Feature

มุ่งมั่น เข้าใจ ไปข้างหน้า : อาหมัด ดิยัลโล่ กับการลบล้างโลโก้ "ย้อมแมว" | Main Stand

ถ้าคุณมองแค่วิธีการเล่นและตำแหน่ง อาหมัด ดิยัลโล่ จะเหมือนกับ อันโตนี่ มาก ... แต่ถ้าคุณมองเรื่องความรวดเร็วทางความคิด ไอคิวฟุตบอล และการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า อาหมัดเหนือกว่าปีกทุกคนในทีม ยูไนเต็ด ?

 

ไม่รู้ว่าคุณจะเห็นด้วยกับเรื่องนี้ไหม แต่อาหมัด เปลี่ยนสถานะตัวเองได้สำเร็จ จากครั้งหนึ่งที่เขาเคยถูกมองว่าเป็นการซื้อตัวสุดล้มเหลวที่ ยูไนเต็ด โดนต้มจนเปื่อย

ตอนนี้เขาขยับตัวเองขึ้นมาเรื่อย ๆ จนกลายมาเป็นขวัญใจของแฟน ยูไนเต็ด ได้อย่างเป็นทางการ 

ตลอดระยะเวลา 4 ปี แห่งความอดทนนี้ เกิดอะไรขึ้นกับเขาบ้าง ? ติดตามที่ Main Stand 

 

ดีลที่โดนย้อมแมว 

อาหมัด ดิยัลโล่ ย้ายเข้ามาอยู่กับ แมนฯ ยูไนเต็ด เมื่อเดือนมกราคม 2021 ในยุคที่ โอเล่ กุนนาร์ โซลชา เป็นกุนซือ และถ้าคุณย้อนกลับไปในช่วงหนึ่ง มันถือเป็นช่วงที่ "บ้านเกลเซอร์" เจ้าของสโมสรพยายามจะสร้างมาตรฐานให้ทีมซื้อขายและทีมสรรหานักเตะชุดใหม่ขึ้นมา จากความล้มเหลวในอดีต ยุคที่ เอ็ด วู้ดเวิร์ด เป็นซีอีโอของสโมสร 

ยูไนเต็ด ตั้งโครงสร้างทีมสรรหานักเตะชุดนี้ โดยมีผู้นำอย่าง จอห์น เมอร์เท่อห์ ในฐานะผู้อำนวยการฟุตบอล, ริชาร์ด อาร์โนลด์ เป็นซีอีโอ, ดาร์เรน เฟล็ทเชอร์ อดีตแข้งลูกหม้อ เป็นผู้อำนวยการเทคนิค และมีทีมงานอีกหลายคน

อันที่จริง ป่วยการจะบอกว่าใครทำตำแหน่งอะไรบ้าง เพราะดีลส่วนใหญ่ที่เข้ามาในยุคทีมงานชุดนี้ล้มเหลวมหาศาล นักเตะหลายคนซื้อมาแพงแต่ใช้งานไม่ได้ บางคนย้ายมาด้วยราคาแพงเกินกว่าความเป็นจริง และบางคนซื้อมาทั้ง ๆ ที่มีอาการบาดเจ็บติดตัว ลงเล่นไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย ซึ่งท้ายที่สุดเมื่อมีการเปลี่ยนโครงสร้างสโมสรภายใต้กลุ่ม INEOS ของ เซอร์ จิม แรทคลิฟฟ์ ที่เข้ามาแก้ไขเรื่องหลังบ้านด้านฟุตบอลใหม่ คนเก่า ๆ ที่เอ่ยมาก็กระเด็นออกจากตำแหน่งกันเกือบทั้งหมด โดยเฉพาะเหล่าตัวใหญ่ ๆ ที่ต้องรับผิดชอบความผิดพลาดในอดีต จะมีก็แค่ เฟล็ทเชอร์ ที่ได้ไปต่อในตำแหน่งอื่น

ดังนั้นนักเตะที่เข้ามาในยุคของ "กลุ่มเก่า" จึงถูกเหมารวมว่าส่วนใหญ่เป็นการซื้อแบบอ่านไม่ขาด หรือว่าง่าย ๆ ก็คือโดนทีมอื่นย้อมแมวขาย ซึ่งแน่นอนว่า อาหมัด ดิยัลโล่ คือหนึ่งในนั้นด้วย

จะว่าไปจริง ๆ แล้วจะใช้คำนั้นกับเขาแต่แรกก็คงจะแรงเกินไป นักเตะวัย 18 ปี มีพาสสปอร์ตอิตาลี มีศักยภาพไปต่อได้ กับราคา 40 ล้านยูโร ไม่ใช่เรื่องแปลกของฟุตบอลยุคนี้ แต่สิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น ที่ทำให้ อาหมัด โดนเหมารวมกับเคสอื่น ๆ ในยุคทีมงานเก่าไปด้วย 

เรื่องนี้มีการเปิดเผยโดยเหยี่ยวข่าวอย่าง ลอรี่ วิทเวลล์ แห่ง The Athletic ว่า แม้แต่ โซลชา ก็ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าราคาของ อาหมัด จะแพงขนาดนั้น และเจ้าตัวก็ไม่เคยคุยการส่วนตัวกับนักเตะ แถมยังไม่เคยไปดูฟอร์มให้เห็นกับตาด้วยซ้ำ ทุกอย่างเกิดขึ้นผ่านการดูฟุตเทจผ่านทางวีดีโอเท่านั้น 

หนักกว่านั้น โซลชา ยังเข้าใจผิดว่า อาหมัด จะเป็นเหมือนแข้งเยาวชนหลายคนที่จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของทีมอคาเดมี่เท่านั้น ไม่ได้คิดว่าจะต้องใช้งานในฐานะตัวสำรองหรือตัวสอดแทรกในทีมชุดใหญ่เลยด้วยซ้ำ ซึ่งเมื่อทราบราคาเอาภายหลัง ก็ทำให้ โซลชา จำใจจะต้องพยายามหาทางใช้ และทำให้ อาหมัด กลายเป็นนักเตะที่สามารถขึ้นชุดใหญ่ให้ได้เร็วที่สุด 

แต่ก็อย่างที่บอก การเริ่มใหม่ด้านฟุตบอลในอังกฤษเป็นอะไรที่ยาก ต่อให้คุณไม่ใช่นักเตะดาวรุ่ง แต่เรื่องนี้นักเตะต่างแดนทุกวัยก็เคยประสบมาก่อนทั้งนั้น ซ้ำร้ายกับ ยูไนเต็ด ในยุคที่หัวท้ายไม่สามัคคีกัน หัวไปทาง หางไปทาง เส้นทางของ อาหมัด จึงไม่สามารถใช้คำว่า "ใกล้เคียง" กับเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้เลย 

อาหมัด แทบไม่ได้ลงสนาม ใช้เวลาส่วนใหญ่กับทีมเยาวชนรวมถึงทีมสำรอง และมีข่าวอาการบาดเจ็บรบกวนอยู่ตลอด แม้กระทั่งยุคที่เกิดประโยคคลาสสิกที่ว่า "ทีมขาดปีกขวา" อาหมัด ก็ไม่เคยอยู่ในสายตาของโค้ชไม่ว่าจะเป็นยุคของ โซลชา, รังนิก และช่วงที่ยาวที่สุดกับ เอริก เทน ฮาก ที่กุนซือชาวดัตช์ จัดเขาไว้เป็นตัวเลือกลำดับสุดท้าย และเลือกจะใช้ปีกขวาคนคุ้นเคยอย่าง อันโตนี่ ที่ซื้อมาด้วยราคา 100 ล้านยูโรจาก อาแจ็กซ์ อัมสเตอร์ดัม มากกว่า 

แม้กุนซือทุกคนที่กล่าวมา จะเคยพูดชื่นชม อาหมัด ต่อหน้าสื่อมาโดยตลอด แต่ดูเหมือนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับโอกาสที่เขาได้รับจะไม่เคยสัมพันธ์กันเลย ถ้าคุณย้อนไปดูสถิติการลงสนาม คุณจะเห็นภาพนี้อย่างชัดเจน 

แล้วมันก็เป็นอย่างที่ทุกคนเห็น ... เทน ฮาก พยายามฝืนใช้งาน อันโตนี่ มาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งช่วงใกล้ ๆ วาระสุดท้ายก่อนเขาจะโดนปลดจากทีม แมนฯ ยูไนเต็ด ด้วยความที่ตัวเลือกแทบไม่เหลือให้ใช้งานจากอาการบาดเจ็บ บวกกับ อันโตนี่ ที่พยายามดันเท่าไรก็ไม่ไปข้างหน้า โอกาสจึงมาตกกับดาวรุ่งผู้ถูกตีตราว่าโดนย้อมแมวอย่าง อาหมัด ดิยัลโล่ และหลังจากนั้นเขาก็เริ่มทำให้ความคิดของใครหลายคนเปลี่ยนไปด้วยความพยายามระดับมหาศาลของเขา 

 

เกิดใหม่ด้วยตัวเอง

ร้อยคำคนว่า ก็ไม่เท่ากับตัวเราเองที่รู้อยู่แก่ใจ ... คำนี้ใช้กับเรื่องของ อาหมัด ได้ดีเลยทีเดียว เพราะการแสดงออกของเขามันค่อนข้างออกมาอย่างชัดเจนว่า เขายังไม่ยอมแพ้ และอยากจะพิสูจน์ว่า นอกจากเขาจะไม่ได้เป็นนักเตะที่โดนหลอกขายมาแล้ว เขายังเป็นคนที่ดีพอจะสอดแทรกในตำแหน่งตัวหลักของทีมได้ในเร็ววัน 

โดย อาหมัด ได้สู้อย่างเต็มที่ ในช่วงฤดูกาล 2022-23 ที่ถูกยืมตัวไปเล่นกับ ซันเดอร์แลนด์ ที่ อาหมัด แทบจะเป็นทุกอย่างของทีมในซีซั่นนั้น เขายิงไป 14 ประตู ทำไป 6 แอสซิสต์ พาทีมจบอันดับ 6 ของ เดอะ แชมเปี้ยนชิพ เข้าถึงรอบรองชนะเลิศในเพลย์ออฟเลื่อนชั้น (ก่อนแพ้ ลูตัน ตกรอบ) แถมคว้ารางวัลนักเตะยอดเยี่ยม เดอะ แชมเปี้ยนชิพ ของสมาคมนักฟุตบอลอาชีพอังกฤษ หรือ PFA จากการโหวตโดยแฟนบอล มาครองได้อีกด้วย 

โดยคนที่ชื่นชม อาหมัด อย่างมากคือ โทนี่ โมเบรย์ กุนซือของทีมแมวดำ ที่บอกว่า ตั้งแต่ อาหมัด มาที่ ซันเดอร์แลนด์ นอกจากจะเป็นนักเตะที่ดีที่สุดในทีมแล้ว ในสนามซ้อมก็ถือเป็นนักเตะที่ทุ่มเท และเต็มที่ตลอด ใส่ใจในการทำงานทุกเซสซั่น และยังพยายามปรับตัวเข้าหาโค้ชเพื่อทราบหน้าที่ที่แท้จริงของตัวเอง 

โมเบรย์ ถูกใจถึงขั้นที่ต้องออกตัวแทนนักเตะหลังจากหมดสัญญายืมตัวว่า นี่คือนักเตะที่มีอนาคตที่ดีมาก ๆ รออยู่ และถ้าเขาเป็นโค้ชของยูไนเต็ด เขาจะไม่ทำเป็นเล่นกับนักเตะคนนี้เป็นอันขาด 

"ถ้าเขากลับไป แมนฯ ยูไนเต็ด และไม่ได้ลงเล่น ผมรู้ว่า อาหมัด จะยอมลดเงินหรือทำทุกทางเพื่อให้เขาได้ออกไปเล่นในลีกอื่น ๆ ผมว่าเขาเล่นกับทีมท็อป ๆ ในสเปน หรือลีกไหน ๆ ก็ได้แบบสบาย ๆ ด้วยศักยภาพที่เขามี เขายอมแลกทุกอย่างเพื่อโอกาสลงเล่น คำถามคือ ยูไนเต็ด จะจัดการเรื่องนี้แบบไหน ?" 

"ผมกล้ารับประกันเลยว่า อาหมัด จะไม่มีความสุขแน่นอน ถ้าเขาต้องได้เป็นตัวจริง 2 นัด เล่นเกมละ 60 นาที และต้องกลับไปนั่งเป็นตัวสำรองอีก 6 นัด ถ้าเป็นแบบนี้เขาจะย้ายทีมแน่ และสิ่งที่ผมจะแนะนำ ยูไนเต็ด คือ อย่าให้เรื่องนี้เกิดขึ้น" โมเบรย์ ว่าเช่นนั้น 

หลังจากกลับมากับ ซันเดอร์แลนด์ อาหมัด พกความมั่นใจครั้งใหม่มาด้วย เขาเล่นได้ดีตั้งแต่ช่วงพรีซีซั่นฤดูกาล 2023-24 แต่ก็โชคร้ายได้รับบาดเจ็บ และกว่าจะหาย กลับมาพร้อมลงเล่นอีกครั้งก็ออกสตาร์ทลีกไปแล้วเกือบ 3 เดือน ซึ่งไทม์ไลน์ดังกล่าวเป็นช่วงเวลาที่ อันโตนี่ กำลังโดนวิจารณ์อย่างหนัก ซึ่งประจวบเหมาะกับคาแร็คเตอร์ของคนที่มุ่งมั่นที่จะแย่งตัวจริงอย่าง อาหมัด เข้าตา เทน ฮาก ในท้ายที่สุด เขาจึงมีชื่อกลับมาอยู่ในทีมชุดใหญ่อย่างต่อเนื่อง และสร้างผลงานที่ทำให้ทุกคนมีความหวังในตัวเขาอีกครั้ง หลังจากลงมาเป็นตัวสำรอง และพา แมนฯ ยูไนเต็ด พลิกชนะ ลิเวอร์พูล 4-3 ในเกม เอฟเอ คัพ รอบ 8 ทีมสุดท้าย

ฟอร์มจากเกมนั้นเหมือนจะเป็นพลุที่จุดขึ้นมาโป้งเดียวแล้วหายไป ... อาหมัด ทำได้แค่มา ๆ หาย ๆ ในตำแหน่ง 11 ตัวจริง บางเกมเล่นดี และบางเกมก็หายจากเกมไปเลย เทน ฮาก จึงกลับมาใช้ อเลฮานโดร การ์นาโช่ และ มาร์คัส แรชฟอร์ด เป็นตัวหลักอีกครั้งในตำแหน่งปีก หลังฤดูกาล 2024-25 เปิดขึ้นไม่นานนัก ส่วน อาหมัด ก็กลับมาเป็นตัวสำรองตามเดิม 

โชคดีสำหรับเขาที่เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นได้ไม่นานนัก ความย่ำแย่ของผลลัพธ์และวิธีการ ทำให้ เทน ฮาก ทนแรงเสียดทานไม่ไหว สุดท้ายเขาก็โดนปลดไปในช่วงปลายเดือนตุลาคม 2024 คนที่เขามาทำงานขัดตาทัพคือ รุด ฟาน นิสเตลรอย คนที่ทำให้ อาหมัด ได้กลับมาลงเล่นอีกครั้ง และครั้งนี้ดูเหมือนว่ามันจะส่งผลต่อเนื่องมาจนถึงตอนนี้ด้วย 

 

มรดกจาก รุด ถึง อโมริม

อะไรคือสิ่งที่ทำให้ รุด ฟาน นิสเตลรอย ชื่นชอบและใช้งาน อาหมัด ในช่วงสั้น ๆ ตลอดการคุมทีม 4 นัดของเขา ? 

คำตอบมีหลายข้อ รุด ฟาน นิสเตลรอย ประทับใจการซ้อมและชอบในคาแร็คเตอร์ของ อาหมัด มาโดยตลอด เขาใช้งาน อาหมัด ออกสตาร์ทตัวจริงในเกมกับ พีเอโอเค ที่ อาหมัด ยิง 2 ประตู จากการโหม่ง และเลี้ยงตัดเข้าซ้ายยิงประตูในแบบที่แฟน ๆ อยากจะเห็น ซึ่งเบื้องหลัง รุด ฟาน นิสเตลรอย เป็นคนพูดเองว่า อาหมัด คือนักเตะที่เข้าหาเขาตลอด เพื่อถามวิธีการปรับปรุงการเล่นของตัวเอง ซึ่งทุกอย่างที่เขาแนะนำ อาหมัด ก็เอาปรับมาใช้ในการแข่งขันจริงได้อย่างรวดเร็ว 

"อาหมัด เป็นนักเตะที่คาแร็คเตอร์ดีมาก ชอบทำงานหนัก และอยากจะเก่งขึ้นในการซ้อมทุกครั้ง เขามักจะมาหาด้วยทัศนคติที่ยอดเยี่ยม พยายามซ้อมเรื่องการยิงประตู การเปิดบอล และการเล่นจังหวะสุดท้ายมากขึ้นเป็นพิเศษ เขาถามผมตลอดว่า เขาจะยิงประตูให้ดีขึ้นได้ยังไง ไม่ว่าจะด้วยการใช้เท้าหรือใช้หัวก็ตาม" รุด ฟาน นิสเตลรอย ว่าแบบนั้น 

จริง ๆ รุด ไม่จำเป็นต้องออกมาพูดอะไรมากมาย ก็เชื่อว่าแฟนบอลของ แมนฯ ยูไนเต็ด น่าจะเข้าใจถึงวิธีการเล่นของ อาหมัด และคาแร็คเตอร์ของเขาได้ไม่ยากจากผลงานที่ฝากไว้ในสนามแต่ละเกม ๆ และถ้าให้พูดแบบไม่เกรงใจกันคือ อาหมัด ทำผลงานได้เด่นชัดกว่าปีกของ ยูไนเต็ด แทบทุกคน โดยเฉพาะ อันโตนี่ ที่ยืนตำแหน่งนี้มา 2 ปี ... แม้จะเป็นคำพูดที่ดูใจร้ายไปหน่อย แต่มันก็เป็นความจริงที่ปรากฏให้เราได้เห็นด้วยสายตา 

อาหมัด อาจจะเล่นคล้าย ๆ อันโตนี่ ในแง่ของสไตล์ แต่สิ่งที่แตกต่างคือเรื่องการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า และความรวดเร็วในแง่ของความคิด ในตำแหน่งปีกขวา สิ่งที่ อาหมัด ทำได้ คนอื่น ๆ ทำไม่ได้ก็คือ การยิงประตูหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะการหลุดเดี่ยว การยิงด้วยหลังเท้า หรือแม้จะเป็นการยิงโดยใช้ข้างเท้าแบบปั่นโค้ง ๆ แบบที่ อันโตนี่ ชอบทำ 

นอกจากนี้ อาหมัด ยังแตกต่างตรงที่เขาสามารถเล่นกับเพื่อนร่วมทีมได้ดี แม้ความเร็วจะเป็นจุดเด่น แต่การทำชิ่ง 1-2 รวมถึงการสอดซ้อนกับเพื่อนร่วมทีมคนอื่น ๆ ของ อาหมัด ก็เด่นไม่แพ้กัน และแน่นอนสำคัญที่สุดคือ เรื่องของไอคิว ... อาหมัด ตัดสินใจได้อย่างยอดเยี่ยม จังหวะไหนควรยิง จังหวะไหนควรจ่าย จังหวะไหนควรเลี้ยง ... แน่นอนเราไม่ได้บอกว่าเขาดีที่สุดหรือทำสิ่งเหล่านี้ได้อย่างเพอร์เฟ็กต์ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือความแตกต่างและความเป็นจังหวะจะโคนที่ถูกต้อง แตกต่าง เพราะปีกคนอื่น ๆ ของ ยูไนเต็ด มักจะมุ่งเน้นไปที่การทำประตูเป็นหลัก แตกต่างกับ อาหมัด ที่มีความหลากหลายกว่าเยอะ 

ช่วงเวลา 4 เกมในยุค รุด อาหมัด ก้าวขึ้นมาเป็นคนที่แฟนบอลเชียร์ให้ออกสตาร์ท 11 ตัวจริงอีกครั้ง และต่อจะให้มีการเปลี่ยนโค้ชเป็น รูเบน อโมริม รวมถึงการเปลี่ยนแผนการเล่นเป็นระบบ 3-4-3 .. สิ่งต่าง ๆ ที่กล่าวมาทั้งหมด ก็เป็นสิ่งที่ทำให้ อโมริม ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า อาหมัด เป็นนักเตะที่เขาเชื่อใจได้เป็นคนแรก ๆ ภายใต้การวางระบบใหม่ให้ทีมปีศาจแดงชุดนี้ 

ภายใต้ระบบ 3-4-3 ที่ไม่มีปีก และฉีกขนบเดิม ๆ ของทีมอย่างสิ้นเชิง นักเตะหลายคนต้องเรียนรู้กับตำแหน่งและวิธีการเล่นใหม่ ไอคิวของ อาหมัด ทำให้ตัวเองก้าวเข้ามาเป็นตัวเลือกแรกในตำแหน่งวิงแบ็กฝั่งขวาของทีมทันที 

การเป็นวิงแบ็กในระบบการเล่นแบบนี้ ต้องรับผิดชอบอะไรหลายอย่าง และทำหลายหน้าที่ เรียกได้ว่าเป็นตำแหน่งสำคัญระดับต้น ๆ ของทีมก็คงไม่ผิดนัก ทั้งการเป็นคนที่ต้องโฟกัสกับเกมรับในการประกบตัวริมเส้นของคู่ต่อสู่ และหากทีมตัดบอลได้ ก็จะต้องชิงหวะเติมเกมรุกแบบถูกที่ถูกเวลา เป็นตัวสอดขึ้นมาทำเซอร์ไพรส์ในจังหวะที่กองหลังคู่แข่งระวังตัวรุกทั้ง 3 คนข้างหน้า เหมือนที่ อาหมัด ทำในเกมกับ เอฟเวอร์ตัน ทุกอย่างชัดเจนอย่างที่สุด

อาหมัด ตัดบอลจากเท้าคู่แข่งที่อยู่ในแดนของตัวเอง และนำมาสู่ประตูที่ 2 ของเกม จาก โจชัว เซิร์กซี่, ประตูที่ 3 ของเกม ที่เขาแอสซิสต์ให้ มาร์คัส แรชฟอร์ด และประตูปิดกล่องที่เขาสอดทะลุขึ้นมาจนหลุดเข้าไปแอสซิสต์ให้ เซิร์กซี่ ยิงเข้าไปง่าย ๆ 

คุณจะเห็นได้ทันทีว่าสิ่งที่อาหมัดมีคือ ไทมิ่ง ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ ยูไนเต็ด ติดหล่มมาตลอด พวกเขาเป็นทีมที่เล่นไดเร็กต์ ตัดแล้วสวนได้ดีมาโดยตลอดตั้งแต่ยุค เทน ฮาก แต่มักจะตกม้าตายในตอนสุดท้ายตลอด แต่พอเป็น อาหมัด ความแตกต่างมันเกิดขึ้นอย่างที่เราเห็น การเลี้ยงบอลไปตายเอง การพยายามยิงในตำแหน่งที่ควรจ่ายบอล หรือการจ่ายบอลแรงไป-ย้อนหลัง เกิดขึ้นน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด 

"การเล่นเพรสซิ่งของเขาคือสิ่งที่ผมอยากจะยกเครดิตให้ในวันนี้ เขาวิ่งเข้าหาคู่ต่อสู้อย่างชาญฉลาด และมีจังหวะสปีดต้นที่เร็วมากในการกดดันคู่แข่ง" 

"อาหมัด คือนักเตะที่มีพรสวรค์มาก อาจจะตัวเล็กไปหน่อย แต่ทำหน้าที่ของตัวเองได้อย่างยอดเยี่ยม เขาเล่นเกมรับได้ดีมากและเล่นเกมรุกได้ดีด้วย ดังนั้นเขาต้องเล่นให้ได้แบบนี้ต่อไป และต้องพัฒนาตัวเองขึ้นอีกเรื่อย ๆ" อโมริม กล่าวหลังจากที่ อาหมัด ทำไป 3 แอสซิสต์ จาก 2 เกมลีกหลังสุด 

สิ่งที่พาอาหมัดมาถึงตรงนี้ คือเรื่องของความพยายาม ความกระหายอยาก และความคิดความอ่านของเขาที่เป็นคนหัวไว สามารถเข้าใจสิ่งที่สื่อสารได้อย่างรวดเร็ว จนเป็นนักเตะคนที่โดดเด่นที่สุดในทีม ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของสโมสร 

แน่นอน เขาไม่ใช่นักเตะที่เก่งที่สุดในพรีเมียร์ลีก แล้วก็ยังห่างไกลจากจุดนั้นมากโข แต่สำหรับ แมนฯ ยูไนเต็ด และ รูเบน อโมริม เท่าที่มีก็มากพอแล้วที่เขาจะเป็นคนสำคัญของทีมทั้งในปัจจุบันและอนาคตที่รออยู่

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า นักเตะที่แม้แต่แฟนบอลตัวเองยังคิดว่าโดนหลอกขายมา จะสามารถสู้และแย่งชิงโอกาสสำคัญมาได้โดยไม่มีความท้อถอยเลยตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ... โมเบรย์, ฟาน นิสเตลรอย หรือแม้แต่ อโมริม อาจจะเป็นคนสำคัญต่อเขา แต่ที่แน่ ๆ คนที่เขาไม่ควรจะลืมขอบคุณก็คือ ตัวของเขาเองที่สู้จนมีวันนี้ได้สำเร็จ  

ส่วนเขาจะเติบโตไปได้ไกลแค่ไหน นั่นเป็นเรื่องของอนาคตที่แฟน แมนฯ ยูไนเต็ด ตั้งหน้าตั้งตารอ และเอาใจช่วยอย่างที่สุดแน่นอน 

 

แหล่งอ้างอิง

https://www.goal.com/en-us/lists/stay-go-amad-diallo-breaks-silence-man-utd-future-brace-europa-league-win-paok/blt65047a0d6b0ad862
https://www.dailymail.co.uk/sport/football/article-12068275/Manchester-United-preparing-Amad-Diallo-return-team-squad-season.html
https://worldinsport.com/why-manchester-united-need-to-play-amad-diallo/
https://www.reddit.com/r/reddevils/comments/1bzqpyl/laurie_whitwell_lauriewhitwell_exc_football/?rdt=64475
https://www.nytimes.com/athletic/5151315/2023/12/22/manchester-united-fotball-news-transfers/

Author

ชยันธร ใจมูล

นักเขียนลูกสอง จองเรื่องฟุตบอลและมวยโลก รู้จริงบ้าง ไม่จริงบ้าง แต่เขียนแล้วอินทุกเรื่อง

Photo

วัชพงษ์ ดวงแปง

Main Stand's Backroom staff

Graphic

อรรนพ สะตะ

graphic design ผู้ชื่นชอบกีฬาฮอกกี้, เกมส์, เดินเขา เป็นชีวิตจิตใจ