แมนฯ ซิตี้ ยังคงจมดิ่งต่อไปในฟอร์มที่ขาดความแน่นอนและต่อเนื่อง ต่างกับ 5-6 ปีก่อนที่พวกเขายืนหนึ่งเรื่องการชนะรวด ๆ รัว ๆ มาตลอด
ณ ตอนนี้พวกเขาเจอใครก็แพ้ ฟุตบอลถ้วยตกรอบไปหมด เหลือลุ้น เอฟเอคัพ รายการเดียว ส่วนใน พรีเมียร์ลีก ก็เตรียมถอดใจได้ 100% จากการตามหลัง ลิเวอร์พูล ที่บุกมายัดเยียดชัยชนะคาบ้านให้กับพวกเขาแบบสุดกู่
ชัดแล้วว่านี่คือขาลงของเรือใบสีฟ้าอันเป็นวัฏจักรของทุก ๆ ทีมที่ไม่สามารถเก่งค้ำฟ้าได้ตลอด ... และอาการนี้ไม่ใช่เพิ่งเกิดกับ ซิตี้ หรือ เป๊ป กวาร์ดิโอล่า รายเดียวเท่านั้น
เราจะพาทุกท่านย้อนกลับไปดูปัญหานี้ที่เคยเกิดขึ้นกับ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด และ เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ในช่วงต้นถึงกลางยุค 2000s ที่ทีมไม่ได้แชมป์ลีกเลย และว่ากันว่าเป็นช่วงตกต่ำที่สุดของเขา ชนิดที่กูรูหลายคนยังฟันธงว่า เฟอร์กี้ ตกรุ่นไปแล้ว
ปัญหาของ ซิตี้ ในตอนนี้ กับปัญหาของ ยูไนเต็ด ในอดีต มีความคล้ายหรือแตกต่างกันตรงไหนบ้าง นี่คือสิ่งที่ Main Stand นำมาเสนอให้กับคุณ
ใหญ่ค้ำฟ้า ... ไม่มีจริง
แมนฯ ซิตี้ ยุคนี้ กับ แมนฯ ยูไนเต็ด ในช่วงยุค 1990s ต่อยุค 2000s ต้น ๆ มีอะไรที่เหมือนกันอยู่หนึ่งอย่าง นั่นคือการถูกยกให้เป็นเต็ง 1 โดยอัตโนมัติสำหรับการเป็นแชมป์พรีเมียร์ลีกตั้งแต่ก่อนซีซั่นเริ่ม ไม่ว่าจะจากแฟน ๆ, สื่อ หรือแม้แต่บริษัทรับพนันถูกกฎหมาย
เหตุผลเดียวที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะความไร้เทียมทาน ยูไนเต็ด ในเวลานั้นกวาดแชมป์พรีเมียร์ลีกไป 8 ครั้งจาก 11 ฤดูกาล ขณะที่ แมนฯ ซิตี้ กวาดไป 6 แชมป์ลีก จากทั้งหมด 7 ฤดูกาล ... การผูกขาดนี้แสดงถึงความใหญ่คับเกาะอังกฤษของทีมจากเมืองแมนเชสเตอร์ในแต่ละช่วงเวลาได้เป็นอย่างดี
อย่างไรก็ตาม เหรียญนั้นย่อมมี 2 ด้าน ภายใต้ความยิ่งใหญ่เถลิงแชมป์ปีแล้วปีเล่า พวกเขาก็เกิดปัญหาขึ้นมาเงียบ ๆ อยู่ภายใน นั่นคือนักเตะชุดที่ดีที่สุดของพวกเขาเริ่มจะอายุมากขึ้น และเริ่มอิ่มตัวกับความสำเร็จ และเมื่อ 2 สิ่งเกิดขึ้นพร้อมกัน หายนะก็มาเยือนได้โดยไม่ต้องรอให้มีสัญญาณเตือนภัย
ยูไนเต็ด ของ เฟอร์กี้ ใช้กลุ่ม Class of '92 เป็นแกนหลักมาตั้งแต่กลางยุค 1990s ประกอบกับกลุ่มนักเตะชุด 3 แชมป์แรกในประวัติศาสตร์วงการฟุตบอลอังกฤษในปี 1999 ลากยาวมาจนกระทั่งจบฤดูกาล 2000-01 ที่พวกเขาจบด้วยการเป็นแชมป์ และ เฟอร์กี้ เองก็เคยคิดจะวางมือในฤดูกาลถัดไปแล้วด้วยซ้ำ
เฟอร์กี้ คิดว่านี่คือฉากจบที่สวยที่สุดของเขาแล้ว ทีมได้แชมป์ เขากลายเป็นโค้ชที่ถูกยกขึ้นหิ้ง และเหนือสิ่งอื่นใดก็คือทีมชุดนี้กำลังถึงเวลาต้องผลัดใบ และเขาจะต้องใช้พละกำลังทั้งร่างกายและสมองอีกมากเพื่อสร้างทีมชุดใหม่ขึ้นมาเพื่อสานต่อความสำเร็จ
ทว่าซีซั่น 2001-02 นอกจาก แมนฯ ยูไนเต็ด จะคว้ารองแชมป์แล้ว สัญญาณต่าง ๆ ยังเริ่มเตือนว่า ขาลงกำลังจะมา โดย The Mirror อธิบายว่า
"ยูไนเต็ด เริ่มฤดูกาล 2001-02 อย่างย่ำแย่ พวกเขาอยู่อันดับ 9 ในเดือนธันวาคม บรรยากาศในสโมสรเริ่มอึมครึม คุณภาพในแต่ละเกมเริ่มน้อยลง นักเตะที่ซื้อมาไม่ดีอย่างที่คิดไว้ โดยเฉพาะ ฮวน เซบาสเตียน เวรอน เขาเริ่มตระหนักถึงบางสิ่งและเมื่อรวมกับเหตุผลที่ เคธี่ ภรรยาของเขาอยากจะให้เขาได้พักเหนื่อย เฟอร์กี้ ประกาศรีไทร์ไปแล้วด้วยซ้ำ ก่อนที่เขาจะพบว่าจริง ๆ แล้วเขาไม่ได้เหนื่อยกับงานที่ทำ เขายังอยากท้าทายด้วยการสร้างทีมชุดใหม่ขึ้นมา ... แต่นั่นมันยากกว่าที่เขาคิด และ เฟอร์กี้ ต้องใช้เวลาสร้างทีมใหม่ถึง 4 ปี เขาจึงพาทีมกลับมาคว้าแชมป์อีกครั้ง"
และ 4 ปี 3 ฤดูกาลที่ห่างหายจากแชมป์ลีก ก็คือ 4 ปีที่รากเลือดของ เฟอร์กี้ อย่างแท้จริง
ตัดภาพกลับมาที่ปัจจุบัน แมนฯ ซิตี้ ครองความยิ่งใหญ่ในเกาะอังกฤษมานาน แม้แต่ทีม ลิเวอร์พูล ชุดที่ว่ากันว่าดีที่สุดในรอบหลายปีที่นำโดย เยอร์เก้น คล็อปป์ ก็ยังเบียดพวกเขาเอาแชมป์ลีกมาได้แค่สมัยเดียว ตอนนี้พวกเขาเจอปัญหาเริ่มต้นแบบเดียวกับ ยูไนเต็ด แล้ว
นั่นก็คือนักเตะที่ร่วมแบกทีมประสบความสำเร็จตลอดระยะหลังกำลังโรยรา และคนที่ซื้อมาใหม่ก็ยังขาดทั้งประสบการณ์ และยังต้องเพิ่มศักยภาพอีกโข ยากจะทดแทนเพื่อทำให้ทีมมีมาตรฐานการเล่นเหมือนเดิมในทันที ... ซึ่งในยุคปัจจุบันมันเห็นชัดว่า การผลัดใบนั้นเป็นสิ่งที่ควรเตรียมพร้อมเอาไว้เสมอ และต้องใช้เวลาอย่างมากเพื่อสัมฤทธิ์ผล ซึ่งชัดเจนว่า เป๊ป และ แมนฯ ซิตี้ อาจจะลืมคิดถึงข้อนี้ไป
ไม่พร้อมผลัดใบ
แมนฯ ยูไนเต็ด ของ เฟอร์กี้ เริ่มเดินทางสู่ขาลงเต็มตัวในฤดูกาล 2003-04 หลังคว้าแชมป์ลีกได้ในฤดูกาล 2002-03 และการผลัดใบก็เป็นหนึ่งในปัญหาหลักของทีม ณ เวลานั้นด้วย
อย่างที่บอกไปนักเตะหลายคนอยู่กับทีมมาตั้งแต่ปลายยุค 1990s หลายคนอายุมากขึ้น คุณภาพลดลง และเริ่มมีทัศนคติแบบซูเปอร์สตาร์มากขึ้นหากเทียบกับตอนขึ้นรุ่นมาใหม่ ๆ และที่สำคัญ พวกเขาไม่ทันได้หาตัวแทนที่เหมาะสมรอไว้ก่อนหน้าด้วย
ยกตัวอย่างเช่นตำแหน่งที่เป็นแกนสำคัญของทีมอย่าง เซ็นเตอร์แบ็ก เพราะหลังจาก ยาป สตัม ถูกขายออกจากทีมด้วยความหุนหันพลันแล่นของ เฟอร์กี้ ในปี 2001 ทีมก็เล่นเกมรับได้แย่ลงอย่างเห็นได้ชัด แม้จะได้ ริโอ เฟอร์ดินานด์ เข้ามาในฤดูกาล 2002-03 แต่ ริโอ ก็ติดโทษแบนจากกรณีหลบหนีการตรวจสารกระตุ้นในซีซั่นถัดมา และ ริโอ ถือเป็นการซื้อมาเพื่อเอามาเป็นตัวจริงทันทีโดยแทบไม่มีรุ่นพี่ประคอง (หลังขาย สตัม แมนฯ ยูไนเต็ด คว้า โลร็องต์ บล็องก์ มาร่วมทีมระยะสั้น ๆ ก่อนแขวนสตั๊ดในปี 2003) กว่า ริโอ จะกลับมาเล่นด้วยฟอร์มระดับท็อปได้ ก็ต้องเรียนรู้ผิดพลาดอยู่หลายซีซั่น
ไม่ใช่แค่ตำแหน่งเซ็นเตอร์แบ็กเท่านั้น ยูไนเต็ด ไมได้หาประตูมือดีในระยะยาวต่อจากยุคของ ปีเตอร์ ชไมเคิล มีเพียง มาร์ค บอสนิช, ทิม ฮาเวิร์ด และ ฟาเบียง บาร์กเตซ ซึ่งไม่ตอบโจทย์ทั้งหมด อีกทั้งในแดนกลางก็ยังไร้ตัวตายตัวแทนของห้องเครื่องอย่าง รอย คีน ที่อายุมากขึ้น แถมยังมีปัญหากับ เฟอร์กี้ จนถูกยกเลิกสัญญาในปี 2005 อีก
ยังมีอีกหลายตำแหน่งที่ปีศาจแดงผลัดใบไม่ทัน และมันกลายเป็นปัญหา จากทีมที่แข่งยังไงก็ชนะง่าย ๆ พวกเขาเริ่มแพ้มากขึ้นในฤดูกาล 2003-04 และแพ้ทีมเล็ก ๆ แบบพลิกล็อกบ่อย ๆ ไม่ว่าจะกับ เซาธ์แฮมป์ตัน, ฟูแล่ม, วูล์ฟส์, และอีกหลาย ๆ ทีม จนกระทั่งพวกเขาจบฤดูกาล 2003-04 ด้วยการมีแต้มตามหลัง อาร์เซน่อล ทีมแชมป์ถึง 15 แต้ม และตกมาเป็นอันดับ 3 ปล่อยให้ เชลซี ในปีแรกที่ โรมัน อบราโมวิช เป็นเจ้าของ ขึ้นมาเป็นรองแชมป์ เรียกได้ว่าเป็นปีที่เป็นจุดเริ่มต้นแห่งความอดทนต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง
ที่ แมนฯ ซิตี้ ณ พ.ศ. ปัจจุบันก็ไม่ต่างกัน เป๊ป กวาร์ดิโอล่า ยอมรับว่าเขาเองอ่านทิศทางการเติบโตของทีมพลาด เขาปฏิเสธการซื้อนักเตะเข้ามาเสริมทัพในตลาดซื้อขายซัมเมอร์ปี 2024 เพราะคิดว่าขุมกำลังชุดแชมป์พรีเมียร์ลีก 4 สมัยติดต่อกันที่มีนั้นเพียงพอแล้ว แต่ก็อย่างที่เราเห็น เวลาที่นักเตะของพวกเขาหมด มันดันเกิดหมดขึ้นมาพร้อม ๆ กันหลายตำแหน่ง จนไม่รู้ว่าปัญหาในตอนนี้มันหนักที่สุดตรงตำแหน่งไหน
เฟอร์กี้ และ เป๊ป พลาดเหมือนกันคือ การไม่ได้เตรียมขุมกำลังที่พร้อมจะผลัดใบ โดย เป๊ป นั้นนอกจากจะไม่ได้ซื้อนักเตะใหม่แล้ว เขายังขายนักเตะอายุน้อยที่มีแววจะเป็นแกนหลักให้ทีมในระยะยาวออกไปหลายคน เอาเฉพาะชื่อที่เป็นตัวหลักให้ทีมใหม่ของพวกเขาในเวลานี้ เป๊ป ปล่อยนักเตะอย่าง เปโดร ปอร์โร่, มอร์แกน โรเจอร์ส, โคล พาลเมอร์, โรเมโอ ลาเวีย, เลียม ดีแลป, ยาน เคาโต้, เทย์เลอร์ ฮาร์วูด เบลลิส, ฮูเลี่ยน อัลวาเรซ และอีกหลายคนที่ไม่ได้กล่าวถึง
จริงอยู่ที่นักเตะกลุ่มคุณภาพอาจจะเทียบไม่ได้กับชุดนักเตะที่พากันคว้าแชมป์ลีก 4 สมัยติด แต่หากมองกลับกัน ถ้าพวกเขาให้นักเตะเหล่านี้ได้มีโอกาสเล่น ได้เก็บประสบการณ์ไปเรื่อย ๆ พวกเขาอาจจะดีพอเป็นตัวแทน หรือเป็นตัวหลักของทีมในเวลานี้ก็เป็นได้ เปโดร ปอร์โร่ ฟอร์มดีกว่าแบ็กขวาปัจจุบันของ ซิตี้ ทุกคน ต่อให้นับรวม ไคล์ วอล์คเกอร์ ด้วยก็ยังได้, โคล พาลเมอร์ ในเวลานี้อันตรายรอบด้านกว่าตัวริมเส้นทุกคนที่ ซิตี้ มี, มอร์แกน โรเจอร์ส ในเวลานี้ท็อปฟอร์มจนติดทีมชาติอังกฤษไปแล้ว ขณะที่ ฮูเลี่ยน อัลวาเรซ ที่พวกเขาขายไป 70 ล้านยูโร ก็โชว์ฟอร์มให้กับ แอตฯ มาดริด ในแบบที่แฟนบอล ซิตี้ ได้แต่คิดซ้ำแล้วซ้ำอีกว่า จะดีกว่าหรือไม่ หากยังมีเขาช่วยลดภาระของ เออร์ลิ่ง ฮาลันด์ เหมือนปีที่ผ่าน ๆ มา
และสุดท้ายที่ยืนยันว่า ซิตี้ พลาดสำหรับกาารเตรียมตัวผลัดใบคือ หลังจากที่พวกเขาทยอยปล่อยรายชื่อนักเตะที่กล่าวมาไปทั้งหมด พวกเขาก็เริ่มกลับมาซื้อนักเตะดาวรุ่งฝีเท้าดีจากทีมอื่นด้วยราคาที่แพงมหาศาลในตลาดหน้าหนาวเดือนมกราคม 2025 ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็น อับดูโกดีร์ คูซานอฟ, วิคตอร์ เฮส, โอมาร์ มาร์มูช และ นิโก้ กอนซาเลซ โดยจ่ายรวมกันถึง 200 ล้านยูโร เป็นอย่างต่ำ และแน่นอนว่าการมาช่วงกลางฤดูกาล มันช้าเกินกว่าจะทำอะไร นักเตะเหล่านี้คงทำได้แค่เพียงเก็บประสบการณ์ และลุ้นกันต่อในซีซั่นหน้าว่าพวกเขาจะก้าวขึ้นมาเป็นตัวหลักให้ทีมได้กี่คน และเพียงพอกับที่ทีมขาดไปหรือไม่
พวกเขาเตรียมตัวช้าเกินไป ... แต่อย่างน้อยก็ยังดีที่ทั้ง 2 ทีมตื่นตัวและรับรู้ถึงการผลัดใบนักเตะชุดเก่า ยูไนเต็ด เริ่มยุคสมัยด้วยการฝากอนาคตไว้กับนักเตะอย่าง คริสเตียโน่ โรนัลโด้ และ เวย์น รูนี่ย์ บวกกับการเสริมทัพที่เสริมส่งกันทั้งนักเตะที่พร้อมใช้งานเป็นแกนหลักในทันทีอย่าง เอ็ดวิน ฟาน เดอ ซาร์, พัค จี ซอง, เนมานย่า วิดิช, ปาทริซ เอฟร่า, ไมเคิล คาร์ริค, คาร์ลอส เตเวซ, หลุยส์ นานี่, โอเว่น ฮาร์กรีฟส์ ทีมของ เฟอร์กี้ จึงกลับมาเป็นแชมป์ได้อีกครั้งในฤดูกาล 2006-07 และยิงยาวไป 3 สมัยรวด บวกกับแชมป์ยุโรปอีก 1 สมัย เรียกได้ว่า ทวงความยิ่งใหญ่กลับมาได้อย่างเต็มภาคภูมิ
ส่วน แมนฯ ซิตี้ นั้น เรายังต้องมาลุ้นกันว่ากลุ่มนักเตะที่พวเขาซื้อมาเสริมในตลาดครั้งล่าสุด กับการเสริมทัพในซัมเมอร์ที่จะถึงนี้ จะทำให้พวกเขาพร้อมกลับมาทวงบัลลังก์ No.1 แห่งเกาะอังกฤษได้มากแค่ไหนกันแน่ ... แต่ก็อย่างที่ได้บอกเอาไว้ อย่างน้อย ๆ พวกเขาก็ได้เริ่มนับ 1 สำหรับทีมยุคใหม่ไปเรียบร้อยแล้ว
ได้เวลาทบทวนแท็คติก
นอกจากการผลัดใบนักเตะที่ไม่ทันท่วงทีแล้ว สิ่งหนึ่งที่ เฟอร์กี้ และ เป๊ป เจอคล้าย ๆ กันก็คือ คู่แข่งที่นำเอาวิธีการใหม่ ๆ เรียกได้ว่าเป็น "โมเดิร์น ฟุตบอล" มาลูบคมพวกเขาเข้าอย่างจัง และดูเหมือนพวกเขาก็จะแพ้ทางซะด้วย
เฟอร์กี้ กับฟุตบอลระบบ 4-4-2 แบบโอลด์สคูล เล่นไดเร็กต์ ดุดัน รวดเร็ว คือกุญแจดอกสำคัญแห่งความสำเร็จในยุค 1990s ทว่าเมื่อเข้าถึงช่วงขาลง ระบบนี้กลายเป็นระบบที่ตกยุคไปแล้ว โดยเฉพาะการเล่นในถ้วยยุโรป ที่อาศัยความแน่นอน มากกว่าความรวดเร็ว ซึ่งทีมที่ทำได้ดีกว่า แมนฯ ยูไนเต็ด ชุดนั้นในเวลาเดียวกันก็คือ อาร์เซน่อล ของ อาร์แซน เวนเกอร์ และ เชลซี ของ โชเซ่ มูรินโญ่
ฟุตบอลของ อาร์เซน่อล เป็นโมเดิร์นฟุตบอลยุโรปแบบจ๋า ๆ ครองบอลเหนียวแน่นอน เสียบอลยาก การเข้าทำสวยงาม มีบอลเท้าสู่เท้าที่แม่นยำ และเหนือสิ่งอื่นใด คือทักษะส่วนตัวของนักเตะปืนใหญ่ยุคนั้น ที่แพรวพราวหาตัวจับยากมาก เรื่องนี้แม้แต่ เฟอร์กี้ ก็ยอมรับว่าฟุตบอลของ เวนเกอร์ ในเวลานั้น คือสาเหตุที่ทำให้ อาร์เซน่อล เป็นคู่แข่งที่ทีมของเขาแพ้ทางมากที่สุด
แนวทางของ แมนฯ ยูไนเต็ด ในเวลานั้นถ้ายังจำกันได้ เหมือนบอลที่จับต้นชนปลายไม่ถูก ห้องเครื่องอย่าง รอย คีน มีปัญหากับ เฟอร์กี้ จนโดนปล่อยออก, เดวิด เบ็คแฮม ก็เจอพิษ "สตั๊ดบิน" จนไปอยู่กับ เรอัล มาดริด และนักเตะที่ซื้อมาก็ไม่มีใครแบกทีมได้จริงจัง (ยกเว้น รุด ฟาน นิสเตลรอย) ระบบ 4-4-2 ที่เคยเลื่องชื่อ ต้องถูกลบจากกระดาน และ เฟอร์กี้ ก็พยายามจะปรับมาเล่นแผนยอดฮิตในวงการยุโรปเวลานั้นนั่นคือ 4-5-1 ด้วยการลดกองหน้าให้เหลือแค่คนเดียว และเน้นที่การเอาชนะพื้นที่กลางสนามที่เป็นจุดยุทธศาสตร์มากกว่า แต่ด้วยปัญหานักเตะและความคุ้นชินกับแท็คติก ทีมจึงไม่สามารถเปลี่ยนสไตล์ได้ในเวลาอันสั้น
พวกเขาจบอันดับ 3 ของลีกติดต่อกัน 2 ปี ในฤดูกาล 2003-04 และ 2004-05 ส่วนฤดูกาล 2005-06 พวกเขาได้แค่รองแชมป์ "เฟอร์กี้หมดมุกแล้ว" เพราะความพ่ายแพ้เชิงกลยุทธ์ให้กับทั้ง เวนเกอร์ และ มูรินโญ่
ฉันใดก็ฉันนั้น กลับมาที่ปัจจุบัน แมนฯ ซิตี้ ของ เป๊ป กับฟุตบอลที่เน้นการครองบอลเยอะ เอานักเตะแนวรุกของตัวเองไปขึงในแดนคู่แข่งและผ่านบอลจนกว่าจะหาช่องยิงได้ เริ่มถูกคู่แข่งแก้ทางด้วยแนวทางของโมเดิร์นฟุตบอลในสมัยปัจจุบัน นั่นก็การวิ่งเข้าใส่ ช่วยกันแย่งบอลด้วยความสามัคคีพร้อมเพียง และเปลี่ยนจากรับเป็นรุก สวนกลับให้เร็ว ... วิธีการเหล่านี้คุณได้เห็นมากมายหลายทีมใช้พิฆาต แมนฯ ซิตี้ ในซีซั่นนี้
นี่ไม่ได้เป็นการยืนยันหรือฟันธงว่าระบบของ เป๊ป นั้นหมดยุคไปแล้ว แต่ที่แน่ ๆ คือระบบที่เขาคิดกับนักเตะที่เขามีมันไม่ตอบสนองกัน และเมื่อเจอแท็คติกของโมเดิร์นฟุตบอลที่แก้ทางฟุตบอลของเขาโดยเฉพาะ เรือใบสีฟ้า จึงออกทะเล แพ้แล้วแพ้อีก และหลายหนแพ้ขาดแบบที่เราไม่เคยเห็น ไม่ว่าจะเป็นการแพ้ สเปอร์ส 0-4 หรือแพ้ อาร์เซน่อล 1-5 แบบรูปเกมดูไม่ได้
เป๊ป และ เฟอร์กี้ เดินมาอยู่ในสถานะเดียวกัน นั่นคือคนที่ทุกคนเล็งรอสอยลงจากคอน เหมือนตอนที่ เซอร์ อเล็กซ์ โดนกุนซือรุ่นใหม่อย่าง โชเซ่ มูรินโญ่, เป๊ป กวาร์ดิโอล่า และอีกหลาย ๆ คนที่คิดค้นศาสตร์ฟุตบอลแบบใหม่ ๆ ซึ่งปลายทางของทั้ง เป๊ป และ มูรินโญ่ ในตอนนั้น ก็คือการมีสถิติการดวลกับ "เฟอร์กี้" ที่เหนือกว่าทั้งสิ้น
เมื่อคุณหันกลับมามอง ซิตี้ ของ เป๊ป ในเวลานี้ พวกเขาอ่อนแอลง ประกอบกับผู้ท้าชิงอย่าง อาร์เน่อ ชล็อต จาก ลิเวอร์พูล ที่ เปลี่ยนฟุตบอล "เฮฟวี่ เมทัล" จากยุคของ คล็อปป์ ให้เป็นฟุตบอลที่หาจุดกึ่งกลางระหว่างความเอ็นเตอร์เทนและความปลอดภัย เพื่อให้ได้ผลการแข่งขันที่ต้องการมากกว่าเดิมและผลก็เป็นอย่างที่เห็น เช่นเดียวกับ มิเกล อาร์เตต้า ลูกน้องเก่าของเขา ก็เปลี่ยน อาร์เซน่อล ให้เป็นฟุตบอลที่ดุดันเข้มข้น ผสมความเดือดจากลูกตั้งเตะจนเป็นอาวุธที่ใครยังเลียนแบบไม่ได้
เราจะเห็นได้ว่าทั้งคู่งัดเอาแท็คติกเฉพาะของตัวเองมาจัดการทีมของ เป๊ป ทั้งเหย้าและเยือน ซึ่งในปีนี้ เป๊ป ไม่สามารถชนะทั้ง 2 ทีมนี้ได้เลย ไม่ว่าพิจารณาจากสกอร์บอร์ดหรือภาพที่เกิดขึ้นในสนามที่แฟนบอลทั่วโลกเห็นได้ด้วยตาเปล่า
ทั้งหมดนี้ก็ต้องรอดูว่า เป๊ป จะแก้ทางแก้ไขหรือปรับเปลี่ยนทีมชุดนี้ให้ไปในทิศทางที่ดีขึ้นได้อย่างไร ... แน่นอนว่าแฟนเรือใบสีฟ้าอาจเบาใจได้ เพราะมีบอร์ดบริหารที่พร้อมลงทุนตามคำขอของ เป๊ป และถ้าหากเขายังไม่ตกยุคไปเสียก่อน เราคงได้เห็นการกลับมาของ แมนฯ ซิตี้ ในเร็ววันนี้แน่นอน
เพราะใด ๆ ในโลกล้วนอนิจจัง และทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกล้วนเปลี่ยนแปลงเสมอ ... ฟุตบอลก็เช่นกัน ตามโลกให้ทัน รู้จักทั้งโลก และรู้จักตัวเองให้ทะลุปรุโปร่งว่ายังขาดอะไร และมีอาวุธเด็ดที่สุดตรงไหน นี่คือสิ่งที่ เฟอร์กี้ ผ่านมาแล้ว และ เป๊ป ต้องพยายามผ่านมันให้ได้เช่นกัน
แหล่งอ้างอิง
https://www.mirror.co.uk/sport/football/news/alex-ferguson-manchester-united-retirement-27244806
https://www.mirror.co.uk/sport/football/news/rio-ferdinand-ferguson-manchester-united-33892550
http://news.bbc.co.uk/sport2/hi/football/teams/m/man_utd/1338641.stm
https://www.skysports.com/football/story-telling/11667/12987531/the-glazers-at-manchester-united-the-story-of-their-turbulent-tenure-so-far#section-KobhKaVNWB
https://www.goal.com/en/lists/pep-guardiola-man-city-quit-warning-signed-new-contract-premier-league-champions/blt2efd6bdf317fcbd5
https://www.eurosport.com/football/premier-league/2024-2025/pep-guardiola-questions-himself-manchester-derby-defeat-worsens-city-horror-run_sto20063253/story.shtml