Feature

มืดมนแต่ไม่เคยดับสูญ : เจาะลึกบอลเด็กซีเรีย ที่กำลังเบ่งบานท่ามกลางสารพัดปัญหา | Main Stand

ทีมชาติซีเรีย กำลังจะเจอกับ ทีมชาติไทย ในเกมสุดท้ายของฟุตบอล เอเอฟซี ยู 20 เอเชียน คัพ 2025 รอบแบ่งกลุ่ม

 


สถานการณ์ตอนนี้ พวกเขายังคงมีลุ้นเข้ารอบ แม้ว่าชื่อชั้นดูจะเป็นรองคู่แข่งร่วมกลุ่มอย่าง เกาหลีใต้ และ ญี่ปุ่น และอาจถึงขั้นเป็นทีมที่แฟนบอลไทยวงไว้ว่า "ขอ 3 แต้ม" เอาไว้แล้วด้วยซ้ำ

อย่างไรก็ตาม แม้ชื่อไม่ดัง แต่ฟุตบอลเด็กบ้านเขาก็ไม่ธรรมดา นี่คือทีมที่มีพัฒนาการยอดเยี่ยม แม้สงครามในประเทศจะรุนแรง จนประชาชนต้องวิ่งหลบกระสุนปืนใหญ่เป็นว่าเล่น

ซีเรีย ยู 20 ชุดนี้ เติบโตอย่างแข็งแกร่งท่ามกลางสถานการณ์ดังกล่าวได้อย่างไร ? รู้จักพวกเขาก่อนเจอทีมชาติไทยกับ Main Stand 

 

ฟุตบอลเคยสวยงาม 

ซีเรีย เป็นประเทศในตะวันออกกลางที่นำฟุตบอลเข้ามาในประเทศตั้งแต่ก่อนศตวรรษที่ 20 โดยลักษณะการนำเข้ามาคล้ายคลึงกับหลายประเทศในแถบนั้น นั่นคือเข้ามาพร้อมกับชาวต่างชาติ ไม่ว่าจะในรูปแบบของการค้าหรือการทหาร 

ในช่วงที่ฟุตบอลเข้ามาในซีเรียนั้น ได้สร้างความนิยมไปตั้งแต่ผู้คนระดับรากหญ้าไปจนชนชั้นกษัตริย์ กีฬาชนิดนี้ได้รับการสนับสนุนอย่างมากทั้งเรื่องเงินทอง สิ่งอำนวยความสะดวก และของเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างชุดแข่งขันหรืออุปกรณ์อย่างลูกฟุตบอล 

วัฒนธรรมฟุตบอลของซีเรียเคยเบ่งบานเอามาก ๆ ความนิยมของฟุตบอลถึงขั้นเปลี่ยนให้ใครหลายคนเปลี่ยนแปลงการแต่งกายชุดกีฬา จากเดิมที่เป็นกางเกงขายาวด้วยผ้าพื้นถิ่น ก็ถูกเปลี่ยนมาเป็นกางเกงขาสั้นที่ทำให้เตะฟุตบอลได้ดีและง่ายขึ้น และนำไปสู่การแต่งกายในชีวิตประจำวันด้วย

ฟุตบอลมีผลกระทบแม้กระทั่งเปลี่ยนโครงสร้างทางสังคมให้สมบูรณ์แบบมากขึ้น ด้วยรูปแบบของการมีส่วนร่วมของผู้คนในชุมชน มีการก่อตั้งสโมสรฟุตบอลจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ของซีเรีย พวกเขากำลังสอน สร้าง และประกาศค่านิยมทางสังคมใหม่ ๆ

ฟุตบอลจึงกลายเป็นมากกว่าแค่การเตะลูกกลม ๆ มันกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ และที่สำคัญคือ เป็นหนทางสู่การรับรู้ของสาธารณชนในวงกว้างด้วย

เมื่อเป็นเช่นนั้น นักฟุตบอลของพวกเขาจึงเก่ง และมีทีมชาติที่แข็งแกร่ง โดยเมื่อปี 1994 ทีมชาติซีเรีย เคยคว้าแชมป์ เอเอฟซี ยูธ แชมเปี้ยนชิพ (เอเอฟซี ยู 20 เอเชียน คัพ ปัจจุบัน) มาแล้ว แถมยังเป็นการเอาชนะญี่ปุ่นในรอบชิงชนะเลิศอีกด้วย 

เรียกได้ว่าฟุตบอลของซีเรียรุ่งเรืองมาโดยตลอดในช่วงอดีต พวกเขามีลีกฟุตบอล ถึงแม้จะไม่ได้แข่งแกร่งมาก แต่ก็เป็นที่นิยมของแฟนบอลท้องถิ่น เพียงแต่ว่ายุคสมัยของการเติบโตกลับหยุดชะงักลง เพราะมันถูกบดบังด้วยการควบคุมดูแลของผู้มีอำนาจ เมื่อการเมืองในประเทศเปลี่ยนทิศทาง

ในช่วงปี 2011 ซีเรีย เกิดสงครามกลางเมืองเต็มรูปแบบ จากการชุมนุมประท้วงอย่างสันติที่ลุกฮือต่อต้านประธานาธิบดี บาชาร์ อัล-อัสซาด ลุกลามไปอย่างไม่น่าเชื่อ มีผู้เสียชีวิตกว่า 5 แสนคน ก่อนขยายวงสู่สงครามตัวแทน ซึ่งมีหลายประเทศในภูมิภาค รวมไปถึงรัสเซีย และสหรัฐอเมริกา เข้ามาเกี่ยวข้อง

ซีเรียถูกแบ่งแยกออกเป็น 4 ส่วน และแต่ละส่วนก็มีกองกำลังติดอาวุธต่าง ๆ ครอบครองอยู่ และนั่นเองทำให้ฟุตบอลในบ้านของพวกเขาเปลี่ยนแปลงไปสิ้นเชิง เนื่องจากสโมสรหยุดทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ละทิ้งเอกลักษณ์เฉพาะตัวของแต่ละท้องถิ่น และแน่นอนว่ากองกำลังทหารก็พยายามจะใช้ฟุตบอลเป็นหนึ่งในกระบอกเสียงของกองทัพ จึงได้แย่งชิงสิ่งเหล่านั้นจากแฟนฟุตบอลไป ทำให้ฟุตบอลลีกในประเทศของพวกเขาถูกหมางเมินโดยแฟนบอลมากขึ้น

 

แล้วพวกเขาเก่งฟุตบอลได้อย่างไร ?

นับตั้งแต่การลุกฮือเริ่มต้นในปี 2011 แทบไม่มีการพูดถึงเรื่องดี ๆ ที่เกี่ยวข้องกับประเทศนี้เลย จะมีก็แต่เรื่องราวที่น่าทึ่งของทีมฟุตบอลชาติซีเรียเท่านั้น ซึ่งคำถามคือพวกเขาเก่งกาจได้อย่างไรในสถานการณ์แบบนี้ ?

คำตอบง่าย ๆ ก็คือถ้าฟุตบอลสามารถเล่นได้มากมายหลายแห่งบนโลกนี้ ไม่จำเป็นต้องที่ซีเรียเท่านั้น และคุณต้องไม่ลืมว่าหลังจากเหตุการณ์ปี 2011 ที่กล่าวมาในข้างต้น ชาวซีเรีย อพยพออกนอกประเทศไปแล้วถึง 7.5 ล้านคน โดยปลายทางคือหลายประเทศเพื่อนบ้านรอบข้าง ชาติในยุโรปที่มีนโยบายรับผู้อพยพ หรือแม้แต่ประเทศแคนาดา 

พวกเขาทั้งหลายตั้งหมุดหมายและอพยพไปประเทศต่าง ๆ เช่นเดียวกับนักฟุตบอลที่ต้องหาเวทีต่างประเทศเตะเป็นส่วนใหญ่ ส่วนนักเตะวัยรุ่นหรือที่เป็นกลุ่มนักเตะเยาวชนก็ได้รับการสนับสนุนให้เล่นฟุตบอลในฐานะผู้อพยพ เพื่อเป็นกิจกรรมปรับตัวกับพื้นที่ใหม่ที่พวกเขาย้ายไปด้วย

ทาเร็ก จาบบัน อดีตกัปตันทีมชาติซีเรีย และกลายเป็นโค้ชของทีมชาติในเวลาต่อมา บอกกับ BBC เมื่อปี 2017 ว่า "เราต้องการให้นักเตะของเราออกไปเล่นนอกประเทศซีเรีย เพราะลีกของเราอยู่นสภาพที่เสื่อมโทรม ไม่ได้รับการสนับสนุนเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวกใด ๆ เลย" 

นอกจากนี้ BBC ยังบอกว่า ในขณะที่รัฐบาลซีเรียพยายามจะให้ฟุตบอลกลับมาเป็นศูนย์รวมใจผู้คนท้องถิ่นเหมือนในอดีต ด้วยการบอกว่าฟุตบอลในประเทศจะกลับมาเบ่งบานอีกครั้ง หากรัฐบาลสามารถจัดการกับกลุ่มกบฏต่าง ๆ ในแต่ละพื้นที่ได้ 

"ใครที่บอกว่าฟุตบอลในประเทศกำลังเติบโต แต่พวกเรากำลังอยู่ในวิกฤติหากมองโลกด้วยความเป็นจริง ... การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจทำให้ค่าเงินของซีเรียไม่มีความหมาย เราไม่เหลือเงินในลีกฟุตบอล และสมาคมที่ดูแลก็ไม่มีงบประมาณที่จะจัดการกับสิ่งที่ใหญ่เกินการควบคุม"

"พวกเราได้รับการแจ้งว่าการลงทุนภาคเอกชนมีน้อยมาก ดังนั้นไม่ต้องพูดถึงผู้คนรากหญ้า มันทำให้กองเชียร์เข้ามาชมเกมฟุตบอลลีกน้อยมาก นอกจากจะมีปัญหาเรื่องเงินแล้ว ปัญหาเรื่องความปลอดภัยก็ด้วย" 

"เงินเดือนเฉลี่ยของนักเตะซีเรียอยู่เพียงแค่ 200-300 ดอลลาร์ต่อเดือนเท่านั้น (6,500-12,000 บาท) ... ดังนั้นนักเตะในประเทศนี้จึงพยายามอย่างมากที่จะมองหาโอกาส และคว้าโอกาสในการไปเล่นในลีกนอกประเทศ เพราะนอกจากอาชีพของพวกเขาจะดีขึ้นแล้ว พวกเขายังได้พาครอบครัวออกไปจากสภาพที่เลวร้ายด้วย" จาบบัน กล่าวเพิ่มเติม

พวกเขาแต่ละคนที่ยังค้าแข้งในประเทศ ใช้ชีวิตด้วยความพยายามที่จะยกระดับตัวเองอย่างมาก และเมื่อได้ออกไปเล่นนอกประเทศ พวกเขาจึงทุ่มสุดตัวเพื่อให้โอกาสในอาชีพเปิดกว้างและไปต่อ  ... นอกจากนี้ในระดับทีมชาติ พวกเขายังมีการเปิดรับนักเตะลูกครึ่งที่ไปเกิดและโตในต่างแดนด้วย ยกตัวอย่าง มูฮัมหมัด ออสมาน นักเตะเชื้อสายดัตช์-ซีเรีย ที่เดินทางไปเล่นในหลายประเทศก่อนจะมาอยู่กับ ลำพูน วอริเออร์ ใน ไทยลีก ณ เวลานี้   

สิ่งเหล่านี้ทำให้ทีมชาติซีเรียยังคงแข็งแกร่งในระดับเอเชีย ไม่ว่าจะรุ่นใหญ่หรือรุ่นเยาวชน เพราะความเปิดกว้างในการออกนอกประเทศ ความพยายามของพวกเขาเองที่ต้องการชีวิตที่ดีขึ้น นอกจากนี้คนที่ทำงานหนักอยู่ภายใต้เบื้องหลังทีมชาติชุดนี้ ก็คือกลุ่มคนทำงานในสมาคมฟุตบอลซีเรีย ที่พยายามจะทำให้ฟุตบอลในประเทศมีการแข่งขันมากขึ้น แม้จะมีข้อจำกัดต่าง ๆ มากมาย 

 

คนนั่งเก้าอี้ต้องเด็ดเดี่ยว  

คูเตบาห์ อัล เรฟาย ผู้เคยดำรงตำแหน่งเลขาธิการสมาคมฟุตบอลซีเรีย ช่วงปี 2017 ถูกยกย่องให้เป็นหนึ่งในชายที่ทำงานหนักที่สุดในโลกฟุตบอล 

เขาเป็นคนที่พยายามจะทำทุกอย่างเท่าที่พอจะทำได้ ไม่ว่าจะเป็นการพยายามรันฟุตบอลลีกในประเทศ และทำในสิ่งที่สำคัญที่สุด คือการทำให้ทีมชาติซีเรีย มีเกมการแข่งขันตามปฏิทินฟีฟ่า มีนักเตะดี ๆ เข้ามาเล่น และยังต้องหาสนามกลางให้ทีมลงเล่น เพราะสนามในประเทศซีเรียไม่ผ่านการอนุญาตให้ใช้ในเกมระดับฟีฟ่า อีกทั้งซีเรียยังไม่ได้รับเงินสนับสนุนจาก AFC จากมาตรการคว่ำบาตรอีกด้วย

แม้จะยากลำบาก แต่เขาก็ทำได้สำเร็จในทุกครั้ง เขาใช้ความสัมพันธ์ที่มีกับหลายชาติ และขอยืมสนามกลางประเทศอื่น ๆ อย่าง มาเลเซีย, มาเก๊า, โอมาน และ จอร์แดน ลงเล่นแทน เพื่อทำให้ทุกอย่างเดินต่อไปข้างหน้าได้ ให้นักเตะที่ออกไปค้าแข้งต่างแดน นักเตะ 2 สัญชาติ และนักเตะในประเทศได้เห็นว่า พวกเขามีทีมชาติที่พร้อมเปิดกว้างให้พวกเขาได้โชว์ฝีเท้าในเกมระดับทวีปเสมอ 

"ฟุตบอลและการเมืองมีความเกี่ยวข้องกัน เราเป็นตัวแทนของรัฐ และทีมซีเรียก็มาจากทุกส่วนของซีเรียและจากซีเรียทั้งหมด ... ไม่ว่าคุณจะอยู่ในประเทศ นอกประเทศ หรือคุณจะถือสัญชาติอื่นอยู่ก็ตาม" คูเตบาห์ อัล เรฟาย กล่าว

ทุก ๆ เกม นักเตะซีเรียจะพยายามอย่างมากที่จะใช้ฟุตบอลเป็นตัวแทนบอกเล่าถึงความต่อสู้และความพยายามของพวกเขา ... ในขณะที่กลุ่มผู้บริหารพยายามทำงานด้านเอกสาร นักเตะของพวกเขาก็ใช้ชีวิตอยู่อย่างมีความหวัง  หวังว่าพวกเขาจะเป็นคนจุดประกายความสุขให้คนในชาติ และหวังที่จะทำให้ฟุตบอลในประเทศถูกให้ความสำคัญโดยรัฐบาล ... ซึ่งเรื่องนี้จะเกิดขึ้นได้ ก็ต้องยอมรับว่ายากมาก

อย่างไรก็ตาม กลุ่มนักเตะซีเรียและผู้บริหารของพวกเขายังยืนยันว่าทุกอย่างในโลกนี้ล้วนเป็นไปได้ และใครจะรู้ หากพวกเขาได้ไปฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายสักครั้ง อะไร ๆ ในประเทศนี้ก็อาจจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น 

"ในวงการฟุตบอลไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้ ยังมีความหวังเสมอ เราพยายามมองโลกในแง่ดีอยู่เสมอ แม้จะต้องเผชิญกับความยากลำบากมากมาย"

"ผมเชื่อว่าชาวซีเรียยังคงไม่ลืมว่าพวกเขารักฟุตบอลขนาดไหน แม้ว่าพวกเขาจะต้องประสบกับความเจ็บปวดมากมาย แต่ผู้คนก็ยังคงเชื่อมั่นและสนับสนุนทีมชาติของเราตลอดเวลา เราจึงไม่สามารถหยุดต่อสู้ทั้งในและนอกสนามได้เลย"

"สิ่งที่เราในฐานะตัวแทนของชาติสามารถทำได้อย่างน้อยที่สุด คือการมอบความสุขให้พวกเขาสักสองสามชั่วโมงผ่านเกมฟุตบอล ... เราขอให้พระเจ้าช่วยให้เราทำเช่นนั้นได้" โอมาร์ อัล มิดานี นักเตะทีมชาติซีเรียชุดปัจจุบัน กล่าวเพื่อสะท้อนแนวคิดของตัวแทนทีมชาติซีเรียทุกรุ่นอายุ 

พวกเขามีรากฐานที่ดี แม้จะต้องเจอผลกระทบจากสงคราม แต่นักเตะของพวกเขายังมีเส้นทางให้เติบโตอีกมากมาย และเหนือสิ่งอื่นใดที่สำคัญที่สุด พวกเขาคิดเสมอว่าการแข่งขันฟุตบอลเปรียบดังหน้าที่อันมีเกียรติ ... ดังนั้นคุณจึงไม่ต้องแปลกใจว่าทีมชาติซีเรียมักจะทำผลงานพลิกล็อกหรือสร้างเซอร์ไพรส์ได้เป็นประจำ 

ซึ่งก็ต้องมาดูกันว่า พวกเขาจะทำได้อีกครั้งในฟุตบอล ยู 20 ชิงแชมป์เอเชีย 2025 หรือไม่ 

 

แหล่งอ้างอิง

https://www.bbc.co.uk/news/resources/idt-sh/syria_football_on_the_frontline
https://en.majalla.com/node/314131/culture-social-affairs/football-syria-shows-social-and-political-change-nation
https://www.sportspolitika.news/p/syria-football-politics-aleppo-bashar-assad
https://www.harmoon.org/en/researches/the-syrian-national-football-team/

 

Author

ชยันธร ใจมูล

นักเขียนลูกสอง จองเรื่องฟุตบอลและมวยโลก รู้จริงบ้าง ไม่จริงบ้าง แต่เขียนแล้วอินทุกเรื่อง

Graphic

อรรนพ สะตะ

graphic design ผู้ชื่นชอบกีฬาฮอกกี้, เกมส์, เดินเขา เป็นชีวิตจิตใจ