Feature

จิมมี่ ฟลอยด์ ฮัสเซลเบงค์ : เดอะ แบก ในยุคที่ เชลซี "ยังไม่ค่อยมีเงิน" | Main Stand

โคล พาลเมอร์ ทำคนเดียว 4 ลูกในเกม พรีเมียร์ลีก นัดที่ เชลซี ชนะ เอฟเวอร์ตัน 6-0 เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2024 … มันพาลทำให้เราวาบคิดถึงกองหน้าคนหนึ่ง ที่เป็นหนึ่งในผู้ที่ส่ง เชลซี จากยุคสมัยเก่า สู่ยุคปัจจุบัน 

 


มีตำนานกองหน้าคนหนึ่งของสิงห์บลูส์ ที่ลงเล่นเมื่อไหร่ยิงประตูเมื่อนั้น และเคยยิง 4 ลูกก่อนที่ พาลเมอร์ จะทำได้ 

นี่คือเรื่องราวของ จิมมี่ ฟลอยด์ ฮัสเซลเบงค์ นักเตะที่อยู่กับ เชลซี 4 ปี และเป็นดาวซัลโวของทีมทุกปี 

ติดตามเรื่องทั้งหมดที่นี่ 

 

เชลซี ยุคต้น 2000s 

ในช่วงที่ฟุตบอลอังกฤษเริ่มก่อร่างสร้างตัว เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่สโมสร เชลซี กำลังประสบกับความวุ่นวายจากวิกฤติทางการเงินของสโมสร ไล่มาตั้งแต่ยุค 1970s ต่อยุค 1980s สมัยที่ลีกสูงสุดของอังกฤษยังใช้ชื่อ ดิวิชั่น 1 ... เชลซี ขายนักเตะตัวเก่งออกจากทีมอย่างต่อเนื่อง เพื่อประคองการเงินของสโมสร แถมยังเป็นทีมที่ขึ้น ๆ ลง ๆ ในลีกสูงสุดกับลีกรองเป็นประจำ  

ไม่ใช่แค่ผลงานในสนามเท่านั้น แฟนบอลของ เชลซี ก็ยังมีความเป็นฮูลิแกนที่สร้างเรื่องให้สโมสรได้จ่ายค่าปรับและเจอปัญหาประจำ นอกจากนี้ สโมสรยังต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในการสร้างอัฒจันทร์ฝั่ง อีสต์ สแตนด์ ของ สแตมฟอร์ด บริดจ์ รังเหย้า ที่กระทบกับการเงินของสโมสร ส่วนอันดับในตารางก็ย่ำแย่จนสุ่มเสี่ยงจะตกชั้นสู่ ดิวิชั่น 3 (ลีกวัน ในปัจจุบัน)

กระทั่ง 1 เมษายน 1982 เคน เบตส์ นักธุรกิจโรงแรมและอสังหาริมทรัพย์ ตกลงซื้อกิจการของสโมสรต่อจาก ไบรอัน เมียร์ส หลานชายของ โจเซฟ เมียร์ส ผู้ร่วมก่อตั้งสโมสร ในลักษณะดีลที่เรียกกันว่า Peppercorn

โดย เบตส์ ตกลงจ่ายเงินให้ เมียร์ส ในราคาเพียง 1 ปอนด์ ขณะเดียวกัน ก็ตกลงรับภาระหนี้สิน 1.5 ล้านปอนด์ไว้แทน ซึ่งนั่นเป็นจุดเริ่มต้นของยุคสมัยใหม่ของ เชลซี อย่างแท้จริง 

เบตส์ บริหารทีมอย่างชำนาญ มีการเอาเงินไปใช้ทำโปรเจกต์เพื่อสร้างธุรกิจ หาเงินมาอุดรอยรั่วของสโมสร อาทิ "เชลซี วิลล่า" รีสอร์ตหรูและแหล่งบันเทิงแบบครบวงจร (Entertainment Complex) ทำให้เขาต้องลงทุนซื้อที่ดิน สร้างโรงแรม ฯลฯ ตามสไตล์นักธุรกิจอสังหาฯ แบบเขา 

แม้ เชลซี จะไม่รวย แต่ก็เรียกได้ว่าลืมตาอ้าปากก็คงไม่เกินจริง พวกเขาสร้างแบรนด์ของตัวเองขึ้นมาจากธุรกิจรอบสโมสร การต่อเติมอัฒจันทร์และสนาม เหนือสิ่งอื่นใด คือการซื้อนักเตะต่างชาติฝีเท้าดีมีชื่อเสียงเข้ามาไล่ตั้งแต่ รุด กุลลิต, จานลูก้า วิอัลลี่, จานฟรังโก้ โซล่า ส่งต่อสถานะ "เดอะ แบก" ของทีมกันเป็นทอด ๆ จนถูกเรียกว่า "สิงห์ไฮโซ" เพราะความฮือฮาที่มาพร้อมกับนักเตะเหล่านั้น รวมถึงแชมป์อย่าง เอฟเอ คัพ ในฤดูกาล 1996-97 กับ ลีก คัพ และ คัพ วินเนอร์ส คัพ ในซีซั่น 1997-98 

จนกระทั่งมาถึงยุค 2000s ในวันที่ โซล่า เริ่มโรยรา กองหน้าที่ต้องเข้ามาแบกคนต่อไปก็สร้างความฮือฮาเช่นกัน จิมมี่ ฟลอยด์ ฮัสเซลเบงค์ ดาวยิงที่เปรียบเป็นตัวร้ายของโลกลูกหนัง นักเตะที่ไม่เคยเล่นทีมระดับท็อป แต่ถ้าได้เจอกันเมื่อไหร่ กองหน้าชาวเนเธอร์แลนด์คนนี้ยิงยับ ๆ เขามาพร้อมกับคาแร็คเตอร์กวน ๆ แบบจิ๊กโก๋เก่า ราคาค่างวดของ "เบงค์" อยู่ที่ 15 ล้านปอนด์ แพงที่สุดในประวัติศาสตร์สโมสรเวลานั้น 

ในวันที่เขาเข้ามา แฟน เชลซี ก็มีขวัญใจคนใหม่ และถือเป็นกองหน้าที่คุ้มค่าที่สุดคนหนึ่งเท่าที่สโมสรเคยลงทุนมา จากเรื่องราวที่กำลังจะเกิดขึ้นต่อไปนี้    

 

เส้นทางของจิ๊กโก๋ฮัสเซลเบงค์ 

ความสุดของ จิมมี่ ฟลอยด์ ฮัสเซลเบงค์ คือไม่ว่าจะไปที่ไหน เขามักจะยิงประตูได้เป็นกอบเป็นกำเสมอ แต่เรื่องราวชีวิตของเขาก่อนมา เชลซี ก็น่าสนใจไม่แพ้กัน ตัวของเขาเกิดและโตที่ประเทศซูรินาม แถมยังเคยถูกรถทับจนขาหักตั้งแต่อายุ 3 ขวบมาแล้ว เขาอยู่ที่ ซูรินาม ได้ 6 ปี พ่อและแม่ก็แยกทางกัน แม่เป็นคนดูและเขาและน้อง ๆ โดยเลือกที่จะอพยพไปอยู่ เนเธอร์แลนด์ ซึ่งถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นเส้นทางของเขาเลยก็ว่าได้ 

ด้วยความที่เป็นเด็กอพยพใหม่ ฮัสเซลเบงค์ ต้องปกป้องตัวเอง น้อง ๆ และเพื่อน ๆ ของเขาจากเด็กถิ่น แน่นอนว่าเขาตั้งตัวเป็นจิ๊กโก๋ แล้วก็พอเตะบอลได้นิดหน่อย แต่ไอ้คำว่า "นิดหน่อย" ที่ว่าเป็นลักษณะที่เขาคิดไปเอง 

จริง ๆ แล้ว ฮัสเซลเบงค์ เก่งมาก จากคำบอกเล่าคนที่เคยทำงานกับเขาตั้งแต่ยังเด็ก ชีวิตของเขามันควรไต่ระดับไปแบบนักเตะอาชีพหลายคนที่ไล่จากสูงไปต่ำ แต่ด้วยความเป็นจิ๊กโก๋ของเขานี่แหละที่นำพาอะไรหลายอย่างตามมา เขาเล่นให้กับทีมเยาวชนระดับท้องถิ่นไต่มาจนถึงระดับลีก 3 อย่าง DWS กระโดดไปอยู่ทีมระดับลีก 2 อย่าง เทลสตาร์ จนกระทั่งตอนอายุ 19 ปี เขาได้อยู่กับทีมหัวแถวของลีกสูงสุดอย่าง อาแซด อัลค์มาร์ ด้วย ... 

จริง ๆ มันควรจะไปได้ไกลกว่านั้น ถ้า ฮัสเซลเบงค์ รับรู้สักหน่อยว่าเขามีสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่รออยู่ เพียงแต่ว่าด้วยความที่ยังเด็ก เขาทำตัวเช้าชามเย็นชามเหมือนกับตอนเล่นในลีก 3 หรือลีก 2 พึ่งแต่พรสวรรค์เหมือนเคย แต่ที่ อัลค์มาร์ มันไม่ใช่แบบนั้น ... ทีมระดับลีกสูงสุด และต้องการท้าทายตำแหน่งแชมป์ ต้องการคนที่เก่งและคนที่มุ่งมั่นในเวลาเดียวกัน ดังนั้น ฮัสเซลเบงค์ จึงถูกปล่อยตัวออกจากทีม และเป็นการถอยต่ำครั้งสำคัญ ไม่ใช่แค่ลีก 2 หรือลีก 3 ที่คุ้นเคย แต่เป็นการเล่นนอกลีกของ เนเธอร์แลนด์ กับทีม Neerlandia 

"ช่วงวัยรุ่นผมติดกับอะไรบางอย่าง พวกเรามักจะเกาะตัวกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน ผมยังมีความเป็นเด็กที่ยังไม่เข้าใจโลกและเดียงสายังน้อยนักทำให้พลาดอะไรหลายอย่างไป" ฮัสเซลเบงค์ เริ่มเล่า 

"การต้องไปเล่นให้กับทีมในระดับนอกลีกมาตกตะกอนเอาเมื่อผมแก่ตัวขึ้น ว่าที่จริงแล้วมันไม่ได้เกี่ยวคนอื่นเลย เป็นเรื่องของผมเองล้วน ๆ ผมเป็นนักเตะที่วินัยแย่มาก ไม่เคยมาซ้อมตรงเวลา อู้ประจำ เวลาซ้อมก็ไม่เคยเต็ม 100%  ถามว่าอะไรทำให้ผมรู้ตัว ก็ตอนที่ผมไปเล่นนอกลีกนี่แหละ ผมมานั่งทบทวนดูว่าถ้าอยากจะเอาดีด้านนี้ ให้ฟุตบอลเลี้ยงชีพ ผมต้องเอาจริงเอาจัง ทำทุกสิ่งให้ถูกต้องมากกว่าที่เคย ... ผมพยายามแก้ไขตัวเอง และโชคดีที่ผมได้รับโอกาสนั้นเข้ามา" 

ฮัสเซลเบงค์ ได้ไปเล่นที่โปรตุเกส และสร้างชื่อขึ้นมาอีกครั้งในฐานะกองหน้าที่ตัวไม่ใหญ่แต่รวดเร็วและแข็งแรงมาก ถ้าจะให้อธิบายและค้นหาสไตล์เพื่อบอกว่า ฮัสเซลเบงค์ สไตล์ไหน ก็ต้องบอกว่าเป็นนักเตะเบอร์ 9 ที่ชงเองกินเอง เท้าซ้ายและเท้าขวาคืออาวุธ หนักหน่วงและแม่นยำพอ ๆ กัน ถ้าคุณสังเกตสถิติการยิงประตูของเขาจะเข้าใจเรื่องนี้

ตัวของเขาเริ่มมีชื่อเสียงจริง ๆ ก็ตอนที่ย้ายมาเล่นให้กับ ลีดส์ ยูไนเต็ด ใน พรีเมียร์ลีก เมื่อปี 1997 ตอนนั้นต้องบอกว่ากองหน้าที่สด ห้าว และแข็งแรง แบบ ฮัสเซลเบงค์ ทำเอากองหลังยุคนั้นต้องปวดหัวไม่น้อย เรียกได้ว่าถ้ายุคเวลานั้นมี นิโกล่าส์ อเนลก้า เป็นดาวรุ่งตัวท็อปของพรีเมียร์ลีก ฮัสเซลเบงค์ ก็คงไม่หนีเบอร์ 2 หรือเบอร์ 3 แน่ ๆ  

ฮัสเซลเบงค์ นำทัพ ลีดส์ พร้อมกับนักเตะที่กำลังขึ้นรุ่นมาอย่าง อลัน สมิธ และ แฮร์รี่ คีเวลล์ ภายใต้การคุมทีมของ จอร์จ เกรแฮม เขาใช้เวลาที่ ลีดส์ 2 ปี ปีแรกยิงไป 22 ลูก ปีที่ 2 ยิงอีก 20 ลูกจากทุกรายการ แถมเป็นดาวซัลโวร่วมของ พรีเมียร์ลีก ฤดูกาล 1998-99 กับ ไมเคิล โอเว่น และ ดไวท์ ยอร์ก

แต่สุดท้ายเขาก็เบื่อ ... เขามีสัญญากับ ลีดส์ 3 ปี แต่หลังจบฤดูกาล 1998-99 เขาบอกกับทีมว่าเขาอยากจะย้ายออก และถ้าทีมไม่ขายเขาออกไปให้กับ แอตฯ มาดริด ที่ติดต่อมา เขาจะทนอยู่อีก 1 ปีและย้ายทีมแบบฟรี ๆ โดยที่ ลีดส์ ไม่ได้อะไรเลย 

"บางที่คนเราก็ชอบอะไรไม่เหมือนกัน ผมมันพวกอยู่ไม่ติดที่ ชอบความท้าทายและคว้าทุกโอกาสที่ผมได้รับ ตอนนั้นที่ลีดส์ความวุ่นวายสารพัดเกิดขึ้นเมื่อผมจะย้ายออก เรามีกลุ่มนักเตะที่ดีนะ แต่ผมตัดสินใจแล้วว่ามันต้องเป็นแบบนี้ ... เส้นทางชีวิตผมน่ะ" ฮัสเซลเบงค์ กล่าว

ตอนที่ไปอยู่ที่ สเปน กับ แอตฯ มาดริด ฮัสเซลเบงค์ ก็สร้างชื่อเหมือนเคย กองหน้าที่เร็ว แรง และยิงคมแบบนี้ไปอยู่ไหนก็ได้เกิดเสมอ ที่แอตฯ มาดริด เขายิงไป 33 ลูกในทุกรายการ แน่นอนว่ามันรวมถึงการช็อกสื่อสเปน ที่เขายิง 2 ลูกใส่ เรอัล มาดริด ให้ ตราหมี ชนะไป 3-1 ด้วย  

น่าเสียดายที่ว่าขนาด ฮัสเซลเบงค์ ยิงประตูแบบบ้านช่องพัง ไม่ว่าจะนอกกรอบ ในกรอบ ลูกโหม่ง ฟรีคิก หรือจุดโทษขนาดนั้น แต่ แอตฯ มาดริด ก็ยังตกชั้น และเมื่อตกชั้นพวกเขาก็ต้องการเงินแบบสุด ๆ ดังนั้น เชลซี ที่กำลังเดินหน้าหากองหน้าเบอร์ 9 มาอุดรอยรั่วหลังจากที่ วิอัลลี่ ขึ้นมาเป็นกุนซือเต็มตัว ก็มาบรรจบเส้นทางกับ ฮัสเซลเบงค์ แบบพอดิบพอดี ด้วยราคา 15 ล้านปอนด์ ดังที่กล่าวไปข้างต้น

 

กองหน้าเบอร์ 9 ตัวจริงที่ เชลซี รอคอย

จานฟรังโก้ โซล่า เรียก ฮัสเซลเบงค์ ว่า "เชา เชา" เหมือนกับสุนัขเชาเชาที่ชอบเห่าไปเรื่อย แต่เขาก็บอกต่อว่าการมาของ ฮัสเซลเบงค์ เหมือนการเติมไฟให้กับนักเตะในห้องแต่งตัว ด้วยความจิ๊กโก๋ในแบบของเขานี่แหละ ทุกครั้งที่ผู้เล่น เชลซี โดนชน โดนปะทะ จะมีนักเตะ 2 คนที่เข้าไปหาเรื่องก่อนใครเพื่อนคือ เดนิส ไวส์ และน้องใหม่อย่าง ฮัสเซลเบงค์ นี่แหละ 

การมีคนห้าวระดับ "ไอ้ปืนใหญ่" (โซล่า ตั้งให้) ทำให้นักเตะในทีมไม่กลัวใคร และมีที่พึ่งในเกมรุกเวลามองหาใครสักคนที่จะยิงประตู 

ขณะที่ ฮัสเซลเบงค์ ก็เล่าถึง โซล่า คู่หูของเขาว่า "ถ้าผมเป็นพวกปืนใหญ่เกิดมาเพื่อยิงประตู โซล่า จะเป็นอีกแบบหนึ่งเลย แต่ละปีเขาอาจจะยิงไม่เยอะอยู่ที่สัก 10 ลูก แต่ถ้าคุณเล่นกับเขา คุณเตรียมยิ้มได้เลย หมอนี่จะแอสซิสต์ได้ปีละ 15-16 ลูก"

"ตอนที่เราเล่นด้วยกันด้วยระบบการเล่น 4-4-2 โซล่า จะถอยลงมาเป็นตัวเชื่อม และเรารู้กันในเกมว่าเวลาเขาขยับถอยปุ๊ป ผมจะต้องวิ่งนำหน้าไปรอบอลจากเขา ผมมองแค่ประตู แต่เขามองสิ่งที่กว้างกว่านั้น นั่นแหละเคมีของเรา"

"ถ้าได้เล่นกับ โซล่า รับรองเลยว่าคุณจะมีโอกาสยิงสารพัด ไม่ว่าจะแท็บอิน รอโหม่ง หรือได้บอลว่าง ๆ ระยะ 30 หลาให้ได้ลองยิง มันเป็นแบบนั้นแหละการเล่นคู่กับเขา" ฮัลเซลเบงค์ ว่าแบบนั้น 

ปีแรกกับ เชลซี ฮัสเซลเบงค์ ยิงในลีกไป 23 ประตู คว้ารางวัลดาวซัลโวมาครองเพียงผู้ดียว ทิ้งขาดอันดับรองลงมาอย่าง มาร์คัส สจ๊วร์ต, เธียร์รี่ อองรี และ มาร์ค วิดูก้า 

ซีซั่นต่อมา 2001-02 เป็นปีที่ เคลาดิโอ รานิเอรี่ คุมทีมแบบเต็ม ๆ ปีแรก เรียกได้ว่าเป็นปีที่ทีมเริ่มจะก้าวกระโดดเต็มรูปแบบ และมีการเปลี่ยนโฉมหน้าทีมเยอะมาก นักเตะระดับอินเตอร์อย่าง วิลเลี่ยม กัลลาส, เอ็มมานูเอล เปอตีต์, เบาเดอไวน์ เซนเด้น และ แฟรงค์ แลมพาร์ด เข้ามา โดยปล่อยของเก่าที่เป็นแกนหลังของทีมอย่าง กัส โปเยต์ และ เดนิส ไวส์ ออกไป ... แต่ที่แน่ ๆ ตำแหน่งดาวซัลโวไม่เคยเปลี่ยน ฮัสเซลเบงค์ ยังคงเป็นคนเดิมที่แบกภาระการยิงประตูของทีมเสมอ 

ปีดังกล่าวเขายิงไป 29 ลูกในทุกรายการ พาทีมขยับเข้าใกล้แชมป์มากขึ้น พวกเขาแพ้ในรอบชิง เอฟเอ คัพ และเข้าถึงรอบ 4 ทีมสุดท้าย ลีก คัพ ซึ่งในซีซั่นดังกล่าว ฮัสเซลเบงค์ ก็ได้จับคู่กับคนที่ลงตัวไม่แพ้ โซล่า ที่เริ่มอายุมากเกินไปแล้ว นั่นคือ ไอเดอร์ กุ๊ดยอห์นเซ่น ซึ่งย้ายมาร่วมทีมพร้อมกับ ฮัสเซลเบงค์ แต่ได้รับโอกาสลงสนามมากขึ้น

"การเล่นกับ โซล่า ว่าสนุกแล้ว แต่กับ กุ๊ดยอห์นเซ่น นั้นสนุกไม่แพ้กัน เขาคือคู่หูกองหน้าคนโปรดของผมเลย หมอนี่เป็นเด็กนิสัยดีนะ เป็นเพื่อนนอกสนามของผมด้วย แล้วเวลาลงเล่นด้วยกันในสนามเราเสริมส่งกันมาก ๆ เราอาจจะเล่นคนละสไตล์ เขาอาจจะเชิงสูง เล่นกับบอลมากหน่อย แต่เวลาเราลงเล่นด้วยกัน ผมรู้เลยว่าเขาจะหาผมเจอที่ไหน ผมจะไปรอตรงนั้นเสมอ ถ้าจะบอกว่า กุ๊ดยอห์นเซ่น คือคนที่เล่นแบบมองตารู้ใจก็คงไม่ผิดนัก" 

อย่างที่บอกไป ฮัสเซลเบงค์ เล่นได้กับกองหน้าทุกคน เล่นได้กับระบบของทุกทีม ตัวของเขาพูดเองว่า เขาเป็นนักเตะประเภทที่เล่นไปคิดไป ไม่เคยหยุดคิด และมีวิธีการที่ไม่ตายตัว ยิงไกลก็ได้ ยิงใกล้ก็คม มันเป็นแบบนั้นเสมอสำหรับเขา ซึ่งทั้งหมดก็มาจากการเปลี่ยนแนวคิดในตอนวัยรุ่นที่ทำให้เขาเป็นคนตั้งใจซ้อม เรียกได้ว่าทักษะการวางเท้า ยิงได้จากทุกระยะ ถือเป็นจุดเปลี่ยนของ ฮัสเซลเบงค์ ก็คงไม่ผิดนัก 

แฟน เชลซี รักและเคารพ ฮัสเซลเบงค์ ทันทีตั้งแต่รู้จักกัน กองหน้าแบบเขามีเสน่ห์ที่จะทำให้แฟน ๆ รักได้อย่างง่ายดาย น่าเสียดายที่ตอนนั้น เชลซี ก็กำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นเช่นกัน เคน เบตส์ เองก็เริ่มมีหนี้จากการลงทุนทำทีมที่สูงขึ้น ในปี 2003 เขาขายสโมสรให้กับ โรมัน อบราโมวิช เพื่อสร้างทีมยุคใหม่ ได้เงินมูลค่า 440 ล้านปอนด์ และการมาของ เจ้าของใหม่ ก็นำมาสู่ความเปลี่ยนแปลงที่ทำให้ ฮัสเซลเบงค์ ต้องออกจากทีมไป หลังจากการเข้ามาของ โชเซ่ มูรินโญ่  

นั่นคือสิ่งที่เขาเสียดายมากที่สุด มูรินโญ่ ต้องการให้ ฮัสเซลเบงค์ อยู่ต่ออีก 1 ปี แต่ ฮัสเซลเบงค์ ก็คือ ฮัสเซลเบงค์ เขามีความคิดของตัวเองสูง และต้องการมูฟออน เขาคิดว่า มูรินโญ่ จะต้องการเอานักเตะที่ตัวเองอยากได้มาเล่นมากกว่าเขา จึงตัดสินใจย้ายไปอยู่กับ มิดเดิ้ลสโบรช์ หลังจบฤดูกาล 2023-24 ที่สัญญากับ เชลซี หมดอายุพอดี

ฮัสเซลเบงค์ ปิดตำนานกับ เชลซี ไว้ที่ 4 ปี เป็นหนึ่งในกองหน้าที่สถิติยิงประตูที่ดีที่สุดคนหนึ่งของสโมสร ด้วยการลงเล่น 177 นัด ยิงไป 87 ประตู ถ้าจะบอกว่า ฮัสเซลเบงค์ เป็นคนส่งต่อยุคสมัยนั่นก็คงไม่เกินเลยไป 

การจากไปของเขา ทำให้ มูรินโญ่ คว้า ดิดิเยร์ ดร็อกบา เข้ามาแทน ... และที่เหลือ ก็คือประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของสโมสรแห่งนี้ 

 

แหล่งอ้างอิง

https://www.chelseafc.com/en/jimmy-floyd-hasselbaink
https://www.chelseafc.com/en/news/article/from-atletico-to-chelsea--jimmy-floyd-hasselbaink-leads-the-way
https://www.fourfourtwo.com/features/jimmy-floyd-hasselbaink-one-one
https://en.wikipedia.org/wiki/Jimmy_Floyd_Hasselbaink
https://theathletic.com/4740149/2023/08/03/shevchenko-zola-hasselbaink-striker/
https://thesefootballtimes.co/2016/07/13/jimmy-floyd-hasselbaink-an-ode-to-one-of-the-premier-leagues-most-devastating-marksmen/

Author

ชยันธร ใจมูล

นักเขียนลูกสอง จองเรื่องฟุตบอลและมวยโลก รู้จริงบ้าง ไม่จริงบ้าง แต่เขียนแล้วอินทุกเรื่อง

Graphic

อรรนพ สะตะ

graphic design ผู้ชื่นชอบกีฬาฮอกกี้, เกมส์, เดินเขา เป็นชีวิตจิตใจ