Feature

เคาน์เตอร์ เพรสซิ่ง : ไม้เด็ดทีมเล็กพิฆาตทีมใหญ่ในทุก ๆ สัปดาห์ | Main Stand

เขาบอกว่าความสนุกของพรีเมียร์ลีก คือผลการแข่งขันที่คาดเดาไม่เคยได้ ... ทีมเล็ก ๆ ระดับท้ายตารางสามารถบุกมาพลิกเอาชนะทีมใหญ่ ๆ คาบ้านได้เสมอ และเราจะได้เห็นสิ่งนี้ในแทบทุกสัปดาห์ 

 

ต้องขอบคุณหนึ่งแผนเปลี่ยนโลก ที่ทำให้ศาสตร์ของการเอาชนะทีมใหญ่เป็นไปได้มากขึ้น นั่นคือสิ่งที่เรียกว่า "เคาน์เตอร์ เพรสซิ่ง" ซึ่งกุนซือผู้ที่เพิ่งพา น็อตติ้งแฮม ฟอเรสต์ บุกชนะ ลิเวอร์พูล ได้ซูฮกวิธีการเล่นนี้

และที่สำคัญ เขารวมถึงกุนซือระดับพรีเมียร์ลีกอีกหลาย ๆ คน นำวิธีนี้ไปปรับใช้จนทำให้หลายทีมเป็นที่ตึงมือของเหล่ายักษ์ใหญ่ทุกครั้งที่ดวลด้วย 

ทำความรู้จักกับ เคาน์เตอร์ เพรสซิ่ง ไปพร้อมกันได้ที่นี่กับ Main Stand

 

ทำไมเมื่อก่อนเล่นไม่ได้แบบนี้ ?

ฟุตบอลอังกฤษมาถึงจุดที่เป็นลีกยอดนิยมได้ ไม่มีเหตุผลใดสำคัญไปกว่าวิสัยทัศน์ของเหล่าผู้บริหาร ที่เปลี่ยนภาพลักษณ์ของฟุตบอลลีกอังกฤษไป จากลีกบอลโบราณ สนามเก่า พื้นหญ้าเป็นหลุมเป็นโคลน แถมยังมีปัญหาเรื่องฮูลิแกน ให้กลายเป็นลีกฟุตบอลที่เน้นการตลาดมากที่สุด ยอมลดความเป็นอนุรักษ์นิยมแบบชาวอังกฤษ เปิดกว้างขึ้นเพื่อนำทุนนิยมเข้ามาขับเคลื่อนให้ลีกฟุตบอลนี้โดนใจคนดูฟุตบอลมากที่สุด

ฟุตบอลอังกฤษพยายามจะรีแบรนด์ตัวเอง จากเดิมที่เคยมองว่าเป็นลีกรวมตัวของพวกขี้เมาและแฟนบอลอันธพาลกลายเป็นลีกที่มีคุณภาพทั้งในแง่การเล่นและการตลาด 

เรื่องนี้ต้องขอบคุณการรีแบรนด์ฟุบบอลลีกอังกฤษ จากดิวิชั่น 1 เป็นพรีเมียร์ลีกในปี 1992 ณ วันนั้นฟุตบอลอังกฤษต้องการทำตลาดเพิ่มช่องทางการถ่ายทอดสด และพยายามหารายได้เข้ามาเป็นเงินหมุนเวียนในอุตสาหกรรมฟุตบอลให้มากขึ้น เพื่อสร้างความเจริญที่ยั่งยืน ซึ่งมันก็เป็นช่วงเวลาที่ประสบความสำเร็จอย่างยอดเยี่ยมหลังจากนั้น 

เศรษฐกิจดี คุณภาพความเป็นอยู่ของประชากรทั้งประเทศก็จะดีตามไปด้วย ... กลับกันถ้าเศรษฐกิจแย่ ปากท้องของประชาชนก็หิวโหยเป็นเงาตามตัว สถานการณ์ที่อธิบายข้างต้นไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศและประชากรเท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมฟุตบอลด้วย

เมื่อลีกมีรายได้สูงขึ้น บวกกับการกำหนดส่วนแบ่งที่เป็นธรรม เงินก็มาถึงสโมสรมากขึ้น และเมื่อสโมสรรวยขึ้น พวกเขาก็มีเงินไปซื้อนักเตะเก่ง ๆ เข้ามาได้มากขึ้น หรือแม้กระทั่งจ้างทีมโค้ชเก่ง ๆ ด้วย

สิ่งสำคัญจุดนี้ ทำให้ทีมเล็ก ๆ ไม่โดนถีบหนีห่างเรื่องคุณภาพนักเตะมากจนเกินไป ช่องว่างระหว่างทีมใหญ่และทีมเล็ก อาจจะยังมีอยู่ แต่ไม่ใช่ห่างกันเหมือนฟ้ากับเหวจนทีมเล็ก ๆ ไม่ได้ลืมตาอ้าปาก ... เพียงแต่ว่าการลืมตาอ้าปากก็ต้องใช้กึ๋นกันหน่อย 

คุณมีเงินให้ใช้แล้ว คุณต้องลงทุนอย่างคุ้มค่า นั่นคือหลักการที่พูดง่ายแต่ทำยาก สิ่งหนึ่งที่ทุก ๆ ทีมต้องทำคือการกำหนดทิศทางของสโมสร วางเป้าหมายระยะสั้น - ระยะยาว และเลือกโค้ชที่เหมาะสมที่สุดที่สุดกับตำแหน่งที่สโมสรยืนอยู่ โค้ชที่มีปรัชญาการทำทีมตรงกับเป้าหมายทีมสโมสรวางไว้ พวกเขาจะทำให้ทุกอย่างไปข้างหน้าได้เร็วขึ้น โดยเฉพาะฟุตบอลของทีมเล็กในปัจจุบัน ที่เปลี่นทรงไปแล้วอย่างสิ้นเชิงจากที่เคยเป็นมาในอดีต 

ในช่วงยุค 1990s จนถึง 2000s โชเซ่ มูรินโญ่ คือการสร้างมาตรฐานเกมรับที่แน่นเหนียว การยืนโซนที่แข็งแกร่ง และการปรับแก้กลยุทธ์แบบนัดต่อนัดตามคู่แข่งที่เจอ เพื่อเล่นเกมสวนกลับที่แม่นยำ 

แต่ในยุคปัจจุบัน การยืนคุมพื้นที่เกมรับ 2 ชั้น หรือที่เรียกกันว่าการ "จอดรถบัส" แทบไม่มีทีมไหนใช้แล้ว แม้คุณจะเป็นทีมเล็ก ๆ คุณก็หนีเทรนด์ของโลกฟุตบอลยุคใหม่ไม่ได้ คุณต้องวิ่งมากขึ้นทั้งตอนที่มีบอลและไม่มีบอลอยู่กับตัว คุณต้องพยายามแย่งบอลให้ได้ในพื้นที่ที่คุณวางแผนมาจัดการคู่แข่ง และจากนั้นคือการเปลี่ยนจากรับเป็นรุกให้เร็วที่สุด ใช้จังหวะให้น้อยที่สุด เพื่อไปยังจังหวะโป้งปิดบัญชี ... สิ่งเหล่านี้เรียกว่า "การจัดการในสนามที่ดี" ซึ่งมันหลุดออกมาจาก อาร์เน่อ สล็อต เอง ในเกมที่เขาคุมทีม ลิเวอร์พูล แพ้เกมแรกนับตั้งแต่เขาเข้ามารับตำแหน่ง

"ฟอเรสต์ เล่นดีเหมือนกับทีมที่จะชิงตั๋วไปแชมเปี้ยนส์ลีก ทั้ง ๆ ที่ปกติแล้วทีม ๆ นี้แทบไม่เคยจบในอันดับท็อป 10 เลยด้วยซ้ำ การแพ้พวกเขาถือเป็นผลการแข่งขันที่น่าผิดหวัง แม้ว่าที่สุดแล้วพวกเขาจะมีการจัดการในสนามและโครงสร้างฟุตบอลที่ดีมาก ๆ ในเกมนี้ก็ตาม" สล็อต ว่า 

ลิเวอร์พูล ในยุคสล็อต ไม่เคยมีค่า xG น้อยขนาดนี้มาก่อน เกมกับ อิปสวิช พวกเขาทำได้ 2.65 เท่ากับเกมที่ 2 กับ เบรท์ฟอร์ด ส่วนเกมที่ 3 กับ แมนฯ ยูไนเต็ด พวกเขาทำได้ 1.79 แต่กับ ฟอเรสต์ ที่มีการจัดการในสนามที่ดีมาก ลิเวอร์พูล มีค่า xG แค่ 0.87 ... น้อยกว่านัดเจอ ยูไนเต็ด เกือบ 2 เท่า และน้อยกว่า 2 เกมแรกเกือบ 3 เท่า นี่คือพลังของการ "เคาน์เตอร์ เพรสซิ่ง" อันเป็นอาวุธเด็ดของโค้ชยุคใหม่หลาย ๆ คนที่นำมาติดตั้งให้กับทีมในระดับท็อป 10 ลงไปของพรีเมียร์ลีก

 

เคาน์เตอร์ เพรสซิ่ง คืออะไร ? 

เคาน์เตอร์ เพรสซิ่ง หรือ เกเก้น เพรสซิ่ง (Gegenpressing) ในภาษาเยอรมัน คือแนวทางการแย่งชิงฟุตบอลกลับมาเล่นให้เร็วที่สุด เมื่อผู้เล่นเกมรุกเสียบอล ซึ่งจริง ๆ แล้วมันมาจากรากฐานของการเล่นเกมรับและใช้โอกาสสวนกลับ 

หลายคนอาจได้ยินว่าสไตล์การเล่นแบบนี้ดังมาจาก ราล์ฟ รังนิก หรือ เยอร์เก้น คล็อปป์ ที่ใช้มันจนมีชื่อเสียง แต่ประวัติศาสตร์ของฟุตบอลบอกว่า เคาน์เตอร์ เพรสซิ่ง นั้นมาตั้งแต่ยุค 1960 แล้ว โดยกุนซือชื่อดังในยุคโน้นอย่าง วิคเตอร์ มาสลอฟ, แอร์นส์ แฮพเพิล, ไรนุส มิเชลส์, วาเลรี่ โลบานอฟสกี้  ลากยาวมาจนถึงยุคของ อาร์ริโก้ ซาคคี่ ตำนานกุนซือชาวอิตาเลียน ... จากนั้นจึงเริ่มมาใช้กันในเยอรมันและเป็นที่นิยมในชื่อ เกเก้น เพรสซิ่ง ดังที่กล่าวไว้ 

วิธีการหลัก ๆ เอาแบบคนไม่ใช่โค้ชมาอธิบายกันก็คือ เมื่อทีมของคุณเล่นเกมรุกเสียบอล ผู้เล่นจะเข้าไปเพรสซิ่งโดยการใช้นักเตะวิ่งเข้าไปประกบผู้เล่นที่ใกล้ตัวให้เร็วที่สุด เพื่อทำการบีบพื้นที่และลดทางเลือกในการจ่ายบอลของคู่ต่อสู้ และผู้เล่นที่ใกล้ฟุตบอลที่สุดเป็นคนเข้าแย่งบอล 

แน่นอนว่าลึก ๆ แล้วมันมีรายละเอียดอีกมากมาย และเยอะเกินกว่าที่เราจะอธิบายกันด้วยเวลาสั้น ๆ แบบนี้ แต่เอาเป็นว่า การใช้เคาน์เตอร์เพรสซิ่ง ถือเป็นสิ่งที่ทีมระดับกลางไปจนถึงล่างของพรีเมียร์ลีก เลือกใช้ทดแทนการเล่นแบบคุมโซน ยืนเกมรับลึก ๆ ด้วยกำแพง 2 ชั้นหน้ากรอบเขตโทษเหมือนในอดีต เพียงแต่ว่าการเคาน์เตอร์เพรสซิ่งของโค้ชแต่ละคนก็จะมีวิธีแตกต่างกันไป บางคนเริ่มเคาน์เตอร์เพรสซิ่งกันตั้งแต่ปากประตูคู่แข่ง 

โค้ชบางคนก็จะเริ่มให้ใช้วิธีการแย่งบอลกลับตั้งแต่กลางสนาม และมีระยะเวลากำหนดว่าจะไล่บอลกันกี่วินาที ยกตัวอย่างของ ราล์ฟ รังนิก คือถ้ารุมแย่งเกิน 6 วินาทีไม่ได้ นักเตะของเขาจะต้องถอนลงมาเล่นเกมรับแบบคุมพื้นที่ เพื่อไม่ให้คู่แข่งอาศัยช่องที่เปิดระหว่างการเพรสซิ่งเจาะเข้าไปทำประตู 

วิธีการแบบนี้มักจะเป็นทีมใหญ่ ๆ เท่านั้นที่เล่นได้ในตอนแรก ๆ ที่แผนนี้กลับมาเป็นที่นิยม จนกระทั่งมีการปรับให้เหมาะกับทีมเล็กมากขึ้น ขอแค่คุณมีนักเตะที่ฟิต แข็งแรง และเข้าใจแท็คติกมากพอ คุณสามารถใช้วิธีเคาน์เตอร์เพรสซิ่งในแบบของทีมเล็กได้ ซึ่งหลายทีมก็กำลังทำในตอนนี้

 

เคาน์เตอร์ เพรสซิ่ง สำหรับทีมเล็กโดยเฉพาะ 

เคาน์เตอร์เพรสซิ่งของทีมเล็กก็จะแตกต่างไปจากทีมใหญ่ ๆ พอสมควร เพราะทีมใหญ่ หรือทีมที่เหนือกว่าจะรุมแย่งบอลกลับทันทีไม่ว่าจะอยู่ส่วนไหนของสนาม โดยเฉพาะปากประตูหรือกรอบเขตโทษของคู่แข่ง เพราะเป้าหมายคือถ้าพวกเขาใช้เคาน์เตอร์ เพรสซิ่ง แบบเสียตรงไหนแย่งกลับตรงนั้น ยิ่งหน้าปากประตูคู่แข่งยิ่งดี เพราะมันจะสร้างโอกาสการยิงประตูได้ง่ายกว่าเดิม เนื่องจากคู่แข่งไม่ทันจัดเระเบียบเกมรับให้ตรงตามแผนที่วางเอาไว้ได้ 

ขณะที่ทีมเล็ก ๆ เล่นเคาน์เตอร์เพรสซิ่งด้วยวิธีแตกต่างกันออกไป พวกเขามักจะวิ่งไล่แย่งบอลที่เสียไปแค่กลางสนามเท่านั้นเพื่อลดความเสี่ยงในกรณีที่เกิดความผิดพลาด แย่งบอลคืนมาไม่ได้อย่างน้อยพวกเขาก็ยังอยู่กันในแดนของตัวเอง และกลับมาตั้งรับได้ทันท่วงที

นอกจากนี้เคาน์เตอร์ เพรสซิ่งของทีมเล็ก ๆ แสบสันต์ไม่ใช่เล่น เพราะบางครั้งมันไมได้ถูกวางมาเพื่อเล่นสวนกลับเท่านั้น แต่มันถูกวางมาเพื่อฆ่าเวลา และทำให้เกมหยุดอีกด้วย

ยกตัวอย่างเกมระหว่าง ลิเวอร์พูล กับ ฟอเรสต์ ในพรีเมียร์ลีกฤดูกาล 2023-24 ทีมของ นูโน่ เอสปิริโต้ ซานโต้ ใช้การเคาน์เตอร์เพรสซิ่งแค่ครึ่งสนาม เขาเตรียมพร้อมด้วยการวางมิดฟิลด์มาถึง 5 คน แม้แต่ปีกอย่าง คัลลัม ฮัดสัน โอดอย หรือ แอนโธนี่ อีลังก้า ก็ยังต้องหุบหรือถอยเข้ามาช่วยไล่บอลและเล่นเกมรับตลอดเวลา 

การมีนักเตะในแดนกลางเยอะทำให้พวกเขาสามารถชิงบอลกลับมาได้บ่อยครั้ง ... และหลายครั้งเมื่อพวกเขามองว่าบอลที่ตัดได้จะไปต่อไม่ได้ พวกเขาจะเล่นเพื่อเอาฟาวล์ให้เกมหยุดทันที  นั่นคือสิ่งที่พวกเขาตั้งใจมาตั้งแต่ต้น ทำให้นักเตะคู่แข่งหงุดหงิด และขาดความต่อเนื่องและความเข้มข้นลงจากที่เคยเป็น

"เป็นเกมที่เล่นแบบเดี๋ยวก็หยุด เดี๋ยวก็เบรกตลอดทั้งเกม คุณไม่สามารถสร้างจังหวะได้ดี และด้วยเหตุนี้ เราจึงแทบไม่มีโอกาสทำประตูเลย เราต้องเล่นบอลให้ดีกว่านี้" สล็อตกล่าวด้วยความยอมรับ

ขณะที่ พอล เมอร์สัน ที่เป็นนักวิจารณ์ของ สกาย สปอร์ตส์ ก็บอกว่า ลิเวอร์พูล เจอเกมที่ดุเดือดจากการที่ นูโน่ ส่งนักเตะกองกลางลงถึง 5 คนลงไปบู๊ที่กลางสนามและพยายามขัดขวางการเล่นเร็วของ ลิเวอร์พูล ให้ช้าที่สุด ซึ่งมันได้ผล 

แม้แต่ เฟอร์กิล ฟาน ไดค์ ยังสัมภาษณ์หลังเกมว่า "เราเสียบอลจังหวะที่ 2 บ่อยมาก" ซึ่งเมื่อไปส่องสถิติหลังเกม คุณจะพบว่าแดนกลางของ ลิเวอร์พูล ตั้งเกมไม่ได้เพราะเจอทั้ง เพรสซิ่ง และ เคาน์เตอร์ เพรสซิ่ง หลังพ้นกลางสนามไปอย่างเต็มรูปแบบ  โดมินิก โซโบสซ์ไล เสียบอลรวม 18 ครั้ง ขณะที่คนที่เล่นได้ดีและได้คำชมหนัก ๆ จากเกมแดงเดือนอย่าง ไรอัน กราเฟนแบร์ก ก็เสียบอลไปถึง 12 ครั้ง ... และการเสียบอลของพวกเขาเหล่านี้ก็นำไปสู่การสวนกลับที่ทำให้ ฟอเรสต์ ได้ประตูชัยจาก คัลลัม ฮัดสัน โอดอย ที่ต้องบอกว่ามีทั้งเรื่องของแท็คติกโค้ชและฝีมือของนักเตะผสมกันจนเกิดประตูสุดสวยนี้ 

ไม่ใช่แค่ นูโน่ และ ฟอเรสต์ เท่านั้นที่กำลังใช้วิธีนี้ในการเจอกับทีมที่ใหญ่กว่าและขโมยแต้มสำคัญ ๆ มาได้ โค้ชหลาย ๆ คนก็ใช้เคาน์เตอร์ เพรสซิ่งในแบบของตัวเองให้เหมาะสมกับคุณภาพทีม และคู่แข่งที่ต้องเจอ เพื่อทำลายเกมของคู่แข่งให้ได้มากที่สุด 

มาร์โก ซิลวา กุนซือชาวโปรตุกีสของ ฟูแล่ม เองก็ใช้แท็คติกนี้อยู่บ่อย ๆ ฤดูกาล 2023-24 พวกเขาขโมยแต้มได้จาก แมนฯ ยูไนเต็ด, ลิเวอร์พูล และ อาร์เซน่อล เช่นเดียวกันกับอีกคนที่ใช้วิธีนี้จนได้ดิบได้ดีกลายเป็นทีมกลางค่อนบนเต็มตัวไปแล้วอย่าง อูไน เอเมรี่ ที่ทำ แอสตัน วิลล่า ไปยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก และยังเป็นของแสลงของทีมใหญ่ ๆ ในทุกครั้งที่เจอกันด้วย 

แน่นอนว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของโชค หรือดวงแน่ ๆ พวกเขาเอาสิ่งที่เหล่าทีมใหญ่เคยใช้เล่นงานตัวเองมาปรับใช้ จนเจอวิธีย้อนเกล็ดที่แสบสันต์ที่สุดจนได้ ... ที่สุดแล้วต่อให้พวกเขาจะเล่นเกมรับมากแค่ไหน แต่พวกเขาก็ยังมีพื้นที่ยุทธศาสตร์สำหรับการแย่งบอล และเปลี่ยนจากรับเป็นรุก 

และเมื่อผสมเข้าไปกับแท็คติกของเขาถ่วงเวลา ทำให้เกมหยุด รวมถึงการเล่นเพื่อเอาลูกเซ็ตพีซ ก็ยังสามารถต่อยอดไปเป็นอีกวิธีในการทำประตูของพวกเขาได้อีกด้วย 

โลกฟุตบอลเดินหน้าไปทุกวัน ไม่มีทีมเล็กทีมไหนอุดในแดนตัวเองแบบเชื้อเชิญให้เหล่าพี่บิ๊กเดินหน้าอัดอีกแล้ว ... ความอดทน บวกกับความหลักแหลม และการใช้จุดแข็งของนักเตะที่ตัวเองมี คือหนึ่งวิธีเอาตัวรอด ที่ทำให้ฟุตบอลพรีเมียร์ลีกเกิดผลการแข่งขันที่คาดเดายากในทุก ๆ สัปดาห์ และกลายเป็นเสน่ห์ของมันไปแล้วในตอนนี้ 

 

แหล่งอ้างอิง

https://www.skysports.com/football/news/12028/13214974/liverpool-beaten-by-nottingham-forest-how-arne-slots-perfect-start-came-to-an-end-at-anfield
https://www.linkedin.com/pulse/gap-between-big-small-football-clubs-olivier-wicki
https://www.premierleague.com/news/4118396
https://www.footballcoin.io/blog/nuno-espirito-santo-tactics-nottingham-forest-2024/
https://www.fifatrainingcentre.com/en/practice/elite-sessions/transition-to-defending/counter-pressing.php

Author

ชยันธร ใจมูล

นักเขียนลูกสอง จองเรื่องฟุตบอลและมวยโลก รู้จริงบ้าง ไม่จริงบ้าง แต่เขียนแล้วอินทุกเรื่อง

Photo

วัชพงษ์ ดวงแปง

Main Stand's Backroom staff

Graphic

ปริญญา คงปันนา

กราฟฟิคหน้าโหด ทำงานด้วย Passion ว่างๆ ชอบไปคาเฟ่ หลงไหลในศิลปะ, การเดินทางและกีฬา