สโมสรตั้งใจจะให้ในตอนแรก
ประกอบกับ ลิเวอร์พูล เดินทางมาถึงช่วงรอยต่อระหว่าง เยอร์เก้น คล็อปป์ กับ อาร์เน่อ ชล็อต จึงทำให้การต่อสัญญาของ ซาลาห์ เดินทางมาถึงช่วง 3 เดือนสุดท้าย เพราะย้อนกลับไปต้นซีซั่น ไม่มีใครรู้ว่าเขาจะเป็นตัวหลักยิงระเบิดเถิดเทิง เป็นนักเตะที่ ชล็อต ใช้แบกทีมเหมือนที่ คล็อปป์ ใช้หรือไม่ ... ซึ่งเมื่อสุดท้ายแล้วมันชัดเจนว่า ซาลาห์ ยังเล่นดี ยังเป็นตัวหลักที่ตัดสินเกมได้ ยังคงเป็นนักเตะที่ร่างกายยอดเยี่ยมไร้อาการบาดเจ็บ แถมยิงประตูมากกว่าเดิมด้วยซ้ำ ดังนั้น ซาลาห์ จึงได้สัญญาฉบับใหม่ตามต้องการ และตามรายงานข่าวกล่าวว่ามันมีมูลค่ามากกว่าเดิม ซึ่งตอนนี้จะเท่าไหร่ก็ไม่สำคัญแล้ว เพราะทุกฝ่ายรับความเสี่ยงและพร้อมเดินหน้าไปพร้อมกันสู่ยุคใหม่อีกครั้ง
ไม่มีใครยอมจ่าย หากจะไม่ได้ผลตอบแทน
ย้อนกลับไปในเคสอดีต มีนักเตะหลายคนที่มีสถานะ "เดอะ แบก" ประจำทีมที่อายุเริ่มมากขึ้น และได้รับการต่อสัญญาออกไปด้วยเงินที่ก้อนโตกว่าเดิมคล้าย ๆ กับ ซาลาห์ ได้รับในตอนนี้ ซึ่งปลายทางของพวกเขาก็แตกต่างกันออกไป บางคนทำให้สโมสรรู้สึกว่า "คิดถูก" แต่ในขณะเดียวกันก็มีอีกหลายคนที่ทำให้สโมสรต้องกลัดกลุ้มใจ เพราะมันไม่ใช่แค่การ "คิดผิด" แต่มันนำมาสู่ปัญหาอีกหลาย ๆ อย่างด้วย
ในแง่ของการ "คิดถูก" นั้นไม่มีอะไรที่อธิบายยากเย็น การต่อสัญญา ซาลาห์ ทำให้ ลิเวอร์พูล ไม่ต้องเสียเวลาปรับจูนเกมรุกทีมใหม่ นักเตะที่ดีที่สุดในทีมของพวกเขายังคงอยู่กับทีมต่อไป นักเตะที่รู้ทุกอย่างในแง่ของวิธีการเล่น ความเข้าขารู้ใจของเพื่อนร่วมทีม รวมถึงวัฒนธรรมองค์กรทุกอย่างที่จะทำให้ทุกคนมั่นใจได้ว่าเขาจะไม่ใช่พวกแข้งดังที่เห็นตัวเองใหญ่กว่าสโมสร
ณ ตอนนี้สำหรับ ซาลาห์ เรายังสามารถใช้คำว่า "อายุเป็นเพียงตัวเลข" ได้อยู่สบาย ๆ เพราะผลงานที่เขาฝากไว้ดีกว่าตอนที่เขาหนุ่ม ๆ ด้วยซ้ำไป อีกทั้งถ้ามองในแง่ของแท็คติกกลยุทธ์ แม้ ซาลาห์ จะอายุมากขึ้น แต่เจ้าตัวก็ปรับวิธีการเล่นให้สอดคล้องกับตัวเองได้ดีมาก ๆ
เขาเปลี่ยนจากปีกสายสปีดลากเลื้อยในแทบทุกจังหวะ หรือมีจังหวะการลากบอลระยะ 60-70 เมตรให้เราเห็นเป็นประจำในอดีต กลายเป็นนักเตะที่เอาสมองผสมกับประสบการณ์ออกมาเล่น การขยับของ ซาลาห์ มันคือสิ่งทีเรียกว่า "น้อยแต่มาก" ไม่จำเป็นต้องเรียกเสียงฮือฮาทุกครั้ง แต่เมื่อเขาได้สัมผัสบอล มันหมายถึงการได้สัมผัสบอลในพื้นที่ที่เหมาะสมและอันตรายกับคู่แข่งมากที่สุด ซึ่งถ้าคุณสังเกตประตูของเขาในช่วงหลัง คุณจะเห็นลูกยิงแท็บอินง่าย ๆ หรือง้างยิงจังหวะเดียวในกรอบเขตโทษมากขึ้นกว่าเมื่อก่อนอย่างเห็นได้ชัด
นอกจากนี้ สิ่งที่เพิ่มเติมขึ้นมาของ ซาลาห์ คือการเล่นอย่างรู้จังหวะเกม ทักษะการจ่ายบอลของเขาในเวลาก็อันตรายไม่แพ้การยิงประตูเลย ความสมดุลดังกล่าวถือเป็นสิ่งพิเศษที่ไม่สามารถทำได้กันง่าย ๆ จังหวะไหนควรเร็ว จังหวะไหนควรช้า จังหวะไหนควรรอเพื่อน จังหวะไหนควรแหกด่านเข้าไปยิง ซาลาห์ คืออัจฉริยะด้านนี้อย่างแท้จริง โดยที่นักเตะหนุ่มในทีมคนอื่น ๆ เลียนแบบไม่ได้
ดังนั้นการต่อสัญญาฉบับนี้ ข้อดีก็คือแฟนลิเวอร์พูลมั่นใจได้ว่ามันไม่ใช่การตอบแทนอดีตอย่างเดียว แต่มันยังหมายถึงการซื้ออนาคตของทีมในระยะสั้นด้วย เพราะถ้า ซาลาห์ ยังอยู่ เกมรุกของทีมก็ยังน่ากลัว ปรับจูนได้ง่ายเพราะมีเสาหลักอย่างเขาคอยค้ำไว้ และถ้าคุณสังเกตคุณจะพบว่านักเตะเกมรุกในทีมหงส์แดงอย่าง หลุยส์ ดิอาซ, โคดี้ กักโป, ดาร์วิน นูนเญซ, ดิโอโก้ โชต้า พวกเขาเหล่านี้เล่นง่ายขึ้นมาก ๆ หากวันนั้นในแผงเกมรุกมีซาลาห์ ลงสนามด้วย
นอกจากเรื่องในสนามแล้ว เรื่องในห้องแต่งตัวก็จะเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สโมสรจะได้จาก ซาลาห์ ด้วย ซาลาห์ อยู่ที่นี่มา 8 ปี แล้ว บทบาทในห้องแต่งตัวของเขาถือเป็นคนสำคัญมาเสมอ จากคำยืนยันของ โรแบร์โต้ ฟีร์มิโน่ ที่เขียนในหนังสืออัตชีวประวัติของตัวเองว่า "โม ไม่ใช่คนที่พูดเยอะ แต่ทุกครั้งที่เขาพูดมักมีอะไรแฝงอยู่ในนั้น สิ่งที่คุณมั่นใจได้เลยก็คือคนอย่างเขาเป็นแรงบันดาลใจให้เพื่อนร่วมทีมได้ เพราะเขาเลือกที่จะทำให้เห็นก่อนเสมอ และมันทำให้ทุกคนรู้ว่ามาตรฐานของการเล่นให้ ลิเวอร์พูล มันต้องอยู่ในระดับไหน จากการมีอยู่ของ โม ซาลาห์"
การต่อสัญญาเพื่อทำให้มีผู้นำในห้องแต่งตัว ก็ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่รองลงมาจากผลงานในสนาม แมนฯ ยูไนเต็ด เองก็เคยต่อสัญญา ไรอัน กิ๊กส์ ออกไปเรื่อย ๆ ตั้งแต่อายุ 32 ปีเหมือนกับ ซาลาห์ จนทำให้เขาอยู่กับทีมจนถึงอายุ 38 ปี แม้ว่าบทบาทของ กิ๊กส์ จะไม่ใช่ตัวหลัก และเขาจะไม่สามารถเล่นในตำแหน่งที่เขาเก่งที่สุดอย่างปีกซ้ายได้อีกแล้วด้วยอายุที่มากขึ้น แต่การเป็นผู้นำในห้องแต่งตัว การเป็นแบบอย่างในแง่ความเป็นมืออาชีพ (ด้านฟุตบอล) ก็เป็นสิ่งที่ เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ต้องต่อสัญญาให้เขาอยู่เป็นพี่ใหญ่ คอยแนะนำน้อง ๆ คอยช่วยเหลือนักเตะที่ย้ายมาใหม่ ๆ
เหนือสิ่งอื่นใดคือ "เดอะ แบก คนเก่า" ประเภท ซาลาห์ หรือ กิ๊กส์ นั้นเป็นอะไรที่เรียกว่า "รู้มือ" กันดีกับเฮดโค้ช ดังนั้นเหล่ากุนซือจึงมั่นใจได้ว่า "สารจากบอส" จะมีนักเตะประเภทนี้เป็นคนถ่ายทอดสู่นักเตะในทีมได้เป็นอย่างดี และทำให้ทีมมีทัศนคติที่ถูกต้อง ซึ่ง แมนฯ ยูฯ ในยุค กิ๊กส์ หรือ ลิเวอร์พูล ในยุค ซาลาห์ พวกเขามีทัศนคติเหมือนกันอยู่ 1 อย่างแน่ ๆ นั่นคือ "ทัศนคติของการเป็นผู้ชนะในทุกการแข่งขัน" นี่แหละคือสิ่งที่สโมสรยอมจ่ายหนักเพื่อนักเตะที่อายุมากขึ้นและไม่มีอะไรการันตีได้ว่าพวกเขาจะเก่งเหมือนเดิมไปจนหมดอายุสัญญาฉบับใหม่
แต่ข้อเสียล่ะ ?
แน่นอนว่าทุกสิ่งบนโลกนี้ก็เหมือนกับเหรียญที่มี 2 ด้าน เมื่อมีข้อดีก็ต้องมีข้อเสียปะปนกันไป บางครั้งการมอบสัญญาให้ เดอะ แบก ในช่วงอายุที่มากขึ้น ก็มีความเสี่ยงอย่างมาก และอาจจะนำมาซึ่งปัญหาที่กระทบไปยังส่วนอื่น ๆ ของสโมสร หรือแม้กระทั่งผู้เล่นคนอื่น ๆ ในทีมด้วย เพราะค่าเหนื่อยที่ก้าวกระโดดขึ้นมาจากเดิม จะเกิดความคาดหวังจากแฟนบอลที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล จนอาจนำไปสู่แรงกดดันที่มีผลกระทบโดยตรงต่อผลงานในสนามของเขาได้
ยกตัวอย่างเมื่อปี 2020 กับ ปิแอร์ เอเมอริค โอบาเมยอง ที่เหลือสัญญากับ อาร์เซน่อล เพียงแค่ 12 เดือนเท่านั้น ก่อนที่ต้นสังกัดจะยอมกัดฟันมอบค่าเหนื่อยแบบ "เบิ้ลสอง" เป็นตัวเลขที่มากกว่า 250,000 ปอนด์/สัปดาห์ให้ เพื่อรั้งสตาร์เบอร์หนึ่งให้อยู่กับทีมต่อไป และการต่อสัญญา โอบาเมยอง นำมาสู่การต้องยอมปล่อยตัวผู้เล่นอย่าง ชโคดราน มุสตาฟี่, โซคราติส ปาปาสตาโธปูลอส, และ เมซุต โอซิล ออกจากทีมไปแบบไร้ค่าตัว เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายของทีมลงมาตามกฎการเงินที่นับวันที่รัดแต่ละทีมให้แน่นขึ้น
ท่ามกลางความยินดีหลังการต่อสัญญาจบสมบูรณ์ กลับกลายเป็นว่าฟอร์มของศูนย์หน้าสัญชาติกาบอง กลับยิ่งเล่นยิ่งแย่ ผลงานออกคงห่างไกลจากจุดที่ตนเองเคยทำท็อปฟอร์มเอาไว้ โดยในฤดูกาล 2020-21 ที่โอบาเมยองได้สัญญาฉบับใหม่ เจ้าตัวทำประตูไปได้เพียง 10 ลูกเท่านั้น และน้อยลงเรื่อย ๆ ในปีต่อมา เมื่อเทียบกับ 22 ลูกที่เกิดขึ้นในฤดูกาลก่อนหน้า ก็ชัดเจนเลยว่าผลงานของเขานั้นดรอปลงไปอย่างเห็นได้ชัด
และสุดท้ายมันก็เกิดอาการ "ติดมือ" จนทำให้ อาร์เซน่อล ต้องวุ่นวายกับเรื่องนี้และสุดท้ายสโมสรก็ยอม "Cutlost" หรือยอมขาดทุนด้วยการจ่ายค่ายกเลิกสัญญา โอบาเมยอง ในยุคของ มิเกล อาร์เตต้า เพื่อให้สโมสรเอาค่าเหนื่อยที่เขาได้รับ ไปใช้กับนักเตะคนอื่น ๆ เพื่อเสริมทีมในภาพรวม ส่วน โอบาเมยอง ก็กลายเป็นนักเตะฟรีเอเยนต์ไปแบบที่ไม่มีใครคิดหากเทียบจากก่อนวันที่เขาจะได้สัญญาก้อนโตฉบับนั้น
เช่นเดียวกันในกรณีที่ของ ดาบิด เด เคอา นายทวารของ แมนฯ ยูไนเต็ด ก็เคยเผชิญกับช่วงเวลาที่ยากลำบากหลังจากได้รับค่าเหนื่อย 375,000 ปอนด์ต่อสัปดาห์ ซึ่งเป็นค่าเหนื่อยที่มากที่สุดในทีม เหตุผลก็มาจากฟอร์มก่อนหน้านี้ของเขาที่เซฟระดับเวิลด์คลาสไม่เว้นแต่ละเกม
ทว่าหลังจากดีลสัญญาก้อนใหญ่เสร็จสิ้นเมื่อปี 2019 กลายเป็นว่า เด เคอา ฟอร์มออกทะเลอย่างรุนแรง พลาดง่าย ๆ บ่อยครั้ง จนเคยเสียตำแหน่งมือหนึ่งให้กับ ดีน เฮนเดอร์สัน มาแล้ว ก่อนที่จะเริ่มกลับมาทำผลงานเข้าตาอีกครั้ง ในฤดูกาล 2021-22 ประจวบเหมาะกับการที่คู่แข่งแย่งมือหนึ่งบาดเจ็บและติด COVID-19 ในช่วงก่อนเปิดซีซั่นพอดี
ในกรณีของ เด เคอา ก็กลายเป็นปัญหาเช่นกัน เพราะเมื่อเขากลับมาฟอร์มดี แม้สโมสรอยากจะต่อสัญญาออกไป แต่ด้วยเงินที่เคยจ่ายจำนวนขนาดนั้นแล้ว ทำให้นักเตะยอมลดค่าเหนื่อยได้ไม่มากพอกับที่ทีมจะจ่ายไหว สุดท้าย เด เคอา ก็แยกทางกับปีศาจแดงในปี 2023 จนไม่มีทีมเล่นไป 1 ปี และแฟน ยูไนเต็ด ก็ยังคิดถึงเขาอยู่จนถึงตอนนี้
ทั้งหมดนี้คือความเสี่ยงที่เกิดขึ้น ... ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าการต่อสัญญาของ ซาลาห์ จะออกมาหน้าไหนกันแน่ เพราะนั่นเป็นเรื่องของอนาคต
แต่ที่แน่ ๆ นี่คือช่วงเวลาที่ทุกฝ่ายแฮปปี้อย่างไม่ต้องสงสัยเลยทีเดียว
แหล่งอ้างอิง
https://www.independent.co.uk/sport/football/mohamed-salah-liverpool-news-contract-transfer-b2605486.html
https://www.nytimes.com/athletic/5945979/2024/11/25/mohamed-salah-liverpool-contract-update/
https://www.thisisanfield.com/2024/11/how-liverpool-negotiated-mohamed-salahs-last-contract-renewal/
https://www.capology.com/club/liverpool/salaries/