Feature

วิถี ท้องถิ่น และ มนต์ขลัง : ตำนาน เมอร์ซี่ย์ไซด์ ดาร์บี้ ณ กูดิสัน พาร์ค | Main Stand

เกมระหว่าง เอฟเวอร์ตัน กับ ลิเวอร์พูล ในค่ำคืนวันพุธที่ 12 กุมภาพันธ์ 2025 ถือเป็น เมอร์ซี่ย์ไซด์ ดาร์บี้ ครั้งสุดท้าย ณ กูดิสัน พาร์ค สังเวียนเหย้าของทอฟฟี่สีน้ำเงินที่ใช้งานมาเป็นเวลากว่า 130 ปี 

 


ณ สนามที่ได้ฉายาว่า "หญิงชราผู้ยิ่งใหญ่" สังเวียนแห่งนี้เป็นจุดกำเนิดของเรื่องราวระดับประวัติศาสตร์มากมายของทั้งเมืองลิเวอร์พูล 

Main Stand ขอรวมประวัติศาสตร์ทั้งหมดไว้ที่ สั่งลา ดาร์บี้แมตช์ เมืองลิเวอร์พูล ครั้งสุดท้าย ก่อน เอฟเวอร์ตัน จะย้ายบ้าน

 

เมื่อเสียงแตก ... จึงเกิด "กูดิสัน พาร์ค"

เรื่องนี้ย้อนกลับไปไกลมากพอ ๆ กับประวัติศาสตร์ของฟุตบอลลีกอาชีพอังกฤษ อันที่จริง กูดิสัน พาร์ค ไม่ได้เป็นสังเวียนเหย้าออริจนัลของ เอฟเวอร์ตัน มาตั้งแต่แรก เพราะในยุคที่เริ่มต้นทีมทอฟฟี่สีน้ำเงินเคยใช้สนามเหย้าที่มีชื่อว่า "แอนฟิลด์" ... ใช่แล้วล่ะครับ บ้านของสโมสร ลิเวอร์พูล นั่นแหละ
 
สโมสรเอฟเวอร์ตัน ก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการในปี 1878 ในช่วงตั้งไข่ที่เงินทองและนวัตกรรมต่าง ๆ ยังไม่รุดหน้า เอฟเวอร์ตัน ใช้สวนสาธารณะ สแตนลี่ย์พาร์ค เป็นสนามของพวกเขาก่อน จนกระทั่งมีการตัดสินโดยสภาเมืองว่า ถ้าจะให้ดีให้เหมาะสม พวกเขาควรมีสนามที่เป็นสถานที่ปิด 

นั่นเองที่ทำให้ จอห์น ฮูลดิ้ง เจ้าของสโมสรที่มีธุรกิจโรงกลั่นเบียร์เป็นของตัวเอง และเป็นนักการเมืองจากพรรคอนุรักษ์นิยม ตัดสินใจควักเงินส่วนตัวซื้อที่ดินแถบถนนแอนฟิลด์ และสร้างสนามขึ้นมาชื่อว่า แอนฟิลด์ เพื่อใช้เป็นสนามเหย้าอย่างเป็นทางการและลงเล่นเกมแรกในปี 1884 

เอฟเวอร์ตัน กลายเป็นทีมท้องถิ่นของคนที่นั่น ความเจริญเริ่มเกิดขึ้นตามหลัง มีการขยายสนามเพิ่มเติมจนจุผู้ชมได้ถึง 20,000 คน และนำไปสู่การเป็นผู้นำของฟุตบอลอังกฤษในยุคสมัยนั้นอย่างเต็มรูปแบบ

ทว่าการลงทุนครั้งนั้นทำให้ ฮูลดิ้ง เริ่มคิดการณ์ใหญ่ เขาพยายามที่จะคิดเงินกับสโมสรภายหลัง ด้วยการให้สโมสร เอฟเวอร์ตัน ซื้อที่ดินที่เขาลงทุนไว้ก่อนด้วยเงินก้อนใหญ่กว่ามาก ๆ จนทำให้บอร์ดบริหารของทีมในเวลานั้นไม่เห็นด้วย และเกิดการเสียงแตกขึ้น 

ความไม่ลงรอยนี้ นำไปสู่การไม่ลงรอยกันระหว่างกลุ่มสมาชิกสโมสร เอฟเวอร์ตัน กับเจ้าของที่ แอนฟิลด์ ฮูลดิง แก้เผ็ดบอร์ดเอฟเวอร์ตันมากมายด้วยเงื่อนไขที่ฝั่ง เอฟเวอร์ตัน มองว่าโดนเอาเปรียบ เช่นการให้พวกเขาจ่ายค่าซ่อมแซมพื้นที่ทั้งหมด และการเรียกค่าเช่าเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จาก 100 ปอนด์ไป 250 ปอนด์ และกลายเป็น 370 ปอนด์ต่อปี ซึ่งจากจุดนี้เอง เกิดประเด็นโต้แย้งเล็ก ๆ น้อย ๆ อีกมากมายตามมา 

การทะเลาะที่ยาวนานและไม่มีทีท่าว่าแนวคิดทั้ง 2 ฝั่งจะตรงกัน นำมาซึ่งการหมดความอดทนของ เอฟเวอร์ตัน พวกเขาตัดสินใจออกจาก แอนฟิลด์ และมุ่งหน้าไปยังตอนเหนือของสวนสาธารณ สแตนลี่ย์ พาร์ค จนกระทั่งนำไปสู่การถือกำเนิดสนามเหย้าของสโมสรฟุตบอลเอฟเวอร์ตัน นามว่า กูดิสัน พาร์ค สนามฟุตบอลโดยเฉพาะแห่งแรกของที่ถูกสร้างขึ้นในประเทศอังกฤษ ในปี 1892  

และในวันที่เปิดใช้ครั้งแรก หนังสือพิมพ์ Out of Doors บรรยายภาพขาวดำของสนามนี้ว่า "นี่คือ กูดิสัน พาร์ค คงไม่มีภาพถ่ายไหนที่จะทำให้คุณได้เห็นทั้งหมดของสนามนี้ได้ เพราะมันใหญ่โตมโหฬารมาก ๆ สามด้านของสนามมีอัฒจันทร์สูงที่มุงหลังคาเป็นอย่างดี ส่วนด้านที่สี่ถูกถมด้วยหินปูนหลายพันก้อน จนมองเห็นเกมได้ครบถ้วนจากทุกส่วนของสนาม"

"ดูเหมือนนี่จะเป็นสนามฟุตบอลที่งดงามที่สุดในประเทศอังกฤษ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าชาวเมืองที่นี่จะช่วยทำให้มันยิ่งใหญ่มากขึ้นไปอีก" 

ในขณะที่ เอฟเวอร์ตัน ได้บ้านใหม่ที่ไฉไลกว่าเก่า จอห์น ฮูลดิ้ง ก็พบว่าสนามของเขาคงไม่มีความหมายหากไร้ซึ่งสโมสรมาใช้งาน ดังนั้นเขาจึงได้ก่อตั้งสโมสร ลิเวอร์พูล ขึ้นมาในปี 1892 ปีเดียวกับที่ เอฟเวอร์ตัน หอบทีมหนีสนามไป ... และทั้งสองสโมสรก็กลายเป็นคู่ปรับที่มีระยะห่างใกล้แค่สวนสาธารณะขวางไว้เท่านั้น นอกจากนี้ พวกเขายังมีความเป็นอริในแบบของพวกเขาที่ไม่มีที่ไหนเหมือนอีกด้วย

 

ดาร์บี้แมตช์ในแบบของพวกเรา 

ความแตกแยกได้เกิดขึ้นแล้ว เมื่อ 1 สโมสรกลายเป็น 2 ทีม และ 1 พื้นที่ระยะใกล้กันมีสนามฟุตบอล 2 สนาม อย่างไรก็ตาม ความแตกแยกแบบผีไม่เผาเงาไม่เหยียบ ดูจะเป็นเรื่องของกลุ่มคนบริหารเท่านั้น เพราะแฟนบอลของทั่ง 2 ฝั่ง ไม่ได้เกลียด ไม่ได้แค้น และถูกเรียกว่า "ดาร์บี้แมตช์แห่งมิตรภาพ" (Friendly Derby) ด้วยเหตุผลหลายประการ 

อย่างที่ได้กล่าวไปในข้างต้น เพราะพวกเขามาจากรากเดียวกัน และสนามของพวกเขาก็ห่างกันแค่ 1 ไมล์ (1.6 กิโลเมตร) นักเตะที่เล่นให้กับทั้งสองทีมในช่วงแรกส่วนใหญ่ก็เกิดและโตที่นี่ ดังนั้นไม่ว่าจะด้วยวิถี ไลฟ์สไตล์ และแนวคิด แฟนบอลทั้งสองทีมไม่ได้หนีกันเลย พวกเขามีมุมมองตรงกันหลายด้าน ทั้งเรื่องของการเมือง การปกครอง และศาสนา ดังนั้นในส่วนเรื่องนอกสนาม พวกเขาเป็นมิตรที่ดีต่อกัน ไม่มีการกีดกั้นใด ๆ ถ้าคนในครอบครัวเดียวกันจะแยกกันเชียร์ เอฟเวอร์ตัน และ ลิเวอร์พูล ดังนั้นภาพของ เมอร์ซี่ย์ไซด์ ดาร์บี้ ในช่วงก่อนเกมนั้น คุณจะได้เห็นครอบครัว หรือกลุ่มเพื่อนตามสวนสาธารณะ สแตนลี่ย์ พาร์ค โดยพวกเขาอาจจะสวมเสื้อหรือผ้าพันคอที่ต่างสี ก่อนที่จะเข้าไปเชียร์ในสนามตอนเกมเริ่ม 

นอกจากนี้ จิตวิญญาณของดาร์บี้แมตช์ ก็ยังปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนเป็นพิเศษในช่วงเวลาแห่งความสามัคคีกันภายในชุมชนต่าง ๆ ในแถบเมอร์ซี่ย์ไซด์ ตัวอย่างหนึ่งคือ โศกนาฏกรรมฮิลส์โบโร่ ในปี 1989 ซึ่งทำให้แฟนบอล ลิเวอร์พูล เสียชีวิต 97 ศพ แฟนบอล เอฟเวอร์ตัน และ ลิเวอร์พูล ยืนเคียงบ่าเคียงไหล่กันด้วยความเศร้าโศกและการสนับสนุน

อย่างไรก็ตาม ความเป็นมิตร เป็นเรื่องของนอกสนามเท่านั้น เพราะในสนามแข่งขัน เอฟเวอร์ตัน และ ลิเวอร์พูล เบียดบี้ชิงความยิ่งใหญ่และความสำเร็จกันแบบไม่มีใครยอมใคร และความเข้มข้นของการแข่งขันและผลงานในสนาม ได้ทิ้งความทรงจำอันน่าทึ่งไว้ให้กับแฟนบอลตลอดหลายปีที่ผ่านมา 

โดยในช่วงแรกของการเจอกัน เป็น เอฟเวอร์ตัน ที่ยิ่งใหญ่กว่า พวกเขาเป็นเบอร์ 1 ของเมืองมาอย่างยาวนาน ทว่าเมื่อเวลาผ่านไป ลิเวอร์พูล ก็เป็นสโมสรที่เติบโตขึ้นในแง่ของความเก่งกาจและการสร้างชื่อเสียงจนมีแฟนบอลทั่วโลกหันมาติดตามมากขึ้น สุดท้าย ลิเวอร์พูล ก็กลายเป็นสโมสรที่ประสบความสำเร็จมากกว่า เอฟเวอร์ตัน ในแง่ของถ้วยรางวัลในช่วงหลังทศวรรษ 1980 มานี้นี่เอง

แม้จะตกเป็นรอง แต่ เอฟเวอร์ตัน ก็ไม่เคยยอมแพ้ ลิเวอร์พูล ง่าย ๆ ความเข้มข้นในเกมการแข่งขันยังคงดำเนินต่อไป จนทำให้เกิดวลีต่าง ๆ ที่แซวความเป็นอริของทั้ง 2 ทีมนี้มากมาย อาทิ "เอฟเวอร์ตัน เล่นดีทั้งปีแค่ 2 เกม นั่นคือเกมเหย้า และเกมเยือน ลิเวอร์พูล" หรือไม่ก็เป็นประโยคที่แฟนบอลหงส์แดงใช้กระแนะกระแหนคู่แข่งร่วมเมืองว่า "เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของ เอฟเวอร์ตัน ในแต่ละปีคือ การชนะ ลิเวอร์พูล" อะไรประมาณนั้น 

เอาเถอะ ไม่ว่าจะเป็นการแซวอย่างไรก็แล้ว แต่เมื่อมันเกิดวลีแบบนี้ขึ้นมาได้ ก็ต้องหมายความว่าสังเวียน กูดิสัน พาร์ค ถือเป็นสังเวียนที่ทำให้หงส์แดงต้องเจ็บแค้นอยู่บ่อย ๆ จนปีหลัง ๆ ความพยายามที่จะหยุด ลิเวอร์พูล ของ เอฟเวอร์ตัน ได้ก่อไฟปะทุขึ้นมา และทำให้ เมอร์ซี่ย์ไซด์ ดาร์บี้ ในช่วงนี้เดือดเป็นพิเศษ

 

จะมามีความสุขที่นี่ มันง่ายไปหรือเปล่า ? 

เอฟเวอร์ตัน ใช้สนาม กูดิสัน พาร์ค เล่นดาร์บี้แมตช์ครั้งแรกในปี 1894 ก่อนจะเอาชนะ ลิเวอร์พูล ไปได้ถึง 3-0 และนั่นเป็นความทรงจำหอมหวานที่พวกเขาอยากจะทำให้มันเกิดขึ้นเรื่อย ๆ ในเวลาที่ต้องเจอกับคู่ปรับร่วมเมืองอย่าง ลิเวอร์พูล 

ว่ากันว่าสนามที่นี่เป็นสนามในรูปแบบของสนามยุคเก่า มีสแตนด์กองเชียร์ชิดกับขอบสนาม ทำให้นักเตะอยู่ใกล้กับแฟนบอลมาก ๆ ดังนั้นในช่วงเวลาของเกมดาร์บี้ เอฟเวอร์ตัน จึงเหมือนมีพลังฮึดคูณ 2 จากการส่งเสียงเชียร์ของแฟน ๆ ที่ข่มขวัญคู่แข่ง และให้กำลังใจทีมรักในเวลาเดียว ดังนั้นจึงมีการยกให้ กูดิสัน พาร์ค เป็นสนามที่มีบรรยากาศดีที่สุดในแง่ของเสียงเชียร์ในการแข่งขันของพรีเมียร์ลีกอีกด้วย 

Karl Coppack ผู้เขียนของ The Anfield Wrap บรรยายบรรยากาศที่เคยไปสัมผัสด้วยตัวเองที่ กูดิสัน พาร์ค ในเกมดาร์บี้แมตช์ว่า เป็นความระห่ำที่ทำให้นักเตะหลายคนสมาธิแตกกระเจิงได้ถ้าจิตไม่แข็งพอ โดยเขาเล่าในจังหวะเข้าได้เข้าเข็มหรืออะดรีนาลีนของแฟน เอฟเวอร์ตัน ฉีดถึงขีดสุด พวกเขาจะทำทุกอย่างให้เกิดเสียงดังขึ้นอีกระดับ ไม่ใช่แค่การตะโกนเชียร์หรือปรบมือเท่านั้น แต่พวกเขายังใช้หมัดต่อย หรือเอามือไปทุบยังคานเหล็ก หรือวัสดุต่าง ๆ แบบไม่กลัวมือแหก เพื่อเปิดโหมดเสียงดังขึ้นสุดอันเลื่องชื่อของพวกเขา 

ในสนามไม่เคยมีการยอมกัน และทุกวันนี้ความเข้มก็ทวีขึ้นดังที่กล่าว ผ่านเหตุการณ์สุดคลาสสิกของคู่อริคู่นี้มากมาย อาทิ การฉลองประตูของ หลุยส์ ซัวเรซ ที่ทำท่าพุ่งล้มใส่ เดวิด มอยส์ ที่วิจารณ์เขาว่าเป็นพวกขี้พุ่งก่อนการเจอกัน และเหตุการณ์ครั้งสำคัญเลย คือการปะทะของ จอร์แดน พิคฟอร์ด ที่พุ่งเข้าใส่เข้าของ เฟอร์จิล ฟาน ไดค์ จนกระทั่งกองหลังชาวดัตช์ที่ถูกเรียกว่า "เบอร์ 1 ของโลก" ต้องพักยาวเกือบปี ซึ่งเรื่องนี้ทำให้แฟน ลิเวอร์พูล ยังคงแค้นและจดจำมาจนถึงวันนี้ 

กลับกัน ในฝั่งของ เอฟเวอร์ตัน พวกเขาพยายามมีความสุขกับทุกชัยชนะในแง่มุมต่าง ๆ เหนือ ลิเวอร์พูล ดังนั้นทุกครั้งที่เล่นในบ้าน พวกเขาจะเสียงดังเป็นพิเศษ และทีมจะเล่นเหมือนกับเปิดสกิลบัฟความเก่งขึ้นอีกระดับตามเสียงเชียร์ของแฟนบอลที่ส่งลงมา ... แม้จะไม่ใช่ แต่ก็เรียกได้ว่าขอยอมทำทุกอย่างเพื่อให้ ลิเวอร์พูล ไม่ได้ฉลองและไม่ได้มีความสุขเช่นกัน และพวกเขาจะมีความสุขมาก ๆ ถ้าทุกการหยุด ลิเวอร์พูล ไม่ให้มีความสุข เกิดขึ้นในสนามเหย้าของพวกเขา 

ต่อให้ใครจะล้อว่าดีใจเหมือนกับได้แชมป์ก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญ เพราะนี่คือความเข้มข้นของแพชชั่นด้านฟุตบอลของคนที่นี่ แม้นอกสนามพวกเขาจะไม่ได้เกลียดและโกรธแค้น แต่เมื่อแฟน เอฟเวอร์ตัน เข้าไปเชียร์ใน กูดิสัน พาร์ค โดยเฉพาะเกมพบ ลิเวอร์พูล พวกเขาจะรู้สึกตื่นตัว ตื่นเต้น และความเดือดพุ่งพล่านมากกว่าเดิมเสมอ 

น่าเสียดายที่ 12 กุมภาพันธ์ 2025 คือเกมนัดปิดตำนาน เมอร์ซี่ย์ไซด์ ดาร์บี้ ที่ กูดิสัน พาร์ค หลังนับจากเกมแรกก็ผ่านมาแล้วกว่า 130 ปี ... สนามที่คลาสสิกที่สุด กับดาร์บี้แมตช์ที่ไม่มีใครเหมือน เตรียมสั่งลาด้วยบรรยากาศสุดพิเศษ ... มาดูกันว่านักเตะของ เอฟเวอร์ตัน จะทำให้เรื่องนี้จบแบบเพอร์เฟ็กต์ได้แค่ไหน 

แม้ตลอดเวลาที่ผ่านมา พวกเขาจะมีสถิติแพ้ ลิเวอร์พูล มากกว่าในเกมดาร์บี้ แต่ถ้าเกมนี้พวกเขาชนะได้ ก็จะถือว่าเป็นการปิดซี่รีส์อย่างสมเกียรติ นั่นคือการเปิดหัวและปิดท้ายด้วยชัยชนะ ... แม้ที่สุดแล้ว เอฟเวอร์ตัน จะไม่ใช่ทีมลุ้นแชมป์ในเวลานี้ แต่เชื่อเถอะว่าหากสิ่งนี้เกิดขึ้น พวกเขาจะฉลองสุดเหวี่ยงชนิดที่ว่าแฟน ลิเวอร์พูล ก็ยังฝืนดูไม่ได้แน่ ๆ 

 

แหล่งอ้างอิง

https://www.theanfieldwrap.com/2023/10/writing-merseyside-derby-friendly-derby/
https://merseysportlive.co.uk/2024/12/06/merseysides-derby-245th-clash-history-and-stats-of-the-friendly-derby/
https://www.nytimes.com/athletic/6126458/2025/02/12/liverpool-everton-merseyside-derby-local-player/
https://www.goal.com/en/news/why-liverpool-vs-everton-friendly-derby/1klaenapmmiwi1r4bpfd93o6wc
https://www.evertonfc.com/club/history/history-of-goodison-park
https://theanalyst.com/2025/02/everton-vs-liverpool-merseyside-derby-goodison-park

Author

ชยันธร ใจมูล

นักเขียนลูกสอง จองเรื่องฟุตบอลและมวยโลก รู้จริงบ้าง ไม่จริงบ้าง แต่เขียนแล้วอินทุกเรื่อง

Graphic

อรรนพ สะตะ

graphic design ผู้ชื่นชอบกีฬาฮอกกี้, เกมส์, เดินเขา เป็นชีวิตจิตใจ