ฝรั่งเศส อังกฤษ เยอรมนี โปรตุเกส หรือ เนเธอร์แลนด์ ทีมชาติยักษ์ใหญ่แห่งทวีปยุโรปล้วนประกอบไปด้วยผู้เล่นผิวดำนำทัพเป็นแกนหลักของทีม ถึงกระนั้น แชมป์โลก 1 สมัยและแชมป์ยุโรป 3 สมัยอย่างทีมชาติสเปน แฟนบอลกลับสามารถนับนิ้วผู้เล่นผิวดำที่ลงสนามในนาม “กระทิงดุ” ได้เลยด้วยซ้ำ
ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน น้อยครั้งที่จะเห็นผู้เล่นแกนหลักที่ทีมชาติสเปนเลือกใช้บริการเป็นผู้เล่นผิวดำ จนกระทั่งในยูโร 2024 ที่ทัพ “กระทิงดุ” โชว์ผลงานได้อย่างโดดเด่นด้วยปีก 2 ข้างเชื้อสายแอฟริกันอย่าง นิโก้ วิลเลี่ยมส์ และ ลามีน ยามาล เป็นหนึ่งในทีมที่ได้รับการยอมรับว่าเล่นฟุตบอลสวยงามที่สุดในการแข่งขัน
เพราะเหตุใดทีมชาติสเปนถึงไม่ค่อยมีนักเตะผิวดำ เบื้องหลังชาติพันธุ์ของนักเตะในประเทศสเปน รวมไปถึงชาติยุโรปเป็นอย่างไร ติดตามไปพร้อมกันกับ Main Stand
ผิวดำในยุโรปมีที่มาอย่างไร
ที่มาที่ไปของคนผิวดำในยุโรป อาจต้องย้อนกลับไปถึงลัทธิอาณานิคมในทวีปแอฟริกา ดินแดนที่ประเทศจากทวีปยุโรปต้องการเข้าไปขยายอำนาจการปกครอง รวมถึงต้องการทรัพยากรจากประเทศต่าง ๆ ที่มีอำนาจน้อยกว่า ไม่ว่าจะเป็นพืชพรรณ งาช้าง ทองคำ เพชร รวมไปแร่ต่าง ๆ ที่กระจายอยู่ทั่วทั้งทวีป
ชาติยักษ์ใหญ่ในดินแดนยุโรป นำทัพโดย เยอรมนี อังกฤษ ฝรั่งเศส เบลเยี่ยม เดินทางไปสู่ทวีปแอฟริกา เพื่อขยายอำนาจและอาณานิคม กอบโกยทรัพยากรต่าง ๆ เข้าสู่ประเทศ เปิดประตูการค้าในทวีป เผยแผ่คริสต์ศาสนาในดินแดนที่ชาวยุโรปนิยามให้กับแอฟริกาว่า กาฬทวีป (Dark Continent) ทำให้ประเทศภายใต้อาณานิคมต่าง ๆ มีการเรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรมจากชาติตะวันตกที่เข้ามา และนำไปสู่การเป็นภาษาราชการของประเทศนั้น ๆ
ตัวอย่างของประเทศในทวีปแอฟริกาที่มีภาษาชาติตะวันตกเป็นภาษาราชการในปัจจุบัน อาทิ แคเมอรูน ใช้ทั้งภาษาอังกฤษ และ ฝรั่งเศส, โกตดิวัวร์ (ไอโวรี่ โคสต์) / กาบอง / มาลี / เซเนกัล ใช้ภาษาฝรั่งเศส, กาน่า / ไนจีเรีย ใช้ภาษาอังกฤษ, หรืออย่างในกรณีของประเทศแอฟริกาใต้ มีการใช้ภาษาราชการถึง 11 ภาษา ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นภาษาอังกฤษ
ช่วงเวลาต่อมา หลังชาติในแอฟริกาเป็นอิสระจากชาติตะวันตก แต่ด้วยองค์ความรู้ด้านภาษา และวัฒนธรรมที่ได้รับมาจากชาติอาณานิคม ทำให้ประชากรบางส่วนในทวีปแอฟริกาอพยพมายังดินแดนยุโรปเพื่อแสวงหาโอกาสที่ดีกว่า หลีกหนีจากความขัดแย้ง ความแร้นแค้น และความยกจนในพื้นที่บ้านเกิดของตัวเอง กลุ่มประชากรเหล่านี้มุ่งหน้าไปที่ ฝรั่งเศส, เนเธอร์แลนด์, เบลเยียม และ เยอรมนี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการอพยพผิดกฎหมาย เข้ามาเป็นแรงงานราคาถูก ทำให้เกิดการกระจายตัวของคนผิวดำในประเทศอดีตอาณานิคม
ส่วน สเปน นั้นก็เป็นส่วนหนึ่งของการประชุมและแบ่งดินแดนในทวีปแอฟริกา เพียงแต่จะเน้นความสำคัญไปที่ประเทศในทวีปอเมริกาใต้ อาทิ อาร์เจนติน่า ชิลี โคลอมเบีย รวมไปถึง เม็กซิโก และพื้นที่ทางตอนใต้ของสหรัฐอเมริกา เสียมากกว่า รวมทั้งในช่วงที่ประชากรจากทวีปแอฟริกาอพยพเข้าสู่ทวีปยุโรป กลุ่มคนเหล่านี้ต้องมีวีซ่าในการเข้าสู่ประเทศ ส่งผลให้พวกเขาไม่ได้มีกลุ่มคนจากแผ่นดินแอฟริกามากเท่าชาติอื่น ๆ ในยุโรป
ภาวะการณ์ของแข้งผิวดำในสเปน
ในช่วงทศวรรษ 1990 ถึง 2000 ทีมชาติสเปนมีผู้เล่นผิวดำอยู่ในทีมบ้างเป็นครั้งคราว ไม่ว่าจะเป็น โดนาโต้, คาตานญ่า หรือ มาร์กอส เซนน่า ที่อยู่ในชุดแชมป์ยูโร 2008 แต่จริง ๆ แล้วพวกเขาเป็นชาวบราซิลที่ได้รับสัญชาติจากการเล่นฟุตบอลอาชีพในแผ่นดินสเปน
ตัวเลขของประชากรผิวดำในประเทศสเปนนั้นไม่ได้มีการเปิดเผยที่ชัดเจน รวมถึงการทำสำมะโนประชากรของสเปนนั้น ไม่ได้มีการระบุชาติพันธุ์ของคนแต่ละกลุ่ม แต่จากการวิจัยของทางการสเปน พบว่ามีคนผิวดำ ประมาณ 700,000 - 1.4 ล้านคน จากประมาณ 48 ล้านคนในปี 2022 หรือคิดเป็นประมาณ 1% - 3% ของประชากรทั้งหมด ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบไปด้วย เชื้อสายแอฟริกาใต้ทะเลทรายซาฮารา ชาวละตินอเมริกาผิวดำ รวมถึงชาวแอฟริกันที่เกิดในแผ่นดินสเปน
ในอดีต คนผิวดำมีบทบาทในอุตสาหกรรมด้านกีฬาและดนตรีเท่านั้น ในสื่อโทรทัศน์มีตัวละครผิวดำน้อยมาก นอกจากจะเป็นรายการที่มาจากสหรัฐอเมริกา เช่น “The Fresh Prince of Bel-Air” และ “Family Matters” ที่นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับคนผิวดำ
อีกทั้งในลีกสูงสุดของประเทศอย่าง ลา ลีกา ที่เกิดกรณีเหยียดเชื้อชาติอยู่บ่อยครั้ง อย่างเมื่อไม่นานมานี้มีกรณีของ วินิซิอุส จูเนียร์ สตาร์ทีมชาติบราซิล จาก เรอัล มาดริด ถูกแฟนบอลเหยียดเชื้อชาติ จนเจ้าตัวถึงกับต้องเสียน้ำตาในการสัมภาษณ์ “ผมไม่เคยคิดที่จะออกจากสเปนเลย ถ้าผมออกจากสเปน หมายความว่าผมมอบสิ่งที่พวกเหยียดเชื้อชาติต้องการ”
การพูดคุยเรื่องของเชื้อชาติในประเทศสเปนยังคงเป็นเสมือนเรื่องต้องห้าม หรือถูกลดทอนความสำคัญด้วยแนวคิดที่ว่า “เรื่องนี้ไม่สำคัญ เราทุกคนเท่ากัน”
ในกรณี อินากี้ วิลเลี่ยมส์ พี่ชายของ นิโก้ วิลเลี่ยมส์ ที่ออกมาประณามคำพูดเหยียดเชื้อชาติจากแฟนบอลกับน้องชายของเขา ซึ่ง วิลเลี่ยมส์ ผู้น้องได้ออกมายอมรับถึงการเลือกปฏิบัติ และยอมรับถึงการเป็นลูกชายผู้อพยพชาวกาน่า “ไม่มีใครเกิดมาเพื่อเหยียดเชื้อชาติ เมื่อมีการศึกษาทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน ผมคิดว่าการเหยียดเชื้อชาติจะค่อย ๆ หายไป” นิโก้ กล่าวกับ Marca สื่อสเปนชื่อดัง
อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา กรณีของ จอร์จ ฟลอยด์ และ “Black Lives Matters” ทำให้ทั่วโลกเริ่มตระหนักเกี่ยวกับความหลากหลาย และปัญหาเรื่องเชื้อชาติเป็นวงกว้าง ขณะที่สเปนเองก็เริ่มมีความเปลี่ยนแปลง ให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้มากขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป
ผู้เล่นของทัพ “กระทิงดุ” ชุดลุยฟุตบอลโลก 2022 ของ หลุยส์ เอ็นริเก้ เริ่มเห็นผู้เล่นผิวดำติดทีมชาติ ไม่ว่าจะเป็น โรเบิร์ต ซานเชซ, อเลฮานโดร บัลเด้, อันซู ฟาติ และ นิโก้ วิลเลี่ยมส์ โดยผู้เล่นกลุ่มดังกล่าวเริ่มได้รับโอกาสในการลงเล่น อีกทั้งยังเป็นกลุ่มนักเตะอายุน้อย ทำให้เริ่มเห็นบทบาทของพวกเขากับทีมชุดนี้ในอนาคตอย่างเป็นรูปธรรม
แม้รากเหง้าของพวกเขาจะแตกต่างกัน แต่เบื้องหลังนั้นเหมือนกัน พวกเขาสืบเชื้อสายมาจาก กินี, กินี บิสเซา, โดมินิกา และ กาน่า อย่างกรณีของ ฟาติ นั้นย้ายมาใช้ชีวิตในสเปนตั้งแต่อายุ 5 ขวบ ส่วน ซานเชซ, บัลเด้ และ วิลเลี่ยมส์ ล้วนอาศัยและเติบโตในแผ่นดินสเปนตั้งแต่เกิดทั้งหมด ไม่มากก็น้อย พวกเขาทั้งหมดมีความสัมพันธ์กับสเปนโดยตรง ทำให้ผู้เล่นชุดนี้สามารถกล่าวได้อย่างเต็มปากว่าเป็น “ชาวสเปนผิวดำ”
ไม่ได้รับการยอมรับกระทั่ง …
กำแพงการแบ่งแยกสีผิวเริ่มค่อย ๆ ถูกทลายไปเรื่อย ๆ ทำให้แฟนกีฬาทั่วโลกเริ่มได้เห็นบทบาทของนักกีฬาผิวดำเป็นตัวแทนแช่งขันให้กับประเทศสเปนในมหกรรมกีฬาต่าง ๆ เช่น โอลิมปิกฤดูร้อน 2020 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เรย์ ซาปาต้า ที่คว้าเหรียญเงินประเภทฟลอร์เอ็กเซอร์ไซส์ และ อนา เปเลเตโร่ เคยคว้าเหรียญทองแดง ในกีฬาเขย่งก้าวกระโดด
รวมไปถึงกีฬาฟุตบอลในยูโร 2024 ที่ฟอร์มการเล่นของ นิโก้ วิลเลี่ยมส์ และ ลามีน ยามาล แนวรุกพรสวรรค์ที่ได้รับคำชื่นชมมากมายจากทั่วสารทิศ จากรูปแบบการเล่นที่แตกต่างจากสเปนแบบดั้งเดิม ด้วยการเล่นแบบฟุตบอลยุคใหม่ ทัศนคติในการเล่น และรวมถึงลักษณะทางกายภาพที่มีพื้นฐานมาจากชาวแอฟริกัน ที่โดดเด่นด้วยความเร็วและความแข็งแกร่ง
นิโก้ วิลเลี่ยมส์ สืบเชื้อสายกาน่าโดยตรง พ่อแม่ของพี่น้อง วิลเลี่ยมส์ อพยพมายังดินแดนสเปน โดย วิลเลี่ยมส์ ผู้น้องเกิดและเติบโตในเมือง ปัมโปลน่า ในแคว้นบาสก์ โดย นิโก้ มีพี่ชาย 1 คน อินากี้ วิลเลี่ยมส์ ที่เป็นเพื่อนร่วมทีม แอธเลติก บิลเบา ในปัจจุบัน แต่ วิลเลี่ยมส์ ผู้พี่เลือกที่จะลงเล่นในนามทีมชาติกาน่า แม้จะเคยลงสนามในสีเสื้อของสเปนก็ตาม
ลามีน ยามาล มาจากครอบครัวผู้อพยพเช่นกัน โดยพ่อของเขาเป็นชาวโมร็อกโก ส่วนแม่เป็นชาวอิเควทอเรียลกินี ยามาล เติบโตในครอบครัวที่อยู่ในย่าน โรคาฟอนด้า บริเวณตะวันออกเฉียงเหนือของ บาร์เซโลน่า และได้เข้าสู่ศูนย์ฝึกเยาวชน “ลา มาเซีย” สถานที่ที่ปลุกปั้นนักเตะระดับโลกหลายต่อหลายคน ตั้งแต่อายุ 7 ขวบเท่านั้น
ทีมชาติสเปนในชุดยูโร 2024 นี้ถือว่าเป็นอีกหนึ่งชุดที่มีความลงตัวอย่างมากในหลากหลายด้าน นอกจากปีกความเร็วสูงทั้ง 2 ข้าง พวกเขายังมีกองกลางที่สมดุล คอยขับเคลื่อนเกมของพวกเขาไม่ให้สะดุด หรือจะเป็นแนวรับที่แข็งแกร่ง รวมไปถึงแนวรุกที่คอยทำประตูเป็นกอบเป็นกำในทัวร์นาเมนต์
ไม่ว่าผลงานในรอบชิงชนะเลิศจะออกมาเป็นอย่างไร พวกเขาถือเป็นส่วนหนึ่งของทีมชาติสเปนและเป็นความภาคภูมิใจของชาติอย่างแท้จริง ต้องคอยติดตามกันต่อไปว่า คู่หูนรกของทีมชาติสเปนชุดนี้จะพาทัพ “กระทิงดุ” ไปถึงแชมป์ยุโรป พาทีมคว้าแชมป์ยูโรมากที่สุดในประวัติศาสตร์ที่ 4 ครั้งได้หรือไม่
แหล่งอ้างอิง :
Black and Spanish: A National Team Starts to Reflect All of Its Nation - The New York Times (nytimes.com)
Spoken languages of African countries - Nations Online Project
African immigration to Europe - Wikipedia
Ray Zapata - Wikipedia
Ana Peleteiro - Wikipedia
Who is Spain Superstar Nico Williams (givemesport.com)
Everything About Lamine Yamal’s Family- Girlfriend, Parents, Siblings & More on the 16-Year-Old Playing for Spain - EssentiallySports