Feature

เถียงกันมาหลายปี : ใช้ "เทรนท์" ในอังกฤษยังไงให้ติดไฟเหมือนตอนอยู่ลิเวอร์พูล ? | Main Stand

ถ้าคุณถามแฟนลิเวอร์พูลว่า เทรนท์ อเล็กซานเดอร์ อาร์โนลด์ คู่ควรกับการออกสตาร์ทเป็น 11 ตัวจริงให้ทีมหงส์แดงหรือไม่ ? เกือบ 100% จะตอบว่า "แน่นอนที่สุด" 

 

กลับกัน ถ้าถามแฟนบอลอังกฤษด้วยคำถามเดียวกันนี้ เชื่อว่าคำตอบจะออกมาแตกต่างหลากหลาย เพราะปัญหาเรื่องตำแหน่งการเล่น ควรเป็นตัวจริงหรือสำรองของ เทรนท์ ในทีมชาติอังกฤษ เกิดขึ้นมาเสมอนับตั้งแต่เขาก้าวขึ้นมาติดทีมชาติอังกฤษชุดใหญ่ 

คำถามคือแบ็กสายบุกเบอร์ต้น ๆ ของโลกคนนี้ ทำไมถึงเล่นตรงไหนก็ดูไม่ใช่สักทีและมักตกเป็นแพะรับบาปเสมอในยามติดทีมชาติ ? นี่คือเรื่องราวการวิเคราะห์แบบรอบด้าน ติดตามที่ Main Stand 

 

ใช้นักเตะจากจุดเด่น

ปฏิเสธไม่ได้ว่าเด็กปั้นจากระบบอคาเดมีของสโมสรมักได้รับการเชิดชูและสนับสนุนจากแฟนบอลมากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะเมื่อนักเตะคนนั้นพัฒนาขึ้นมาในฐานะเด็กท้องถิ่นที่เกิดและเติบโตอยู่ในละแวกใกล้เคียงกับสนามเหย้าของทีม

สตีเว่น เจอร์ราร์ด, เจมี่ คาร์ราเกอร์ และ ร็อบบี้ ฟาวเลอร์ คือผลผลิตที่แฟนบอลลิเวอร์พูลภาคภูมิใจ จนกระทั่งมาถึงคนล่าสุดอย่าง เทรนท์ อเล็กซานเดอร์ อาร์โนลด์ นักเตะที่พูดได้เต็มปากว่า เติบโต พัฒนา และแจ้งเกิดสุด ๆ จนกลายเป็นตัวหลักของทีมในยุคของกุนซือ เยอร์เก้น คล็อปป์  

บทบาทของ เทรนท์ ในยามที่เล่นให้กับ ลิเวอร์พูล นั้นชัดเจนและวิธีการเล่นของเขานั้นเหมือนกันแทบทุกนัดที่ได้ลงสนาม มองหยาบ ๆ แบบแฟนบอลมองคือการรับบทตำแหน่งแบ็กขวาจอมบุก ที่สามารถออกบอลชี้เป็นชี้ตายได้ในทุกวินาที ไม่ว่าคุณจะให้เขาวางบอลจากแดนตัวเอง การเล่นลูกครอสแบบแบ็กธรรมชาติทั่วไป หรือแม้กระทั่งการเล่นลูกตั้งเตะทุกชนิด และแทบทุกระยะ 

ด้วยการที่เขาเป็นมิดฟิลด์ตัวข้างมาก่อนในสมัยอคาเดมี ทำให้ อเล็กซานเดอร์ อาร์โนลด์ มีทักษะการเติมเกมรุกที่ดี ทั้งสปีดความเร็วในการวิ่งขึ้นไปช่วยแดนหน้าและความสามารถในการผ่านบอล โดยเฉพาะลูกเปิดแบบ เออร์ลี่ครอส (Early Cross) ที่เทรนท์มักผ่านบอลก่อนถึงแนวเส้นกรอบเขตโทษ เพื่อให้บอลโค้งเข้าไปถึงนักเตะที่เติมเกมขึ้นมาเข้าทำ ซึ่งได้ผลเป็นอย่างดีในยุคของ เยอร์เกน คล็อปป์ ที่เขาและ แอนดรูว์ โรเบิร์ตสัน ในตำแหน่งแบ็กซ้าย ได้กลายเป็นหนึ่งในอาวุธลับสำคัญของทีม 

และแน่นอนที่สุด เมื่อคุณเห็นจุดแข็งของ เทรนท์ ชัดเจน คุณก็จะสามารถมองจุดอ่อนของเขาได้ไม่ยากเช่นกัน เขามีปัญหาของเกมรับในเรื่องของสมาธิในการประกบตัวแบบ 1-1 และอาการประจำที่แบ็กสายบุกหลายคนเป็น นั่นคือสิ่งที่เรียกว่า "ลงไม่ทัน" จากการเติมเกมรุกเป็นธรรมชาติของเจ้าตัว 

มันเป็นปัญหาก็จริง แต่ก็ต้องยอมรับว่ามันไม่ใช่ปัญหาใหญ่ชนิดที่แก้ไม่ตกปลงไม่ได้สำหรับ คล็อปป์ ... สิ่งหนึ่งที่ คล็อปป์ รู้เสมอคือการใช้นักเตะที่เขามีให้เกิดประโยชน์สูงสุด เอาจุดเด่นของนักเตะคนนั้น ๆ ออกมาใช้ ซึ่งต้องยอมรับว่ากับ ลิเวอร์พูล จุดเด่นของ เทรนท์ เกิดประโยชน์ต่อทีมอย่างมาก มากเสียจนคล็อปป์ ต้องวางทางหนีทีไล่ แก้ปัญหาเกมรับของเขาด้วยการให้นักเตะคนอื่น ๆ ในทีมเข้ามาช่วยเล่น ช่วยประคอง 

และเพื่อให้ประโยชน์ของ เทรนท์ ชัดขึ้นอีก คล็อปป์ ได้เอาการออกบอลของเขามาเพิ่มมิติในแดนกลางของทีม ปรับวิธีการเล่นในแบบที่ซื้อเกมรุกแบบเต็มตัวไปเลย ซึ่งเป็นการรีดศักยภาพของ เทรนท์ ออกมาได้มากที่สุด และเกิดประโยชน์กับทีมที่สุด 

"แน่นอนว่าเขายังอยู่ในตำแหน่งแบ็กขวาในตอนที่ต้องเล่นเกมรับ แต่ตอนเล่นเกมรุกเขากลายเป็นปีกขวา จากนั้นเขาก็กลายเป็นเบอร์ 8 เบอร์ 6 เป็นเพลย์เมคเกอร์ เขาสร้างความแตกต่างให้เราได้ เขาเล่นในตำแหน่งที่แตกต่างกันในสนาม" นี่คือสิ่งที่ คล็อปป์ บรรยายถึงวิธีการที่เขาวางให้กับ เทรนท์ ภายใต้ระบบ 4-3-3 ของเขา 

ยิ่งลิเวอร์พูล เป็นทีมที่เล่นเกมรุกเป็นหลัก และนักเตะทั้ง 11 คนช่วยกันเล่นเกมรับไม่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของใครคนเดียว นั่นยิ่งทำให้จุดเด่นของ เทรนท์ ถูกนำมาใช้ได้ดีขึ้น ขณะที่จุดอ่อนของเขาปรากฏออกมาบ้างและโดนวิจารณ์บ้างในยามที่ทีมเสียประตู แต่สิ่งที่ต้องยอมรับก็คือการซื้อจุดแข็งของเขา และช่วยเขาแก้ไขจุดอ่อนด้วยการเอานักเตะคนอื่นมาร่วมด้วยช่วยกันคือสิ่งที่คุ้มค่าที่จะแลก

23 ประตู 87 แอสซิสต์ ตลอดอาชีพของเขาในวัย 26 ปี ต้องบอกว่าเยอะมาก ๆ สำหรับนักเตะที่เล่นในตำแหน่งวิงแบ็ก และนี่คือจำนวนที่ยืนยันได้เป็นอย่างดีว่าเขาในเวอร์ชั่นสวมเสื้อ ลิเวอร์พูล ของแนวทางการเล่นที่ตอบโจทย์กับสิ่งที่เขามีและสิ่งที่เขาเป็นมากที่สุด 

 

นกเปลี่ยนฟ้า ปลาเปลี่ยนน้ำ

พารากราฟด้านบนเราได้พยายามอธิบายถึงความยอดเยี่ยมของ เทรนท์ ในวันที่เขาเล่นให้กับ ลิเวอร์พูล ... และคุณจะเห็นภาพชัดขึ้นเมื่อเราบรรยายถึงความแตกต่างกับตอนที่เขาเล่นให้กับทีมชาติอังกฤษ 

แค่การเอาตัวกุนซืออย่าง คล็อปป์ และ อาร์เน่อ ชล็อต มาเทียบกับกุนซือทีมชาติอังกฤษในยุคที่ เทรนท์ ติดทีมชาติอย่าง แกเร็ธ เซาธ์เกต และ ลี คาร์สลี่ย์ คุณก็สามารถเข้าใจถึงความแตกต่างเชิงกลยุทธ์และวิธีการเล่นที่พวกเขาใส่ให้กับทีมของพวกเขาได้อย่างไม่ยาก

ลิเวอร์พูล เป็นบอลถอยหลังหกล้ม ... ถ้าตั้งรับเมื่อไหร่ มักมีความผิดพลาดเกิดขึ้นให้เห็นเสมอ กลับกันถ้าพวกเขาเป็นฝ่ายครองเกมบุก แผลในเกมรับก็จะถูกปิดเอาไว้

ลิเวอร์พูล โดยเฉพาะในยุค คล็อปป์ พร้อมที่จะทำอะไรที่เสี่ยงเสมอ ทั้งการเล่นบอลไดเร็กต์ด้วยจังหวะการเล่นที่เร็วมากจากทุกทิศทาง พวกเขาเอาบอลขึ้นหน้าแทบจะทุกจังหวะ และต่อให้นักเตะของพวกเขาจะจ่ายหรือเปิดบอลเสีย ทุกคนก็มีหน้าที่ที่จะไปรุมแย่งบอลกลับมาในทุกพื้นที่ของสนาม ไม่เว้นแม้กระทั่งในกรอบเขตโทษของคู่แข่ง พอแย่งได้ก็กลับมาขยี้ต่อเป็นชุด 2, ชุด 3  จนกว่าบอลจะตาย

"เมื่อคุณเล่นเกมรับพลาดหรือดวลตัวต่อตัวในขณะเล่นเกมรับไม่สำเร็จสักครั้งมันไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไรเลย ไคล์ วอล์คเกอร์ ก็มีวันที่เคยผิดพลาด แต่แน่นอนว่าไม่ได้มีใครมองว่าเป็นเรื่องใหญ่ เพราะปกติแล้วเขาเป็นกองหลังที่เก่งมาก ๆ ... ดังนั้นต่อให้การเล่นผิดพลาดเกิดขึ้น มันก็เป็นธรรมชาติของการเล่นฟุตบอล  กลับกันถ้ามันเกิดขึ้นกับ เทรนท์ มันจะเป็นเรื่องราวที่แตกต่างออกไป ราวกับเขาจะต้องพิสูจน์ตัวเองในเรื่องเกมรับเสมอ" คล็อปป์ ว่าแบบนั้น 

ตัดภาพมาที่ทีมชาติอังกฤษโดยเฉพาะในยุคของ เซาธ์เกต นั้น เหมือนกับหนังคนละม้วน ... ก่อนที่จะพูดถึงวิธีการเล่นของอังกฤษ อยากให้เข้าใจก่อนว่านี่ไม่ใช่การบอกว่าใครเก่งกว่าใคร หรือ เซาธ์เกต จับ เทรนท์ เล่นผิดตำแหน่งผิดวิธีการ แต่มันคือความแตกต่างของภาพรวม และข้อจำกัดที่โค้ชแต่ละคนต้องเลือกวิธีการเล่นที่เหมาะกับศักยภาพนักเตะที่มี 

เซาธ์เกต และลากยาวมาจนถึง คาร์สลี่ย์ สร้างทีมด้วยแนวคิดที่แตกต่างกับ คล็อปป์ เขาเลือกจะซื้อความแน่นอน ความปลอดภัย และมีสารตั้งต้นจากเกมรับที่แข็งแกร่ง ไม่เสียประตูง่าย ๆ เอาไว้ก่อน และด้วยวิธีการเล่นแบบนี้ เมื่อคุณเอามาเทียบกับจุดแข็งของ เทรนท์ คุณก็จะพบว่ามันเป็นความต่างกันโดยสิ้นเชิง และนั่นเป็นเหตุผลที่ว่าอังกฤษในยุค เซาธ์เกต และ คาร์สลี่ย์ จึงไม่สามารถใช้ เทรนท์ ในฐานะแบ็กขวาตัวหลักได้เลย นับตั้งแต่พวกเขาเรียก เทรนท์ ติดทีมชาติครั้งแรก 

เมื่อถึงทัวร์นาเมนต์ใหญ่ คีแรน ทริปเปียร์ หรือ ไคล์ วอล์คเกอร์ จะเป็นตัวเลือกก่อนหน้า เทรนท์ เสมอ ซึ่ง เซาธ์เกต ไม่ใช่ไม่รู้ว่า เทรนท์ มีดีตรงไหน บอลสั่งตายจากทุกระยะของเขาเป็นคุณสมบัติที่ทุกทีมควรมีถ้าหากหวังจะเอาประตู ดังนั้นเขาจึงรักพี่เสียดายน้อง ด้วยการจับ เทรนท์  ขึ้นมาเล่นเป็นกองกลางหมายเลข 8 ของทีม ... ถ้ามว่า เทรนท์ เล่นในตำแหน่งนี้ได้ไหม แน่นอนว่าได้ และมันเป็นตำแหน่งเก่าสมัยเป็นนักเตะเยาวชนของเขาด้วย

แต่ถ้าถามว่ามันเป็นตำแหน่งที่ดีที่สุด และเอาจุดเด่นของเขามาใช้มากที่สุดหรือไม่ ? ข้อนี้ไม่ต้องสงสัยเลยว่าการเอา เทรนท์ มาเล่นกองกลางนั้นยังห่างไกลจากความยอดเยี่ยมที่เขาเคยทำได้ตอนเล่นตำแหน่งธรรมชาติของเขาเป็นอย่างมาก

ดังนั้นสถานะของ เทรนท์ ในทีมชาติอังกฤษจึงออกมาในลักษณะ "ดีเกินกว่าจะเป็นตัวสำรอง ... แต่ก็ไม่รู้จะเอาไปเล่นตรงไหนใน 11 ตัวจริง" กล่าวคือทีมชาติอังกฤษอยากจะใช้จุดแข็งของ เทรนท์ ให้เกิดประโยชน์กับทีมที่สุด แต่จุดอ่อนของเขาก็ส่งผลโดยรวมกับทีมมากเกินไปในเวลาเดียวกันนั่นเอง

 

ทางแก้คืออะไร ?

การเปลี่ยนระบบการเล่นของทั้งทีมเพื่อนักเตะคนเดียวไม่เคยเป็นทางเลือกของกุนซือระดับแถวหน้าอยู่แล้ว และแน่นอนว่าอังกฤษก็จะไม่ทำแบบนั้นแน่นอนไม่ว่ากับโค้ชคนไหน ๆ ก็ตามที่เข้ามารับตำแหน่ง ดังนั้นปัญหาคือถ้าคุณอยากจะใช้จุดแข็งของ เทรนท์ คุณก็ต้องมีความละเอียดรอบด้าน วางทางหนีที่ไล่ไว้ให้กับเขาบ้างเมื่อเวลาต้องเล่นเกมรับ หรือกระทั่งตอนโดนสวนกลับเร็วที่เขาอาจจะเติมขึ้นมาสูงเกินไป

กุญแจสำคัญที่ทำให้เทรนท์กล้าจ่ายบอลยาว เพื่อสร้างสรรค์โอกาสให้กับทีม แม้รู้ว่ามีความเสี่ยงที่ต้องแบกรับจากระยะการจ่ายก็ตาม คือ การไม่กลัวความผิดพลาด 

"ผมไม่เสียใจกับความผิดพลาด ผมไม่กลัวที่จะทำผิดพลาด ผมคิดว่านั่นอาจเป็นความแตกต่างของผมเมื่อเทียบกับผู้เล่นคนอื่น ๆ" เทรนต์ กล่าว 

"ผู้เล่นคนอื่น ๆ จะเห็นการจ่ายบอลที่เสี่ยง แล้วคิดว่ามันยังไม่ค่อยสำเร็จ และคิดแง่ลบกับความเสี่ยง ในขณะที่ผมคิดในแง่บวก"

กับ ลิเวอร์พูล เขาเสี่ยงแบบนี้ แต่กลับกัน อังกฤษการเล่นเสี่ยง ๆ ขัดกับสิ่งที่ เซาธ์เกต เป็น หรือวางระบบไว้ให้จนมาถึงทีมยุคปัจจุบันอย่างสิ้นเชิง 

คุณเห็นความต่างได้ไม่ยากในยามที่ ไคล์ วอล์คเกอร์ เล่นแบ็กให้ทีมชาติอังกฤษ แม้เขาจะเป็นนักเตะที่แข็งแรงและรวดเร็วพอที่จะวิ่งขึ้นสุดลงสุดทั้งเกม แต่วิธีการเล่นที่เขาได้รับมอบหมายเสมอคือการเล่นเกมรุกในบางจังหวะ เพื่อโฟกัสไปกับการเล่นเกมรับเป็นหลัก เฝ้าระวังเรื่องจังหวะสวนกลับ เขาจะเป็นคนที่คอยวิ่งกวดเอาบอลจากริมเส้นของคู่แข่งมาเปลี่ยนให้ทีมเป็นฝ่ายบุกอีกครั้ง 

ซึ่งหน้าที่นี้ตอบโจทย์มากกับจุดแข็งของเขาที่เร็ว แข็งแรง และมีความตื่นตัวในเกมรับในระดับที่ดีมาก เห็นได้ชัดว่าการเล่นแบ็กในแบบของ วอล์คเกอร์ ค่อนข้างจะตอบโจทย์กับวิธีการเล่นของทีมชาติอังกฤษมากกว่าแบ็กสไตล์ เทรนท์ 

แต่จะทำอย่างไรล่ะ เมื่อพวกเขาต้องการเอาวิธีการผ่านบอลของ เทรนท์ ออกมาใช้ ? คนที่ตอบได้ดีที่สุดก็คงหนีไม่พ้น คล็อปป์ ... ซึ่ง คล็อปป์ ก็เคยพูดถึงกรณีนี้ด้วยตัวเองเช่นกัน

คล็อปป์ บอกว่า เทรนท์ คือแบ็กขวาที่มีการเปิดบอลและเล่นเกมบุกที่ดีที่สุดในโลก แต่การจะไขเกมรับให้กับ เทรนท์  ให้ดีขึ้นได้คือการทำให้เขามีสมาธิกับหน้าที่ตรงนี้มากขึ้น โดยเขาเคยยืนยันว่าไม่เคยปล่อยให้ เทรนท์ เล่นเกมรุกเป็นอิสระโดยที่ไม่ต้องสนเกมรับแบบที่ใครเข้าใจ 

และในขณะเดียวกัน สิ่งที่ช่วยกลบเกมรับให้ เทรนท์ ได้คือการวางคนที่จะช่วยซ้อนและรับผิดชอบในยามที่เขาหลังตำแหน่ง ซึ่งในสโมสร คุณก็จะได้เห็นตลอดว่าถ้า เทรนท์ เริ่มขึ้นสูง จะมีนักเตะในตำแหน่งใกล้ ๆ พื้นที่ของเขาเข้ามาคัฟเวอร์ (Cover) คอยระวังหลังปกป้องพื้นที่เกมรับที่ เทรนท์ รับผิดชอบไว้ไม่ให้คู่แข่งใช้เป็นพื้นที่อันตรายในการสวนกลับ 

ขณะที่ในยุคปัจจุบัน เทรนท์ ก็ยังมีส่วนสำคัญในยุคของ อาร์เน่อ ชล้อต ... 7 เกมลีกที่ผ่านมา ลิเวอร์พูล เสียแค่ 2 ลูกเท่านั้น น้อยที่สุดในพรีเมียร์ลีกแล้ว ซึ่งจุดนี้ เทรนท์ มีส่วนมากจริง ๆ เพราะ ชล็อต ช่วยยกระดับเกมรับของเขาไปอีกขั้นเพื่อให้เกิดความผิดพลาดน้อยที่สุด เนื่องจากบอล ชล็อต นั้นมีความยืดหยุ่น มีช่วงที่ทีมจะเล่นตั้งรับ และช่วงที่ทีมต้องโหมบุกเอาประตู 

หมายความว่า เทรนท์ เองก็จะเสี่ยงเต็ม 100% แบบยุคของ คล็อปป์ ไม่ได้แล้ว  เทรนท์ จะต้องเล่นเกมรับมากขึ้น  และตอนนี้ 2 ประตูที่เสียก็พอยืนยันได้เป็นอย่างดีว่า นักเตะสามารถแก้ไขจุดอ่อนได้ หากโค้ชวิธีการสอนที่ดี และช่วยเหลือนักเตะให้เข้าใจและเห็นถึงปัญหาเพื่อแก้ไขได้มากกว่าการพยายามเพียงคนเดียว

"ผมคุยกับ อาร์เน่อ เสมอว่า ผมอยากจะเป็นกองหลังที่ไม่มีใครอยากจะดวลด้วย เราจึงตกลงกันว่าเขาจะต้องเข้มงวดเรื่องเกมรับของผมให้มากเป็นพิเศษ เมื่อใดก็ตามที่มีคนเข้ามาใกล้ และเอาชนะผมได้ง่าย ๆ ผมขอให้ออกช่วยชำแหละความผิดพลาดในจังหวะนั้น ๆ ไม่ว่าจะแบบส่วนตัว หรือคุยกันในห้องประชุมทีมก็ตาม ... เราจะทำให้เรื่องนี้เป็นเรื่องคอขาดบาดตาย เรื่องที่ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ง่าย ๆ อีกต่อไป" เทรนท์ ให้สัมภาษณ์ด้วยตัวเอง

ซึ่ง มินา ซูกี้ กูรูฟุตบอลของ Optus Sport ให้สัมภาษณ์ในรายการ The Kelly & Wrighty Show เกี่ยวกับการช่วย เทรนท์ แก้เกมรับของ ชล็อต และทีมงานเพิ่มเติมว่า

"การสัมภาษณ์ของ เทรนท์ บอกได้ชัดว่าสิ่งที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มาโดยตลอดนั้นเป็นสิ่งที่เขายอมรับ และพยายามแก้ไขเสมออ มันดีมากที่ทีมงานโค้ชของ ลิเวอร์พูล ให้เวลาในการแก้เกมรับของเขามากขึ้น การแก้จุดอ่อนเล็ก ๆ น้อย ๆ ของนักเตะสักคนไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะคุณต้องใส่ใจกับมันให้มาก ช่วยให้งานของเขาง่ายขึ้นผ่านการเตรียมการล่วงหน้าก่อนเกมมาถึงว่าเขาจะต้องทำอะไรบ้าง และเจอกับอะไรบ้างในเกมนั้น ๆ"

"คุณจะเห็นว่าโจทย์ของ เทรนท์ ในยุุคของ อาร์เน่อ มันยากขึ้นกว่าเดิม แต่ในอีกทางคุณก็จะเห็นได้ว่าเขาเล่นกมรับได้ดีขึ้นแค่ไหน" 

การยกเอาเรื่องการแก้ไขเกมรับของ เทรนท์ ในยุคของ ชล็อต ช่วยยืนยันได้เป็นอย่างดีว่า เทรนท์ ไม่ใช่นักเตะที่ทิ้งและละเลยเกมรับอย่างสิ้นเชิง คุณสามารถสอนและช่วยเขาแก้จุดอ่อนของเขาได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนทั้งทีมเพื่อให้ตอบโจทย์กับวิธีการเล่นของเขา ... ทั้งนี้คุณต้องเปลี่ยนมุมมองใหม่ด้วยการมองว่าเขาไม่ใช่ปัญหา แต่เขาคือทางเลือกในอีกแนวทางวิธีการเล่นหนึ่ง ป็นอีกหนึ่งอาวุธที่คุณมีในมือและสามารถเอาไปใช้ประโยชน์ได้ให้ถูกสถานการณ์ 

เทรนท์ อายุ 26 ปี และว่ากันว่านักเตะจะเล่นเกมรับดีขึ้นเมื่ออายุและประสบการณ์มากขึ้น ไม่เร็วก็ช้าตำแหน่งแบ็กขวาทีมชาติอังกฤษเบอร์ 1 จะเป็นของเขาแน่ เพราะ ไคล์ วอล์คเกอร์ ที่จองสัมปทานอยู่ปัจจุบันก็อายุมากขึ้นทุกวัน ในวันหนึ่งวันของ เทรนท์ จะมาถึง และเมื่อนั้นมันจะเป็นช่วงเวลาที่เหมาะเจาะลงตัวอย่างที่สุด 

ท้ายที่สุดนี้ คือการสรุปว่าสาเหตุที่ เทรนท์ ยังเข้า ๆ ออก ๆ กับ 11 ตัวจริงทีมชาติอังกฤษ และสาละวนกับตำแหน่งการเล่น มันเกิดขึ้นจากแนวทางการเล่นของทีม ที่ไม่ไดสอดคล้องกับวิธีการเล่นและจุดแข็งของ เทรนท์ มากนัก ... และแน่นอนว่าเราไม่ได้บอกว่าเรื่องนี้ฝั่งลิเวอร์พูลถูกหรือฝั่งอังกฤษผิดแต่อย่างใด เพราะทุกทีมต่างก็มีแนวทางและวิธีการทีแตกต่างกันออก รวมถึงการเลือกนักเตะที่ตอบโจทย์กลยุทธ์ที่สุดก็เป็นสิ่งที่โค้ชทุกคนบนโลกนี้ต้องทำ 

อย่างไรก็ตาม เทรนท์ กำลังดีขึ้น กำลังแก้ไขปัญหาเกมรับที่คอยกวนใจและทำให้เขาโดนวิจารณ์มาเสมอ ... การไม่นิ่งนอนใจเมื่อเห็นปัญหาของเขาจะนำพาความง่ายในการทำงานให้กับทุกฝ่าย ยิ่งกับ ลิเวอร์พูล ในยุค ชล็อต ที่เสี่ยงน้อยลง ใส่ใจเกมรับมากขึ้น ยิ่งเป็นเรื่องดีมาก ๆ ที่จุดอ่อนของ เทรนท์ จะถูกฝังกลบในเร็ว ๆ นี้ และถ้าวันไหนที่ทุกอย่างเกิดลงตัวขึ้นมา แน่ชัดเลยว่าปัญหาที่ทุกคนเถียงกันว่า เทรนท์ ควรเล่นตำแหน่งไหนในทีมชาติอังกฤษ หรือ เทรนท์ ควรเป็น 11 ตัวจริงหรือไม่คงจะหมดไปอย่างแน่นอน 

 

แหล่งอ้างอิง

https://www.goal.com/en/lists/trent-alexander-arnold-too-good-england-bench-liverpool-right-back-midfield-euro-2024-risk-worth-taking/
https://www.goal.com/en/lists/jurgen-klopp-trent-alexander-arnold-means-more-than-man-city-comments-pep-guardiola/
https://www.eurosport.com/football/premier-league/2023-2024/exclusive-jurgen-klopp-on-why-trent-alexander-arnold-s-evoling-role-has-so-many-benefits-for-liverpo_sto10001694/story.shtml
https://sport.optus.com.au/news/premier-league/os81669/liverpool-arne-slot-trent-alexander-arnold-weakness

Author

ชยันธร ใจมูล

นักเขียนลูกสอง จองเรื่องฟุตบอลและมวยโลก รู้จริงบ้าง ไม่จริงบ้าง แต่เขียนแล้วอินทุกเรื่อง

Photo

วัชพงษ์ ดวงแปง

Main Stand's Backroom staff

Graphic

ปริญญา คงปันนา

กราฟฟิคหน้าโหด ทำงานด้วย Passion ว่างๆ ชอบไปคาเฟ่ หลงไหลในศิลปะ, การเดินทางและกีฬา