Feature

ราชันไร้มงกุฎ : แชมป์ยุโรปสมัยที่ 9 ถึงสมัยที่ 10 ที่ เรอัล มาดริด ใช้เวลารอถึง 12 ปี | Main Stand

11 ปีหลังสุด ตั้งแต่ปี 2014-2024 เรอัล มาดริด คว้าแชมป์ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ไปถึง 6 ครั้ง 

 


จากสถิติดังกล่าว นี่คือสิ่งที่ยืนยันว่าพวกเขาคือ "ราชายุโรปตัวจริง" ... อย่างไรก็ตาม ในช่วงปี 2002 ถึงปี 2014 มีช่วงเวลาที่พวกเขาหมดรูปราชา เพราะไม่เคยคว้าแชมป์ได้เลยตลอดช่วงเวลา 12 ปี 

บทจะเอา ก็เอาซะง่าย ๆ บทจะไม่ได้ก็ห่างหายเกินทศวรรษ เราจะเจาะเข้าไปในช่วงเวลานั้นว่าเกิดอะไรขึ้นกับ เรอัล มาดริด กันแน่ ?

ติดตามที่ Main Stand 

 

กำเนิด "ทีมราชา" 

ทันทีที่ฟุตบอล "ชิงแชมป์สโมสรยุโรป" เริ่มต้นขึ้น ในปี 1955 ภายใต้ชื่อ ยูโรเปี้ยน คัพ สโมสรแรกที่คว้าแชมป์รายการนี้ได้คือ เรอัล มาดริด ... และจากนั้น ราชันชุดขาว เข้าวินคว้าถ้วยบิ๊กเอียร์รวดเดียว 5 สมัยติดต่อกัน ลากยาวจนถึงปี 1960 นี่คือสุดยอดความแข็งแกร่งที่มีการเมืองในประเทศอยู่เบื้องหลัง  

คำว่า "เรอัล" แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า "รอยัล" และถ้าเป็นภาษาไทยมันจะมีความหมายว่า "ในพระบรมราชูปถัมภ์" หรือการได้รับการสนับสนุนจากราชวงศ์ ... 

มาดริด คือเมืองหลวงของสเปน คือศูนย์กลางการเมืองและการปกครอง เพื่อคอยคานปัญหากับแคว้นต่าง ๆ ที่ก็มีแนวคิดและการปกครองในแบบของตัวเองเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น กาตาลุนย่า, อันดาลูเซีย หรือ บาสก์ เป็นต้น 

และแน่นอนว่าการเมืองเกี่ยวกับทุกเรื่อง ไม่เว้นแม้กระทั่งเรื่องของฟุตบอล ดังนั้นต่อให้แฟน เรอัล มาดริด จะยอมรับหรือไม่ แต่ข้อเท็จจริงคือ แรงสนับสนุนจากราชวงศ์สเปน เกิดขึ้นจากความชื่นชอบในเกมฟุตบอลของ พระเจ้าอัลฟอนโซที่ 13 มีบันทึกว่า คาร์ลอส ปาร์โดรส (Carlos Padrós) ประธานสโมสร เรอัล มาดริด ในช่วงปี 1905-1908 และเป็นบุคคลสำคัญที่ผลักดันกีฬาฟุตบอลให้เติบโตในสเปน มีความสนิทชิดเชื้ออย่างมากกับพระเจ้าอัลฟอนโซ่ที่ 13 

ซึ่งทำให้พระเจ้าอัลฟอนโซที่ 13 และอีกหลายพระองค์ในราชวงศ์สเปน ทรงสนพระทัยในกีฬาฟุตบอล และกลายเป็นแฟนบอลของ เรอัล มาดริด ก่อนให้การสนับสนุนในเวลาต่อมา และ มาดริด ก็กลายเป็นมหาอำนาจตัวจริงของฟุตบอลสเปน ลุกลามจนไปถึงฟุตบอลยุโรป ดังที่ถูกตั้งฉายาว่า "ราชา" ที่แท้จริง  

ความยิ่งใหญ่ถูกส่งต่อผ่านทุกยุคทุกสมัย และในขณะเดียวกันก็มีการเตะตัดขาทีมจากแคว้นอื่น ๆ เช่นยุครัฐบาลทหารของ จอมพล ฟรานซิสโก ฟรังโก ในช่วงยุค 1930s-1970s ที่เขาได้เข้ามาแทรกแซงการทำทีมของ บาร์เซโลน่า ด้วยเรื่องต่าง ๆ มากมาย อาทิ สั่งห้ามใช้ภาษากาตาลันในสนาม พร้อมเปลี่ยนการเลือกตั้งประธานสโมสรเป็นการแต่งตั้งแทน โดยส่งคนของตัวเองเข้าไปเป็นบอร์ดบริหาร เพื่อควบคุมความเคลื่อนไหวทางการเมืองในสโมสร และในสนาม เขายังบังคับให้ผู้เล่นทุกคนทำท่าฟาสซิสต์ในการทำความเคารพ

เมื่อรวมศูนย์กลางไว้ที่ทีมเดียว มาดริด จึงเปรียบเสมือนตัวแทนของราชวงศ์และรัฐบาลสเปน ดังนั้นพวกเขาจึงมีเงินใช้จ่ายหรือจ้างนักเตะที่ยอดเยี่ยมมากหน้าหลายตาสลับหน้ากันเข้ามาสานต่อยุคสมัยของทีม แม้ว่าเมื่อเวลาผ่านไป 40-50 ปี เรื่องการเข้ามาเกี่ยวข้องของราชวงศ์และการเมืองจะลดน้อยถอยลงไป แต่การสร้างฐานที่เป็นจุดเริ่มต้นของความสำเร็จในยุคหลัง ถูกต่อเติมจนแข็งแกร่ง มันจึงเหมือนเป็นแต้มต่อที่ทำให้ มาดริด พุ่งทะยานทั้งผลงานในประเทศ และในระดับยุโรป  

สิ่งที่ยืนยันได้คือ เรอัล มาดริด มี DNA แห่งความเย่อหยิ่งและการแสดงอำนาจ พวกเขามีโมเดลในการเสริมทัพที่ชัดเจนว่าจะต้องมีนักเตะระดับซูเปอร์สตาร์ หรือนักเตะระดับโลกเข้ามาสร้างความตื่นตาตื่นใจในทุก ๆ ตลาดซื้อขาย อีกทั้งการแต่งตั้งโค้ชแต่ละครั้ง ก็ยังเลือกแต่คนที่มีความสำเร็จเข้ามาทำทีม จนสานต่อความยิ่งใหญ่ คว้าแชมป์ยุโรปมากที่สุดเมื่อเข้ายุค 2000s พวกเขากวาดแชมป์ไปแล้ว 9 สมัย 

เพียงแต่ว่า 12 ปีหลังจากนั้น ทีมที่มีพื้นฐานแข็งแกร่ง ชวดแชมป์ยุโรปทุกปี แถมยังไม่เคยเข้าไปถึงรอบชิงชนะเลิศเลยแม้แต่หนเดียว  มันต้องมีอะไรเกิดขึ้นภายในแน่ ๆ ? 

 

หลุมดำ 12 ปี 

จะบอกว่าไม่เกี่ยวข้องก็คงไม่ได้ เพราะในช่วงเวลาที่เหมือนกับหลุมดำห่างหายความสำเร็จในเวทียุโรปถึง 12 ปี ของ เรอัล มาดริด เป็นช่วงเวลาคาบเกี่ยวกับที่ ฟลอเรนติโน่ เปเรซ ไม่ได้บริหารสโมสร คำถามคือ ... แล้ว เปเรซ ไปไหน?

คำตอบคือ เปเรซ ผู้ยิ่งใหญ่ ลาออกจากตำแหน่งเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อนโยบายที่ล้มเหลว จนทีมร้างราความสำเร็จ … นโยบายดังกล่าวคือ "กาลาติกอส" หรือการสร้างทีมรวมดาราโลก

ทว่าเมื่อหลังจากการคว้าแชมป์ปี 2002 เรอัล มาดริด ก็ห่างหายถ้วยรางวัลไป อีกทั้งฟอร์มการเล่นในลีกก็ออกมาไม่ดีในระดับหนึ่ง ซึ่งคำว่าระดับหนึ่งของ มาดริด นั้น แค่นิดเดียวก็ไม่ได้ แฟนบอลสโมสรนี้พร้อมจะลุกขึ้นต่อต้านและวิจารณ์ทีมเสมอ หากไม่สามารถจับต้องความสำเร็จได้ 

ว่ากันว่า การใช้สตาร์ นำหน้าทีมเวิร์ก มาเริ่มล้มเหลวเอาในวันที่ เรอัล มาดริด ตัดสินใจขาย โคล้ด มาเกเลเล่ ห้องเครื่องตัวรับที่เป็นคนทำงาน "สกปรก" ให้ทีม กล่าวคือในขณะที่นักเตะระดับโลกคนอื่น ๆ เล่นเกมรุกอย่างสนุกสนาน มาเกเกเล่ คือคนที่แย่งบอลคืนมา และเอาบอลไปให้ดาราเหล่านั้นโชว์ความสามารถของตัวเอง 

การขาย มาเกเลเล่ ให้กับ เชลซี คือจุดที่ เรอัล มาดริด เสียสมดุล และนำไปสู่ความล้มเหลวของกาลาติกอส ยืนยันได้จาก เฟร์นานโด เอียร์โร่ กัปตันทีมยุคนั้นออกมาให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องนี้ว่า 

"การเสีย มาเกเลเล่ คือจุดเริ่มต้นของจุดจบของกลุ่มกาลาติกอส แลละในขณะเดียวกันก็เป็นจุดเริ่มต้นยุคสมัยของ เชลซี ด้วย"  กัปตันราชันชุดขาว กล่าว  

การลงตำแหน่งของ เปเรซ นำมาสู่วัฒนธรรมองค์กรที่ชัดเจนของ มาดริด นั่นคือการเลือกตั้งประธานสโมสรใหม่ผ่านกลุ่มผู้ถือหุ้นและสมาชิกกิตติมศักดิ์ โดยหลังจาก เปเรซ ลงจากตำแหน่ง เป็นการแข่งขันกันระหว่างม้า 2 ตัว ตัวแรกคือ รามอน กัลเดร่อน และ อีกคนคือ ฆวน ปาลาซิออส ซึ่งท้ายที่สุด กัลเดร่อน ชนะไปเฉียดฉิว (ปาลาซิออส ได้ 8,098 โหวต ส่วน กัลเดร่อน ได้ 8,344 โหวต) 

หลังจากชนะการเลือกตั้ง รามอน กัลเดร่อน ประกาศชัดเจนว่าจะนำถ้วยยุโรปที่แฟนบอล มาดริด คาดหวังกลับมายังสโมสรนี้ให้ได้ เริ่มด้วยการแต่งตั้ง ฟาบิโอ คาเปลโล่ กุนซือแชมป์ลีกอิตาลี 2 สมัยซ้อนจาก ยูเวนตุส ซึ่งถือว่าเป็นโค้ชระดับท็อปในโลก ณ เวลานั้น และผละหนียูเว่เพราะคดี กัลโช่โปลี อันอื้อฉาว

จริง ๆ จะว่า คาเปลโล่ ทำทีมแย่ก็ไม่ใช่อีก เพราะเขาพาทีมคว้าแชมป์ ลา ลีกา ในฤดูกาล 2006-07 แต่ในเวทียุโรป อันเป็นถ้วยแชมป์ที่ยืนยันความยิ่งใหญ่ มาดริด กลับพ่ายให้ บาเยิร์น มิวนิค ตกรอบ 16 ทีมสุดท้ายอย่างรวดเร็ว เมื่อบวกกับแท็คติกมหาอุด และการดร็อป เดวิด เบ็คแฮม กับ โรนัลโด้ จนทั้งสองย้ายหนี บอร์ดบริหารเลยไม่ลังเล ปลดออกหลังคุมแค่ซีซั่นเดียวเท่านั้น

หลังจากนั้น แม้ขบถลูกหนังนาม แบรนด์ ชูสเตอร์ จะเข้ามาคุมทีมต่อ และคว้าแชมป์ลาลีกาในฤดูกาล 2007-08 แต่ มาดริด ก็ตกรอบ 16 ทีมอีกครั้ง โดยแพ้ โรม่า ก่อนที่ฤดูกาล 2008-09 แม้เปลี่ยนกุนซือระหว่างทางเป็น ฆวนเด้ รามอส แต่ก็แพ้ ลิเวอร์พูล ตกรอบ 16 ทีม 3 ปีติด ซึ่งแน่นอนว่าแฟนบอลไม่พอใจมาก ที่ตกรอบเร็วแบบไม่ได้ลุ้นเช่นนี้ 

"ลา เดซิม่า (แชมป์ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก สมัยที่ 10) คือสิ่งที่แฟนบอลของเราหมกมุ่น เป็นความฝัน และเป็นเป้าหมาย ทุกคนในสโมสรนี้เชื่อว่า ถ้วยยุโรปคือเกมของเรา แม้เราจะรู้ว่ามันยาก แต่เราลงแข่งแต่ละปีด้วยการตั้งเป้าหมายไว้ที่แชมเปี้ยนเท่านั้น" กัลเดร่อน กล่าว

มันคือความหมกมุ่นจริงอย่างที่ กัลเดร่อน บอก ถ้าเป็นสโมสรอื่นการได้แชมป์ลีกถือเป็นความสำเร็จ โค้ชที่ทำทีมคว้าแชมป์ได้ควรจะได้เวลาสร้างทีมของเขาต่อไป แต่ไม่ใช่กับที่ เรอัล พวกเขาเปลี่ยนโค้ชเพื่อแชมป์ยุโรป หลายหนและหลายคน คาเปลโล่ พลาด ปลด ! ชูสเตอร์ พลาด ปลด ! มานูเอล เปเยกรินี่ พลาด ปลด ! 

หนำซ้ำ การซื้อตัวก็เริ่มเปลี่ยนไป จากที่เคยหยิบเป็นโดน หยิบเป็นดัง ทั้งผลงานและค่าตัว เรอัล มาดริด ในยุคหลังปี 2006 เสริมทัพด้วยชื่อชวนอึ้งเสมอ ฮามิต อัลตินท็อป ? เอ็มมานูเอล อเดบายอร์ ? ฌูเลียง โฟร์แบร์ ? ลาสซาน่า ดิยาร์ร่า ? รอยส์ตัน เดรนเธ่ ... มากมายเกินกว่าจะนับ  

ทั้งสองเหตุผลประกอบกัน ทำให้ เรอัล มาดริด ไม่สามารถตั้งทรงได้เพราะปลดโค้ชแทบทุกปี บางปีปลด 2 คนเลยด้วยซ้ำ ไหนจะเรื่องของนักเตะที่คุณภาพไม่ถึง เล่นบนความกดดันระดับทีมอย่าง มาดริด ไม่ได้ จุดนี้เองทำให้แฟนของ เรอัล ต่างก็คิดถึงการบริหารของ เปเรซ มันกลายเป็นความคิดที่ว่า ในเมื่อเปลี่ยนแนวทางแล้วไม่ดีขึ้น กลับมาซื้อนักเตะระดับสตาร์มาใช้งานเหมือนเดิมไม่ดีกว่าหรือ ?  

เมื่อเสียงเรียกร้องจากแฟน ๆ ดังหนาหู ชายคนที่พวกเขาคิดถึงก็กลับมา ฟลอเรนติโน่ เปเรซ ลงชิงตำหน่งประธานสโมสรในปี 2009 และหนนี้ "พ่อใหญ่" ตัวจริง ชนะด้วยคะแนนขาดลอย

แน่นอนว่าในวันกล่าวเปิดตัวรับตำแหน่ง เปเรซ ปลุกใจทุกคนในสโมสรด้วยคำกล่าวที่บอกว่า "ผมจะไม่มีวันหยุด หากเราไม่สามารถพิชิต ลา เดซิมา ได้" เสียงเฮกึกก้อง และโมเดลบริหารฉบับเปเรซ ครั้งให่ก็ได้เริ่มขึ้น 

 

ไปต่อถึงการเป็นราชา 

แม้การกลับมาของ เปเรซ จะสร้างความฮึกเหิม แต่ในช่วงเวลาหลายปีที่ มาดริด ล้มลุกคุกคลาน กลายเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่คู่ปรับเบอร์ 1 ของพวกเขาอย่าง บาร์เซโลน่า เรืองอำนาจ ภายใต้การนำของ เป๊ป กวาร์ดิโอล่า, ลิโอเนล เมสซี่ และสมาชิกต่างดาว ที่พากันครองโลกด้วยแท็คติก "ติกิ ตากะ" ช่วงที่ เปเรซ ไม่ได้บริหาร มาดริด เพียง 4-5 ปี บาร์เซโลน่า คว้าแชมป์ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ไปแล้ว 2 ครั้ง ในปี 2006 และ 2009

แต่ เปเรซ ก็คือ เปเรซ นี่คือชายที่เกิดมาเพื่อทำตามสิ่งที่ตัวเองพูด เขาเริ่มทุ่มเงินซื้อนักเตะอีกครั้ง คริสเตียโน่ โรนัลโด้, กาก้า และ คาริม เบนเซม่า ถูกนำเข้ามาในปี 2009 ก่อนที่ปีต่อมา ก็ดึงตัว โชเซ่ มูรินโญ่ ที่เพิ่งพา อินเตอร์ มิลาน คว้า 3 แชมป์ เมื่อปี 2010 รวมถึงแชมป์ยุโรป ด้วยการผ่าน บาร์เซโลน่า ในรอบรองชนะเลิศมาคุมทีม 

มูรินโญ่ อาจจะพาทีมคว้าเพียงแชมป์ลีก แชมป์บอลถ้วย และไม่สามารถพาพวกเขาไปถึงแชมป์ยุโรปได้ แต่ระยะความห่างมันถูกลดลงเรื่อย ๆ จากที่เคยตกรอบ 16 ทีมสุดท้ายบ้าง 8 ทีมสุดท้ายบ้าง มาดริด เริ่มมาถึงรอบตัดเชือกมากขึ้นแล้ว 

ในช่วงเวลาเดียวกัน การเสริมทัพยังคงดำเนินต่อไป นโยบายหนนี้ไม่เหมือนกับ กาลาติกอส ในยุค 2000s เพราะไม่ได้ซื้อแค่สตาร์แบบทุบสถิติโลกอย่าง แกเรธ เบล เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่เป็นการซื้อนักเตะที่ยังหนุ่มยังแน่น กำลังไต่ระดับขึ้นสู่การเป็นตัวท็อปหลาย ๆ คนเข้ามา ในช่วงเวลาดังกล่าว ลูก้า โมดริช, เมซุต โอซิล, อังเคล ดิ มาเรีย, ซามี่ เคดิร่า, มาร์เซโล่, กอนซาโล่ อิกวาอิน … และอีกมากมายหลายคนเข้ามาเพื่อเป็นขุมกำลังในระยะยาว 

และทุกอย่างก็ถูกจูนเข้าด้วยกันโดยกุนซือคนต่อไป ซึ่งถือว่าเป็นคนเริ่มยุคสมัยของ เรอัล มาดริด อย่างแท้จริง นั่นคือ คาร์โล อันเชล็อตติ ชายผู้เชี่ยวชาญเรื่องการจัดการขุมกำลัง ต่อให้คุณจะมีนักเตะมากมายหลายคน มีตัวเลือกเยอะแค่ไหน เขาจะหาระบบการเล่นที่เหมาะสมกับทีมได้อย่างรวดเร็ว และพุ่งตรงไปยังทิศทางที่ถูกต้อง 

ฤดูกาล 2013-14 มาดริด ยุค อันเชล็อตติ ไล่ถล่ม ชาลเก้ ด้วยสกอร์รวม 9-2 ในรอบ 16 ทีมสุดท้าย ต่อด้วยการน็อก โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ กับสกอร์รวม 3-2 และทำให้กระแส "เจ้ายุโรป" กลับมาเต็มตัวในรอบ 12 ปี ด้วยการไล่โขยก บาเยิร์น มิวนิค ที่มี "สายเลือดของศัตรูตัวฉกาจ" อย่าง เป๊ป กวาร์ดิโอล่า คุมทีม ด้วยสกอร์รวม 5-0 ... คู่ชิงของพวกเขาคือ แอตฯ มาดริด ทีมที่พวกเขาข่มเรื่องสถิติการพบกันมาตลอด ถึงตอนนั้นนักเตะของ มาดริด เกิดความมุ่งมั่น ฮึกเหิม และมั่นใจขึ้นมาลึก ๆ แล้ว 

"เราใช้เวลาหลายปีในการไล่ล่าแชมป์ยุโรป ... ตั้งแต่วันแรกที่ผมมาถึงสโมสรนี้ ผมรู้สึกกดดันและมันเป็นแรงกดดันเชิงบวกที่ทำให้เราพยายามทุ่มเกินขีดจำกัดมาโดยตลอด ตอนนี้เรากำลังมั่นใจในการเดินลงสนามนัดชิงชนะเลิศ ... อีกก้าวเดียวเท่านั้น อีกก้าวเดียว" คริสเตียโน่ โรนัลโด้ ว่าแบบนั้นก่อนเกมกับ แอตฯ มาดริด จะเริ่มขึ้น 

อย่างที่เรารู้กัน แม้จะลุ้นกันจนนาทีสุดท้ายด้วยการโดนนำไปก่อน 0-1 แต่ประตูตีเสมอจากลูกโหม่งของ เซร์คิโอ รามอส คือสัมผัสจุดประกายในนาทีที่ 90+3 และในช่วงต่อเวลาพิเศษ นาทีที่ 100 แกเรธ เบล ทำให้ทีมนำ 2-1 ก่อนที่ มาร์เซโล่ ยิงลุยขึ้นมาซัด 3-1 ในนาที 118 และปิดผนึก ลา เดซิม่า ที่พวกเขารอคอยด้วยจุดโทษของ คริสเตียโน่ โรนัลโด้ 

4 ประตูต่อ 1 ... เจ้ายุโรปกลับมาแล้ว จะใช้คำนี้ก็คงไม่เกินเลยไปนัก มันคือการระเบิดพลังของ เรอัล มาดริด กลุ่มนักเตะหนุ่มที่เคยซื้อเข้ามาเพื่อหวังผลระยะยาว ประสบความสำเร็จมากมายหลายคน พวกเขาเปลี่ยนจากเด็กหนุ่มเป็นผู้ใหญ่ด้วยแชมป์ยุโรปครั้งนั้น  

การคว้าแชมป์ครั้งนี้ปลดล็อกทุกอย่าง ทั้งในแง่ประสบการณ์และความยอดเยี่ยมส่วนบุคคล เหนือสิ่งอื่นใด นักเตะ มาดริด ยังกลายเป็นพวกที่ทานทนต่อความกดดัน ... เมื่อถึงนัดชิงชนะเลิศเมื่อไหร่ พวกเขาไม่เคยพลาด ด้วย DNA ที่ส่งต่อกันมาจนถึงทุกวันนี้ ซื้อสตาร์ดังที่สามารถแบกทีมได้ - เสริมคนหนุ่มที่ใช้งานได้ในระยะยาวมีศักยภาพสูง - ใช้โค้ชที่มีประสบการณ์ควบคุมนักเตะทั้งทีมได้อยู่มือ และมีทีมบริหารที่เขี้ยวลากดิน 

ฟลอเรนติโน่ เปเรซ ทำสำเร็จตามสัญญา ยุคสมัยของ เรอัล มาดริด เริ่มขึ้น และนับแชมป์ยุโรปจากสมัยที่ 10 เป็น 11 - 12 - 13 และ 14 จนกระทั่งมาถึงการล่าแชมป์สมัยที่ 15 กับ โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์  

ต้องมารอดูกันว่า พวกเขาจะยืดสถิติการเป็น "บอส" แห่งเวทียุโรปได้หรือไม่ ? 

 

แหล่งอ้างอิง

https://www.nytimes.com/athletic/5522005/2024/05/29/real-madrid-champions-league-final-la-decima/
https://www.nytimes.com/athletic/4985671/2023/10/26/real-madrid-florentino-perez-la-liga/
https://www.theguardian.com/football/2006/jul/03/europeanfootball.realmadrid
https://www.sanook.com/sport/1036757/
https://m.allfootballapp.com/news/All/10-players-whose-careers-went-downhill-after-joining-Real-Madrid/882365 

Author

ชยันธร ใจมูล

นักเขียนลูกสอง จองเรื่องฟุตบอลและมวยโลก รู้จริงบ้าง ไม่จริงบ้าง แต่เขียนแล้วอินทุกเรื่อง

Graphic

อภิสิทธิ์ โชติพิบูลย์ทรัพย์

Art Director ผู้รับเหมางานภาพกราฟิกหน้าปกบทความทุกชิ้น