การเล่นของ อเลฮานโดร การ์นาโช่ ในช่วงหลัง ๆ ทำเอาแฟนบอล แมนฯ ยูไนเต็ด อดห่วงไม่ได้ เนื่องจากสไตล์การเล่นที่หนักไปทาง "เลี้ยงไม่ส่ง" เสียส่วนใหญ่
อย่างที่รู้กัน เขาคือแฟนคลับพันธุ์แท้ของ คริสเตียโน่ โรนัลโด้ และพยายามจะตามรอย "CR7" ให้ได้ แต่ในอีกทาง ก็มีความน่ากังวลว่า เขาจะต้องพยายามอีกมากในการก้าวข้ามคำว่า "ดาวรุ่ง" เหมือนอย่างที่ มาร์คัส แรชฟอร์ด ดูจะก้าวไม่ผ่านคำนี้เสียที
เราจะลองไล่เรียงและเปรียบเทียบการเติบโตของ โรนัลโด้ และ แรชฟอร์ด เพื่อมาเทียบว่า การ์นาโช่ จะไปสุดทางได้ เขาต้องทำอะไร และเริ่มแปลงตัวเองบ้าง ?
ติดตามที่ Main Stand
ขึ้นมาแบกก่อนวัยอันควร
สิ่งที่เราต้องให้ความเป็นธรรมกับ การ์นาโช่ ก่อนเลยเป็นอันดับแรกคือ เขาก้าวขึ้นมาแบกเกมรุกริมเส้นของ แมนฯ ยูไนเต็ด ในซีซั่น 2023-24 ยืนยันได้จากการเป็นนักเตะที่มีส่วนร่วมกับประตูมากที่สุด ทั้งการยิงและแอสซิสต์ที่ 11 ลูก (ยิง 7, แอสซิสต์ 4) และเขาอายุเพียง 19 ปีเท่านั้น
นักเตะในวัยขนาดนี้ ล้วนต้องการพี่เลี้ยง หรือพี่ใหญ่ทั้งในและนอกสนาม ที่คอยแนะนำ หรือตักเตือนในในเรื่องต่าง ๆ ซึ่งยอดแข้งของโลกหลายคนก็ยังต้องถูกบ่มเพาะจากรุ่นพี่
ลิโอเนล เมสซี่ เดินทางไปไหนมาไหนด้วยการนั่งข้างกับ โรนัลดินโญ่ ตลอด ในวันที่เขากำลังแจ้งเกิดกับ บาร์เซโลน่า ขณะที่ คริสเตียโน่ โรนัลโด้ เองก็โดนตบโดนทุบ (เปรียบเทียบ) กับเหล่านักเตะของ แมนฯ ยูไนเต็ด หลายคน กว่าจะเริ่มเข้ารูปเข้ารอย และต่อยอดจนเป็นนักเตะระดับโลก
รุ่นพี่เหล่านี้ทำให้พวกเขาเก่งขึ้นแค่ไหน มีแต่พวกเขาที่รู้ แต่ที่แน่ ๆ การมีรุ่นพี่คอยให้คำแนะนำ จะทำให้พวกเขาเข้าใจอะไรบางอย่างได้ดีขึ้นมาก เช่น "ฟุตบอลคือทีม เก่งแค่ไหนก็ต้องเล่นให้เป็นประโยชน์กับทีม" ซึ่ง โรนัลโด้ เคยเกือบอยู่ไม่ได้ เพราะไม่ยอมจ่ายบอลให้คนอื่นมาแล้ว
นี่คือตัวอย่างคร่าว ๆ ถ้าคุณมองไปที่ การ์นาโช่ ในวัย 19 ปี ตอนนี้ ทุกคนคาดหวังไปที่เขาทั้งหมด เนื่องจากผู้เล่นคนอื่น ๆ ต่างก็มีปัญหาเรื่องต่าง ๆ แตกต่างกันไป ไม่พร้อมจะลงเล่นทุกเกมเหมือนกับเขา เราจึงได้เห็นความโดดเดี่ยวแทบจะทุก ๆ เกมที่เขาลงสนาม
การ์นาโช่ อยากจะทำอะไรก็ได้ มันเหมือนจะขึ้นอยู่กับเขาทั้งหมด เนื่องจากรูปแบบการเข้าทำของ ยูไนเต็ด ส่วนใหญ่ต้องพึ่งความสามารถเฉพาะตัวในการทะลวงแนวรับคู่แข่ง มากกว่าการค่อย ๆ ลำเลียงบอลเข้าไปอย่างมีรูปแบบ
ยกตัวอย่างในเกมกับ อาร์เซน่อล ล่าสุด ที่ต่อให้ การ์นาโช่ จะโดนวิจารณ์เรื่องการเลี้ยงบอลมากเกินไป ไม่ยอมส่ง แต่หากพิจารณาจากความเป็นจริงคือ ถ้าไม่มีการพยายามเลี้ยงของเขา ยูไนเต็ด ก็ไม่มีอะไรจะมากดดันแนวรับของ อาร์เซน่อล ได้เลย
ครั้นจะเงยหน้าขึ้นมองเพื่อนแต่ละจังหวะ มันก็ไม่ใช่จังหวะที่เพื่อนโล่งโจ้งอยู่ในโอกาสยิงที่ดีกว่าเขา หรืออยู่ในพื้นที่ที่บอลจะส่งไปถึงง่าย ๆ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องน่าเสียดาย ที่นักเตะในวัยอย่างเขาต้องคิดเอง ทำเองในสนามไปเสียทุกเรื่อง แทนที่จะมีคนช่วยประคองที่มีคุณภาพมากกว่าเขา เพื่อให้เขาได้มีพื้นที่มีเวลาเล่นกว่านี้
เรียกง่าย ๆ และพูดตรง ๆ ก็คือ แมนฯ ยูไนเต็ด มีความเป็นทีมน้อยเกินไป จนต้องมีใครสักคนมาแบกเพื่อจุดประกายในเกมรุก ซึ่งนักเตะลักษณะนั้นที่พอจะฝากความหวังได้ก็มีแค่ การ์นาโช่ คนเดียว ณ ตอนนี้
จากที่กล่าวมา คือการพยายามจะบอกว่า เราโทษ การ์นาโช่ ทั้งหมดไม่ได้ เขาเป็นนักเตะที่มีศักยภาพ และจะดีกว่านี้ได้แน่ ๆ แต่ตัวของเขาควรทำอย่างไร เพื่อต่อยอดความสามารถตัวเองให้ไปถึงระดับโลกออย่าง โรนัลโด้ ไอดอลของเขา มากกว่าการเป็นนักเตะแบบครึ่ง ๆ กลาง ๆ จะเก่งที่สุดก็ไม่ใช่ จะแย่ที่สุดก็ไม่เชิงอย่าง แรชฟอร์ด แบบที่ใครเป็นห่วง
อะไรที่จะทำให้เขาเป็นอย่าง โรนัลโด้ ?
สภาพแวดล้อมของ โรนัลโด้ ในช่วงวัยทีนเอจ ก่อนเข้าสู่การเป็นผู้ใหญ่เต็มตัว ถือว่าแตกต่างกับ การ์นาโช่ ในตอนนี้มาก ๆ
อย่างที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น โรนัลโด้ มีรุ่นพี่ที่ทำให้ความกดดันของเขาน้อยลงหลายคน รุด ฟาน นิสเตลรอย, ไรอัน กิ๊กส์, พอล สโคลส์ และอีกหลายคน ที่ทำหน้าที่สำคัญกว่าเขาตอนที่ยังเป็นดาวรุ่ง ดังนั้น โรนัลโด้ จึงค่อย ๆ เติบโตได้ โดยไม่จำเป็นจะต้องเร่งการพัฒนา ส่งลงสนามทุกเกมแบบเลี่ยงไม่ได้ เพราะไม่มีตัวแทนที่ดีกว่าเขา แบบที่ การ์นาโช่ เป็นในเวลานี้
โรนัลโด้ ตอนอายุ 19 ปี ได้เล่นเกมลีกกับ ยูไนเต็ด ทั้งหมด 29 เกม โดยลงตัวจริงไป 15 นัด ลงมาเป็นตัวสำรอง 14 นัด และมีถึง 4 เกมที่เขาถูกนั่งอยู่บนม้านั่งโดยไม่ถูกส่งลงสนาม เรียกได้ว่าปีแรก ๆ โรนัลโด้ โดนไม้แข็งจากทั้งโค้ชและรุ่นพี่สารพัด
"โรนัลโด้ ต้องการการเรียนรู้อีกพอสมควรเลยนะ นั่นคือข้อความที่ทีมพยายามจะบอกกับเขา ไม่ใช่แค่ เฟอร์กี้ ที่รู้สึกได้ (ว่าพยายามเล่นเพื่อตัวเอง) ทุกคนในทีมลงความเห็นตรงกัน หมอนี่ต้องเรียนรู้อีกเยอะเลย" ริโอ เฟอร์ดินานด์ พูดถึงรุ่นน้องอย่าง โรนัลโด้ ในวันที่ยังเป็นนักเตะที่เล่นไม่เป็นทีม
มีข้อมูลเปิดเผยในสารคดีของ โรนัลโด้ ว่า ในตอนที่เขาอายุ 19 ปี และเล่นไม่เป็นทีม เฟอร์กี้ ได้เตือนสติเขาครั้งสำคัญ ด้วยการเปิด "ไดร์เป่าผม" ด่ากราดไปชุดใหญ่ และยืนยันว่าถ้าไม่พัฒนาหรือเปลี่ยนแปลง เขาจะไม่ได้ลงสนามอีก ... หลังจากนั้น โรนัลโด้ ก็ไม่มีชื่ออยู่ในทีม 3 เกมติดต่อกัน และว่ากันว่า นั่นเป็นครั้งแรกที่ โรนัลโด้ เสียน้ำตาหลังย้ายมาเล่นที่อังกฤษ
ตัดภาพมาที่ การ์นาโช่ ตอนอายุเท่ากัน การ์นาโช่ ลงเล่น 28 เกมในฐานะตัวจริง ลงมาเป็นตัวสำรอง 6 เกม และนับทุกรายการ การ์นาโช่ ลงเล่นถึง 49 เกม ... นี่คือจำนวนนัดของคนที่เป็นตัวหลักแล้ว
การเป็นตัวหลักตอนอายุ 19 ปี ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ของฟุตบอล แต่สิ่งแวดล้อมต่างหากที่เป็นประเด็นที่น่าสนใจ ยูไนเต็ด ในยุคที่ โรนัลโด้ เองก็ไม่ใช่ว่าเก่งกาจไร้ทีมต้าน ตอนนั้นถือเป็นขาลงของทีมปีศาจแดงอยู่ช่วงหนึ่งด้วยซ้ำ เพราะ เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ไม่สามารถทำทีมเป็นแชมป์ลีกได้เลยถึง 3 ปีติดต่อกัน ซึ่งนับตั้งแต่ที่พาทีมคว้าแชมป์ลีกครั้งแรก เฟอร์กี้ ไม่ทำทีมห่างแชมป์ลีกนานขนาดนี้มาก่อน
แต่สุดท้าย คำว่า "สิ่งแวดล้อม" นี่แหละที่สร้างทีมชุดนั้นกลับมา ทีมสรรหาและโค้ชทำงานร่วมกันอย่างหนักหน่วง ไม่ว่าจะ เดวิด กิลล์ หรือ เฟอร์กี้ ตลอดจนกลุ่มนักเตะซีเนียร์ ที่เข้าใจปรัชญาหรือแท็คติก เฟอร์กี้ อยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตา รวมถึงการซื้อนักเตะที่เริ่ม "หยิบเป็นโดน" อย่าง เวย์น รูนี่ย์, เนมานย่า วิดิช, ปาทริซ เอฟร่า ทำให้ทีมกลับมาตั้งทรงได้อย่างรวดเร็ว และหาลายเซ็นของตัวเองเจอในท้ายที่สุด
ซึ่งคีย์แมนคือการพัฒนาตัวเองขึ้นมาแบบก้าวกระโดดของ โรนัลโด้ ในช่วงฤดูกาล 2006-07 เช่นเดียวกับ รูนี่ย์ ที่กลายเป็นเหมือนเพื่อนร่วมทีมที่แข่งกันพัฒนา ผลักดันกันและกันจนไปยังระดับที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ แบบไม่มีขีดจำกัด
"ช่วงเวลาหนึ่ง ผมคิดจะเกษียณแล้ว จนกระทั่งผมได้เห็นคนหนุ่ม 2 คนที่เป็นนักเตะอายุน้อยที่ดีที่สุดที่สโมสรนี้เคยมี" เฟอร์กี้ เริ่มเล่า
"เด็กหนุ่มทั้ง 2 มีคาแร็คเตอร์ที่พร้อมมาก ๆ สำหรับสิ่งที่อยู่ข้างหน้า คริสเตียโน่ โรนัลโด้ และ เวย์น รูนี่ย์ สนุกกับการฝึกซ้อมทุกครั้ง สิ่งที่พวกเขาแสดงออกมา มันช่วยให้ผมรู้สึกว่าตัวเองหนุ่มลงไปหลายปีเลย"
โรนัลโด้ เองพัฒนาทั้งทัศนคติ และร่างกาย อย่างก้าวกระโดด จากที่เคยผอมเกร็ง กลับมามีกล้ามเนื้อที่แข็งแกร่ง โดย ไมค์ เกร็ก ที่ทำงานในโรงยิมของทีมในเวลานั้นสรุปสั้น ๆ ว่า
"ตั้งแต่ที่โรนัลโด้เข้ามาจนถึงวันที่เขาย้ายออกไป นี่คือนักเตะที่ใช้งานโรงยิมได้คุมค่าที่สุด เขายกทั้งชีวิตให้ฟุตบอล มีแม้กระทั่งแม่ครัวที่ทำอาหารดี ๆ ให้กินทุกมื้อ ทุกส่วนของบ้านต้องมีอะไรก็ได้ที่ทำให้เขาพัฒนานา อาจจะเป็นอุปกรณ์ฟิตเนส หรือสระน้ำ อะไรก็ได้"
ร่างกายที่แข็งแกร่ง ทำให้เขาเล่นฟุตบอลได้หลายแบบ มากกว่าแค่การเลี้ยง เขาเข้าปะทะได้ดีขึ้น กระโดดได้สูงขึ้น และทักษะการเล่นบอลจังหวะสุดท้ายที่ "ถูกต้อง" มากขึ้น ซึ่งไม่มีอะไรลึกลับ เพราะทุกอย่างเกิดขึ้นในสนามซ้อม และการใช้ในชีวิตประจำวัน
"โรนัลโด้ ทุ่มเทมากทั้งการซ้อมและการแข่งขันจริง เขาต้องการทำทุกอย่างให้ดีกว่าตนอื่น ๆ เรียนรู้ทริกและเทคนิคใหม่ ๆ ตลอดเวลา เขาสับขาหลอกเก่งมาก แต่รู้ไหม ในสนามซ้อม เขาผูกน้ำหนักไว้ที่ข้อเท้าเพิ่ม เพื่อให้มันง่ายขึ้นในสนามจริง หมอนี่เป็นคนแบบนั้นแหละ" ควินตัน ฟอร์จูน ดาวเตะยุคนั้นของ ยูไนเต็ด กล่าว
"นักเตะรุ่นเดียวกันยากจะไล่ตามเขาทัน โรนัลโด้ ฝึกซ้อมแล้วซ้อมอีก แม้เซสซั่นการซ้อมจะจบลงแล้วก็ตาม เขาฝึกเคล็ดวิชาต่าง ๆ อย่างช้า ๆ ด้วยตัวเอง เขาคอยเอาสิ่งที่ซ้อมเดี่ยวมาใส่ในการซ้อมทีม และสุดท้ายหมอนี่ก็เอาไปใช้ในการแข่งขันจริงได้สำเร็จ"
โดยสรุปของเรื่องนี้ การ์นาโช่ อยู่ในสถานการณ์ที่คล้าย ๆ กับ โรนัลโด้ ในช่วงอายุเท่ากัน นั่นคือพยายามเล่นเพื่อตัวเอง มีความมั่นใจสูง และคิดว่าตัวเองจะเป็นนักเตะที่ดีที่สุดในทีม แต่สิ่งที่แตกต่างคือสิ่งแวดล้อม ยูไนเต็ด ยุคนั้นมีวัฒนธรรมในห้องแต่งตัวที่เข้มข้น มีกฎระเบียบที่เคร่งครัดจากที่ เฟอร์กี้ วางไว้
ต่างกันกับในเวลานี้ ที่มีปัญหาเกิดขึ้นเสมอ ในเรื่องของระเบียบ วินัย การเคารพโค้ชและเพื่อนร่วมทีม ซึ่งนักเตะของ แมนฯ ยูไนเต็ด ชุดนี้ มีข่าวในทางลบเป็นระยะ ๆ ซึ่งเรื่องนี้ ถ้าไม่ได้แก้ไขในแง่ของภาพรวม มันจะส่งผลต่อการเติบโตของนักเตะดาวรุ่งในทีมแน่นอน
และเหนือสิ่งอื่นใด สิ่งที่เสริมส่ง โรนัลโด้ คือเขาพยายามยกระดับตัวเองอยู่ตลอด ซึ่งจุดนี้เรายังตัดสิน การ์นาโช่ ไม่ได้ ... จนกว่าเขาจะอายุมาถึงจุดหนึ่งที่เลยคำว่าดาวรุ่งไปแล้ว ซึ่ง โรนัลโด้ ปลดแอกได้ตอนอายุ 23 ปี เปลี่ยนจากดาวรุ่งขึ้นมาแบกทีมได้สำเร็จ
สิ่งที่ต้องระวัง ทางของคนที่ไปไม่สุด
"ผมไม่คิดว่าจะมีใครนอกจากผม ที่รู้ว่าผมต้องรับมือขนาดไหน ไม่ใช่แค่ปีเดียวหรอกสำหรับเรื่องนี้ (การแบกความกดดันของทีม) ผมรู้สึกว่าผมเจอกับมันทุกช่วงเวลา ผมรู้สึกยากลำบากทุกวัน และคิดว่าตัวเองต้องเสียสละตลอด ตอนนั้นในใจผมคิดว่า เมื่อไหร่จะได้ออกจากเกมฟุตบอล นั่นคือทางเดียวที่ทำให้ผมมีความสุข"
"ฟุตบอลในระดับนี้ เรื่องสภาพจิตใจเกี่ยวเต็ม ๆ ผมคิดว่าถึง 95% เลย สำหรับผม จิตใจสำคัญเหนือทุกอย่าง มันคือพื้นฐานที่จะทำให้คุณมองสิ่งรอบตัวด้วยความเข้าใจและความจริง มีนักฟุตบอลหลายคนบนโลกนี้ที่มีความสามารถ แต่สิ่งที่จะทำให้คุณได้เป็นคนที่เก่งที่สุดคือสภาพจิตใจ" แรชฟอร์ด กล่าว สิ่งที่เขาพูด บ่งบอกถึงสิ่งที่เขาเจอ เขาคิดว่าเขาตัวคนเดียว ไร้ที่พึ่ง ปรึกษาใครไม่ได้
และก่อนที่เราจะเทียบ การ์นาโช่ กับ มาร์คัส แรชฟอร์ด ต้องบอกก่อนว่า แรชฟอร์ด ไม่ใช่นักเตะที่แย่ถึงขั้นใช้การไม่ได้เลย เพราะผลงานที่ผ่านมา ๆ ก็ยืนยันได้ว่า ในวันที่เขาเล่นดีมั่นใจ แรชฟอร์ด แบกทีมได้ไม่แพ้ใคร ไม่ต้องย้อนกลับไปไกล ในฤดูกาล 2022-23 แรชฟอร์ด ยิงไป 31 ลูก จากทุกรายการ และจำนวนประตูมากขนาดนี้ ไม่มีคำว่าฟลุกแน่นอน
มีความเห็นจาก พอล สโคลส์ หนึ่งในตำนานของทีมที่ออกมาให้ความเห็นว่า แรชฟอร์ด คือนักเตะที่คล้ายกับ นานี่ (ปีกชาวโปรตุเกส ซึ่งอยู่ในทีม ยูไนเต็ด ยุคที่ สโคลส์ ยังเล่นอยู่) กล่าวคือต้องมีคนคอยบอกตลอด คอยเตือนตลอด เพื่อให้นักเตะอย่าง นานี่ มีสมาธิอยู่ในเกมและทำตัวให้มีประโยชน์ โดย สโคลส์ เผยว่า
"ตอนที่ผมเป็นนักเตะ ผมโชคดีที่มีกองหน้าเก่งๆ ทั้ง โรบิน ฟาน เพอร์ซี่, รุด ฟาน นิสเตลรอย หรือ แอนดี้ โคล พวกเขาเหล่านี้คือตัวรุกที่ชอบหาช่องโดยธรรมชาติ ซึ่งคุณไม่จำเป็นต้องบอกเขาเลย อาจจะมีนักเตะคนเดียวที่ผมต้องคอยสั่งการอยู่ตลอด นั่นคือ นานี่ เขามีจุดแข็งในเรื่องของการใช้ความเร็วตัดแนวรับคู่แข่ง แต่ผมก็ต้องคอยบอกเขาเสมอ มาร์คัส แรชฟอร์ด ก็เป็นแบบนั้นนะ"
นานี่ ยังมีคนคอยบอกคอยเตือน แต่ แรชฟอร์ด นั้นหัวเดียวกระเทียมลีบ เมื่อไม่มีใครบอก เขาก็เล่นในสิ่งที่ตัวเองคิด โดยไม่มีการแก้ไขให้ดีขึ้น ... เห็นได้ชัดว่ารุ่นพี่ที่ดี สำคัญกับการพัฒนานักเตะดาวรุ่งในทีมอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม คงต้องย้ำคำเดิมว่า สภาพแวดล้อมที่เกิดขึ้นในฤดูกาลนี้ ทำหลายสิ่งในสโมสร แมนฯ ยูไนเต็ด เปลี่ยนไป ไม่เว้นแม้กระทั่งตัวของ แรชฟอร์ด ที่หลุด และเสียสมาธิต่อเกมฟุตบอลไป จนตอนนี้ต้องยอมรับเลยว่า ตั้งแต่เขาเดบิวต์ตอนอายุ 18 ปี นี่คือช่วงที่เขาเล่นได้แย่ที่สุดอย่างไม่ต้องสงสัย
สิ่งที่เกิดขึ้นและทำให้ แรชฟอร์ด เป็นในเวลานี้ แมนฯ ยูไนเต็ด ต้องระวังไม่ให้เกิดขึ้นกับ การ์นาโช่ เพราะทั้ง 2 คนอยู่ในยุคที่คาบเกี่ยวกัน ยุคที่มีเรื่องราวลบ ๆ แทบจะทั้งองคาพยพ ไล่ตั้งแต่บอร์ดบริหาร สิ่งอำนวยความสะดวกในสโมสร ความไม่แน่นอนของตำแหน่งสตาฟโค้ช และความไม่เป็นทีมของกลุ่มนักเตะชุดใหญ่ ที่ไม่มีใครเป็นหลักให้กับทุกคน ๆ
ทั้งหมดที่กล่าวมา ทำให้ การ์นาโช่ ไม่มีที่ยึดเหนี่ยวตรงไหนได้เลย แม้แต่ตัวเขาเองก็ไม่สามารถอยู่ในกรอบได้ดีนัก จากข่าวที่บอกว่าเขากดไลก์ข่าวปลด เอริค เทน ฮาก จนต้องมีการเปิดห้องเคลียร์ใจขอโทษกันตามข่าว
มันเห็นได้ชัดว่า การบริหารจัดการคนของ เทน ฮาก คุมนักเตะชุดนี้ไม่อยู่ เพราะมีปัญหาไล่เรียงเป็นระยะ ๆ ทั้ง คริสเตียโน่ โรนัลโด้, เจดอน ซานโช่, แรชฟอร์ด จนกระทั่งมาถึง การ์นาโช่ ในรายล่าสุด
กลับมาที่เรื่องในสนาม แมนฯ ยูไนเต็ด ยุคนี้คือยุคที่แย่ที่สุดในรอบหลายสิบปี ในแง่ของวิธีการเล่นที่ไม่ชัดเจนแน่นอน ไม่มีลายเซ็นของตัวเอง ซึ่งเมื่อไม่มีหลัก ต่างคนก็ต่างไป การ์นาโช่ เองก็เลยหาหลักให้ยึดไว้ไม่ได้ เราจึงได้เห็นวิธีการเล่นที่นับวันยิ่งคล้ายกับ แรชฟอร์ด ในช่วงหลัง ๆ มาขึ้น นั่นคือการเล่นตามใจตัวเอง และพยายามที่เอาชนะคู่แข่งด้วยตัวเอง มากกว่าที่จะเอาชนะด้วยการเล่นเป็นทีม
ซึ่งหากจะมองจากสภาพแวดล้อมทั้งหมด มันยากมากที่ การ์นาโช่ จะเดินตามรอยเท้าของ โรนัลโด้ ที่เติบโตขึ้นพร้อมกันอย่างก้าวกระโดดทั้งด้าน ร่างกาย จิตใจ ทัศนคติ และทักษะฟุตบอล
อย่างไรก็ตาม ไม่มีอะไรการันตีอนาคตของเขาได้ว่า จะพุ่งสุดขีด หรือมาถึงทางตัน เพราะอย่างน้อย ๆ ยูไนเต็ด ก็กำลังจะแก้ไขโครงสร้าง โดยเฉพาะเรื่องของฟุตบอลให้ดีขึ้น ภายใต้การบริหารของบอร์ดชุดใหม่ จากการนำของ เซอร์ จิม แรทคลิฟฟ์ และกลุ่ม INEOS
แม้จะการันตีไม่ได้ว่าโครงสร้างด้านฟุตบอลของทีมจะดีขึ้น จนมาเทียบเท่ากับยุคที่เคยมี เฟอร์กี้ คุมทีมหรือไม่ ? แต่ที่สุดแล้ว การเปลี่ยนแปลง ย่อมดีกว่าการจมอยู่กับความผิดพลาดที่ถูกพิสูจน์มาแล้วอย่างแน่นอน
นี่คือการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของสโมสร และนักเตะหลาย ๆ คน รวมถึง การ์นาโช่ ด้วย ... ยังมีอีกหลายเรื่องที่จะทำให้เขาไปถึงในระดับไอดอลของเขาอย่าง โรนัลโด้
โชคยังดี ที่เขากำลังเติบโตในยุคที่ทีมกำลังเปลี่ยนแปลงสู่ยุคใหม่พอดี ไม่อย่างนั้น หากต้องจมปลักกับทีมที่ไม่มีใครพึ่งใครได้ ต่างคนต่างไปแบบนี้ ไม่แคล้ว อเลฮานโดร การ์ราโช่ คงไม่แคล้วเป็นดาวรุ่งตลอดกาล เหมือนกับรุ่นพี่ในทีมปีศาจแดงหลายคนหลังจากสิ้นยุค เฟอร์กี้ เป็นแน่
แหล่งอ้างอิง
https://www.premierleague.com/players/68987/Alejandro-Garnacho/stats?co=1&se=578
https://www.transfermarkt.com/alejandro-garnacho/profil/spieler/811779
https://www.transfermarkt.com/cristiano-ronaldo/leistungsdatendetails/spieler/8198/saison/2003/wettbewerb/GB1/verein/985
https://www.eurosport.com/football/how-ronaldo-became-the-worlds-best-the-inside-story_sto4716516/story.shtml
https://www.dailymail.co.uk/sport/football/article-11790669/Man-United-Marcus-Rashford-red-hot-form-insists-football-95-CENT-mentality.html
https://www.goal.com/en/lists/get-it-together-marcus-rashford-no-more-excuses-letting-down-man-utd-wasting-talent/blt5430485149d1e3dc