Feature

เปิดปรัชญา "ฌอน ไดช์" ใจถึง ๆ กับ บอลไดเร็กต์ ที่ช่วยให้ เอฟเวอร์ตัน รอดตกชั้น | Main Stand

ใน พรีเมียร์ ลีก อังกฤษ ฤดูกาล 2023-24 เอฟเวอร์ตัน ภายใต้การทำทีมของ ฌอน ไดช์ ถูกมองว่าเป็นหนึ่งในทีมที่เป็นตัวเต็งตกชั้น 

 

สาเหตุเพราะพวกเขาโดนตัดแต้มถึงสองครั้ง รวมทั้งสิ้น 8 คะแนน (รอบแรก 10 คะแนน แต่ภายหลังอุทธรณ์ลดเหลือ 6 คะแนน, รอบสอง 2 คะแนน) ฐานละเมิดกฎทางการเงินของลีก หรือ PSR (Profit and Sustainability Rules) ที่ระบุว่าทุกสโมสรต้องมีผลประกอบการขาดทุนห้ามเกิน 105 ล้านปอนด์ (ราว 4,560 ล้านบาทไทย) ภายในกรอบระยะเวลา 3 ปีหลังสุด 

อย่างไรก็ตาม ฌอน ไดช์ สามารถพาทัพ "ทอฟฟี่สีน้ำเงิน" อยู่รอดบนลีกสูงสุดได้ เก็บไปถึง 40 คะแนน จบอันดับ 15 ของตาราง

Main Stand จะพาทุกคนไปส่องความคิด ฌอน ไดช์ ว่าเขาทำอย่างไรถึงสามารถพาทีมพลิกนรกได้

 

Mindset ผู้นำ

ฌอน ไดช์ เป็นผู้จัดการทีมชาวอังกฤษ ที่ขึ้นชื่อเรื่องความมุ่งมั่น ตั้งใจ และทะเยอทะยาน พิสูจน์ได้จากการพา เบิร์นลี่ย์ เลื่อนชั้นจาก แชมเปี้ยนชิพ สู่ พรีเมียร์ ลีก อังกฤษ ด้วยการจบอันดับที่ 2 ในฤดูกาล 2013-14 อย่างไรก็ดี ฤดูกาลถัดมา เขาไม่สามารถช่วยให้ต้นสังกัดอยู่รอดบนลีกสูงสุดแดนผู้ดีได้ กลับมาอยู่ลีกรองอีกครั้ง แต่แค่เพียงฤดูกาลเดียวเท่านั้น "เดอะ คลาเร็ตส์" ก็กลับมายังพรีเมียร์ ลีก ในฐานะแชมป์ลีกรอง 

โดยสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดตอนที่เขานั่งเก้าอี้กุนซือเบิร์นลีย์ ฌอน ไดช์ ได้เปิดเผย 12 ข้อสำคัญในแง่ความเป็นผู้นำ ผ่านหนังสือ 'The Making of a Leader' ที่เขียนโดย ทอม ยัง นักจิตวิทยาด้านการทำงาน ประกอบด้วย 

1. COMMON SENSE (สามัญสำนึก)

ฌอน ไดช์ อธิบายว่าแนวทางของเขาเป็นหนึ่งในสามัญสำนึก และเลี่ยงที่จะใช้คำว่า "ปรัชญา" โดยอิงจากการวางแผนที่ดี มีหลักจริยธรรม และวัฒนธรรมที่สอดคล้องกัน รวมถึงความตระหนักรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัว 

"มันยังคงเป็นฟุตบอล เราเป็นสโมสรฟุตบอล การใช้คำว่า 'ปรัชญา' ผมคิดว่ามันหมายถึงสติปัญญาลม ๆ แล้ง ๆ ใช่ไหม ? เป็นการพาตัวเองไปอยู่ในกรอบของการคิดแบบกูรูเชิงลึก มันเป็นเพียงคำศัพท์ที่ยิ่งใหญ่สำหรับคนที่พูดถึงฟุตบอล วิธีการทำงานของเราเป็นเพียงสามัญสำนึกที่ดี"

2. CULTURE (วัฒนธรรม)

วัฒนธรรมสโมสร คือสิ่งสำคัญอันดับแรกในมุมมองของ ฌอน ไดช์ โดยเมื่อตอนที่เขาเข้ามารับตำแหน่งที่ เบิร์นลีย์ ใหม่ ๆ เขาได้แจกบททดสอบแก่นักเตะโดยไม่ระบุตัวตน เพื่อที่จะได้ทราบมุมมองอย่างตรงไปตรงมาเกี่ยวกับวัฒนธรรมสโมสรที่กำลังเป็นอยู่ เพราะหากมีวัฒนธรรมสโมสรที่ดี ผู้คนจะสอดคล้องกันภายใต้ความเชื่อและค่านิยมที่มีร่วมกัน กระตุ้นด้วยความรู้สึกมีจุดมุ่งหมาย และเริ่มให้ความสำคัญกับความต้องการของทีมมากกว่าความสำเร็จของตนเอง

"วัฒนธรรมสโมสรเป็นเรื่องใหญ่สำหรับผมมาก ๆ วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมเป็นสองสิ่งสำคัญ มันพูดง่ายแต่ทำยาก ผู้คนมักพูดว่า 'โอ้ พวกเขามีวัฒนธรรมที่ดี' หรือ 'พวกเขากำลังจะใส่วัฒนธรรมใหม่' แต่อย่างไรเสียมันไม่ใช่แค่หนึ่งสัปดาห์เท่านั้น มันต้องใช้เวลา"

3. SHORT-TERM RESULTS AND LONG-TERM PROGRESS (ผลลัพธ์ระยะสั้นและความก้าวหน้าระยะยาว)

กุนซือชาวอังกฤษ ยอมรับว่าทีมต้องการผลการแข่งขันที่ดีที่สุด "เกมถัดไปคือเกมที่สำคัญที่สุด นั่นคืองานของผม" ทว่าในขณะเดียวกัน ฌอน ไดช์ ก็มุ่งมั่นที่จะสร้างสมดุลด้วยการสร้างสภาพแวดล้อมที่ยั่งยืน ซึ่งมุ่งเน้นที่มากกว่าผลลัพธ์ของการแข่งขันแต่เกม 

"คุณชนะได้อย่างไรและอยู่ในระดับไหน ? คุณกำลังชนะด้วยจรรยาบรรณในการทำงาน ความเคารพ ความเป็นมืออาชีพ การอุทิศตน หรือคุณชนะโดยบังเอิญ ? เราพูดถึงชัยชนะที่แท้จริง คุณกำลังสร้างอะไร ? เราบรรลุผลสำเร็จในระยะเวลาที่ยาวนานขึ้นหรือไม่ ? คุณในฐานะปัจเจกบุคคลบรรลุสิ่งที่ตนเองต้องการบรรลุหรือไม่ ?

"ทีมรวมถึงทั้งสโมสรประสบความสำเร็จหรือไม่ ? คุณชนะในระดับที่ดีกว่าแค่อันดับในตารางลีกหรือไม่ ? แน่นอนว่านั่นคืองานของผม แต่มีอะไรซ่อนอยู่ภายในนั้นหรือเปล่า ? ผมชอบที่จะเห็นผู้เล่นก้าวไปข้างหน้า และผมก็ต้องการเห็นภาพที่ใหญ่กว่านี้"

4. REPRESENTING THE PEOPLE (การเป็นตัวแทนของทุกคน)

ฌอน ไดช์ ใช้ตัวเองเป็นตัวเชื่อมระหว่างสโมสร นักเตะ และแฟนบอล โดยเขาใช้หลักการ "เมืองของเรา สนามหญ้าของเรา ทีมของเรา" และกล่าวเมื่อตอนยังเป็นผู้จัดการทีม เบิร์นลี่ย์ ว่า "สิ่งเดียวที่ผมรับประกันได้ในฐานะผู้จัดการทีม เมื่อผมมาที่นี่ก็คือคุณจะมีทีมที่จะทุ่มเททุกอย่าง และผมคิดว่าเราได้ทำสิ่งนั้นมามากแล้ว"

"มันเป็นเรื่องของความคิดโดยรวมและสิ่งสำคัญทั้งหมด มากกว่าแค่ผู้เล่นหรือทีม แฟน ๆ ยืนหยัดเพื่ออะไร ? พวกเขามีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันหรือเปล่า? เพราะมันมีความหมายมากที่นี่ ผมได้เรียนรู้มาตลอดห้าปีครึ่ง และผมไม่ได้บอกว่าสโมสรอื่นไม่ทำ แต่สโมสรเบิร์นลีย์ ได้เข้าไปอยู่ในใจผู้คนในชุมชน"

5. TRUSTING YOUR INSTINCT (เชื่อสัญชาติญาณของตัวเอง)

ปัจจุบันโลกฟุตบอลเต็มไปด้วยข้อมูลหรือการวิเคราะห์สถิติเชิงลึกมากมาย ทำให้บางครั้งผู้จัดการทีมมักหาหลักฐานที่สร้างความอุ่นใจให้แก่ตนเอง แต่สำหรับ ฌอน ไดช์ บางครั้งเขาไม่ได้สนใจเรื่องเหล่านั้น และเชื่อในสัญชาติญาณของตัวเอง

"ในวงการฟุตบอล มันไม่ได้เกี่ยวกับโครงสร้างและกลยุทธ์เสมอไป แต่มันเกี่ยวกับความรู้สึก บางครั้งคุณก็ต้องรู้สึกว่าอะไรคือสิ่งที่จำเป็น คุณไม่สามารถเขียนมันได้ คุณไม่สามารถไปหาอ่านในหนังสือได้ คุณเพียงแค่ต้องได้กลิ่นหรือสัมผัสมัน เชื่อมั่นในตัวเอง และรู้ว่ามันจะพาคุณไปที่ไหน เพราะคุณต่างหากที่ต้องเป็นคนตัดสินใจ"

6. NON-NEGOTIABLES (บางสิ่งไม่สามารถต่อรองได้)

แน่นอนว่าทุกคนบนโลกล้วนแล้วแต่มีชีวิตด้านที่เป็นส่วนตัวกันทั้งนั้น แต่เมื่อนักฟุตบอลเข้ามาอยู่เป็นทีมเดียวกัน ฌอน ไดช์ นั้นจะต้องสร้างกฎหรือข้อตกลงร่วมกันที่สมดุล และทุกฝ่ายจะต้องแฮปปี้ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายนี้ ฌอน ไดช์ ได้ใช้การผสมผสานระหว่างโครงสร้างและความไว้วางใจกับทีมของเขา

"บางอย่างลูกทีมไม่สามารถต่อรองกับผมได้ แต่ในทางกลับกัน ผมก็เปิดโอกาสให้เข้ามาพูดกันนะ อย่างไรก็ตามข้อที่ไม่สามารถขอกันได้มักมีมากกว่าสิ่งที่ต่อรองกันได้เยอะพอสมควร ในที่สุด ผู้เล่นก็พูดว่า 'โอเค ผมจะลองทำตามบ้าง' ผู้เล่นบางคนพยายามปรับตัวให้เข้ากับมัน บางคนยอมรับมัน มีไม่กี่คนที่ไม่ยอมรับ มีบางคนที่ตั้งคำถาม แต่เมื่อพวกเขาเข้าใจแล้ว พวกเขาก็ดำเนินตามนั้น"

7. POSITIVE REALITIES (ความเป็นจริงเชิงบวก)

องค์ประกอบสำคัญของความเป็นผู้นำของ ฌอน ไดช์ คือสิ่งที่เรียกว่า 'ความเป็นจริงเชิงบวก' หรือก็คือการยึดถือวิสัยทัศน์สิ่งที่ทีมของเขาเป็นบวกกับสิ่งที่เป็นไปได้ไปพร้อม ๆ กัน โดย ฌอน ไดช์ พยายามสร้างความสมดุลระหว่างความเชื่อ แรงจูงใจ สำหรับสถานการณ์ความจริงนั้น ๆ ที่กำลังเผชิญอยู่ 

"คุณอาจไม่ต้องคิดบวกถึงขนาดว่าต้องคว้าแชมป์ลีก มันจะต้องมีความเป็นจริงอยู่ในนั้นด้วย คุณต้องยอมรับความเป็นจริงเมื่อต้องเจอช่วงเวลาที่ยากลำบาก คำถามที่ตามมาคือแล้วอะไรหมายถึงความคิดเชิงบวกที่เราสามารถควบคุมและก้าวไปสู่ความท้าทายได้ ? ผมเป็นคนมองโลกในแง่ดีมาก ๆ แต่ถ้ามันไม่ได้สร้างจากความเป็นจริง แล้วคุณจะเอามันไปไว้ที่ไหน ?"

8. PERSPECTIVE (มุมมอง)

ในการแข่งขันอันวุ่นวายของกีฬาฟุตบอลอาชีพในปัจจุบันที่ทุกคนมีความคิดเห็นเกี่ยวกับผลงาน มันเป็นเรื่องง่ายที่จะมีปฏิกิริยาตอบโต้ต่อผลลัพธ์ ซึ่ง ฌอน ไดช์ พยายามต่อต้านการกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาโต้ตอบแบบทันทีทันใด

"เราเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นนะ ผมเตือนลูกทีมแต่เรื่องดี ๆ ที่เราสามารถทำได้เพื่อแก้ไข นั่นเป็นหนึ่งในเรื่องใหญ่ ผมว่าเคล็ดลับส่วนตัวของผมคือการไม่หลุดโฟกัสจากสิ่งที่เรากำลังทำ เพราะบ่อยครั้งสิ่งที่ยากที่สุดในการบริหารคือ ถ้าคุณไม่ชนะ ผู้คนก็จะถามว่า 'ทำไมคุณถึงทำอย่างนั้น ?' หรือ 'ทำไมไม่ทำแบบนี้' แต่สิ่งที่ยากที่สุดที่จะทำคือการไม่เปลี่ยนแปลงหรือโต้ตอบอะไรเลย"

9.BEHAVIOURAL STYLES (รูปแบบพฤติกรรม)

ฌอน ไดช์ ใช้ความฉลาดทางอารมณ์เพื่อสร้างความสัมพันธ์กับเหล่านักเตะในทีม เขาจัดทำโปรไฟล์พฤติกรรมเพื่อทำความเข้าใจว่าอะไรทำให้แต่ละคนไม่สบายใจ โดยกระบวนการนี้เริ่มต้นด้วยการทำความเข้าใจสไตล์และจุดบอดของเขาเอง ก่อนที่จะพิจารณาว่าจะส่งและรับข้อความสำคัญของแต่ละคนได้ดีที่สุดอย่างไร

"มันอยู่ที่ว่าเราจะปรับปรุงวิธีการทำงานร่วมกับผู้เล่นในฐานะปัจเจกบุคคลได้อย่างไร และเราอธิบายเรื่องทั้งหมดให้นักเตะฟัง รวมถึงความเปิดกว้างของมัน ผมโชว์ประวัติพฤติกรรมให้ลูกทีมของผมดู เพราะผมเป็นคนแบบนั้น ผมค่อนข้างเปิดกว้าง แต่บางคนเลือกที่จะไม่ทำ สิ่งที่เราถามก็คือพวกเขาเปิดโอกาสให้เราเข้าใจพวกเขาในรูปแบบพฤติกรรมล้วน ๆ หรือไม่ เป็นแนวทางที่ให้ข้อมูลเชิงลึกว่าผู้เล่นต้องการสิ่งใด"

10.DELEGATE AND TRUST (มอบหมายและไว้วางใจ)

ฌอน ไดช์ มักชอบลดบทบาทตัวเองเป็นประจำ และมอบอำนาจให้ทีมงานสตาฟฟ์ของเขาเป็นคนจัดการการฝึกซ้อมรวมถึงการประชุมทีม สิ่งนี้ไม่เพียงแต่สื่อถึงความไว้วางใจในทีมงานเบื้องหลังของเขาเท่านั้น แต่ยังได้รับฟังเสียงสะท้อนจากมุมที่แตกต่างกันออกไป ขณะเดียวกันก็ช่วยให้ผู้จัดการทีมมองภาพรวมได้ดีขึ้นอีกด้วย

"ผู้เล่นเข้าใจคุณมากพอแล้ว พวกเขาไม่ต้องการได้ยินคุณตลอดเวลา แต่ผมจะอยู่ข้าง ๆ เสมอ บางครั้งผมมันก็แค่ม้ากระซิบกับนักเตะ คุยกันสองนาที ตรงนี้ที ตรงนั้นที"

11.CONSISTENT AND FLEXIBLE (สม่ำเสมอและยืดหยุ่น)

8 ปีของเขากับ เบิร์นลี่ย์ ฌอน ไดช์ ได้นำทีมผ่านช่วงเวลาของการเติบโตทางเศรษฐกิจและสถานการณ์ด้านกีฬาที่หลากหลาย ซึ่งแน่นอนว่าทัศนคติต่าง ๆ จะต้องเปลี่ยนแปลงไปตามเวลา แต่เขายังคงแนวทางการทำทีมอันแน่วแน่ หลักฐานคือการพา เบิร์นลีย์ เลื่อนชั้นครั้งแรกในปี 2014 

แต่อย่างที่กล่าวไปข้างต้น เขาไม่สามารถช่วยให้ทีมอยู่รอดได้ในพรีเมียร์ ลีก ฤดูกาล 2014-15 จบรั้งบ๊วยของตาราง อย่างไรก็ดี ฌอน ไดช์ ใช้เวลาเพียงไม่นาน พา เบิร์นลีย์ กลับมาลีกสูงสุดอีกครั้งในฤดูกาล 2016-17 แถมครั้งนี้ยังอยู่รอดปลอดภัย ด้วยการรักษาความสม่ำเสมอทั้งในแนวทางของเขา ในการเป็นผู้นำ และวัฒนธรรมที่ขับเคลื่อนการปฏิบัติงาน 

"ผมคิดว่าวัฒนธรรมดั้งเดิมและสิ่งที่เรายืนหยัดยังคงอยู่ เราแค่เพิ่มเลเยอร์มันขึ้นไปและมันก็มีรายละเอียดมากขึ้น เพราะผู้เล่นเองก็เพิ่มรายละเอียดเข้ามาด้วย ไม่ใช่แค่เราเท่านั้น ค่านิยมหลักที่เราตั้งไว้เมื่อห้าปีที่แล้วยังคงอยู่ เรายังคงตรวจสอบให้แน่ใจว่าค่านิยมดังกล่าวได้รับการปฏิบัติตาม เราไม่ได้หายไปจากค่านิยมเหล่านั้น เราไม่ได้สูญเสียค่านิยมของเรา"

"ผมยังคงรักษาสิ่งต่าง ๆ ไว้ ผมยังคงทำงานหนัก ผมยังต้องการมัน ผมยังตั้งคำถามกับตัวเองตลอดเวลาว่าสิ่งที่ผมทำอยู่มันถูกต้องหรือไม่ ? ผมดีพอแล้วหรือยัง ?"

12.ALWAYS LEARNING (เรียนรู้อยู่เสมอ)

ในเวลาว่าง ฌอน ไดช์ มักเดินทางไปเยี่ยมเยือนทีมแข่งเรือของมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด และ ฌอน โบว์เดน หัวหน้าโค้ชของพวกเขา โดยเขาระบุถึงโอกาสในการเรียนรู้ที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น "ผมชอบที่จะเรียนรู้อยู่เสมอ ผมอาจมีเวลาแค่วันเดียว แต่ผมก็เข้าถึงทุกซอกทุกมุมได้อย่างสมบูรณ์ ผมไปถึงที่นั่นตั้งแต่ตอนหกโมงเช้า และพวกเขาก็ให้ผมชมทุกอย่าง"

"ผมได้พูดคุยกับโค้ช เห็นเรือปล่อยตัว เห็นรายละเอียดที่พวกเขามีส่วนร่วมในงานด้านเทคนิค การทำงานหนักอย่างแท้จริงกับเครื่องกรรเชียงบก ความตั้งใจและความปรารถนาของผู้ที่ไม่ได้รับค่าตอบแทนในการทำสิ่งนี้ พวกเขากำลังศึกษาระดับปริญญาเอกไปพร้อม ๆ กัน ดังนั้นจึงเป็นภาระงานหนักทั้งกายและใจ นั่นเป็นวันที่ดีจริง ๆ ทุกวันนี้ผมก็ยังนึกถึงอยู่"

 

กอบกู้ เอฟเวอร์ตัน ที่กำลังร่อแร่

30 มกราคม 2023 ฌอน ไดช์ เข้ามารับตำแหน่งกุนซือเอฟเวอร์ตัน แทนที่ แฟรงค์ แลมพาร์ด ที่ทำผลงานได้ไม่ดีนัก จน "ทอฟฟี่สีน้ำเงิน" วนเวียนอยู่ในโซนตกชั้น โดยเกมแรกของ ฌอน ไดช์ เขาพาทีมเปิดบ้าน เอาชนะ อาร์เซน่อล 1-0 ต่อด้วยแพ้ ลิเวอร์พูล 0-2 และเกมต่อไปของ เอฟเวอร์ตัน ณ คือการเจอกับ ลีดส์ ยูไนเต็ด ที่อยู่ในสมรภูมิดิ้นรนหนีตกชั้นเช่นกัน  

ซึ่งก่อนที่เกมกับ ลีดส์ ยูไนเต็ด จะเริ่มฟาดแข้ง ฌอน ไดช์ ได้ออกมาให้สัมภาษณ์กระตุ้นลูกทีมว่า ต้องมีมากกว่าการทำงานหนักและฉลาดในการต่อสู้กับสถานการณ์หนีตกชั้น "คุณต้องค้นหาความสมดุลของการทำให้ทีมแน่น แต่ยังต้องมีอิสระที่จะทำสิ่งต่าง ๆ ในเกม ดำเนินการตามแผนและเล่นไปข้างหน้า สร้างปัญหาให้ฝ่ายตรงข้าม"

"นั่นคือสิ่งที่เราได้พูดคุยกันกับผู้เล่นเมื่อต้องมูฟออนสู่เกมถัดไป ไม่ใช่แค่ความแข็งแกร่งและทำงานหนัก ซึ่งแน่นอนว่ามันเป็นข้อกำหนดเบื้องต้นที่แท้จริงของผม แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องทำงานอย่างชาญฉลาดสำหรับการเล่นเกม"

"ทุกเกมมีความสำคัญ ผู้คนอาจจะตัดเกมกับ อาร์เซน่อล ออกไป แต่เราสามารถคว้าชัยชนะได้ นั่นเป็นสามแต้มที่สำคัญมาก โฟกัสของผมอยู่ที่เกมถัดไปไม่ว่าจะต้องเจอทีมไหนก็ตาม 

"เรากำลังเรียนรู้เกี่ยวกับนักเตะ เรากำลังผลักดันพวกเขาอย่างหนัก เรากำลังเพิ่มขีดจำกัดของพวกเขา สิ่งที่ผมหมกมุ่นอยู่กับมานานหลายปีคือการทลายกำแพงขีดศักยภาพ เราจะมีวันหยุดได้อย่างไร ? นั่นต้องขึ้นอยู่กับผลการแข่งขัน และผมก็รู้ว่าเราต้องทำมันอย่างรวดเร็ว"

ณ เวลานั้น แฟนบอลเอฟเวอร์ตัน มีอารมณ์ที่ไม่ค่อยดีเสียเท่าไรกับผลงานของทีมรัก ถึงขนาดที่รวมกลุ่มกันประท้วงการบริหารของสโมสร บริเวณหน้า กูดิสัน พาร์ค ทว่า ฌอน ไดช์ ก็ทำให้ทุกอย่างเย็นลงด้วยคำพูดนี้ "ผมต้องเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องนั้น ผมไม่ได้มาที่นี่เพื่อเข้าใจความขัดแย้ง"

"แต่ทั้งหมดที่ผมพูดได้คือ แฟนบอลยอดเยี่ยมมากสำหรับการสนับสนุนทีม มันมหัศจรรย์มากเมื่อผมอยู่ที่นี่ แฟนบอลสามารถมีสิทธิ์มีเสียงนะ ผมไม่มีปัญหากับเรื่องนั้นอย่างแน่นอน และถ้าพวกเขาสามารถผลักดันเสียงนั้นไปในทิศทางที่ถูกต้องเมื่อเสียงนกหวีดดังขึ้น นั่นคือสิ่งที่เรากำลังตามหา และพวกเขาทำมันได้อย่างน่าอัศจรรย์จนถึงตอนนี้"

"แฟน ๆ ของเราจะเป็นส่วนสำคัญในการก้าวไปข้างหน้าเพื่อทำให้ความรู้สึกในสนามถูกต้อง และทำให้สนามแข่งขันเป็นสถานที่ที่น่ากลัวและยากในการเล่นสำหรับคู่แข่ง"

นอกจากนี้ ฌอน ไดช์ ยังรีบเข้าไปทำความรู้จักกับ จาร์ราด แบรนธ์เวท กองหลังดาวรุ่งที่ฟอร์มกำลังมาตอนเล่นยืมตัวกับ พีเอสวี ไอนด์โฮเฟ่น "ผมได้คุยกับ จาร์ราด แบรนธ์เวท เพียงเพื่อให้ตามทัน และพูดว่า สวัสดี ให้เขารู้ว่าผมเป็นใคร ดาวรุ่งคนนี้ดำเนินเส้นทางไปได้ดี และเล่นได้ดี และเขาก็เพลิดเพลินกับประสบการณ์นี้ นั่นจะเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาของเขา"

ปรากฏว่าในฤดูกาล 2022-23 เอฟเวอร์ตัน ของ ฌอน ไดช์ รอดตกชั้นอย่างหวุดหวิด ด้วยการเก็บได้ 36 คะแนน จบอันดับที่ 17 ส่ง เลสเตอร์ ซิตี้, ลีดส์ ยูไนเต็ด และ เซาแธมป์ตัน ลงไปเล่น แชมเปี้ยนชิพ 

 

บอลไดเร็กต์พารอด 

หลังจากการถูกตัดแต้มถึงสองครั้งของ เอฟเวอร์ตัน ในฤดูกาล 2023-24 ฌอน ไดช์ ก็เปลี่ยนแปลงสไตล์การทำทีมจากที่เน้นเกมรับและสวนกลับโดยใช้ปีกสองข้างเปิดให้กองหน้าเข้าทำประตู เป็นการใช้ฟุตบอลไดเร็กต์มากขึ้น พร้อมกับให้ลูกทีมวิ่งเพรสซิ่งไล่บี้คู่แข่งแบบไม่ให้หยุดพัก

ปรากฏว่าตั้งแต่เดือนเมษายน 2024 ซึ่งเป็นช่วงโค้งสุดท้ายก่อนปิดฉากฤดูกาล เอฟเวอร์ตัน สามารถโกยแต้มได้เยอะพอที่จะการันตีอยู่รอดบนลีกสูงสุด โดยเฉพาะเกมที่ เอฟเวอร์ตัน เปิดบ้านเอาชนะ ลิเวอร์พูล 2-0 ซึ่งนับเป็นชัยชนะในเมอร์ซีย์ไซด์ดาร์บี้เป็นครั้งแรกในรอบ 14 ปีที่ กูดิสัน พาร์ค แต่ก็ยังไม่วายถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องวิธีการรวมถึงแท็คติกการเล่น 

อย่างไรก็ตาม ฌอน ไดช์ อธิบายว่า "ฟุตบอลสวยงามผมก็ทำได้นะ แต่ตอนนี้การคว้าชัยชนะต้องมาเป็นอย่างแรก ผมต้องทำทุกวิธีเพื่อคว้า 3 คะแนน การตัดสินที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ณ ขณะนี้คือการชนะ นี่ไม่ใช่เวลาของสไตล์ แต่เป็นเวลาแห่งชัยชนะ"

"ผมพูดเสมอว่าผมกำลังพยายามสร้างรากฐานในการทำทีม หากคุณเข้าใจสิ่งนั้น สโมสรจะมีสถานะและรูปแบบการเล่นที่ดีขึ้น แล้วคุณก็จะสามารถเริ่มพัฒนาสไตล์ได้ แต่ในตอนนี้ ผมมีสไตล์ผู้เล่นที่แตกต่างกันมาจากผู้จัดการทีมที่แตกต่างกัน และการปั้นให้เป็นหนึ่งเดียวและการชนะเกมเป็นเรื่องยากมาก"

"ผมชอบฟุตบอลไดเร็กต์ เมื่อคุณพูดถึงการเล่นฟุตบอลไดเร็กต์ ผู้คนคิดว่าคงหมายถึงเตะบอลมั่ว ๆ ไปข้างหน้า แต่มันไม่ได้หมายความว่าอย่างนั้นเลย คุณสามารถพลิกแพลงและเล่นไปข้างหน้าได้กี่ครั้ง ? นั่นคือฟุตบอลโดยตรง คุณต้องเจาะแนวรับคู่แข่งเข้าไป"

"การจ่ายบอลรอบเส้นหกหลานั้นไม่เหมาะกับผม ผมไม่เห็นคุณค่าในสิ่งนั้น ผมไม่เห็นคุณค่าของมันในฐานะผลงาน และผมไม่เห็นคุณค่าของมันในฐานะแฟนบอล เว้นแต่ว่าคุณกำลังทำให้เกมหมดสนุก แต่แท็กติกเราไม่ได้เกี่ยวกับฟุตบอลที่นี่ ความคิดของผมเกี่ยวกับฟุตบอลไดเร็กต์คือคุณสามารถเจาะคู่แข่งได้เร็วแค่ไหน"

สุดท้ายนี้ด้วยวิธีการที่ ฌอน ไดช์ ใช้ ส่งผลให้ เอฟเวอร์ตัน ยังไม่เคยตกชั้นนับตั้งแต่ลีกสูงสุดของอังกฤษเปลี่ยนจาก ดิวิชั่น 1 เป็น พรีเมียร์ ลีก และยังคงรักษาสถิติ กับการเป็นทีมที่อยู่ลีกสูงสุดของฟุตบอลอังกฤษมากฤดูกาลที่สุดต่อไป

 

แหล่งอ้างอิง :

https://trainingground.guru/articles/sean-dyche-12-lessons-in-leadership
https://www.bracknellnews.co.uk/sport/national/23328980.sean-dyche-wants-everton-players-work-hard-smart-relegation-battle/
https://www.theguardian.com/football/2024/apr/25/sean-dyche-defends-his-everton-tactics-not-a-time-for-style-a-time-to-win
https://www.theguardian.com/football/article/2024/may/02/sean-dyche-still-earning-the-right-to-be-everton-manager-despite-sealing-safety
https://www.theguardian.com/football/2023/dec/18/sean-dyche-hopes-everton-finding-winning-culture-carabao-cup-fulham

Author

รณกฤต ตุลยะปรีชา

วัยรุ่นคู้บอน

Photo

วัชพงษ์ ดวงแปง

Main Stand's Backroom staff

Graphic

อภิสิทธิ์ โชติพิบูลย์ทรัพย์

Art Director ผู้รับเหมางานภาพกราฟิกหน้าปกบทความทุกชิ้น