ปัญหาโลกแตกของทีมชาติไทยก็คือ เวลาที่เราทำผลงานได้ดี เรามักจะบอกว่าถึงเวลาที่จะให้โอกาสนักเตะใหม่ ๆ ลองลงเล่นบ้างในโปรแกรมที่ไม่แข็งมากนัก
แต่เจ้ากรรม ... แม้ฟุตบอลจะมี ชนะ เสมอ แพ้ แต่ดราม่าก็พร้อมจะเกิดขึ้น หากการลองทีมนั้นไม่ได้ผลการแข่งขันที่ต้องการ
เรื่องนี้กับชาติที่เป็นต้นแบบของฟุตบอลบ้านเราอย่าง ญี่ปุ่น เขาคิดยังไงกับเรื่องนี้ และเขามีวิธีลองทีมแบบไหนให้ไม่ประสบปัญหาดราม่าลั่นประเทศ ? ติดตามกับ Main Stand
มองโลกอย่างเข้าใจ
ญี่ปุ่น เองก็ใช่ว่าจะไม่เคยมีปัญหาเรื่องดราม่า หรือการลองทีมแบบที่ไทยเรามี ล่าสุดเมื่อไม่นานมานี้ ย้อนกลับไปในปี 2023 ... ณ เวลานั้นเพิ่งจบศึกฟุตบอลโลก 2022 ที่ กาตาร์ มาหมาด ๆ และ ญี่ปุ่น ที่นำโดยกุนซือ ฮาจิเมะ โมริยาสุ ก็ได้เลือกโปรแกรม ฟีฟ่า เดย์ ด้วยการอุ่นเครื่องกับ 2 ทีมแกร่งอย่าง โคลอมเบีย กับ อุรุกวัย ที่ถือเป็นหนึ่งในทีมแถวหน้าของโลก ในรายการ "กิริน แชลเลนจ์ คัพ" (ชื่อรายการมาจากเบียร์ที่เป็นสปอนเซอร์ทีมชาติ) อันเป็นทัวร์นาเมนต์อุ่นเครื่องที่ทีม ซามูไรบลู จะจัดเป็นประจำทุกปี
แฟนบอลญี่ปุ่นเองก็เหมือนกับแฟนบ้านเรา ที่อยากจะเห็นทีมชุดที่ดีที่สุด ดวลกับคู่แข่งที่ดูจะแข็งแกร่งกว่า หรืออย่างน้อยที่สุดก็ในระดับไล่เลี่ยกันแบบ 2 ชาติจากอเมริกาใต้นี้ ทว่า โมริยาสุ กลับช็อกแฟนบอล ด้วยการเรียกผู้เล่นที่ไม่เคยมีประสบการณ์ในนามทีมชาติชุดใหญ่มาถึง 6 ราย
ไม่ว่าจะเป็น คาชิฟ บังนากันเด กองหลังลูกครึ่ง ญี่ปุ่น-กานา ของ เอฟซี โตเกียว, อายูมุ เซโกะ แนวรับ กราสฮอปเปอร์ ซูริกในลีกสวิส, โคกิ มาจิดะ เซนเตอร์ร่างโย่งของ ยูนิยง แซงต์ ชิลลัวส์ ของเบลเยียม, ฮารุยะ ฟูจิ กองหลัง นาโงยา แกรมปัส, ริกุ ฮันดะ แนวรับ กัมบะ โอซากา และ เคอิโตะ นากามูระ กองกลางจาก ลาสค์ ในลีกออสเตรีย
นอกจากนั้น แม้ว่า 26 ขุนพลใน กิริน แชลเลนจ์ คัพ ชุดนี้ จะมีผู้เล่นจากฟุตบอลโลก 2022 ติดทีมมาถึง 16 คน แต่ส่วนใหญ่ เป็นผู้เล่นอายุน้อย และทำให้อายุเฉลี่ยในทีมชุดนี้อยู่ที่ 23.5 ปี โดยมีผู้เล่นอายุเกิน 30 ปีแค่ 3 คนคือ ดาเนียล ชมิดต์, จุนยะ อิโต และ วาตารุ เอ็นโด
ผลที่ออกมาก็คือ ญี่ปุ่นไม่สามารถคว้าชัยได้เลยแม้แต่เกมเดียว หลังเสมอกับ อุรุกวัย 1-1 ในนัดแรก และโดน โคลอมเบีย พลิกแซง เอาชนะไปได้ 2-1 ต่อหน้าแฟนบอลที่เข้ากันมาเกือบเต็มความจุ ในสนามกีฬาแห่งชาติ กรุงโตเกียว และ โยโกโดะ ซากุระ สเตเดียม ที่โอซากา
แน่นอนว่ามีเสียงวิจารณ์ที่หลากหลาย ทว่าส่วนใหญ่เป็นคำชมในเชิงบวก แม้จะมีการแนะนำว่า ควรเลือกนักเตะที่ดีที่สุดทั้ง 26 คน แต่ก็เพียงแค่เล็กน้อยเท่านั้น ... เหตุผลก็เพราะว่า "กิริน แชลเลนจ์ คัพ" เป็นถ้วยที่เอาไว้ท้าทายสำหรับทีมชาติญี่ปุ่นอยู่แล้ว จากในอดีตที่ผ่านมา พวกเขามักจะเชิญทีมระดับโลก มาวัดศักยภาพของ ซามูไรบลู มาโดยตลอด ดังนั้นการแพ้ โคลอมเบีย และเสมอ อุรุกวัย ไม่มีดราม่าในเชิงผลการแข่งขันแต่อย่างใด
ตัวอย่างคอมเมนต์มองโลกในเชิงบวกได้แก่ "ฟุตบอลเป็นกีฬาที่ต้องสู่กับคู่แข่งระดับโลกอย่างไม่ต้องสงสัย กำแพงนั้นสูงและหนา กว่า 200 ประเทศ ใน 5 ทวีปที่ลงสู้กันในรอบคัดเลือก และมีเพียงผู้ชนะเท่านั้นที่จะผ่านเข้าไปในรอบสุดท้าย"
"ด้วยความที่มีทีมแข็งแกร่งมากมายอยู่ในโลกใบนี้ เส้นทางสู่รอบ 8 ทีมสุดท้ายจึงเป็นสิ่งที่ยาก แต่ถ้าหากทำสำเร็จ จินตนาการไม่ออกเลยว่าจะมีความสุขขนาดไหน" แอคเคาท์ JIN377731 กล่าวใน X หรือ Twitter อย่างเป็นทางการของ JFA
ดังนั้นถึงแพ้ก็ไม่เป็นไร และการแพ้ให้กับทีมที่แข็งแกร่งกว่ายิ่งไม่ใช่เรื่องใหญ่สำหรับพวกเขา แต่ก็มีเรื่องของรายละเอียดในเกมการแข่งขัน ที่แฟน ๆ บางคนอาจไม่พอใจบ้าง เนื่องจากคนญี่ปุ่นเชื่อมั่นในเรื่องของวิธีการพอ ๆ กับผลลัพธ์ ดังนั้น ปัญหาของชาวญี่ปุ่นจึงไม่ได้อยู่ที่การแพ้ แต่เป็นดราม่าทั่วไปสำหรับแฟนบอลทุกชาติ กล่าวคือ ทำไมคนนั้นติด คนโน้นไม่ติด คนนี้ดีกว่า อะไรประมาณนั้น
"โค้ชโมริยาสุเคยบอกว่า ใช้ระดับของลีกในการเลือกตัวนักเตะ แต่ยกตัวอย่างเช่นโค้ช (ฮิโรชิ) นานามิ (ผู้ช่วยผู้จัดการทีมชาติญี่ปุ่น) ที่เคยคุม อิวาตะ และ ยามางะ ก็ถูกไล่ออก ตอนคุม ยามางะ ก็พาทีมตกชั้นไป เจ 3 ยิ่งไปกว่านั้น นี่คือทีมที่เคยเล่นใน เจ 1 ไม่ใช่เหรอ" แอคเคาท์ที่ใช้ชื่อว่า yk0***** กล่าวใน Yahoo News
"เขาไม่ได้เลือกผู้ทำประตูสูงสุดของลีกสกอตแลนด์ แต่เอาคนที่ทำทีมตกชั้นไป เจ 3 มาอยู่ในทีมโค้ช ย้อนแย้งจังเนอะ"
สิ่งเหล่านี้คือความเห็นอย่างตรงไปตรงมาของแฟนบอลญี่ปุ่น มันคือการติเพื่อก่อ ชี้ให้เห็นจุดอ่อนอย่างเป็นรูปธรรม มากกว่าการด่าเอาสนุก หรือเกรียนไปแบบไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้น
เพราะ "ซามูไรบลู" คือทีมชาติของชาวญี่ปุ่นทุกคน พวกเขาจึงสามารถวิจารณ์ได้อย่างสร้างสรรค์ และอย่างเห็นมันประสบความสำเร็จ และทำให้พวกเขาภาคภูมิใจนั่นเอง
แล้วเวลาเจอกับทีมที่อ่อนกว่าล่ะ ?
สถานการณ์ใน กิริน แชลเลนจ์ คัพ ที่กล่าวไปอาจจะเข้าใจยากไปหน่อย เพราะเจอกับทีมเก่งกว่า แถมรายการนี้เก็บแต้ม ฟีฟ่า แรงกิ้ง แบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย
ดังนั้นหากจะเอาที่เห็นภาพชัด ๆ แบบที่คล้าย ๆ กับฟุตบอลบ้านเรา นั่นคือ การที่ ญี่ปุ่น มีธรรมเนียม ส่งทีมชุดสำรอง ลงแแข่งขันในรายการ EAFF E-1 (ฟุตบอลชิงแชมป์เอเชียตะวันออก) ประกอบด้วย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน เกาหลีเหนือ
ซึ่งทัวร์นาเมนต์นี้ ไม่ว่าโค้ชญี่ปุ่นจะเป็นใคร พวกเขาจะเปิดโอกาสให้นักเตะในที่ค้าแข้งในประเทศได้โอกาสลงเล่นในรายการนี้แบบ โนสน โนแคร์ โนดราม่า ใด ๆ ทั้งสิ้น ซึ่งถ้าหากเปรียบถ้วยนี้กับอาเซียนบ้านเรา มันก็คือรายการ AFF ที่กำลังมีการถกกันว่าควรเปิดโอกาสแข้งใหม่ลองทีมลงเล่นรายการนี้จริงหรือ ?
ตัดภาพกลับมาสำหรับทีมชาติญี่ปุ่น ในทัวร์นาเมนต์ปี 2022 กุนซือของพวกเขาต่างเลือกใช้นักเตะไร้ประสบการณ์มาเล่นในรายการนี้ เช่น ญี่ปุ่น ที่เรียกนักเตะที่ไม่เคยติดทีมชาติมาร่วมทัพถึง 13 คน จากทั้งหมด 26 คน หรือที่เหลือก็ติดทีมชาติไม่ถึง 20 นัด แถมเล่นอยู่ใน เจลีก เกือบทั้งทีม
ปัจจัยแรกที่ทำให้ EAFF E-1 ไม่ได้ถูกมองเป็นเวทีสำคัญ เนื่องจาก มันเป็นการแข่งขันที่ไม่ได้อยู่ในปฏิทินฟีฟ่า จึงไม่สามารถบีบให้สโมสร โดยเฉพาะในลีกยุโรป ที่ยังไม่ปิดฤดูกาล ส่งนักเตะมาให้พวกเขาใช้งาน
ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้หลายทีมตัดสินใจเลือกใช้นักเตะที่เล่นอยู่ในลีกบ้านเกิดเป็นหลัก โดยเฉพาะทีมใหญ่อย่าง ญี่ปุ่น และ เกาหลีใต้ ที่ยึดถือแนวทางนี้มาตั้งแต่ครั้งแรกของการแข่งขันเมื่อปี 2003
"ผมเชื่อว่าสาเหตุหลักมาจากปฏิทินการแข่งขันของรายการนี้ แต่มันก็ไม่ได้เสียหายอะไรหากจะมองหานักเตะในประเทศ ที่พร้อมสำหรับการเรียกติดทีม" สจ็วต สมิธ ผู้เชี่ยวชาญฟุตบอลญี่ปุ่นจาก J League Regista อธิบาย ก่อนทัวร์นาเมนต์ในปี 2017
นอกจากนี้ จากการที่การแข่งขันระดับภูมิภาค มีค่าน้ำหนักที่น้อยมากในการคำนวนคะแนน ฟีฟ่า เวิลด์ แรงกิ้ง (ปัจจุบันเทียบเท่า เกมอุ่นเครื่องนอกปฏิทิน ฟีฟ่า) ทำให้พวกเขาใช้ทัวร์นาเมนต์นี้เป็นเวทีทดลองแท็คติกและนักเตะ โดยเฉพาะก่อนทัวร์นาเมนต์ใหญ่
ในทางกลับกัน EAFF E-1 ยังเป็นโอกาสของผู้เล่นหน้าใหม่ ที่ไม่สามารถเบียดสู้กับผู้เล่นที่ค้าแข้งอยู่ในยุโรป ได้มีโอกาสโชว์ฝีเท้าอย่างเต็มที่ และเพิ่มความหวังในการรับใช้ชาติในอนาคต
"นี่เป็นโอกาสทองสำหรับผู้ได้รับเลือกในการทำให้บอสเห็นหน้า และสร้างความประทับใจเพื่อความหวังที่จะได้ไป (ฟุตบอลโลก) ในปีหน้า" สมิธกล่าวต่อ
และมันก็ได้ผลจริง เมื่อมีนักเตะจำนวนมากที่สร้างชื่อจาก EAFF E-1 จนสามารถก้าวขึ้นไปเป็นตัวหลักของทีมชาติในเวลาต่อมา อาทิ ยูยะ โอซาโกะ เมื่อปี 2013 ที่ภายหลังได้ดิบได้ดีย้ายไปเล่นใน บุนเดสลีกา และกลายเป็นตัวหลักในทีมชาติในเวลาต่อมา
พูดง่าย แต่ทำอย่างญี่ปุ่นยาก !
การลองทีมได้โดยที่คุณภาพไม่ตกลงมาก ขณะที่แฟนบอลส่วนใหญ่ก็เข้าใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ใช่ความบังเอิญ แต่มาจากการติดกระดุมเม็ดแรก ที่ตั้งใจและวางแผนมาเป็นอย่างดี นั่นคือการให้ความสำคัญตั้งแต่ระดับแรก "ระดับรากหญ้า"
ระบบเยาวชนญี่ปุ่น ถูกมองว่าเป็นหนึ่งในระบบฟุตบอลเยาวชนที่ดีที่สุดในโลก จากความที่มันเข้าถึงง่าย พวกเขามีอคาเดมีฟุตบอลมากมายอยู่ในทุกพื้นที่ และที่สำคัญ ชาวญี่ปุ่นมีความสนใจที่จะ "เรียนรู้" ราวกับเป็นนิสัยติดตัวของพวกเขา
"นักเตะส่วนใหญ่มีเทคนิคพื้นฐานที่ดีมากตั้งแต่เด็ก ๆ ทำให้การสอนง่ายขึ้นมาก" ทอม ไบเยอร์ส โค้ชผู้คลุกคลีกับเยาวชนญี่ปุ่นมากว่า 30 ปี กล่าวกับ The World Game
"นักเตะญี่ปุ่นเป็นคนที่สอนได้ เนื่องจากพวกเขามีความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้"
ขณะเดียวกัน ค่าใช้จ่ายในการเรียนฟุตบอลของพวกเขายังถูกมาก ยกตัวอย่างเช่นในรุ่นอายุไม่เกิน 12 ปี จะอยู่ที่ราว 4,000 เยน (ราว 979 บาท) ต่อเดือน เมื่อเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำที่ 961 เยน ต่อชั่วโมง (ราว 235 บาท) ที่หมายความว่าพ่อแม่แค่ทำงาน 1 วัน (8 ชั่วโมง) ก็มีเงินจ่ายค่าเรียนฟุตบอลลูกไปแล้ว 2 เดือน
นอกจากการเข้าถึงง่ายตั้งแต่รากหญ้า นโยบายของวงการฟุตบอลญี่ปุ่นยังมีทางไปต่อให้กับเด็ก ๆ เหล่านี้ ด้วยการบังคับให้สโมสรอาชีพทุกทีมในประเทศต้องมีอคาเดมี่และมีทีมเยาวชนเป็นของตัวเองด้วย
และที่สำคัญ หากเด็กคนไหนที่ยังไม่ได้เข้ากับอคาเดมี่ พวกเขาก็ยังมีศูนย์ฝึกแห่งชาติที่ชื่อว่า "เทรนซิน" ซึ่งมีถึง 9 แห่งตามหัวเมืองใหญ่ของภูมิภาคต่าง ๆ ในประเทศ มันคือการสร้างศูนย์ฝึกแห่งชาติสำหรับฟุตบอลโดยเฉพาะไปทั่วประเทศ และมีโปรแกรมแมวมองที่จัดการเป็นอย่างดี เพื่อติดตามผู้เล่นที่มีพรสวรรค์มากที่สุด
ส่วนเด็ก ๆ ทั้งหมดที่กล่าวมา ก็จะมีโอกาสลงเล่นรายการเข้มขันตั้งแต่ระดับโรงเรียน และหนึ่งในรายการที่โด่งดังมากที่สุด คือ ฟุตบอลมัธยมปลายชิงแชมป์แห่งชาติญี่ปุ่น หรือ ชิงแชมป์ฤดูหนาว ที่จะเอาตัวแทน ในแต่ละจังหวัด รวมทั้งสิ้น 48 ทีม (โตเกียว ได้โควต้า 2 ทีม) มาชิงชัยแบบน็อกเอาต์
มันคือทัวร์นาเมนต์ฟุตบอลเยาวชนที่ได้รับความนิยมมากที่สุดของญี่ปุ่น ที่มีผู้ชมมหาศาลที่เข้าไปชมการแข่งขันในเกือบทุกนัด ขณะที่นัดชิงชนะเลิศ ที่สนามกีฬาแห่งชาติโตเกียว มียอดคนดูไม่ต่ำกว่าครึ่งแสนในเกือบทุกปี
และทั้งหมดทั้งมวลที่จะบอกก็คือ หากคุณสามารถสร้างนักบอลที่มีคุณภาพไล่ ๆ กัน หรือเก่งขึ้นเรื่อย ๆ ในรุ่นหลัง ปัญหาเรื่องการลองทีมจะไม่ใช่เรื่องใหญ่เรื่องดราม่า แต่มันจะเกี่ยวกับเรื่องของการเปิดโอกาสให้กับคนที่รอโอกาสมากกว่า ซึ่งทุกคนที่ได้โอกาสในครั้งนี้ต่างก็รู้ดีว่า นี่คือโอกาสทองที่พวกเขาจะปล่อยให้หลุดมือไปไม่ได้ พวกเขาจึงทำงานออกมาอย่างเต็มที่ และนั่นทำให้ส่วนใหญ่พวกเขามักจะได้ผลการแข่งขันที่ดี มากกว่าแย่
ดังนั้นเรื่องความดราม่า โดนด่าแบบสาดเสียเทเสีย จึงมีน้อยมาก สมกับการเติบโตอย่างเป็นระบบ ทั้งในเชิงการพัฒนาประชากรในประเทศ และพัฒนาฟุตบอลไปพร้อม ๆ กันอีกด้วย
แหล่งอ้างอิง
https://www.sponichi.co.jp/soccer/news/2023/07/30/kiji/20230730s00002014620000c.html
https://news.yahoo.co.jp/expert/articles/a632bcd172499965c4a800e580575d73a499180e
https://www.soccerdigestweb.com/news/detail/id=142971
https://www.soccerdigestweb.com/news/detail/id=140918
https://twitter.com/jfa_samuraiblue/status/1640701863191539712/photo/1
https://news.yahoo.co.jp/articles/f4951b7c03ed235c6986ca6b43e9ebc94432702e
https://number.bunshun.jp/articles/-/856929
https://thediplomat.com/2013/07/japan-appeals-to-eaff-over-s-koreas-politically-charged-soccer-banners/
https://apnews.com/article/soccer-sports-china-asia-japan-45b46dbaea7a5169ec6ac60f7f3e4788
https://www.theguardian.com/football/2008/mar/03/sport.comment