Feature

วารีรยา สุขเกษม : ชีวิตสู่โอลิมปิกบนเส้นทางสเก็ตบอร์ด | Main Stand

“เราต้องจ่ายค่าลงทะเบียนเรียน 40,000 บาทก่อนบินไปแข่ง 5 วัน ถ้าเราเอาเงินไปจ่ายเราก็ไม่มีเงินใช้ตอนไปแข่ง เลยตัดสินใจงั้นยังไม่ต้องไปเรียน เอาตรงนี้ให้มันจบก่อน เรียนช้าไปสักปีมันจะเป็นอะไรไป”

 


คำพูดของคุณพ่อ “เอสที” วารีรยา สุขเกษม นักสเก็ตบอร์ดที่สร้างประวัติศาสตร์ คว้าตั๋วลุยโอลิมปิกด้วยวัยเพียง 12 ปี ได้แสดงให้เห็นถึงการตัดสินใจครั้งสำคัญของครอบครัวที่ต้องแลกมาเพื่อผลักดันลูกสาวสู่ความสำเร็จ

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นที่เอสทีและครอบครัวต้องเสียสละก่อนความฝันจะถึงจุดหมาย ซึ่งตลอดเส้นทางที่ผ่านมาล้วนผ่านการวางแผนและบ่มเพาะมาอย่างดีจากคุณแม่และคุณพ่อที่เล่นสเก็ตบอร์ดไม่เป็นเลยด้วยซ้ำ

เส้นทางการเป็นนักสเก็ตบอร์ดของสาวน้อยมหัศจรรย์รายนี้เป็นอย่างไร ติดตามได้ที่ Main Stand
  


โดนแม่หลอก

การที่เด็กคนหนึ่งจะเติบโตขึ้นโดยมีความฝันหรือเป้าหมายอะไรหลายอย่าง หลายครั้งเกิดจากการบ่มเพาะและการสนับสนุนจากครอบครัว ซึ่งเส้นทางการเล่นสเก็ตบอร์ดของเอสทีก็ไม่ต่างกัน ที่ทุกอย่างเริ่มต้นขึ้นจากคุณแม่

คุณแม่ “ตุลย์” ตุลย์รยา คุณแม่ของเอสที วาดฝันอยากให้ลูกสาวคนแรกเติบโตขึ้นมาเป็นเด็กที่มีความสามารถ เป็นคนดีและเป็นคนเก่งของสังคมคนหนึ่ง ซึ่งเธอไม่เพียงแค่คิดเท่านั้นแต่ยังลงมือทำให้เห็นด้วยตัวเอง

เมื่อคลอดลูกสาวมาได้ 6 เดือน คุณแม่ตุลย์ได้ตัดสินใจเข้าประกวดร้องเพลงในรายการ The Voice ซีซั่น 1 เพื่อหวังว่าสิ่งที่เธอทำจะสร้างแรงบันดาลใจให้กับลูกเมื่อเติบโตขึ้น และให้ลูกสาวได้เห็นว่าแม้คุณแม่จะกลัวการร้องเพลงต่อหน้ากล้องก็ยังกล้าที่จะลงสมัครร้องประกวดบนเวทีระดับประเทศ

เมื่อเอสทีเติบโตขึ้น คุณแม่ได้เห็นหน่วยก้านที่มีทั้งความกล้า ความแข็งแรง และความเป็นนักกีฬา อยู่ในตัวลูกสาวมากกว่าเส้นทางบันเทิง จึงตัดสินใจพาลูกไปเล่นไอซ์สเก็ตเพื่อหวังให้เป็น “ราชินีน้ำแข็ง” ในอนาคต 

ทว่าเล่นได้ไม่นานก็ต้องเลิกไป เนื่องจากสนามอยู่ไกลบ้านและมีค่าใช้จ่ายที่สูง คุณแม่จึงเลือกโรลเลอร์เบลดเป็นกิจกรรมต่อไปให้ลูกได้เล่นแทน

“ตอน 7 ขวบ หนูเล่นโรลเลอร์เบลดอยู่แป๊ปนึง เคลื่อนที่ได้แต่ยังไม่ได้เล่นท่าอะไร วันนึงมีสนามเปิดใหม่ใกล้บ้าน แม่ก็พาไป หนูเอาโรเลอร์เบลดไป แต่แม่ซื้อสเก็ตบอร์ดไปไถในสนาม”

“แม่อยากให้หนูเล่นด้วยเลยแกล้งโกหกหนูว่าที่นี่เล่นโรเลอร์เบลดไม่ได้ เล่นได้แต่สเก็ตบอร์ดอย่างเดียว หนูเลยต้องลองเล่นดู อยากรู้อยากเห็นด้วยแหละว่ากระดานไม้มีล้อมันจะเล่นยังไง” เอสที เล่าถึงจุดเริ่มต้น

สาเหตุที่คุณแม่เลือกให้ลูกสาวเล่นสเก็ตบอร์ดมาจากความชื่นชอบของตัวเองที่เคยเห็นเพื่อนสนิทสมัยเด็กเล่นแล้วมีความเท่ จึงมีความฝันที่อยากจะเล่นมาตลอด แต่สมัยก่อนยังเข้าถึงได้ยาก พอปัจจุบันเริ่มเข้าถึงได้ง่ายขึ้น จึงชวนลูกไปทำกิจกรรมด้วยกัน

แม้จะโดนหลอก แต่เอสทีก็เริ่มสนุกกับการเล่นสเก็ตบอร์ดเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากแค่ยากลองวันแรกก็เริ่มฝึกฝนมากขึ้น เริ่มกลับตัวได้ เริ่มเล่นท่าต่าง ๆ หรือเล่นกับราวเหล็กได้ 

“หนูไม่กลัวล้ม เรื่องล้มมันต้องล้มอยู่แล้ว ไม่มีใครแตะบอร์ดครั้งแรกแล้วเทพเลย มันต้องเซฟตัวเองให้เป็นตอนล้ม มันจะลดการเจ็บลงได้เยอะ ที่สำคัญต้องมีอุปกรณ์เซฟตี้ทั้ง หมวก สนับเข่า สนับศอก” 

“บางทีก็มีรุ่นพี่มาสอนหรือมีเพื่อนรุ่นเดียวกันมาเล่นด้วย มันเลยเริ่มสนุก อยากลองทำท่าใหม่ ๆ ลอง Ollie ขึ้นบ็อกซ์ เริ่มท้าทายเป็นชาเลนจ์มาเรื่อย ๆ”

“ท่าที่ภูมิใจที่สุดคือการทำ Kickflip ได้เป็นครั้งแรก ซ้อมเป็นวัน ๆ เลย บางวันทำ 80-90 รอบแต่ไม่ลงเลยก็มี จนเริ่มท้อ แต่แม่ก็บอกว่าเอสทีทำได้แน่ อีกนิดเดียว ก็ทำจนได้ มันดีใจมาก จากที่เคยทำเป็นร้อยรอบไม่ได้ แค่ทำได้รอบเดียวมันก็รู้สึกฟินแล้ว” เอสที กล่าวพร้อมรอยยิ้ม

เมื่อเห็นความมุ่งมั่นตั้งใจของลูกสาว ครอบครัวจึงเริ่มวางแผนเดินหน้าผลักดันและสนันสนุนอย่างเต็มกำลัง ด้วยการหาสนามฝึกซ้อมอย่างจริงจังและพาลงแข่งรายการต่าง ๆ 

โดยมีคุณพ่อ “เอส” วสุวัฒน์ ที่ไม่เคยเล่นสเก็ตบอร์ดเลยสักครั้งเป็นผู้ฝึกสอนด้วยตัวเองและรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด

 

ก้าวแรกสู่โอลิมปิก

นอกจากคุณแม่ที่เป็นคนปูทางให้กับลูกแล้ว ทางฝั่งคุณพ่อก็เป็นคีย์แมนสำคัญที่สนับสนุนอย่างเต็มที่ไม่แพ้กัน โดยทุ่มเททุกอย่างให้กับความตั้งใจของลูกสาว ทั้งที่ตัวเองเล่นสเก็ตบอร์ดไม่เป็น 

“ผมสอนลูกเองทั้งหมด ผมไม่เคยเล่นสเก็ตบอร์ดมาก่อนเลย เราดูยูทูบมาแล้วก็สอนลูก ถ่ายทอดในรูปแบบที่เข้าใจง่าย ต้องทำยังไง ต้องปรับตรงไหน ใช้เวลาว่างจากการทำอาชีพขายอะไหล่ Volkswagen มาสอน”

“พอลูกชอบแล้วเอาจริงเอาจัง ผมเลยไปศึกษาอย่างหนักเลย ดูการแข่งของต่างประเทศ ทั้งอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น ดูเยอะมาก ๆ แล้วคิดว่าจะเป็นไปได้ไหมที่วันนึงลูกเราจะไปเล่นกับเขาได้ ซึ่งเรามองดูแล้วว่ามันเป็นไปได้”

“สเก็ตบอร์ดเป็นกีฬาแทคติก มันมีเทคนิเชียนทุกรูปแบบ มีคนจดสถิติ มีคนดูแลร่างกาย ดูการบาดเจ็บจากการซ้อม วางแผนการเล่น ดูความชัวร์ในการเล่นท่าต่าง ๆ เพราะยิ่งเสี่ยงมากก็ได้คะแนนมาก ซึ่งเราสอนลูกเองทั้งหมด” คุณพ่อเอส เผยเบื้องหลัง

เอสทีต้องฝึกซ้อมอย่างหนัก 6 วันต่อสัปดาห์ โดยซ้อมตั้งแต่หลังเลิกเรียนเวลาบ่าย 3 ไปจนถึงสนามปิดตอน 3 ทุ่ม หากสัปดาห์ไหนยังทำท่าที่ฝึกซ้อมไม่ได้ก็จะไม่ได้พักต้องซ้อม 7 วันเต็มเลยก็มี

เมื่อฝีมือพัฒนามากขึ้น ทางครอบครัวจึงเริ่มวางแผนควักทุนส่วนตัวส่งลูกสาวไปแข่งขันรายการต่าง ๆ ซึ่งช่วงแรกแม้จะยังไม่ประสบความสำเร็จแต่ทั้งครอบครัวก็ไม่เคยย่อท้อ

“ช่วงที่เริ่มแข่งแรก ๆ คุณแม่พาไปแข่งหลาย ๆ ที่ บางครั้งได้ที่ 4 ที่ 5 หรือบางทีติดท็อป 3 แล้ว แต่หนูเป็นคนที่อยากได้อะไรต้องทำให้ได้ บอกกับตัวเองว่าฉันจะเอาที่ 1 ให้ได้ เลยคิดว่าต้องกลับไปซ้อมให้จริงจังเพื่อพัฒนาตัวเองให้มากขึ้นอีก” เอสที เผย

หลังจากพยายามอยู่ราวนับปี ความสำเร็จก็เริ่มผลิดอกออกผล เมื่อเจ้าตัวลงแข่งและทำผลงานได้ดีในรายการ  HATYAI EXTREME FESTIVAL 2022 ที่หาดใหญ่ จนฟอร์มเข้าตาสมาคมเอ็กซ์ตรีมแห่งประเทศไทย ถูกดึงตัวมาติดทีมชาติไทยชุดลุยเอเชียนเกมส์ 2022 ที่ประเทศจีน

เพียงรายการระดับทวีปครั้งแรก เอสทีก็สามารถก้าวถึงอันดับ 5 ก่อนจะทำผลงานติดท็อป 25 ในศึกสเก็ตบอร์ดสตรีทชิงแชมป์โลก 2023 ที่โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น พร้อมยังได้เป็นตัวแทนลงแข่งคัดเลือกเพื่อชิงตั๋วไปโอลิมปิกเกมส์ 2024  

จนในที่สุดเอสทีสามารถทำผลงานติดอันดับ 18 จาก 22 คน ในรอบคัดเลือกที่กรุงบูดาเปสต์ ประเทศฮังการี สร้างประวัติศาสตร์เป็นนักกีฬาสเก็ตบอร์ดไทยคนแรก และเป็นนักกีฬาไทยอายุน้อยที่สุดที่ได้เข้าแข่งขันในโอลิมปิกเกมส์ ด้วยวัยเพียง 12 ปี 

“ก่อนไปแข่งก็คาดหวังที่จะคว้าโควตาให้ได้ จึงทำให้ตัวเองกดดันและเครียดไปด้วย เพราะแมตช์นี้เป็นสนามสุดท้ายที่ต้องทำคะแนนให้ได้ดีที่สุด แต่สุดท้ายก็รวบรวมสมาธิจนทำได้สำเร็จ”

"ที่จริงหลังจากหนูแข่งเสร็จหนูถูกพาไปตรวจสารกระตุ้นเลยยังไม่รู้ผล จนคุณพ่อคุณแม่ที่เดินทางไปด้วยเช็คผลอย่างละเอียดแล้วมาบอกให้ได้รู้ว่าหนูทำคะแนนถึง วินาทีนั้น หนูดีใจมาก ๆ แล้วก็ภูมิใจในตัวเองมาก ๆ” เอสที เปิดใจ 

 

เบื้องหลังที่ต้องแลกเพื่อความสำเร็จ

อย่างไรก็ตามความสำเร็จที่ได้มานั้นไม่ได้เกิดขึ้นโดยง่าย เพราะตลอดเส้นทางทั้งตัวเอสทีเองและครอบครัวล้วนผ่านบททดสอบอันแสนสาหัสมาแล้วมากมาย

ตอนอายุ 10 ขวบ เอสทีได้รับบาดเจ็บกระดูกข้อเท้าแตกเหมือนปากฉลาม จากการพยายามเล่นท่า Frontside ตามรุ่นพี่ แต่พลาดทับขาตัวเอง ต้องพักนานกว่า 6 เดือน 

แม้เจ้าตัวจะยืนยันว่าไม่เข็ดและเมื่อรักษาหายดีก็กลับมาเล่นตามปกติ แต่ในมุมหัวอกผู้เป็นพ่อเป็นแม่ บางครอบครัวอาจเลือกให้ลูกบอกลากีฬาชนิดนี้ไปเลยก็ได้ ทว่าไม่ใช่กับครอบครัวสุขเกษม

“ตอนนั้นตกใจนะ แต่เรารู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่เราเลือกแล้ว เรารู้อยู่แล้วว่าการเล่นอะไรพวกนี้มันต้องเกิดเหตุการณ์แบบนี้ เราต้องยอมรับมันและสู้กับมัน ก็ถามลูกว่าไหว ถ้าเขาบอกว่าไหวเราก็ไปต่อ”

“ทุกครั้งที่ล้มน้องพร้อมจะเล่นต่อตลอด ซึ่งเอสทีเป็นเด็กที่มีความอดทนมาก บ้านเราเป็นคนห้าว ๆ ทั้งครอบครัวด้วย เราอยากให้ลูกเข้มแข็ง เราใช้ชีวิตด้วยความอดทนต่อสู้ชีวิตมาด้วยตัวเอง เราเลยอยากให้ลูกเข้มแข็ง ทำอะไรด้วยความอดทน แล้วเอสทีก็มีจุดนี้” คุณแม่ตุลย์ เผย

นอกจากอาการบาดเจ็บในสนามแล้ว เรื่องนอกสนามทางครอบครัวก็ต้องมีการตัดสินใจที่ยากลำบากเช่นกัน โดยเฉพาะเคสล่าสุดก่อนเดินทางไปแข่งคัดเลือกที่บูดาเปสต์ ซึ่งตรงกับช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อด้านการเรียน 

เอสทีเพิ่งเรียนจบชั้นประถมจากโรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์ และเตรียมเรียนต่อชั้นมัธยม ทว่าการเดินทางไปแข่งครั้งนี้มีปัจจัยด้านการเงินจนทำให้เจ้าตัวลงทะเบียนเรียนไม่ทันแล้วต้องดร็อปเรียนในที่สุด

“เราต้องจ่ายค่าลงทะเบียนเรียน 40,000 บาทก่อนบินไปแข่ง 5 วัน ถ้าเราเอาเงินไปจ่ายเราก็ไม่มีเงินใช้ตอนไปแข่ง เลยตัดสินใจงั้นยังไม่ต้องไปเรียน เอาตรงนี้ให้มันจบก่อน เรียนช้าไปสักปีมันจะเป็นอะไรไป เลยให้ดร็อปไว้ก่อน”

“พ่อกับแม่อยากให้ลูกได้เรียนทั้งคู่ แต่เงินมันไม่มี เพิ่งซื้อตั๋วไปแสนกว่าบาท ไหนจะค่าทำวีซ่า ค่าอยู่ค่ากินอีกที่นู่นอีก ก็ต้องตัดสินใจ รถเราก็เอาไปจำนำแล้ว ผมขายอะไหล่รถ เงินสดที่ได้มามันก็ไม่มีแล้ว”

“มันเป็นการตัดสินใจที่ยากนะ พ่อกับแม่ทะเลาะกันหลายครั้งเรื่องเรียนซึ่งเอสทีไม่เคยรู้ เราคิดว่ามันจะเรียนได้ยังไงถ้าเล่นกีฬาอยู่แบบนี้ จะต้องซ้อมกี่โมง ไหนจะเรียนอีก ซ้อม 7 วัน กลับมาร่างมันจะไม่แหลกไปก่อนหรอ”

“ถึงตอนนี้ค่อยมาวางแผนกันต่อ คิดว่าในอนาคตน่าจะมีโรงเรียนที่รับในความสามารถแบบเขาได้ ที่จัดการเรื่องการเรียนให้เราได้” คุณพ่อเอส เปิดใจ

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นสำหรับการตัดสินใจอันยากลำบากที่ครอบครัวนี้ต้องเผชิญ แต่ผลลัพธ์สุดท้ายที่ออกมาก็คุ้มค่า และที่สำคัญที่สุดคือตัว “เอสที” เองที่พร้อมจะฝ่าฟันไปด้วย

 

อนาคตที่สดใสรออยู่ 

อย่างที่ทราบไปว่าเส้นทางการเล่นสเก็ตบอร์ดของเอสที เกิดจากการวางแผนและการผลักดันจากพ่อและแม่ ซึ่งแม้จะไม่ใช่เส้นทางที่ตัวเองเป็นผู้เลือกแต่แรก แต่เธอก็รักมันและพร้อมจะสู้ไปด้วยกัน

“ตอนเด็กครูถามโตมาอยากเป็นอะไร หนูก็ตอบไปว่าอยากเป็นหมอเหมือนคนอื่น แต่พอได้รู้จักสเก็ตบอร์ดก็ไม่ได้คิดเรื่องอื่นแล้ว มันเหนือนหนูขาดกับสเก็ตไม่ได้แล้ว มันติดไปเลย”

“การมาถึงวันนี้ได้พ่อกับแม่มีส่วนในการผลักดันและสนับสนุนเยอะมาก ๆ ไม่ว่าจะเป็น การวางแผนในทุก ๆ สนามที่เคยแข่งมา เรื่องค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ยอมเสียสละทุก ๆ อย่าง อยู่กับหนูทุกวลา ให้ความมั่นใจ ให้ทัศนคติที่ดี”

“ขอบคุณคุณพ่อกับคุณแม่ที่สนับสนุนหนูมาโดยตลอด หนูยินดีมาก ๆ ที่จะจับมือไปกับพ่อและแม่ จะพยายามทำตามแผนที่วางกันไว้ให้ดีที่สุด” เอสที เผยจากใจ

ในอนาคตทางเอสทีและครอบครัวมองแผนถึงการเดินทางไปเก็บตัวและฝึกซ้อมที่สหรัฐอเมริกา หรือญี่ปุ่น ซึ่งมีความพร้อมทั้งเรื่องสภาพสนามที่ได้มาตรฐานไปจนถึงโค้ชที่มีฝีมือ เพื่อให้ลูกสาวได้พัฒนาศักยภาพอย่างเต็มที่

ท้ายที่สุดแล้วไม่ว่าผลการแข่งขันในปารีสเกมส์จะเป็นอย่างไร แต่วันนี้ครอบครัวสุขเกษมได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าทุกอย่างที่พวกเขาทุ่มเทมา ได้สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับวงการกีฬาไทยเป็นที่เรียบร้อย

 

ภาพถ่าย : 

อำพล ทองเมืองหลวง

อาณกร จารึกศิลป์

Author

ชมณัฐ รัตตะสุข

Chommanat

Photo

อาณกร จารึกศิลป์

Main Stand's Photographer

Graphic

ปริญญา คงปันนา

กราฟฟิคหน้าโหด ทำงานด้วย Passion ว่างๆ ชอบไปคาเฟ่ หลงไหลในศิลปะ, การเดินทางและกีฬา