Feature

จตุรเทพ แต่มี 5 คน : การเติบโตที่แสนยากลำบาก ... สู่ตอนจบที่หอมหวาน | Main Stand

ทำไมคนเราจึงไม่ควรตัดสินใครทันทีตั้งแต่แรกเห็น ? และถ้าไม่ตัดสินตอนนั้น เราควรจะตัดสินใจพวกเขาตอนไหน ? 

 


นี่คือเรื่องราวของกลุ่มนักเตะ 5 คนของ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ในยุค 2000s นั่นคือ เวส บราวน์, จอห์น โอเช, มิคาแอล ซิลแวสตร์, คีแรน ริชาร์ดสัน และ ดาร์เรน เฟล็ตเชอร์ 

นักเตะเหล่านี้คือนักเตะที่มีส่วนร่วมกับการเป็นแชมป์มากมายหลายรายการ ทว่ายังมีอีกหลายคนสงสัยว่า "5 จตุรเทพ" เหล่านี้เก่งตรงไหน ? และอะไรทำให้พวกเขาอยู่กับทีมได้ยาวนาน พร้อมสร้างความสัมพันธ์กับแฟนบอลได้อย่างแนบแน่นแบบงง ๆ ว่า ความรู้สึกดี ๆ เหล่านี้เกิดขึ้นตอนไหน ? 

ติดตามเรื่องราวของแก๊ง 5 จตุรเทพ กลุ่มบอยแบนด์นักฟุตบอลกลุ่มแรกที่ถูกเรียกขานในฐานะกลุ่มนักเตะไม่ได้เรื่อง แต่กลับประสบความสำเร็จในอาชีพมากมายได้ที่นี่ 

 

ฉายาที่ถือกำเนิดจากความผิดหวัง

"จตุ" นั้นแปลว่า 4 ดังนั้นการที่ 5 นักเตะอย่าง เวส บราวน์, จอห์น โอเช, มิคาแอล ซิลแวสตร์, คีแรน ริชาร์ดสัน และ ดาร์เรน เฟล็ตเชอร์ ได้ฉายาว่า "5 จตุรเทพ" นั้นจึงเป็นอะไรที่ค่อนข้างชัดเจนว่า นี่คือฉายาที่ไม่ได้มีที่มาจากความเก่งกาจ แต่มันมาจากความฮา, มึน, บวม และคาดเดาไม่ได้นั่นเอง

ฉายา 5 จตุรเทพ นั้นจะเข้าใจตรงกันเฉพาะในหมู่ของคนไทยเท่านั้น ฉายานี้มีต้นแบบมาจากการ์ตูนเรื่อง "คุโรมาตี้ โรงเรียนคนบวม" การ์ตูนที่ขายเรื่องความมึน ๆ ของแก๊กในแต่ละตอน เดาไม่ถูกว่าจะควรจะฮาตอนไหน แต่สุดท้ายเมื่ออ่านจบตอนก็จะเกิดความฮาขึ้นมาแบบงงๆ โดยกลุ่ม 5 จตุรเทพ ในเรื่อง คุโรมาตี้ (ในเรื่องจะใช้ชื่อว่า "จตุราชา") นั้น ถือเป็นกลุ่มหลัก ๆ ที่ผู้เขียนใช้ดำเนินเรื่องเลยทีเดียว พวกเขามีวลีเด็ดที่บ่งบอกถึงความเพี้ยนได้เป็นอย่างดีนั่นคือ "เป็นถึงจตุราชาแท้ ๆ แต่ทะลึ่งมีกันอยู่ 5 คน"

การกำเนิดของกลุ่มจตุรเทพของ แมนฯ ยูไนเต็ด นั้นเริ่มเกิดขึ้นจริง ๆ จัง ๆ หลังปี 2003 เป็นต้นมา ซึ่งช่วงเวลานั้นทีมปีศาจแดงกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนถ่ายนักเตะหลายคนหลายตำแหน่ง จึงทำให้ร้างราแชมป์ลีกไปถึง 3 ปี 

แน่นอนว่าสโมสรแห่งนี้ยิ่งใหญ่และประสบความสำเร็จมากมาย เกินกว่าจะยอมรับได้ถึงการขาดแชมป์มานานขนาดนั้น ประกอบกับผลการแข่งขันแต่ละเกม ๆ นั้นก็มีเรื่องให้ขัดอกขัดใจอยู่เสมอ ดังนั้นแฟน ๆ ปีศาจแดงทั่วโลกจึงเริ่มมองหานักเตะที่เป็นจุดอ่อนของทีมเพื่อให้มาเป็นที่ระบาย อารมณ์ประมาณว่า "เพราะนักเตะแบบนี้ไง เราถึงย่ำอยู่กับที่อยู่หลายปี"

หากจะวัดตามปีตาม พ.ศ. แล้ว 5 จตุรเทพค่อย ๆ ก่อตัวขึ้นทีละนิด ๆ มิใช่การโผล่มาพรวดเดียว 5 คนแบบในการ์ตูน เวส บราวน์ มาคนแรกได้เล่นกับทีมชุดใหญ่ตั้งแต่ปี 1998, ตามด้วย จอห์น โอเช และหลังจากนั้นโผล่มาอีก 2 อย่าง คีแรน ริชาร์ดสัน และ ดาร์เรน เฟล็ทเชอร์ ซึ่ง 4 คนนี้ถือเป็นนักเตะจากอคาเดมีของสโมสรทั้งหมด ส่วน มิคาแอล ซิลแวสตร์ นั้นเป็นนักเตะที่ เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ซื้อตัวมาจาก อินเตอร์ มิลาน ในปี 1999 

แม้ต่างคนจะต่างตำแหน่ง มีสไตล์การเล่นที่แตกต่างกัน แต่พวกเขาทั้ง 5 มีความเหมือนกันซ่อนอยู่ และมักจะแสดงออกมาเมื่อได้โอกาสลงสนาม นั่นคือ พวกเขามักจะ "พลาดแบบมึน ๆ" จนพาลทำให้ทีมเสียประตูบ้าง หรือพลาดการทำประตูชนิดจ่อ ๆ บ้าง นั่นคือสาเหตุที่ทำให้พวกเขาเหล่านี้กลายเป็นเป้าโจมตีของแฟนบอล และหากจะใช้คำให้แรงกว่านี้อีกหน่อย ก็คงต้องบอกว่า 5 จตุรเทพนั้นถือกำเนิดขึ้นมาในฐานะแพะร้บบาปของทีมอย่างแท้จริง 

 

อีกด้านของเหล่าตัวตลก 

ไม่ว่าจะแฟนบอลไทยหรือในต่างประเทศตามเว็บบอร์ดต่าง ๆ ย่อมรู้สึกไม่ต่างกัน 5 จตุรเทพ คือนักเตะที่พวกเขาคิดว่า "ชั้นยังไม่ถึง" สำหรับทีมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในเกาะอังกฤษอย่าง แมนฯ ยูไนเต็ด

เวส บราวน์ ในตำแหน่งเซ็นเตอร์แบ็กก็ลนลานเกินไป, ดาร์เรน เฟล็ทเชอร์ เล่นได้ทุกตำแหน่งในแดนกลางแต่เอาดีไม่ได้ซักทาง, คีแรน ริชาร์ดสัน ความมุ่งมั่นสูงแต่ผลลัพธ์ติดลบ, จอห์น โอเช และ มิคาเอล ซิลแวสตร์ โฉ่งฉ่างเกินไปสำหรับการเป็นเซ็นเตอร์แบ็ก แต่ก็ช้าเกินไปสำหรับตำแหน่งฟูลแบ็ก 

ความผิดพลาดของพวกเขาเหล่านี้เกิดขึ้นหลากหลายหนจนติดกลายเป็นภาพจำ และหนักข้อเข้าก็ถึงขั้นมีการเชียร์ให้สโมสรขายแข้งเหล่านี้ทิ้งไปเสีย เพราะไม่เห็นวี่แววของการพัฒนาเลย เรื่องนี้จะกล่าวว่าแฟนบอลมองพวกเขาด้วยสายตาอคติก็คงไม่ถูกเสียทีเดียว เพราะนักวิจารณ์, อดีตนักเตะ ก็ออกมาวิจารณ์ทีมชุดร้างราแชมป์ลีกอยู่บ่อย เหนือสิ่งอื่นใดคือแม้แต่เหล่า 5 จตุรเทพเองก็ยังยอมรับเรื่องนี้ด้วยตนเองอีกต่างหาก

มีนักข่าวเคยสัมภาษณ์ ซิลแวสตร์ (หลังจากแขวนสตั๊ด) ว่าฤดูกาลที่ดีที่สุดของเขากับ ยูไนเต็ด ใช่ปี 2004-05 ที่เขาได้เล่นเป็นตัวจริงต่อเนื่องหรือไม่ ? ... ซิลแวสตร์ เองยังตอบว่า "พูดยากนะ ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าตอนไหนดีที่สุด" ... แม้จะเป็นการตอบแบบเอาฮา แต่ก็แสดงให้เห็นว่าพวกเขารับรู้คำวิจารณ์ที่แฟน ๆ มีต่อพวกเขาไม่มากก็น้อย 

แม้มันจะเป็นความจริงที่เกิดขึ้นจนทำให้ภาพจำของเหล่า 5 จตุรเทพ ดูเป็นนักเตะที่ค่อนไปทางน่าผิดหวัง และเป็นตัวตลก อย่างไรก็ตามในมุมมของพวกเขานั้น รู้สึกกับการถูกตัดสินจากแฟนบอลว่าเป็นจุดอ่อนของทีมอย่างไร ? 

ที่ ยูไนเต็ด พวกเขามีค่านิยมประจำสโมสร นั่นคือการรับผิดชอบตัวเอง พัฒนาไม่หยุดยั้ง และมุ่งมั่นเพื่อสืบสานความยิ่งใหญ่ของสโมสร จิตวิญญาณของความเป็นปีศาจแดงถูกส่งต่อกันมารุ่นสู่รุ่น และแน่นอนว่ามันถูกปลูกฝังลงในทัศนคติของเหล่านักเตะสโมสรทุกคน โดยเฉพาะกลุ่มนักเตะท้องถิ่น ... ซึ่ง 4 จาก 5 คนของจตุรเทพคือนักเตะที่เติบโตมาจากระบบเยาวชน อยู่กับทีมมาเป็น 10 ปีทั้งนั้น 

คีแรน ริชาร์ดสัน เคยเล่าว่าในวันที่เขาได้เซ็นสัญญาอาชีพกับ แมนฯ ยูไนเต็ด พ่อและแม่ของเขาถึงกับร้องไห้ด้วยความดีใจ ส่วนไอดอลของ ริชาร์ดสัน ก็คือเหล่านักเตะรุ่นพี่อย่าง เวส บราวน์, จอห์น โอเช และ ดาร์เรน เฟล็ทเชอร์ ที่กำลังเป็นเป้าวิจารณ์เวลาทีมได้ผลการแข่งขันที่ไม่ดีนั่นเอง ... เลือดข้นกว่าน้ำ แฟนบอลอาจมอง บราวน์, โอเช, เฟล็ทเชอร์ ว่าดีไม่พอ แต่สำหรับ ริชาร์ดสัน พวกนี้คือนักเตะหนุ่มที่ประสบความสำเร็จ

"นักเตะกลุ่มนี้เป็นแบบอย่างของผม ผมคิดเสมอว่าอยากจะเป็นแบบพวกเขาให้ได้ ถ้าพวกเขาทำได้ ผมก็ต้องทำได้" ริชาร์ดสัน ว่าไว้    

ขณะที่ ซิลแวสตร์ ซึ่งไม่ใช่นักเตะท้องถิ่นก็ยังยอมรับว่า ช่วงเวลาที่ยากลำบากไม่ได้ทำให้เขารู้สึกเบื่อหรืออยากจะย้ายออกจากแมนฯ ยูไนเต็ด เลยแม้แต่ครั้งเดียว และช่วงเวลาที่เขาเสียใจที่สุดในอาชีพนักเตะก็คือการต้องย้ายออกจากทีมในปี 2008 ... เรียกได้ว่าถ้าอยู่ต่อได้ก็อยากจะอยู่ เสียงก่นด่าไม่ได้ทำให้นักเตะพวกนี้ยอมแพ้ แต่มันทำให้พวกเขาสู้ยิ่งกว่าเดิม ซึ่งทัศนคติแบบนี้ที่ทำให้นักเตะสายฮาและถนัดเรื่องการทำเรื่องผิดพลาด อยู่กับทีมมาได้อย่างยาวนานเกินกว่าที่ใครจะคิด

ซิลแวสตร์ 9 ปี, เวส บราวน์ 15 ปี, จอห์น โอเช 10 ปี, เฟล็ทเชอร์ 12 ปี และ ริชาร์ดสัน ที่น้อยกว่าใครเพื่อนคือ 5 ปี ... พวกเขาอยู่กับทีมได้นานขนาดนี้เพราะอะไร เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน มีคำตอบ

 

สำคัญไม่แพ้ฝีเท้า ... คือหัวใจ 

หนึ่งในเหตุผลที่เหล่า 5 จตุรเทพโดนแฟนบอลโจมตีบ่อย ๆ ก็เพราะพวกเขามักจะได้ลงสนามในเกมสำคัญ ๆ เสมอ และด้วยภาพรวมของทีมในช่วงปี 2003 ถึง 2006 นั้น มีปัญหาหลายด้าน จึงทำให้ผลการแข่งขันออกมาไม่ค่อยดี 

ในตำแหน่งผู้รักษาประตู ปีเตอร์ ชไมเคิล จากไปหลังคว้า 3 แชมป์และยังหาตัวแทนไม่ได้, ตำแหน่งกองหลังก็มีแค่ ริโอ เฟอร์ดินานด์ คนเดียวที่พอฝากผีฝากไข้ ในแดนกลาง รอย คีน จากไปพร้อมกับช่องโหว่ ตำแหน่งริมเส้น เดวิด เบ็คแฮม ย้ายไป เรอัล มาดริด และตำแหน่งกองหน้า รุด ฟาน นิสเตลรอย ก็คนเดียวโด่เด่ ... ซึ่งตำแหน่งหลัก ๆ เหล่านี้นี่เอง ที่ส่งผลให้ได้ผลการแข่งขันซึ่งไม่ตรงตามความต้องการของแฟนบอล และทำให้พวก 5 จตุเทพเป็นเป้าใหญ่ไปโดยปริยาย 

อย่างไรก็ตาม เฟอร์กี้ มองคนละแบบ เขามองว่านักเตะเหล่านี้เป็น "บิ๊กเกม เพลเยอร์" กล่าวคือชอบที่จะเล่นเกมใหญ่ ๆ เพราะมีอารมณ์ร่วมกับทีมสูงมาก และที่สำคัญนักเตะเหล่านี้พร้อมสู้เพื่อทีมแบบไม่กลัวใคร

"ผมรัก ดาร์เรน เฟล็ทเชอร์ มาก นักเตะคนนี้เป็นสุดยอดมืออาชีพเลย ผมชอบให้เขาลงเล่นในเกมใหญ่ เขาเป็นพวกเกมยิ่งใหญ่ยิ่งเล่นดีเพราะเขาไม่เคยกลัว เขาเป็นแม่ทัพในศึกสำคัญของผมเสมอ ในเกมกับ บาร์เซโลน่า ที่โรม (นัดชิงชนะเลิศฟุตบอล ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก ปี 2009) ผมคิดถึงเขามากที่สุด ถ้าเขาอยู่ เขาจะช่วยเราได้" เฟอร์กูสัน พูดถึง เฟล็ทเชอร์ ที่หลายคนมองว่าเป็นลูกรักของเขาในฐานะคนสกอตแลนด์เหมือนกัน

ขณะที่ในส่วนของ เวส บราวน์ นั้นก็เป็นอีกคนที่เฟอร์กี้ชอบมาก เพราะเวลาสั่งแผน สั่งวิธีการเล่นให้กับ บราวน์ แล้ว ตัวนักเตะจะรับผิดชอบคำสั่งของเขาเป็นอย่างดี แม้ไม่วูบวาบหวือหวา แต่ เฟอร์กี้ มักจะชอบนักเตะแบบนี้ นักเตะที่สั่งอย่างไรก็ได้อย่างนั้น

"ถ้าวันไหน เวส บราวน์ พีก ๆ ผมกล้าพูดเลยว่านี่คือกองหลังอังกฤษที่ดีที่สุดคนหนึ่ง ตอนผมเช็กตารางสัญญานักเตะแต่ละคน ผมตกใจมากเลยเพราะเขาอายุ 30 ปีแล้ว ซึ่งในความคิดของผม ผมมักจะคิดว่าเขาอายุ 22 หรือ 23 เป็นเด็กดีของผมเสมอ" เฟอร์กี้ กล่าวถึง บราวน์ อย่างชอบใจ และบราวน์ก็ยอมรับข้อนั้นด้วยตนเอง

"ทุ่มเทให้มากเข้าไว้ ผมรักการเล่นเกมรับ ผมไม่สนใจที่จะขึ้นไปข้างหน้าและยิงประตู ผมตั้งเป้าหมายก่อนลงสนามทุกนัดว่า วันนี้ต้องคลีนชีท ผมฝึกหนักทั้งการโหม่ง, การเข้าปะทะ, การเอาชนะลูกกลางอากาศ หรืออะไรก็ตามที่จำเป็นสำหรับนักเตะในตำแหน่งอย่างผม" บราวน์ ว่าไว้ 

ขณะที่คนอื่น ๆ ก็ไม่ต่างกัน นักเตะพวกนี้มีคุณสมบัติที่แฟนบอลไม่เห็นแต่คนใกล้ตัวเห็น นั่นคือเหตุผลที่ว่าทำไมพวกเขาจึงอยู่กับทีมมาได้ยาวนาน และคว้าแชมป์กับทีมมากมาย 

 

ปลายทางดั่งฮีโร่ 

เราไม่ควรจะตัดสินใครหากยังไม่รู้จักเขาดีพอ คำนี้จริงเสียยิ่งกว่าจริงสำหรับกรณีของเหล่า 5 จตุรเทพ ... พวกเขาเหล่านี้เริ่มต้นจากเสียงยี้ของแฟนบอล แต่พวกเขาเปลี่ยนมันได้ในวันที่พวกเขาต้องโบกมือลาสโมสร  

ต้องบอกว่าหลังจากเข้าสู่ปี 2006 เป็นต้นมา ยูไนเต็ด เริ่มสร้างทีมเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้นเรื่อย ๆ การมาของ เอ็ดวิน ฟาน เดอร์ ซาร์ ทำให้ปัญหาผู้รักษาประตูหมดไป, เฟอร์ดินานด์ ได้คู่หูเป็น เนมานย่า วิดิช, ในตำแหน่งริมเส้น ได้ คริสเตียโน่ โรนัลโด้ ที่พัฒนาจากปีกจอมสับสู่ร่างเทพ ขณะที่แนวรุกมี เวย์น รูนี่ย์ เป็นตัวนำ นั่นคือยุคสมัยที่ ยูไนเต็ด เริ่มเอาคืนจาก 3 ปีที่ว่างเปล่า

ช่วงเวลานี้เองที่ทำให้ภาพลักษณ์ของ 5 จตุรเทพเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง พวกเขาได้ลงสนามเป็นตัวจริงน้อยลงในรายของ ซิลแวสตร์ หรือ โอเช เพราะมีนักเตะที่ดีกว่า แต่นักเตะอย่าง เวส บราวน์ และ เฟล็ทเชอร์ นั้นคงสถานะตัวหลักบ่อยกว่า 2 คนที่กล่าวไป แม้จะสำรองบ้างในบางเกม แต่นักเตะเหล่านี้ไม่เคยปริปากบ่นเรื่องสถานะของตัวเอง พวกเขาเต็มใจอยู่กับทีมตราบใดที่ยังตนเองยังมีประโยชน์กับสโมสร 

การลดบทบาทลงอาจจะดูแย่ แต่กลับกลายเป็นการ "เจอสิ่งที่ใช่" สำหรับพวกเขามากกว่า กลุ่ม 5 จตุรเทพ ทำหน้าที่อะไหล่ได้ยอดเยี่ยม ทั้งหมดเริ่มเป็นเหมือนชิ้นส่วนเล็ก ๆ ที่ทำงานอย่างแข็งขันจนกลายเป็นทางเลือกทดแทน ในเวลาที่เครื่องจักรชิ้นสำคัญทำงานหนักเกินไปจนต้องถอดออกมาพัก กลุ่ม 5 จตุรเทพ ทำในสิ่งที่พวกเขาทำมาโดยตลอด นั่นคือช่วยทีมได้มากในแง่ของการรักษาความสดของเหล่าตัวหลัก และในเกมที่ไม่ได้เจอกับทีมแข็งมาก ๆ พวกเขาก็มักจะเอาอยู่ และมีส่วนสำคัญในการคว้าแชมป์ลีก 3 สมัยติดต่อกันในฤดูกาล 2006-07, 2007-08 และ 2008-09 ในแบบที่ไม่เคยมีทีมไหนในอังกฤษทำได้หลังเปลี่ยนมาเป็นฟุตบอลพรีเมียร์ลีก ที่สำคัญ ปีศาจแดงทำได้ถึง 2 ครั้ง ก่อนที่ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ยุค เป๊ป กวาร์ดิโอล่า จะคว้าแชมป์ลีก 4 ปีติดเป็นทีมแรก

เมื่อความสำเร็จเริ่มกลับมา ภาพลักษณ์ตัวตลกโปกฮาที่มักจะทำพลาดก็หายไป และทำให้หลายคนมองกลุ่มนักเตะจตุรเทพโดยเฉพาะในรายของ บราวน์, โอเช และ เฟล็ทเชอร์ ใหม่ และพบว่านักเตะกลุ่มนี้คือตัวสำคัญไม่แพ้คนอื่น ๆ 

นอกจากในแง่ของความรู้สึกแล้ว ก็ยังมีผลงานที่จับต้องได้ อาทิ เวส บราวน์ คือแบ็กขวาตัวจริงที่ได้ลงสนามมากที่สุดในฤดูกาล 2007-08 ที่ ยูไนเต็ด ได้แชมป์ลีกและแชมป์ยุโรปพร้อม ๆ กัน ขณะที่ เฟล็ทเชอร์ ก็เป็นอย่างที่เฟอร์กี้บอก นักเตะกองกลางที่ทีมขาดไม่ได้ เขาทำงานหนักในสนามเพื่อช่วยส่งให้นักเตะคนอื่น ๆ ฉายแสง ในช่วงที่ ยูไนเต็ด อยู่ในช่วงยุคทองและช่วยให้ทีมประสบความสำเร็จมากมาย 

สุดท้ายความยิ่งใหญ่ที่ ยูไนเต็ด ทวงกลับมาได้ ก็ลบล้างภาพความเฟอะฟะของเหล่าจตุรเทพได้อย่างหมดจด จากนักเตะที่แฟนบอลไม่ชอบและไม่ต้องการให้ลงสนาม กลับกลายเป็นกลุ่มนักเตะที่แฟน ๆ รู้สึกผูกพันเพราะอยู่กับทีมมานาน และสู้กับช่วงเวลาที่ยากลำบากจนถึงช่วงการกอบโกยความสำเร็จพร้อมกับสโมสร ...

ว่ากันว่าการยัดเยียดและตัดสินใครเพียงแต่เปลือกนอก โดยไม่ได้ให้เวลาศึกษากับตัวเขามากพอ สิ่งที่เราได้นั่นคือการมองคน ๆ นั้นผิดไป และเกิดรู้สึกอยากจะขอโทษพวกเขาในภายหลัง 5 จตุรเทพเองก็เป็นเช่นนั้น ความพยายามของพวกเขาเอาชนะใจแฟนบอลจนได้ในท้ายที่สุด และเปลี่ยนตอนจบให้เรื่องนี้เป็นฉากแฮปปี้เอนดิ้งในวันที่พวกเขาโบกมือลาจากทีมไป 

จากจุดเริ่มต้นที่ต่างคนต่างก็มีเครื่องหมายคำถาม จากฝีเท้าที่ใครมองก็คิดว่าห่างชั้น กลับนำมาสู่การผสมผสานที่ลงตัวของทีมที่แม้จะมีสตาร์เด่นมากมาย แต่สุดท้ายพวกเขาก็ต้องการมดงานที่พร้อมทุ่มเทจนนำมาซึ่งความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด 

 

แหล่งอ้างอิง : 

https://www.independent.ie/sport/soccer/premier-league/comment-leader-john-oshea-has-all-the-attributes-to-become-a-premier-league-manager-36963956.html
https://www.dailypost.co.uk/sport/football/football-news/man-utds-wes-brown-best-2774633
https://www.manutd.com/en/news/detail/opinion-how-scott-mctominay-is-emulating-darren-fletcher
https://www.buzz.ie/football/alex-ferguson-first-call-john-oshea-retirement-news-325503
https://www.express.co.uk/sport/football/1269848/Manchester-United-news-Darren-Fletcher-new-role-Old-Trafford-Premier-League
https://sempreinter.com/2019/05/01/silvestre-i-didnt-think-i-would-leave-inter/
https://strettynews.com/2012/06/26/interview-with-mikael-silvestre-successful-period-at-united-life-in-manchester/
https://www.redcafe.net/threads/kieran-richardson-interview-in-the-sundaytimes.75467/

Author

ชยันธร ใจมูล

นักเขียนลูกสอง จองเรื่องฟุตบอลและมวยโลก รู้จริงบ้าง ไม่จริงบ้าง แต่เขียนแล้วอินทุกเรื่อง

Graphic

อรรนพ สะตะ

graphic design ผู้ชื่นชอบกีฬาฮอกกี้, เกมส์, เดินเขา เป็นชีวิตจิตใจ