ไม่มีอีกแล้ว 48 ชั่วโมงในตำนาน ไม่มีอีกแล้ว คุยตั้งนานแต่ทีมอื่นคาบไปรับประทาน … แมนฯ ยูไนเต็ด ยุคใหม่ ดีลไม่นาน พักเดียวชูเสื้อ นี่คือสิ่งที่แฟนปีศาจแดงงงเป็นไก่ตาแตก
ภายใต้การบริหารของ เซอร์ จิม แรตคลิฟฟ์ และกลุ่ม INEOS … หลังบ้าน ยูไนเต็ด มีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง จนเริ่มเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์เช่นนี้
ติดตามเบื้องหลังและเรื่องราวจาก Main Stand
เพิ่มผู้เชี่ยวชาญ ตัดหน่วยงานปรสิต
เราแทบไม่ต้องสาธยายความล้มเหลวของ แมนฯ ยูไนเต็ด ในยุคของการบริหารของตระกูลเกลเซอร์ว่าล้มเหลวขนาดไหน เพราะคุณสามารถรับรู้ได้จากปฏิกิริยาของแฟนบอลปีศาจแดง หลังทราบข่าวว่า เซอร์ จิม แรดคลิฟฟ์ ผู้นำกลุ่ม INEOS บริษัทเคมีภัณฑ์ระดับโลกของอังกฤษ เข้ามาแบ่งหุ้นจากตระกูลเกลเซอร์ และดูแลการบริหารด้านฟุตบอล ณ ตอนนั้น คอมเมนต์เป็นเอกฉันท์ประมาณว่า "หอมกลิ่นความเจริญ" ชัดเจน ไม่ต้องฟื้นฝอยเรื่องเก่า ๆ อีก
ประการแรกคือ INEOS หรือ INEOS Group Limited เป็นองค์กรที่ประสบความสำเร็จมาก กิจการด้านเคมีภัณฑ์ของพวกเขาเติบโตอย่างรวดเร็วจนกระทั่งในปี 2021 กลายเป็นบริษัทด้านเคมีที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 4 ของโลก มียอดขาย 5 หมื่นล้านปอนด์ต่อปี (2.5 ล้านล้านบาท) และมีพนักงานในองค์กรกว่า 26,000 คน
ความเชี่ยวชาญในการบริหารของ เซอร์ จิม และบุคลากรชั้นผู้บริหารยืนยันด้วยตัวเลขดังกล่าว และเหนือกว่าการบริหารองค์กรเป็นแล้ว INEOS ยังมีแพชชั่นด้านกีฬาอย่างเต็มเปี่ยม ผ่านประสบการณ์มามากมาย ทั้งในวงการฟุตบอล, รถแข่ง F1, จักรยาน, เรือ หรือแม้แต่วิ่งมาราธอน โดยเฉพาะ เซอร์ จิม ที่ถือว่าเป็นแฟนบอลเดนตาย และ "โลคอล แฟน" ของ แมนฯ ยูไนเต็ด ซึ่งนั่นทำให้แฟนบอลปีศาจแดงรู้สึกมั่นใจว่า การเริ่มต้นครั้งนี้จะเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ หลังต้องอยู่ภายใต้เงาดำของความล้มเหลวมากว่า 10 ปี
แม้แรกเริ่มจะยังไม่มีเรื่องการซื้อตัวใด ๆ มาเกี่ยวข้อง แต่ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในมากมาย อย่างแรกเลยคือการปรับผังองค์กรใหม่ ด้วยการลดพนักงานในองค์กรที่ไม่ได้สร้างประโยชน์ และมองว่าเสียเงินเปล่าออกจากตำแหน่งมากถึง 25% จากพนักงานทั้งหมดที่มีอยู่ 1,112 คน มากที่สุดในบรรดาทุกทีมของพรีเมียร์ลีก
หลัก ๆ แล้วเน้นไปที่ พนักงานเจ้าหน้าที่ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับสโมสร ย้ายไปทำงานที่สำนักงานใหญ่ในกรุงลอนดอนและสำนักงานหลักในเมืองแมนเชสเตอร์ พร้อมสั่งยกเลิกการทำงานแบบ Work From Home (ทำงานจากที่บ้าน) โดยให้กลับมาทำงานที่สำนักงานแบบเต็มเวลาทั้งหมด
ขณะเดียวกัน ยังได้สั่งให้มีการสำรวจตรวจตำแหน่งงานที่ไม่จำเป็นและปรับลดอัตราตำแหน่งที่ทำงานซ้ำซ้อนกัน เพื่อให้การทํางานรูปแบบภายในสํานักงานนั้นเป็นไปตามระบบระเบียบมากยิ่งขึ้น
ทีนี้มาเรื่องของฟุตบอลล้วน ๆ กันบ้าง โดยเฉพาะเรื่องการซื้อขาย และแนวทางการทำทีม INEOS ได้แต่งตั้ง "ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง" เข้ามารับตำแหน่งใหญ่ ๆ ทั้ง โอมาร์ เบร์ราด้า มานั่งตำแหน่งซีอีโอ, แดน แอชเวิร์ธ มาเป็นผู้อำนวยการกีฬา, เจสัน วิลค็อกซ์ มาเป็นผู้อำนวยการเทคนิค และยังมีทีมงานด้านการซื้อขายกับนักวิเคราะห์อีกมากมาย
การแต่งตั้งเหล่านี้ยังไม่ได้แสดงศักยภาพออกมานักในช่วงฤดูกาลปกติ แต่ทุกอย่างก็ฉายแสงแบบเต็มที่ทันทีที่ฤดูกาล 2023-24 จบลง และตลาดซื้อขายซัมเมอร์เปิดขึ้น ... สิ่งที่แฟน แมนฯ ยูไนเต็ด ไม่เห็นมานานก็ได้เห็น
เรื่องตลาด ไว้ใจพวกเรา
จากเดิมที่การซื้อขายนักเตะในยุคของตระกูลเกลเซอร์ แทบจะไม่ผ่านการคัดกรองอะไรมากนัก คนตัดสินสุดท้ายคือซีอีโออย่าง เอ็ด วู้ดเวิร์ด หรือก่อนหน้านี้ไม่กี่ปีคือ ริชาร์ด อาร์โนลด์ และ จอห์น เมอร์เท่อห์ ในตำแหน่ง ผอ.กีฬา
เราไม่ต้องพูดกันว่าพวกเขาล้มเหลวอะไรบ้าง เพราะทันที่ที่กลุ่ม INEOS เข้ามาดูแลเรื่องฟุตบอลชุดใหม่เข้ามาดังรายชื่อที่กล่าวไว้ พวกเขาไล่เรียงเป็นฉาก ๆ ว่าทีมจะเปลี่ยนแนวทางการซื้อขายนักเตะใหม่ เพื่ออนาคตที่ยั่งยืนขององค์กร พร้อมกับตั้งคำถามถึงความผิดพลาดในอดีต เพื่อยกเป็นเคสตัวอย่างว่าสิ่งเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นอีก
สื่อดังอย่าง The Athletic ได้พูดคุยกับแหล่งข่าวที่มีความชำนาญเกี่ยวกับขั้นตอนการซื้อขายของสโมสร แมนฯ ยูไนเต็ด และเปิดเผยถึงข้อสงสัยถึงความผิดพลาดในอดีตเช่น
- การเสริมทัพที่ไม่ได้ทำให้ Squad Depth หรือขุมกำลังเชิงลึกมีคุณภาพเลย
- การทำงานที่มีมากมายหลายขั้นตอน แต่กลับไม่ได้คุณภาพที่เหมาะสม
- การปล่อยนักเตะดาวรุ่งฝีเท้าดีหลายคนให้หลุดมือตอนที่ยังไม่เทิร์นโปร อาทิ เปโดร เนโต้, สเตฟาน ไบจ์เซติช, มอยเซส ไคเซโด้ และ จามาล มูเซียล่า
- การต่อรองราคา การเจรจากับนักเตะและเอเย่นต์ที่ล้มเหลว จนทำให้พลาดนักเตะดี ๆ ไปอาทิ เบนจามิน เซสโก้
- การถูกทีมอื่น ๆ ครองความเป็นต่อในการซื้อขาย จนมีการเรียกว่า "ยูไนเต็ด แท็กซ์" หรือจะซื้อใครสักคน ต้องจ่ายมากเป็นพิเศษเหมือนกับเสียภาษีเพิ่ม
ว่ากันว่า เซอร์ เดฟ เบรลฟอร์ด ผู้อำนวยการกีฬาของ INEOS ที่โด่งดังจากวงการจักรยาน เป็นคนที่มีอิทธิพลมากในเรื่องการจัดการทีม และการเสริมสร้างทีมในเชิงกลยุทธ์ อย่างไรก็ตาม เขาก็ไม่ได้ลงมือตัดสินใจทำเองทั้งหมด เพราะมีการแต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านในแต่ละด้านเข้ามารับผิดชอบ โดยมี เอริค เทน ฮาก กุนซือของทีม และ เจสัน วิลค็อกซ์ เป็นหนึ่งในคนที่ระบุสเปกของนักฟุตบอลที่เขาอยากจะได้ด้วย
ซึ่งเมื่อมีการระบุถึงแนวทางของนักเตะที่ต้องการแล้ว จากนี้จะเป็นหน้าที่ของ แดน แอชเวิร์ธ ที่เป็นหัวเรือใหญ่ภายใต้ทีมสรรหาบุคลากร ที่ล่าสุดได้ คริสโตเฟอร์ วีเวลล์ อดีตผู้อำนวยการฝ่ายเทคนิคของ เชลซี เข้ามาช่วยดูแลด้วย (เบื้องต้นเซ็นสัญญาเฉพาะตลาดซัมเมอร์นี้ก่อน)
ซึ่ง วีเวลล์ คือหนึ่งในคนสำคัญของวงการฟุตบอลยุคปัจจุบัน เขาคือหนึ่งในผู้ที่ทำให้อาณาจักร Red Bull มีนักเตะฝีเท้าดีเกิดขึ้นทุก ๆ ปี โดยหน้าที่ของเขาคือการทำทีมวิเคราะห์และคอยเสาะหานักเตะดาวรุ่งพรสวรรค์สูงเข้ามาปั้นและสร้างมูลค่าอย่างที่เราเห็นกัน
เออร์ลิ่ง ฮาลันด์, คาริม อเดเยมี่ หรือ เบนจามิน เซสโก้ ล้วนเป็นนักเตะที่เกิดจากการสรรหาของ วีเวลล์ และทีมงานทั้งหมด ... ดังนั้นนับว่าเป็นการเสริมที่ถูกจุดเป็นอย่างยิ่งหากจะแก้ตั้งแต่เรื่องของโครงสร้าง
เรียกได้ว่าเป็นการรวมตัวกันของยอดฝีมือก็ไม่ผิดนัก พวกเขาทุกคนเริ่มหน้าที่อย่างแข็งขัน ลงมาดูแลส่วนต่าง ๆ เพื่อให้เห็นปัญหาด้วยตัวเอง คุณจะได้เห็นรายชื่อเหล่านี้เดินทางไปกับทีมด้วยในการแข่งขันที่ต่าง ๆ เพื่อที่พวกเขาจะได้วิเคราะห์สิ่งต่าง ๆ ออกมาได้ดีที่สุด ซึ่งถ้าหากเปรียบเทียบกับผู้บริหารเชิงโครงสร้างยุคเก่าที่นาน ๆ มาที มาบ้างไม่มาบ้าง ถือว่าความใส่ใจต่องานที่ทำนั้นแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
ทั้งหมดนี้สร้างทีมซื้อขายที่เชี่ยวชาญจริง ๆ ทั้งการเลือกนักเตะในแบบที่ทีมขาด มีการวางแผนล่วงหน้าแล้วว่าจะซื้อมาใช้ทำอะไร หรือแม้กระทั่งการเจรจาต่อรองในราคาที่เหมาะสม ไม่โดนโขกสับเหมือนในอดีต เราจึงได้เห็นนักเตะดาวรุ่งฝีเท้าดีแบบ โจชัว เซิร์กเซ่ และ เลนี่ โยโร่ เข้ามาในทีม ณ ซัมเมอร์นี้ แถมยังมีการปล่อยนักเตะขาออกได้อย่างรวดเร็ว
เมื่อเก่าไป ก็ทำให้ใหม่มา ... การเดินตลาดนักเตะของปีศาจแดงในซัมเมอร์นี้จึงออกมาคล่องแคล่วว่องไวแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ไม่มีอีกแล้ว 48 ชั่วโมงที่รอคอย ทุกอย่างทุกวางแผนมาอย่างดี เตรียมทางหนีทีไล่มาอย่างพร้อมสรรพ ทั้งหมดคือข้อดีของการเปลี่ยนแปลงเอาผู้ชำนาญมาทำในสิ่งที่สำคัญกับอนาคตของสโมสรเช่นนี้
ยกตัวอย่าง ดีลของ โยโร่
ดีล เลนี่ โยโร่ คือตัวอย่างที่ชัดเจนมากของการทำงานของทีมหลังบ้านชุดนี้ เพราะเนื่องจากเดิมที แทบจะแบเบอร์ว่านักเตะจะกลายเป็นสมบัติในอนาคตของ เรอัล มาดริด ที่ติดตามฟอร์มของ โยโร่ มาตั้งแต่ปี 2023 แล้ว ซึ่งถ้า ยูไนเต็ด ไม่สอดเข้ามา โยโร่ น่าจะย้ายฟรีแบบไม่มีค่าตัวในอนาคต เพราะ ฮอร์เก้ เมนเดส เอเย่นต์ของ โยโร่ ก็ได้เข้าเจรจากับฝั่งชุดขาวจนเกือบแล้วเรื่องแล้ว
ด้าน ลีลล์ ก็พยายามหาทางขายนักเตะในราคาที่สูงราว ๆ 50 ล้านปอนด์ แม้จะมี ลิเวอร์พูล สนใจแต่เห็นราคาแล้วก็ถอยทันที เหลือเพียงแต่ ยูไนเต็ด เท่านั้น ซึ่งทีมสรรหาของ ปีศาจแดง ก็ยืนกรานว่า "ต้องเอา" และพร้อมจะมองข้ามความเสี่ยงเรื่องของราคาค่าตัวที่หลายทีมไม่สู้ เพราะพวกเขาเชื่อว่า โยโร มีพรสวรรค์คุ้มค่ากับราคาที่ ลีลล์ ร้องขอ และจะมีมูลค่าสูงกว่านี้ได้อีกในอนาคต
เมื่อ ยูไนเต็ด ยื่นในราคาที่ ลีลล์ ต้องการแล้ว ก็ต้องมาสู้กันอีกด่าน เมื่อนักเตะใจลอยไปอยู่กับ มาดริด แล้ว และอยากจะอยู่จนครบสัญญาพร้อมย้ายออกไปแบบฟรี ๆ
อย่างไรก็ตาม ยูไนเต็ด ซื้อใจนักเตะด้วยการส่งทีมงานไปเจรจากับ โยโร และให้ข้อเสนอด้วยสัญญาระยะ 5 ปี บวกออปชั่นขยายสัญญาอีก 1 ปี นอกจากนี้เหล่าทีมซื้อขายชุดใหม่ยังเดินทางไปพบและเจรจากับ โยโร ด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น แดน แอชเวิร์ธ หรือ เจสัน วิลค็อกซ์ นอกจากนี้ ริโอ เฟอร์ดินานด์ ตำนานกองหลังของทีม ยังถูกดึงเข้ามาช่วยหว่านล้อมอีกด้วย
เนื้อหาเชิงลึกไม่ได้ระบุว่าพวกเขาเสนออะไรให้บ้าง แต่ที่แน่ ๆ คือการแสดงออกว่า แมนฯ ยูไนเต็ด ต้องการตัวเขาจริง ๆ และภายใต้แนวทางการทำทีมยุคนี้ โยโร จะเป็นนักเตะที่พัฒนาตัวเองได้ และกลายเป็นคนสำคัญของทีม
นอกจากนี้ เชื่อว่า การดูแลสมาชิกของครอบครัว เพื่อช่วยโยโร่ในการปรับตัวเมื่อต้องออกมาค้าแข้งต่างแดน น่าจะมีส่วนในการตัดสินใจด้วย ดังที่ตัวนักเตะได้ให้สัมภาษณ์ในการเปิดตัวว่า "ตั้งแต่การพูดคุยกับสโมสรครั้งแรก พวกเขาพูดคุยชัดเจนถึงแผนที่จะทำให้ผมได้พัฒนาที่นี่ เป็นส่วนหนึ่งของโปรเจกต์ฟุตบอลที่สำคัญ และดูแลใส่ใจผมและครอบครัวเป็นอย่างดี"
แน่นอนว่าการเจรจากับนักฟุตบอล หรือแม้กระทั่งกับสโมสรอื่นเพื่อการซื้อขายนั้น เรื่องเงินเป็นเรื่องใหญ่เสมอ แต่กี่ครั้งแล้ว ยูไนเต็ด พลาดนักเตะดี ๆ ที่มีแววไปในอดีต แม้พวกเขาจะมีเงินมากมายก็ตาม ดังนั้นการซื้อใจนักเตะ และการให้ข้อเสนอที่สมน้ำสมเนื้อสำหรับนักเตะที่ "วิเคราะห์มาแล้วว่าคุ้ม" คือสิ่งที่พวกเขายอมรับได้ แม้จะต้องจ่ายแพงกว่าทีมอื่น ๆ ก็ตาม
เมื่อไม่ได้ถือไพ่เหนือกว่าในเรื่องของความสำเร็จและชื่อเสียงด้านฟุตบอลกับสโมสรอื่น เงินและการจูงใจด้วยวาทะของมืออาชีพก็สามารถเปลี่ยนใจนักเตะได้เช่นกัน
ไม่ใช่แค่ขาเข้าอย่าง โยโร่ เท่านั้น ทีมงานชุดนี้ยังเคลียร์ขาออกที่วุ่นวายได้อย่างรวดเร็วแบบที่ทีมชุดเดิมปล่อยเป็นปัญหามานาน อย่าง ดอนนี่ ฟาน เดอ เบ็ค และ เมสัน กรีนวู้ด ที่สุดท้ายก็ปล่อยออกจากทีม ลดภาระค่าเหนื่อย และได้เงินส่วนหนึ่งเข้ามาในคลัง นี่ยังรวมถึงการตัดสินใจไม่ต่อสัญญานักเตะหลาย ๆ คนที่ค่าเหนื่อยแพง ๆ เพื่อเปิดทางให้นักเตะใหม่เข้ามา เรียกได้ว่าทั้งขาเข้า ขาออก ทีมงานชุดนี้เริ่มงานได้อย่างยอดเยี่ยม
อย่างไรก็ตาม ที่กล่าวมาทั้งหมดไม่ได้อวยว่านี่คึอทีมเจรจาสุดเทพที่วิเศษเหนือทีมอื่น ๆ เพียงแต่มันคือการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงและจุดใหญ่ ๆ ของ แมนฯ ยูไนเต็ด เพราะในขณะที่ทีมอื่นเขาใช้ระบบการซื้อขายและสรรหานักเตะแบบนี้มานาน ยูไนเต็ด เพิ่งจะเริ่มกลับมาเข้ารูปเข้ารอยจนเป็นความแตกต่างในแบบที่แฟนปีศาจแดงไม่ได้เห็นมานานหลาย
ซื้อเร็ว ขายไว จบตลาดทันใจ คือสิ่งที่ทุกทีมต้องทำให้ได้ เพื่อที่จะได้ไปต่อกับช่วงพรีซีซั่นให้นักเตะใหม่ ๆ ได้ลงไปลอง ลงไปปรับตัว เพื่อที่เปิดซีซั่นพวกเขาจะได้พร้อมทันที ไม่ใช่เอาเวลาไปปรับตัวในเกมการแข่งขันจริง ซึ่งเรื่องลักษณะนี้เกิดกับ ยูไนเต็ด บ่อยจนทำให้พวกเขาโดนทำแต้มทิ้งห่างหมดลุ้นแชมป์ตั้งแต่ไก่ยังไม่ขันมาหลายปี
พวกเขากลับสู่หนทางที่ถูกต้อง แต่ไม่ได้หมายความว่าจะแซงหน้าทีมอื่น ๆ ที่ดำเนินการแบบนี้มา ... อย่างไรก็ตามขึ้นชื่อว่าการเปลี่ยนแปลง มันย่อมมีโอกาสจะดีกว่าเดิมเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับทีมที่อยู่ภายใต้ยุคมืดมานานอย่าง แมนฯ ยูไนเต็ด ทีมนี้
แหล่งอ้างอิง
https://www.nytimes.com/athletic/5539692/2024/07/03/dan-ashworth-manchester-united-recruitment/
https://www.nytimes.com/athletic/5644891/2024/07/18/leny-yoro-transfer-manchester-united-real-madrid/
https://www.nytimes.com/athletic/5617722/2024/07/08/christopher-vivell-manchester-united-explained/
https://www.nytimes.com/athletic/5626901/2024/07/09/erik-ten-hag-dan-ashworth/
https://www.telegraph.co.uk/football/2023/12/25/ineos-era-manchester-united-january-analysis-jim-ratcliffe/
https://onefootball.com/en/news/manchester-uniteds-ineos-revolution-a-new-era-begins-39300519
https://podcasts.apple.com/gb/podcast/howe-for-england-man-utd-bet-big-on-yoro-newcastles/id1746700466?i=1000662645248