Feature

เทน ฮาก ยังเอี่ยว : ทำไมการเลือกโค้ชใหม่ บาเยิร์น หนนี้ ส่วนใหญ่ชื่อแปลก ดีกรีไม่เข้ม ? | Main Stand

ปกติแล้ว เวลาที่ทีมอย่าง บาเยิร์น มิวนิค ต้องการเลือกโค้ชใหม่แคนดิเดตของพวกเขา 1-2 คนแรก มักจะเป็นชื่อที่แฟน ๆ ได้ยินแล้วหมดข้อสงสัย เพราะส่วนใหญ่จะเป็นคนระดับท็อป การันตีด้วยความสำเร็จมามากมาย

 

แต่หนนี้ทุกอย่างแปลกไป เราได้เห็นตัวละครที่เข้ามาเป็นแคนดิเดตกุนซือใหม่เสือใต้มากมาย ซึ่งบางคนยังไม่เคยเป็นแชมป์รายการใหญ่เลยด้วยซ้ำ ไม่ว่าจะเป็น เอริค เทน ฮาก, โรแบร์โต้ เดอ แซร์บี้ หรือ ราล์ฟ รังนิก 

เรื่องนี้มีคำตอบหรือไม่ ? ติดตามที่ Main Stand 

 

"เข้ม" คือยี่ห้อเสือใต้

หากนับกันตั้งแต่วันเริ่มแรก บาเยิร์น มิวนิค ไม่ใช่สโมสรที่ใหญ่ค้ำฟ้าวงการฟุตบอลเยอรมันมาตั้งแต่แรก แต่จุดเปลี่ยนของพวกเขาคือการบริหารที่ชัดเจน  

บาเยิร์น มีคอนเน็คชั่นด้านธุรกิจและการบริหารที่แข็งโป๊ก และพวกเขาใช้คนให้ถูกกับงาน พวกเขาแบ่งผู้บริหารเป็น 2 กลุ่มอย่างชัดเจน กลุ่มแรกคือกลุ่มที่ดูแลด้านฟุตบอล อันเป็นตำแหน่งของ คาร์ล ไฮนซ์ รุมเมนิกเก้ และ อูลี่ เฮอเนส ที่เป็นอดีตนักเตะของทีมและอยู่ในฐานะตำนาน พวกเขามักจะปรากฏตัวออกหน้าฉากบ่อย กับหน้าที่ดูแลเรื่องฟุตบอล ซื้อขายนักเตะ เลือกโค้ช เพราะมีความรู้ด้านฟุตบอลและเข้าใจความรู้สึกของทั้งการเป็นผู้เล่นและผู้บริหาร 

ขณะที่เรื่องด้านการเงินนั้น บาเยิร์น ก้าวข้ามทีมอื่นไปอีกระดับเพราะพวกเขาใช้ผู้บริหารคนนอกที่มีความเชี่ยวชาญด้านการบริหารและการเงินโดยเฉพาะ รายชื่อผู้บริหารระดับ CEO ของ บาเยิร์น จะพบว่าแต่ละคนเป็นนักธุรกิจระดับโลกอย่างแท้จริงไม่ว่าจะเป็น แฮร์เบิร์ต ไดสส์ (ประธานกลุ่ม Volkswagen ที่ Audi ค่ายรถยนต์ในเครือเป็นสปอนเซอร์ของสโมสร), แวร์เนอร์ เซเดลิอุส (ที่ปรึกษาอาวุโสของ Allianz), มิเชล ไดเดอริช (บอร์ดบริหาร UniCredit Bank), ทิโมเธอุส ฮ็อตเก้ส์ (ประธานของสื่อระดับประเทศอย่าง Deutsche Telekom) และ แฮร์เบิร์ต ไฮเนอร์ (อดีต CEO ของ adidas) และยังมีอีกหลายคนที่ทรงอิทธิพลที่ไม่ได้กล่าวถึง 

บาเยิร์น มีความแตกต่างกับทีมอื่น ๆ ตรงที่พวกเขามีรายได้เชิงพานิชย์สูงสุดมากกว่า 50% ของรายรับโดยรวม ขณะที่ทีมอื่น ๆ นั้นส่วนใหญ่มีรายได้หลักจากลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดในสัดส่วนที่สูสีกับรายได้เชิงพาณิชย์ 

ความยอดเยี่ยมนี้เองทำให้ บาเยิร์น มีโครงสร้างที่แข็งแกร่ง การจะเลือกโค้ชแต่ละคนต้องเป็นของจริงแทบจะทุกครั้งไป เนื่องจากสโมสรแห่งนี้มีวัฒนธรรมองค์กรที่เข้มข้นมาก บางครั้งกุนซือที่เคยพาทีมคว้าแชมป์และทรงอิทธิพลอย่างมากในห้องแต่งตัวก็เคยโดนไล่ออกมาแล้ว อาทิ อูโด ลาเท็ค และ ดีทมาร์ คราเมอร์ ซึ่งทั้งคู่เคยพาทีมคว้าแชมป์ ยูโรเปี้ยน คัพ (ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก ในปัจจุบัน) 

มันเหมือนกับ บาเยิร์น มิวนิค พบสูตรสำเร็จแล้วว่า หากทีมจะประสบความสำเร็จ ต้องใช้บุคลากรทำงานที่มีศักยภาพเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์เท่านั้น ชื่อเสียง, อิทธิพล หรือความสนิทชิดเชื้อ ไม่มีความหมายกับการทำงานที่สโมสรแห่งนี้

ชื่อของโค้ชที่ดีที่สุดของยุคจะถูกนำเสนอผ่านสื่อทุกครั้งเวลาที่พวกเขาต้องการหาผู้นำคนใหม่ เช่น หลุยส์ ฟาน กัล และ คาร์โล อันเชล็อตติ ต่างก็เคยคุมทีม บาเยิร์น ทั้งนั้น และพวกเขาก็โดนไล่ออกจากตำแหน่งเหมือนกันด้วย 

 

การเมืองในบอร์ดบริหาร 

อย่างแรกเลยที่เรามองข้ามไม่ได้เลย บาเยิร์น มิวนิค เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งต่าง ๆ ในฝ่ายบริหารมาตลอดในช่วงหลัง นับตั้งแต่ปี 2019 

โดยในปีดังกล่าว อูลี่ เฮอเนส ประธานสโมสรที่สร้างความยิ่งใหญ่ให้กับทีมประกาศลงจากตำแหน่ง และให้ เฮอร์เบิร์ต ไฮเนอร์ ที่เป็นอดีตหัวหน้าฝ่ายบริหารของ อาดิดาส ขึ้นมารับตำแหน่งแทน 

และหลังจากนั้นอีก 2 ปี คู่หูของ เฮอเนส ที่ทำงานร่วมกันอย่างเข้ามามาตลอดอย่าง คาร์ล ไฮนซ์ รุมเมนิกเก้ ได้ลาออกจากตำแหน่งซีอีโอของทีม หลังจากนั่งตำแหน่งนี้มายาวนานกว่า 30 ปี เรียกได้ว่าการออกจากตำแหน่งของ 2 คนนี้ส่งผลอย่างมากต่อวิธีการบริหารสโมสร บาเยิร์น ในช่วงหลังปี 2020 เป็นต้นมา

หลังจากที่ รุมเมนิกเก้ ลงจากตำแหน่ง โอลิเวอร์ คาห์น ตำนานผู้รักษาประตูของทีมที่เป็นหนึ่งในสมาชิกทีมบริหารก็ขึ้นมารับตำแหน่งแทน พร้อมทั้งมีเพื่อนร่วมทีมชุดเดียวกันอย่าง ฮาซาน ซาลิฮามิดซิช นั่งในตำแหน่งผู้อำนวยการกีฬา ซึ่งหลังจากนั้นนับตั้งแต่ "รุ่นใหญ่" อย่าง เฮอเนส และ รุมเมนิกเก้ ไม่อยู่บอร์ดบริหาร บาเยิร์น มีปัญหามากมายตามมา และมักจะถูกเอามาใส่สีขยี้ข่าวบนหน้าสื่อเป็นประจำ 

ไม่ว่าจะเป็นการมีความเห็นไม่ตรงกันภายในบอร์ดบริหาร การไม่เด็ดขากมากพอในการตัดสินใจแต่ละเรื่อง ขณะที่ฝ่ายสรรหาอย่าง ซาลิฮามิดซิช ก็ถูกถล่มยับจากหลายดีลที่ซื้อมาแล้วล้มเหลวในช่วงเวลาหลัง ไม่ว่าจะเป็นการซื้อนักเตะที่ใช้งานไม่สมราคา หรือโค้ชที่ทำให้ทีมตกต่ำอาทิ นิโก้ โควัช ที่เขาเป็นคนสำคัญในการตัดสินใจดึงมาคุมทีมบาเยิร์น หรือแม้กระทั่งการปลด ยูเลี่ยน นาเกลมันน์ ออกจากตำแหน่ง ทั้ง ๆ ที่กำลังทำทีมลุ้นทุกแชมป์ในซีซั่น 2022-23 

เรียกได้ว่ามีการเมืองภายในบอร์ดบริหารก็คงไม่ผิดนัก เพราะคนที่ออกมาเปิดเผยเรื่องนี้ก็คือ อูลี่ เฮอเนส อดีตพี่ใหญ่ในห้องประชุมของพวกเขาเอง ...

เฮอเนส มองว่า คาห์น และ ซาลิฮามิดซิช ล้มเหลจากงานที่ทำ เพราะขาดความเด็ดขาดและความเชื่อมั่นในตัวเอง ทั้งคู่ยังใหม่ในการนั่งโต๊ะ และหลายครั้งเชื่อฟังความคิดเห็นของคนอื่น ๆ มากเกินไป จนสุดท้ายก็กลายเป็นปัญหาหมักหมมที่แก้กันไม่ไหว เพราะมันไม่ใช่แค่เรื่องฟอร์มในสนามอย่างเดียว แต่มันมีความขัดแย้งเกิดขึ้นนอกสนาม ในแบบที่ยุคเก่า ๆ ไม่ค่อยจะมีให้เห็น ซึ่งปลายทางคือ ทั้ง คาห์น และ ซาลิฮามิดซิช ต้องออกจากตำแหน่งเพื่อรับผิดชอบความล้มเหลว 

ปัจจุบันคนใหม่ที่เขามารับตำแหน่ง ผอ.กีฬา ซึ่งมีหน้าที่เป็นหัวหน้าแผนกสรรหาทั้งโค้ช และ นักเตะให้ตรงปรัชญาของทีมคือ มักซ์ เอเบิร์ล อดีตผู้บริหารที่ประสบความสำเร็จกับ โบรุสเซีย มึนเช่นกลัดบัด ในการปั้นนักเตะ ทั้งปั้นเองและซื้อมาปั้นต่อ จนโด่งดังมากมาย

พร้อมกันกับ เอเบิร์ล บาเยิร์น ยังเปลี่ยนตำแหน่งคณะกรรมการบริหารของสโมสรอีกถึง 3 ตำแหน่งได้แก่ ซีอีโอ เป็น ยาน คริสเตียน เดรเซ่น, ประธานฝ่ายการเงินและการขาย อย่าง ไมเคิล ดีเดอริช ... เรียกได้ว่าเป็นการเปลี่ยนใหม่แบบยกกระบิ 

ซึ่งคนที่เป็นไฮไลต์และเกี่ยวกับงานสำคัญที่เรากำลังพูดถึงที่สุดคือ เอเบิร์ล เพราะหน้าที่ที่เขาได้รับมอบหมายให้ทำเป็นอย่างแรกคือการหาตัวแทน โธมัส ทูเคิล ที่ประกาศออกจากตำแหน่งหลังจบฤดูกาล 2023-24 

 

แนวทางใหม่ ... แบบจำยอม 

แฟน ๆ บาเยิร์น ในยุคปัจจุบันทั้งในบ้านเราและทั่วโลกต่างมีความเห็นคล้าย ๆ กันว่า ณ ตอนนี้แนวทางของสโมสรเปลี่ยนไปเยอะมาก ความหยิ่งผยอง คัดแต่สิ่งที่เป็นระดับหัวกะทิแบบในอดีต ถูกปรับให้เข้ากับโครงสร้างฟุตบอลแบบใหม่ที่ว่ากันด้วยการสร้างอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการเลือกโค้ชที่มีแนวทางการทำทีมให้โอกาสนักเตะดาวรุ่ง หรือการเลือกนักเตะที่จะสร้างกำไรให้กับสโมสรในอนาคต มากกว่าการซื้อนักเตะที่เป็นเกรด A แล้วมาร่วมทีม เนื่องจากราคานักเตะในปัจจุบันสูงขึ้นเป็นอย่างมาก

ดังนั้นแนวทางของ บาเยิร์น จึงมักจะถูกแซวว่าคล้าย ๆ กับ แอร์เบ ไลป์ซิก ที่ เอเบิร์ล เคยไปบริหารก่อนหน้ารับงานกับทีมเสือใต้ บ้างก็เรียกพวกแบบหยิกแกมหยอกว่า "เร้ดบูล บาเยิร์น" ซึ่งแสดงให้เห็นว่าแฟนบอลไม่ค่อยพอใจกับสิ่งที่เป็นอยู่มากนัก โดยเฉพาะกับการเลือกตำแหน่งโค้ชหนนี้ 

อันที่จริง เอเบิร์ล และ บาเยิร์น ก็น่าเห็นใจ เพราะโค้ชระดับท็อปในตลาดฟุตบอลรอบปัจจุบัน มีอยู่น้อยมากที่อยู่ในสถานะพร้อมทำงานให้กับ บาเยิร์น แทบไม่มีใครว่างงานอยู่เลย อาทิ เยอร์เก้น คล็อปป์ ที่ขอพักการทำงานหลังจากออกจาก ลิเวอร์พูล  

ครั้นจะมองหาโค้ชที่มีดีกรีแชมป์ลีกใหญ่คนอื่น ๆ อาทิ อันโตนิโอ คอนเต้ ก็คาแร็คเตอร์ที่แข็งกร้าวเกินกว่าจะทำงานภายใต้วัฒนธรรมองค์กร หรือ ซีเนดีน ซีดาน ที่ออกมาบอกปัดด้วยตัวเองตั้งแต่มีข่าวว่าจะไม่รับงานกับ บาเยิร์น แน่นอน

ดังนั้น เอเบิร์ล จึงต้องกลับมาทำในสิ่งที่เขาถนัดที่สุด นั่นคือการเลือกโค้ชอายุน้อยที่มีศักยภาพไปต่อได้ ซึ่งตัวที่ท็อปที่สุดของรุ่นอย่าง ชาบี อลอนโซ่ ที่พา ไบเออร์ เลเวอร์คูเซ่น สร้างผลงานมาสเตอร์พีซในซีซั่น 2023-24 ... เจ้าตัวก็ปฏิเสธและเลือกทำงานที่เดิมต่ออีก 

จะเห็นได้ว่ากุนซือระดับท็อปหมดตลาดแล้วในตอนนี้ ไม่ใช่แค่ บาเยิร์น เท่านั้นที่ประสบปัญหานี้ ลิเวอร์พูล ที่หาตัวแทน เยอร์เก้น คล็อปป์ ก็ต้องมาจบที่กุนซือหน้าใหม่ในเวทีใหญ่อย่าง อาร์เน่อ สล็อต ขณะที่ บาร์เซโลน่า ก็ยังต้องกล่อมให้ ชาบี เอร์นานเดซ ที่ประกาศลาออกไปแล้วเปลี่ยนใจกลับมาทำงานต่อ 

จากสถานการณ์ดังกล่าว จึงไม่แปลกเลยที่ บาเยิร์น จะมีรายชื่อแคนดิเดตโค้ชใหม่ที่ชวนแปลกใจหลายคน ราล์ฟ รังนิก, โอเล่ กุนนาร์ โซลชา, อูไน เอเมรี่ , โรแบร์โต้ เดอ แชร์บี้ หรือแม้กระทั่ง เอริค เทน ฮาก ล้วนเป็นชื่อที่ดูจะไม่เหมาะกับขนาดของโปรเจ็กต์อันยิ่งใหญ่และเป้าหมายที่ต้องคว้าแชมป์ทุกปีอย่าง บาเยิร์น เลย 

เอเบิร์ล เองก็พยายามอย่างมาก เลือกทั้งโค้ชที่เคยทำงานด้วย และโค้ชที่เป็นรุ่นใหม่ โดยเขาติดต่อกับ รังนิก คนสนิทกันตั้งแต่สมัยทำงานที่ ไลป์ซิก (ปัจจุบันคุมทีมชาติออสเตรีย) พร้อมเสนอค่าเหนื่อยมากกว่าเดิม 10 เท่า (จากการรายงานของ The Athletic) เพราะว่า รังนิก มีจุดเด่นในการทำทีมเชิงโครงสร้าง 

อีกทั้ง เอเบิร์ล ยังได้พาทีมงานจากกลุ่ม เร้ดบูล มาที่ บาเยิร์น อีกหลายคน อาทิ โยเซน ซาวเออร์ หัวหน้าฝ่ายพัฒนาเยาวชน และ คริสตอฟ ฟรอนด์ ในตำแหน่งผู้อำนวยเทคนิค ด้วยความที่เคยทำงานกันมาก่อน เห็นฝีมือกันแล้ว รังนิก ถูกมองว่าอาจจะเป็นตัวเลือกที่ดีในการสร้างทีมใหม่ เพื่อรอกุนซือระดับท็อปเข้ามาสานงานต่อในภายหลัง 

แต่สุดท้าย รังนิก ก็ปฏิเสธ ด้วยเรื่องของบรรยากาศการทำงาน และมองว่าเขาในวัย 65 ปี เหมาะกับการทำทีมชาติ ออสเตรีย มากกว่าทีมที่มีความกดดันและความคาดหวังสูงอย่าง บาเยิร์น 

ซึ่งตอนที่ รังนิก ซึ่งเป็นคนที่เหตุผลสมคบคิดเหมาะกับตำแหน่งกุนซือใหม่บาเยิร์น (ในมุมมองผู้บริหาร) เลือกปฏิเสธ หลังจากนั้นก็มีข่าวกุนซือมากหน้าหลายตาตามรายชื่อที่บอกมา

และถึงตอนนี้ก็มีหลายคนปฏิเสธ บาเยิร์น ไปเรียบร้อยแล้ว จึงทำให้ตอนนี้ยิ่งมีชื่อแปลก ๆ ปรากฎขึ้นมากมาย ล่าสุดคือ เทน ฮาก ซึ่งมีเหตุผลเพราะว่าเขาเคยคุมทีมสำรองของ บาเยิร์น มาก่อนในสมัยที่ เป๊ป กวาร์ดิโอล่า คุมทีม 

จากรายชื่อทั้งหมดที่เอ่ยมา แทบไม่มีใครกล้าฟันธงว่า โค้ชคนไหนจะเข้ามารับตำแหน่งต่อจาก ทูเคิล หลังจากจบซีซั่นนี้ ...

การเลือกครั้งนี้มีเดิมพันสูงมากสำหรับบอร์ดบริหารทีมเสือใต้ที่โดนแฟน ๆ ค่อนขอดมาไม่น้อย ถ้าเขาจิ้มกุนซือดาวรุ่งหรือกุนซือหน้าใหม่ หรือกุนซือที่ไม่ได้เป็นตัวท็อปแต่สามารถทำทีมให้ประสบความสำเร็จได้ พวกเขาจะได้รับการชื่นชมมากกว่าเดิม และแนวคิดด้านลบต่าง ๆ จะค่อย ๆ หมดไป

แต่กลับกัน หากครั้งนี้ บาเยิร์น ยังเลือกโค้ชใหม่ผิดอีก และทีมยังคงมีผลลัพธ์ในแต่ละซีซั่นที่น่าผิดหวังอีก อาจจะเป็นอีกครั้งที่ทีมงานบริหารอาจจะโดนยกชุดเหมือนในอดีตก็ได้

และตามที่ได้กล่าวมา นี่ไม่ใช่ครั้งแรก ที่ บาเยิร์น มิวนิค ความคาดหวังสูงเสมอ และผลลัพธ์ที่ดี การเป็นส่วนหนึ่งกับองค์กรอย่างลงตัวเท่านั้นที่จะทำให้คุณกลายเป็นคนที่ใช่ของสโมสรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในวงการฟุตบอลเยอรมันทีมนี้ 

 

แหล่งอ้างอิง 

https://theathletic.com/5469554/2024/05/05/bayern-munich-next-manager-ralf-rangnick/
https://theathletic.com/5463805/2024/05/05/top-manager-scarcity-major-clubs/
https://theathletic.com/5435951/2024/05/02/bayern-munich-ralf-rangnick-manager-next/
https://www.goal.com/en-us/lists/will-thomas-tuchel-stay-bayern-herbert-hainer-verdict-possible-u-turn-struggle-find-replacement/blt19f9d0516b57f7b9
https://fcbinside.com/2024/05/06/neuer-top-kandidat-bayern-nimmt-erik-ten-hag-in-den-fokus/
https://www.bundesliga.com/en/bundesliga/news/max-eberl-named-new-bayern-munich-board-member-for-sport-tuchel-26360
https://www.besoccer.com/new/oliver-kahn-has-been-dragged-through-the-mud-for-months-1258171
https://www.goal.com/th/%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A7/%E0%B8%AA%E0%B8%A2%E0%B8%9A%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%A5%E0%B8%B7%E0%B8%AD--%E0%B8%8B%E0%B8%B5%E0%B8%94%E0%B8%B2%E0%B8%99-%E0%B8%A2%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%8A%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B8%99%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%84%E0%B8%B8%E0%B8%A1-%E0%B8%9A%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%A2%E0%B8%B4%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B8%99/bltbf7714d1fe715a9c

Author

ชยันธร ใจมูล

นักเขียนลูกสอง จองเรื่องฟุตบอลและมวยโลก รู้จริงบ้าง ไม่จริงบ้าง แต่เขียนแล้วอินทุกเรื่อง

Photo

วัชพงษ์ ดวงแปง

Main Stand's Backroom staff

Graphic

อรรนพ สะตะ

graphic design ผู้ชื่นชอบกีฬาฮอกกี้, เกมส์, เดินเขา เป็นชีวิตจิตใจ