เรอัล มาดริด ยิง 2 ประตูในช่วงเวลา 3 นาทีเพื่อเข้าถึงนัดชิงชนะเลิศ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก, เลเวอร์คูเซ่น ยิงในช่วงทดเจ็บไปถึง 12 ลูกในฤดูกาลนี้ และทำให้พวกเขายังไร้พ่ายโดยเหลืออีกไม่กี่เกมจะจบซีซั่น
ภาพแบบนี้เกิดขึ้นอย่างชินตา จนเราอดหาเหตุผลไม่ได้ว่าทำไมพอถึงช่วงท้ายเกม โค้ชบางคน หรือทีมบางทีม ถึงทำเรื่องแบบนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า
จิตวิทยา ความเป็นนักสู้ หรือโชคชะตามักเข้าข้าง ... หาคำตอบกับ Main Stand ที่นี่
จิตวิทยากับโลกฟุตบอล
หากเรามองเรื่องของการทำของยากให้เป็นของง่ายแบบซ้ำ ๆ ทำได้บ่อย ๆ ให้เป็นเรื่องของฟุตบอล เราคงต้องเอาเรื่องของแท็คติก เทคนิค และสืบจากปากคำของเหล่าโค้ชหรือนักเตะมาหาความจริงกันฉากต่อฉากเพื่อให้ได้ความชัดเจน
อย่างไรก็ตามถ้าเราถอยออกสักก้าวและมองเรื่องให้มากกว่าเรื่องฟุตบอล และเป็นเรื่องที่สามารถอธิบายถึงพฤติกรรมของมนุษย์(แทบ)ทุกคน เราจะได้สิ่งที่เป็นต้นเหตุที่ทำให้เราไปต่อสำหรับคำถามนี้ได้ สิ่งนั้นเรียกว่า "จิตวิทยา" มันมีกฎทางจิตวิทยาที่อธิบายเรื่องการยิงประตูท้ายเกมได้บ่อย ๆ โดยกฎดังกล่าวมีชื่อว่า "กฎของการทำซ้ำ" ( The Law of Repetition )
กฎแห่งการทำซ้ำ ถูกค้นพบโดย เอ็ดเวิร์ด ธอร์นไดค์ นักศึกษาและจิตวิทยาชาวอเมริกาผู้ให้กำเนิดทฤษฎีแห่งการเรียนรู้ โดยเจ้าของทฤษฎีนี้ได้กล่าวไว้ว่า
"การกระทำซ้ำหรือการฝึกหัดใด ๆ หากได้ทำบ่อย ๆ ซ้ำ ๆ จะทำให้การกระทำนั้นค่อย ๆ ถูกเสริมแรงขึ้น ถูกต้องมากขึ้น สมบูรณ์แบบมากขึ้น และมั่นคงมากขึ้น"
กล่าวคือ ต่อให้เป็นสิ่งที่ยากแค่ไหน แต่ถ้ายิ่งทำซ้ำ ก็ยิ่งเข้าใกล้คำว่าสมบูรณ์แบบ และถ้าทำไปถึงจุดหนึ่ง คุณจะเหมือนกับมีพลังของสิ่งนั้นอยู่ในกระเป๋า เมื่อถูกสถานการณ์ที่ต้องใช้ มันจะถูกดึงออกมาจากตัวเราได้ทันที
กลับมาที่เรื่องของฟุตบอลก็คงไม่ต่างกันนัก ในเมื่อทีมฟุตบอลทีมหนึ่งเริ่มสะสมความเชี่ยวชาญมามีละนิด ทำซ้ำ ๆ จนมาถึงจุดหนึ่งที่พวกเขายิ่งประตูท้ายเกมตัดสินชัยชนะบ่อย ๆ ร่างกายและจิตใจของพวกเขาจะจดจำความรู้สึกหรือการกระทำในวันนั้น ๆ เอาไว้โดยอัตโนมัติ และเมื่อถึงเวลาที่พวกเขาต้องทำมันอีกครั้ง ความมั่นใจพุ่งทะยานขึ้นสูง สมองของพวกเขาจะสั่งการว่า "เดี๋ยวก็ทำได้เหมือนทุกครั้ง"
ไม่ว่าจะเจอกับทีมไหน เกมรับอีกฝั่งจะเหนียวแน่นเท่าไหร่ ถ้ามีอะไรมากระตุ้นความรู้สึกของการทำซ้ำให้ตื่นขึ้น โอกาสที่พวกเขาจะทำได้ตามเป้าก็มีสูงมาก
ยกตัวอย่างเกมระหว่าง บาเยิร์น มิวนิค กับ เรอัล มาดริด ในรอบรองชนะเลิศเลกที่ 2 ที่ บาเยิร์น ยันเอาไว้อย่างแข็งแกร่งอยู่นานสองนาน จนกระทั่งเข้านาทีที่ 87 แล้วแท้ ๆ แต่เมื่อประตูตีเสมอของ โฆเซลู เกิดขึ้น บรรยากาศของนักเตะมาดริดในสนามก็ลุกเป็นไฟ โดยที่เราดูในโทรทัศน์เราก็ยังอดคิดในใจไม่ได้ว่า "เกมอาจะจบใน 90 นาทีก็ได้"
แม้พวกเขาจะยังเหลือเวลาให้เอาชนะในช่วงต่อเวลาพิเศษ และการโหมบุกแบบขึ้นมาเล่นในแดนคู่แข่งทั้งทีม อาจจะทำให้พวกเขาโดนหมัดน็อคจากลูกสวนกลับในช่วงท้ายเกม แต่ มาดริด ในเวลานั้นเหมือนกราฟความมั่นใจทะยานถึงขีดสุด พวกเขาบุกเข้าไปจากทุกทิศทุกทาง นักเตะทั้ง 10 คนล้อม บาเยิร์น เอาไว้ไม่ให้ได้ขยับเกินครึ่งสนาม จากนั้นพวกเขาก็ยิงประตูในนาทีที่ 90+1 ซึ่งเป็นประตูชัย
อย่าว่าแต่นักเตะเลย เรา ๆ ที่เป็นคนดูยังรู้สึกได้ว่าเมื่อประตู 1-1 เกิดขึ้นแล้ว มาดริด ก็เปลี่ยนโหมดเป็นโหมดไม่กลัวแพ้และมั่นใจว่าถ้าบุกเข้าไปเรื่อยจะต้องได้ประตูชัยแน่ ๆ เสียงเชียร์ของแฟน ๆ ที่เบอร์นาเบวกระหึ่มขึ้นเหมือนมีใครเร่งลำโพง และพวกเขาก็ทำแบบเดิมซ้ำ ๆ เหมือนที่เคยทำได้บ่อย ๆ อีกครั้ง
ไม่ต่างกันกับ เลเวอร์คูเซ่น ที่เสมอกับ โรม่า 2-2 ในเกม ยูโรป้า ลีก รอบตัดเชือก ทันทีที่พวกเขาตีไข่แตกได้ พวกเขาก็เลือดเข้าตา เดินหน้าฆ่ามันลูกเดียว และตีเสมอในนาทีที่ 90+7 ทั้ง ๆ ที่จริงพวกเขาแพ้ 1-2 ก็เข้ารอบได้สบาย ๆ แต่มันแสดงให้เห็นว่า พวกเขามั่นใจขนาดที่ว่าเปิดหน้าใส่เต็ม 100% ไม่เว้นช่องไฟ ไม่กลัวเกมจะพลิกกลับมาเป็นฝ่ายแพ้และต้องเสียโอกาสในการเข้ารอบเลยแม้แต่น้อย
"คุณตัดชื่อพวกเราทิ้งไม้ได้แม้แต่วินาทีเดียว ... เราคือทีมที่ไม่มีทางยอมแพ้ ทุกครั้งที่เรากำลังตามหลัง นักเตะในทีมทุกคนคิดแบบนี้เสมอ เราท่องจำกันขึ้นใจว่า เดี๋ยวเราก็ยิงได้แน่" เจเรมี่ ฟริมปง แบ็คขวาของ เลเวอร์คูเซ่น กล่าว ซึ่งมันแสดงให้เห็นว่า ความมั่นใจและการทำประตูท้ายเกมได้บ่อย ๆ ซ้ำ ๆ กลายเป็นสิ่งที่ฝังหัวพวกเขาไปแล้ว
หากเราจะเอาด้านจิตวิทยามาอธิบายอย่างเดียว ก็คงจะดูไม่เป็นคำตอบที่ไม่สมบูรณ์นัก การจะเกิดทฤษฎี "กฎของการทำซ้ำ" ที่ดูเหมือนง่ายนี้ มีความยากเชิงฟุตบอลซ่อนอยู่มากมาย และเราจะเข้าไปให้ลึกกว่านั้นว่าเหล่าทีมจอมยิงประตูท้ายเกม มีวิธีการอย่างไรกันบ้าง ?
กว่าจะทำซ้ำได้
แน่นอนที่สุดถ้าทีม ๆ ไหนสามารถพลิกกลับมาชนะและได้ประตูจากช่วงท้ายเกมบ่อย ๆ เราสามารถสันนิษฐานได้ทันทีว่าพวกเขาล้วนเป็นทีมที่มีคาแร็คเตอร์ที่แข็งแกร่งทั้งนั้น
เหล่าขาประจำท้ายเกมอย่าง แมนฯ ยูไนเต็ด ยุค เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน, ลิเวอร์พูล ของ เยอร์เก้น คล็อปป์ หรือ เรอัล มาดริด และ เลเวอร์คูเซ่น ในปัจจุบันล้วนก็มีคาแร็คเตอร์ที่ใครต่อใครต่างยกย่องเสมอ โค้ชเป็นแบบไหน คาแร็คเตอร์แบบนั้นก็สะท้อนกลับมายังนักเตะของพวกเขาเสมอ
การที่ทีม ๆ หนึ่งจะมีคาแร็คเตอร์ที่ดีได้ หากพูดเป็นภาษาบ้าน ๆ คือพวกสมาชิกในทีมต้องมีใจเท่ากัน เมื่อถึงเวลา "ต้องเอา" ก็เอาพร้อมกันทั้งทีม ทุ่มกันสุดตัว ไม่มีใครเหยาะแหยะกินแรงเพื่อน ๆ มีแต่จะทำงานของตัวเองให้ออกมาดีที่สุด และคอยช่วยเพื่อนในสถานการณ์แย่ ๆ อีกด้วยซ้ำ
โดยทั่วไปแล้วทีมเหล่านี้มักจะมีความสัมพันธ์ในทีมที่ดี มีห้องแต่งตัวที่แข็งแกร่ง แม้พวกเขาจะไม่ได้อยู่กันอย่างครอบครัว แต่พวกเขาต่างอยู่กันแบบเป็นมืออาชีพ กล่าวคือถ้ามีใครทำผิดพลาดต้องกล้าเตือนกล้าบอก และเมื่อกุนซือได้สั่งให้ทำอะไร พวกเขาก็จะยึดมั่นกับคำสั่งนั้น ซึ่งโค้ชแต่ละคนก็จะมีวิธีสอน-สั่งแตกต่างกันออกไป
ยกตัวอย่างเช่น คาร์โล อันเชล็อตติ ที่เชื่อมั่นว่าการให้พื้นที่กับนักเตะได้ใช้จินตนาการในการเล่น หรือแม้กระทั่งการตัดสินใจต่าง ๆ ในสนามจริง คือสิ่งที่เขาปล่อยให้นักเตะเป็นอิสระ เพียงแต่มีการบอกแท็คติกภาพรวมเอาไว้ทั้งหมดก่อนแข่งเช่นในเกมกับ บาเยิร์น ที่ผ่านมา เขาสั่งให้ วินิซิอุส จูเนียร์ โจมตีด้านข้างให้หนักที่สุด แต่เขาก็ไม่ได้ลงรายละเอียดว่าจะต้องเลี้ยงลุยเข้าไป หรือให้ล้มเอาฟาวล์ เขาให้ วินิซิอุส ตัดสินใจตามฟีลของตัวเองในสนนาม ซึ่ง อันเช่ ก็เคยพูดถึงเรื่องนี้อบ่อย ๆ ว่า "เนื้อแท้ของฟุตบอลที่จะทำผลงานได้ดี คือการเล่นอย่างมีจินตนาการ" ซึ่งนี่คือเรื่องนี้เขาไม่เคยปิดกั้นนักเตะของเขาเลย
นอกจากนี้การที่จะทำให้นักเตะแต่ละคนทำหน้าที่ของตัวเองแบบสุดความสามารถ และไม่ลืมที่จะช่วยดู ช่วยซ้อนในเวลาที่เพื่อนผิดพลาด มันยังเป็นสิ่งที่ทุกทีมที่เรากล่าวมามีเหมือนกันหมดนั่นคือพวกเขาต้องมีความสัมพันธ์ในทีม ซึ่งส่วนนี้เฮดโค้ชเองก็มีส่วนเป็นอย่างมาก เพราะเป็นส่วนหนึ่งในการทำงานของพวกเขาที่ต้องบริหารจัดการคน
อันเชล็อตติ เดินทางไปกินข้าวกับครอบครัวลูกทีมของเขาทุกคน เพื่อรู้จักตัวตนและปูมหลังของแต่ละคนให้มากขึ้น ซึ่งนักเตะเองก็ถือว่านี่เป็นการซื้อใจที่สำคัญมาก ๆ โดยคนที่ออกมาเปิดเผยคือ อันโตนิโอ รูดิเกอร์ ที่เผยว่าตอนที่เขาย้ายมาที่ มาดริด ใหม่ ๆ คนแรกที่มาเยี่ยมบ้านเขาก็คือ อันเชล็อตติ นี่แหละ
ขณะที่ฝั่ง ลิเวอร์พูล ในวันที่ คล็อปป์ เข้ามาและสั่งให้นักฟุตบอลลิเวอร์พูลใส่ใจคนอื่นมากขึ้น เขาบอกให้ลูกทีมทุกคนว่าลูกของ แอนดรูว โรเบิร์ตสัน เพิ่งจะคลอด และเขาอยากให้ทุกคนแสดงความยินดีอย่างน้อย ๆ ในฐานะเพื่อนร่วมงานก็ยังดี เพราะในโลกฟุตบอลนั้นทีม ๆ ความสัมพันธ์ภายในสำคัญไม่แพ้เรื่องใดเลย
คล็อปป์ต้องการโต้ตอบกันในกรุ๊ปแชทมากขึ้น และยืนยันว่านี่ไม่ใช่แค่เรื่องฟุตบอลแต่เป็นเรื่องของชีวิต ชวนคุยและสร้างปฎิสัมพันธ์อยู่ตลอด ซึ่งเราก็ได้เห็นว่าตลอดการทำงานของ คล็อปป์ มีเหตุการณ์นักเตะทะเลาะเบาะแว้งน้อยมาก
เมื่อคุณได้ทีมที่มีคุณภาพทั้งในเชิงของฝีเท้าและทัศนคติแล้ว สิ่งต่อไปมันคือการไปถึงจุดของการ "ทำซ้ำ" อีกหนึ่งอย่างนั่นคือ "ความกล้าได้กล้าเสีย"
อยากได้ลูกเสือต้องเข้าถ้ำเสือ
เมื่อทีมตามหลัง หรือกำลังต้องการผลชนะ สิ่งที่คุณเลี่ยงไม่ได้เลยคือการปรับเปลี่ยนวิธีการเล่นไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แต่ที่แน่ ๆ เมื่อคุณอยากได้ประตู นั่นหมายความว่าคุณพร้อมเสี่ยงที่จะเสียประตูเพิ่มขึ้นในทางกลับกันด้วย
ชาบี อลอนโซ่ เดินทางมาจุดนี้แล้ว และอธิบายให้นักเตะของตนเองเข้าใจว่า ณ ตอนนี้ เป้าหมายของทีมชัดเจนสุด ๆ ไม่ใช่แค่เป็นแชมป์ แต่ต้องเป็นไร้พ่ายจนจบฤดูกาล ดังนั้นแม้พวกเขาจะได้แชมป์ลีกไปแล้ว แต่พวกเขาก็ยันเดินเครื่องเต็มสูบเหมือนเดิม วันไหนที่โดนนำ พวกเขาจะไม่ปล่อยให้เกมจบง่าย ๆ แบบนั้น แต่พวกเขาจะเพิ่มเกมบุกขึ้นมา เพิ่มพลังในการโจมตีขึ้น และเพิ่มนักเตะในการเล่นเกมรุกมากขึ้น
ซึ่งการเสี่ยงของ ชาบี อลอนโซ่ มักจะได้ผลก็เพราะว่านักเตะของเขากำลังมั่นใจถึงขีดสุด และมีความมุ่งมั่นในเป้าหมายที่จะเป็นทีมแรกในประวัติศาสตร์(ไร้พ่ายทุกรายการ)
ขณะที่ เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ชายผู้เปลี่ยนให้การทดเวลาบาดเจ็บเป็นวลี "เฟอร์กี้ ไทม์" ก็ยืนยันคล้าย ๆ อลอนโซ่ นั่นคือ เมื่อถึงเวลาต้องเสี่ยง ก็ควรต้องเสี่ยงแบบเต็มพิกัด พวกเขาไม่ได้กลัวแพ้ หรือกลัวเสียประตูเพิ่ม เพราะพวกเขาต่างรู้จักลูกทีมของตัวเองเป็นอย่างดี โอกาสทำเร็จ มีมากกว่าโอกาสที่ล้มเหลว
"หากคุณตามหลัง 1 หรือ 2 ลูกในช่วงเวลา 15 นาทีสุดท้าย คุณต้องหาทางวิธีการเล่นที่จะทำให้คุณมีโอกาสได้ประตูมากที่สุด ลืมไปได้เลยการยืนกองหลัง 4 ตัว และกองหน้า 2 ตัวเหมือนกับต้นเกม เพราะมันไม่มีประโยชน์อะไร ถึงเวลาเปลี่ยน คุณก็ต้องเปลี่ยน" เฟอร์กี้ อธิบาย
"ส่วนตัวของผม ผมชอบที่จะเสี่ยงเอาผู้เล่นเข้าไปเล่นในเขตโทษให้มากขึ้น จากนั้นคุณจะเริ่มเห็นปฏิกิริยาตอบสนองของทีมคู่แข่ง(เริ่มสั่น) ถ้าคุณเริ่มเอาบอลเข้าไปยังจุดนั้นให้มากขึ้น และเริ่มเพิ่มคนเข้าไปอีกเพื่อให้ประตูเป็นของคุณ"
"อย่างไรก็ตามมันคือความเสี่ยงที่คุณจะเสียประตูด้วย เพราะถ้าเราสกัดพลาดเพียงครั้งเดียว การโต้กลับของคู่แข่งจะเกิดขึ้นทันที ทุกวันนี้ผมยังจำได้เลย ในปี 1997 เกมกับ นิวคาสเซิล ที่ โอเล่ กุนนาร์ โซลชาร์ วิ่งไล่ตามไปเสียบสกัดเป็นคนสุดท้ายจนต้องรับใบแดง"
สิ่งที่ เฟอร์กี้ อธิบายต่อนั้นชัดมากและมันเกี่ยวกับทฤษฎี "กฎแห่งการทำซ้ำ" แทบจะตรงเป๊ะ นั่นคือเขาเริ่มอธิบายว่าความเสี่ยงไม่ได้นำมาซึ่งชัยชนะอย่างเดียวเท่านั้น หากคุณลองทำได้สักครั้ง(ยิงประตูชัยในช่วงทดเวลาบาดเจ็บ) บรรยากาศจะเปลี่ยนไปตลอดกาล ไม่ว่าจะกับลูกทีมหรือแฟน ๆ ที่เข้ามาชมในสนาม
"ที่ผมบอกว่าคุณควรกล้าเสี่ยงบุกแหลกก็เพราะว่าถ้าคุณยิงประตูสู่ชัยชนะได้ในช่วงทดเวลาบาดเจ็บ บรรยกาศในห้องแต่งตัวของทีมจะพุ่งพล่านไปด้วยพลังอย่างสุดๆ" เฟอร์กี้ กล่าว
"ความมั่นใจนี้มันส่งต่อถึงกันหมด แม้กระทั่งแฟนบอล พวกเขากำลังจะเดินทางกลับบ้านแต่ภายในจิตใจของพวกเขาต่างก็คิดว่า เมื่อไหร่จะถึงสักที จะได้เอาเรื่องที่เกิดขึ้นในวันนี้ไปเล่าให้ผับให้เพื่อน ๆ หรือกลับบ้านไปเล่าให้ลุกเมียฟัง ... ประตูชัยท้ายเกมในสนามเหย้ามีคุณค่ายิงกว่าแค่ชัยชนะเสมอ และถ้าคุณเล่นให้กับทีมอย่างเรา พวกเราล้วนกล้าที่จะเสี่ยงเสมอ"
ยิ่งทำได้บ่อยก็ยิ่งมั่นใจ คำ ๆ นี้ไม่เกินจริงจากที่ เฟอร์กี้ บอก แม้กระทั่งยุคนี้ ดานี่ เซบายอส นักเตะของ เรอัล มาดริด ก็ยังเคยออกมาบอกว่า ประสบการณ์ในการผ่านเกมระดับสูงของผู้เล่นในทีมมีส่วนอย่างมากกับเรื่องความมั่นใจ โดยเฉพาะนักเตะอย่าง ลูก้า โมดริช และ โทนี่ โครส ที่นิ่งถึงขนาดที่ว่าตั้งวงเล่นไพ่กันก่อนนัดชิงมาถึง
ซึ่งการมีซีเนียร์แบบนี้ ก็ทำให้นักเตะคนอื่นสบายใจมากขึ้นอย่างปฏิเสธไม่ได้ และความนิ่งนี้เองที่ทำให้เกิดความผิดพลาดในสนามน้อยลง เมื่อคุณผิดพลาดน้อยลง คุณก็สามารถเสี่ยงในการเดิมพันได้มากขึ้นนั่นเอง
กฎแห่งการทำซ้ำ จากลูกยิงท้ายเกมส่งต่อไปยังทุก ๆ คนที่เกี่ยวข้อง เฮดโค้ช, นักเตะ, แฟนบอล แม้กระทั่งคู่แข่งที่ต้องเจอก็อดขาสั่นไม่ได้เมื่อช่วงท้ายเกมมาถึง
เฟอร์กี้ บอกว่าแค่ลูกเดียวยังสามารถเปลี่ยนแปลงบรรยากาศได้มากขนาดนั้น ... ลองคิดดูว่าที่อย่าง มาดริด และ เลเวอร์คูเซ่น ในปีนี้ ที่ยิงประตูช่วงทดเจ็บเป็นว่าเล่นจะมีความมั่นใจมากขนาดไหน และนั่นเป็นเหตุให้พวเขาใช้ "กฎแห่งการทำซ้ำ" ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด อย่างไม่ต้องสงสัยเลยทีเดียว
แหล่งอ้างอิง :
https://gugumofokeng.com/laws-of-the-mind-repetition/
https://wtop.com/sports/2024/03/liverpool-scores-deep-in-stoppage-time-to-win-at-forest-and-extend-epl-lead-to-4-points/
https://psychology.fandom.com/wiki/Law_of_exercise
https://www.bbc.com/sport/football/articles/cd1v7yr0xw3o
https://www.firstpost.com/sports/football-news/europa-leage-semi-final-result-score-leverkusen-roma-atalanta-marseille-13769255.html
https://www.balls.ie/premier-league/alex-ferguson-fergie-time-470457
https://www.liverpool.com/liverpool-fc-news/features/liverpool-jurgen-klopp-premier-league-19484743
https://www.espn.com/soccer/story/_/id/37629037/destiny-magic-miracle-real-madrid-won-champions-league-hard-way