ยูโร 2024 และ โคปา อเมริกา 2024 จบลงไปแล้ว ณ ตอนนี้ เรื่องของตลาดซื้อขายกลับมาคึกครื้นอีกครั้ง และเป็นที่แน่นอนว่า เหล่าแข้งจากทัวร์นาเมนต์ทั้ง 2 ทวีป ที่ฟอร์มดี กำลังเนื้อหอม โดนทีมตอมกันเป็นพรวน
อย่างไรก็ตาม อาการแบบนี้เห็นกันมาเยอะ และเจ็บกันมาก็ไม่ใช่น้อย ทำไมการตัดสินใจซื้อนักเตะจากทัวร์นาเมนต์เหล่านี้จึงควรคิดดี ๆ และคิดอีกหลาย ๆ รอบ
เรารวบรวมปัจจัยทั้งหมดมาไล่เรียงเป็นฉาก ๆ เพื่อให้คุณเห็นภาพว่า บางครั้งคุณอาจจะถูกอะไรบังตาเอาไว้ก็เป็นได้ ติดตามที่ Main Stand
ตีเหล็กตอนร้อน … อย่ารีบจับ
เมื่อนักเตะคนหนึ่งแสดงผลงานได้ดีในฟุตบอลทัวร์นาเมนต์ใหญ่อย่าง ฟุตบอลโลก, ยูโร, โคปา อเมริกา หรือแม้แต่กระทั่งฟุตบอลเยาวชนชิงแชมป์โลกรุ่นต่าง ๆ นักเตะเหล่านี้จะถูกพูดถึงมากกว่าปกติ เหตุผลนั้นไม่มีอะไรมากไปกว่า เพราะทัวร์นาเมนต์ที่พวกเขาเล่น คือเวทีใหญ่ เป็นเวทีที่โลกจับตามอง และเมื่อเราสนใจอะไรเป็นพิเศษ เรื่องเพียงเล็กน้อย ก็สามารถเข้าตาเราได้ง่าย ๆ
ฟุตบอลทัวร์นาเมนต์คือเรื่องของช่วงเวลา มันคือความ Hype ที่เหมือนกับโรคติดต่อ หรือที่ฝรั่งเรียกกันว่า Fever ซึ่งมันเป็นแบบนั้นจริง ๆ หากมีนักเตะคนหนึ่งสามารถก้าวขึ้นมาเป็นดาวซัลโวของฟุตบอลทัวร์นาเมนต์ต่าง ๆ เรื่องราวของพวกเขาจะถูกสานต่อในยุคที่สื่อโซเชี่ยลมีเดียมีเป็นร้อยเป็นพันเจ้า
สื่อพร้อมจะนำเสนอเรื่องราวของพวกเขาเหล่านั้นให้กับคุณ เพราะรู้แท้แน่ชัดว่าเรื่องราวของคนที่เป็นกระแสและอยู่ในเทรนด์จะขายได้เสมอ ดังนั้นแม้จะเป็นเรื่องเล็กน้อย เช่น การยิงประตูสวย ๆ สักลูก หรือการเล่นดีสักเกม เรื่องพวกนี้ก็จะกลายเป็นเรื่องใหญ่บนหน้าสื่อได้เสมอ
สิ่งที่ตามมาคือกฎของดุลยภาพของภาวะตลาด หากเปรียบนักเตะดังเป็นสิ่งของ พวกเขาจะเป็นเหมือนกับ Supply (อุปทาน) ที่มีอยู่น้อยนิดจากทัวร์นาเมนต์ และพวกเขาจะนำมาซึ่ง Demand (อุปสงค์) จากสโมสรอื่น ๆ ที่อยากได้ตัวไปร่วมทีม เพราะสิ่งที่แสดงออกมาภายในการแข่งขันระยะสั้น ๆ ราว 1 เดือนนิด ๆ ... ซึ่งคนที่รู้เรื่องนี้ดีกว่าใครคือ เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ตำนานกุนซือของ แมนฯ ยูไนเต็ด
ปีศาจแดง ในยุค เฟอร์กี้ เอง ก็เคยเจ็บกับนักเตะทัวร์นาเมนต์มาไม่น้อย ตัวอย่างชัด ๆ ก็ เคลแบร์สัน กองกลางทีมชาติบราซิลชุดแชมป์ฟุตบอลโลก 2002 รวมถึง เอริค เฌมบา เฌมบา กองกลางทีมชาติแคเมอรูนที่แจ้งเกิดจากเวิลด์คัพฉบับเอเชียเช่นกัน และในช่วงที่เขาดำรงตำแหน่งที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ ปีศาจแดง ก็เคยหยิบชิ้นปลามันจากบอลทัวร์นาเมนต์มามากมาย สุดท้ายลงท้ายด้วยความล้มเหลว มาร์กอส โรโฮ, เมมฟิส เดปาย, ดาลี่ย์ บลินด์ คือหนึ่งในดีลที่นับรวมได้แบบไม่มีใครค้าน
"มีสิ่งหนึ่งที่คุณไม่ควรทำในฐานะผู้จัดการทีมนั่นคือ 'อย่าซื้อนักเตะหลังจากจบฟุตบอลทัวร์นาเมนต์' คนที่พูดคำนี้ไม่ใช่ผมหรอกนะ แต่เป็น เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน" แซม อัลลาไดซ์ อดีตกุนซือทีมชาติอังกฤษ ที่เป็นซี้ของ เฟอร์กี้ กล่าวอ้าง
"เฟอร์กี้บอกผมว่า ดีลล้มเหลวมากมายเกิดขึ้น เมื่อบอร์ดบริหารเห็นแววนักเตะในฟุตบอลทัวร์นาเมนต์และจะพยายามซื้อพวกเขามาร่วมทีม ข้อแรกเลย คือคุณจะได้พวกเขาในราคาที่แพงเกินจริง"
เอาล่ะ เรื่องของราคามันแพงขึ้นแน่นอน เมื่อนักเตะสักคนโดดเด่นขึ้นมา แต่ปัจจัยที่ทำให้ไม่ควรซื้อนักเตะที่ฟอร์มดีจากฟุตบอลทัวร์นาเมนต์นั้นมีมากกว่านี้ และเรากำลังจะไปให้ลึกขึ้นยิ่งกว่าเดิม
ทัวร์นาเมนต์สั้น ไม่เหมือนฟุตบอลลีก
ประการแรก ฟุตบอลทัวร์นาเมนต์นั้นเล่นกันในระยะสั้น ๆ แค่เดือนกว่า ๆ อย่างที่ได้กล่าวไป บางทีมอาจจะลงเล่นแค่ 3 เกมเท่านั้น หากบังเอิญว่ามีนักเตะคนหนึ่งโดดเด่นจนเป็นข่าวใหญ่ มันอาจจะไม่ได้หมายความว่าเขาเก่งกาจเลิศเลอ หรือจะเข้ามายกระดับทีมของคุณได้ แม้คุณจะขาดนักเตะในตำแหน่งนั้น ๆ ก็ตาม
อย่าลืมว่านี่คือทัวร์นาเมนต์คือฟุตบอลที่สร้างแรงฮึกเหิมให้กับนักเตะคนหนึ่งได้ดีมาก โดยเฉพาะนักเตะที่ยังไม่ค่อยมีชื่อเสียงมากนัก พวกเขาจะมีแรงจูงใจมากเป็นพิเศษ เพราะนอกจากจะเป็นการสู้เพื่อชาติแล้ว เวทีนี้ยังเป็นเวทีที่ทำให้พวกเขาสู้ตายถวายหัว เพื่อแสดงความสามารถออกมาให้แฟนบอลหรือแม้กระทั่งแมวมองทั่วโลกเห็นว่าพวกเขาเป็นนักที่ดีขนาดไหน
ตัวอย่างของ ฮาเมส โรดริเกซ คือตัวอย่างที่ดีของเรื่องนี้ ตัวของเขากับทีมชาติโคลอมเบียใน ฟุตบอลโลก 2014 ออกมาดีเหลือเชื่อทั้งในแง่ของฝีเท้า และการเป็นนักเตะที่ชี้ขาดเกมได้ เหนือสิ่งอื่นใด ยังเป็นนักเตะที่คาแร็คเตอร์ดีมาก ๆ ตอนที่เล่นให้กับทีมชาติ แม้จะเป็นเพลย์เมคเกอร์ แต่ถ้าใครจำ ฮาเมส ใน ฟุตบอลโลก 2014 ได้ คุณจะเห็นเขาพยายามอย่างมากในการช่วยทีมเล่นเกมรับอย่าเต็มที่
สิ่งเหล่านี้ทำให้ เรอัล มาดริด ซื้อตัวเขามาร่วมทีมด้วยราคา 60 ล้านปอนด์ พร้อมกับค่าเหนื่อยอีก 200,000 ปอนด์ต่อสัปดาห์ เรียกได้ว่าเป็นท็อปดีลของยุคนั้นก็ว่าได้
แรกเริ่ม ฮาเมส ทำได้ดีในยุคของกุนซือ คาร์โล อันเชล็อตติ ทำไป 13 ประตู 13 แอสซิสต์ แต่หลังจาก อันเชล็อตติ โดนไล่ออก ฮาเมส ก็ฟอร์มตกต่ำมาเรื่อย ๆ ไล่ตั้งแต่ยุคกุนซือ ราฟา เบนิเตซ และกลายเป็นส่วนเกินของทีมในยุคของ ซีเนดีน ซีดาน อันถือเป็นยุคที่ทีมราชันชุดขาว เริ่มทวงความเป็นเจ้ายุโรปอีกครั้ง ก่อนจะย้ายไป บาเยิร์น มิวนิค, เอฟเวอร์ตัน และปล่อยตัวไปฟรี ๆ ให้กับทีมจาก กาตาร์ อย่าง อัล รายยาน
เหตุผลหลัก ๆ ว่ากันว่า ซีดาน ไม่มีตำแหน่งที่เหมาะสมให้กับ ฮาเมส ในแผนการเล่นระบบ 4-3-3 และในกองกลาง ฮาเมส ก็มีฟังค์ชั่นไม่เพียบพร้อมที่จะแทรก คาเซมิโร่, โทนี่ โครส และ ลูก้า โมดริช ได้ ขณะที่ในแนวรุก เขาก็ยังไม่ดีพอแม้กระทั่งการเป็นตัวสำรองลำดับแรกของ BBC (คริสเตียโน่ โรนัลโด้, คาริม เบนเซม่า และ แกเรธ เบล) หนำซ้ำยังตกเป็นเบอร์รองของ อิสโก และ มาร์โก อเซนซิโอ อีกด้วยซ้ำไป ... สุดท้ายจากนักเตะที่ว่ากันว่าจะเป็นเบอร์ 10 ที่เก่งที่สุดในยุค ก็ออกจากทีมไปแบบที่ใครหลายคนคิดไม่ถึง
ฮาเมส ในฟุตบอลโลก ทำประตูสวย ๆ จนได้ ปุสกัส อวอร์ด ในปี 2014 ซึ่งเรื่องนี้ไปต่อได้อีกหลายคนและหลายเคส ประตูสวย ๆ ระดับตำนานของฟุตบอลทัวร์นาเมนต์มักพาคนยิงประตูนั้นไปไกลเสมอ
แซม ไอเยอร์ เซเกร่า จาก Football Applied เรียกมันว่า “recency bias” หรือแปลเป็นไทยแบบเข้าใจง่าย ๆ อาจจะเรียกว่าเป็น "อุปทานที่เกิดจากสิ่งใหม่" ก็คงไม่เกินเลยไปนัก และเมื่อเกิดสิ่งนี้ขึ้นกับนักเตะที่ดังขึ้นมาเหมือนพลุ หลายคนก็จะคิดว่าพวกเขาเก่งกาจ และจะทำอะไรแบบนี้ได้เป็นประจำ ในราย ฮาเมส อาจจะไม่ชัดนัก เพราะเซ้นส์บอลและทักษะของเขาที่มากมายจะพาเขาไปที่ไหนก็ได้ แต่กรณีที่ชัดจริง ๆ ย้อนกลับไปในปี 1992 จะเห็นภาพชัดมาก
จอร์จ เกรแฮม กุนซือของ อาร์เซน่อล ในเวลานั้นตะลึงพรึงเพริดกับลูกยิงไกลของ จอห์น เจนเซ่น นักเตะทีมชาติเดนมาร์ก ชุด "เดนิช ไดนาไมต์" แชมป์ยูโร 1992 เกรแฮม ซื้อเขามาร่วมทีมหลังทัวร์นาเมนต์จบ และบอกกับสื่อว่า เจนเซ่น คือกองกลางที่ยิงประตูได้ดี ไม่ว่าจะเติมเข้าไปเล่นในเขตโทษหรือยิงไกล ... แต่เอาเข้าจริง เจนเซ่น เล่นให้อาร์เซน่อลไป 100 นัด แต่กลับยิงได้แค่ 3 ประตู น้อยมากสำหรับกองกลางเชิงรุก
และถึงแม้ว่านักเตะอาจจะไม่ได้ยิงประตูสวย ๆ แต่เป็น เดอะ แบก ของทีม ก็ใช่ว่าจะไว้ใจได้ อย่างที่บอกว่าทัวร์นาเมนต์แบบนี้ทำให้ใครบางคนรีดพลังแฝงออกมาโดยไม่รู้ตัว และไม่สามารถกลับไปทำเหมือนเดิมได้อีกเลย เอล ฮัดจิ ดิยุฟ คือตัวแทนของเรื่องนี้ นักเตะที่ทุ่มเกินร้อย ทำทุกอย่างในเกมรุกของ เซเนกัล ในฟุตบอลโลก 2002 กลับเป็นนักเตะที่ไม่เอาไหน ไม่ผ่านสักเรื่องกับ ลิเวอร์พูล ไม่ว่าจะเรื่องทัศนคติ ความฟิต ร่างกาย และฝีเท้า
ทีมเพลย์เยอร์ … แต่ไม่ใช่สำหรับทีมคุณ
นอกเหนือจากนักเตะที่เล่นดี โดดเด่นเป็นข่าวหรือนักเตะที่ซัดประตูสุดสวยจนสร้างหลุมพรางแล้ว ในฟุตบอลทัวร์นาเมนต์จะมีอีกแบบ นั่นคือนักเตะจากทีมจอมเซอร์ไพรส์
ทีมอย่าง เซเนกัล ชุด ฟุตบอลโลก 2002, กรีซ ชุดแชมป์ ยูโร 2004, กานา ใน ฟุตบอลโลก 2010 หรือไล่เรียงมาจนถึง โมร็อกโก ใน ฟุตบอลโลกปี 2022 ทีมเหล่านี้เข้ารอบลึก ๆ ได้ และเมื่อยิ่งเข้ารอบลึก ได้เจอกับทีมใหญ่ นอกจากนักเตะที่จะโดดเด่นขึ้นมาแล้ว ระบบทีมของพวกเขาก็จะแจ่มชัด ขับให้นักเตะหลายคนดูดีมีระดับขึ้นมาได้ไม่ยาก
ทีมเหล่านี้ล้วนเป็นทีมที่เล่นเกมรับแล้วสวนกลับทั้งนั้น ช่วยกันวิ่งช่วยกันไล่ทั้งทีมในยามเล่นเกมรับ ทำให้นักเตะประเภทปิดทองหลังพระดูดีขึ้นมาอีกโข และการเล่นเกมรับก็จะทำให้นักเตะเหล่านี้เล่นได้ง่ายขึ้น มีหน้าที่รับผิดชอบที่ชัดเจน ไม่ซับซ้อน คือทำให้ทีมไม่เสียประตู ส่วนนักเตะเกมรุกก็ใช้จังหวะฉาบฉวย และลูกเซตพีซ
นักเตะเหล่านี้อยู่รวมกันแล้วดูแข็งแกร่ง อาจจะเพราะพวกเขามีความคุ้นเคยกันดี มีความสมัครสมานสามัคคี และเข้าใจแนวทางการเล่นของกันและกัน รวมถึงแท็คติกของโค้ชเป็นอย่างดี แต่พอแยกย่อยนักเตะเหล่านี้ออกมาเล่นให้กับทีมสโมสร ข้อด้อยของพวกเขาก็จะแสดงออกมาชัดขึ้น ขณะที่จุดเด่นก็ลดลงเมื่อย้ายทีมไปเจอกับทีมที่มีการเล่นและวิธีการที่แตกต่าง รวมถึงเพื่อนร่วมทีมที่แตกต่างสไตล์ออกไป
นักเตะจาก กรีซ ชุดแชมป์ ยูโร 2004 ได้ย้ายทีมหลังจบทัวร์นาเมนต์แทบทุกคน แต่ก็ไม่มีใครประสบความสำเร็จแบบเป็นชิ้นเป็นอันดับ เช่นเดียวกับ เซเนกัล ชุด ฟุตบอลโลก 2002 ที่ไล่ตั้งแต่กองหลังยันกองหน้า ก็ไม่มีตัวไหนที่เล่นได้เหมือนในทัวร์นาเมนต์ และล่าสุดกับ โมร็อกโก ในฟุตบอลโลก 2022 นักเตะอย่าง โซฟียาน อัมราบัต ก็ต้องเหนื่อยหนักในการปรับตัวกับ แมนฯ ยูไนเต็ด ที่เขาต้องแบกเกมรับเยอะมาก ๆ หากเทียบกับตอนเล่นทีมชาติ หรือไม่ก็ อัสเซดีน อูนาฮี ที่มีข่าวกับทีมใหญ่มากมายในทัวร์นาเมนต์ แต่สุดท้ายก็ไปจบกับ โอลิมปิก มาร์กเซย และไม่มีชื่อบนตลาดซื้อขายกับทีมใหญ่อีกเลย
อย่างไรก็ตาม ดีลในลักษณะล้มเหลวชัด ๆ ชนิดที่ว่าดูมาแบบผิดฝาผิดตัว คนละขั้วนั้นมีให้เห็นน้อยลงเรื่อย ๆ ซึ่งนั่นก็เป็นเหตุผลเรื่องของการเวลาและโครงสร้างฟุตบอลของแต่ละสโมสรในยุคนี้ ที่การซื้อตัวไม่ได้จบที่ใครเพียงคนใดคนหนึ่งเท่านั้น ดังนั้นดีลประเภทประธานสโมสรหรือกุนซือเห็นแล้วต้องตบโต๊ะฉาด และสั่งว่าไปเอามาให้ได้โดยไม่มีข้อแม้ จึงปรากฏน้อยลงมากในโดยเฉพาะกับทีมระดับท็อป
แน่นอนว่าเมื่อทัวร์นาเมนต์จบลง มันเป็นเวลาที่กระชั้นชิดมากเพราะแต่ละทีมก็ต้องรีบเสริมทัพเพราะเป็นช่วงเวลาคาบเกี่ยวกับปรีซีซั่น ดังนั้นด้วยระยะเวลาที่บีบคั้น การสเกาท์นักเตะคนหนึ่งซึ่งไม่ได้เป็นเป้าและตามดูมาแตกแรก ย่อมมีโอกาสผิดพลาดมากกว่าปกติ ... ดังนั้น ผอ.กีฬา หรือทีมวิเคราะห์การเสริมทัพของฟุตบอลยุคใหม่น่าจะช่วยอุดรอยรั่วจุดนี้ได้มาก ซึ่งระยะหลังเราจึงไม่ค่อยได้เห็นของก็อปราคาแพงที่ดังจากฟุตบอลทัวร์นาเมนต์เท่าไรนัก
ถ้าดูให้ดี วิเคราะห์อย่างละเอียด และสืบทราบลงลึกไปยังทุกเรื่องยิ่งกว่าเรื่องของฝีเท้าและฟุตบอล แต่ไปดูถึงชีวิตการเป็นอยู่ ไลฟ์สไตล์ และทัศนคตินอกสนาม สิ่งเหล่านี้คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้คุณจะไม่ต้องเสียดายเงิน เสียดายเวลา กับนักเตะที่อาจจะไม่เหมาะกับทีมของคุณ และแน่นอนว่านี่คือสิ่งสำคัญในการวิเคราะห์สำหรับทุก ๆ ดีล ไม่ใช่แค่ดีลดาวเด่นจากทัวร์นาเมนต์เท่านั้น
แหล่งอ้างอิง
https://medium.com/football-applied/the-dos-and-don-ts-of-buying-in-the-transfer-market-8a3559f3438e
https://www.thesportsman.com/articles/buyer-beware-why-you-shouldn-t-sign-a-player-based-on-a-good-world-cup
https://tribuna.com/en/news/realmadrid-2020-05-09-zidane-doesnt-like-him-but-why-madrid-fan-believes-james-has-still-got-a-lot-to-offer/
https://www.manchestereveningnews.co.uk/sport/football/football-news/manchester-united-ferguson-transfers-euros-29377709